ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน หรือ มศว บางเขน เป็นอดีตวิทยาเขตหนึ่งของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมีประวัติการดำเนินงานในอดีตเป็นเวลาถึง 24 ปี ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครและโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ประวัติ

[แก้]

วิทยาลัยวิชาการศึกษา (วศ.) จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. 2497 เพื่อเป็นสถานการศึกษาและวิจัยในสาขาวิชาการศึกษาและวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งหมายส่งเสริมวิชาชีพและวิทยฐานะของครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารการศึกษา ต่อมาได้จัดตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวันและวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน ขึ้นในปี พ.ศ. 2498 ในปี พ.ศ. 2510, 2511, 2512 และ 2513 ได้จัดตั้ง วิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยนเรศวร) วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม) วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ) วิทยาลัยวิชาการศึกษาพระนคร และวิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา ขึ้นตามลำดับ

วิทยาลัยวิชาการศึกษาพระนครตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวิทยาลัยครูพระนคร (มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครในปัจจุบัน) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร (บนที่ดินของวัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร ) ประกอบด้วยส่วนราชการดังนี้

สำนักงานรองอธิการบดี - นายกิตติ นพคุณ ทำหน้าที่หัวหน้าสำนักงาน
คณะวิชาการศึกษา - ดร.รัตนา ตันบุญเต็ก ทำหน้าที่รองหัวหน้าคณะวิชา
คณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ - ดร.อุดม วิโรจม์สิกขดิตถ์ ทำหน้าที่รองหัวหน้าคณะวิชา
คณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ - ดร.ทวี หอมชง ทำหน้าที่รองหัวหน้าคณะ วิชา
คณะวิชาวิจัยการศึกษา - นางประเยาว์ ศักดิ์ศรี ทำหน้าที่รองหัวหน้าคณะวิชา

รับนิสิตรุ่นแรกจำนวน 180 คนโดยสอบคัดเลือกจากผู้สำเร็จประกาศนียบัติการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) แยกเป็น 6 วิชาเอก ได้แก่ วิชาเอกภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ เคมี และชีววิทยา วิชาเอกละ 30 คน เข้าเรียนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)

2 ปี และรับนิสิตรุ่นต่อไปอีก 4 รุ่น จนถึงปี พ.ศ. 2517 วิทยาลัยวิชาการศึกษาพระนครได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน นิสิตที่รับเข้ามาในปีนี้จึงเป็นนิสิต มศว บางเขน นิสิตวศ.พระนครจึงมีเพียง 5 รุ่นเท่านั้น

ผู้บริหาร วศ.พระนคร ตำแหน่งผู้บริหาร วศ. พระนครได้แก่ รองอธิการบดี ซึ่งมีเพียง 2 ท่านเท่านั้น ท่านแรกคือ อาจารย์เฉลิม อยู่เวียงชัย และท่านสุดท้าย คือ ศาสตราจารย์ ดร.ฟุ้งเฟื่อง เครือตราชู

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 กำหนดให้วิทยาลัยวิชาการศึกษาที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. 2497 เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยวิชาการศึกษาพระนครจึงยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน (มศว บางเขน) ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา

มศว บางเขน เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ) 2 ปีและ 4 ปี ในวิชาเอกภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ธุรกิจศึกษา ประวัติศาสตร์ เคมี คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ทั่วไป และเทคโนโลยีทางการศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.) 4 ปี วิชาเอกสถิติและวิชาเอกชีววิทยา หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต (ศศ.บ.) วิชาเอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ปี พ.ศ. 2530 เปิดสอนระดับปริญญาโทหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.) วิชาเอกอุตสาหกรรมศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก และยังคงเปิดติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันที่ประสานมิตร

ผู้บริหาร มศว บางเขน รองอธิการบดีเป็นผู้บริหารสูงสุดของ มศว บางเขน ในช่วงเวลา 19 ปี (พ.ศ. 2517-2536) มีผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มศว บางเขน 6 ท่าน ดังนี้

1. ศาสตราจารย์ ดร.ฟุ้งเฟื่อง เครือตราชู

2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ธรรมา

3. รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ดิสสระ

4. รองศาสตราจารย์อารีย์ สหชาติโกสีย์

5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี ทับทิมโต

6. รองศาสตราจารย์ ดร.โชติ เพชรชื่น (รักษาราชการ)

ยุบรวม

[แก้]

มศว บางเขนดำรงอยู่ได้ 19 ปี และสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2536 ตามโครงการยุบรวมวิทยาเขต (โดยมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ให้ยุบรวมวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร ไปไว้ที่เดียวกัน ณ มศว ประสานมิตร) ขณะนั้นมีนิสิตปริญญาตรีที่เหลืออยู่ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 จำนวน 317 คน และนิสิตปริญญาโทอีก 84 คน รวมนิสิตทั้งสิ้น 401 คน (เนื่องจากมหาวิทยาลัยให้งดรับนิสิตชั้นปีที่ 1 ในทุกสาขา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 เป็นต้นมา)

พ.ศ. 2536 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตปทุมวัน และวิทยาเขตบางเขน ได้รวมกับวิทยาเขตประสานมิตร เป็นวิทยาเขตกลาง[1]

คณะศึกษาศาสตร์ บางเขน

[แก้]

หลังจากสิ้นสุดความเป็นวิทยาเขตส่วนกลาง คณาจารย์ นิสิต และศิษย์เก่าที่ร่วมกันคัดค้านการยุบรวมมาแต่ต้น ทำหนังสือถึงทบวงมหาวิทยาลัย ขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการยุบรวมวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2536 ว่า "การจัดตั้งหรือการยุบรวมวิทยาเขต เป็นดุลพินิจของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง จึงสมควรให้สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพิจารณาปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งผลกระทบและเสนอทางแก้ปัญหาอันเกิดจากผลกระทบนั้น ๆ อีกครั้งหนึ่ง

ในชั้นนี้คณะรัฐมนตรียังไม่รับพิจารณาปัญหานี้ แต่เพื่อป้องกันความเดือดร้อนแก่ประชาชน จึงขอให้ทบวงมหาวิทยาลัยประสานงานกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการแก้ปัญหาการรับนักเรียนโรงเรียนสาธิต และนักศึกษาของวิทยาเขตทั้งสองแห่งในปีนี้มิให้เป็นปัญหาเดือดร้อน พร้อมทั้งให้พิจารณาการใช้สถานที่ตั้งวิทยาเขตเดิมเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนตามปกติต่อไปด้วย" ในที่สุดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพิจารณาให้ใช้พื้นที่ของวิทยาเขตบางเขนเดิมจัดการเรียนการสอนต่อไปได้ โดยให้เริ่มรับนิสิตใหม่ได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2537 เป็นต้นไปหลังจากหยุดรับนิสิตในปีการศึกษา 2535 และ 2536

ปีการศึกษา 2537 มศว บางเขน (เดิม) เปิดรับนิสิตชั้นปีที่ 1 หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) 6 วิชาเอก คือวิชาเอกสังคมศึกษา ภาษาไทย เทคโนโลยีทางการศึกษา วิทยาศาสตร์-เคมี วิทยาศาสตร์-ชีววิทยา และวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ รวมจำนวนนิสิตทั้งสิ้น 150 คน บริหารงานโดยคณะศึกษาศาสตร์ บางเขน ในรูปของคณะกรรมการบริหารคณะศึกษาศาสตร์ บางเขน ดังนี้

1. รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ บางเขน

2. ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายต่าง ๆ

3. ประธานอาคารมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และสังคมศาสตร์

4. รองผู้อำนวยการหอสมุด

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยโรจน์ ชัยอินคำ ผู้ช่วยอธิการบดี ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ บางเขน กับ มหาวิทยาลัย

ปีการศึกษา 2538 เปิดรับนิสิตเพิ่มขึ้นอีก 3 วิชาเอก ได้แก่ วิทยาศาสตร์-ฟิสิกส์ คหกรรมศาสตร์ และ ธุรกิจศึกษา จึงมีวิชาเอกที่เปิดสอนทั้งหมด 9 วิชาเอก ในปีการศึกษานี้

ผู้บริหารคณะศึกษาศาสตร์ บางเขน

รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ บางเขน เป็นผู้บริหารสูงสุดซึ่งมีเพียง 2 ท่าน คือ

1. อาจารย์อนุสรณ์ อรรถศิริ

2. รองศาสตราจารย์สมพล มงคลพิทักษ์สุข

คณะศึกษาศาสตร์ บางเขน ดำเนินได้เพียง 3 ปี ก็เกิดกรณีพิพาทกับสถาบันราชภัฏพระนครที่ต้องการให้คณะศึกษาศาสตร์ย้ายออกไป กรณีพิพาทคลี่คลายลงด้วยมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งสรุปความได้ว่า คณะศึกษาศาสตร์ บางเขน ต้องย้ายไปจัดการเรียนการสอนที่ใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจากสำนักงบประมาณ และงดรับนิสิตใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 เป็นต้นไป นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ บางเขน จึงมีเพียง 4 รุ่นเท่านั้น รุ่นสุดท้ายสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2544

อ้างอิง

[แก้]