ข้ามไปเนื้อหา

กลุ่มทีซีซี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น
ก่อตั้งพ.ศ. 2515 (53 ปีที่แล้ว) (2515)
ผู้ก่อตั้งเจริญ สิริวัฒนภักดี
ผลิตภัณฑ์
บริษัทในเครือ

กลุ่มทีซีซี (อังกฤษ: TCC Group) หรือชื่อเต็มคือ กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (อังกฤษ: Thai Charoen Corporation Group) หรือ เครือไทยเจริญคอมเมอร์เชียล (อังกฤษ: Thai Charoen Commercial Group) เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งของประเทศไทย มาจากชื่อของผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน ประกอบด้วย ที คือ เถลิง เหล่าจินดา, ซี คือ จุล กาญจนลักษณ์ และ ซี คือ เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งได้ทำธุรกิจสุราขนาดเล็กร่วมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ก่อนร่วมกันก่อตั้งเป็นกลุ่มบริษัทขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 ต่อมาเจริญได้แยกตัวออกมาและนำคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ผู้เป็นภรรยามาร่วมบริหาร

ปัจจุบันมีบริษัทผู้ถือหุ้นที่ดูแลภาพรวมของกลุ่มทีซีซีทั้งหมด 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (อังกฤษ: TCC Holding Corporation Co., Ltd.) ซึ่งถือหุ้นโดยเจริญ สิริวัฒนภักดี และบริษัทนี้ถือหุ้นอีกต่อหนึ่งในบริษัท ไทยเจริญ คอมเมอร์เชี่ยล จำกัด (อังกฤษ: Thai Charoen Commercial Co., Ltd.) ที่ถือหุ้นในบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (อังกฤษ: TCC Corporation Co., Ltd.) อีกต่อหนึ่งเช่นกัน และบริหารโดยบุตรทั้ง 5 คนของเจริญและคุณหญิงวรรณา ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลสิริวัฒนภักดี รวมถึงมี บริษัท อเดลฟอส จำกัด ซึ่งถือหุ้นฝ่ายละ 50% โดยฐาปน และปณต สิริวัฒนภักดี บุตรชายทั้ง 2 คนของเจริญและคุณหญิงวรรณา เป็นผู้ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบางบริษัทอีกด้วย

ประวัติ

[แก้]

กลุ่มทีซีซีเริ่มต้นจากธุรกิจขนาดเล็กโดยบริษัท สุรามหาคุณ จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยสหัท มหาคุณ และมีหุ้นส่วนคือตระกูลเตชะไพบูลย์ ตระกูลล่ำซำ รวมถึงเถลิง เหล่าจินดา โดยบริษัทนี้ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายสุราในโรงงานสุราบางยี่ขันเดิม ในพื้นที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันเป็นอาคารสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิชัยพัฒนา) เป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503[1] โดยมีจุล กาญจนลักษณ์ เภสัชกรตรีผู้พัฒนาสูตรสุราแม่โขง ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมยืมตัวมาจากกรมวิทยาศาสตร์ในกระทรวงเดียวกัน (ปัจจุบันคือกรมวิทยาศาสตร์บริการ และย้ายไปสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เพื่อมาเป็นหัวหน้ากองวิทยาศาสตร์ประจำโรงงานสุราบางยี่ขัน ถูกโอนมาเป็นลูกจ้างของ บจก.สุรามหาคุณด้วย[2] ปีถัดมา (พ.ศ. 2504) เจริญ สิริวัฒนภักดี (สกุลเดิม: ศรีสมบูรณานนท์) ได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัท ย่งฮะเส็ง จำกัด และช่วยงานในห้างหุ้นส่วนจำกัด แพนอินเตอร์ ที่จัดส่งสินค้าให้แก่โรงงานสุราบางยี่ขัน ทำให้เจริญได้รู้จักกับจุล ก่อนที่ต่อมา เจริญจะได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างใน บจก.สุรามหาคุณ ที่รับจากการฝากงานให้โดยโซวคุงเคียม ซึ่งเป็นญาติฝ่ายบิดาของเจริญที่รู้จักกับสหัทมาแต่เดิม[3] และทำให้เจริญได้รู้จักกับเถลิง ก่อนจะกลายเป็นคนสนิทของเถลิงในที่สุด[4]

อย่างไรก็ตาม บทบาทในการบริหารโรงงานสุราบางยี่ขันของเถลิงในช่วงแรกมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้บริหารโรงงานหลักเป็นตระกูลเตชะไพบูลย์และตระกูลล่ำซำ ส่วนเถลิงดูแลฝ่ายการตลาดซึ่งถูกจำกัดด้วยระบบผูกขาดโดยพ่อค้าคนกลาง ในปี พ.ศ. 2510 เถลิงจึงร่วมมือกับศุภสิทธิ์ มหาคุณ ซึ่งเป็นบุตรชายของสหัทและกรรมการคนเดียวของตระกูล ขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บริษัท บวรวงศ์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยนายทหารที่ขึ้นมาบริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น (คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 30) เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และจอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี และขอให้อีก 2 ตระกูลขายหุ้นให้บวรวงศ์ เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานโรงงานสุราบางยี่ขันที่จะหมดสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512 ออกไปอีก 10 ปี ทำให้เถลิงได้ขยับขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายโรงงานและการจัดซื้อ โดยมีเจริญเป็นผู้ช่วย[1] จนกระทั่งเถลิง จุล และเจริญ ได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มทีซีซีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515[5] ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 เถลิงและเจริญได้เข้าซื้อบริษัท ธานน้ำทิพย์ จำกัด ซึ่งกำลังอยู่ในสภาวะขาดทุน จากพงส์ สารสิน และประสิทธิ์ ณรงค์เดช ทำให้ได้โรงงานผลิตธาราวิสกี้ที่ตั้งอยู่ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตามคำแนะนำของจุลที่มองเห็นแนวทางการพัฒนาสุราในสูตรพิเศษที่แตกต่างจากแม่โขง[6] จากนั้นจึงเริ่มผลิตสุราขึ้นใหม่ในชื่อ แสงโสม รวมทั้งหงส์ทองและสุราทิพย์[7]

ธุรกิจ

[แก้]

ธุรกิจทางตรง

[แก้]

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

[แก้]

สายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ThaiBev) และเป็นธุรกิจเริ่มต้นของกลุ่มทีซีซี โดยปัจจุบันมีฐาปน สิริวัฒนภักดี เป็นผู้บริหารสูงสุดในสายธุรกิจนี้

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

[แก้]

ปัจจุบันสายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงแรมและการบริการ และกลุ่มที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม

กลุ่มโรงแรมและการบริการ
[แก้]

สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มโรงแรมและการบริการ อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (AWC) ซึ่งต่อยอดมาจากบริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด โดยปัจจุบันมีวัลลภา ไตรโสรัส เป็นผู้บริหารสูงสุดในอสังหาริมทรัพย์กลุ่มนี้

กลุ่มที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม
[แก้]

สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งยังเป็นเจ้าของในกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (Frasers Property) ในประเทศสิงคโปร์ โดยปัจจุบันมีปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้บริหารสูงสุดในอสังหาริมทรัพย์กลุ่มนี้

ธุรกิจอุตสาหกรรมการค้า

[แก้]

สายธุรกิจอุตสาหกรรมการค้า อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) โดยปัจจุบันมีฐาปณี เตชะเจริญวิกุล เป็นผู้บริหารสูงสุดในสายธุรกิจนี้

ธุรกิจประกันและการเงิน

[แก้]

สายธุรกิจประกันและการเงิน อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) (TGH) โดยปัจจุบันมีอาทินันท์ พีชานนท์ เป็นผู้บริหารสูงสุดในสายธุรกิจนี้

  • อาคเนย์ประกันชีวิต
  • บริษัท​ อินทร​ประกัน​ภัย​ จํากัด​ (มหาชน)​

ธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

[แก้]

สายธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท พรรณธิอร จำกัด

  • พรรณธิอร
  • คริสตัลลา
  • เทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ (ปุ๋ยตรามงกุฎ)

ธุรกิจทางอ้อม (อเดลฟอส)

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ตรีรัตน์, นวลน้อย (ธันวาคม 2006). "เจ้าพ่อน้ำเมา : ผูกขาดที่ไม่ผูกขาด". ใน พงษ์ไพจิตร, ผาสุก (บ.ก.). การต่อสู้ของทุนไทย 1 การปรับตัวและพลวัต (1st ed.). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. pp. 152–155. ISBN 9789743238666. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2025.
  2. ""จุล กาญจนลักษณ์" เจ้าของสูตรลับ "แม่โขง" สู่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทีซีซี กับเจ้าสัวเจริญ". ประชาชาติธุรกิจ. 24 กรกฎาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "ประวัติของ "เจริญ สิริวัฒนภักดี"". เด็กดี.คอม. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2025.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. สุนทรฉัตราวัฒน์, วีรพงษ์ (14 พฤศจิกายน 2023). "'เจริญ สิริวัฒนภักดี' จอมยุทธ์แห่งธุรกิจ(น้ำเมา)ไทย กับ 'อาณาจักรที่เพิ่งสร้าง'". The People. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. รายงานประจำปี 2549 (PDF) (Report). ไทยเบฟเวอเรจ. p. 44. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2025.
  6. "เจริญ สิริวัฒนภักดี นักซื้อที่แท้จริง". หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ. กรกฎาคม 2002. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "ตำนานเหล้าการเมือง "หงส์กระหายเลือด"". หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ. ธันวาคม 1985. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]