ข้ามไปเนื้อหา

การลาดตระเวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในปฏิบัติการทางทหาร การลาดตระเวน (อังกฤษ: reconnaissance หรือ scouting) หมายถึงการสำรวจนอกพื้นที่ที่กำลังฝ่ายเดียวกันยึดครองเพื่อให้ได้สารสนเทศเกี่ยวกับภูมิประเทศและกิจกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่[1]

ตัวอย่างการลาดตระเวน ได้แก่ การลาดตระเวนด้วยกำลังพล เรือหรือเรือดำน้ำ อากาศยานลาดตระเวนทั้งที่มีพลขับและไม่มีพลขับ ดาวเทียม หรือโดยจัดตั้งจุดสังเกตการณ์ลับ การจารกรรมปกติไม่เป็นการลาดตระเวน เพราะการลาดตระเวนเป็นกำลังพิเศษของกองทัพที่ปฏิบัติการล่วงหน้ากำลังหลัก ส่วนสายลับเป็นผู้มิใช่พลรบที่ปฏิบัติการอยู่หลังแนวข้าศึก

ประเภทของการลาดตระเวน

[แก้]

โดยทั่วไปนั่น การลาดตระเวนสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท[2] คือ

  1. การลาดตระเวนหาข่าว
  2. การลาดตระเวนรบ

การลาดตระเวนหาข่าว

[แก้]

เป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากการลาดตระเวน เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาในการรบ โดยรวบรวมเกี่ยวกับ

  • ข่าวสารของข้าศึก เกี่ยวกับขนาดของกำลัง การปฏิบัติการ พื้นที่ที่ตั้ง เวลาที่พบ อาวุธที่ตรวจพบ
  • ข่าวสารเกี่ยวกับภูมิประเทศ เกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศที่จะทำให้ฝ่ายเราได้เปรียบในการปฏิบัติการ

โดยกำหนดกรอบการปฏิบัติการหาข่าวในรูปแบบของ

  • การลาดตระเวนหาข่าวเป็นจุด คือการหาข่าวในพื้นที่เฉพาะหรือพื้นที่ที่ถูกกำหนดขึ้น ที่มักจะมีความเคลื่อนไหว เช่น สะพาน สนามขึ้นลงอากาศยานปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์
  • การลาดตระเวนหาข่าวเป็นพื้นที่ คือการหาข่าวในพื้นที่ตามภูมิศาสตร์ที่ได้กำหนดขอบเขตเอาไว้ โดยหน่วยที่ปฏิบัติการจะมีอิสระในการปฏิบัติการสูงกว่าแบบการลาดตระเวนหาข่าวแบบเป็นจุด

การลาดตระเวนรบ

[แก้]

เป็นการลาดตระเวนเพื่อระวังป้องกันการปฏิบัติการของข้าศึก รวมถึงการป้องกันการรุกล้ำเข้ามาในภูมิประเทศสำคัญ การรบกวนการรบ การจับกุม การยึดอาวุธ หรือการทำลายที่ตั้งที่สำคัญของข้าศึก แบ่งได้ 6 ประเภทตามภารกิจ คือ

  • การลาดตระเวนตีโฉบฉวย มีหน้าที่ในการทำลายหรือจับกุมกองกำลัง อาวุธยุทโธปกรณ์ ทำลายตำแหน่งที่ตั้งที่สำคัญ รวมถึงการชิงตัวประกันหรือบุคคลสำคัญ
  • การลาดตระเวนซุ่มโจมตี มีหน้าที่ในการซุ่มโจมตีต่อเป้าหมายซึ่งเป็นหน่วยลาดตระเวนของข้าศึก ขบวนยานยนต์ ขบวนส่งกำลังบำรุง รวมถึงขบวนเดินท้าของทหาร
  • การลาดตระเวนระวังป้องกัน มีหน้าที่ในการเป็นแนวป้องกันการแทรกซึมของกองกำลังข้าศึกที่จะเข้ามาปฏิบัติการจู่โจมหรือซุ่มโจมตีต่อฝ่ายเรา
  • การลาดตระเวนรักษาการติดต่อ มีหน้าที่ในการรักษาการติดต่อสื่อสารกับกำลังฝ่ายเดียวกันในจุดที่กำหนด หรือการติดต่อกับกำลังฝ่ายเราหรือฝ่ายข้าศึกเมื่อไม่ทราบตำแหน่งแน่นอน ซึ่งการลาดตระเวนชนิดนี้การติดต่อสื่อสารและเครื่องรับส่งวิทยุสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่ง
  • การลาดตระเวนออมกำลัง มีหน้าที่ในการยึดครองและตรึงแนวตามภูมิประเทศที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ ทำให้หน่วยปฏิบัติการหลักดำเนินการรบต่อได้โดยไม่ถูกโจมตีรบกวนจากข้าศึก
  • การลาดตระเวนค้นหาและโจมตี มีหน้าที่ในการค้นหาและโจมตีเป้าหมายซึ่งเป็นข้าศึกตามที่จะมีโอกาสโจมตี

ระยะการส่งกำลัง

[แก้]

สำหรับการส่งกำลังในการลาดตระเวน หากแบ่งตามที่หมายจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท[3][2] คือ

  1. หน่วยลาดตระเวนระยะใกล้ คือการปฏิบัติการภายในพื้นที่ปฏิบัติการหรืออิทธิพลของหน่วย เกิดขึ้นในระยะเวลาที่สั้นและในพื้นที่ที่ใกล้
  2. หน่วยลาดตระเวนระยะไกล คือการปฏิบัติการในพื้นที่ปฏิบัติการและพื้นที่ที่อยู่ในอิทธิพลของหน่วย หรือที่หน่วยมีความสนใจในการลาดตระเวนพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งมีระยะทางที่ไกล หรือใช้เวลาในการลาดตระเวนที่ยาวนาน อาจมีการใช้ยานพาหนะหรืออากาศยานสนับสนุน

การลาดตระเวนอื่น ๆ

[แก้]

นอกจากการลาดตระเวนในทางหทารแล้ว ปัจจุบันการลาดตระเวนถูกใช้งานในภารกิจของพลเรือนหลากหลายภารกิจ อาทิ

  • การลาดตระเวนพื้นที่ป่าไม้และอุทยานแห่งชาติ เพื่อระงับและป้องกันการบุกรุกและทำลายป่า[4]
  • การลาดตระเวนทางทะเล เพื่อการปกป้องและดูแลทรัพยากรทางทะเล[5]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. A Dictionary of Aviation, David W. Wragg. ISBN 10: 0850451639 / ISBN 13: 9780850451634, 1st Edition Published by Osprey, 1973 / Published by Frederick Fell, Inc., NY, 1974 (1st American Edition.), Page 222.
  2. 2.0 2.1 วิชาการลาดตระเวน, หลักสูตรอาชีพฯ ชั้นจ่าเอก นย. และหลักสูตร นรจ.นย. บทที่ ๑ กล่าวนำการลาดตระเวน เก็บถาวร 2021-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (navy.mi.th)
  3. โรงเรียนทหารช่าง กรมทหารช่าง. หน่วยทหารขนาดเล็ก[ลิงก์เสีย]
  4. "การสร้างเสริมประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวน (Smart Patrol)". www.wwf.or.th.
  5. "พร้อมแล้ว เพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง Department of Marine and Coastal Resources, Thailand". กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.