พระพุทธิสารโสภณ (เดช กตปุญฺโญ)
พระพุทธิสารโสภณ (เดช กตปุญฺโญ) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 (70 ปี) |
มรณภาพ | 6 กันยายน พ.ศ. 2564 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | น.ธ.เอก, ป.ธ.3, Ph.D. (Education) |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดมัชฌันติการาม กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 16 มีนาคม พ.ศ. 2513 |
พรรษา | 51 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม |
พระพุทธิสารโสภณ รองศาสตราจารย์ ดร. นามเดิม เดช ศาลา ฉายา กตปุญฺโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม[1]
ประวัติ
[แก้]พระพุทธิสารโสภณ รองศาสตราจารย์ ดร. นามเดิม เดช นามสกุล ศาลา ฉายา กตปุญฺโญ เป็นบุตรของนายทอก กับนางใบ ศาลา เกิดเมื่อวันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2493 บ้านเลขที่ 33 อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2506 วัดสุทธิมงคล อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ต่อมาอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2513 วัดสามัคคีบำเพ็ญผล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูพุฒิวราคม (พุฒิ ยโส) วัดคามวาสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิจิตรธรรมสาร (วิสุธรรม จนฺทสาโร) วัดมัชฌันติการาม เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิทิตคุณาภรณ์ (เกิ่ง วิทิโต) วัดสามัคคีบำเพ็ญผล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
พระเดชพระคุณท่านเป็นเจ้าอาวาสนักพัฒนากล่าวคือ หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ได้พัฒนาวัดมัชฌันติการามในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเสนาสนะต่าง ๆ ทั้งกำแพงรอบวัด กำแพงรอบอุโบสถ เตาเผาศพไร้มลพิษ กุฏิรับรองพระภิกษุสามเณร เป็นประธานในการจัดซื้อที่ดินถวายวัดเพื่อทำสวนปฏิบัติธรรม จัดระเบียบการศึกษาของสำนักเรียนใหม่ จัดระเบียบการปกครองวัดใหม่ ส่งเสริมพระภิกษุสามเณรให้ได้รับการศึกษาสูงขึ้น ทั้งทางโลกและทางธรรม จัดให้มีการเผยแผ่ธรรมทางสถานีวิทยุในนามของวัดเป็นประจำทุกวัน จัดให้มีห้องปฏิบัติธรรมทุกวันพระและวันอาทิตย์ จัดให้มีการฟังธรรมพระกรรมฐานทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน
การศึกษา/วิทยฐานะ
[แก้]- พ.ศ. 2512 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
- พ.ศ. 2526 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ.) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2530 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (M.A.) มหาวิทยาลัยปัญจาบ สาธารณรัฐอินเดีย
- พ.ศ. 2537 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.) มหาวิทยาลัยปัญจาบ สาธารณรัฐอินเดีย
- พ.ศ. 2541 สอบไล่ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักเรียนวัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
การปกครองคณะสงฆ์
[แก้]- พ.ศ. 2538 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดวัดมัชฌันติการาม
- พ.ศ. 2540 เป็นเจ้าอาวาสวัดวัดมัชฌันติการาม
- พ.ศ. 2558 เป็นพระอุปัชฌาย์
งานด้านการศึกษา
[แก้]- พ.ศ. 2514 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการาม
- พ.ศ. 2540 เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการาม
- พ.ศ. 2545 เป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นที่ 3 สายสาธารณรัฐอินเดีย
- พ.ศ. 2548 เป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2551 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2560 ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ รองศาสตราจารย์พิเศษ สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
งานด้านการต่างประเทศ
[แก้]พระพุทธิสารโสภณ รองศาสตราจารย์ ดร. เป็นพระเถระที่มีศีลาจารวัติงดงาม ใครๆก็ตามที่ได้พบเห็นได้สนทนาด้วย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงศีลาจารวัตรอันงดงามดังกล่าว เป็นพระเถระที่มักน้อยสันโดษ มีอัธยาศัยไมตรี มีเมตตาเป็นหลักประจำใจ มีความขยันเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตพรหมจรรย์ จะเห็นได้จากการศึกษาเล่าเรียนของพระเดชพระคุณท่านทั้งทางโลกและทางธรรม ได้สำเร็จการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาเอก คณะศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยปัญจาบ ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสาธารณรัฐอินเดีย เป็นมหาวิทยาลัยที่บรรดาคนอินเดียเองต้องการเข้าไปศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่น้อยคนนักที่จะสามารถสอบแข่งขันเข้าไปศึกษาในคณะต่างๆได้ พระเดชพระคุณท่านศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ สำเร็ขการศึกษาทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในเมืองดังกล่าวนั้นมีพุทธศาสนิกชนชาวอินเดียให้ความเคารพนับถือต่อพระเดชพระคุณท่านเป็นจำนวนมาก จึงมักกราบนิมนต์พระคุณท่านได้เมตตาเดินทางไปร่วมมือกับพระนักศึกษา นักศึกษาไทย และชาวพุทธเมืองจันดิการ์ หาที่ในการสร้างวัดขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งมวล ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีอายุการก่อตั้งเมืองมาเพียง 50 กว่าปี ถูกจัดเป็นเมืองที่น่าอยู่เป็นระดับสองของสาธารณรัฐอินเดีย โดยแบ่งเมืองออกเป็นเขต ทั้งหมดมี 49 เขต ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของ 2 รัฐ คือ รัฐปัญจาบ และรัฐหรยาณา ราคาที่ดินในเมืองนี้จึงค่อนข้างแพง แต่ด้วยความตั้งใจของชาวพุทธทุกฝ่าย โดยการนำของพระเดชพระคุณท่าน จึงได้สร้างวัดพุทธวัดแรกในเมืองจันดิการ์ ชื่อวัดอโศกพุทธวิหาร ตำบลกุดดาอะลิเซอร์ เมืองจันดิการ์ รัฐปัญจาบ สาธารณรัฐอินเดีย มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2540 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูคู่สวด ฐานานุกรมของพระธรรมปัญญาจารย์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ที่ พระครูธรรมศาสนโฆษิต
- พ.ศ. 2545 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูปลัด ฐานานุกรมของพระธรรมวรเมธี (สุชิน อคฺคชิโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ที่ พระครูปลัดศรีธรรมวัฒน์
- พ.ศ. 2545 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษที่ พระครูธีรสารปริยัติคุณ[2]
- พ.ศ. 2555 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระพุทธิสารโสภณ[3]
มรณภาพ
[แก้]พระพุทธิสารโสภณ ละสังขารด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 17.09 น. สิริอายุ 70 ปี พรรษา 51 มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2565 ณ เมรุชั่วคราว วัดมัชฌันติการาม เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประวัติพระพุทธิสารโสภณ รองศาสตราจารย์ ดร. เว็บไซต์วัดมัชฌันติการาม
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรืองพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, ตอนที่ 23 ข, เล่ม 119, วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2545, หน้า 18
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรืองพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, ตอนที่ 9 ข, เล่ม 130, วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556, หน้า 6
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2493
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2564
- ภิกษุในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
- เจ้าอาวาส
- พระราชาคณะชั้นสามัญ
- เปรียญธรรม 3 ประโยค
- รองศาสตราจารย์
- ครูชาวไทย
- นักการศึกษาชาวไทย
- ผู้บริหารสถานศึกษาชาวไทย
- ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธ
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- บุคคลจากอำเภอพังโคน
- ภิกษุจากจังหวัดสกลนคร