ข้ามไปเนื้อหา

ระบบการเขียนในอเมริกากลาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ระบบการเขียนในอเมริกากลาง (Mesoamerican Writing Systems)เป็นระบบการเขียนที่พบในอเมริกากลางซึ่งเป็นดินแดนตั้งแต่เขตทะเลทรายทางเหนือของเม็กซิโกไปจนถึงป่าดิบเขตร้อนทางตะวันตกเฉียงเหนือของคอสตาริกา เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีทั้งศาสนา ศิลปะและภาษาเป็นเอกลักษณ์ร่วมกันของชนหลายกลุ่ม ได้แก่ เอซเทค มายา โอลเมค และกลุ่มเล็กๆเช่น ซาโปเทค ทีโอทิฮัวคานอส มิกซ์เทค และทาราสคัน กลุ่มวัฒนธรรมเหล่านี้มีระบบการเขียนเป็นของตนเองก่อนการเข้ามาของชาวยุโรป

ลักษณะของระบบการเขียน

[แก้]

เป็นระบบที่คล้ายคลึงกับอักษรไฮโรกลิฟฟิกของอียิปต์ นิยมเรียกสั้นๆว่ากลิฟ กลิฟมีความคล้ายคลึงกับรูปวัตถุ เช่น สัตว์ คน สิ่งของ รูปของสัตว์และคน มักเป็นภาพโครงร่างแสดงเฉพาะส่วนหัว ในบางกรณี มีกลิฟที่แสดงรูปเต็มตัวด้วย ส่วนของร่างกายมนุษย์ เช่น แขนและขา ใช้แสดงการกระทำหรือคำกริยา กลิฟที่แสดงเวลาเป็นรูปเรขาคณิต เช่นวงกลม สามเหลี่ยม

อักษรในอเมริกากลางมีลักษณะคล้ายภาพวาดมากกว่าอักษรของชาวตะวันตก ภายในเครื่องประดับบนศีรษะของภาพ จะแสดงชื่อของภาพ ตัวอย่างนี้พบในอักษรของชาวมิกซ์เทคและเอซเทค ที่ชื่อของสถานที่และบุคคลจะวาดลงบนรูปโดยตรง

ระบบตัวเลข

[แก้]

โดยทั่วไปใช้ระบบขีดและจุด จุดแสดงเลข 1 ขีดแสดงเลข 5 ในบางกรณี จารึกอักษรมิกซ์เทคและเอซเทคใช้แต่จุดเท่านั้นระบบขีดและจุดนี้ใช้เขียนเลขน้อยกว่า 20 ถ้ามากกว่านี้จะใช้ระบบอื่น ตัวอย่างเช่น เอซเทค ใช้สัญลักษณ์พิเศษ เช่น ธง หมายถึง 20 ใบหน้า หมายถึง 400 ถุงเครื่องหอมหมายถึง 8000 การเขียนเลข 946 ใช้รูปใบหน้า 2 รูป (2*400 = 800) ธง 7 ผืน (7 x 20 = 140) และจุด 6 จุด (6 x 1 = 6), ผลรวมเป็น 946 (800 + 140 + 6)

ระบบของมายาจะซับซ้อนกว่านี้ สัญลักษณ์ของรูป 20 คือพระจันทร์ครึ่งดวง การเขียนเลขจำนวนมากๆจะระบุตำแหน่งของตัวเลขแบบเดียวกับระบบในปัจจุบันที่เป็นเลขยกกำลังของ 10 เลข 5209 แสดงได้เป็น 5209 = 5x103 + 2x102 + 0x101 + 9x100 โดยระบบเดียวกัน ตัวเลขมายามีตั้งแต่ 0 – 19 และแต่ละหน่วยเป็นเลขยกกำลังของ 20 เลขแต่ละตัวอยู่ในระบบขีดและจุด รวมกับสัญลักษณ์ของ 0 ที่เป็นรูปหอยสังข์

ระบบปฏิทินในอเมริกากลาง

[แก้]

ปฏิทินมี 2 ระบบคือ ปฏิทินแสงอาทิตย์ 365 วัน/ปี คำนวณจากการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก แบ่งเป็น 18 เดือนๆละ 20 วัน ตอนสิ้นปีมีเวลาพิเศษ 5 วันซึ่งถือเป็นเวลาแห่งอันตราย อีกระบบคือปฏิทินศักดิ์สิทธิ์ 260 วัน/ปี ไม่เกี่ยวข้องกับระบบดาราศาสตร์ใดๆ แต่คำนวณมาจากระยะการตั้งครรภ์ของมนุษย์ ไม่มีระบบเดือน แต่ใช้วงรอบของวัน 2 แบบ ที่เป็นคู่ขนานและเกี่ยวข้องกันคือวงรอบเครื่องหมายของวัน มี 20 ชื่อ และวงรอบสัมประสิทธิ์ของวันมี 13 ชื่อ นอกจากนี้ชาวมายายังติดตามตำแหน่งของดาวศุกร์ ในเวลากลางคืนและคำนวณเป็นวงรอบๆละ 584 วัน

ชาวมายาและอีพิ-โอลเมคยังมีวงรอบของเวลาที่ใหญ่ที่สุด เรียกการนับระยะยาว ปฏิทินนี้มีสัมประสิทธิ์ 5 ตัว ใช้บันทึกรอบละ 5,000 ปี การนับระยะยาวของทั้งชาวมายาและอีพิ-โลเมค เริ่มเมื่อ 2,570 ปีก่อนพุทธศักราช ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยุคเริ่มต้นของปัจจุบัน และด้วยระบบสัมประสิทธิ์ 5 ตัว การนับระยะยาวจะสิ้นสุดใน พ.ศ. 2551 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดสิ้นสุดของโลกตามความเชื่อของชาวมายา

รูปบูชา – จุดเริ่มของการเขียน

[แก้]

การเขียนในอเมริกากลางไม่ได้เริ่มต้นจากการนับเช่นในส่วนอื่นๆของโลก แต่มีวัตถุประสงค์ในด้านการเมือง ศาสนา และประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเมืองที่ปรากฏครั้งแรกในอเมริกากลาง คาดว่าเป็นอารยธรรมโอลเมค มีศูนย์กลางอยู่ในเขตร้อนชื้นของเม็กซิโก ยุคแรกเริ่มและยุคก่อนคลาสสิกในอเมริกากลาง ชาวโอลเมคแสดงผู้นำของเขาด้วยรูปหัวมนุษย์ การตกแต่งของแต่ละหัวจะต่างกัน และเป็นที่มาของการใส่ชื่อในข้อความ และน่าจะเป็นกลุ่มเดียวในยุคนั้นที่สร้างสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมาย เริ่มจากการเขียนรูปบูชาให้มีขนาดเล็กและนำมาเรียงลำดับเพื่อสื่อความหมาย และกลายเป็นกลิฟในระบบการเขียนรุ่นหลัง

ยุคก่อนคลาสสิกสมัยหลัง ( พ.ศ. 343 -843) เริ่มมีการเขียนของชาวซาโปเทค อีพิ-โอลเมคและมายา ในช่วงยุคคลาสสิก (พ.ศ. 843 -1443) และยุคหลังคลาสสิก (พ.ศ. 1443 -2043) มีระบบการเขียนเพิ่มมากขึ้น คล้ายกับว่าได้รับแรงดลใจจากงานเขียนของชาวซาโปเทค ยุคนี้อักษรได้แพร่ไปทั่วอเมริกากลาง แต่ละกลุ่มต่างมีการเขียนเป็นของตนเอง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้

[แก้]

อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกากลาง ได้แก่ อักษรมายา และอีพิ-โอลเมค ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น เครื่องหมายแทนเสียง การนับระยะยาว และข้อความขนาดยาวที่เป็นหน่วยทางภาษาศาสตร์ และโครงสร้างประโยค

อักษรมายาเป็นอักษรที่มีการใช้งานนานที่สุด เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 243 จนสิ้นสุดราชอาณาจักรมายาเมื่อ พ.ศ. 2240 ลักษณะเด่นคือ กลิฟเป็นรูปสี่เหลี่ยม เขียนในแนวคอลัมน์คู่ซิกแซก อักษรอีกชนิดคืออักษรอีพิ-โอลเมค เป็นลักษณะผสมระหว่างอักษรคำกับสัญลักษณ์แทนการออกเสียง ในการนับระยะยาวและจดบันทึกเหตุการณ์สำคัญ จุดเริ่มต้นของการนับระยะยาวก็ใกล้เคียงกัน

กลุ่มอัวซาคัน

[แก้]

จุดศูนย์กลางอยู่ที่รัฐอัวซาคัน เม็กซิโกตอนใต้ อักษรชนิดแรกของกลุ่มนี้คืออักษรซาโปเทค มีอายุราว พ.ศ. 43 อักษรนี้ยังเข้าใจได้น้อย อักษรที่ใกล้เคียงกันคืออักษรญูอีน อักษรทีโอทิฮัวคันต่างไปจากอักษรมายาและซาโปเทค นักวิขาการเชื่อว่าอักษรนี้ไม่ใช่ระบบการเขียนที่สมบูรณ์ อาจจะมีแค่ตัวเลขพื้นฐานกับปฏิทิน อย่างไรก็ตามหลักฐานที่แสดงว่าอักษรทีโอทิฮัวคันเป็นระบบการเขียนเริ่มพบมากขึ้น

หลัง พ.ศ. 1443 มีวัฒนธรรมที่เป็นที่รู้จักขึ้นมา 2 กลุ่มคือ เอซเทคและมิกซ์เทคซึ่งคล้ายคลึงกันมาก อักษรมิกซ์เทคมาจากอักษรซาโปเทคแล้วไปเป็นอักษรเอซเทคอีกทอดหนึ่ง ยังไม่พบข้อความขนาดยาวของอักษร 2 ชนิดนี้

หลังการเข้ามาของชาวสเปน

[แก้]

เมื่อชาวสเปนเข้ามา การเขียนของชาวพื้นเมืองถูกหาว่าเป็นการเขียนของปีศาจและห้ามใช้ จารึกและหนังสือจำนวนมากถูกทำลาย ชาวพื้นเมืองจึงเขียนภาษาของตนด้วยอักษรละตินแทน งานเขียนเก่าๆถูกคัดลอกโดยอาลักษณ์ที่เป็นลูกจ้งของรัฐบาลอาณานิคมหรือโบสถ์ เมื่อยุคอาณานิคมสิ้นสุดลง การจ้างงานอาลักษณ์เหล่านี้จึงเลิกล้มไปด้วย ประชาชนในรัฐเอกราชใหม่ประกาศตนเป็นเชื้อสายของสเปนในโลกใหม่ ไม่มีใครสนใจวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง จนกระทั่งหลัง พ.ศ. 2500 จึงมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมโบราณเหล่านี้ขึ้นมาอีก

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]