วัดมัชฌันติการาม
วัดมัชฌันติการาม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดน้อย |
ที่ตั้ง | เลขที่ 102 ซอยวงศ์สว่าง 11 ถนนวงศ์สว่าง แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800 |
นิกาย | เถรวาท (ธรรมยุติกนิกาย) |
เจ้าอาวาส | พระครูปลัดสุวัฒนวิสาลคุณ (บุญยอด สุเมโธ ดร.) |
เว็บไซต์ | www.watmatchan.net |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดมัชฌันติการาม หรือ วัดน้อย เป็นวัดราษฎร์ตั้งอยู่ในซอยวงศ์สว่าง 11 เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร มีผู้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เจ้าจอมมารดาเที่ยง พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เข้ามาอุปถัมภ์ในปี พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "วัดมัชฌันติการาม" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าจอมมารดาเที่ยง
ประวัติ
[แก้]วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) ได้สร้างขึ้นมาเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน จึงยากที่จะทราบประวัติความเป็นมาที่ถูกต้อง จากการเล่าสู่กันมาของคนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่นประกอบกับหลักฐานที่พอจะรวบรวมได้ในปัจจุบันคือ วัดนี้เริ่มสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดป่าที่ล้อมไปด้วยสวนทุเรียน สวนกล้วย สวนหมาก สวนส้ม ในสมัยนั้นวัดยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐานของพระธุดงค์ที่ผ่านไปมา มีพระอยู่บ้างไม่มีบ้าง[1]
จนในปี พ.ศ. 2417 เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4 ได้เป็นองค์อุปถัมภ์ในการก่อสร้างศาสนวัตถุต่างๆ เพื่อจะให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามพระวินัยและกฎหมายบ้านเมือง การสร้างวัดได้มาสำเร็จเสร็จบริบูรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงรับเป็นพระธุระในการผูกพัทธสีมา และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนามว่า "วัดมัชฌันติการาม"[1]
เมื่อสิ้นบุญเจ้าจอมมารดาเที่ยงแล้ว เจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์สืบต่อๆกันมาตามลำดับ จนมาถึงประชาชนทั่วไปให้การอุปถัมภ์ดังที่ปรากฏให้เห็นกันในปัจจุบัน เนื่องจากสมัยก่อนการคมนาคมยังไม่สะดวกเหมือนอย่างในปัจจุบัน เมื่อจะเดินทางมาที่วัดมัชฌันติการามจะต้องเดินทางมาทางน้ำ โดยนั่งเรือเข้าคลองบางเขนใหม่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด จึงเป็นที่มาของการสร้างพระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันตก พระอุโบสถได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2418 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 60 เมตร[1]
ส่วนการตั้งชื่อวัดก็เนื่องมาจาก เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นผู้อุปถัมภ์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า "มัชฌันติการาม" ตามชื่อของผู้อุปถัมภ์วัดคือ "มัชฌันติก" และอารามซึ่งแปลว่า "เที่ยง" และ "วัด" เมื่อรวมกันจึงแปลได้ว่า "วัดของเจ้าจอมมารดาเที่ยง" คนส่วนมากมักจะเรียนว่า "วัดน้อย" เพราะง่ายต่อการออกเสียงมากกว่า สันนิษฐานการเรียกว่าวัดน้อยนี้ เพราะเป็นวัดของเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งให้การอุปถัมภ์ ชาวบ้านทั่วไปถือว่าเป็นนางสนม เพื่อให้เข้าใจง่ายคู่กับวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดที่ภรรยาหลวงให้การอุปถัมภ์เช่นเดียวกัน (อยู่ในซอยวงศ์สว่าง19 ปัจจุบันวัดหลวงไม่มีแล้ว เหลือแต่ที่ดินของวัด ซึ่งสำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลอยู่) เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวกในสมัยก่อน จึงทำให้มีพระจำพรรษาไม่กี่รูป ต้องไปนิมนต์พระจากวัดอื่นมาอยู่จำพรรษา เช่น วัดราชาธิวาส วัดปทุมวนาราม วัดราชบพิธ และวัดบวรนิเวศ จนต่อมามีการตัดถนนวงศ์สว่างผ่านด้านหลังวัด ทางวัดพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา ราษฎรผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันบริจาคที่ดินตัดถนนเข้าวัดในสมัย พระครูวิจิตรธรรมสาร (ไขย จนฺทสาโร) เจ้าอาวาสรูปที่ 7[1]
หลังจากนั้นทางวัดได้ขออนุญาตเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลีขึ้น โดยเป็นสาขาของวัดบวรนิเวศ จึงเป็นเหตุให้มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีมีพระภิกษุสามเณรสอบได้นักธรรมและบาลีเป็นจำนวนมาก จนได้รับการยกย่องจากพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ตลอดมา[1]
ปัจจุบันวัดมีเนื้อที่โดยประมาณ 24 ไร่ โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่ของยกโรงเรียนวัดมัชฌันติการาม 4 ไร่ 4 ตารางวา, สำนักนารีพรต 2 ไร่ 2 งาน นอกนั้นจึงเป็นเนื้อที่ของเขตพุทธาวาส สังฆาวาส ฌาปนสถาน และสวนปฏิบัติธรรม ปัจจุบัน วัดมีโครงการจะซื้อต่อออกไปอีกเพื่อทำสวนปฏิบัติธรรม ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมปัจจัย[1]
ปูชณียสถานและถาวรวัตถุ
[แก้]พระอุโบสถ
[แก้]เป็นพระอุโบสถเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างวัด มาแล้วเสร็จและผูกพัทธสีมาให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยในปี พ.ศ. 2418 รูปแบบพระอุโบสถเดิมไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นทรงปั้นหยา แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะหลายครั้ง จึงมีรูปแบบอย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยมีความยาว 22.50 เมตร กว้าง 9.80 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตกอันมีคลองบางเขนใหม่เป็นทิศเบื้องหน้า หลังคามุงกระเบื้องโบราณ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันถือปูน มีตรีมูรติอยู่บนพานอันเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี ภายใต้มงกุฎคราบ มีฉัตร 5 ชั้น ประดับทั้ง 2 ข้าง [2]
เจดีย์องค์ใหญ่
[แก้]เป็นเจดีย์ที่สร้างมาพร้อมพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำสีทอง สูง 17 เมตร ภายในมีพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสาวกขึ้นประดิษฐานอยู่ ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เจดีย์แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติจากกรมศิลปากร[2]
ศาลาการเปรียญ
[แก้]เป็นศาลา 2 ชั้น ผูกเหล็กหล่อปูนใช้เป็นที่ทำบุญในวันพระและวันสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งแต่เดิมเป็นศาลาการเปรียญไม้ 2 ชั้น โดยข้างบนใช้ประกอบพิธีส่วนชั้นล่างปล่อยโล่ง ได้รับการรื้อและสร้างใหม่ในสมัย พระครูวิจิตรธรรมสาร (ไขย จนฺทสาโร) เจ้าอาวาสรูปที่ 7 ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นรูปลายไทย มีรูปปั้นเป้นกงล้อ ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553 ได้ทำการบูรณะศาลาการเปรียญให้สูงขึ้น แล้วทำการเทพื้นล่างใหม่ พร้อมทั้งประดับตกแต่งติดไฟ พัดลม ปัจจุบัน จะมีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาจัดขึ้นทีชั้นล่างของศาลาการเปรียญ แห่งนี้[2]
โรงเรียนพระปริยัติธรรม
[แก้]โรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารเรียน 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นห้องประชุมและเป็นที่จัดงานการกุศลต่างๆ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกิบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำบุญในวันพระ สืบเนื่องมาจากมีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญหลังเก่า ชั้นที่ 2 เป็นห้องเรียนและสำนักงานโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ซึ่งจะจัดให้มีการเรียนการสอนในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี ชั้นที่ 3 เป็นห้องสมุด พร้อมห้องอบรมวิบัสสนากรรมฐาน หน้าบันทั้ง 3 ด้าน เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ [2]
วิหารหลวงปู่อ่อน
[แก้]เป็นวิหารที่ประดิษฐานรูปเหมือนปูนปั้นของพระครูธรรมสารวิจิตร (อ่อน ญาณเตโช) โดยคณะศิษย์สร้างถวายในปี พ.ศ. 2515 เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางซ้ายของพระอุโบสถ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของ พระครูวิจิตรธรรมสาร (ไขย จนฺทสาโร) และพระครูใบฎีกาพันธ์ อาจาโร ในปัจจุบันนี้วิหารหลวงปู่อ่อนได้สร้างขึ้นใหม่เป็นวิหารจัตุรมุข มียอดฟ้าใบระกา ปูพื้นด้วยกระเบื้องแผ่นใหญ่ ประตูหน้าต่างเป็นไม้ มีโรงจอดเรือของหลวงปู่อ่อนอยู่ด้านหลังของวิหาร ติดโคมไฟทั้งข้างใน และรอบวิหาร ปัจจุบันวิหารหลวงปู่อ่อนตั้งอยู่ข้างท่าน้ำทางด้านซ้าย ติดกับต้นโพธิ์ใหญ่ และติดประตูทางเข้าวัด [2]
ซุ้มประตูวัด
[แก้]เป็นซุ้มประตูที่ตั้งอยู่บริเวณปากซอยวงศ์สว่าง 11 ถนนวงศ์สว่าง เป็นซุ้มประตูวัดแห่งเดียวในเขตบางซื่อ ที่นำตราคณะธรรมยุติกนิกายมาประดิษฐานบนซุ้ม ทำด้วยหินอ่อนขัดทั้งซุ้ม ต่อมาทรุดโทรมลงมากทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้เป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์ให้ใหม่จนแล้วเสร็จ[2]
หอระฆัง
[แก้]เป็นหอระฆัง ๒ ชั้น หลังคาเป็นทรงไทย ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ชั้นหนึ่งใช้เป็นที่แขวนกลอง ชั้นสองใช้เป็นที่แขวนระฆังเพื่อตีบอกสัญญาณในวันพระและวันสำคัญอื่น ๆ สร้างในสมัยพระครูวิจิตรธรรมสาร อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ซึ่งหอระฆัง ๒ ชั้นดังกล่าว ได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และไม่มีให้เห็นแล้ว และได้สร้างหอระฆัง ๓ ชั้น หน้าศาลาการเปรียญ แต่ก็ได้รื้อเสียแล้ว และได้สร้างหอระฆัง ๓ ชั้น ขึ้นใหม่แต่ตำแหน่งใกล้เคียงกับหอระฆัง ๒ ชั้น ในอดีต ซึ่งได้สร้างขึ้นในสมัยของพระครูธีรสารปริยัติคุณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๘[2]
ทำเนียบเจ้าอาวาส
[แก้]อ้างอืง[1]
ลำดับที่ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
1 | พระครูธรรมสารวิจิตร (อ่อน ญานเตโช) | พ.ศ. 2440 | พ.ศ. 2457 |
2 | พระอาจารย์กล่อม | พ.ศ. 2457 | พ.ศ. 2460 |
3 | พระอาจารย์สำราญ | พ.ศ. 2461 | พ.ศ. 2464 |
4 | หลวงตาอินทร์ | พ.ศ. 2464 | พ.ศ. 2468 |
5 | พระครูชม (วัดราชบพิธ) | พ.ศ. 2469 | พ.ศ. 2476 |
6 | พระอาจารย์คำภา | พ.ศ. 2476 | พ.ศ. 2486 |
7 | พระครูวิจิตรธรรมสาร (ไขย จนฺทสาโร) | พ.ศ. 2486 | พ.ศ. 2540 |
8 | พระพุทธิสารโสภณ (เดช กตปุญฺโญ) รศ.ดร. | พ.ศ. 2540 | พ.ศ. 2564 |
- | พระราชธีรสารมุนี (เที่ยง ปภาคโม) (รักษาการแทน) | พ.ศ. 2564 | พ.ศ. 2565 |
9 | พระครูปลัดสุวัฒนวิสาลคุณ (บุญยอด สุเมโธ ดร.) | พ.ศ. 2565 | ปัจจุบัน |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 ประวัติวัดมัชฌันติการาม เก็บถาวร 2020-07-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เขียน ณ วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยหลวงพี่นนท์ สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 ปูชนียสถานที่สำคัญในวัดมัชฌันติการาม watmatchan.net เขียนเมื่อ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยหลวงพี่นนท์
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วัดมัชฌันติการาม
- โรงเรียนวัดมัชฌันติการาม เก็บถาวร 2014-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน