ศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน
ศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน | |
---|---|
ประเภท | สวนสาธารณะ |
ที่ตั้ง | แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 13°41′34.9″N 100°39′44.1″E / 13.693028°N 100.662250°E |
พื้นที่ | 644 ไร่ (103.0 เฮกตาร์; 255 เอเคอร์) |
ก่อตั้ง | 23 มิถุนายน 2551 |
ผู้ดำเนินการ | กรุงเทพมหานคร |
สถานะ | เปิดตลอดทั้งปี |
ขนส่งมวลชน | อุดมสุข |
ศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน (อังกฤษ: Nong Bon Water Sports Center) หรือ สวนสาธารณะบึงหนองบอน เป็นสวนสาธารณะระดับเมืองที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 43 (เข้าบึงรับน้ำ) ห่างจากถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ประมาณ 700 เมตร ติดกับมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสวนหลวง ร.9 ในพื้นที่แขวงหนองบอน เขตประเวศ มีพื้นที่ 644 ไร่ (103.0 เฮกตาร์; 255 เอเคอร์) ซึ่งใหญ่กว่าสวนหลวง ร.9[1]
ประวัติ
[แก้]บึงหนองบอน (ทะเลสาบหนองบอน) เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เริ่มขุดเมื่อปี พ.ศ. 2536 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2542 มีลักษณะเป็นทะเลสาบประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่เป็นแก้มลิงจำนวน 3 บึง[2] ช่วยสนับสนุนปริมาณน้ำที่ไหลบ่าจากภาคตะวันออก เพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก (ประมาณเดือนตุลาคม) นอกจากนี้ ยังเคยใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาทางน้ำในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 1998 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2541 และกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 32 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2543[3]
ต่อมา พื้นที่อ่างเก็บน้ำที่สวยงามนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กีฬาทางน้ำโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ. 2549 โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551[3] จากนั้นได้รับการพัฒนาต่อให้เป็นสวนสาธารณะ โดยสร้างทางจักรยานรอบบึงระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558 โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น ได้ทำพิธีเปิดทางจักรยานเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558[4] และหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ได้ทำพิธีเปิดสวนสาธารณะบึงหนองบอนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559[5]
ภาพรวม
[แก้]สวนแห่งนี้มีบริการวินด์เซิร์ฟ พายเรือคายัก และล่องเรือกลางบึงหนองบอน โดยเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป คิดค่าบริการรายปี ปีละ 40 บาท นอกจากนี้ ยังมีทางจักรยานและจ็อกกิง ระยะทาง 4 กิโลเมตร ล้อมรอบทะเลสาบ และให้บริการโซนสวนสุนัขสำหรับผู้ที่นำสัตว์เลี้ยงมาเข้าสวน[6] และริมทะเลสาบ ยังมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจและถ่ายรูป โดยเฉพาะในเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
โครงการในอนาคต
[แก้]เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 คณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่มีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ได้ประชุมคัดเลือกโครงการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสดังกล่าวจำนวน 10 โครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการยกระดับศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน โดยการพัฒนาเป็นสวนสาธารณะเต็มรูปแบบ และผนวกรวมเข้ากับสวนหลวง ร.9 ที่มีพื้นที่ติดกัน เป็นสวนสาธารณะที่มีพื้นที่รวมมากกว่า 1,144 ไร่ ซึ่งจะทำให้เป็นสวนสาธารณะระดับมหานครแห่งแรกของประเทศไทย และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และรัฐบาลจะขอพระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า สวนหลวง ร.10 โดยดำเนินการควบคู่กับการสร้างสวนหย่อมขนาดเล็กอีก 72 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร[2][7]
ทั้งนี้ โครงการยกระดับศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอนได้เริ่มมีการดำเนินการในระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยการก่อสร้างประตูทางเชื่อมต่อระหว่างสวนหลวง ร.9 กับบึงหนองบอน เป็นเส้นทางเดิน-วิ่ง ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร และต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เศรษฐาพร้อมคณะรัฐมนตรีและผู้ติดตามได้ร่วมกันปลูกต้นราชพฤกษ์และอินทนิลภายในศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน รวม 10 ต้น คาดว่าโครงการในระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567[8] หลังจากนั้นจะดำเนินโครงการต่อในระยะที่ 2 โดยก่อสร้างสนามกีฬาประเภทต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่กิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2568[9]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- nukkpidet (2 มิถุนายน 2020). "บึงหนองบอน ที่เที่ยวกรุงเทพ กับธรรมชาติใจกลางเมือง พร้อมกิจกรรมแบบแน่นๆ". ทรูไอดี. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
- ↑ Marketeer Online (8 กรกฎาคม 2022). "#TheCity 🟥 10 สวนสาธารณะใหญ่สุดในกรุงเทพฯ". เฟซบุ๊ก. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 2.0 2.1 "เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ ยกระดับ 'สวนหลวง ร.9-บึงหนองบอน' เป็นสวนสาธารณะระดับมหานคร". มติชน. 18 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 3.0 3.1 "บึงหนองบอน-มิตรภาพแห่งสายน้ำ". คมชัดลึก. 4 กันยายน 2011. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""สุขุมพันธุ์"เปิดเส้นทางจักรยานศูนย์กีฬาบึงหนองบอน". เนชั่นทีวี. 2 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "'รายงานวันจันทร์'-'บึงหนองบอน' ตัวอย่างพัฒนาต่อเนื่อง แก้มลิงเป็นศูนย์กีฬาทางน้ำ". ไทยรัฐ. 8 กุมภาพันธ์ 2016. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Tianyot (2 กุมภาพันธ์ 2019). ""บึงหนองบอน"......สวนน้ำแห่งความสุข". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ขอพระราชทาน ชื่อสวนหลวง ร.10 เฉลิมมหามงคล 6 รอบ รัฐบาลจัด "10 โครงการ"". ไทยรัฐ. 10 พฤษภาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "รัฐบาลยกระดับโครงการสวนสาธารณะ "บึงหนองบอน" เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา". ฐานเศรษฐกิจ. 24 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ชัชชาติ ปั่นจั๊กพาทัวร์ 'บึงหนองบอน' ลุยปั้นศูนย์กีฬาจัดเต็ม เล่นได้ต.ค. 68". มติชน. 26 ตุลาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)