ข้ามไปเนื้อหา

อาณาจักรธนบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สมัยกรุงธนบุรี)
อาณาจักรธนบุรี

พ.ศ. 2310–2325
ธงชาติกรุงธนบุรี
แผนที่แสดงอาณาเขตของอาณาจักรธนบุรี พ.ศ. 2323 (เส้นสีแดง)
แผนที่แสดงอาณาเขตของอาณาจักรธนบุรี พ.ศ. 2323 (เส้นสีแดง)
สถานะราชอาณาจักร
เมืองหลวงกรุงธนบุรี
ภาษาทั่วไปภาษาไทย
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
การปกครองราชาธิปไตยแบบประชานิยม
พระมหากษัตริย์ 
• 2310–2325
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ยุคประวัติศาสตร์ยุคใหม่
• สถาปนา
6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310
• รวมแผ่นดินสำเร็จ
พ.ศ. 2313
• สิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
6 เมษายน พ.ศ. 2325
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรอยุธยา
ราชวงศ์โก้นบอง
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ

อาณาจักรธนบุรี เป็นอาณาจักรที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดของไทย คือระหว่าง พ.ศ. 2310–2325 ระยะเวลา 15 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังอาณาจักรอยุธยาล่มสลายไปพร้อมกับการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ทว่า ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงย้ายเมืองหลวงไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

ประวัติ

[แก้]

การกอบกู้เอกราช

[แก้]

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรับราชการเป็นพระยาตากในระหว่างสงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง[1] พระยาตากได้ถอนตัวจากการป้องกันพระนครพร้อมกับทหารจำนวนหนึ่งเพื่อไปตั้งตัว โดยนำทัพผ่านบ้านโพสามหาร บ้านบางดง หนองไม้ทรุง เมืองนครนายก เมืองปราจีนบุรี พัทยา สัตหีบ ระยอง โดยกลุ่มผู้สนับสนุนพระยาตากได้ยกย่องให้เป็น "เจ้า"[2] และตีจนได้เมืองจันทบุรีและตราด เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2310[3]

ในเวลาใกล้เคียงกัน ฝ่ายกองทัพพม่าได้คงกำลังควบคุมในเมืองหลวงและเมืองใกล้เคียงประมาณ 3,000 คน โดยมีสุกี้เป็นนายกอง ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านโพธิ์สามต้น พร้อมกันนั้น พม่าได้ตั้งนายทองอินให้ไปเป็นผู้ดูแลรักษาเมืองธนบุรีไว้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอาณาจักรอยุธยาจะสิ้นสภาพลงไปแล้ว แต่ยังมีหัวเมืองอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับความเสียหายจากศึกสงคราม หัวเมืองเหล่านั้นจึงต่างพากันตั้งตนเป็นใหญ่ในเขตอิทธิพลของตน ส่วนทางด้านพระยาตากเองก็สามารถรวบรวมกำลังได้จนเทียบได้กับหนึ่งในชุมนุมทั้งหลายนั้น โดยมีจันทบุรีเป็นฐานที่มั่น

ต่อมา พระยาตากจึงนำกำลังที่รวบรวมประมาณ 5,000 คน ตีเมืองธนบุรีและอยุธยาคืนจากข้าศึก เสร็จแล้วจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี[4] และทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ คือ กรุงธนบุรี[5] เนื่องจากทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาถูกทำลายลงจนไม่อาจปฏิสังขรณ์ได้กลับคืนดังเดิม โดยเรียกนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ส่วนสาเหตุที่ทรงเลือกนั้นเป็นเพราะว่าเมืองธนบุรีมีขนาดเล็กและชัยภูมิ มีปราการป้องกันเข้มแข็ง ทำให้ข้าศึกรุกรานได้ยาก และยังสามารถใช้เป็นสถานที่หลบหนีไปตั้งหลักยังเมืองจันทบุรีได้ทางเรือได้อีก[6]

การรวมชาติและการขยายตัว

[แก้]

ครั้งเมื่อพระเจ้ามังระแห่งอาณาจักรพม่าทรงทราบข่าวเรื่องการกอบกู้เอกราชของไทย พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองทวายคุมกองทัพมาดูสถานการณ์ในดินแดนอาณาจักรอยุธยาเดิม เมื่อปลาย พ.ศ. 2310 แต่ก็ถูกตีแตกกลับไปโดยกองทัพธนบุรี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงนำทัพมาด้วยพระองค์เอง[7]

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้จัดเตรียมกำลังเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง เพื่อให้เกิดการรวมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2311 ทรงมุ่งไปยังเมืองพิษณุโลกเป็นแห่งแรก ทว่า กองทัพธนบุรีพ่ายต่อกองทัพพิษณุโลก ณ ปากน้ำโพ จึงต้องเลื่อนการโจมตีออกไปก่อน แต่ภายหลังเจ้าพิษณุโลกถึงแก่พิราลัย ชุมนุมพิษณุโลกอ่อนแอลงและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าพระฝางแทน

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เปลี่ยนเป้าหมายไปยังชุมนุมเจ้าพิมาย เนื่องจากทรงเห็นว่าควรจะปราบชุมนุมขนาดเล็กเสียก่อน กรมหมื่นเทพพิพิธสู้ไม่ได้ ทรงจับตัวมายังกรุงธนบุรี และถูกประหารระหว่างเดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2311[8] เมื่อขยายอำนาจไปถึงหัวเมืองลาวแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพยายามใช้พระราชอำนาจของพระองค์ช่วยให้ นักองราม เป็นกษัตริย์กัมพูชา โดยพระองค์โปรดให้ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นแม่ทัพไปตีกัมพูชา แต่ไม่สำเร็จ[9]

ในปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีศุภอักษรไปยังสมเด็จพระนารายณ์ราชา เจ้ากรุงเขมร โดยให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามประเพณี แต่สมเด็จพระนารายณ์ราชาปฏิเสธ พระองค์ทรงขัดเคืองจึงให้จัดเตรียมกองกำลังไปตีเมืองเสียมราฐ และเมืองพระตะบอง อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พระองค์ได้ส่งพระยาจักรีนำกองทัพไปปราบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อทรงทราบข่าวทัพพระยาจักรีไปติดขัดที่ไชยา จึงทรงส่งทัพหลวงไปช่วย จนตีเมืองนครศรีธรรมราชได้เมื่อเดือน 10 ฝ่ายแม่ทัพธนบุรีในเขมรไม่ได้ข่าวพระเจ้าแผ่นดินมานาน จึงเกรงว่าบ้านเมืองจะไม่สงบ รีบยกกองทัพกลับบ้านเมืองเสียก่อน และทำให้การโจมตีเขมรถูกระงับเอาไว้

ในปี พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกกองทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง โดยตีได้เมืองพิษณุโลก และตามไปตีชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรีได้ และทรงประทับ ณ เมืองสวางคบุรี เพื่อสมโภชการสำเร็จศึก และจัดการการปกครองและคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ตลอดฤดูน้ำ 2 เดือนเศษ ซึ่งนับเป็นชุมนุมอิสระสุดท้ายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝางได้นั้น นับเป็นการพระราชสงครามสุดท้ายที่ ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงบรรลุพระราชภารกิจสำคัญ ในการรวบรวมพระราชอาณาเขตให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวดังเดิมหลังภาวะจลาจลเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 และทำให้สิ้นสุดสภาพจลาจลการแยกชุมนุมอิสระภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และนับเป็นการสถาปนากรุงธนบุรีได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เมื่อสำเร็จศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝาง ในปี พ.ศ. 2313[10]

การสิ้นสุด

[แก้]

หลักฐานส่วนใหญ่กล่าวว่า เกิดเหตุจลาจลในปลายรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือ พระยาสรรค์ได้ตั้งตัวเป็นกบฏ ได้บุกมาแล้วบังคับให้พระองค์ผนวช ขณะนั้น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงทำศึกอยู่ที่กัมพูชา ทรงทราบข่าวจึงได้เสด็จกลับมายังกรุง ได้ปราบปรามจลาจลแล้ว สืบสวนหารือควรสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และต่อมาสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสพระองค์โตก็ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เช่นกัน

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และในต่อมาได้พระราชทานนามใหม่ว่า กรุงรัตนโกสินทร์ ส่งผลให้อาณาจักรธนบุรีสิ้นสุดลง

การปกครอง

[แก้]

การปกครองในสมัยกรุงธนบุรีนั้น ดัดแปลงมาจากกรุงศรีอยุธยา โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

การปกครองส่วนกลาง

[แก้]

กรุงธนบุรีเป็นศูนย์กลาง มีอัครมหาเสนาบดีตำแหน่ง " เจ้าพระยา " จำนวน 2 ท่าน ได้แก่

  • สมุหนายก เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน เป็นผู้ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทั้งในราชการฝ่ายทหารและพลเรือน ในฐานะเจ้าเสนาบดีกรมมหาดไทย ผู้เป็นจะมียศเป็น "เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์" หรือที่เรียกว่า "ออกญาจักรี"
  • สมุหพระกลาโหม เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร เป็นผู้ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งปวง ยศนั้นก็จะมี "เจ้าพระยามหาเสนา" หรือที่เรียกว่า "ออกญากลาโหม"

ส่วนจตุสดมภ์นั้นยังมีไว้เหมือนเดิม มีเสนาบดีตำแหน่ง " พระยา " จำนวน 4 ท่าน ได้แก่

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]
  • หัวเมืองชั้นใน จะมีผู้รั้งเมือง เป็นผู้ปกครอง จะอยู่รอบๆไม่ไกลจากราชธานี
  • เมืองพระยามหานคร จะแบ่งออกได้เป็น เมืองเอก โท ตรี จัตวา มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง

เศรษฐกิจ

[แก้]
ราคาข้าว
ปี ราคา
ต้นรัชกาล ถังละเท่ากับทองคำครึ่งบาท [11]
2311-2312 เกวียนละ 160 บาท [12]
2313 เกวียนละ 3 ชั่ง [13]
2317 เกวียนละ 10 ตำลึง [12]

ช่วงต้นรัชกาล สภาพบ้านเมืองเสียหายจากการทำสงครามอย่างหนัก เกิดทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย[14] เนื่องจากขาดการทำนามานาน ราคาข้าวในอาณาจักรสูงเกือบตลอดรัชกาล ก่อนจะค่อย ๆ ลดลงในตอนปลายรัชกาล จะมีเพิ่มสูงขึ้นบ้างก็ในปี พ.ศ. 2312 ที่เกิดหนูระบาด[12] สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวมาให้แก่ราษฎรทั้งหลาย ช่วยคนได้หลายหมื่น[15] ทั้งยังกระตุ้นให้ชาวบ้านทั้งหลายเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงด้วย

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรือกับต่างชาติ เนื่องจากไม่อาจพึ่งรายได้จากภาษีอากรจากผู้คนที่ยังคงตั้งตัวไม่ได้ อีกทั้งการส่งเสริมการขายสินค้าพื้นเมืองยังเป็นการสร้างงานให้กับชาวบ้าน โดยพระองค์ได้ทรงพยายามผูกไมตรีกับจีนเพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์ทางการค้ามากยิ่งขึ้น[16][17][18]

ผลดีประการหนึ่งของสงครามคราวเสียกรุงคือมีผู้คนอพยพมาสร้างความเจริญแก่ท้องที่อื่นให้ดีขึ้นกว่าสมัยอยุธยามาก[19] กรุงธนบุรีได้กลายมาเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของไทยแทนกรุงศรีอยุธยาเดิมที่ถูกเผาทำลายไป[20] และเนื่องจากเมืองมะริดและตะนาวศรีได้ตกเป็นของพม่าอย่างถาวร จึงทำให้เมืองถลางได้กลายเป็นเมืองท่าสำคัญในการค้าขายกับต่างชาติทางฝั่งทะเลอันดามันแทน โดยในสมัยอยุธยามีความสำคัญเป็นเมืองท่าลำดับสอง และมีดีบุกเป็นจำนวนมาก[20] เช่นเดียวกับเมืองไชยาและเมืองสงขลาที่เจริญก้าวหน้ากว่าในสมัยอยุธยาเดิม ชาวต่างชาติยังเขียนอีกว่า ท้องที่ใดมีชาวจีนอาศัยอยู่มาก ท้องที่แห่งนั้นย่อมเจริญแน่ เพราะคนจีนขยันกว่าคนไทย[21]

ไทยมีรากฐานเศรษฐกิจดี มีภูมิประเทศและภูมิอากาศเอื้อต่อเกษตรกรรม เมื่อเว้นว่างจากศึกสงคราม เสบียงอาหารก็บริบูรณ์ขึ้นดังเดิม ฝ่ายคนจีนและคนไทยบางส่วนได้เอาเงินและทองที่บรรพชนเก็บไว้ในพระพุทธรูปไป บ้างก็ทำลายพระพุทธรูปและพระเจดีย์เสียเพื่อเอาเงิน บาทหลวงคอร์ระบุว่า "การที่ประเทศสยามกลับตั้งแต่ได้เร็วเช่นนี้ ก็เพราะความหมั่นเพียรของพวกจีน ถ้าพวกจีนไม่ใช่เป็นคนมักได้แล้ว ในเมืองไทยทุกวันนี้คงไม่มีเงินใช้เป็นแน่"[22]

สังคม

[แก้]

ชนชั้นทางสังคม

[แก้]

สภาพสังคมไทยสมัยกรุงธนบุรี มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยา คือมีการแบ่งชนชั้นออกเป็น

  1. พระมหากษัตริย์
  2. พระบรมวงศานุวงศ์
  3. ขุนนาง
  4. ไพร่ เป็นชนชั้นที่มีมากที่สุดในสังคม[23]
  5. ทาส

หลังจากบ้านเมืองแตกแยก เพราะการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยาแล้ว เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รวบรวมอาณาจักรเป็นปึกแผ่น พม่าจึงเล็งเห็นว่า ไม่ต้องการให้อาณาจักรสยามเจริญได้อีก จึงต้องมีการรบรากันอยู่บ่อย การเรียกกำลังพลจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการหลบหนี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงตรากฎหมายการสักเลกขึ้น โดยไพร่ชายใดอายุถึงกำหนด ต้องสักเลก เพื่อให้สามารถตรวจสอบจำนวนคนได้ และถ้าหากมีการหลบหนีเมื่อใด อาจจะมีโทษถึงประหารชีวิต โดยพระเจ้ากรุงธนบุรีจะเป็นผู้ตัดสินคดีด้วยตัวของพระองค์เอง ส่วนชนชั้นอื่น ๆ ที่เหลือนั้นก็มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับอยุธยา

การศึกษา

[แก้]

สมัยกรุงธนบุรีเป็นระยะเวลาที่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย การฟื้นฟูการศึกษาจึงทำได้ไม่มากนัก แต่วัดก็ยังเป็นแหล่งที่ให้การศึกษาอยู่ โดยมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่มีโอกาสศึกษา เพราะต้องอยู่กับพระที่วัดเรียนหนังสือและได้รับการอบรมความประพฤติ เรียนพระธรรม ภาษาบาลีสันสกฤต และศัพท์เขมร เพื่อประโยชน์ในการอ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนา นอกจากนี้มีวิชาเลข เน้นมาตรา ชั่ง ตวง วัด มาตราเงินไทย และการคิดหน้าไม้ ซึ่งจะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีวิชาช่างฝีมือสำหรับเด็กโต ส่วนใหญ่เกี่ยวกับงานช่างก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะ และสิ่งก่อสร้างภายในวัด สำหรับการเรียนวิชาชีพโดยตรงนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ใครมีอาชีพอะไรก็ถ่ายทอดวิชานั้นๆ ให้แก่ลูกหลานของตนตามสายตระกูล เช่น วิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาช่างปั้น ช่างถม ช่างแกะสลัก ช่างปูนปั้น ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างทอง ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กหญิง จะถือตามประเพณีโบราณคือ เรียนเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การจัดบ้านเรือน การฝึกอบรมมารยาทของกุลสตรี สังคมสมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ จึงมีน้อยคนที่อ่านออกเขียนได้[24]

วัฒนธรรม

[แก้]

รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแม้จะไม่ยาวนานนักได้ฟื้นฟูปรับปรุงบ้านเมืองในด้านวัฒนธรรมอย่างมากเช่น ด้านศาสนาได้แต่งตั้งพระสังฆราช ด้านศิลปะผลงานไม่เด่นชัด ด้านการศึกษาเด็กผู้ชายจะมีโอกาสได้เรียนเท่านั้น

วรรณกรรม

[แก้]

ถึงแม้ว่ากรุงธนบุรีจะดำรงอยู่เป็นเวลาอันสั้น วรรณกรรม วรรณคดีทั้งหลายถูกทำลายลง แต่ก็มีเวลาที่จะมาฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม

  • สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชทานเมื่อปี พ.ศ. 2313 อันเป็นปีที่ 3 ในรัชกาลพระองค์ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ฉบับนี้มี 4 ตอน แบ่งออกเป็น 4 เล่มด้วยกัน
  • นายสวน มหาดเล็ก ซึ่งแต่งโคลงสี่สุภาพ แต่งขึ้นเพื่อยกพระเกียรติและสรรเสริญ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 85 บท เป็นสำนวนที่เรียบง่าย แต่ทรงคุณค่าด้วยเป็นหลักฐานที่คนรุ่นต่อมาได้ทราบถึงสภาพบ้านเมืองและความเป็นไปในยุคนั้น[25]
  • หลวงสรวิชิต (หน) ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) งานประพันธ์ของท่านเป็นที่รู้จักและแพร่หลาย จนถึงปัจจุบัน เช่น สามก๊ก เป็นต้น ส่วนในสมัยกรุงธนบุรี ประพันธ์เรื่อง ลิลิตเพชรมงกุฎ (พ.ศ. 2310–2322) และอิเหนาคำฉันท์ (พ.ศ. 2322)
นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน หรือ นิราศกวางตุ้ง แต่งเมื่อปี พ.ศ. 2324

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

[แก้]

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในสมัยกรุงธนบุรี (2310–2325)

[แก้]
  • พ.ศ. 2310
  • สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชครั้งที่ 2 ให้กับกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ และทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ พระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ขณะมีพระชนมายุได้ 33 พรรษา และสถาปนา กรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่แทนกรุงศรีอยุธยา เกิดสงครามกับพม่าที่บางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม
  • พ.ศ. 2311
  • เริ่มปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก แต่ไม่สำเร็จ ปราบชุมนุมเจ้าพิมายสำเร็จเป็นชุมนุมแรก เกิดการระบาดของหนู
  • พ.ศ. 2312
  • ปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชสำเร็จ ยกทัพไปตีเขมรครั้งแรกแต่ไม่สำเร็จ
  • อัญเชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราชมายังกรุงธนบุรี
  • พ.ศ. 2313
  • เกิดสงครามกับพม่าที่เมืองสวางคบุรี และขับไล่ทหารพม่าเป็นผลสำเร็จ และยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 1 แต่ไม่สำเร็จ
  • ทรงพระราชนิพนธ์บทละครรามเกียรติ์จำนวน 4 ตอน
  • พ.ศ. 2314
  • ยกทัพไปตีเขมรครั้งที่ 2 และสามารถปราบเขมรไว้ในอำนาจ นายสวนมหาดเล็กแต่งโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี เริ่มการสร้างกำแพงเมืองกรุงธนบุรี
  • พ.ศ. 2315
  • พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1 โดยโปสุพลาแต่ไม่สำเร็จ
  • พ.ศ. 2316
  • รบชนะพม่าที่มาตีเชียงใหม่และเมืองพิชัยเป็นครั้งที่ 2 ทำให้เกิดวีรกรรมพระยาพิชัยดาบหัก
  • พ.ศ. 2317
  • รบชนะพม่าที่บางแก้ว ราชบุรี พม่าถูกจับและเสียชีวิตไปมากมาย ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ได้สำเร็จ
  • สมเด็จกรมพระเทพามาตย์ เสด็จสวรรคต
  • พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ เมืองเชียงใหม่ เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
  • พ.ศ. 2318
  • พม่ายกทัพใหญ่มาตีหัวเมืองเหนือโดยการนำทับของอะแซหวุ่นกี้ ซึ่งถือเป็นสงครามที่ใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี แต่ไม่สำเร็จ ทหารพม่าถูกจับเป็นเชลยหลายหมื่นคน
  • พ.ศ. 2319
  • พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่แต่ไม่สำเร็จ
  • โปรดให้สร้างสมุดภาพไตรภูมิ
  • ทรงรับปืนนกสับจากฟรานซิส ไลท์ จำนวน 1,400 กระบอก
  • พ.ศ. 2321
  • โปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรีไปปราบเจ้าเมืองนางรอง เจ้าเมืองนางรองถูกจับประหารชีวิต และนำกองกำลังไปตีและยึดนครจำปาศักดิ์ ทำให้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองอัตตะปือ และ ดินแดนตอนใต้ของประเทศลาวตกลงมาเป็นของไทย หลังจากจบศึก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรี เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหึมา ทุกนัคราระเดช นเรศวรราชสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งสมุหนายก
  • พ.ศ. 2322
  • โปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์ไปตีเวียงจันทน์ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาไว้ที่ กรุงธนบุรี พระแก้วมรกตประดิษฐ์ไว้ที่วัดอรุณฯ ส่วนพระบางคืนไปในสมัยรัชกาลที่ 1
  • เกิดกบฎมหาดา
  • พ.ศ. 2323
  • เกิดจลาจลในเขมร โปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระองค์เจ้าจุ้ย ยกทัพไปตีกรุงกัมพูชา แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็เกิดจลาจลในกรุงธนบุรีเสียก่อน หลวงสรวิชิต(หน) แต่งอิเหนาคำฉันท์
  • พ.ศ. 2324
  • ส่งทัพไปปราบจลาจลในเขมร
  • พระยาสรรค์เป็นกบฏ
  • พ.ศ. 2325
  • สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 กรุงธนบุรีสิ้นสุดลง

อ้างอิง

[แก้]
  1. John Bowman. Columbia Chronologies of Asian History and Culture. Columbia University Press. p. 514. ISBN 0-231-11004-9.
  2. วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์, รศ. (2003). บรรพบุรุษไทย: สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 5. ISBN 974-13-2394-8.
  3. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา 2012, p. 385.
  4. จรรยา ประชิตโรมรัน (2005) [1997]. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (4 ed.). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 55. ISBN 974-13-3394-3.
  5. ภัทรธาดา (พฤษภาคม 1981). เอกสารบรรยายพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี. ชลบุรี. p. 9–10.
  6. สุจิตต์ วงษ์เทศ, บ.ก. (26 มิถุนายน 2007). นิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่. กองทุนสุนทรภู่. pp. 123–124. ISBN 978-974-482-064-8.
  7. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา 2012, p. 411–414.
  8. นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2022, p. 158.
  9. นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2022, p. 159.
  10. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเล่ม 3 (11 ed.). นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช. 2016. ISBN 978-616-16-1192-7.
  11. ชัย เรืองศิลป์ 1998, p. 6.
  12. 12.0 12.1 12.2 ชัย เรืองศิลป์ 1998, p. 7.
  13. ชัย เรืองศิลป์ 1998, p. 8.
  14. ชัย เรืองศิลป์ 1998, p. 2.
  15. ชัย เรืองศิลป์ 1998, p. 5.
  16. Chris Baker; Pasuk Phongpaichit. A History of Thailand. Cambridge University Press. p. 32. ISBN 0-521-81615-7.
  17. Time Out Bangkok: And Beach Escapes. Time Out. 2007. p. 84. ISBN 1-84670-021-3.
  18. Paul M. Handley (2006). The King Never Smiles. Yale University Press. p. 27. ISBN 0-300-10682-3.
  19. ชัย เรืองศิลป์ 1998, p. 16.
  20. 20.0 20.1 ชัย เรืองศิลป์ 1998, p. 12.
  21. ชัย เรืองศิลป์ 1998, pp. 15–16.
  22. ชัย เรืองศิลป์ 1998, p. 25.
  23. "แรงงานไพร่ในสังคมไทยโบราณ (ตอนที่ 1)". Hfocus.org. 16 มิถุนายน 2014.
  24. 53 พระมหากษัตริย์ไทย: ธ ครองใจไทยทั้งชาติ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. 2000. pp. 244–245. ISBN 974-277-751-9.
  25. กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ, คุณหญิง (2000). วรรณกรรมสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ฉบับแปล. โครงการวรรณกรรมอาเซียน. ISBN 974-272-293-5.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]