หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ)
หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) | |
---|---|
อธิบดีกรมตำรวจ | |
ดำรงตำแหน่ง 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 10 มีนาคม พ.ศ. 2445 จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 (93 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | นางสุคนธ์ ชาติตระการโกศล (สุคนธ์ สุขุม) |
บุตร | 3 คน |
บุพการี |
|
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
ยศ | พลตำรวจเอก |
พลตำรวจเอก หลวงชาติตระการโกศล[1] นามเดิม เจียม ลิมปิชาติ (ได้รับพระราชทานนามสกุลนี้เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง) เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2445 ที่ตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช[2] เป็นบุตรคนโตของขุนสุมนสุขการ และนางสุมนสุขการ (จือ ลิมปิชาติ) มีน้องร่วมบิดามารดา 7 คน
การศึกษา
[แก้]ได้รับการศึกษาขั้นแรกในโรงเรียนสอนศาสนาอเมริกัน ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึง พ.ศ. 2456 จึงติตตามมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งขณะนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เข้ามาอาศัยที่บ้านศาลาแดง และศึกษาต่อในกรุงเทพฯ โดยเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ถึง พ.ศ. 2460 พลตำรวจเอก หลวงชาติตระการโกศล ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนักเรียนไทยอีก 18 คน (คราวเดียวกับที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จไปทรงศึกษาวิชาพยาบาล) ได้ศึกษาชั้นมัธยมที่วอชิงตัน ดีซี, แมตซาชูเซส และนิวเจอร์ซี ตามลำดับ จนจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2467 นอกเหนือจากการเรียนแล้ว ยังมีความสามารถในทางแสดงละครของโรงเรียน การกีฬา ตลอดจนการเล่นดนตรี Dixieland Jazz ด้วย โดยเครื่องดนตรีที่ถนัดคือ แซกโซโฟน
ต่อมาท่านได้รับทุนจากกระทรวงมหาดไทย ให้ศึกษาวิชาการตำรวจที่ Police Academy Of New York City ที่เมืองชิคาโก, ฟิลาเดเฟีย, วอชิงตัน ดีซี และบอสตัน ตามลำดับ จนสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2468 ก่อนเดินทางกลับยังได้ฝึกงานในกรมตำรวจประเทศอังกฤษ 6 เดือน
การรับราชการ
[แก้]เมื่อกลับประเทศไทยแล้ว ได้เข้ารับราชการในกรมตำรวจ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2469 ยศว่าที่ร้อยตำรวจตรี และได้รับพระราชทานยศ ร้อยตำรวจโท ภายในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 และได้เลื่อนยศตำแหน่งตามลำดับ อาทิ ผู้กำกับการตำรวจเทศบาล, รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล, ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 1 จังหวัดลำปาง, ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 7 จังหวัดนครปฐม, ผู้บังคับการตำรวจสนามประจำกองข้าหลวงใหญ่ทหาร 4 รัฐ, ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จนได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ในรัฐบาลของพันตรี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ขณะมียศเป็น พลตำรวจตรี [3] และได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจโท เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2491 พร้อมกับ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ ที่ได้รับพระราชทานยศเป็น พลตำรวจตรี [4] กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ พลตำรวจเอก เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2493 [5]
ต่อมาท่านได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร, อธิบดีกรมมหาดไทย, อธิบดีกรมการปกครอง และดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นตำแหน่งสุดท้าย ก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2506 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก, มหาวชิรมงกุฎ, ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ, เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 และ 9 ชั้นที่ 2 เป็นเกียรติยศ
ภายหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านยังดำรงตำแหน่งทางเอกชนและสาธารณกุศลต่อมาอีกมาก เช่น กรรมการธนาคารไทยพาณิชย์, ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่ง, กรรมการและประธานในองค์การส่งเสริมการกีฬาแห่งประเทศไทย, กรรมการสภากาชาดไทย, กรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย, สมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น
ยศและบรรดาศักดิ์
[แก้]- 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 - ร้อยตำรวจโท[6]
- 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 - ร้อยตำรวจเอก[7]
- 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 - หลวงชาติตระการโกศล ถือศักดินา ๖๐๐
- 1 เมษายน พ.ศ. 2476 - พันตำรวจตรี[8]
- 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 - พันตำรวจโท[9]
- 15 มกราคม พ.ศ. 2482 - พันตำรวจเอก[10]
- 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 - พลตำรวจตรี[11]
- 22 มิถุนายน พ.ศ. 2491 - พลตำรวจโท
- 3 มิถุนายน พ.ศ. 2493 - พลตำรวจเอก
ครอบครัว
[แก้]ด้านชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับนางสาวสุคนธ์ สุขุม (นางชาติตระการโกศล) ธิดาพระยาสุขุมนัยวินิต (สวาสดิ์ สุขุม) มีบุตร-ธิดารวม 3 คน คือ
- นางตระการ เลขยานนท์
- พลตำรวจโทโกศล ลิมปิชาติ
- นางสุคนธา ณ สงขลา
ถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]บั้นปลายชีวิต พลตำรวจเอก หลวงชาติตระการโกศล ได้พำนักอยู่กับครอบครัวที่บ้านเลขที่ 40 ถนนคอนแวนต์ จวบจนกระทั่งถึงอนิจกรรมด้วยโรคการหายใจล้มเหลวและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ณ โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สิริอายุได้ 93 ปี โดยเมื่อถึงแก่อนิจกรรมแล้วยังได้บริจาคดวงตาและร่างกายให้สภากาชาดไทยไว้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาของนักเรียนแพทย์ด้วย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2502 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[12]
- พ.ศ. 2498 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[13]
- พ.ศ. 2506 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[14]
- พ.ศ. 2479 – เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)[15]
- พ.ศ. 2484 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)[16]
- พ.ศ. 2486 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ร.)[17]
- พ.ศ. 2501 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[18]
- พ.ศ. 2484 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[19]
- พ.ศ. 2511 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[20]
- พ.ศ. 2493 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 2 (อ.ป.ร.2)[21]
- พ.ศ. 2498 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 2 (ภ.ป.ร.2)[22]
- พ.ศ. 2502 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 9 (ร.จ.ท.9)[23]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๓๐๓๔)
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-01-11.
- ↑ เรื่อง แต่งตั้งอธิบดีกรมตำรวจ
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ
- ↑ พระราชทานยศพลเรือน (หน้า ๒๔๖๐)
- ↑ พระราชทานยศ (หน้า ๒๙๕๒)
- ↑ ประกาศ เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ (หน้า ๒๖๘)
- ↑ ประกาศเรื่องพระราชทานยศตำรวจ
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๑๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๙๕ ง หน้า ๓๐๔๓, ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๔๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนามผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 2022-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๗๗, ๑๓ กันยายน ๒๔๗๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๕๔, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการเขตภายใน เก็บถาวร 2022-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๕ ง หน้า ๒๗๘๘, ๓๑ สิงหาคม ๒๔๘๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน เก็บถาวร 2022-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๕๐ ง หน้า ๑๘๗๓, ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๔๐, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี เก็บถาวร 2022-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒, ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๘ เก็บถาวร 2022-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๓๙ ง หน้า ๓๐๓๙, ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๖๓ ง หน้า ๒๐๕๐, ๒๓ สิงหาคม ๒๔๙๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชรุจิ เก็บถาวร 2022-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๗๔ ง หน้า ๑๘๐๑, ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๒
แหล่งข้อมูล
[แก้]- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจเอก หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ. 2540
ก่อนหน้า | หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พลตำรวจตรี พระพิจารณ์พลกิจ (ยู่เซ็ก ดุละลัมพะ) |
อธิบดีกรมตำรวจ คนที่ 13 (2490 – 2494) |
พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2445
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2538
- บุคคลจากอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
- บรรดาศักดิ์ชั้นหลวง
- อธิบดีกรมตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- ปลัดกระทรวงมหาดไทยไทย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ.ว. (ฝ่ายหน้า)
- ผู้ได้รับเหรียญจักรมาลา
- อธิบดีกรมศุลกากร
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์