ไพวรินทร์ ขาวงาม
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ไพวรินทร์ ขาวงาม | |
---|---|
เกิด | 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย ![]() |
นามปากกา | ไพวรินทร์ ขาวงาม |
อาชีพ | กวี นักเขียน คอลัมนิสต์อิสระ |
สัญชาติ | ไทย |
ไพวรินทร์ ขาวงาม (10 กุมภาพันธ์ 2504 - ) กวี นักเขียน และคอลัมนิสต์ชาวไทย เจ้าของรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2538 จากหนังสือรวมบทกวี ม้าก้านกล้วย และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ประจำปี พ.ศ. 2558
ประวัติ
[แก้]ไพวรินทร์เกิดในครอบครัวชาวนาจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรของนายสมัย และนางดวน ขาวงาม เขาเป็นคนที่ 3 จากพี่น้อง 9 คน จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านตาหยวก และบวชเรียนต่อจนจบมัธยมปลาย ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตวังน้อย พระนครศรีอยุธยา อยู่ช่วยฝึกสอนวิชาภาษาไทยและวรรณคดี เพื่อตอบแทนคุณสถาบันระยะหนึ่งจึงลาสิกขาบท
จากนั้นมุ่งสู่เชียงใหม่ เป็นพนักงานพิสูจน์อักษร หนังสือพิมพ์ประชากรรายวัน ก่อนเลื่อนฐานะขึ้นเป็นนักข่าว สั่งสมประสบการณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเล็ก ๆ หลายฉบับ จวบปี 2527 ตัดสินใจเข้ากรุง ทำงานฝ่ายศิลป์นิตยสารสปีดเวย์ ต่อสู้ชีวิตทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะทำรูปเคลือบพลาสติกวางขายข้างถนน พนักงานขายไอศกรีม ปี 2528 ช่วยงานนิตยสารสู่ฝัน ปี 2531 ประจำกองบรรณาธิการวารสารปาจารยสาร ต่อมาเป็นบรรณาธิการเฉพาะกิจสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ประจำกองบรรณาธิการหนังสือดีเขต เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการชีวิตต้องสู้ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์อิสระ
จาก "สามเณรไพรัช" สู่ "ไพวรินทร์"
[แก้]ไพวรินทร์ เดิมชื่อ 'ไพรัช'[1] เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เคยใช้นามปากกา 'สามเณรไพรัช' ส่งความเรียงไปลงในนิตยสารชัยพฤกษ์การ์ตูน ต่อมาเปลี่ยนใช้นามปากกาว่า 'ไพวรินทร์ วิเชียรฉันท์' ในการเขียนกลอน และเพื่อขจัดความยุ่งยากในการรับค่าเรื่อง เขาได้เปลี่ยนชื่อจริงเป็น 'ไพวรินทร์' จึงเป็นทั้งชื่อจริงและนามปากกาตั้งแต่นั้นมา
ผลงาน
[แก้]- ลำนำวเนจร (2528) รวมบทกวี
- คำใดจะเอ่ยได้ดั่งใจ (2529) รวมบทกวี เข้ารอบซีไรต์ พ.ศ. 2529
- ไม่ใช่บทกวีจากชายป่าอารยธรรม (2530) รวมบทกวีไร้ฉันทลักษณ์
- ฤดีกาล (2532) รวมบทกวี เข้ารอบซีไรต์ พ.ศ. 2535
- คือแรงใจและไฟฝัน (2534) รวมบทกวี
- ถนนนักฝัน (2535) รวมบทกวีประกอบภาพ
- ม้าก้านกล้วย (2538) รวมบทกวี ได้รับรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2538
- เจ้านกกวี (2540) รวมบทกวี
- ทอดยอด (2542) รวมบทความและเรื่องสั้น
- เพราะภาพพูดได้ หัวใจจึงขอฟัง (2544)
- ผมจรรอนแรมจากลุ่มแม่น้ำมูล (2545)
- ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีรัก (2545)
- ดวงใจจึงจำนรรจ์ (2547)
- จิบใจ จอกจ้อย (2547)
- กลอนกล่อมโลก (2547)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2560 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ทำเนียบนักประพันธ์ ประพันธ์สาส์น[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๐ เก็บถาวร 2017-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๘ ข หน้า ๑๔๘, ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐