เชิด ทรงศรี
เชิด ทรงศรี | |
---|---|
เกิด | 20 กันยายน พ.ศ. 2474 เชิด ทรงศรี |
เสียชีวิต | 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 (74 ปี) กรุงเทพมหานคร |
คู่สมรส | จันทนา (ดีประวัติ) ทรงศรี |
ผลงานเด่น | พ่อปลาไหล (2515) แผลเก่า (2520) |
พระสุรัสวดี | พ.ศ. 2521 แผลเก่า (ผู้กำกับ-เข้าชิง / ภาพยนตร์-รางวัลบทประพันธ์เดิมยอดเยี่ยม / รางวัลเครื่องแต่งกาย-แต่งหน้ายอดเยี่ยม) พ.ศ. 2524 เลือดสุพรรณ (ผู้กำกับ-เข้าชิง) พ.ศ. 2526 เพื่อน-แพง (เข้าชิง) พ.ศ. 2537 อำแดงเหมือนกับนายริด (ผู้กำกับ-เข้าชิง) |
สุพรรณหงส์ | พ.ศ. 2526 เพื่อน-แพง (ผู้กำกับ-เข้าชิง / ภาพยนตร์-ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม / นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม / นักแสดงหญิงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม) |
ชมรมวิจารณ์บันเทิง | อำแดงเหมือนกับนายริด (ผู้กำกับ-เข้าชิง / ภาพยนตร์-รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และ นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม) |
ฐานข้อมูล | |
IMDb | |
ThaiFilmDb |
เชิด ทรงศรี เป็นชื่อและนามสกุลจริงที่ใช้ในการกำกับภาพยนตร์ทุกเรื่อง ส่วนนามปากกา ธม ธาตรี ใช้ในงานเขียนนวนิยายเขียนบทภาพยนตร์และแต่งเพลง เป็นผู้กำกับภาพยนตร์แนวหน้าชาวไทย มีผลงานกำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง และได้รับรางวัลมากมาย
เชิด ทรงศรีเกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2474 [1] (แต่หยุดอายุตัวเองไว้ที่ 28 ปี) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อจบการศึกษาทำงานเป็นครูที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำงานที่องค์การ ร.ส.พ. จากนั้นจึงลาออกไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร "ภาพยนตร์และโทรทัศน์" เขียนเรื่องสั้น สารคดี บทความ บทละครวิทยุ-โทรทัศน์ บทวิจารณ์ภาพยนตร์ และนวนิยาย นอกจากนี้ยังแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ด้วย ลาออกจากนิตยสาร "ภาพยนตร์และโทรทัศน์" เพื่อสร้างภาพยนตร์ และทำงานนี้มาตลอด
เชิด ทรงศรี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และได้บริจาคร่างกายเพื่อให้นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ใช้ศึกษา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร [2] อัฐิบรรจุอยู่ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอังคารลอยในอ่าวปากพนัง อำเภอปากพนังเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552 [3]
ภาพยนตร์
[แก้]เชิดสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก เรื่อง "โนห์รา" เมื่อ พ.ศ. 2509 จากบทประพันธ์ของตนเอง เป็นภาพยนตร์ระบบ 16 มม. ใช้เสียงพากย์สดทุกรอบฉาย เขียนบทภาพยนตร์ ออกแบบฉาก ลำดับภาพ แต่งเพลงประกอบ กำกับการแสดง ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และใช้ทุนสร้างของตนเองทั้งหมด นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ พิศมัย วิไลศักดิ์
พ.ศ. 2515 สร้างภาพยนตร์เรื่อง "พ่อปลาไหล" เป็นภาพยนตร์ 16 มม.ที่ทำรายได้สูงสุดในประเทศไทย จากนั้นจึงไปศึกษาต่อศึกษาวิชาการภาพยนตร์เพิ่มเติมที่ยูซีแอลเอ ระหว่างศึกษาต่อ มีแนวคิดที่จะสร้างภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงความเป็นไทย แต่ยังไม่ได้สร้างทันที สร้างเรื่อง "ความรัก" และ "พ่อไก่แจ้" ก่อน เพื่อทำความคุ้นเคยกับงานสร้างภาพยนตร์ 35 มม. จากนั้นจึงสร้างภาพยนตร์ 'สำแดงความเป็นไทย' เรื่อง "แผลเก่า"
ผลงานเด่น แผลเก่า
[แก้]ภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า สร้างจากบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2479 ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2520 มีคำโฆษณาหนังว่า "เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก" นำแสดงโดยสรพงศ์ ชาตรี รับบท "ขวัญ", นันทนา เงากระจ่าง รับบท "เรียม", ส.อาสนจินดา, ชลิต เฟื่องอารมย์, เศรษฐา ศิระฉายา และศรินทิพย์ ศิริวรรณ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม.
ในขณะถ่ายทำ เนื่องจากเป็นภาพยนตร์แนวย้อนยุค ในขณะที่ผู้สร้างในขณะนั้นนิยมสร้างภาพยนตร์ร่วมสมัย จึงไม่มีผู้ค้ารายใดซื้อหนังเรื่องนี้ไปฉายเลย แต่เมื่อภาพยนตร์ออกฉาย ปรากฏว่าเป็นที่นิยม ทำรายได้สูงสุดในประเทศไทย ได้รับรางวัลบทประพันธ์ยอดเยี่ยมและรางวัลเครื่องแต่งกายและแต่งหน้ายอดเยี่ยมจากการประกวดในประเทศ ได้รับโล่เกียรติยศภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ไทยยอดเยี่ยมจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
พ.ศ. 2524 "แผลเก่า" ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์จากการประกวดภาพยนตร์ในงาน Festival des 3 Continents เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส
พ.ศ. 2541 "แผลเก่า" ได้รับเลือกจากหอภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งชาติของประเทศอังกฤษ (National Film and Television Archive) ร่วมกับนิตยสาร Sight and Sound ของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) และผู้กำกับภาพยนตร์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากทั่วโลก ให้เป็น 1 ใน 360 ภาพยนตร์คลาสสิกของโลก โดยมีการประกาศผลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544
ผลงานอื่น ๆ
[แก้]เป็นผู้แต่งคำร้องเพลงโดยใช้นามว่าธม ธาตรี โดยส่วนใหญ่จะแต่งให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ เช่น เพลงเสียงกระซิบจากเกลียวคลื่น เพลงอย่าห้ามรัก เป็นต้น
และนอกจากจะมีผลงานกำกับภาพยนตร์อันเป็นที่ยอมรับในระดับสูงทั้งในประเทศและในระดับสากลแล้ว เชิด ทรงศรี ยังเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติถึงความรู้ ประสบการณ์และความสามารถ ได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินการประกวดภาพยนตร์นานาชาติอย่างต่อเนื่อง
ผลงานกำกับเรื่อง อำแดงเหมือนกับนายริด เมื่อ พ.ศ. 2537 เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเลือกเป็น Opening Film ฉายเปิดในงานมหกรรมภาพยนตร์ Focus on Asia 1994 Fukuoka International Film Festival และได้รับเลือกฉาย ณ โรงภาพยนตร์ Art House "Iwanami Hall" และโรงในเครือทั่วประเทศญี่ปุ่น
ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นอาเซียน สาขาสนเทศ ด้านภาพยนตร์
นอกจากนี้ยังมีนิยายตลกเบาสมองร่วมกับ ชาตรีเฉลิม (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) เรื่อง "รักสองต้องหาม" (ออกอากาศโดยคณะละครสยาม 81 ทางสถานีวิทยุ วพท.เอ เอ็ม จันทร์ - ศุกร์ เวลา 10.30 น. พ.ศ. 2555)
ในปี พ.ศ. 2559 ได้รับรางวัล "ศรีบูรพาเกียรติยศ" จากการกำกับภาพยนตร์เรื่อง “ข้างหลังภาพ” จากนวนิยายเลื่องชื่อของ “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยคงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของศรีบูรพาไว้ให้มากที่สุด[4]
ผลงานกำกับภาพยนตร์
[แก้]- พญาโศก (2512)
- ลำพู (2513)
- คนใจบอด (2514)
- พ่อปลาไหล (2515)
- ความรัก (2517)
- พ่อไก่แจ้ (2519)
- แผลเก่า (2520)
- เลือดสุพรรณ (2522)
- พ่อปลาไหล (2524)
- เพื่อนแพง (2526)
- พลอยทะเล (2530)
- ทวิภพ (2533)
- Southern Winds (2535)
- อำแดงเหมือนกับนายริด (2537)
- เรือนมยุรา (2539)
- ข้างหลังภาพ (2544)
ผลงานแสดงภาพยนตร์
[แก้]- กาม (2521) รับบท ผู้กำกับ
อำนวยการสร้าง
[แก้]- พญาโศก (2512)
- ลำพู (2513)
- เลือดสุพรรณ (2522)
- พ่อปลาไหล (2524)
บทภาพยนตร์
[แก้]- พญาโศก (2512)
- นางพญา (2512)
- ลำพู (2513)
- คนใจบอด (2514)
- พ่อปลาไหล (2515)
- ความรัก (2517)
- ล่า (2520)
- แผลเก่า (2520)
- เลือดสุพรรณ (2522)
- นาคี (2522)
- พ่อปลาไหล (2524)
- กระท่อมนกบินหลา (2525)
- เพื่อนแพง (2526)
- รักสองต้องห้าม (2528)
- พลอยทะเล (2530)
- ทวิภพ (2533)
- อำแดงเหมือนกับนายริด (2537)
- เรือนมยุรา (2539)
- ข้างหลังภาพ (2544)
บทละคร
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ จากป้ายจารึกบริเวณที่เก็บอัฐในเจดีย์บริวารของพระมหาธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
- ↑ เชิด ทรงศรี สิ้นสุดหน้าที่อาจารย์ใหญ่[ลิงก์เสีย] ณัฐพล แสงทอง, เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 888, 5 มิถุนายน 2552 หน้า 32
- ↑ เชิด ทรงศรี กลับถึงบ้านเกิดเรียบร้อยแล้ว[ลิงก์เสีย] เด็กเมืองคอน, เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 902, 11 กันยายน 2552 หน้า 35
- ↑ มอบรางวัลศรีบูรพา
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ชีวประวัติ เชิด ทรงศรี ที่ ฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย
- ประวัติ เชิด ทรงศรี เก็บถาวร 2006-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เชิด ทรงศรี …. คนรักหนังตัวจริง
- ฐานข้อมูลภาพยนตร์เก็บถาวร 2007-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2474
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2549
- ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย
- ครูชาวไทย
- นักเขียนนวนิยายชาวไทย
- นักเขียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช
- นักแต่งเพลงชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช
- บุคคลจากโรงเรียนโยธินบูรณะ
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส
- เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก