ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง

พิกัด: 6°33′23″N 100°35′45″E / 6.55639°N 100.59583°E / 6.55639; 100.59583
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
ตำแหน่งที่ตั้งอุทยานในประเทศไทย
ที่ตั้งอำเภอนาทวีและอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา  ไทย
พิกัด6°33′23″N 100°35′45″E / 6.55639°N 100.59583°E / 6.55639; 100.59583
พื้นที่220.42 ตารางกิโลเมตร (137,760.17 ไร่)[1]
จัดตั้ง23 กรกฎาคม 2534
ผู้เยี่ยมชม3,784 คน[2] (ปีงบประมาณ 2559)
หน่วยราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง มีพื้นที่อยู่ในอำเภอนาทวี และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีสภาพป่าและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยจุดเด่นที่น่าสนใจสวยงาม เช่น น้ำตกจำนวนหลายแห่ง ทั้งยังเป็นพื้นที่ ประวัติศาสตร์ฐานที่มั่นและของการสู้รบกับโจรจีนคอมมิวนิสต์ ที่เป็นหลักฐานให้ศึกษาถึงสถานที่และวัตถุทางประวัติศาสตร์ของการสู้รบอันยาวนานได้

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 137,800 ไร่ หรือ (220 ตารางกิโลเมตร) ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 โดยมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป

ประวัติ

[แก้]

เขาน้ำค้างเป็นยอดเขาสูง มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี สมัยโบราณคนที่เคยขึ้นไปบนยอดเขาจะเห็นมีน้ำค้าง เป็นเกล็ดอยู่ตามยอดหญ้า ลักษณะเป็นใยแมงมุมแม้แต่ตอนเที่ยงวันก็มีน้ำค้างประปรายอยู่บนยอดหญ้าซึ่งเป็นสภาพที่แปลกเป็นอย่างยิ่ง จึงเรียกขานกันว่า "เขาน้ำค้าง"

เขาน้ำค้างเป็นเสมือนเขตหวงห้ามเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอยู่ในความยึดครองของผู้ก่อการร้ายโจรจีนคอมมิวนิสต์ เป็นบริเวณที่มีพื้นที่ภูมิประเทศเป็นถิ่นทุรกันดาร ทิวเขาสลับซับซ้อน ทำให้เป็ ฐานปฏิบัติการใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของแถบนี้ แต่ในที่สุด จากการปฏิบัติการตามแผนยุทธการใต้ร่มเย็น โดยนำนโยบายการเมืองนำการทหาร กองทัพภาคที่ 4 และหน่วยผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท.43) ได้นำนโยบายนี้เข้าปฏิบัติการ สามารถเข้ายึดค่ายปฏิบัติการได้สำเร็จเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2523 ทำให้โจรจีนคอมมิวนิสต์สลายตัวไปในที่สุด

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนเป็นแนวยาวไปตลอดจนถึงพรมแดนประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วยยอดเขาที่สำคัญ คือ ควนสยา ควนเขาไหม้ โดยมียอดเขาน้ำค้างเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดประมาณ 648 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร หลายสาย เช่น คลองนาทวี คลองทับช้าง คลองทรายขาว เป็นต้น ดินจะมีลักษณะเป็นดินร่วน ดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทราย ส่วนลักษณะหินเป็นพวกหินปูนและหินแกรนิตเป็นส่วนใหญ่

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

สภาพภูมิอากาศได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงทำให้ฝนตกชุก พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง เป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกันและที่สำคัญตั้งอยู่ในเขตโซนร้อน ลักษณะลมฟ้าอากาศทั่วไปจึงเป็นแบบมรสุมเมืองร้อนและได้รับมรสุมทั้งปี โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงทำให้มีฝนตกชุกและมีลักษณะลมฟ้าอากาศคล้ายคลึงกันเกือบตลอดปี ซึ่งมีฤดูฝนอันยาวนานและฝนตกกระจายตลอดทั้งปี ฤดูฝนอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม – มกราคม และฤดูร้อน ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน

ทรัพยากรป่าไม้

[แก้]

พื้นที่ป่าส่วนใหญ่จะเป็นป่าดงดิบชื้น มีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นอุดมสมบูรณ์ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้หลุมพอ ตะเคียน กะบากดำยาง จำปา สยาแดง ไข่เขียว เปรียง ขานาง แต้ม มังคะ พิกุลป่า มะม่วงป่า เป็นต้น และมีไม้พื้นล่างได้แก่ หมากชนิดต่างๆ หวาย ไผ่ ระกำ กล้วยไม้ เฟิร์น มอสส์ เป็นต้น

ทรัพยากรสัตว์ป่า

[แก้]

สัตว์ป่าที่พบเห็นได้แก่ หมูป่า หมี เก้ง เลียงผา ลิงหางสั้น ชะนี สมเสร็จ เสือดำ กระจง อีเห็น เต่า และนกนานาชนิด เช่น นกเงือก นกหว้า ไก่ฟ้า ไก่ป่า นกกระทาดงแข้งเขียว นกยูง นกขุนทอง นกกางเขน เป็นต้น

จุดเด่นที่น่าสนใจ

[แก้]
  • น้ำตกโตนลาด มีลักษณะเป็นพื้นลาดระยะยาวสวยงาม มีน้ำไหลตลอดปี บนพื้นหินมีตะไคร่น้ำสีเขียวขึ้นอยู่ เต็มทั่วพื้นที่ เป็นน้ำตกที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวไปใช้บริการมากนักสภาพจึงยังคงเป็นธรรมชาติ อยู่ห่างจากหมู่บ้านนาปรัง ประมาณ 5 กิโลเมตร กิจกรรม : - เที่ยวน้ำตก
  • น้ำตกโตนดาดฟ้า

มีลักษณะเป็นน้ำตกสูงเหมือนดาดฟ้า มีหินยื่นเหมือนหลังคาสูงประมาณ 20 เมตร น้ำไหลแรง สองข้างทางเต็มไปด้วยตะไคร่น้ำ มีบรรยากาศธรรมชาติที่ร่มรื่นสวยงาม ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ตามทางเดินจะได้ยินเสียงนกและชะนีร้องอยู่เป็นระยะ กิจกรรม : - เที่ยวน้ำตก

  • วังหลวงพรม

มีลักษณะเป็นน้ำตกเล็ก ๆ เตี้ย ๆ มีหินใหญ่อยู่ตรงกลาง ทำให้ลักษณะน้ำตกแยกเป็น 2 สายเล็ก ด้านล่างเป็นแอ่งน้ำหรือวังน้ำ ที่ใหญ่และลึก เต็มไปด้วยสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาจะมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพราะยังไม่มีผู้ใดมารบกวน กิจกรรม : - เที่ยวน้ำตก

  • เมืองลูกหนึ่ง

อยู่บริเวณใกล้ยอดเขาน้ำค้าง มีก้อนหินโต ลักษณะคล้ายกำแพงเมืองโบราณ ซากหินคล้ายมีเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง กิจกรรม : - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา

  • น้ำตกโตนไม้ปีก

สายน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูงโดยมีไม้ปักอยู่ตรงกลาง จนเป็นที่มาของชื่อน้ำตก น้ำตกโตนไม้ปีก ตั้งอยู่กลางป่าลึก ต้องใช้เวลาเดิน 1 วัน การเข้าไปท่องเที่ยวต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยในการนำทางก่อน สามารถติดต่อได้ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ กิจกรรม : - เที่ยวน้ำตก - เดินป่าระยะไกล

  • น้ำตกพรุชิง

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 4 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในอุทยานฯ สายน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูง การเดินทางสู่น้ำตกต้องไปตามเส้นทางเดินป่า โดยต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่ช่วยนำทาง กิจกรรม : - เดินป่าระยะไกล - เที่ยวน้ำตก

  • ค่ายพักโจรจีนคอมมิวนิสต์ กรมที่ 8 (อุโมงค์)

อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง หรือหมู่บ้านปิยมิตร 5 อยู่บริเวณเขาน้ำค้าง หมู่ที่ 1 ตำบลคลองกวาง ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร ถนนเป็นทางลาดยางเดินทางสะดวก สองข้างทางเป็นป่าที่ยังสมบูรณ์ เป็นฐานที่มั่นหรือฐานปฏิบัติการใหญ่ที่สุดของโจรจีนคอมมิวนิสต์ในแถบนี้ มีลักษณะเป็นถ้ำหรืออุโมงค์ธรรมชาติที่ใหญ่ และมีความวิจิตรพิสดารของธรรมชาติ เป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารที่สำคัญ และทางทิศตะวันออกของอุโมงค์ มีน้ำตกพรุชิงที่สวยงามด้วยด้านหน้าก่อนเดินเข้าไปชมภายในอุโมงค์จะมีนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมา ข้อมูล และภาพถ่ายให้ได้ชมกัน บริเวณอุโมงค์ในอดีตเป็นหมู่บ้านคอมมิวนิสต์ หลังจากการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลเกือบ 40 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศยุติการสู้ เข้าร่วมเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเมื่อปี พ.ศ. 2530 อุโมงค์นี้เป็นอุโมงค์ดินเหนียวมีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย ขุดด้วยกำลังคนใช้เวลาประมาณ 2 ปี ภายในแบ่งเป็น 3 ช่องทาง ลึก 3 ชั้น มีมีช่องทางเข้า-ออก 16 ช่อง มีบันไดเชื่อมระหว่างชั้น ความยาวคดเคี้ยวขึ้นลงภายในอุโมงค์ยาว 1 กิโลเมตร ภายในอุโมงค์แบ่งเป็นห้อง ๆ เช่น ห้องประชุม ห้องพยาบาล ห้องวิทยุ ห้องครัว สนามซ้อมยิงปืน เป็นต้น และยังมียาสมุนไพรจำหน่าย เสียค่าเข้าชมคนละ 20 บาท

สถานที่ติดต่อและการเดินทาง

[แก้]

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างสำนักงานป่าไม้จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา การเดินทางรถยนต์สามารถเข้าถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างได้ 2 เส้นทาง จากอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4113 (นาทวี-บ้านประกอบ) ถึงบ้านสะท้อนจะมีทางแยกขวาตามเส้นทางบ้านสะท้อน-สะเดา ไปอีก 19 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ รวมระยะทาง 27 กิโลเมตร จากอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4243 ผ่านบ้านม่วง ตำบลสำนักแต้ว บ้านเกาะหมี ถึงอุทยานแห่งชาติ ระยะทาง 27 กิโลเมตร เส้นทางด้านนี้ต้องขึ้นเขาบางช่วง

อ้างอิง

[แก้]
  1. ส่วนภูมิสารสนเทศ. สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "รายงานสรุปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่รวม 72.046 ล้านไร่ (คำนวณในระบบ GIS)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www2.dnp.go.th/gis/รูปอัพเว็บ/สรุปพื้นที่ป่า.pdf 2557. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.
  2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "ตารางที่ 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555–2559." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dnp.go.th/statistics/2559/ตาราง 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน ปี 2555-2559 (1ก.พ.60).xls 2560. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]