ข้ามไปเนื้อหา

สวนสราญรมย์

พิกัด: 13°44′54″N 100°29′43″E / 13.748254°N 100.495221°E / 13.748254; 100.495221
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อุทยานสราญรมย์)
สวนสราญรมย์
น้ำพุพานโลหะที่ทางเข้าของสวนสราญรมย์
แผนที่
ประเภทสวนละแวกบ้าน
สวนชุมชน
ที่ตั้ง678–681 ถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
พื้นที่23 ไร่[1]
เปิดตัวพ.ศ. 2503
ผู้ดำเนินการตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
สถานะ05.00–21.00 น. ทุกวัน

สวนสราญรมย์ หรือ พระราชอุทยานสราญรมย์ เป็นสวนชุมชน อยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังไปทางทิศตะวันออก ในอดีตเคยเป็นอุทยานของวังสราญรมย์ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้กลายมาเป็นของคณะราษฎร์ ใช้งานเป็นสถานที่จัดเทศกาลฉลองรัฐธรรมนูญและการประกวดนางสาวสยามประจำปี

พื้นที่โดยรอบสวนเป็นที่รู้จักในฐานะบริเวณที่มักมีผู้ค้าบริการทางเพศมายืนหาลูกค้าในเวลากลางคืน[2]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

เดิมสวนสราญรมย์เป็นเขตพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2409 สวนสราญรมย์ก่อสร้างขึ้นในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. 2417 ตามคำแนะนำของเฮนรี อาลาบาศเตอร์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์เฮนรี อาลาบาศเตอร์ เป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ โดยมี พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล) ดูแลการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อเสด็จไปที่ใด พบพันธุ์ไม้แปลก ๆ ก็โปรดให้นำมาปลูกเพิ่มเติมที่สวนสราญรมย์อยู่เสมอ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เป็นสถานที่จัดงานฤดูหนาว ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้กับรัฐบาล ใช้เป็นที่ทำการของคณะราษฎร กระทั่ง พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบสวนสราญรมย์ ให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะแก่ประชาชนทั่วไป ในปี พ.ศ. 2524 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบให้รื้อย้ายสโมสรราษฏร์สราญรมย์ และไม่อนุญาตให้สโมสรราษฏร์สราญรมย์ใช้อาคารและสถานที่พระราชอุทยานสราญรมย์ และให้กรุงเทพมหานครจ่ายค่าทดแทนในการนี้ให้แก่สโมสรราษฏร์สราญรมย์ เป็น 1,470,000 บาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ[3]

ในสมัยที่สวนเป็นที่ทำการของคณะราษฎร์ ซึ่งภายหลังการปฏิวัติสยามได้กลายเป็นสโมรสรทางการเมือง ดำเนินการในอาคารสโมสรคณะราษฎร์สราญรมย์ ได้มีการจัดการฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นในสวนทุกวันที่ 10 ธันวาคม ในการฉลองรัฐธรรมนูญประจำปีนี้ยังมีการจัดการประกวดนางงามประจำชาติรายปีขึ้นครั้งแรกในชื่อนางสาวสยาม (ต่อมาคือ นางสาวไทย)[4]

สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในสวน

[แก้]

อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

[แก้]

อนุสาวรีย์ฯ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2426 ล้อมรอบด้วยต้นลั่นทม ตรงพื้นที่ที่ระบุว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เคยทรงพระสำราญในสวนเมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ตัวอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อนสีขาวมียอดเป็นปรางค์เป็นที่บรรจุพระอัฐิ[5] และมีคำจารึกแสดงความทุกข์โทมนัสของรัชกาลที่ 5 บนแผ่นหินอ่อน จารึกมี 4 ด้าน โดยด้านที่ 1 เป็นร้อยแก้ว, ด้านที่ 2 และ 4 เป็นร้อยกรอง และด้านที่ 3 เป็นภาษาอังกฤษ จารึกด้วยอักษรโรมัน สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเสด็จทรงถือสายสูตรเปิดผ้าคลุมอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2426[6]

สโมสรคณะราษฎร์สราญรมย์

[แก้]
สโมสรราษฎร์สราญรมย์ ปัจจุบันเป็นที่ทำการสวน

สโมสรคณะราษฎร์สราญรมย์ เป็นอาคารสูงชั้นเดียว ก่อสร้างอย่างเรียบง่ายตามแบบสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ด้านหน้าของอาคารตั้งประติมากรรมรูปพานรัฐธรรมนูญประดับด้วยงานกระจกสี ปัจจุบันอาคารเป็นที่ทำการของสวนสราญรมย์[4]

เรือนกระจก

[แก้]

อดีตอาคารของสโมสรทวีปัญญา หรือรู้จักในชื่อเรือนกระจก ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารซึ่งสร้างแบบเรือนกระจกในยุควิกตอเรีย เคยเป็นที่พบปะสังสรรค์ อ่านหนังสือ และแสดงละครของชนชั้นสูงในชื่อสโมสรทวีปัญญา อย่างไรก็ตาม อาคารไม่ได้ใช้งานเป็นเรือนเพาะปลูก[4] ปัจจุบันอาคารขาดการดูแลอย่างหนัก และใช้งานเป็นที่เก็บของของสวน

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง

[แก้]

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองในสวนสราญรมย์เป็นศาลเจ้าดั้งเดิมของสวน ไม่ปรากฏหลักฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อใด ในคริสต์ทศวรรษ 1910 ได้มีการทำนุบำรุงศาลขึ้นใหม่เป็นเก๋งจีนความสูงสามชั้น[4]


ระเบียงภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม. สวนสราญรมย์. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564.
  2. "โสเภณี-ผู้ชายป้ายเหลืองชีวิตที่จำต้องเลือก?". Manager Daily. 2004-09-23. สืบค้นเมื่อ 2021-01-11.
  3. คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบสวนสราญรมย์ ให้แก่กรุงเทพมหานคร
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ราเมศ พรหมเย็น, บ.ก. (2021). ติดเกาะกับตึกเก่า (PDF). กรุงเทพมหานคร: มิวเซียมสยาม. ISBN 9786168162118.
  5. ผู้จัดการออนไลน์ (2007-02-12). "อนุสรณ์แห่งความรัก พระพุทธเจ้าหลวงและพระนางเรือล่ม". MarineThai.com. สืบค้นเมื่อ 2021-10-24.
  6. "จารึกที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ 1". ฐานข้อมูลจารึก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2021-08-11. สืบค้นเมื่อ 2021-10-24.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′54″N 100°29′43″E / 13.748254°N 100.495221°E / 13.748254; 100.495221