ข้ามไปเนื้อหา

หม่อมไกรสร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรมหลวงรักษรณเรศร)
หม่อมไกรสร
พระรูปปั้น ณ วัดเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ผู้กำกับราชการกรมวัง
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้กำกับราชการกรมสังฆการี
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้กำกับราชการกรมพระคชบาล
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์
เกิด26 ธันวาคม พ.ศ. 2334
กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าไกรสร
เสียชีวิต13 ธันวาคม พ.ศ. 2391 (56 ปี)
วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
บุตร11 คน
ราชสกุลพึ่งบุญ
ราชวงศ์จักรี
บิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
มารดาเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว
ศาสนาเถรวาท
ถูกกล่าวหากบฏ หรือ รักร่วมเพศ
รับโทษสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
ธรรมเนียมพระยศของ
กรมหลวงรักษ์รณเรศ
(พ.ศ. 2334–2391)
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

หม่อมไกรสร มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าไกรสร ต่อมามีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ (26 ธันวาคม พ.ศ. 2334 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ทรงเป็นต้นราชสกุล พึ่งบุญ และสกุลอนิรุทธเทวา

ประวัติ

[แก้]

หม่อมไกรสรเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ธิดาพระจักรีเมืองนครศรีธรรมราช ประสูติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2334 ตรงกับวันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้นสองค่ำ ปีกุน สัมฤทธิศก จ.ศ. 1210 พระประวัติเมื่อทรงพระเยาวน์นั้น ก.ศ.ร. กุหลาบบันทึกไว้ว่า "พระองค์ท่านเปนจอมปราชญ์ จินตะกระวีบัณฑิตย์ ชาติ์ราชตระกูลสุริยวงศ์อันประเสริฐ" และจากวารสารภาษาอังกฤษที่ชื่อ Siam Repository กล่าวถึงความโดดเด่นโดยเฉพาะด้านการศาสนาและโหราศาสตร์ ว่า "ทรงมีความรู้ทางด้านศาสนาพุทธอย่างดีเยี่ยม เหนือกว่าพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ"[1] ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 2 จึงทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นรักษรณเรศร กำกับกรมสังฆการี ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ทรงกำกับกรมวังและอธิบดีกรมพระคชบาลต่อจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐา

นอกจากนี้หม่อมไกรสร เมื่อยังทรงเป็นกรมหมื่นรักษรณเรศรได้ทรงงานเคียงคู่กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และในฐานะพระปิตุลาหรือ "อา" ทรงงานรับใช้ราชการเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกือบตลอดรัชกาล โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมหลวงรักษ์รณเรศ และโปรดให้กำกับกรมวัง

ผลงานของหม่อมไกรสร ทรงมีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางทั้งในทางการตัดสินคดีความ กำกับกรมวัง ดูแลการจ่ายเบี้ยหวัดประจำปีของพระราชวงศ์และขุนนาง

ในปี พ.ศ. 2381 หม่อมไกรสรเป็นตุลาการชำระความคดีเจ้าจอมอิ่มกับพระสุริยภักดี ซึ่งแม้จำเลยทั้งสองคนจะไม่เคยพบกันคุยตัวต่อตัว แต่มีพ่อสื่อแม่ชักเป็นตัวกลางให้ทั้งสองคน แต่ก็ได้รับพิพากษาประหารชีวิตทั้งชายหญิง[2]

พ.ศ. 2385 สันนิษฐานว่าหม่อมไกรสรได้กำกับเมืองนครเขื่อนขันธ์หลังจากที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทิวงคต ปรากฏหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมไกรสรไปกำกับเลกทำอิฐสร้างเมือง[3]

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกเกี่ยวกับหม่อมไกรสร มีประเด็นคำพิพากษา คือ หม่อมไกรสรประพฤติกำเริบ ทำตนเทียมเจ้าในงานลอยกระทง เกลี้ยกล่อมเจ้านาย ขุนนางและซ่องสุมกองทหารรามัญไว้เป็นพวกพ้อง แต่ถูกสอบสวนว่าซ่องสุมผู้คนไว้มากเพื่อคิดกบฏหรือไม่ หม่อมไกรสรตอบปฏิเสธว่า "ไม่ได้คิดกบฏ" แต่เมื่อถามว่า หากเปลี่ยนแผ่นดินเมื่อไหร่ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร[4] ตุลาการในสมัยนั้นจึงมีคำตัดสินออกมาส่วนหนึ่ง ว่า "...กรมหลวงรักษ์ณรเรศมีความผิด ต้องลดอิสริยศักดิ์สมญาเป็นหม่อม ตลอดทั้งวงศ์วาน..."[5]

นอกจากนี้มูลเหตุอีกอย่างหนึ่งที่พระองค์เจ้าไกรสรถูกถอดอิสริยยศคือ ทรงเลี้ยงโขนผู้ชายไว้มากมาย บรรทมอยู่แต่กับพวกโขนละคร ไม่บรรทมกับพวกหม่อมห้ามในวังเลย รัชกาลที่ 3 มีรับสั่งให้เอาพวกโขนละครมาไต่สวน ได้ความสมกันว่า "...ทรงเป็นสวาทกับพวกละคร ไม่ถึงกับชำเรา แต่เอามือพวกละครและมือของพระองค์ท่านกำคุยหฐานของทั้งสองฝ่ายจนภาวธาตุเคลื่อน..." [6]

หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 3 ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จ.ศ. 1210 ตรงกับวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391 รวมพระชันษา 56 ปี และเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้[7]

โอรส-ธิดา

[แก้]

หม่อมไกรสรเป็นต้นราชสกุล พึ่งบุญ ได้รับพระราชทานเป็นลำดับที่ 3[8] ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่แปลกกว่าราชสกุลอื่นตรงที่จะนำพระนามของต้นสกุลมาตั้งออกพระนาม ส่วนราชสกุล "พึ่งบุญ" กลับไม่ใช้พระนามของพระองค์เจ้าไกรสร หม่อมไกรสรมีหม่อมหลายท่านแต่ไม่ปรากฏนาม มีพระบุตรทั้งหมด 11 องค์ เดิมมียศเป็น หม่อมเจ้า ที่ต่อมาถูกลดเป็น หม่อม ทั้งหมด ได้แก่

  1. หม่อมเจ้าหญิงนิลบน พึ่งบุญ
  2. หม่อมเจ้าหญิงอุบลรัศมี พึ่งบุญ
  3. หม่อมเจ้าหญิงขนิษฐา พึ่งบุญ
  4. หม่อมเจ้าชายสิงหรา พึ่งบุญ (พ.ศ. 2362 - ไม่มีข้อมูล)
  5. หม่อมเจ้าชายกรุง พึ่งบุญ (พ.ศ. 2366 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2431)[9] ภายหลังหม่อมกรุงได้เป็นเจ้ากรมวัดราชโอรส ภรรยาชื่อ หนู บุตรีพระยาวิเศษสงคราม (แก้ว)
    • หม่อมราชวงศ์หนูเล็ก พึ่งบุญ
  6. หม่อมเจ้าชายนก พึ่งบุญ
    1. เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ในรัชกาลที่ 5
      1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ
  7. หม่อมเจ้าหญิงบุษบง พึ่งบุญ
  8. หม่อมเจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (ไม่มีข้อมูล - พ.ศ. 2386)
  9. หม่อมเจ้าชายเผือก พึ่งบุญ
  10. หม่อมเจ้าชายโกเมศ พึ่งบุญ
  11. หม่อมเจ้าอำพล พึ่งบุญ
    1. พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมราชวงศ์ละม้าย พึ่งบุญ:ไม่ปรากฏ — 18 เมษายน พ.ศ. 2451[10]) สมรสกับพระนมทัด พึ่งบุญ ณ อยุธยา
      1. ท้าวอินทรสุริยา(หม่อมหลวงเชื้อ พึ่งบุญ)
      2. พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)
      3. พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ)
      4. หม่อมหลวงหญิงถนอม พึ่งบุญ
    2. หม่อมราชวงศ์นุช พึ่งบุญ
      1. หม่อมหลวงอ้น พึ่งบุญ

ต้นตระกูล , พึ่งบุญ ณ อยุธยา (กทม), ไกรสรฤทธิ์ , เกษร (มาเก๊า), เท่าที่ปรากฏ[11]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. Siam J. Smith. Siam Repository, Vol 1, January 1869, p. 337.
  2. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2538) น. 76.
  3. รุ่งโรจน์ อภิรมย์อนุกูล. "เมืองพระประแดง: จากคลองเตย มานครเขื่อนขันธ์จบที่อำเภอพระประแดง" (PDF). ดำรงวิชาการ. p. 48.
  4. เหตุประหาร "หม่อมไกรสร" เพื่อนยากในรัชกาลที่ 3
  5. ภาณุพันธุวงศ์วรเดช, สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยา. เรื่องเดิม, หน้า 117-118.
  6. นัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยา. เรื่องเดิม, หน้า 23.
  7. "การประหารด้วยท่อนจันทน์ครั้งสุดท้าย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2011-07-11.
  8. "ประกาศกระทรวงมุรธาธร เรื่อง ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๑" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 30 (0 ง): 648. 26 มิถุนายน 2456. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-18. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "ข่าวตาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 5 (13): 112. 2 สิงหาคม พ.ศ. 2431. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  10. ข่าวตาย
  11. ชายในหม่อมห้าม หนังสือเล่มโดย บุญชัย ใจเย็น เลขส่วนเนื้อหา 1 หน้าที่ 13
บรรณานุกรม
  • สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 17-18. ISBN 978-974-417-594-6
  • ศุภวัฒย์ เกษมศรี, หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า 25. ISBN 974-221-818-8