ข้ามไปเนื้อหา

กองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก
กองกำลังเฉพาะกิจ 976 ไทย/อิรัก
พื้นที่ปฏิบัติงานของกองกำลังคือบริเวณสีชมพู ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคกลางตอนใต้ในบังคับบัญชาของกองทัพโปแลนด์
ประจำการ30 กันยายน 2546 – 30 กันยายน 2547
ประเทศไทย
เหล่า กองทัพไทย
รูปแบบผู้มิใช่พลรบ
บทบาทการทำลายล้างวัตถุระเบิด
การป้องกัน คชรน.
การต่อสู้ระยะประชิด
การสงครามทะเลทราย
เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
การป้องกันกำลังรบ
ผู้ตรวจการณ์หน้า
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
การแทรกแซงด้านมนุษยธรรม
ผู้ช่วยแพทย์
การส่งกลับสายแพทย์
วิศวกรรมการทหาร
การส่งกำลังบำรุงทางทหาร
การตรวจตราทางทหาร
การรักษาสันติภาพ
การลาดตระเวน
บริการการแพทย์ฉุกเฉินเชิงยุทธวิธี
การสงครามในเมือง
กำลังรบ
  • 573 นาย
    • 433 นาย (ผลัด 1)
    • 130 นาย (ผลัด 2)
ขึ้นกับ กองกำลังผสมนานาชาติ – อิรัก
กองบัญชาการค่ายลิมาร์, กัรบะลาอ์, อิรัก
สมญากกล.ฉก.976 ไทย/อิรัก
(Task Force 976 Thai-Iraq)
ปฏิบัติการสำคัญ
ผู้บังคับบัญชา
ผบ.กกล. ผลัดที่ 1ไทย พันเอก บุญชู เกิดโชค
ผบ.กกล. ผลัดที่ 2ไทย พันเอก มนตรี อุมารี

กองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก (อังกฤษ: Thai Humanitarian Assistance Task Force 976 Thai-Iraq: Task Force 976 Thai-Iraq) หรือ กองกำลังเฉพาะกิจ 976 ไทย/อิรัก (กกล.ฉก ๙๗๖) เป็นหน่วยทหารของกองทัพไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังผสมนานาชาติ – อิรัก ภารกิจของหน่วยคือการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมในอิรักหลังจากการบุกครองอิรักของสหรัฐ โดยประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารที่ไม่ใช่พลรบจำนวน 443 นาย[1] ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 เพื่อร่วมสร้างชาติและสนับสนุนความช่วยเหลือทางการแพทย์ในช่วงหลังยุคของซัดดัมในอิรัก[2]

ประวัติ

[แก้]

การร้องขอกำลัง

[แก้]

ทางการสหรัฐได้ร้องขอหน่วยทหารเสนารักษ์มายังรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศเพื่อไปปฏิบัติงานหลังการบุกยึดครองอิรักของสหรัฐ โดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ ทักษิณ ชินวัตร ได้เห็นชอบในคำร้องและสั่งการให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการผ่านกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2546 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2546 และได้ประสานให้กระทรวงกลาโหมรับข้อสั่งการไปร่วมดำเนินการ และมอบหมายให้กองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการประสานรายละเอียดกับกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายทหารของสหรัฐโดยตรง[1]

เนื่องจากความไม่ชัดเจนของข้อมูล ทำให้กองบัญชาการทหารสูงสุดไม่สามารถวางแผนในการจัดกำลังได้ จึงได้มอบหมายให้กรมยุทธการทหารซึ่งอยู่ในสังกัด ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่านกรมสหรัฐอเมริกา, คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ ประจำประเทศไทย (จัสแมกไทย) และสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทย ประจำวอชิงตัน ประสานฝ่ายสหรัฐเพื่อขอข้อมูลที่จำเป็นในการวางแผน[1]

หารือ

[แก้]

จากการร้องขอข้างต้น ทูตทหารไทยประจำวอชิงตันได้ประสานงานกับหน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคกลาง (CENTCOM) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลในภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อขอข้อมูลขั้นต้น และได้รับคำแนะนำให้จัดคณะวางแผนจำนวน 3 นาย มาร่วมประชุมในลักษณะการประงานงานฝ่ายทหาร (Military to Military Discussion) โดยจากการประชุมทำให้ฝ่ายไทยสามารถบรรลุความต้องการคือข้อมูลในการวางแผนจัดกำลัง และหน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคกลางได้ขอให้จัดนายทหาร 2 นาย มาทำหน้าที่นายทหารติดต่อ (Liaison officer) เพื่อมาร่วมวางแผนทางการทหารร่วมกับชาติสมาชิกอื่น ๆ และประสานงานด้านการวางกำลังควบคู่กับการดำเนินงานของรัฐบาล โดยผลการประชุมร่วมกับสหรัฐครั้งแรกมีข้อสรุปดังนี้[1]

  • หน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคกลางได้ชี้แจงว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะเป็นลักษณะเป็นปฏิบัติการร่วม โดยมีสหรัฐเป็นกองกำลังหลัก กลไกลการทำงานจะดำเนินการคู่ขนานกันไประหว่างกองทัพและรัฐบาล โดยหน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคกลางซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในภูมิภาคนี้ จะวางแผนการปฏิบัติการระดับยุทธศาสตร์ให้กับกองกำลังพันธมิตร ซึ่งข้อตกลงในฝ่ายทหารจะถูกดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อเริ่มกระบวนการประสานงานระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล
  • ฝ่ายสหรัฐได้กำหนดแนวคิดโดยการแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการให้กับ 3 ชาติหลักคือ สหรัฐ อังกฤษ และโปแลนด์ โดยจะมีการสนธิกำลังจากชาติพันธมิตรด้วยการจับคู่ความต้องการกำลังของ 3 ชาติหลัก กับข้อเสนอด้านกำลังจากประเทศพันธมิตรในรูปแบบของการประกอบกำลัง โดยประเทศไทยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของโปแลนด์
  • หน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคกลางได้รับทราบถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยแล้ว ตามที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้อนุมัติแนวทาง และความต้องการรับการสนับสนุนจากสหรัฐในการลำเลียงขนส่งที่จำเป็นต่าง ๆ สาธารณูปโภค พื้นที่รับผิดชอบ ข้อตกลงสถานภาพกองกำลัง (SOFA) และความชัดเจนของภารกิจ พื้นที่ปฏิบัติการ และการบังคับบัญชา
  • ฝ่ายสหรัฐได้รับทราบในข้อก่อนหน้าแล้วโดยแสดงความสนใจหน่วยที่ได้จัดเตรียมคือ กองพันทหารช่างก่อสร้าง 1 กองพัน ชุดแพทย์ 6 นาย และกองร้อยทหารสารวัตร 1 กองร้อย โดยกำลังพลจะได้ปฏิบัติงานในเมืองกัรบะลาอ์ซึ่งอยู่ตอนใต้ของกรุงแบกแดดในเขตรับผิดชอบของโปแลนด์ ซึ่งสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการทั้งหมดและสนับสนุนสิ่งอุปกรณ์ (สป.) สำคัญในการดำรงชีพ การขนส่งระดับยุทธศาสตร์ การขนส่งในประเทศอิรัก ในการไปกลับ รวมถึงขนส่งยุทโธปกรณ์จากกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถานมายังอิรักเมื่อภารกิจที่อัฟกานิสถานเสร็จสิ้นลง สนับสนุนการส่งกำลังบำรุง และอุปกรณ์ที่จำเป็นเพิ่มเติมในอุปกรณ์ที่ไทยขาดแคลน เช่น หน้ากากกันแก๊สพิษ เสื้อเกราะกันกระสุน

จากนั้นไทยได้ส่งนายทหารติดต่อจำนวน 2 นาย ไปประจำการที่กองบัญชาการหน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคกลาง โดยมี พันเอก ณัฐพล แสงจันทร์ เป็นหัวหน้าสำนักงานนายทหารติดต่อประจำหน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคกลาง[1]

ส่งกำลังเข้าร่วม

[แก้]

ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในการจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก โดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติภารกิจเป็นเวลา 1 ปี และให้ถือเป็นการไปปฏิบัติราชการพิเศษตามที่กระทรวงกลาโหมได้กำหนด แบ่งกำลังเป็น 2 ผลัด กำหนดกรอบอัตรากำลังพลไว้ผลัดละ 443 นาย[3] ปฏิบัติภารกิจผลัดละ 6 เดือน โดยมี พันเอก บุญชู เกิดโชค เป็นผู้บัญชาการฯ ผลัดที่ 1 และพันเอก มนตรี อุมารี เป็นผู้บัญชาการฯ ผลัดที่ 2 โดยปฏิบัติงานในพื้นที่ความดูแลของประเทศโปแลนด์ คือภาคกลางตอนใต้ (Multinational Division Central-South: MND-CS) ตั้งอยู่ในเมืองกัรบะลาอ์ ห่างจากกรุงแบกแดดระยะทาง 110 กิโลเมตร มีสายการบังคับบัญชาขึ้นกับกองพลน้อยโปแลนด์ ภายใต้กองกำลังผสมนานาชาติ มีภารกิจหลักในการสนับสนุนงานช่างสนามและงานช่างก่อสร้าง การฟื้นฟูบูรณะอิรัก การให้บริการทางการแพทย์ และการปฏิบัติการในด้านกิจการพลเรือน[1]

ภาพรวมของกองกำลัง

[แก้]

กองกำลังเฉพาะกิจ 976 ไทย/อิรัก ประกอบไปด้วยกำลังพลจากกองพันทหารช่าง ทีมแพทย์ 6 นาย หมวดรักษาความปลอดภัย และหมวดสนับสนุน โดยกองกำลังอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของโปแลนด์ในพื้นที่กองกำลังผสมนานาชาติ ภาคกลางตอนใต้ (Multinational Division Central-South: MND-CS)

กำลังผลัดแรก จำนวน 443 นาย[3][1] เดินทางเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2546 และสิ้นสุดภารกิจเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2547 และผลัดที่สอง จำนวน 130 นาย[4] ได้เข้ารับช่วงภารกิจต่อในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2547 และจบภารกิจเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2547 รวมกำลังพลเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่รวมทั้ง 2 ผลัดมีทั้งสิ้น 573 นาย

กองทหารของกองทัพบกไทยถูกโจมตีในเหตุระเบิดที่กัรบะลาอ์เมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้มีทหารเสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บอีก 5 นาย[5]

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของไทยในอิรักถือว่าประสบความสำเร็จในภาพรวม ไทยได้ถอนกำลังออกจากอิรักในเดือนกันยายน พ.ศ. 2547 ซึ่งจากภารกิจนี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สหรัฐตัดสินใจกำหนดให้ประเทศไทยเป็นพันธมิตรหลักนอกเนโทในปี พ.ศ. 2546[6]

ปฏิบัติการ

[แก้]

กองกำลังของไทยวางกำลังที่ค่ายลิมาร์ในเมืองกัรบะลาอ์ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 เพื่อให้การสนับสนุนด้านวิศวกรรม การปฏิบัติการทางหทารและพลเรือน และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้วิศวกรทหารของไทยยังช่วยสร้างและซ่อมแซมสถานที่ปฏิบัติงานของ MND-CS ทั่วทั้งเมืองกัรบะลาอ์

  • ด้านการช่าง ดำเนินการซ่อมสร้างถนน 13 สาย ซ่อมแซมโรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่สาธารณและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ประสบความเสียหาย[3]
  • ด้านการแพทย์ ให้บริการ Mobile Clinic บริการด้านการแพทย์แก่ชาวอิรักในเขตพื้นที่เมืองกัรบะลาอ์และใกล้เคียง และการส่งต่อทางการแพทย์ไปสู่กองร้อยเสนารักษ์ของโปแลนด์ รักษาพยาบาลแก่ชาวอิรักจำนวน 32,241 ราย[3]
  • ด้านส่งเสริมการเกษตร ในกำลังพลผลัดที่ 2 มีการส่งชุดส่งเสริมการเกษตรร่วมมาด้วย[4] โดยให้การแนะนำด้านการเกษตรกรรม เพื่อให้ชาวอิรักสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงตัวเองได้ แจกจ่ายพันธุ์พืชให้กับชาวอิรัก รวมถึงการฝึกอบรมการใช้ปุ๋ยเพื่อให้พื้นดินเหมาะสมกับการเพาะปลูก ซึ่งได้ผลอย่างดีในติมอร์ตะวันออก[3]
  • ด้านกิจการพลเรือน ปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบค่ายลิมาร์ ด้วยการจัดทีมแพทย์เคลื่อนที่เดินทางไปให้บริการประชาชนชาวอิรัก พร้อมทั้งนำสิ่งของอุปโภค บริโภค ประกอบไปด้วย ข้าวสาร ผ้าห่ม ปลากระป๋อง นมกระป๋องสำหรับทารก ของเด็กเล่น เป็นต้น[3]

ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เกิดเหตุมือระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีค่ายลิมาร์ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงแบกแดดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร (ซึ่งตั้งอยู่ในกัรบะลาอ์) คนร้ายขับรถพุ่งเข้าชนป้อมรักษาการณ์ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 2 นาย[7][8] และได้รับบาดเจ็บอีก 5 นาย จากเหตุการณ์นี้มีทหารฝ่ายพันธมิตรเสียชีวิต 6 นาย (อีกสองนายเป็นทหารบัลแกเรีย) และมีทหารได้รับบาดเจ็บรวม 97 นาย มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ซึ่งการโจมตีครั้งนี้ไม่ปกติ เพราะว่าการโจมตีส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นมักจะมีศูนย์กลางอยู่ที่สามเหลี่ยมสุหนี่ ซึ่งตั้งอยู่รอบ ๆ กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็ตาม รัฐบาลไทยก็ยังคงยืนยันจะประจำการทหารในภารกิจนี้ต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดการประจำการคือในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2547[9]

ผู้เสียชีวิต

[แก้]

จากภารกิจของกองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก มีกำลังพลเสียชีวิตจำนวน 2 นาย[7][8] จากเหตุระเบิดโจมตีค่ายลิมาร์ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2546 คือ

  • จ่าสิบเอก อัมพร ชูเลิศ ได้รับพระราชทานยศเป็นพันเอกหลังจากเสียชีวิต
  • จ่าสิบเอก มิตร กล้าหาญ ได้รับพระราชทานยศเป็นพันเอกหลังจากเสียชีวิต

การวิพากษ์วิจารณ์

[แก้]

การส่งกำลังกองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก เข้าไปปฏิบัติภารกิจในอิรัก ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยกลุ่มแนวร่วมเพื่อสันติภาพเชียงใหม่ ที่เผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนว่า เป็นการใช้กำลังทหารของไทยเป็นใบเบิกทางในการรับความสนับสนุนทางทหารจากสหรัฐ การขอเปิดข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐ และการเข้าไปลงทุนประมูลก่อสร้างขนาดใหญ่ในอิรักของบริษัทขนาดใหญ่ของไทย เช่น ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นถอนกำลังทหารออกจากอิรัก[10]

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยนั้น เกิดมาจากการส่งกำลังทหารไปปฏิบัติการในอิรักเช่นกัน[11]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 บทบาทของกองทัพไทยในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ (PDF). ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด.[ลิงก์เสีย]
  2. Thailand to withdraw troops from Iraq if attacked. Asian Tribune (21 April 2004).
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "สาธารณรัฐอิรัก". กระทรวงการต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ).
  4. 4.0 4.1 "ต้อนรับอบอุ่นทหารไทยคืนถิ่น สู่อ้อมกอดแห่งมาตุภูมิ". mgronline.com. 2004-09-10.
  5. Karbala attacks kill 12, wound dozens. CNN (27 December 2003). Retrieved on 2012-01-18.
  6. Thailand. centcom.mil
  7. 7.0 7.1 "ทหารนานาชาติตายในอิรักรวมกว่า 3 พันนาย - ไทยสังเวย 2". mgronline.com. 2007-01-11.
  8. 8.0 8.1 "ยอดมะกันเสียชีวิตในอิรัก เพิ่มถึง3,000รับปีใหม่ | ประชาไท Prachatai.com". prachatai.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "Thai PM stands by Iraq deployment". Al Jazeera (ภาษาอังกฤษ).
  10. "The Midnight Webpage 300". midnightuniv.tumrai.com.
  11. "ทหารไทยในอิรักจะกลับบ้านแล้ว!". mgronline.com. 2004-06-28.