มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
Mahamakut Buddhist University | |
ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ พร้อมหนังสือประทับตราพระเกี้ยว ตราประจำ มมร. | |
ชื่อเดิม | สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ |
---|---|
ชื่อย่อ | มมร. / MBU [1] |
คติพจน์ | ระเบียบ สามัคคี บำเพ็ญประโยชน์ |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ |
สถาปนา | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2436 |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส |
สังกัดการศึกษา | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
สังกัดวิชาการ |
|
งบประมาณ | 778,430,100 บาท (พ.ศ. 2568)[2] |
นายกสภาฯ | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก |
อธิการบดี | รองศาสตราจารย์ พระธรรมวชิรจินดาภรณ์ |
อาจารย์ | 607 รูป/คน (พ.ศ. 2566) |
บุคลากรทั้งหมด | 1,953 รูป/คน (พ.ศ. 2566) |
ผู้ศึกษา | 2,577 รูป/คน (พ.ศ. 2567) |
ที่ตั้ง | |
วิทยาเขต | วิทยาเขต |
สัญลักษณ์ | ต้นโพธิ์ |
สี | สีแสด |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ในการกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกายของประเทศไทย ที่จัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับศาสตร์วิชาการสังคมสมัยใหม่ โดยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทยและเป็นหนึ่งในสองแห่งของประเทศไทย[3]
ประวัติ
[แก้][4]สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระดำริจัดตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นภายใน วัดบวรนิเวศวิหาร โดยวิธีจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ มีลักษณะแตกต่างจากการเล่าเรียนภาษาบาลีตามประเพณีแบบเดิม ในขณะเดียวกัน ก็นำเอาวิธีวัดผลแบบข้อเขียนมาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศไทยด้วย
หลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงก่อตั้งสถาบันการศึกษานี้ขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัสให้พระองค์ทรงช่วยปรับปรุงโรงเรียนสอนภาษาบาลี ชื่อ "มหาธาตุวิทยาลัย" ภายในวัดมหาธาตุ ขึ้นเป็น "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" เพื่อจัดการให้คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายได้มีสถาบันการศึกษาชั้นสูงในลักษณะเดียวกัน ควบคู่ไปกับมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งสมัยนั้นเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูง และส่วนมากยังจำกัดอยู่แต่คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ต่อมา ทั้ง มหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ปิดตายลงเพราะประสบปัญหาหลายประการด้วยกัน นับเป็นเวลาหลายสิบปี
จนกระทั่ง ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพได้พยายามรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ จนประสบผลสำเร็จ เมื่อ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์และคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ให้การอุปถัมภ์ โดยได้ทำการประกาศรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2488 ตามมาด้วย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งประกาศรื้อฟื้นกิจการในปี พ.ศ. 2490 อาจารย์สุชีพ ได้แถลงว่า สาเหตุที่ต้องมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เพราะคณะสงฆ์จำเป็นต้องผลิตบุคลากรที่รู้ทันวิชาการสมัยใหม่ มิฉะนั้น คณะสงฆ์จะไม่สามารถสั่งสอนแนะนำชาวบ้านได้ และการสื่อสารกันก็จะเกิดความไม่เข้าใจ เพราะชาวบ้านศึกษาด้านคดีโลก ส่วนพระสงฆ์ศึกษาด้านคดีธรรม ท่านจึงต่อสู้เพื่อให้ได้มหาวิทยาลัยสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด มหามกุฏราชวิทยาลัย และ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ได้รับการรื้อฟื้นมาอีกครั้งหนึ่ง จนได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในปี พ.ศ. 2540 ในสมัยนายสุขวิช รังสิตพลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอให้รัฐสภาตรา ตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 อันเป็นผลพวงมาจากการทุ่มเทและความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งของท่านฯ อย่างแท้จริง เหตุผลนี้ ทำให้คนรุ่นหลังกล่าวยกย่อง "อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ" ว่าเป็น บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย
เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของท่านและสืบสานเจตนารมณ์ของท่าน คณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิปุญญานุภาพ ขึ้นโดยความเห็นชอบของท่านเพื่อให้ทุนสนับสนุนนักศึกษาหรือครูอาจารย์ผู้ค้นคว้าวิจัยทางพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และดำเนินกิจการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ย้ายที่ตั้งของมหาวิทยาลัยไปยังตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมแล้ว
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
[แก้]- ตรามหามกุฏราชวิทยาลัย[5]
- พระมหามงกุฏ และอุณาโลม หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระผู้ทรงเป็นที่มาแห่งนาม “มหามกุฏราชวิทยาลัย”
- พระเกี้ยวประดิษฐานบนหมอนรอง หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระผู้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “มหามกุฏราชวิทยาลัย”
- หนังสือ หมายถึง คัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา เพื่อการศึกษาค้นคว้า และเผยแผ่พระพุทธศาสนา
- ปากกาปากไก่ ดินสอ และม้วนกระดาษ หมายถึง อุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียน การพิมพ์เผยแพร่คัมภีร์และการผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา เพราะมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นทั้งสถาบันศึกษา และแหล่งผลิตตำรับตำราทางพระพุทธศาสนา
- ช่อดอกไม้แย้มกลีบ หมายถึง ความเบ่งบานแห่งสติปัญญา และวิทยาการในทางพระพุทธศาสนา และหมายถึง กิตติศัพท์กิตติคุณที่ฟุ้งขจรไป ดุจกลิ่นหอมแห่งดอกไม้
- ธงชาติไทย หมายถึง อุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่มุ่งพิทักษ์สถาบันหลักทั้ง ๓ คือ ชาติไทย พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์
- พานรองรับหนังสือหรือคัมภีร์ หมายความว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นสถาบันเพื่อความมั่นคง และแพร่หลายของพระพุทธศาสนา
- วงรัศมี หมายถึง แสงสว่างแห่งปัญญา วิสุทธิ สันติ และกรุณา ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมุ่งสาดส่องไปทั่วโลก
- มหามกุฏราชวิทยาลัย หมายถึง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นสถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนาระดับอุดมศึกษา
- สุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย
- "วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ" เทวมานุเส หมายถึง "ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติที่ดีประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและหมู่มนุษย์" หมายความว่าเป้าหมายในการสร้างคนจะต้องให้สมบูรณ์ครบทั้งความรู้และความประพฤติที่ดี (ความรู้คู่คุณธรรม) ในเวลาเดียวกัน
- สีประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ สีแสด เป็นสีประจำพระองค์รัชกาลที่ ๔
- ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ ต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าใช้ประทับอาศัยเป็นร่มเงาเมื่อตรัสรู้ ต้นโพธิ์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้า
คณะ
[แก้]ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแบ่งออกเป็น 5 คณะ[6]
- คณะศาสนาและปรัชญา (เดิมชื่อ คณะพุทธศาสตร์)
- คณะมนุษยศาสตร์ (เดิมชื่อ คณะศิลปศาสตร์)
- คณะสังคมศาสตร์
- คณะศึกษาศาสตร์
- บัณฑิตวิทยาลัย
วิทยาเขต
[แก้]- มหามกุฏราชวิทยาลัย ส่วนกลาง ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
- วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ จังหวัดนครปฐม
- วิทยาเขตอีสาน จังหวัดขอนแก่น
- วิทยาเขตล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
- วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
- วิทยาเขตร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
- วิทยาเขตศรีล้านช้าง จังหวัดเลย
วิทยาลัย
[แก้]- มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา รับเฉพาะนักศึกษาหญิงและแม่ชีโดยเฉพาะ
- วิทยาลัยศาสนศาสตร์ยโสธร จังหวัดยโสธร
- วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร
[แก้]พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดถวายให้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จพระดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ณ อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ทำเนียบอธิการบดี
[แก้]ลำดับ | รูป | รายชื่อ[7] | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | วัด |
1 | พระศรีวิสุทธิญาณ (สุชีพ สุชีโว) | พ.ศ. 2488 | พ.ศ. 2495 | วัดกันมาตุยาราม | |
2 | สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) | พ.ศ. 2540 | พ.ศ. 2544 | วัดเทพศิรินทราวาส | |
3 | สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) | พ.ศ. 2544 | พ.ศ. 2550 | วัดมกุฏกษัตริยาราม | |
4 | ไฟล์:พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก).jpg | พระพรหมวชิรวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) | 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550 | 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554 | วัดบวรนิเวศวิหาร |
5 | ไฟล์:พระเทพบัณฑิต (ธรณิศ ชาคโร).jpg | พระเทพบัณฑิต (ธรณิศ ชาคโร) | 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 | 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 | วัดเฉลิมกาญจนาภิเษก |
6 | พระธรรมวชิรจินดาภรณ์ (สมคิด จินฺตามโย) | 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 | ปัจจุบัน | วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม |
ทำเนียบนายกสภา
[แก้]ลำดับ | รูป | รายนาม/สมณศักดิ์ | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | วัด |
1 | สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร | พ.ศ. 2531 | 9 กันยายน พ.ศ. 2554 | วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร | |
2 | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) | 9 กันยายน พ.ศ. 2554 | ปัจจุบัน | วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร |
ความร่วมมือกับนานาชาติ
[แก้]ปัจจุบัน มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ตกลงในความร่วมมือเพื่อพัฒนา ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ใน อังกฤษ เพื่อเผยแผ่หลักพุทธธรรมให้กว้างขวางไปสู่นานาประเทศ นอกจากนั้น ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซียเพื่อพัฒนาการศึกษาพุทธศาสน์ศึกษาด้วย
เกียรติภูมิของชาวมหามกุฏราชวิทยาลัย
[แก้]สิ่งที่ชาวมหามกุฏราชวิทยาลัยภาคภูมิใจที่สุดก็คือการเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของประเทศ หลังจากที่มีการเปิดการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย นักศึกษาและครูอาจารย์มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้มีเป้าประสงค์ยิ่งใหญ่ตามเจตนารมณ์ของ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ คือพยายามขยายการอบรมจริยธรรมหรือศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาไปทั่วประเทศในรูปแบบต่างๆ กล่าวได้ว่าในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเทศได้รับอิทธิพลวัตถุนิยมจากตะวันตก นักศึกษาและครูอาจารย์มหามกุฏราชวิทยาลัยได้มีบทบาทสำคัญในการชี้นำให้เห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติที่เป็นรากฐานของสังคมไทยมาช้านาน พระสงฆ์สามเณรที่เป็นพระนักศึกษาหลายรูปได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาเหล่านี้จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา
กิจกรรมที่คณาจารย์และนักศึกษาได้กระทำกันมาเพื่อปลูกฝังศีลธรรมในประเทศไทยมีจำนวนมาก อาทิ
- บรรยายธรรมทางสถานีวิทยุหลายสถานี
- ส่งพระนักศึกษาและครูอาจารย์ไปสอนนักโทษเรือนจำในที่ต่างๆ ของประเทศ
- ส่งพระนักศึกษาและครูอาจารย์ไปสอนศีลธรรมตามโรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลน
- เปิดสอนศีลธรรมแก่ประชาชนและนิสิตนักศึกษาทั่วไปเป็นกรณีพิเศษในวันอาทิตย์
- จัดอภิปราย บรรยายหรือเสวนาธรรมเป็นประจำเพื่อกระตุ้นหรือเร่งเร้าให้ประชาชนเห็นคุณค่าของธรรมะ
- ส่งพระนักศึกษาไปอบรมกรรมฐานเป็นเวลา 1 เดือนในสำนักพระกัมมัฏฐานก่อนจะรับปริญญา
- จัดส่งนักศึกษาที่เรียนครบตามหลักสูตรไปปฏิบัติหน้าที่สอนศีลธรรมในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปีก่อนจะมีพิธีประสาธน์ปริญญา
- คณาจารย์ได้เข้าไปมีบทบาทในการแสดงความเห็นเพื่อแก้ปัญหาการขาดศีลธรรมของชนในชาติระดับต่างๆ
- เป็นผู้นำในการตอบโต้ภัยคุกคามจากลัทธิศาสนาอื่นที่มีพฤติกรรมบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา
- ชี้นำสังคมให้พัฒนาบัณฑิตเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม หรือมีความรู้คู่คุณธรรม
ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยสงฆ์มหามกุฏราชวิทยาลัยหลักๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ประชาชนทั่วไปที่ติดตามผลงานของมหามกุฏราชวิทยาลัยมาโดยตลอดจึงอยู่ที่ความสามารถในการผลิตบุคลากรทางพระพุทธศาสนาเพื่อพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาและเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับชั้น
บุคคลที่มีชื่อเสียง
[แก้]คณาจารย์
[แก้]- พระพุทธิสารโสภณ (เดช กตปุญฺโญ) (น.ธ.เอก,ปธ.3) รศ.ดร. อดีตรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ
- ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
- สุชีพ ปุญญานุภาพ (สุชีโว ภิกฺขุ)
- หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย
- หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย
- ศิริ พุทธศุกร์
- ศ.เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม
- เสถียร โพธินันทะ
- สมัคร บุราวาส
- กีรติ บุญเจือ
ศิษย์เก่า
[แก้]- สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตจาโร) ( ป.ธ.๕, ศน.บ, M.A., Ph.D.) อดีตเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)
- พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
- พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
- พระราชญาณปรีชา (ถวิล กนฺตสิริ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส
- พระพุทธิสารโสภณ (เดช กตปุญฺโญ) รศ.ดร. อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม
- พระสุนทรธรรมเมธี (สุเทพ อาสโภ) ,ดร. อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ (มหานิกาย)
- พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) เจ้าคณะภาค7 (ธรรมยุต)
- พระเมธาวินัยรส (สุเทพ ปสิวิโก) ผศ.,ดร.ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- พระครูสุธีสุตสุนทร (สมพงษ์ สิริมงฺคโล) รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ศ. เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม (ธรรมโฆษ)
- ศ.พิเศษ ดร.สุนทร ณ รังษี ราชบัณฑิต
- ศ.ดร.สิทธิ์ บุตรอินทร์
- รศ. สุเชาวน์ พลอยชุม
- ไว ตาทิพย์ (อดีตนักหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
- วศิน อินทสระ นักเขียน
- เสกสรร สิทธาคม (นักเขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ)
- สร้อยรวงข้าว (อ.อุทัย บุญเย็น นักเขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ)
- บานเย็น ลิ้มสวัสดิ์ นักเขียนบทกวี
- ไพวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรต์
- ลภัสวัฒน์ วรทัพพ์ศิริ youtuber ช่อง สยองขวัญตอนเช้า
- ศรีนวล บุญลือ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
- สุชาพจี นิภาดำรงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจัดสรร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออก ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-04. สืบค้นเมื่อ 2019-05-04.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๗, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์มหานิกาย
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-11. สืบค้นเมื่อ 2017-05-16.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-21. สืบค้นเมื่อ 2017-05-16.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-27. สืบค้นเมื่อ 2017-05-16.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-12. สืบค้นเมื่อ 2017-05-16.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เก็บถาวร 2019-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- สถาบันอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานคร
- สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดนครปฐม
- สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดขอนแก่น
- สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่
- สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราช
- สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดร้อยเอ็ด
- สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเลย
- สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา
- สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดกาฬสินธุ์
- สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดยโสธร
- สถานที่ที่ตั้งชื่อตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
- ศาสนาพุทธในจังหวัดนครปฐม
- ก่อตั้งในสยามในปี พ.ศ. 2436