ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าจอมอิ่ม ในรัชกาลที่ 3

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมอิ่ม
เกิดอิ่ม
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
อนิจกรรม23 กรกฎาคม พ.ศ. 2381
ตำบลสำเหร่ เมืองธนบุรี อาณาจักรรัตนโกสินทร์
ตระกูลจักรี (โดยสมรส)
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
บิดาพระยามหาเทพ (ปาน)
สถานะทางคดีถูกประหารชีวิต
พิพากษาลงโทษฐานลักลอบเชิงชู้สาว
บทลงโทษประหารชีวิต
รายละเอียด
ผู้เสียหายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าจอมอิ่ม เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถูกประหารชีวิตเนื่องจากคดีเพลงยาวรักใคร่กับพระสุริยภักดี (สนิท บุนนาค)[1]

ประวัติ

[แก้]

เจ้าจอมอิ่มเป็นธิดาของพระยามหาเทพ (ปาน) เข้ารับราชการฝ่ายในในรัชกาลที่ 3 ต่อมาได้เกิดคดีลอบส่งเพลงยาวเชิงชู้สาวกับ พระสุริยภักดี (สนิท บุนนาค) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)

พระสุริยภักดี (สนิท) สมรสแล้วกับศรี ธิดาพระยาอุไทยธรรม (กลาง ณ บางช้าง) มีบุตรธิดา 3 คน นอกจากนี้ยังมีบุตรธิดากับภรรยาอื่นอีกถึง 11 คน อายุตอนที่เกิดเรื่องอื้อฉาวนี้ขึ้นคือ 27 ปี คนที่กล่าวโทษพระสุริยภักดีเป็นทาสของตัวพระสุริยภักดีเองชื่ออ้ายพลายกับอีทรัพย์ เรื่องที่ฟ้องร้องก็คือคุณพระสุริยภักดีกับเจ้าจอมอิ่มติดต่อให้ข้าวของกัน ด้วยใจปฏิพัทธ์ฉันชู้สาว ถึงขั้นเจ้าจอมอิ่มสั่งให้มาบอกกับคุณพระสุริยภักดีว่าจะลาออกจากเป็นเจ้าจอม กลับมาอยู่บ้านพ่อแม่เสียชั่วคราวก่อน แล้วจึงให้คุณสุริยภักดีส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ เรื่องลอบติดต่อกันนี้ พระสำราญราชหฤทัย (อ้าว) กรมวังก็รู้เห็นเป็นใจด้วย และจะทำหน้าที่ผู้ใหญ่ฝ่ายชายช่วยสู่ขอเจ้าจอมอิ่มต่อพระยามหาเทพ ผู้เป็นบิดาเจ้าจอมอิ่มให้[2]

เมื่อเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ อ่านเรื่องฟ้องร้องแล้ว ก็นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้กรมหลวงรักษ์รณเรศร์เป็นตุลาการ ชำระได้ความว่า พระสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่ม เป็นแต่ให้หนังสือเพลงยาวและข้าวของกันเท่านั้น ไม่เคยลอบออกไปพบปะพูดจากันที่ใด นอกจากนี้ยังมีคนนอกเกี่ยวข้องด้วยอีกถึง 7 คน คือ ผู้ที่รู้เห็น เช่นพระสำราญราชหฤทัย กรมวัง รู้แล้วก็นิ่งเสียไม่ห้ามปราม ตลอดจนคนอื่นที่เกี่ยวข้องกันทั้งสองฝ่าย รวมทั้งหมอดูหมอเสน่ห์ด้วย[3]

เมื่อชำระความเป็นสัตย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้ประหารชีวิตพระสุริยภักดี เจ้าจอมอิ่ม และคนที่เกี่ยวข้องอีก 7 คน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2381[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 285
  2. เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
  3. พระสุริยภักดี (สนิท บุนนาค) เก็บถาวร 2012-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ชมรมสายสกุลบุนนาค
  4. เบื้องหลังวัดงาม พระปรางค์ใหญ่สะดุดตา! อนุสรณ์ความเศร้าแฝงการเมือง พ่อต้องประหารลูก!