ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์

(ประจวบ กนฺตาจาโร)
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร)
ส่วนบุคคล
เกิด14 มิถุนายน พ.ศ. 2469 (82 ปี)
มรณภาพ3 มกราคม พ.ศ. 2550
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาน.ธ.เอก, ป.ธ. 5
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
อุปสมบท22 เมษายน พ.ศ. 2489
พรรษา63
ตำแหน่งอดีตรักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
อดีตเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อดีตเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสีลาจารวัตรมีความรอบรู้ทั้งในทางคดีโลกและคดีธรรม กล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า เป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปแรกของไทยที่สำเร็จการศึกษาในทางคดีโลกถึงชั้นปริญญาเอก[1]

ประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ นามเดิม ประจวบ เนียมหอม เกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ปีขาล ตรงกับวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2469 ที่หมู่บ้านโรงจีน ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรคนที่หนึ่งของคุณพ่อคง คุณแม่ท้อน เนียมหอม ได้เข้าเรียนระดับประถมเมื่ออายุ 10 ปี ที่โรงเรียนเฉลียววิทยา วัดเหนือ บางแพ

อายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ณ วัดเหนือบางแพ ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนาถ สุมโน เจ้าอาวาสวัดเหนือบางแพ ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เป็นพระศีลาจารย์

เมื่ออายุได้ 14 ปี พ.ท.วิบูล สิริสุภาส ซึ่งขณะนั้นยังดำรงอยู่ในสมณเพศและดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูวิบูลธรรมคุต วัดราชบพิธ กรุงเทพมหานคร ได้นำเข้ามาฝากตัวให้อยู่กับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพเวที วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2483

อายุย่างเข้า 21 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปาโมกข์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมกิจจานุการี (ผัน กิจฺจการี) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระเทพกิตติเมธี (หิ้น คนฺธาโร) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระปริยัติเมธี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายา กนฺตาจาโร

วิทยฐานะ

[แก้]
  • แผนกธรรม นักธรรมเอก
  • แผนกบาลี เปรียญธรรม 5 ประโยค
  • แผนกสามัญ
    • ประโยคเตรียมอุดมศึกษา (ม. 8)
    • ประโยคครู พ.
    • ประโยคครู พ.ป.
    • ปริญญาตรี ศาสนศาสตร์บัณฑิต (ศน.บ.) จากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
    • พ.ศ. 2509 ปริญญาโท (M.A.) ทางปรัชญา จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย
    • พ.ศ. 2530 ปริญญาเอก (Ph.D.) ทางปรัชญา จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย
เกียรติคุณพิเศษ

สมณศักดิ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2505 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระกิตติสารมุนี[2]
  • พ.ศ. 2515 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชกวี นรสีหพจนปิลันธน์ คันถธุรบัณฑิต ยติคณิสสร บวชสังฆาราม คามวาสี'[3]
  • พ.ศ. 2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพโมลี ตรีปิฎกธาดา มหากถิกสุนทร ยติคณิสสร บวชสังฆาราม คามวาสี[4]
  • พ.ศ. 2528 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมธัชมุนี ปริยัติเมธีสิกขากร ธรรมธรสังฆโสภณ ปรหิตโกศลสังฆวิภูษิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
  • พ.ศ. 2536 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระธรรมปัญญาจารย์ ไพศาลสังฆวิทยาธิการี อุฏฐายีวรางกูรสังฆวิสุทธิ์ พุทธบริษัทอรรถธรรมปสาทกร สุนทรศีลขันธสมาจารสุทธิ ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
  • พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธพจนานุสิต วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณ์ ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[7]

ผลงานของท่าน

[แก้]

ด้านการปกครอง

[แก้]
  • เป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม
  • เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
  • เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
  • เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต [8][9]
  • พ.ศ. 2491 – 2502 เป็นเลขานุการสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่และสั่งการแทนสังฆนายก
  • พ.ศ. 2502 – 2505 เป็นเลขานุการสังฆนายก
  • พ.ศ. 2515 เป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
  • เป็นเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย (ก.ส.ม.)
  • เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนาและมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)
  • เป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิ ก.ศ.ม.
  • พ.ศ. 2505 - 2526 เป็นรองเลขาธิการและเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา แห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2526 - 2537 เป็นอธิการบดีสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นกรรมการอบรมพระธรรมทูตต่างประเทศ (ธรรมยุต)[10]
  • เป็นอนุกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศ สำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.)
  • เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต
  • เป็นผู้อำนวยการมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย
  • เป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน[11]
  • เป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิธัมสิริ
  • เป็นกรรมการมูลนิธิมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย (ม.ว.ก.)
  • เป็นกรรมการมูลนิธิสิรินธร (ส.ธ.)
  • เป็นกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
  • เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เป็นประธานกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) [12]
  • เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะใหญ่ (ธรรมยุต) [13]

ด้านการศึกษา

[แก้]
  • เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม วัดมกุฏกษัตริยาราม
  • เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
  • เป็นเจ้าสำนักเรียนพระปริยัติธรรม วัดมกุฏกษัตริยาราม
  • เป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม
  • เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมบาลีและแผนกสามัญศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย
  • เป็นผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วัดมกุฏกษัตริยาราม
  • เป็นกรรมการมูลนิธิมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย
  • เป็นกรรมการมูลนิธิสิรินธร
  • เป็นผู้จัดการโรงเรียนมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย
  • เป็นผู้จัดการโรงเรียนมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย 2 (วัดไผ่ดำ)
  • เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ด้านต่างประเทศ

[แก้]
  • งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศโดยจัดตั้งสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
  • ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) โดยมอบให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานบริหารกิจการมาจนถึงปัจจุบัน
  • เดินทางไปดูการพระพุทธศาสนา ณ ประเทศอินเดีย (ก่อนและหลังการเดินทางไปศึกษา)
  • เดินทางไปร่วมฉลองพุทธชยันติ ณ ประเทศญี่ปุ่น และไปเยี่ยมทหารไทยที่ประเทศเกาหลี กลับมาแวะดูการพระศาสนาที่ฮ่องกงและประเทศเวียดนาม
  • เดินทางไปร่วมประชุมสงฆ์คณะธรรมยุต ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประจำปี
  • เป็นผู้เริ่มก่อตั้งวัดญาณรังษี ที่รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • เดินทางดูการพระพุทธศาสนา ที่ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเดนมาร์กและประเทศนอร์เว
  • เดินทางดูการพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินโดนีเซีย
  • เดินทางดูการพระศาสนาที่ประเทศไต้หวัน

การเผยแผ่

[แก้]
  • แสดงธรรมในวันพระ แสดงธรรมอบรมประชาชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักเรียน นักศึกษา
  • แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราว
  • คณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคม[14]

การสาธารณูปการ

[แก้]
  • ได้บูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างอาคารถาวรวัตถุภายในวัดมกุฏกษัตริยาราม
  • ก่อสร้างอาคารเรียน อาคารที่พักอาศัย อุโบสถ หอประชุม ที่มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย (วัดชูจิตธรรมาราม) ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมจำนวน ๑๐๐ หลัง*
  • ก่อสร้างศาลาการเปรียญและกุฏิที่พักอาศัยที่สำนักปฏิบัติธรรม “วัดมกุฎคีรีวัน” ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๒๘ หลัง
  • ให้ความอนุเคราะห์ในการก่อสร้างโรงพยาบาลบางแพ จังหวัดราชบุรี

วาระสุดท้าย

[แก้]

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ อาพาธด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ปอดอักเสบ หลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน เข้ารับรักษาอาการอาพาธตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ต่อมาเกิดอาการปอดติดเชื้ออย่างรุนแรงและลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด และมรณภาพเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551 เวลา 07:53 น.[15] ที่ห้องซีซียู ตึกอัษฎางค์ ชั้น 3 โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมอายุ 81 ปี 6 เดือน พรรษา 61

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2551 ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานพิธีสวดพระอภิธรรมในพระบรมราชานุเคราะห์ ระหว่างวันที่ 4-10 มกราคม พ.ศ. 2551 พระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจารเถร) ในวันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 เวลา 16.00 น. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-24. สืบค้นเมื่อ 2015-01-08.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, ตอนที่ 3, เล่ม 80, วันที่ 4 มกราคม 2506, หน้า 9
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, ตอนที่ 202, เล่ม 89, วันที่ 31 ธันวาคม 2515, หน้า 4
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, ตอนที่ 91, เล่ม 229, วันที่ 31 ธันวาคม 2517, หน้า 4
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์,ตอนที่ 20,เล่ม103,วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2529, หน้า 1
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, ตอนที่ 202, เล่ม 110, วันที่ 6 ธันวาคม 2536, หน้า 1
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, ตอนที่ 28 ข, เล่ม 117, วันที่ 28 ธันวาคม 2543, หน้า 7
  8. แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๓/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗
  9. ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตดำรงตำแหน่งครบวาระ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๔/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
  10. เสนอว่า สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)[ลิงก์เสีย],๐๗๗/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘
  11. เสนอว่า สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิ-สงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน ในสังฆราชูปถัมภ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,การประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๒๒/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๘
  12. [1] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,การประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๒๙/๒๕๔๗
  13. [2] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,มติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๓/๒๕๔๗
  14. เรื่อง การเสนอขอแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคม เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,การประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๓/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕
  15. "สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามและกรรมการมหาเถรสมาคม ถึงมรณภาพ" (PDF). มหาเถรสมาคม. 10 มกราคม 2551. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]


ก่อนหน้า สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) ถัดไป
พระเทพกิตติเมธี (หิ้น คนฺธาโร)
เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
(พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2554)
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) (รักษาการ)
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
(ลำดับที่ 3)
พระธรรมวิสุทธาจารย์ (แสวง ธมฺเมสโก)