คันจิ
การเขียนภาษาญี่ปุ่น |
---|
องค์ประกอบ |
การใช้งาน |
ถอดอักษรเป็นโรมัน |
คันจิ (ญี่ปุ่น: 漢字; โรมาจิ: Kanji) เป็นอักษรจีนที่ใช้ในระบบการเขียนภาษาญี่ปุ่นในปัจจุบัน จัดอยู่ในประเภทอักษรคำ (Logograms) ใช้ร่วมกับตัวอักษร อีก 4 ประเภท ได้แก่ ฮิรางานะ (ひらがな, 平仮名 Hiragana) คะตาคานะ (カタカナ, 片仮名 Katakana) โรมะจิ (ローマ字 Rōmaji) และตัวเลขอาหรับ
คำว่า "คันจิ" หากอ่านตามเสียงภาษาจีนกลางจะอ่านว่า "ฮั่นจื้อ" มีความหมายว่า ตัวอักษรของชาวฮั่น อันเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศจีน คำว่าภาษาจีนในภาษาจีนเอง ก็เรียกว่า ภาษาฮั่น (ภาษาจีนกลาง: 漢語 (จีนตัวเต็ม),汉语 (จีนตัวย่อ) hànyǔ) เช่นกัน
ประวัติ
[แก้]ตัวอักษรจีน เผยแพร่มาสู่ประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านหนังสือต่างๆ จากประเทศจีน หลักฐานอักษรจีนที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น คือ ตราประทับทองคำที่ได้รับจากฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในพ.ศ. 600 ชาวญี่ปุ่นเริ่มเรียนรู้ภาษาจีนโบราณด้วยตัวเองตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด เอกสารลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของญี่ปุ่นนั้น คือ หนังสือตอบกลับทางการทูตจากกษัตริย์ทั้งห้าแห่งวา (倭の五王 Wa no go-ō) (วา (倭,和 [Wa]) เป็นชื่อแรกของประเทศญี่ปุ่นที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์) ถึง ซุ่นฮ่องเต้ ((劉) 宋順帝) แห่งราชวงศ์หลิวซ่ง (劉宋) ของจีน ซึ่งเขียนขึ้นโดยชาวจีนที่อาศัยในประเทศญี่ปุ่น เมื่อพ.ศ. 1021 และได้รับการยกย่องว่าใช้สำนวนอุปมาอุปมัยได้อย่างยอดเยี่ยม ต่อมา จักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นทรงก่อตั้งองค์กรที่เรียกว่า “ฟุฮิโตะ” ขึ้นเพื่ออ่านและเขียนภาษาจีนโบราณ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา เอกสารภาษาจีนที่เขียนในญี่ปุ่นมักจะได้รับอิทธิพลจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแสดงว่าอักษรจีนได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในญี่ปุ่น
ในสมัยที่อักษรจีนเผยแพร่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ภาษาญี่ปุ่นเองยังไม่มีตัวอักษรไว้เขียน อักษรจีนหรือคันจิจะถูกเขียนเป็นภาษาจีน และอ่านเป็นเสียงภาษาจีนทั้งหมด ต่อมาจึงเริ่มมีการใช้ระบบคัมบุน (漢文 kanbun) คือ การใช้อักษรจีนร่วมกับเครื่องหมายแสดงการออกเสียง (Diacritic) เพื่อช่วยให้ชาวญี่ปุ่นสามารถออกเสียงตัวอักษรจีนนั้นๆได้ เมื่ออ่านออกเสียงได้แล้ว ชาวญี่ปุ่นก็จะสามารถเรียงประโยคใหม่ และเติมคำช่วยตามหลักไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่นที่ตนเองเข้าใจ และสามารถเข้าใจประโยคภาษาจีนนั้นได้ในที่สุด
ในยุคต่อมา เริ่มมีการนำตัวอักษรจีนมาเขียนเป็นประโยคภาษาญี่ปุ่น โดยใช้ระบบที่เรียกว่า มันโยงะนะ (万葉仮名, まんようがな Man'yōgana) คือ การใช้ตัวอักษรจีนหนึ่งตัวเขียนแทนภาษาญี่ปุ่นหนึ่งพยางค์ โดยจะใช้ตัวอักษรจีนที่มีเสียงในภาษาจีนใกล้เคียงกับพยางค์ของภาษาญี่ปุ่นพยางค์นั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงความหมายของอักษรจีนตัวนั้นเลย ระบบการเขียนนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือรวมบทกวีชื่อมันโยชู (万葉集 Man'yōshū) แต่งขึ้นประมาณพ.ศ. 1302 ในยุคนะระ ถือเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ของญี่ปุ่น
การใช้ระบบอักษรพยางค์นี้ ได้พัฒนาไปเป็นอักษรฮิระงะนะ ซึ่งดัดแปลงมาจากอักษรมันโยงะนะที่เขียนด้วยพู่กันในแบบอักษรหวัด วัตถุประสงค์เดิมของอักษรฮิระงะนะ คือ เพื่อให้สตรีซึ่งสังคมไม่ยอมได้ให้รับการศึกษาสูงได้อ่านออกเขียนได้ วรรณกรรมในยุคเฮอันส่วนใหญ่ที่ผู้แต่งเป็นสตรีถูกเขียนด้วยอักษรฮิระงะนะ
อักษรพยางค์อีกประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น คือ อักษรคะตะคะนะ มีต้นกำเนิดคล้ายคลึงกับอักษรฮิระงะนะ อักษรคะตะคะนะดัดแปลงมาจากอักษรมันโยงะนะเช่นกัน แต่ตัดเฉพาะบางส่วนของอักษรมันโยงะนะมาเป็นอักษรคะตะคะนะหนึ่งตัว อักษรคะตะคะนะกำเนิดในสำนักสงฆ์ยุคเฮอัน ใช้เสมือนการย่ออักษรมันโยงะนะเพื่อให้ง่ายต่อพระสงฆ์ในการศึกษาพระคัมภีร์ ดังนั้น ตัวอักษรคะนะ ของญี่ปุ่นทั้งฮิระงะนะและคะตะคะนะ จึงมีต้นกำเนิดมาจากอักษรคันจินี่เอง
ในปัจจุบัน อักษรคันจิใช้เขียนเป็นส่วนหนึ่งของคำภาษาญี่ปุ่นมากมาย โดยอักษรคันจิจะเป็นขั้วคำ หรือหัวข้อของคำ (Word stem) และเติมอักษรฮิระงะนะ เพื่อการผันคำให้เป็นทั้งคำนาม คำวิเศษณ์ และคำกริยา นอกจากนี้ อักษรคันจิจะใช้เชียนชื่อสิ่งต่างๆ ทั้งชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ ชื่อเมือง ชื่อวิชาหรือศาสตร์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อความเป็นทางการ
เนื่องจากอักษรจีนนั้น มีจำนวนนับไม่ถ้วน ทำให้ยากต่อการเรียนรู้และจดจำ กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นจึงได้ประกาศชุดอักษรคันจิที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เรียกว่า โจโยคันจิ (常用漢字 Jōyō kanji) ซึ่งชาวญี่ปุ่นมักจะจดจำอ่านออกเสียงได้ ส่วนอักษรคันจินอกเหนือจากนี้ จะเขียนกำกับเสียงด้วยอักษร ฟุริงะนะ (振り仮名 Furigana) ซึ่งเป็นอักษรฮิระงะนะตัวเล็กๆ กำกับเสียงของอักษรคันจิแต่ละตัว เพื่อให้ทราบความหมายและอ่านออกเสียงได้
พัฒนาการในญี่ปุ่น
[แก้]แม้ว่าในอดีต ภาษาญี่ปุ่นจำเป็นต้องเขียนด้วยอักษรจีน แต่ในปัจจุบันก็มีความแตกต่างระหว่างอักษรคันจิของญี่ปุ่นและอักษรจีนอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ตัวอักษรที่ญี่ปุ่นประดิษฐ์ขึ้นเอง ตัวอักษรเดียวกันแต่มีความหมายภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นต่างกัน และการย่ออักษรคันจิที่เรียกว่า ชินจิไท (新字体, 新字體 Shinjitai) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
โคะคุจิ
[แก้]โคะคุจิ (ญี่ปุ่น: 国字; โรมาจิ: Kokuji) อันแปลว่า ตัวอักษรแห่งชาตินั้น หมายถึง ตัวอักษรคันจิที่ประดิษฐ์ขึ้นในญี่ปุ่น หรือ "วะเซคันจิ" (ญี่ปุ่น: 和製漢字; โรมาจิ: Wasei kanji) อักษรโคะคุจิมีอยู่หลายร้อยตัว แต่ใช้กันบ่อยๆเพียงไม่กี่ตัว ตัวอย่างของอักษรโคะคุจิที่ใช้กันทั่วไปมีดังต่อไปนี้
- 峠 (とうげ tōge) แปลว่า สันเขา
- 榊 (さかき sakaki) แปลว่า ต้นไทรด่าง
- 畑 (はたけ hatake) แปลว่า ทุ่ง, ไร่
- 辻 (つじ tsuji) แปลว่า ถนน, ทางแยก
- 働 (どう dō, はたら(く) hatara(ku)) แปลว่า งาน, ทำงาน
- 腺 (せん sen) แปลว่า ต่อม (ตัวอักษรตัวนี้ได้นำไปเผยแพร่ในประเทศจีนด้วย)
คกคุน
[แก้]คกคุน (ญี่ปุ่น: 国訓; โรมาจิ: Kokkun) หมายถึง ตัวอักษรจีน ที่ชาวญี่ปุ่นให้ความหมายภาษาญี่ปุ่นต่างไปจากความหมายดั้งเดิมในภาษาจีน ตัวอย่างเช่น
- 藤 ภาษาญี่ปุ่น: fuji, ฟุจิ แปลว่า ต้นวิสเทอเรีย แต่ ภาษาจีนกลาง: téng, เถิง แปลว่า หวาย, อ้อย
- 沖 ภาษาญี่ปุ่น: oki, โอะคิ แปลว่า ห่างจากชายฝั่ง แต่ ภาษาจีนกลาง: chōng, ชง แปลว่า ชำระล้าง
- 椿 ภาษาญี่ปุ่น: tsubaki, สึบะกิ แปลว่า ดอกคาเมลเลีย แต่ ภาษาจีนกลาง: chūn, ชุน แปลว่า ต้นไม้แห่งสวรรค์ (Ailanthus, ต้นไม้วงศ์มะยมป่า)
เสียงของคันจิ
[แก้]เนื่องจากอักษรคันจิคืออักษรจีนที่นำมาใช้ในภาษาญี่ปุ่น อักษรคันจิหนึ่งจึงตัวอาจอ่านได้หลายแบบ อาจถึงสิบแบบหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับรูปประโยค เป็นคำประสม หรือตำแหน่งคำในประโยคนั้นๆ การอ่านออกเสียงตัวอักษรคันจินั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- เสียงอง (ญี่ปุ่น: 音読み; โรมาจิ: on'yomi) แปลว่า อ่านเอาเสียง เป็นการออกเสียงคันจิของคำนั้นตามเสียงภาษาจีน
- เสียงคุน (ญี่ปุ่น: 訓読み; โรมาจิ: kun'yomi) แปลว่า อ่านเอาความหมาย เป็นการออกเสียงคันจิของคำนั้นในภาษาญี่ปุ่น
ตัวอย่างเช่น 泉 จากคำว่า 温泉 (onsen) มีเสียงองคือ せん (sen) ส่วนเสียงคุนคือ いずみ (izumi) มีความหมายว่าน้ำพุ อย่างไรก็ตามมีหลายคำในภาษาญี่ปุ่นที่อ่านออกเสียงไม่ตรงกับคันจิที่เขียน ซึ่งเป็นการอ่านแบบพิเศษ โดยผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่นจำเป็นต้องจดจำข้อยกเว้นเหล่านี้เอง เนื่องจากการใช้คันจิสื่อความหมายมากกว่าเสียง ตัวอย่างเช่น 上手 อ่านว่า じょうず (jouzu) แปลว่า เก่ง, เชี่ยวชาญ โดยประกอบจากคันจิ 2 ตัวคือ 上 หมายความว่า "ข้างบน, เหนือ" และ 手 หมายความว่า "มือ" ทั้งที่ปกติแล้ว 手 จะไม่อ่านออกเสียงว่า ず (zu)
เสียงอง (การอ่านแบบจีน)
[แก้]องโยะมิ (ญี่ปุ่น: 音読み; โรมาจิ: on'yomi) หรือ เสียงอง เป็นการอ่านคันจิในเสียงภาษาจีนแต่สำเนียงญี่ปุ่น ใช้สำหรับคำภาษาญี่ปุ่นที่ยืมจากภาษาจีน หรือ "คังโกะ" (漢語 Kango) ซึ่งคำเหล่านี้นำเข้ามาใช้ในญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณ จากหลากหลายภูมิภาคและยุคสมัยของจีน คำเดียวกันจึงออกเสียงต่างกันไป อย่างไรก็ตาม สำหรับอักษรคันจิที่ประดิษฐ์ขึ้นในญี่ปุ่นเอง จะไม่มีเสียงอง ยกเว้นคันจิบางตัว เช่น 働 ซึ่งแปลว่า ทำงาน นั้นมีทั้งเสียงองและเสียงคุน เสียงอง คือ dō และเสียงคุน คือ hatara(ku) ส่วน 塀 แปลว่า รั้ว มีทั้งเสียงองและเสียงคุนเช่นเดียวกัน เสียงอง คือ hei และเสียงคุน คือ kaki แต่ 腺 ที่แปลว่า ต่อม เป็นคันจิที่ญี่ปุ่นประดิษฐ์เอง แต่มีแต่เสียงอง คือ sen ไม่มีเสียงคุน
องโยะมิ สามารถแบ่งได้ 4 กลุ่มดังนี้
- โกะอง (ญี่ปุ่น: 呉音; โรมาจิ: go-on) หรือ เสียงอู๋ เป็นการออกเสียงที่รับเข้ามาในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ของจีน หรืออาณาจักรแพกเจของเกาหลี ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 และคริสต์ศตวรรษที่ 6 "โกะ" หมายถึง แคว้นอู๋ หรือง่อก๊ก (บริเวณใกล้เคียงเมืองเซี่ยงไฮ้ในปัจจุบัน) แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับภาษาจีนอู๋แต่อย่างใด
- คันอง (ญี่ปุ่น: 漢音; โรมาจิ: kan-on) หรือ เสียงฮั่น เป็นการออกเสียงที่รับเข้ามาในยุคราชวงศ์ถัง ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 9 ส่วนใหญ่มาจากสำเนียงของเมืองหลวงในเวลานั้น คือ ฉางอาน (長安) ซึ่งปัจจุบันคือเมือง ซีอาน (西安) คำว่า "คัน" หมายถึง ชนชาติฮั่น (漢) อันเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศจีน
- โทอง (ญี่ปุ่น: 唐音; โรมาจิ: tō-on) หรือ เสียงถัง เป็นการออกเสียงที่รับเข้ามาในช่วงราชวงศ์หลังๆ ของจีน เช่น ราชวงศ์ซ่ง (宋) และ ราชวงศ์หมิง (明) การอ่านคันจิในยุคเฮอัง และยุคเอะโดะ จะอ่านตามสำเนียงนี้ หรือเรียกกันว่า "โทโซอง" (唐宋音, tōsō-on).
- คันโยอง (ญี่ปุ่น: 慣用音; โรมาจิ: kan'yō-on) แปลตามศัพท์ได้ว่า เสียงอ่านที่เป็นที่ยอมรับ เป็นการอ่านที่ออกเสียงผิดมาตั้งแต่เริ่มใช้คำคำนั้น แต่ได้ใช้กันต่อมาจนเป็นที่ยอมรับในที่สุด
- ตัวอย่าง
(คำอ่านในวงเล็บเป็นคำอ่านที่ไม่ค่อยพบ)
คันจิ | ความหมาย | โกะอง | คันอง | โทอง | คันโยอง |
---|---|---|---|---|---|
明 | สว่าง | みょう | めい | (みん) | — |
行 | ไป | ぎょう | こう | (あん) | — |
極 | ที่สุด | ごく | きょく | — | — |
珠 | ไข่มุก | しゅ | しゅ | じゅ | (ず) |
度 | ระดับ | ど | と | — | — |
輸 | ขนส่ง | (しゅ) | (しゅ) | — | ゆ |
雄 | เพศชาย | — | — | — | ゆう |
熊 | หมี | — | — | — | ゆう |
子 | เด็ก | し | し | す | — |
清 | สะอาด | しょう | せい | (しん) | — |
京 | เมืองหลวง | きょう | けい | (きん) | — |
兵 | ทหาร | ひょう | へい | — | — |
強 | แข็งแรง | ごう | きょう | — | — |
การอ่านคันจิตามเสียงองส่วนมาก จะเป็นเสียงคันอง สำหรับโกะอง จะอยู่ในศัพท์ทางพุทธศาสนา เช่น 極楽 (gokuraku, สวรรค์) และอยู่ในคำภาษาญี่ปุ่นที่ยืมจากภาษาจีน (คังโกะ) ยุคแรก เช่น ตัวเลข เป็นต้น ส่วนโทองนั้น อยู่ในคันจิยุคหลังๆบางคำ เช่น 椅子 (isu, เก้าอี้) 布団 (futon, ฟูกปูนอน) และ 行灯 (andon, โคมกระดาษ) เป็นต้น
ในภาษาจีน อักษรจีนหนึ่งตัวส่วนมากจะอ่านได้เพียงเสียงเดียว ยกเว้น อักษรบางตัวอ่านได้หลายเสียงและให้ความหมายต่างกัน หรือเป็นคำพ้องรูป (ภาษาจีนกลาง: 多音字, duōyīnzì) เช่น 行 (พินอิน: háng แปลว่า แถว, มืออาชีพ หรือ xíng แปลว่า เดินทาง, ปฏิบัติ) (ภาษาญี่ปุ่น: gō, gyō) ซึ่งคุณลักษณะนี้ ได้ถ่ายทอดสู่ภาษาญี่ปุ่นเช่นกัน
นอกจากนี้ คำภาษาจีนยุคกลาง (ภาษาจีนกลาง:中古漢語, Zhōnggǔ Hànyǔ, Middle Chinese) บางคำจะมี Entering tone (入聲, rùshēng) คือเสียงของคำที่สะกดด้วย ป, ต, ก คล้ายกับคำตายในภาษาไทย คุณลักษณะนี้ไม่มีในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบเสียงพยางค์เป็นแบบพยัญชนะ-สระ (Consonant-Vowel, CV) หรือกล่าวง่ายๆว่าภาษาญี่ปุ่นไม่มีตัวสะกดนั่นเอง ดังนั้น เสียงองของคำเหล่านี้ จึงต้องประกอบด้วย 2 ช่วงเสียง (Mora) ในพยางค์เดียว แต่ช่วงเสียงหลังเป็นเสียงที่เบากว่าช่วงเสียงแรก ช่วงเสียงหลังนี้ มักจะใช้เสียง i, ku, ki, tsu, chi หรือ n เสียงใดเสียงหนึ่ง แทนเสียงตัวสะกดของคำยืมจากภาษาจีนยุคกลางดังกล่าว อาจเป็นไปได้ว่า เสียงควบ หรือโยอง (拗音, Yōon) ในภาษาญี่ปุ่น มีที่มาจากการยืมคำภาษาจีน เนื่องจากคำภาษาญี่ปุ่นดั้งเดิมไม่มีคุณลักษณะนี้
เสียงองมักจะอยู่ในคำประสมที่เขียนด้วยคันจิสองตัว (熟語, Jukugo) โดยชาวญี่ปุ่นได้ยืมคำภาษาจีนเหล่านี้มาใช้ ซึ่งเหมือนกับการที่ภาษาไทย ยืมคำภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมรมาใช้ การยืมภาษาอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ภาษาดั้งเดิมยังไม่มีคำให้เรียกสิ่งนั้น ยืดยาวไม่กระชับ ไม่เฉพาะเจาะจง หรือไม่ไพเราะ คำยืมจะให้ความรู้สึกไพเราะ เป็นทางการ และหรูหรามากหว่า แต่หลักการอ่านคำประสมนี้ไม่ครอบคลุมถึงการอ่านชื่อของชาวญี่ปุ่นทั่วไป ที่นามสกุล หรือชื่อ หรือทั้งนามสกุลและชื่อ ประกอบด้วยอักษรคันจิสองตัว แต่จะอ่านด้วยเสียงคุน (อย่างไรก็ตาม เสียงองก็ยังพบได้ในชื่อตัว โดยเฉพาะชื่อตัวของผู้ชาย)
เสียงคุน (การอ่านแบบญี่ปุ่น)
[แก้]คุนโยะมิ (ญี่ปุ่น: 訓読み; โรมาจิ: Kun'yomi) หรือ เสียงคุน แปลตามตัวอักษรได้ว่า อ่านเอาความหมาย เป็นการอ่านคันจิโดยใช้คำภาษาญี่ปุ่นดั้งเดิม หรือยะมะโตะโคะโตะบะ (大和言葉 Yamato kotoba) ที่มีความหมายใกล้เคียงกับตัวอักษรจีนนั้น คันจิหนึ่งตัวสามารถมีเสียงคุนได้หลายเสียงเช่นเดียวกับเสียงอง แต่คันจิบางตัวไม่มีเสียงคุนเลยก็ได้
ตัวอย่างเช่น 東 ที่แปลว่า ทิศตะวันออก มีเสียงองคือ tō แต่ภาษาญี่ปุ่นก็มีคำที่แปลว่าทิศตะวันออกอยู่แล้ว คือ higashi และ azuma ดังนั้นเสียงคุนของ 東 คือ higashi และ azuma ในทางตรงกันข้าม 寸 (ภาษาจีนกลาง: cùn) ซึ่งหมายถึง หน่วยวัดความยาวหน่วยหนึ่งของจีน (ประมาณ 30 มิลลิเมตร หรือ 1.2 นิ้ว) ญี่ปุ่นไม่มีหน่วยที่สามารถเทียบได้ คันจิตัวนี้จึงมีแต่เสียงอง คือ sun และไม่มีเสียงคุน อักษรโคะคุจิ (อักษรคันจิที่ประดิษฐ์ขึ้นในญี่ปุ่น) จะมีแค่เสียงคุน ไม่มีเสียงอง ยกเว้น 働 (dō), 塀 (hei) และ 腺 (sen)
เสียงคุน มีโครงสร้างพยางค์แบบ(พยัญชนะ)สระ หรือ (C)V ซึ่งเป็นโครงสร้างพยางค์ของคำญี่ปุ่นแท้ (ยะมะโตะโคะโตะบะ) เสียงคุนของคำนามและคำคุณศัพท์ปกติจะยาว 2-3 พยางค์ ในขณะที่ เสียงคุนของคำกริยายาว 1-2 พยางค์ โดยจะไม่นับอักษรฮิระงะนะเรียกว่า โอะกุริงะนะ ซึ่งอยู่ท้ายคันจิ เนื่องจากโอะกุริงะนะเป็นเพียงตัวเสริมคำ ไม่ได้เป็นเสียงหนึ่งของคันจิตัวนั้น ผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษาคันจิมักจะจดจำการอ่านคันจิที่มีเสียงคุนหลายพยางค์ได้ยาก อย่างไรก็ตาม คันจิที่มีเสียงคุน 3-4 พยางค์หรือมากกว่านั้นก็มีอยู่น้อย ตัวอย่างเช่น 承る (uketamawaru ได้ยิน รับรู้) และ 志 (kokorozashi ความตั้งใจ ) มีเสียงคุน 5 พยางค์ในคันจิตัวเดียว ถือเป็นคันจิที่มีเสียงคุนยาวที่สุดในคันจิชุดโจโยคันจิ
ในหลายกรณี คำภาษาญี่ปุ่นคำเดียวอาจเขียนได้ด้วยคันจิหลายตัว โดยเมื่อเขียนต่างกัน ก็จะให้ความรู้สึกของคำต่างกัน แต่ความหมายใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น คำว่า なおす(naosu) เมื่อเขียนด้วย 治す จะแปลว่า "รักษาอาการป่วย" แต่เมื่อเขียนด้วย 直す จะแปลว่า "ซ่อมแซม หรือแก้ไข" บางครั้ง เมื่อเขียนต่างกัน ความหมายก็ต่างกันอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่เสมอไป นักวิชาการผู้เขียนหนังสืออ้างอิงต่างๆ เช่น พจนานุกรม ก็อาจมีความเห็นต่อคันจิประเภทนี้ต่างกัน พจนานุกรมเล่มหนึ่งบอกว่าความหมายคล้ายกัน อีกเล่มอาจบอกว่าต่างกันก็ได้ ดังนั้น ชาวญี่ปุ่นเองก็อาจสับสนได้ว่าควรจะใช้คันจิตัวไหนในการเขียนคำประเภทนี้ จนสุดท้าย เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการใช้คันจิ ก็ต้องเขียนเป็นฮิระงะนะในที่สุด ตัวอย่างของคำที่เขียนได้ด้วยคันจิอีกคำ คือ もと (moto) เขียนได้ด้วยคันจิอย่างน้อย 5 ตัว ได้แก่ 元, 基, 本, 下, และ 素 ซึ่งมีคันจิ 3 ตัวที่มีความหมายแทบไม่ต่างกัน
การอ่านคันจิด้วยภาษาท้องถิ่นของญี่ปุ่น ก็จัดอยู่ในเสียงคุนเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาริวกันอัน ในแถบหมู่เกาะทางใต้ของญี่ปุ่น
เสียงอ่านแบบอื่นๆ
[แก้]- จูบะโกะ (ญี่ปุ่น: 重箱; โรมาจิ: jūbako) หรือ ยุโต ญี่ปุ่น: 湯桶; โรมาจิ: yutō) คือ คำประสมคันจิหลายตัวที่อ่านด้วยเสียงองและเสียงคุนผสมกัน ซึ่งชื่อทั้งสองเองก็เป็นคำประสมประเภทนี้ด้วยเช่นกัน โดยคำประเภทจูบะโกะ คันจิตัวแรกจะอ่านด้วยเสียงอง และตัวหลังอ่านด้วยเสียงคุน แต่คำแบบยุโต จะอ่านผสมทั้งเสียงองและเสียงคุน ตัวอย่างเช่น 場所 (basho, คุน-อง สถานที่) 金色 (kin'iro, อง-คุน สีทอง) และ 合気道 (aikidō, คุน-อง-อง ไอคิโด) เป็นต้น
- นะโนะริ (ญี่ปุ่น: 名乗り; โรมาจิ: nanori) คือ คันจิบางตัวที่ไม่ค่อยมีผู้รู้วิธีอ่าน มักจะใช้กับชื่อบุคคล และมันจะอ่านด้วยเสียงคุน บางครั้งก็ใช้กับชื่อสถานที่ ซึ่งอ่านแบบพิเศษ และไม่ใช้กับสิ่งอื่น
- กิคุน (ญี่ปุ่น: 義訓; โรมาจิ: gikun) หรืออีกชื่อคือ จุคุจิคุน (ญี่ปุ่น: 熟字訓; โรมาจิ: jukujikun) คือ การอ่านคำประสมคันจิที่ไม่ได้ไม่ได้แยกตามคันจิแต่ละตัว และไม่คำนึงว่าคันจิตัวนั้นจะออกเสียงองหรือเสียงคุน แต่จะอ่านด้วยคำภาษาญี่ปุ่นดั้งเดิมตามความหมายของคำประสมนั้น ตัวอย่างเช่น 今朝 (เช้านี้) ไม่ได้อ่านว่า ima'asa (เสียงคุน) หรือ konchō (เสียงอง) แต่จะอ่านด้วยภาษาญี่ปุ่นดั้งเดิม 2 พยางค์ว่า kesa (เช้านี้)
- อะเตะจิ (ญี่ปุ่น: 当て字, 宛字; โรมาจิ: ateji) คือ คันจิที่ใช้เขียนคำยืมจากภาษาต่างประเทศ โดยใช้แทนเสียงมากกว่าความหมาย ซึ่งมีลักษณะคล้ายมันโยงะนะ ตัวอย่างเช่น 亜細亜 (ajia) ในสมัยก่อนใช้เขียนคำว่า เอเชีย จนในปัจจุบัน ใช้ 亜 เขียนในคำประสม เพื่อแทนความหมายถึงทวีปเอเชีย เช่น 東亜 (tōa เอเชียตะวันออก) อีกคำหนึ่งคือ 亜米利加 (amerika อเมริกา) ตัวอักษร 米 ถูกหยิบมาใช้ เพื่อประสมกับ 国 (koku ประเทศ) กลายเป็น 米国 (beikoku สหรัฐอเมริกา) เป็นคำระดับพิธีการ
ควรอ่านด้วยเสียงใด?
แม้ว่าจะมีหลักการการอ่านคันจิว่าเมื่อใดควรอ่านเป็นเสียงองหรือเสียงคุน แต่ก็ยังคงมีข้อยกเว้น แม้แต่ชาวญี่ปุ่นผู้เป็นเจ้าของภาษาเองก็ยังยากที่จะอ่านคันจิโดยไม่มีความรู้มาก่อน โดยเฉพาะชื่อบุคคลและสถานที่
กฎข้อแรกคือ ถ้ามีอักษรคันจิตัวเดียว หรือมีอักษรโอะกุริงะนะตามหลังเพื่อการผันคำเป็นคำกริยาหรือคำคุณศัพท์ คันจิตัวนั้นมักจะอ่านด้วยเสียงคุน ตัวอย่างเช่น 月 (tsuki พระจันทร์) 情け (nasake ความเห็นใจ) 赤い (akai แดง) 新しい (atarashii ใหม่) 見る (miru ดู) 必ず (kanarazu แน่นอน) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อยกเว้นสำหรับบางคำ
ถ้ามีอักษรคันจิสองตัว ประกอบกันเป็นคำประสม (熟語 jukugo) มักจะอ่านด้วยเสียงอง ตัวอย่างเช่น 情報 (jōhō ข้อมูล) 学校 (gakkō โรงเรียน) และ 新幹線 (shinkansen รถไฟชินคันเซ็น) เป็นต้น คำประสมคันจิหลายตัวบางคำ ออกเสียงต่างไปจากเมื่อคันจิตัวนั้นอยู่ตัวเดียวโดยสิ้นเชิง แต่ความหมายของคันจิตัวนั้นยังคงเดิม ตัวอย่างเช่น 北 (ทิศเหนือ) และ 東 (ทิศตะวันออก) เมื่ออยู่ตัวเดียวจะอ่านด้วยเสียงคุนว่า kita และ higashi ตามลำดับ แต่เมื่อประกอบกันเป็นคำประสม 北東 (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) จะอ่านเป็นเสียงองว่า hokutō อย่างไรก็ตาม คันจิหนึ่งตัวอาจมีเสียงองหลายเสียง เมื่อคันจิตัวนั้นไปประสมในคำต่างกัน ก็อาจออกเสียงต่างกันด้วยก็ได้ เช่น 画 เมื่อไปประกอบเป็นคำว่า 画廊 (garō เฉลียง) จะอ่านว่า ga แต่ถ้าไปประกอบเป็นคำว่า 筆画 (hikkaku ลากเส้น) จะอ่านว่า kaku
บางครั้ง ความหมายของคำจะเป็นตัวกำหนดเสียงอ่านด้วย เช่น 易 เมื่อแปลว่า ง่าย จะอ่านว่า i แต่ถ้าแปลว่า การพยากรณ์ จะอ่านว่า eki ทั้งคู่เป็นเสียงอง
อย่างไรก็ตาม มีคำประสมจำนวนหนึ่งที่อ่านด้วยเสียงคุน แต่มีจำนวนไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น 手紙 (tegami จดหมาย) และ 神風 (kamikaze กามิกาเซ่) เป็นต้น คำประสมบางคำอาจมีอักษรโอะกุริงะนะผสมอยู่ด้วย เช่น 空揚げ (karaage ไก่ทอดแบบจีน) และ 折り紙 (origami โอะริงะมิ) โดยอาจตัดโอะกุริงะนะ แต่ก็ได้ความหมายคงเดิม (นั่นคือ 空揚 และ 折紙)
คันจิบางตัว แม้อยู่ตัวเดียวก็อ่านด้วยเสียงอง เช่น 愛 (ai รัก) 禅 (zen นิกายเซน) 点 (ten คะแนน, จุด) ส่วนมาก คันจิเหล่านี้มักไม่มีเสียงคุน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อยกเว้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น 金 เมื่อหมายถึง เงินตรา, โลหะ จะอ่านด้วยเสียงคุนว่า kane แต่ถ้าหมายถึง ทอง จะอ่านว่า kin ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของประโยค ว่าจะหมายถึงอะไร
เมื่ออักษรคันจิหนึ่งตัว อ่านได้หลายแบบ ทำให้เกิดคำพ้องรูปขึ้นมา ในบางครั้ง เมื่ออ่านต่างกัน อาจให้ความหมายต่างกันด้วย เช่น 上手 ซึ่งสามารถอ่านได้ 3 แบบ ได้แก่ jōzu (ชำนาญ) uwate (ส่วนบน) kamite (ส่วนบน) และ 上手い อ่านว่า umai (ชำนาญ) ในกรณีหลัง เป็นการเติมฟุริงะนะเพื่อลดความกำกวมชองคำนั้น
คำประสมแบบจูบะโกะ (重箱 jūbako) หรือ ยุโต (湯桶 yutō) คือ คำประสมคันจิหลายตัวที่อ่านด้วยเสียงองและเสียงคุนผสมกัน ซึ่งกล่าวไปแล้วในหัวข้อข้างบนนั้น ไปค่อยพบมากนัก โดยความเป็นจริงแล้ว เสียงของคำประสมที่เป็นไปได้ มี 4 ชนิด ได้แก่ อง-อง คุน-คุน คุน-อง และ อง-คุน
ชื่อสถานที่ที่มีชื่อเสียง เช่น กรุงโตเกียว (東京 Tōkyō) และประเทศญี่ปุ่น (日本 Nihon หรือ Nippon) นั้นอ่านด้วยเสียงอง อย่างไรก็ตาม ชื่อสถานที่ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมักอ่านด้วยเสียงคุน เช่น 大阪 (Ōsaka โอซะกะ) 青森 (Aomori อะโอะโมะริ) และ 箱根 (Hakone ฮาโกเนะ) เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อคันจิของชื่อเมืองถูกหยิบไปใช้ในลักษณะชื่อย่อ อาจจะอ่านไม่เหมือนเดิม เช่น ชื่อมหาวิทยาลัยบางแห่ง อย่าง มหาวิทยาลัยโอซะกะ (大阪大学 Ōsaka daigaku) มีชื่อย่อคือ 阪大 (Handai) มหาวิทยาลัยวาเซดะ (早稲田大学 Waseda Daigaku) มีชื่อย่อคือ 早大 (Sōdai) จะเห็นได้ว่าเมื่อเป็นชื่อเต็ม จะอ่านด้วยเสียงคุน แต่เมื่อย่อเหลือคันจิสองตัว จะอ่านด้วยเสียงอง ยกเว้น มหาวิทยาลัยโตเกียว (東京大学 Tōkyō Daigaku) มีชื่อย่อคือ 東大 (Tōdai) เนื่องจาก Tō เป็นเสียงองของ 東 อยู่แล้ว
นามสกุลของชาวญี่ปุ่น ปกติมักจะอ่านด้วยเสียงคุน เช่น 山田 (Yamada) 田中 (Tanaka) 鈴木 (Suzuki) เป็นต้น ส่วนชื่อตัวนั้น แม้จะไม่ถูกจัดเป็นคำแบบจูบะโกะ (重箱 jūbako) หรือ ยุโต (湯桶 yutō) ก็ตาม แต่ก็มักมีทั้งเสียงคุน เสียงอง และนะโนะริ (名乗り nanori) รวมกัน เช่น 大助 (Daisuke อง-คุน) 夏美 (Natsumi คุน-อง) เป็นต้น ทั้งนี้ มักขึ้นอยู่กับพ่อแม่ผู้ตั้งชื่อลูกของตนเองว่าต้องการให้อ่านแบบใด โดยไม่ขึ้นกับกฎเกณฑ์ และยากที่จะอ่านโดยไม่มีคำอ่านกำกับ พ่อแม่บางคนอาจตั้งชื่อให้ลูกด้วยคำวิลิศมาหรา เช่น 地球 (Āsu) และ 天使 (Enjeru) ซึ่งตามปกติควรอ่านว่า chikyū (แปลว่า โลก) และ tenshi (แปลว่า เทวดา) ตามลำดับ แต่ชื่อทั้งคู่ก็ไม่พบเห็นกันเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ชื่อชาวญี่ปุ่นส่วนมากมักอยู่ในรูปแบบเรียบง่ายและตั้งซ้ำๆกันใน แต่ผู้อ่านก็ควรศึกษาการอ่านชื่อมาก่อน เพิ่มให้ง่ายต่อการเดาวิธีอ่าน
ตัวช่วยในการอ่าน
เนื่องจากการอ่านคันจิมีความกำกวม บางครั้ง จึงมีการเขียนอักษรประกอบคำ (Ruby character) ขึ้นซึ่งเรียกว่า ฟุริงะนะ (振り仮名 furigana) เป็นอักษรคะนะ เขียนไว้ด้านบนหรือด้านขวาของตัวอักษรเพื่อบอกเสียงอ่านของคันจิตัวนั้น โดยเฉพาะในหนังสือสำหรับเด็ก หนังสือเรียนสำหรับชาวต่างชาติ และมังงะ มักจะมีฟุริงะนะกำกับอักษรคันจิอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังใช้ในหนังสือพิมพ์ สำหรับอักษรคันจิตัวที่ไม่ค่อยพบ หรืออ่านแปลกๆ หรือไม่รวมอยู่ในชุดอักษรคันจิที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่เรียกว่า โจโยคันจิ (常用漢字; ทับศัพท์: Jōyō kanji
จำนวนอักษรคันจิ
[แก้]ยังเป็นที่โต้เถียงว่า จำนวนอักษรจีนหรืออักษรคันจิมีทั้งหมดกี่ตัว พจนานุกรมไดคันวะ จิเตน (大漢和辞典 Dai Kan-Wa jiten แปลว่า มหาพจนานุกรมจีนญี่ปุ่น) ได้รวบรวมอักษรคันจิไว้ประมาณ 50,000 ตัว ซึ่งถือว่าครอบคลุมมาก ส่วนในประเทศจีน มีพจนานุกรมภาษาจีนเล่มหนึ่งรวมรวมไว้ถึง 100,000 ตัว ซึ่งรวมถึงอักษรที่มีรูปแบบคลุมเครือด้วย แต่อักษรคันจิที่ใช้กันจริงในประเทศญี่ปุ่นมีอยู่เพียงประมาณ 2,000-3,000 ตัวเท่านั้น
การปฏิรูปและชุดอักษรคันจิ
[แก้]ใน พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปฏิรูปอักขรวิธีของภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้เยาวชนสามารถศึกษาภาษาญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น การปฏิรูปครั้งนี้รวมถึงปฏิรูปอักษรคันจิที่ใช้ในงานเขียนต่าง ๆ ด้วย จำนวนอักษรคันจิที่จะใช้ถูกกำหนดให้น้อยลง มีการประกาศชุดอักษรคันจิอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดว่านักเรียนระดับชั้นต่าง ๆ ต้องเรียนรู้คันจิตัวไหนบ้าง อักษรคันจิบางตัวถูกย่อให้มีขีดน้อยลงและเขียนง่ายขึ้น คันจิแบบย่อนี้เรียกว่า "ชินจิไต" (新字体 shinjitai) หรือ รูปแบบอักษรใหม่ ซึ่งคันจิแบบย่อบางตัวจะมีลักษณะเหมือนกับ อักษรจีนตัวย่อ ในการปฏิรูปครั้งนี้ อักษรคันจิถูกกำหนดให้มีรูปแบบเป็นมาตรฐานแน่นอน คันจิที่มีรูปแบบคลุมเครือก็ถูกประกาศเลิกใช้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม อักษรคันจิที่ไม่ได้อยู่ในชุดมาตรฐาน ที่เรียกว่า "เฮียวไงจิ" (表外字 hyōgaiji) ก็ยังคงใช้กันอยู่โดยทั่วไป
ชุดอักษรคันจิ มีดังต่อไปนี้
เคียวอิคุคันจิ (教育漢字 Kyōiku kanji)
[แก้]เคียวอิคุคันจิ (ญี่ปุ่น: 教育漢字; โรมาจิ: Kyōiku kanji) หรือ "คันจิเพื่อการศึกษา" ประกอบด้วย อักษรคันจิ 1,006 ตัว สำหรับสอนในโรงเรียนประถมศึกษา โดยเริ่มแรก มีอักษรคันจิ 881 ตัว จนเมื่อ พ.ศ. 2524 ได้เพิ่มเป็น 1,006 อักษรคันจิชุดนี้ถูกแบ่งชุดอักษรย่อย เรียกกันว่า ชุดอักษรคันจิแบ่งตามระดับชั้นเรียน (学年別漢字配当表 Gakunen-betsu kanji haitōhyō หรือ gakushū kanji) โดยแบ่งว่า นักเรียนระดับชั้นไหน ต้องเรียนรู้คันจิตัวใดบ้าง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ได้เพิ่มคันจิอีก 20 ตัวที่ใช้ในชื่อจังหวัดของญี่ปุ่นเข้ามา [1] ได้แก่
โจโยคันจิ (常用漢字 Jōyō kanji)
[แก้]โจโยคันจิ (ญี่ปุ่น: 常用漢字; โรมาจิ: Jōyō kanji) หรือ "คันจิในชีวิตประจำวัน" ประกอบด้วย อักษรคันจิ 2,136 ตัว ซึ่งรวมเคียวอิคุคันจิอยู่ด้วย และเพิ่มคันจิอีก 939 ตัวที่สอนในโรงเรียนมัธยม ในงานพิมพ์ต่างๆ อักษรคันจิที่อยู่นอกโจโยคันจิ มักจะมีฟุริงะนะกำกับอยู่ โจโยคันจิประกาศใช้ใน พ.ศ. 2524 เพื่อแทนที่ชุดอักษรคันจิเก่าที่เรียกว่า โทโยคันจิ (当用漢字 Tōyō kanji) หรือ "คันจิที่ใช้ทั่วไป" ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2489 กระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ปรับปรุงจำนวนอักษรคันจิในโจโยคันจิมาโดยตลอด โดยอยู่บนหลักการที่ว่า "อักษรคันจิตัวนั้น จำเป็นต้องรู้ และใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน"
จิมเมโยคันจิ (人名用漢字 Jinmeiyō kanji)
[แก้]จิมเมโยคันจิ (ญี่ปุ่น: 人名用漢字; โรมาจิ: Jinmeiyō kanji) หรือ "คันจิสำหรับชื่อบุคคล" ประกอบด้วย อักษรคันจิ 2,998 ตัว โดยมีโจโยคันจิและอักษรคันจิเพิ่มอีก 862 ตัวที่พบในชื่อบุคคล อักษรคันจิชุดนี้ ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2495 เมื่อแรกเริ่ม มีอักษรคันจิเพียง 92 ตัว แต่ได้มีการประกาศเพิ่มตัวอักษรบ่อยครั้ง จนมีจำนวนเท่ากับปัจจุบัน เมื่อเอ่ยถึงตัวอักษรชุดจินเมโยคันจิ อาจหมายถึงตัวอักษรทั้ง 2,998 ตัว หรือหมายถึงแค่ 862 ตัวที่ใช้สำหรับชื่อบุคคลเท่านั้นก็ได้
เฮียวไกจิ (表外字 Hyōgaiji)
[แก้]เฮียวไกจิ (ญี่ปุ่น: 表外字; โรมาจิ: Hyōgaiji) หรือ "ตัวอักษรนอกรายชื่อ" หมายถึง อักษรคันจิที่ไม่ได้อยู่ในชุดโจโยคันจิและจินเมโยคันจิ อักษรคันจิประเภทนี้ มักเป็นอักษรจีนตัวเต็ม แต่บางครั้ง อาจเป็นอักษรชินจิไตแบบขยาย (拡張新字体 kakuchō shinjitai) ก็ได้
ประเภทของคันจิ
[แก้]ประเภทของคันจิ แบ่งได้ 6 ประเภท คือ
โชเกโมจิ (象形文字)
[แก้]เป็นคันจิที่กำเนิดขึ้นแรกสุดแสดงรูปลักษณะของสิ่งต่างๆส่วนใหญ่เป็นชื่อสิ่งของ คันจิประเภทนี้มีประมาณ 600 ตัว ตัวอย่างเช่น 目 แปลว่า ตา, 木 แปลว่า ต้นไม้
ชิจิโมจิ (指事文字)
[แก้]เป็นคันจิที่ใช้ในรูปลักษณะต่างๆแสดงความหมายสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือสิ่งที่ไม่มีรูปโดยใช้ขีดหรือเส้น และในบางครั้งจะนำ โชเกโมจิ (象形文字) มาประสมด้วย คันจิประเภทนี้มี ประมาณ 135 ตัว ตัวอย่างเช่น 上 แปลว่า บน, 下 แปลว่า ล่าง
ไคอิโมจิ (会意文字)
[แก้]เป็นคันจิที่นำคันจิที่สำเร็จรูปแล้วมาประกอบกันเป็นคันจิใหม่ที่มีความหมายใหม่ ตัวอย่างเช่น 峠 (ช่องเขา) เกิดจากการนำคันจิ 山 (ภูเขา), 上 (บน) และ 下 (ล่าง) มารวมกัน 休 (หยุดพัก) เกิดจากการนำคันจิ 人 (คน) และ 木 (ต้นไม้) มารวมกัน
เคเซโมจิ (形声文字)
[แก้]เป็นคันจิที่นำคันจิที่แสดงความหมายกับส่วนที่แสดงเสียงมาประกอบกันเป็นคันจิใหม่ที่มีความหมายใหม่ คันจิประเภทนี้มีประมาณร้อยละ 90 ของคันจิทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น คันจิที่ประกอบด้วยรูปร่าง 言 เช่น 語, 記, 訳, 説, ฯลฯ จะมีความหมายเกี่ยวข้องกับ"คำ/ภาษา/ความหมาย"เสมอ คันจิที่ประกอบด้วยรูปร่าง 雨 (ฝน) เช่น 雲, 電, 雷, 雪, 霜, ฯลฯ มักจะมีความหมายเกี่ยวข้องกับ"สภาพอากาศ" คันจิที่ประกอบด้วยรูปร่าง 寺 อยู่ทางขวา มักจะมีเสียงองว่า "shi" หรือ "ji" บางครั้งเราสามารถเดาความหมายหรือการอ่านจากรูปร่างของคันจิได้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อยกเว้น เช่น 需 และ 霊 ล้วนไม่มีความหมายเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และ 待 ก็มีเสียงองว่า "tai"
เท็นชูโมจิ (転注文字)
[แก้]เป็นคันจิที่ใช้ในความหมายอื่นไม่ใช่ความหมายเดิมของคันจิตัวนั้นๆ
คะชะกุโมจิ (仮借文字)
[แก้]เป็นคันจิที่ยืมมาแต่เสียงอ่านโดยไม่เกี่ยวข้องกับความหมาย
การเรียนคันจิ
[แก้]กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นได้กำหนดอักษรคันจิที่ใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวันซึ่งใช้เป็นประจำ โดยกำหนดให้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนญี่ปุ่น เรียกว่าโจโยคันจิ (常用漢字) มีทั้งหมด 1,945 ตัว อย่างไรก็ตามคันจิที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีมากกว่า 3,000 ตัว โดยเด็กนักเรียนญี่ปุ่นจะต้องจดจำคันจิที่อยู่นอกเหนือหลักสูตรเหล่านี้เอง คันจิที่นอกเหนือจากคันจิ เช่น คันจิที่ใช้เป็นชื่อคน (จินเมโยคันจิ 人名用漢字) หลักสูตรของเด็กนักเรียนญี่ปุ่นจะเริ่มเรียนตัวอักษรคันจิตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 เริ่มต้นที่ประมาณ 80ตัว เทียบเท่ากับการสอบวัดระดับคันจิระดับ 10 (คันจิเคนเต 漢字検定)โดยเด็กญี่ปุ่นจะเรียนพื้นฐานคันจิทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสียงอง เสียงคุน โอะกุริงะนะ จำนวนขีด บุชุของอักษร การผสมคำ การใช้คำ ความหมาย เด็กญี่ปุ่นประมาณ ป.5-ป.6 ก็จะสามารถอ่านคันจิที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้หมดแล้ว
การเรียงลำดับของคันจิ
[แก้]ลำดับของอักษรคันจิสามารถเรียงได้ตามลำดับดังนี้คือ
- ลำดับของบุชุ (部首)
- จำนวนขีด(総画数)
- เสียงของคันจิ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "小学校の必修漢字に都道府県名20字追加 20年度にも". 朝日新聞デジタル. 2016-05-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-18. สืบค้นเมื่อ 2016-06-18.
ดูเพิ่ม
[แก้]- ฮันจา ตัวอักษรจีนที่ใช้ในภาษาเกาหลี
- จื๋อโนม ตัวอักษรจีนที่ใช้ในภาษาเวียดนาม
- โจโยคันจิ อักษรคันจิ 1,945 ตัวที่กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นกำหนดว่าใช้ในชีวิตประจำวันเป็นประจำ
- รายชื่ออักษรคันจิที่ใช้เป็นชื่อประเทศ
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แบบฝึกหัด อักษรคันจิของญี่ปุ่น , โปรแกรมจาวา แผ่นช่วยจำ แบบออนไลน์ เพื่อการศึกษาและฝึกหัด คันจิ รวมทั้ง การอ่านเสียงอง เสียงคุน และ ความหมาย โฮมเพจ
- โจโยคันจิ@jtdic.com เก็บถาวร 2009-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เวปค้นหาโจโยคันจิ 1945 ตัว พร้อมแสดงคำศัพท์ทั้งญี่ปุ่นไทย และญี่ปุ่นอังกฤษ
- มินนะโนะคันจิ เรียนคันจิ ภาษาญี่ปุ่นด้วยตนเอง แสดงลิสต์คันจิ และเก็บคันจิที่ต้องการเรียน ไว้ในมายคันจิได้