สำเนียงสงขลา
ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงสงขลา เป็นภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มหนึ่งที่พูดกันมากในจังหวัดสงขลา (แต่ส่วนใหญ่ของหาดใหญ่ใช้ภาษาไทยกลาง) บางส่วนของจังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ถือเป็นภาษาไทยถิ่นใต้ที่มีเอกลักษณ์พิเศษ โดยมีลักษณะที่เด่นคือ หางเสียงจะไม่ขาดห้วน แต่จะค่อยๆเบาเสียงลง ซึ่งลักษณะดังกล่าวช่วยให้ภาษาสงขลาฟังแล้วไม่หยาบกระด้างอย่างสำเนียงใต้ถิ่นอื่น นอกจากนี้ ยังมีคำที่ใช้บ่อยในสำเนียงนี้คือ คำว่า เบอะ หรือ กะเบอะ ซึ่งมีความหมายในภาษาไทยมาตรฐานว่า เพราะว่า, ก็เพราะว่า เรียกเงินว่า เบี้ย ในขณะที่ถิ่นอื่นนิยมเรียกว่า ตางค์ และคำที่นิยมใช้อีกคำหนึ่ง คือ ไม่หอน ซึ่งมีความหมายว่า ไม่เคย เช่น ฉานไม่หอนไป เป็นต้น[1]
กลุ่มของสำเนียง
[แก้]ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงสงขลาแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
สำเนียงสงขลากลุ่มอยู่เหนือน้ำ (โหม่เหนือ)
[แก้]คือ ภาษาที่ชาวคลองหอยโข่ง สะเดา นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย พูดจาสื่อสารกัน ภาษาสงขลากลุ่มนี้จะมีเอกลักษณ์ เรื่องภาษาสำเนียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น
- "ยิงหมีนะ" วลีนี้มีความหมายใกล้เคียงกับ "ยังดีนะ" หรือเกือบไปแล้วไหมละ ของภาษาไทยกรุงเทพฯ ประโยคตัวอย่างเช่น “ยิงหมีนะตาย ถ้ากูมาไม่ทัน" หมายความว่า เกือบตายไปแล้ว ยังดีนะที่กูมาทัน
- คนสงขลากลุ่ม "โหม่เหนือ" (โดยเฉพาะคนคลองหอยโข่ง ดั้งเดิม) จะเรียกมะละกอว่า "กล้วยหลาหรือแตงต้น" ในขณะที่ปักษ์ใต้ทั่วไป จะเรียกมะละกอว่า "ลอกอ"
- คนสงขลากลุ่ม "โหม่เหนือ" (โดยเฉพาะคนคลองหอยโข่ง สะเดา นาทวี) มักจะพูดคำว่า "หน้อ" ต่อท้ายประโยค และมีหางเสียงที่ยาวไม่ขาดห้วน ถือเป็นสำเนียงสงขลา ที่มีความนุ่มนวลกว่าสำเนียงสงขลากลุ่ม "โหม่บก"
- คนสงขลากลุ่ม "โหม่เหนือ" (โดยเฉพาะคนคลองหอยโข่งสมัยก่อน) จะใช้คำว่า "ได่" ในความหมาย "ทำไม" ในขณะที่คนปักษ์ใต้ทั่วไปจะใช้คำว่า "ไส่" ตัวอย่างเช่นประโยคต่อไปนี้ที่ แม่เฒ่าชาวคลองหอยโข่ง ถามลูกหลาน ที่ไปเยี่ยมถึงบ้านว่า "มาได่หะโหลก" ซึ่งมีความหมายว่า "มาทำไมละลูก"
สำเนียงสงขลากลุ่มอยู่ริมทะเล (โหม่บก)
[แก้]โดยเฉพาะชาวสงขลาที่อยู่ในเขตอำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด แม้ส่วนใหญ่จะมีสำเนียงใกล้เคียงกับชาวสงขลาเหนือน้ำ (โหม่เหนือ) แต่ก็มีความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ
- การออกเสียง ร ที่ทางคนสงขลาริมทะเล ออกเสียงไม่ได้ทั้งเสียงพยัญชนะนำ และอักษรควบแต่จะใช้ ล แทน เช่น "รัก" จะออกเสียงว่า ลัก จึงมีผลให้ "ฉันรักเธอ" ของคนสิงหนครกลายเป็น "ชั้นหลักเธอ" (เขียนตามเสียงวรรณยุกต์)
- ในส่วนของ "โหม่เหนือ" (คนคลองหอยโข่ง สะเดา) แม้จะออกเสียง ร ที่เป็นพยัญชนะนำได้ แต่จะออกเสียงอักษรควบ ร ไม่ได้เช่นเดียวกันกับคนสงขลาริมทะเล ตัวอย่างเช่น
- เปรียบเทียบ - คนสงขลา (ทั้งจังหวัด) จะออกเสียงเป็น "เปลียบเทียบ"
- แปรงฟัน - คนสงขลา (ทั้งจังหวัด) จะออกเสียงเป็น "แปลงฟัน"
อ้างอิง
[แก้]- http://plugmet.orgfree.com/sk_dialect_4-1.htm
- วิชานิรุกติศาสตร์ เรื่องภาษาถิ่น (ฉบับที่ 1-2) นางสาวซ่อนกลิ่น พิเศษสกลกิจ ผู้บรรยาย หน้า 780 - 802
- สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ↑ หมายเหตุเบื้องต้น กรณีศึกษาภาษาสงขลา บันทึกขนำริมทุ่งปลักเหม็ด