ข้ามไปเนื้อหา

ย่านสามย่าน

พิกัด: 13°43′58″N 100°31′44″E / 13.732806°N 100.528753°E / 13.732806; 100.528753
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สี่แยก สามย่าน
มุมสูงของแยกสามย่านยามค่ำคืน
แผนที่
ชื่ออักษรไทยสามย่าน
รหัสทางแยกN047 (ESRI), 088 (กทม.)
ที่ตั้งแขวงวังใหม่ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน และแขวงมหาพฤฒาราม แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

สามย่าน เป็นสี่แยกในเขตปทุมวันและเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นจุดตัดของถนนพระรามที่ 4 ถนนพญาไท และถนนสี่พระยา รวมทั้งเป็นชื่อของย่านที่อยู่รอบ ๆ ทางแยกนี้

ประวัติ

[แก้]

ภูมิหลัง

[แก้]
สะพานเฉลิมเดช 57 ข้ามคลองหัวลำโพงที่ปลายถนนสี่พระยา หรือแยกสามย่านในปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. 2400 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขุดคลองถนนตรงตั้งแต่หน้าป้อมผลาญไพรีราบ (ตรงหัวลำโพง) ตัดทุ่งลงไปถึงคลองพระโขนง ส่วนถนนเลียบคลองก็เรียก ถนนตรง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ถนนพระรามที่ 4 ถนนสายนี้มีทางรถไฟสายปากน้ำ (เปิด พ.ศ. 2436) แต่ภายหลังได้ยกเลิกรถไฟและถมคลองถนนตรงกลายเป็นถนน (พ.ศ. 2503)[1]

พ.ศ. 2443 เปิดใช้รถรางกรุงเทพ สายสามเสน โดยวิ่งจากบางกระบือ วิ่งบนถนนสามเสน ผ่านเทเวศร์ บางลำพู พาหุรัด เยาวราช หัวลำโพง รวมถึงผ่านสามย่าน บริเวณนี้วิ่งขนานไปกับทางรถไฟสายปากน้ำ สุดสายที่คลองเตย[2]

พ.ศ. 2449 มีการตัดถนนสี่พระยา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2451 มีการตัดถนนพญาไทจากสี่พระยามาจนถึงถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรี)[3]

มีการสร้างสะพานอุทิศส่วนกุศลถวายแด่รัชกาลที่ 5 ชื่อ สะพานอุเทนถวาย เปิดสะพานอุเทนถวายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2446 เป็นสะพานข้ามคลองอุเทน ภายหลังถูกรื้อเมื่อ พ.ศ. 2505 ที่ตั้งของสะพานอุเทนถวายในปัจจุบันอยู่ราวแนวรั้วคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนอาคารแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สร้างคือ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ สร้างราว พ.ศ. 2459–2461

พ.ศ. 2453 มีการสร้างสะพานเฉลิมเดช 57 เป็นสะพานปูนข้ามคลองถนนตรง เชื่อมระหว่างถนนสี่พระยากับถนนพญาไท หรือแยกสามย่านในปัจจุบัน[4]

ชุมชน

[แก้]

บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนพญาไท เป็นที่ตั้งของวัดหัวลำโพงเป็นวัดเก่าแก่ คาดว่าสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 โดยอาศัยการสันนิษฐานจากรูปทรงของอุโบสถหลังเก่าและเจดีย์ด้านหลัง บริเวณนั้นคงเป็นชุมชนมานานแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน[5]

จากแผนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2467 มีคนอยู่อาศัยเรียกว่าเป็นหมู่บ้านได้เพียง 3 บริเวณ คือ บริเวณสะพานเหลือง สามย่าน และตลาดเจริญผล นอกจากนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผักและสวนมะลิ รวมถึงเป็นสลัม ต่อมามีผู้คนและหน่วยงานราชการเข้ามาเช่าที่ดินมากขึ้น สภาพที่ดินจึงเริ่มกลายเป็นอาคารบ้านเรือน[6]

ศาลเจ้า

[แก้]
ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน เมื่อปี พ.ศ. 2566
ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เมื่อปี พ.ศ. 2566

ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน หรือ ศาลฮุกโจ้ว แต่เดิมตั้งอยู่ในชุมชนหัวลำโพง (หวัก ลัม คง เสีย) ชุมชนจีนเก่าแก่ที่อยู่ตรงข้ามกับวัดหัวลำโพง สร้างขึ้นในราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงราว พ.ศ. 2508 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอขยายเขตการศึกษา เพื่อสร้างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี รวมถึงอาคารเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ และ ศาลาพระเกี้ยว จึงได้ขอให้ชุมชนและศาลเจ้าย้ายออกจากพื้นที่ จึงได้ย้ายไปที่แห่งใหม่ที่ซอยจุฬาลงกรณ์ 50 อันแวดล้อมไปด้วย ตลาดสามย่าน โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร อัญเชิญเทพเจ้ามาประดิษฐานในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2509 (1 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินจีน)[7]

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ที่ตั้งอยู่ในซอยจุฬาลงกรณ์ 9 อาคารจะมีอายุไม่ถึงร้อยปี (ประมาณ 50 ปี) แต่ศาลมีกระถางธูปที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้กับทางศาลเจ้า เป็นเครื่องสังเค็ดเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2454 โดยบนกระถางธูปมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. พร้อมด้วยอักษรภาษาจีนสลัก[8]

ส่วนศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองอีกแห่ง สร้างไว้ภายในบริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ[9]

ตลาดสามย่าน

[แก้]

ชุมชนบริเวณสามย่านเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ก่อน พ.ศ. 2500 มีตลาดของชุมชนที่ยังไม่มีชื่อเรียก เป็นเพียงตลาดไม้ 2 ชั้นของชุมชน

10 สิงหาคม พ.ศ. 2504 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำสัญญาปรับปรุงที่ดินบริเวณสามย่านกับบริษัทวังใหม่ จำกัด เป็นการบริหารจัดการที่ดินในเขตพาณิชย์แห่งแรก ของมหาวิทยาลัย จนเมื่อ พ.ศ. 2508 มีการยกระดับตลาดไม้ให้กลายเป็นตลาดสดที่มีมาตรฐาน พร้อมกับใช้ชื่อว่า ตลาดสามย่าน ลักษณะเป็นตลาดที่ค้าขายชั้นล่าง ส่วนชั้นบนเป็นคนอยู่อาศัย รายล้อมด้วยชุมชนจำนวนมาก ต่อมา พ.ศ. 2530 มีการปรับปรุงตลาดสดสามย่านใหม่อีกครั้ง โดยพื้นที่ชั้นล่าง ขายของสด ส่วนชั้น 2 เปลี่ยนจากที่อยู่อาศัยเป็นร้านขายอาหาร[10]

พ.ศ. 2550 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตัดสินใจย้ายตลาดสามย่านเดิมจากบริเวณจุฬาฯ ซอย 15 มาอยู่บริเวณระหว่างจุฬาฯ ซอย 32 และ 34 และเปิดให้บริการตลาดสามย่านใหม่เมื่อ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีลักษณะคล้ายตลาดสามย่านเก่า ที่ชั้นล่าง ขายของสด และชั้นบนเป็นร้านขายอาหาร

บริเวณพื้นที่รอบตลาดสามย่านในอดีต มีร้านนพชูส์ ร้านตัดรองเท้าของสามย่าน ร้านถ่ายรูปอัดรูป ทีมคัลเลอร์แล็บ โรงภาพยนตร์สามย่านรามา โจ๊กสามย่าน ร้านโชห่วยจีฉ่อย และโรงจำนำฮะติ๊ดหลี[11] ร้านเครื่องเขียน ส.ส่งเสริม ร้านตี๋เป็นร้านเทปในซอกตึกแถวใกล้จีฉ่อย เซเว่น อีเลฟเว่นสาขาสามย่าน ซึ่งเป็นสาขาที่ 8 ตรงข้ามตลาดสามย่านมีโรงแรมแมนดารินและโรงหนังราม่า (พ.ศ. 2518–2555)

สถานศึกษา

[แก้]

พ.ศ. 2507 ได้ย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากบริเวณเรือนภะรตราชามายังซอยจุฬาฯ 11[12] บริเวณสามย่านยังเคยมีโรงเรียนศึกษาวัฒนาเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่ตรงข้ามคณะนิติศาสตร์

จัตุรัสจามจุรี

[แก้]

บริเวณจัตุรัสจามจุรี หรือเรียกว่า บริเวณหมอน 20 อยู่ข้างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่เศษ เดิมเป็นอาคารพาณิชย์ลักษณะตึกแถว 2 ชั้น และ 3 ชั้น ที่พัฒนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 จำนวน 366 คูหา และอาคารตลาด โต้รุ่ง 1 หลัง มีร้านอาหารทะเล สมบูรณ์ภัตตาคาร ดำเนินกิจการเมื่อ พ.ศ. 2512[13] บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของร้านโจ๊กสามย่านด้วย

เมื่อ พ.ศ. 2531 จุฬามีโครงการในบริเวณนี้ว่า จุฬาไฮเทค มีเป้าหมายที่จะให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาพักอาศัย แต่เมื่อก่อสร้างฐานรากและตัวอาคารสูงทั้งสองถึงประมาณชั้นที่ 13 ก็ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539 ภายหลังมหาวิทยาลัยได้เข้ามาดูแลโครงการใหม่ในชื่อ จัตุรัสจามจุรี โดยดำเนินงานปรับปรุงอาคาร และเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2551[6]

ปัจจุบัน

[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เปิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 โดยบริเวณสามย่านเป็นที่ตั้งของสถานีสามย่าน จากนั้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562 เปิดสามย่านมิตรทาวน์บริเวณที่ตั้งของตลาดสามย่านเก่า โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 14 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบไปด้วย ศูนย์การค้า สำนักงานและที่พักอาศัย[14] ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาย่านพระรามที่ 4 ของกลุ่มทีซีซี

ย่านสามย่านมีคอนโดมีเนียมตามแนวถนนพระรามที่ 4 ได้แก่ จามจุรี Square Residence (พ.ศ. 2551) Ideo Q จุฬา-สามย่าน (พ.ศ. 2561) และ Triple Y Residence (พ.ศ. 2562)[15]

สถานที่สำคัญ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ย้อนรอย 100 ปี ถนนพระราม 4 : อดีต ปัจจุบันและอนาคต". ดีแทค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-08. สืบค้นเมื่อ 2022-02-08.
  2. "รถราง สายสามเสน". Thailand old Pictures.
  3. บัณฑิต จุลาสัย. "ร้อยปีจุฬาฯ ในแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ".
  4. โรม บุนนาค. "สะพานที่หายไปเมื่อคลองถูกถมเป็นถนน! สะพาน "ชุดเฉลิม" ของ ร.๕ เกือบไม่เหลือ!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  5. "วัดหัวลำโพง (พระอารามหลวง) แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร". ทัวร์วัดไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-08. สืบค้นเมื่อ 2022-02-08.
  6. 6.0 6.1 "100 ปี การบริหารจัดการที่ดินเขตจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" (PDF). สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  7. "สักการะตั่วเหล่าเอี๊ย ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน จุดมูปังๆ ย่านจุฬาฯ". เอ็มไทย.
  8. "'ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง' พื้นที่ประวัติศาสตร์ของบรรทัดทอง-สามย่าน กับการต่อสู้เพื่อไม่ให้เหลือเพียงความทรงจำ". brandthink.me.
  9. "#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่มาพร้อมกับการ saveวัฒนธรรมศาลเจ้า". สารคดีไลต์.
  10. "รู้จักย่านสามย่านแบบเจาะลึก".
  11. "บางอย่างที่ขาดหายไป ใน "สามย่านมิตรทาวน์"". ไทยรัฐ.
  12. "โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม".
  13. "สามย่านแห่งความหลัง 60 ปีก่อนมี "มิตรทาวน์"". ไทยรัฐ.
  14. "สามย่านมิตรทาวน์ มิตรสัมพันธ์ของการเปลี่ยนผ่านย่านจากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต". urbancreature.co.
  15. "ตามหาคอนโดงบ 5 ล้าน ใกล้จุฬา (สามย่าน)".

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°43′58″N 100°31′44″E / 13.732806°N 100.528753°E / 13.732806; 100.528753