ข้ามไปเนื้อหา

เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส
เสรีพิศุทธ์ใน พ.ศ. 2561
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2562 – 1 กันยายน พ.ศ. 2566
(4 ปี 161 วัน)
หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
เริ่มดำรงตำแหน่ง
24 ตุลาคม พ.ศ. 2561
(ข้อผิดพลาด: แม่แบบ:อายุปีและวัน รองรับเฉพาะปีพุทธศักราช หากใช้เป็นคริสต์ศักราช กรุณาใช้ แม่แบบ:Age in years and days)
ก่อนหน้าไพบูลย์ พึ่งทองหล่อ
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 – 8 เมษายน พ.ศ. 2551
(0 ปี 190 วัน)
รักษาการแทนพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
(กุมภาพันธ์ - เมษายน พ.ศ. 2551)
ก่อนหน้าพลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ
ถัดไปพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด3 กันยายน พ.ศ. 2491 (76 ปี)
จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย
พรรคการเมืองเสรีรวมไทย (2561 - ปัจจุบัน)
คู่สมรสพัสวีศิริ เตมียเวส
บุตร3 คน
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกรมตำรวจ- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ประจำการพ.ศ. 2515–2551
ยศ พลตำรวจเอก

พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ม.ป.ช. ม.ว.ม. ร.ม.ก. (ชื่อเกิด เสรี เตมียเวส; เกิด 3 กันยายน พ.ศ. 2491) ชื่อเล่น ตู่ เป็นอดีตข้าราชการตำรวจและนักการเมืองชาวไทย หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ชุดที่ 25 และ ชุดที่ 26) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และอดีตผู้บังคับการปรามปราบ อดีตนายตำรวจราชองครักษ์พิเศษ เจ้าของฉายา "วีรบุรุษนาแก" และ "มือปราบตงฉิน"

ประวัติ

[แก้]

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เดิมชื่อ เสรี เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2491 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นบุตร นายชื้น และ นางอรุณ สมรสกับพัสวีศิริ (สกุลเดิม เทพชาตรี) มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นางสาวศศิภาพิมพ์, นายทรรศน์พนธ์ และนางสาวทัศนาวัลย์ โดยสกุล “เตมียเวส” เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2458 เลขสกุลลำดับที่ 2081 โดยพระราชทานแก่นักเรียนทหารกระบี่ ตุ๋ย (เล็ก)[1]

การรับราชการตำรวจและการเมือง

[แก้]

เสรีพิศุทธ์จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนทวีธาภิเศก หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 8 (ตท.8) และ โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน รุ่นที่ 24 (นรต.24) เคยรับราชการอยู่ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ช่วง พ.ศ. 2515-2524 ได้ต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดเดี่ยว และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 5 และเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1[2] ซึ่งต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมได้ทำพิธีสถาปนาให้เป็นขุนพลของประชาชน ณ ศาลาประชาคม จังหวัดนครพนม ด้วยผลงานที่เสรีพิศุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ จนได้รับการขนานนามว่า "วีรบุรุษนาแก"[3] นอกจากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ฯยังได้รับพระราชทานรางวัล “คนไทยตัวอย่าง”[ต้องการอ้างอิง] รางวัล “บุคคลดีเด่นของชาติ” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ[ต้องการอ้างอิง] รางวัล “ข้าราชการที่ประพฤติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ[ต้องการอ้างอิง] ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายมหาวิทยาลัย

เขาเคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการปราบปราม เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อ พ.ศ. 2533 - 2534 วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2534 ได้มีผู้วางระเบิดห้องทำงานเขาขณะดำรงตำแหน่งดังกล่าว[4] และต้องพ้นจากตำแหน่ง ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น เสรีพิศุทธ์ นัยว่า เพื่อแก้เคล็ด เนื่องจากชื่อไม่ถูกโฉลก [5]

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าตำรวจภาค 2) ได้จับกุม และดำเนินคดีกับนายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ ผู้กว้างขวางของจ.ชลบุรี และภาคตะวันออก ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะที่เขาไม้แก้ว จนศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกกำนันเป๊าะ

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ฯ มีภาพลักษณ์เป็นนายตำรวจมือปราบที่ซื่อตรง ได้ฉายาว่า "มือปราบตงฉิน"[6]} ผู้มีอำนาจในหลายรัฐบาลมักเลือกเขาให้เข้ามาสืบสวนสอบสวนคดีสำคัญที่สังคมและสื่อตั้งข้อสงสัย[ต้องการอ้างอิง] มีการจับกุมนักการเมือง รัฐมนตรี เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลหลายต่อหลายคน[ต้องการอ้างอิง] ทำให้ได้รับผลกระทบจากการเมืองบ่อยครั้ง โดยมักถูกโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้ควบคุมกำลัง เช่น กองวิทยาการตำรวจ หรือ ประจำกรมตำรวจ เป็นต้น[ต้องการอ้างอิง]

กระนั้น เขาก็ยังได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ผู้บังคับการปราบปราม ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จเรตำรวจแห่งชาติคนแรก [7][8]

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

[แก้]

เขาได้รับแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 แทน พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ที่ได้รับคำสั่งไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีประกาศ ฉบับที่ 1 แต่งตั้งเขาเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

ในการสับเปลี่ยนกำลังพลครั้งแรก เขาย้ายผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี ไปต่างจังหวัด ผู้ใกล้ชิดกับอดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ และอดีตนายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ ชินวัตร ถูกย้ายไปตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจ ขณะเดียวกัน เขาเลื่อนยศนายตำรวจหลายนายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเขาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ พล.ต.ท.อดิศร นนทรีย์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ช่วยใกล้ชิดของเสรีพิศุทธ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท. ถาวรศักดิ์ เทพชาตรี พี่ชายของภรรยาเขา ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท. เจตนากร นภีตะภัฏ ซึ่งสมรสกับน้องสาวของภรรยาพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9[9]

เมื่อครั้งมีการยื่นเรื่องให้ถอดพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี พล.ต.ท. ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ซึ่งปฏิเสธยื่นข้อกล่าวหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ต่อนักเคลื่อนไหวที่ยื่นเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายครอบคลุมเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น สองวันต่อมาเสรีพิศุทธ์ลดยศเขา[10]

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2551 พ.ต.อ. ทินกร มั่งคั่ง อดีตนายเวร ที่ถูกเขาปลดออกจากราชการ ลงนามหนังสือร้องเรียนถึงสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ลงรับหนังสือร้องเรียนทั้ง 3 ฉบับ ไว้พร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 วันรุ่งขึ้น สมัครออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และในวันเดียวกันนั้นก็ได้ออกคำสั่งย้ายเขาไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทน[11][12] วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551 สมัครก็ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 73/2551 ให้เขาออกจากราชการไว้ก่อน วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เสรีพิศุทธ์แถลงข่าวว่าตนถูกปล้นตำแหน่ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม[13]

ต่อมาเมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้ยุติการสอบสวน และยกเลิกคำสั่งให้เสรีพิศุทธ์ออกจากราชการไว้ก่อน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553 รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 364 วัน[ต้องการอ้างอิง]

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ฟ้องร้อง พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในคดีหมิ่นประมาท แต่ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องในที่สุด[14]

การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556

[แก้]

ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ได้เปิดตัวแสดงเจตนาที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ในนาม "กลุ่มพลังกรุงเทพ"[15] โดยได้เบอร์ 11 และได้รับคะแนนทั้งสิ้น 166,582 คะแนน โดยมีคะแนนเป็นอันดับสามต่อจากพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรค และอันดับหนึ่งจากผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคอีก 23 คน [16]

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557

[แก้]

ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เขากล่าวผ่านสื่อวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลหลายครั้งหลายคราว รัฐบาลสนองด้วยการออกหมายเรียก[17] วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 พ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ในข้อหากระทำการที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ[18]

ในวันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2566 พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้นายมังกร ยนต์ตระกูล เลขาธิการพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับถัดมาได้เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน[19][20]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

[แก้]

พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 2 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเสรีรวมไทย
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเสรีรวมไทย

วัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

เรื่องราวของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เคยถูกสร้างเป็นละคร"วีรบุรุษนาแก" ซึ่งออกอากาศทางไทยทีวีช่อง 3 เมื่อปี 2530 โดยสร้างจากชีวประวัติของท่านตอนช่วงสมัยที่ยังเป็นตำรวจตระเวนชายแดน ในขณะที่ท่านยังดำรงยศเป็นร้อยเอกจนถึงพันตำรวจเอกและยังใช้ชื่อ"เสรี เตมียเวส" ซึ่งผู้รับบทคือ พลโท อนุสรณ์ เดชะปัญญา (ขณะยศ ร้อยเอก)[21]

ยศตำรวจ

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 28
  2. ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ประกาศเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2523
  3. วิวาทะเหรียญรามากลางสภา พี่ 'เสรีพิศุทธ์' ถึงน้อง 'ประยุทธ์' - ที่มาเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุด
  4. 365ปีแพะอาถรรพ์[ลิงก์เสีย]
  5. เปลี่ยนชื่อเป็น เสรีพิศุทธ์ นัยว่า เพื่อแก้เคล็ด เนื่องจากชื่อไม่ถูกโฉลก
  6. treesukee, natthakan. "ทำความรู้จัก 'เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส' วีรบุรุษนาแก ผู้ผ่านสมรภูมิเดือดนับครั้งไม่ถ้วน". เดลินิวส์.
  7. "ชื่อ-นามสกุลนั้น สำคัญไฉน "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส"". posttoday. 2021-08-27.
  8. "สีสันการเมือง ลูกผู้ชายชื่อ "เสรีพิศุทธ์" วีรบุรุษนาแก-หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย". เนชั่นทีวี. 2023-09-15.
  9. Bangkok Post, Officers close to govt promoted, 22 February 2007
  10. The Nation, Special Branch chief demoted in reshuffle เก็บถาวร 30 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 5 April 2007
  11. "คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-05. สืบค้นเมื่อ 2008-02-29.
  12. คำสั่งเด้งผบ.ตร.
  13. เสรีพิศุทธ์ แฉถูกปล้นตำแหน่ง ผบ.ตร.จากกระปุกดอตคอม
  14. ยกฟ้อง'พัชรวาท'ไม่ผิดสอบสวน'เสรีพิศุทธ์'
  15. “เสรีพิศุทธิ์” เปิดตัวลงสมัครผู้ว่าฯกทม. จากเดลินิวส์
  16. "เผยผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อย่างเป็นทางการ สถิติใหม่คนกรุง ส่งกกต.รับรองผลใน7วัน". ข่าวสด. 4 March 2013. สืบค้นเมื่อ 22 May 2014.
  17. “เสรีพิศุทธ์” อดีต ผบ.ตร.หลังออกรายการวิจารณ์ คสช.[ลิงก์เสีย]
  18. เบื้องหลัง 'ฟ้าให้ทีวี' กับ 'เสียงเสรี' ที่ทหารไม่ปลื้ม
  19. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง
  20. "เสรีพิศุทธ์" ลาออก สส.บัญชีรายชื่อ มีผล 1 ก.ย.นี้ "มังกร" เลื่อนมาแทน
  21. "ช่อง 3 วีรบุรุษนาแก | ภาพยนตร์ชุด วีรบุรุษนาแก ออกอากาศทางไทยทีวีช่อง 3 เมื่อปี 2530 | By พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส | Facebook". www.facebook.com.
  22. ประกาศแต่งตั้งพลตำรวจตรี
  23. ประกาศแต่งตั้งพลตำรวจโท
  24. ประกาศแต่งตั้งพลตำรวจเอก
  25. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
  26. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๑๖, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
  27. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๖๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๑๖ เมษายน ๒๕๒๓
  28. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๑๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓
  29. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๒๐๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๐๐๑, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๖

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ถัดไป
พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(1 ตุลาคม พ.ศ. 255030 กันยายน พ.ศ. 2551)
พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ