ข้ามไปเนื้อหา

อักษรขอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อักษรขอมโบราณ)
ศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ ที่เสาในปราสาทโลเลย
พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการสำหรับพิมพ์หัวกระดาษประกาศกฎหมายต่างๆ แบบที่ใช้ในช่วงก่อน พ.ศ. 2483 ข้อความในแพรแถบตอนล่างสุดเป็นอักษรขอมข้อความ "พฺระบรมฺมราชโองฺการ"

อักษรขอม พัฒนามาจากอักษรขอมโบราณ ซึ่งพัฒนามาจากอักษรหลังปัลลวะ และอักษรปัลลวะอีกทีหนึ่ง[1] เป็นตัวอักษรของราชวงศ์ปัลลวะในอินเดียใต้ ภายหลังได้มาติดต่อกับภูมิภาคอุษาคเนย์จึงได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงตัวอักษรปัลลวะไว้ให้กับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้อีกด้วย อักษรปัลลวะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในภูมิภาคนี้ และมีวิวัฒนาการจากอักษรปัลลวะเป็นอักษรหลังปัลลวะ และแตกแขนงเป็นสองสาขาใหญ่ ๆ คืออักษรมอญโบราณ และอักษรขอมโบราณ

อักษรขอมโบราณใช้ในอาณาจักรต่างๆ สองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนคร ต่อมาจึงกลายเป็นอักษรท้องถิ่นในสมัยพระนคร และเป็นต้นแบบของอักษรไทยและอักษรเขมรในปัจจุบัน

เอกลักษณ์ของอักษรขอม คือ เปลี่ยนบางอักษรของอักษรปัลลวะเป็นศกหรือหนามเตย อักษรนี้พัฒนาไป 2 ทิศทาง คือ เป็นอักษรขอมในประเทศไทย (ใช้เขียนภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาเขมร) และอักษรขอมในประเทศกัมพูชา (ใช้เขียนภาษาเขมร ภาษาบาลี)

อักษรขอมในประเทศไทย

[แก้]

อักษรขอมเป็นรูปอักษรชนิดหนึ่ง พัฒนามาจากรูปอักษรปัลลวะ ซึ่งเป็นรูปอักษรที่ใช้อยู่ในประเทศ อินเดียตอนใต้ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-12 หลักฐานที่ปรากฏและพบในประเทศไทยมีทั้งจารึกบนแผ่นศิลา และแผ่นอิฐ ซึ่งบันทึกด้วยอักษรปัลลวะ เช่น จารึกเมืองศรีเทพ พบที่จังหวัดเพชรบูรณ์, จารึกเยธมมา พบที่จังหวัดนครปฐม เป็นต้น ครั้นเวลาต่อมาอักษรดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในภูมิภาคอันเป็นที่ตั้งประเทศไทยในปัจจุบันนี้ คือ อักษรมอญ อักษรขอม เป็นต้น จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่ออาณาจักรสุโขทัยของคนไทยได้ตั้งตัวเป็นอิสระขึ้น และได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แล้ว[2] ตัวอักษรไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ใน พ.ศ. 1826 ทรงดัดแปลงประดิษฐ์จากตัวอักษรขอมหวัดและอักษรมอญโบราณ ตัวอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลาย และเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงให้เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน[3]

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ทำให้รู้ถึงการประดิษฐ์อักษรไทย ระบบการเขียนภาษาไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงกำหนดให้เขียนพยัญชนะและสระไว้บนบรรทัดเดียวกัน ภาษาในศิลาจารึกเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย [3]

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือศิลาจารึกหลักที่ 1 ของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี อักษรขอม ซึ่งเป็นอักษรที่คนไทยสมัยนั้นรู้จักและใช้คุ้ยเคยมานานก็ไม่ได้เลิกใช้ ยังคงนำมาใช้เขียนได้ทั้งภาษาบาลี และภาษาไทย ทั้งนี้เพราะอักษรไทยใช้เขียนภาษาบาลีไม่ได้ ดังนั้น อักษรขอมไทยจึงยังคงได้รับความนิยมบันทึกเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา และยอมรับเป็นรูปอักษรของไทยอีกแบบหนึ่งสืบมาจนถึงปัจจุบัน[2]

ในสมัยนั้นสถานศึกษาเล่าเรียนของคนไทยในอดีตมีอยู่ 2 ที่ คือ วังกับวัด วังเป็นสถานศึกษาส่วนเฉพาะของพระราชวงศ์ วัดเป็นสถานที่ศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ที่อยู่ประจำตามวัดต่างๆ ผู้ปกครองนิยมนำบุตรหลานไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก เมื่อแรกไปอยู่ นอกจากต้องศึกษาเล่าเรียนแล้ว ยังต้องมีกิจวัตรอีกอย่างคือต้องทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้พระสงฆ์ซึ่งเป็นพระอาจารย์ด้วย [2]

จะเห็นได้ว่า การศึกษาของเด็กไทยในสมัยโบราณสิ่งที่ใช้เป็นบทเรียนหรือแบบเรียนก็คือหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อมีทั้งภาษาไทยและภาษาบาลีใช้อักษรขอมและอักษรไทยควบคุมกันไป โดยเฉพาะอักษรขอมคัมภีร์ที่นิยมนำมาถ่ายทอดความรู้สู่ลูกศิษย์ ได้แก่ คัมภีร์พระมาลัย มูลกัจจายน์ โดยใช้อักษรขอมเขียนบันทึกเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย สาเหตุที่อักษรขอมได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในอดีต เพราะถือว่าอักษรขอมเป็นอักษรที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงนิยมนำมาจารอักขระ คาถา อาคม เลขยันต์ นอกจากนั้น พระธรรมอักเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือที่เรียกว่าพระไตรปิฎกก็ถูกหยิบยกนำมาจารลงในคัมภีร์ใบลาน หรือวัสดุอื่นเพื่อบันทึกคำสอนเหล่านั้นให้คงอยู่สู่อนุชนรุ่นหลัง[2]

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือศิลาจารึกหลักที่ 1 ของประเทศไทย

แม้จะมีการพัฒนาอักษรไทยและอักษรอริยกะมาเขียนภาษาบาลีก็ตาม อักษรขอมบาลีถูกยกเลิกไปในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงจัดสร้างพระไตรปิฏกสยามรัฐและใช้อักษรไทยแทน การเล่าเรียนพระไตรปิฏกผ่านอักษรขอมจึงยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ

รูปแบบ

[แก้]

รูปแบบของอักษรขอมในประเทศไทยทั้งขอมไทยและขอมบาลี แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ

  • อักษรบรรจง เป็นรูปสี่เหลี่ยม ทรงมน ใช้เขียนคัมภีร์ทางศาสนา
  • อักษรตัวเกษียณ เป็นตัวเฉียงทแยง เอียงขวา ใช้บันทึกคำอธิบาย หรือเขียนหวัด
  • อักษรเฉียงขอมหรือเฉมเขม แบบตัวเชรียง รูปสระและการประสมสระต่างไปจาก 2 แบบ ข้างต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. กรมศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ. (2529). จารึกในประเทศไทย เล่ม ๔ : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์. หน้า 13. ISBN 974-7920-74-3
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 สำนักหอสมุดแห่งชาติ. กลุ่มหนังสิอตัวเขียนและจารึก. คู่มือการอ่าน ถ่ายทอดอักษรขอม. กรุงเทพฯ : สำนักฯ, 2553. ISBN 978-974-417-358-4
  3. 3.0 3.1 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ไทยศึกษา เอกสารการสอน หน่วยที่ 1-15, 3rd revision พิมพ์ครั้งที่ 5 ปีพิมพ์ : 2563 ISBN 9786161618063

ดูเพิ่ม

[แก้]