ข้ามไปเนื้อหา

คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ ประจำประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ ประจำประเทศไทย
ชื่อย่อจัดแมกไทย
JUSMAGTHAI
ก่อนหน้าคณะที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือทางทหาร ประจำประเทศไทย
สถาปนา22 กันยายน พ.ศ. 2496; 71 ปีก่อน (2496-09-22)
ประเภทองค์กรความช่วยเหลือด้านความมั่นคง
สํานักงานใหญ่7 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120
พื้นที่ให้บริการ
ไทย ประเทศไทย
องค์กรปกครอง
หน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคอินโดแปซิฟิก
เว็บไซต์www.jusmagthai.com

คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ ประจำประเทศไทย (อังกฤษ: Joint United States Military Advisory Group, Thailand: JUSMAGTHAI) หรือ จัสแมกไทย คือองค์กรความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2496[1] ซึ่งหัวหน้าของจัสแมกไทยคือเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกลาโหม (SDO) ของหน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคอินโดแปซิฟิก (USPACOM)[2] และรับหน้าที่ผู้ช่วยทูตด้านกลาโหมประจำประเทศไทยของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย[2]

ประวัติ

[แก้]

หลังจากการหยุดยิงในสงครามเกาหลีซึ่งไทยและสหรัฐได้ปฏิบัติการร่วมกันอย่างแข็งขันในสมรภูมินั้น ทำให้สหรัฐให้ความสนใจที่จะสนับสนุนด้านการทหารแก่ประเทศไทย[3] และได้ส่งคณะทูตทหารของสหรัฐเดินทางมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2493 เพื่อสำรวจความต้องการยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ นำกลับไปเป็นข้อมูลในการเพิ่มสมรรถนะของกองทัพไทย หลังจากคณะทูตได้สำรวจข้อมูลและเดินทางกลับประเทศแล้ว ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 คณะที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือของสหรัฐชุดแรกได้เดินทางเข้ามาประจำการในประเทศไทย ในฐานะของเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย และมีการลงนามในสัญญาความตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐแก่ประเทศไทยในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2493 โดยนายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเป็นผู้ลงนาม ซึ่งจากสัญญาความตกลงดังกล่าว จึงได้มีการตั้งกองบัญชาการของสำนักงานที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือทางทหาร ประจำประเทศไทย (Military Assistance Advisory Group Thailand: MAAG Thailand) ขึ้นที่บริเวณมุมถนนสาทรในพื้นที่ของกองบัญชาการกองทัพไทย เขตสาทร กรุงเทพมหานคร[4] ถัดจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย อยู่ห่างจากสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยประมาณ 2 กิโลเมตร[5]

จากนั้นประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2496 ได้เกิดเหตุการณ์เหวียตมิญได้บุกเข้ามาในประเทศลาว ทำให้สหรัฐถือว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ขยายขอบเขตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศไทยในขณะนั้น กองบังคับการของสำนักงานที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลืองทางทหาร (MAAG) จึงได้ปรับรูปแบบของหน่วยงาน เป็นคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ (Joint United States Military Advisory Group: JUSMAG) เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2496 มีชื่อเต็ม ๆ ว่า คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ ประจำประเทศไทย เรียกย่อว่า จัสแมกไทย (JUSMAGTHAI) สำหรับให้การช่วยเหลือประเทศไทยได้คล่องตัวยิ่งขึ้นตามรูปแบบที่เคยใช้ในประเทศกรีซ โดยปรับโครงสร้างจนสมบูรณ์เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2479[4]

ในปี พ.ศ. 2504 ได้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นอีกครั้งในประเทศลาว ทำให้ประเทศในโลกเสรีกลัวจะเกิดทฤษฎีโดมิโน[3] และมองว่าไทยนั้นเปรียบเสมือนรัฐกันชนของโลกเสรี ทำให้มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อาคารเดิมที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอจึงได้ทำการรื้อถอนและสร้างขึ้นใหม่และเปิดใช้งานอาคารเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2514 และใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน[4]

ในช่วงจุดสูงสุดของสงครามเวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญทางหทารของอเมริกาจำนวนมากได้รับคำสั่งให้มาประจำการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่จัสแมกไทย ในกรุงเทพมหานคร โดยมีทหารสหรัฐประจำการในประเทศไทยมากถึง 45,000 นาย

การดำเนินงาน

[แก้]
พิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2023 ณ สนามบินอู่ตะเภา

ปัจจุบันจัสแมกไทยได้สนับสนุนภารกิจต่าง ๆ มากมาย รวมถึงโครงการฝึกซ้อมทางการทหารแบบทวิภาคีที่มีการฝึกร่วมกันประมาณ 40 ครั้งต่อปีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาและฝึกทางทหารระหว่างประเทศ (The International Military Education and Training: IMET) อย่างเช่น การฝึกคอบร้าโกล์ดเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีการฝึกร่วมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นการฝึกทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังพลเข้าร่วมฝึกมากกว่า 13,000 นาย จาก 7 ประเทศ และมีผู้ร่วมสังเกตการณ์อีก 20 ประเทศ[1]

จัสแมกไทยได้มีส่วนร่วมในการเตรียมกำลังของกองทัพไทยในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในกัมพูชา ติมอร์ตะวันออก อาเจะฮ์ และซูดาน รวมไปถึงปฏิบัติการต่อต้านโจรสลัดในอ่าวเอเดน และเป็นผู้สนับสนุนไทยในการเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคในการบรรเทาสาธารณภัยและการบรรเทาทุกข์จากเหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ. 2547 เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิสในปี พ.ศ. 2551 แผ่นดินไหวในประเทศเนปาล พ.ศ. 2558 และประสานกองทัพสหรัฐในการจัดทีมช่วยเหลือกู้ภัยในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย[1]

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการดำเนินการโครงการขายทางทหารแก่ต่างประเทศ (FMS) ของสหรัฐ ภารกิจเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และการปราบปรามยาเสพติด[5]

การแทรงแซง

[แก้]

ประเทศไทย

[แก้]
เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 บนทางวิ่งสนามบินอู่ตะเภาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 ระหว่างสงครามเวียดนาม

ขบวนการนักศึกษาหลังจากการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มองว่าการมีอยู่ของจัสแมกเป็นการครอบงำประเทศไทย ทั้งในด้านของนโยบายต่างประเทศที่ไทยดำเนินตามสหรัฐมาตลอด โดยในปี พ.ศ. 2516 มีฐานทัพสหรัฐในประเทศไทยจำนวน 12 แห่งคือ อู่ตะเภา ตาคลี อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม น้ำพอง สัตหีบ ลพบุรี เขื่อนน้ำพุง โคราช และกาญจนบุรี มีศูนย์บัญชาการใหญ่คือหน่วยจัสแมกไทยที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และใช้ประเทศไทยในการเป็นฐานของเครื่องบิน บี-52[6] ไปทิ้งระเบิดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา และเวียดนาม และมีภารกิจโดยตรงในการส่งกำลังบำรุงให้ทหารสหรัฐในเวียดนาม ในทางเศรษฐกิจคือบริษัทข้ามชาติของสหรัฐมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงมาก และการรับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย จนมีกรณีการประหารชีวิต นายเทพ แก่นกล้า ซึ่งมีความผิดฐานยิงนายทหารสหรัฐเสียชีวิต โดยคดีไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาในศาลไทยแต่อย่างใด ขบวนการนักศึกษาจึงมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการทำให้ประเทศไทยไม่มีเอกสารสมบูรณ์และเรียกร้องให้ถอนทหารและฐานทัพสหรัฐออกจากประเทศ[7]

ประเทศลาว

[แก้]
T-28 ของลาวจากโครงการช่วยเหลือของรัฐบาลอเมริกัน ความช่วยเหลือทางทหารต่อลาวที่ดำเนินการโดยจัสแมกไทย ผ่านทาง Requirements Office

จัสแมกไทยถูกระบุว่าเป็นผู้ดำเนินการฝึกอาวุธให้กับพระราชอาณาจักรลาวผ่านการประสานงานและส่งกำลังซีไอเอและตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยตำรวจพลร่ม (PARU) ที่ได้รับการฝึกโดยใช้เงินทุนจากจัสแมกเข้าไปเป็นครูฝึกพร้อมกับปฏิบัติการ[8] เพื่อต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์คือฝ่ายปะเทดลาว[9] รวมไปถึงการจัดส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพลาวในการต่อต้านคอมมิวนิสต์[10]หลังจากคณะที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลืองทางทหาร ประจำประเทศลาว (MAAG Laos) ถูกยุบสำนักงานที่เวียงจันท์ลงและรวมเข้ากับจัสแมกไทย[11] โดยเปลี่ยนหน่วยงานดูแลในลาวเป็นหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) ตามความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยความเป็นกลางของลาว

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Bangkok, U. S. Embassy (2018-09-21). "จัสแม็กไทยฉลองครบรอบ 65 ปี; รำลึกวันเชลยศึกและทหารผู้สูญหาย". สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย.
  2. 2.0 2.1 "JUSMAGTHAI - Home Page". www.jusmagthai.com.
  3. 3.0 3.1 "สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (2) ขวาไทย-ฐานทัพฝรั่ง - มติชนสุดสัปดาห์". www.matichonweekly.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 เอกสารประกอบการปฏิบัติงานด้าน FMS ของ กพทต.พธ.ทร. พ.ศ. 2551 (PDF). กองการพัสดุทางทหารต่างประเทศ กรมพลาธิการทหารเรือ. 2551.
  5. 5.0 5.1 "คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯประจำประเทศไทย (จัสแมกไทย)". สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย.
  6. "Thai officials deny CIA black site located in Thailand". www.aa.com.tr.
  7. "2.3.1 การต่อสู้เพื่อเอกราช | บันทึก 6 ตุลา". 2017-09-22.
  8. A Not So Silent Partner: Thailand's Role in Covert Operations, Counter-Insurgency, and the Wars in Indochina
  9. "ภาพเก่าเล่าตำนาน : พันตำรวจเอก เจมส์ วิลเลียม แลร์ ภารกิจลับ…งานใหญ่…จะไม่ใช้คนเยอะ… โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก". www.matichon.co.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. Andrew Jon Rotter Light at the End of the Tunnel: A Vietnam War Anthology
  11. Billy G. Webb The Secret War in Laos and General Vang Pao 1958-1975

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]