ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอจอมทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอจอมทอง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Chom Thong
พระเจดีย์คู่บนยอดดอยอินทนนท์
พระเจดีย์คู่บนยอดดอยอินทนนท์
คำขวัญ: 
อินทนนท์สูงเด่น ร่มเย็นองค์พระธาตุ
น้ำตกสวยสะอาด เชิดชูศาสน์ไม้ค้ำโพธิ์
แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภอจอมทอง
แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภอจอมทอง
พิกัด: 18°25′2″N 98°40′33″E / 18.41722°N 98.67583°E / 18.41722; 98.67583
ประเทศ ไทย
จังหวัดเชียงใหม่
พื้นที่
 • ทั้งหมด712.297 ตร.กม. (275.019 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)
 • ทั้งหมด65,811 คน
 • ความหนาแน่น92.39 คน/ตร.กม. (239.3 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 50160
รหัสภูมิศาสตร์5002
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอจอมทอง เลขที่ 156 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

จอมทอง (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอำเภอขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 120 ปี มีศักยภาพในการพัฒนาสูง มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์สวยงาม มีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม จึงทำให้อำเภอจอมทองเป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเกือบ 2 ล้านคน ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญเมืองหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงคือ ดอยอินทนนท์

อำเภอจอมทองเป็นอำเภอที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง มีภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยในการรองรับความเจริญจากจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเดินทางติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวก มีการขยายตัวทางการศึกษา การก่อสร้างห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจด้านสินเชื่อ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต หอพักและบ้านจัดสรรขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2551 เป็นต้นมา ปัจจุบันจึงเป็นศูนย์กลางความเจริญทุกๆ ด้านของทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ทางตอนใต้ของจังหวัดลำพูน และทางตอนใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในด้านการศึกษา มีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยของรัฐ 3 แห่ง วิทยาลัยการอาชีพ 1 แห่ง มีโรงเรียนมัธยมศึกษา และโรงเรียนประถมศึกษาที่มีชื่อเสียง และใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ตอนใต้ ในด้านการสาธารณสุข มีโรงพยาบาลจอมทอง โรงพยาบาลที่กำลังพัฒนาเทียบเท่าโรงพยาบาลระดับจังหวัด รองรับการรักษาผู้ป่วยในเขตพื้นที่อำเภอจอมทองและพื้นที่กลุ่มอำเภอทางเชียงใหม่ตอนใต้ ด้านการท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียง ได้แก่ ยอดดอยอินทนนท์ และน้ำตกในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าแสงดาที่บ้านไร่ไผ่งาม แหล่งผ้าฝ้ายทอมือในเขตตำบลสบเตี๊ยะ อุทยานแห่งชาติออบหลวง รวมถึงประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ในช่วงสงกรานต์ เป็นต้น

ประวัติ

[แก้]

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

[แก้]

จากการสำรวจทางโบราณคดีในพื้นที่อำเภอจอมทอง เมื่อปี พ.ศ. 2474 โดย ศาสตราจารย์ฟริทซ์ สารสิน นักโบราณคดีชาวสวิสเซอร์แลนด์ ได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ ได้แก่ เครื่องมือหินกระเทาะ และภาชนะดินเผาทั้งที่ไม่มีลวดลายและมีลวดลายเชือกทาบ รวมถึงเครื่องมือที่ทำจากกระดูกและเปลือกหอย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชนโบราณที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่ โดยมีการล่าสัตว์และเก็บของป่า ตลอดจนเริ่มมีการสร้างเครื่องใช้จากดินเผา[1]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) โดยกรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่โบราณคดีในอำเภอจอมทอง และค้นพบภาพเขียนสีโบราณที่บริเวณผาคันนา หน้าผาชั้นบนของน้ำตกแม่กลาง โดยหน้าผามีความยาว 31 เมตร และสูง 12 เมตร ภาพเขียนสีที่พบมีเพียงสีแดง ประกอบด้วยภาพบุคคลยกมือทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งถือเครื่องมือคล้ายธนู รวมถึงภาพสัตว์ลักษณะคล้ายช้างและลายเรขาคณิต เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงถึงการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณในพื้นที่ดังกล่าว[2]

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติออบหลวงยังเป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยในปี พ.ศ. 2527 มีการค้นพบหลุมฝังศพมนุษย์โบราณและโครงกระดูกของมนุษย์ในยุคสังคมเกษตรสมัยสำริด ณ บริเวณผาช้าง ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง อีกทั้งยังมีการค้นพบสะเก็ดหินที่ใช้ในการทำเครื่องมือ และภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผา บริเวณใกล้เคียงกันยังพบภาชนะดินเผาจำนวนมากที่มีลวดลายเชือกทาบ และเครื่องมือหินขัดทั้งที่สมบูรณ์และแตกหัก

ยุคประวัติศาสตร์

[แก้]

"กำลังทำการรวบรวมข้อมูล"

อำเภอจอมทอง มีประวัติความเป็นมาสืบเนื่องเกี่ยวกับตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร โดยในปี พ.ศ. 2443 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองขึ้นใหม่ ในช่วงที่นครเชียงใหม่ว่างเจ้าผู้ครองนครอันเนื่องจากการถึงแก่พิราลัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ในกลุ่มหัวเมืองย่อยทางใต้ของนครเชียงใหม่ ได้มีการจัดตั้งที่ว่าการอำเภอเพื่อเป็นศูนย์กลางปกครองขึ้น ณ บริเวณบ้านท่าศาลา ริมแม่น้ำปิงทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอจอมทอง ซึ่งปัจจุบันคือบ้านท่าศาลา หมู่ที่ 3 ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง [3] โดยมีเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ (ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนคร) เป็นผู้คุมการก่อสร้างด้วยตนเองและตั้งได้ชื่อตามชื่อวัดพระธาตุจอมทองว่า “อำเภอจอมทอง”

  • วันที่ 12 กรกฎาคม 2451 แยกพื้นที่ตำบลแม่ทับ (ปัจจุบันคือตำบลบ้านทับ) ตำบลท่าผา ตำบลช่างเคิ่ง และตำบลแม่ศึก ของอำเภอจอมทอง ไปจัดตั้งตั้งเป็น อำเภอเมืองแจ่ม[4] ขึ้นนครเชียงใหม่
  • วันที่ 12 กันยายน 2481 ยุบอำเภอช่างเคิ่ง ลงเป็น กิ่งอำเภอช่างเคิ่ง และให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอจอมทอง[5]
  • วันที่ 17 เมษายน 2482 เปลี่ยนแปลงชื่อกิ่งอำเภอช่างเคิ่ง อำเภอจอมทอง เป็น กิ่งอำเภอแม่แจ่ม[6] อำเภอจอมทอง
  • วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลท่าผา แยกออกจากตำบลช่างเคิ่ง[7]
  • วันที่ 30 พฤษภาคม 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านหลวง ในท้องที่บางส่วนของตำบลบ้านหลวง[8]
  • วันที่ 5 มิถุนายน 2499 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่แจ่ม อำเภอจอมทอง เป็น อำเภอแม่แจ่ม[9]
  • วันที่ 7 กรกฎาคม 2513 ตั้งตำบลข่วงเปา แยกออกจากตำบลบ้านหลวง[10][11]
  • วันที่ 24 ตุลาคม 2521 ตั้งตำบลดอยแก้ว แยกออกจากตำบลบ้านหลวง[12][13]
  • วันที่ 16 สิงหาคม 2522 ตั้งตำบลสามหลัง แยกออกจากตำบลสองแคว[14]
  • วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2524 เปลี่ยนแปลงชื่อตำบลสามหลัง อำเภอจองทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็น ตำบลสองแคว และเปลี่ยนแปลงชื่อตำบลสองแคว อำเภอจองทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็น ตำบลดอยหล่อ[15]
  • วันที่ 23 พฤษภาคม 2534 ตั้งตำบลสันติสุข แยกออกจากตำบลยางคราม[16]
  • วันที่ 22 มีนาคม 2538 แยกพื้นที่ตำบลดอยหล่อ ตำบลสองแคว ตำบลยางคราม และตำบลสันติสุข ของอำเภอจอมทอง ไปจัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอดอยหล่อ[17] และให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอจอมทอง
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลบ้านหลวง เป็นเทศบาลตำบลบ้านหลวง[18] ด้วยผลของกฎหมาย
  • วันที่ 11 กันยายน 2543 เปลี่ยนแปลงชื่อเทศบาลตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง เป็น เทศบาลตำบลจอมทอง[19]
  • วันที่ 8 กันยายน 2550 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง เป็น อำเภอดอยหล่อ[20]

ทำเนียบนายอำเภอ

[แก้]

ปัจจุบันอำเภอจอมทอง มีนายแขวงหรือนายอำเภอรวมทั้งสิ้น 42 ท่าน ดังนี้

รายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ลำดับ ชื่อ วาระ
1 นายเวส พ.ศ. 2443 - 2448
2 หลวงฤทธิ์ภิญโญยศ พ.ศ. 2450 - 2452
3 ขุนจอมจารุบาล พ.ศ. 2452 - 2454
4 เจ้าทักษิณเกษตร พ.ศ. 2455 - 2456
5 หลวงพิทักษ์นรการ พ.ศ. 2456 - 2459
6 เจ้าประพันธ์พงษ์ พ.ศ. 2459 - 2459
7 หลวงพิศาลมรรคา พ.ศ. 2460 - 2462
8 ขุนศักดิ์ประชาบาล พ.ศ. 2463 - 2464
9 นายแสง สุวรรณทัต พ.ศ. 2464 - 2466
10 พระประธานธุรการ พ.ศ. 2467 - 2469
11 นายถนอม บริจินดา พ.ศ. 2470 - 2472
12 พระศรีพัฒราษฎร์ พ.ศ. 2473 - 2476
13 ขุนวินิจธุรการ พ.ศ. 2477 - 2480
14 ขุนประสานนรกรรม พ.ศ. 2480 - 2480
15 นายประเสริฐ เจริญโต พ.ศ. 2481 - 2484
16 นายอรรถ วิสูตรโยธาภิบาล พ.ศ. 2484 - 2490
17 นายศิริ ผลารักษ์ พ.ศ. 2490 - 2492
18 นายสมาส อมาตยกุล พ.ศ. 2492 - 2496
19 นายทองสุก สุวัตถี พ.ศ. 2496 - พ.ศ. 2497
20 นายชื่น บุญยจันทรานนท์ พ.ศ. 2497 - พ.ศ. 2498
21 นายฐิติศักดิ์ ศศภูริ พ.ศ. 2498 - พ.ศ. 2499
22 นายเหรียญ เสาวธีระ พ.ศ. 2499 - 2506
23 นายสุรจิตต์ จันทรศัพท์ พ.ศ. 2506 - 2513
24 นายทอง จิตรัตน์ พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2516
25 นายสุเทพ โพธิสุวรรณ พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2518
26 ร.อ.ประจักษ์ มาสุวัตร พ.ศ. 2518 - 2519
27 นายปรีชา ศรีนาราง พ.ศ. 2519 - 2527
28 นายทวี ทวีพูล พ.ศ. 2521 - 2522
29 นายประภัศร์ แก้วโพธิ์ พ.ศ. 2522 - 2523
30 นายประสาท พงษ์ศิวาภัย พ.ศ. 2523 - 2527
31 นายทวี แก้วเรือน พ.ศ. 2527 - 2530
32 นายสวัสดิ์ ศรีสุวรรณดี พ.ศ. 2530 - 2530
33 ร.ต.บุญนพ ถปะติวงศ์ พ.ศ. 2530 - 2533
34 นายบำรุง วอนเพียร พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2534
35 นายเฉลิมชัย วรวุฒิพุทธพงษ์ พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2538
36 นายสุรงค์ ปราบโรค พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2540
37 นายไพบูลย์ บุญธรรมช่วย พ.ศ. 2540 - 2542
38 นายอนุวัตร์ เดชนันทรัตย์ พ.ศ. 2542 - 2543
39 นายกฤษดาภรณ์ เสียมภักดี พ.ศ. 2543 - 2543
40 นายเติมศักดิ์ จันทรประยูร พ.ศ. 2543 - 2545
41 นายพรศักดิ์ สงวนผล พ.ศ. 2545 - 2550
42 ร.ต.ชยันต์ อยู่สวัสดิ์ พ.ศ. 2550 - 2550
43 นายสุพจน์ หอมชื่น พ.ศ. 2550 -

คำขวัญ

[แก้]
"อินทนนท์สูงเด่น ร่มเย็นองค์พระธาตุ น้ำตกสวยสะอาด เชิดชูศาสน์แห่ไม้ค้ำโพธิ์"
  • อินทนนท์สูงเด่น ดอยอินทนนท์เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดของประเทศไทย สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565 เมตร ปัจจุบันเป็นสถานที่สำคัญของประเทศ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มาเที่ยวปีละหลายล้านคน เป็นสถานที่ที่งดงาม มีถ้ำ น้ำตก ภูเขา ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว อาทิ เช่น น้ำตกแม่กลาง น้ำตกแม่ยะ น้ำตกสิริภูมิ น้ำตกวชิรธาร ถ้าบริจินดา ดอยหัวเสือ กิ่วแม่ปาน เป็นต้น
  • ร่มเย็นองค์พระธาตุ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวจอมทอง นับจากตำนานนายสอย นางเม็งเมื่อปี พ.ศ. 1994 จนถึงปัจจุบันนับได้ 561 ปี เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เคยมีพระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส[21] ซึ่งท่านเป็นพระอาจารย์สายวิปัสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพอย่างสูงจากพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้วัดพระธาตุศรีจอมทองเป็นจุดที่พุทธศาสนิกชนเดินทางมาเคารพสักการะกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ท่านเจ้าคุณเป็นจำนวนมากมายในแต่ละปี
  • น้ำตกสวยสะอาด จอมทองถือว่าเป็นอำเภอที่มีน้ำตกมากที่สุดอำเภอหนึ่งของประเทศ มีน้ำตกน้อยใหญ่ทางทิศตะวันตก ที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติออบหลวง อาทิ เช่น น้ำตกแม่ยะ น้ำตกแม่กลาง น้ำตกแม่เตี๊ยะ น้ำตกวชิรธาร น้ำตกสิริภูมิ น้ำตกสิริธาร น้ำตกแม่ปาน เป็นต้น
  • เชิดชูศาสน์แห่ไม้ค้ำโพธิ์ อำเภอจอมทองมีประเพณีที่สำคัญ คือประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ที่ชาวจอมทองปฏิบัติสืบทอดมายาวนาน นิยมแห่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ถือเป็นต้นแบบของการแห่ไม้ค้ำสะหลีของคนภาคเหนือ เริ่มถือปฏิบัติขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง ปัจจุบันกลายเป็นประเพณีที่แพร่หลายไปหลายพื้นที่ในอำเภอใกล้เคียงกับอำเภอจอมทองและจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอจอมทองมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้

ลักษณะทางภูมิประเทศ

[แก้]

ลักษณะพื้นที่อำเภอจอมทอง ส่วนใหญ่เป็นที่ราบกว้าง ระหว่างริมฝั่งแม่น้ำปิง และน้ำแม่กลาง ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่นกระจายในพื้นที่ดังกล่าว พื้นที่หุบเขาเชิงเขาทางทิศตะวันตก ซึ่งใช้ประโยชน์ในการทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ลำไย สำหรับบริเวณภูเขาเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัย

สภาพพื้นที่ พื้นที่สูงทางตอนกลาง ที่ราบลุ่มทางทิศเหนือ และพื้นที่ภูเขาทางทิศตะวันตกของอำเภอ

ภูเขา ด้านตะวันตกมีเทือกเขาอินทนนท์ ซึ่งมียอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565.3341 เมตร กั้นเขตแดนระหว่างอำเภอจอมทองและอำเภอแม่แจ่มโดยตลอด

แม่น้ำ มีลำน้ำสำคัญ ได้แก่ ลำน้ำปิง ลำน้ำแม่กลาง ลำน้ำแม่แจ่ม ลำน้ำแม่เตี๊ยะ ลำน้ำแม่แต๊ะ และลำน้ำแม่สอย

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

ภูมิอากาศพื้นที่อำเภอจอมทอง แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู ได้แก่ - ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลจาก ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ - ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจาก ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพาเอาความหนาวเย็นจากประเทศจีนลงมาปกคลุม ประเทศไทยตอนบน - ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมฝ่ายใต้ สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป อากาศมรสุมเมืองร้อน ช่วง พฤษภาคม - กันยายน มีฝนตกชุก ช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวและแห้งแล้ง อุณหภูมิประมาณ 9.7 องศา สูงสุดประมาณ 39.6 องศา [22][23]

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอจอมทองแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 6 ตำบล 103 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับที่ อักษรไทย ตัวเมือง อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน ประชากรทั้งหมด
(พ.ศ. 2566) [24]
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น
(พ.ศ. 2566) [24]
1. บ้านหลวง Ban Luang 23 16,737 3,049
13,688
(ทต. จอมทอง)
(ทต. บ้านหลวง)
2. ข่วงเปา Khuang Pao 15 10,525 4,560
5,965
(ทต. จอมทอง)
(อบต. ข่วงเปา)
3. สบเตี๊ยะ Sop Tia 21 11,653 11,653 (ทต. สบเตี๊ยะ)
4. บ้านแปะ Ban Pae 20 12,072 12,072 (ทต. บ้านแปะ)
5. ดอยแก้ว Doi Kaeo 9 5,578 1,388
4,190
(ทต. จอมทอง)
(ทต. ดอยแก้ว)
6. แม่สอย Mae Soi 15 9,246 9,246 (ทต. แม่สอย)
รวม 103 65,811 59,846 (เทศบาล)
5,965 (อบต.)

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอจอมทองประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลจอมทอง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านหลวง ตำบลข่วงเปา และตำบลดอยแก้ว
  • เทศบาลตำบลบ้านหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านหลวง (นอกเขตเทศบาลตำบลจอมทอง)
  • เทศบาลตำบลบ้านแปะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแปะทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลดอยแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอยแก้ว (นอกเขตเทศบาลตำบลจอมทอง)
  • เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสบเตี๊ยะทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลแม่สอย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่สอยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลข่วงเปา (นอกเขตเทศบาลตำบลจอมทอง)

สถานศึกษา

[แก้]

ห้างสรรพสินค้า

[แก้]
  • โลตัส สาขาจอมทอง
  • แม็คโคร สาขาจอมทอง
  • สยามทีวี ดิจิต้อลสโตร์ สาขาจอมทอง
  • ห้างเสรีภู่สิฐ (วัสดุก่อสร้าง)
  • แจ่มฟ้า เซฟมาร์ท สาขาจอมทอง
  • โลตัสโกเฟรช สาขาสี่แยกน้อย (ข่วงเปา)
  • โลตัสโกเฟรช สาขาสบเตี๊ยะ (จอมทอง เชียงใหม่)

ตลาดที่สำคัญ

[แก้]
  • ตลาดสดเทศบาลตำบลจอมทอง
  • ตลาดสี่แยกน้อย-ข่วงเปา (กาดแลงหน้อย)
  • ตลาดเช้าน้อย (กาดเจ๊าหน้อย)
  • ตลาดโชคเจริญ
  • ตลาดแม่ดวงดีสามแยกขึ้นดอยอินทนนท์
  • ตลาดจำหน่ายดอกไม้ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกของหมู่บ้านม้งขุนกลาง หลัก ก.ม.ที่ 31 ถ.จอมทอง - อินทนนท์

ตลาดนัด

  • ตลาดวันอังคาร ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอจอมทอง บริเวณศูนย์การค้าสมายเพลส จอมทอง
  • ตลาดวันพุธ บ้านหนองอาบช้างและบ้านห้วยน้ำดิบ
  • ตลาดวันพฤหัส บ้านสบเตี๊ยะและบ้านสบแจ่มฝั่งซ้าย
  • ตลาดวันศุกร์ หน้าที่ว่าการอำเภอจอมทองและบริเวณหน้าเทศบาลตำบลบ้านแปะ
  • ตลาดวันเสาร์ บริเวณบ้านสบเตี๊ยะและบ้านดงหาดนาค และบริเวณศูนย์การค้าสมายเพลส จอมทอง

การคมนาคม

[แก้]

อำเภอจอมทองตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ บนถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ระยะทางห่างจากเชียงใหม่ 58 กิโลเมตร[25] เส้นทางเชื่อมต่ออำเภอจอมทอง

  • ทางหลวงแผ่นดิน
  • ทางหลวงชนบท
    • ทางหลวงชนบท บ้านหนองล่อง – ท่าศาลา
    • ทางหลวงชนบท บ้านทุ่งปูน – ท่ามณี
    • ทางหลวงชนบท แยกทางหมายเลข 1009 – บ้านเมืองกลาง
    • ทางหลวงชนบท บ้านแท่นดอกไม้ – บ้านดงหาดนาค
    • ทางหลวงชนบท บ้านสบเตี๊ยะ - บ้านแพะดินแดง
    • ทางหลวงชนบท บ้านวังน้ำหยาด - บ้านแม่สอย
    • ทางหลวงชนบท บ้านสบแปะ - ถ้ำตอง
    • ทางหลวงชนบท บ้านทุ่งปูน-บ้านแม่เตี๊ยะ
    • ทางหลวงชนบท บ้านแม่สอย-บ้านสบแจ่มฝั่งซ้าย
    • ทางหลวงชนบท บ้านแม่กลางบ้านลุ่ม-ดอยแก้ว
    • ทางหลวงชนบท บ้านสบแปะ-ขุนแปะ
    • ทางหลวงชนบท บ้านบนพัฒนา-บ้านป่ากล้วยพัฒนา
    • ทางหลวงชนบท บ้านท่าศาลา-บ้านดงหลวง
    • ทางหลวงชนบท บ้านเมืองกลาง-บ้านป่ะหัวเสือ
    • ทางหลวงชนบท บ้านน้ำลัด-น้ำตกแม่ยะ

สถานที่ท่องเที่ยว

[แก้]

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร

[แก้]
ภายในวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ถนนเชียงใหม่ - ฮอด ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่มีความสำคัญคู่กับเมืองเชียงใหม่มายาวนาน เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสำคัญของล้านนา ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุที่พุทธศาสนิกชนชาวล้านนามากราบไหว้บูชาและสรงน้ำพระธาตุในวันสำคัญต่าง ๆ สำหรับการประดิษฐานพระบรมธาตุวัดพระธาตุศรีจอมทองฯ นี้มีความแตกต่างจากการประดิษฐานพระบรมธาตุในที่อื่นที่มักประดิษฐานภายในพระธาตุเจดีย์ จากบันทึกทางประวัติศาสตร์นับตั้งแต่เมื่อแรกสร้างวัดระบุว่า วัดมีอายุกว่า 500 ปีโดยสร้างวิหารเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุวัดพระธาตุศรีจอมทองฯ ยังเป็นวัดที่มีการก่อสร้างรวมถึงการอุปถัมภ์ด้วยกษัตริย์และเจ้านายอยู่เสมอ ซึ่งส่งผลให้พระวิหารที่ปรากฏในปัจจุบันผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง จนรูปแบบสถาปัตยกรรมพระวิหารโดยรวมกลายเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมวิหารล้านนาในยุคฟื้นฟูเชียงใหม่ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 - 25[26]

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

[แก้]

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ อยู่ท้องที่อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างเส้นรุ้งที่ 18° 24' ถึง 18° 40' เหนือ และเส้นแวงที่ 98° 24' ถึง 98° 42' ตะวันออกครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 301,500 ไร่ หรือประมาณ 482 ตารางกิโลเมตร สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกโดยใช้เส้นทางสาย เชียงใหม่ - ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ไปยังอำเภอจอมทอง ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามถนนสาย จอมทอง - ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) ประมาณ 8 กิโลเมตรก็จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติที่บริเวณน้ำตกแม่กลาง และตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 49.8 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ จะตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 31 พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ จะอยู่ในเขตอำเภอจอมทอง[27]

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์นับได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบตามหลักการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติสากล ทั้งในด้านขนาดของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ความโดดเด่นของลักษณะทางกายภาพและชีวภาพของพื้นที่ สภาพทางภูมิทัศน์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์และคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จัดได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาตี่มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุดอุทยานหนึ่งของประเทศไทย จากความหลากหลายของสภาพภูมิประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็น จุดสูงสุดของประเทศไทย ทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีสภาพเป็นหุบเขา หน้าผา ลำห้วย โตรกธารและน้ำตกต่าง ๆ และสภาพป่าชนิดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ทำให้อุทยานแห่งชาติมีศักยภาพที่สูงมากสำหรับการที่จะใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเพื่อการศึกษาทางด้านธรรมชาติวิทยา และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้แก่

จุดสูงสุดแดนสยาม​

[แก้]

ยอดดอยอินทนนท์ คือ จุดสิ้นสุดของทางหลวงหมายเลขแผ่นดิน 1009 เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย (2,565 เมตร) มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปีเป็นที่ตั้งสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทยและเป็นที่ประดิษฐานสถูปเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้ายซึ่งเล็งเห็น ความสําคัญของป่าไม้และหวงแหนดอยหลวงเป็นอย่างมากต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้จนชั่วลูกชั่ว หลาน ท่านผูกพันกับที่นี่มากจึงสั่งว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งมาไว้ที่นี่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวอยู่บริเวณใกล้กับยอดดอย แสดงนิทรรศการเรื่องราวของดอยอินทนนท์จากอดีตถึงปัจจุบัน ให้ความรู้ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ ทางชีววิทยา ป่าไม้สิ่งมีชีวิต ซึ่งบาง ชนิดหาดูได้ที่นี่แห่งเดียวในเมืองไทยผู้มาเยือนจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย

พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ

[แก้]
พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ

พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลและพระมหาธาตุเจดียน์ภพลภูมิสิริ ประดิษฐานอยู่บนที่สูงสุดในราชอาณาจักรไทยอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกสร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลสร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบเมื่อปี พ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ สร้างถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบเมื่อปี พ.ศ. 2535[28]

น้ำตกสิริภูมิ

[แก้]

น้ำตกสิริภูมิ ไหลมาจากหน้าผาสูงชัน เป็นทางยาวสวยงามมาก สามารถมองเห็นได้จาก บริเวณที่ทําการอุทยานฯ เป็นสายน้ําตกแฝดไหลลงมาคู่กันแต่เดิมเรียกว่า เลาลึ ตามชื่อของ หัวหน้าหมู่บ้านม้งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ น้ําตกสิริภูมิตั้งอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 31 บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บนของทางหลวงแผนดินหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร แต่รถไม่สามารถเข้าไปใกล้ตัวน้ําตกได้ นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไปบริเวณด้านล่างของน้ำตก

น้ำตกวชิรธาร

[แก้]
น้ำตกวชิรธาร อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ้ เดิมชื่อ ตาดฆ้องโยง น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตก ลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ในช่วงที่มีน้ำมากละอองน้ำจะสาดกระเซ็นไปทั่วบริเวณรู้สึกได้ถึงความเย็น และชุ่มชื้น และสะพานไม้ที่ทอดยาวเข้าไปหาหน้าผานั้นจะเปียกลื่นอยู่ตลอดเวลา แต่หากเดินเข้า ไปจนสุดจะได้สัมผัสกับความงามของน้ำตกมากที่สุด จากเชิงดอยอินทนนท์ขึ้นไปถึงกิโลเมตร ที่ 21 จะเห็นป้ายบอกทางแยกขวาเข้าน้ำตกลงไป 500 เมตรถนนจะถึงที่ตัวน้ำตก อีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมอยู่เลยจากทางแยกแรกไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามป่ายและเดินจาก ลานจอดรถลงไปอีก 351 เมตร หากใช้เส้นทางนี้จะได้สัมผัสกับความงามของธรรมชาติรอบด้าน ตลอดทางเดิน

น้ำตกแม่กลาง

[แก้]

น้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์มีน้ำไหลตลอดปีมีความสวยงามตามธรรมชาติการเดินทางจากทางแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 ไปอีก 8 กิโลเมตรแยกซ้าย 500 เมตรเป็นทางลาดยางตลอดเส้นทาง

น้ำตกแม่ยะ

[แก้]
น้ำตกแม่ยะ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

น้ำตกแม่ยะ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามมากแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจาก หน้าผาที่สูงชัน 280 เมตรลงมากระทบโขดหินเป็นชั้น ๆ เหมือนม้าน แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำ เบื้องล่าง น้ำใสเย็นเหมาะสําหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอีกทั้งบริเวณรอบ ๆ น้ำตกเป็นป่าเขาอัน สงบเงียบ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ด้วย บริเวณน้ําตกสะอาดและจัดการพื้นที่ได้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไป 14 กิโลเมตรและต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 200 เมตร

น้ำตกสิริธาร

[แก้]

น้ำตกสิริธาร เดิมน้ำตกแห่งนี้มีชื่อว่า น้ำตกป่าคา ซึ่งเป็นน้ำตกที่ไหลมาจากลำน้ำแม่กลาง บริเวณเทือกเขาดอยอินทนนท์ และไหลลงสู่น้ำแม่ปิงที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทอดพระเนตร ทรงพระราชทานนามน้ำตกว่า น้ำตกสิริธาร น้ำตกนี้อยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 22 เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากผาหินขนาดใหญ่มีความสูงของน้ำตกประมาณ 50 เมตรจากฐานไหลลดหลั่นกันลงมาเป็น 2 ชั้นต่อกันอย่างสวยงามมาก และมีปริมาณน้ำมากและไหลแรงตลอดทั้งปี สามารถได้ยินเสียงของน้ำตกในระยะไกล ความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ประมาณ 870 เมตร และเปิดเป็นนักท่องเที่ยวใหม่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2545 ลำน้ำสายนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่กลางและอำเภอจอมทอง ที่ใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิดเช่น กบ เขียด ปลาหลายชนิดและปลาที่หายาก เช่นปลาค้างคาว ซึ่งเป็นปลาที่ได้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oreoglanis siamensis อันเป็นเกียรติ์แก่ประเทศไทย[29]

โครงการหลวงอินทนนท์

[แก้]

โครงการหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง เดินทางตามเส้นทางสู่ดอยอินทนนท์ ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าสู่โครงการฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร โครงการหลวงอินทนนท์รับผิดชอบส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และชาวเขาเผ่าม้งในพื้นที่ ผลิตผลหลักของโครงการ คือ ไม้ดอกเมืองหนาวต่างๆ เช่น คาร์เนชั่น เบญจมาศ สแตติส ยิบโซ เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชม แปลงปลูกดอกไม้ ห้องทดลองทำการเพาะขยายพันธุ์ และยังสามารถแวะชม แปลงปลูกดอกไม้ของชาวเขาในหมู่บ้านซึ่งอยู่บริเวณปากทางเข้าโครงการฯ ได้ด้วย

กิ่วแม่ปาน

[แก้]
กิ่วแม่ปาน

เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนดอยอินทนนท์ กิ่วแม่ปาน ทางเข้าอยู่กิโลเมตรที่ 42 ด้านซ้ายมือระยะทางเดิน 3 กิโลเมตรเหมาะสําหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแท้จริง ระหว่างทางเดินจะพบป่าดิบเขา (Hill Evergreen) ก่อนผ่านเข้าสู่ทุ่งหญ้าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าถูกทําลาย เพื่อเป็นการศึกษาลักษณะการเกิดผลกระทบต่อเนื่องบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่ป่าสมบูรณ์กับพื้นที่ถูกทําลาย หลังจากนั้นทางเดินจะเลาะริมผามีไอหมอกปลิวผ่านตลอดเวลา จะพบดอกกุหลาบพันปี หรือ Rhododendron มองลงไปยังเบื้องล่างจะพบทัศนียภาพที่งดงามของอําเภอแม่แจ่ม การใช้เส้นทางนี้ต้องลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตให้ใช้เส้นทางโดยติดต่อที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์อุทยานฯ และควรจัดกลุ่มละไม่เกิน 15 คน ทางอุทยานฯไม่อนุญาตให้นําอาหารเข้าไปรับประทานในเส้นทางในช่วงฤดูฝน และจะปิดเส้นทาง เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวไม่อนุญาตให้เข้าไปท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 ตุลาคม ของทุกปี

อ่างกาหลวง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

อ่างกาหลวง

[แก้]

อ่างกาหลวง เป็นบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นและมีสภาพป่าที่หลากหลาย มีพืชพรรณนานาชนิด และด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว ซึ่งจะมีหมอกปกคลุมเกือบตลอดวัน ที่สำคัญการเกิดปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง หรือ แม่คะนิ้ง ก็สามารถพบได้บ่อยครั้ง เส้นทางนี้เป็นสะพานไม้มีความยาวประมาณ 360 เมตร ซึ่งจะใช้เวลาเดินทั้งหมดไม่เกิน 30 นาที ความมหัศจรรย์ของสภาพป่าบริเวณนี้มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 2,500 เมตร และด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีทำให้ระบบนิเวศในบริเวณนี้มีความแตกต่างออกไปจากพื้นที่อื่นในประเทศไทย โดยเฉพาะบางจุดที่มีลักษณะเป็นป่าดิบเขตอบอุ่น บางแห่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าพรุ มีพรรณไม้หายากหลายชนิด ที่สำคัญยังมีทัศนียภาพที่สวยแปลกตาจนสามารถกล่าวได้ว่าป่าแห่งนี้เป็นป่า ที่มีความงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย[30]

ถ้ำบริจินดา

[แก้]

ถ้ำบริจินดา ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8-9 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 ใกล้กับน้ำตกแม่กลาง จะเห็นทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางไปถ้ำบริจินดา ภายในถ้ำลึกหลายกิโลเมตร เพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อย หรือชาวเหนือเรียกว่า "นมผา" สวยงามมาก มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย นอกจากนั้น ยังมีธารหินเมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุสามารถมองเห็นภายในได้ถนัด เพราะมีอุโมงค์ซึ่งแสงสว่างลอดเข้ามา บริเวณปากถ้ําจะมีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่อธิบายประวัติการค้นพบถ้ำนี้

ฤดูกาลท่องเที่ยว

[แก้]

ดอยอินทนนท์สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูร้อน เดือนมีนาคม–พฤษภาคม แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่บนยอดดอยยังมีอากาศเย็นสบาย มีน้ำตกน้อยใหญ่ที่มากที่สุดแห่งของประเทศไทยและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว อาทิเช่น น้ำตกแม่ยะ น้ำตกแม่กลาง น้ำตกวชิรธาร น้ำตกสิริภูมิ เป็นต้น ฤดูฝน เดือนมิถุนายน–กันยายน ฝนตกชุกเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่า ชมสายหมอกและละอองฝนที่ผสานความสวยงามกลมกลืนกัน ฤดูหนาว เดือนตุลาคม–กุมภาพันธ์ อากาศค่อนข้างหนาว ฝนเริ่มลดน้อยลง และมีอากาศหนาวจัดที่สุดในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวมากที่สุด ในตอนกลางคืนอุณหภูมิจะลดต่ำกว่า 0 ถึง -7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิอาจติดลบในบางปี ทำให้เกิดน้ำค้างแข็งหรือแม่คะนิ้ง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยว ตามแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกบนยอดดอยอินทนนท์ เป็นที่ผ่อนคลายความร้อนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีโรงแรมและสถานพักตากอากาศจำนวนมากในเมืองจอมทอง มีสิ่งอำนวยสะดวกครบครัน รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อน

อ้างอิง

[แก้]
  1. สรัสวดี อ๋องสกุล, ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน, (กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543), 7.
  2. สภาวัฒนธรรมอำเภอจอมทอง, หนังสือประวัติเมืองจอมทอง, (เชียงใหม่: เฉลิมการพิมพ์, 2550), 6-7.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-29. สืบค้นเมื่อ 2012-10-08.
  4. "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย [เรื่อง ยุบอำเภอสลวงที่ขึ้นนครเชียงใหม่ตั้งกิ่งอำเภอเชียงดาวเป็นอำเภอเชียงดาว ตั้งกิ่งอำเภอสมิงเป็นอำเภอสเมิงขึ้นนครเชียงใหม่ แยกตำบลต่างๆรวม ๔ ตำบล ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอจอมทอง ตั้งเป็นอำเภอเมืองแจ่มขึ้นเมืองนครเชียงใหม่ แยกตำบลต่างๆรวม ๗ ตำบลในท้องที่อำเภอเมืองน่าน ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมืองสาแยกตำบลต่างๆรวม ๔ ตำบลซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองน่านเป็นกิ่งอำเภอเชียงม่อนขึ้นอำเภอเมืองน่าน]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 (15): 447–448. July 12, 1908. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-16. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  5. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยุบอำเภอลงเป็นกิ่งอำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 (0 ง): 2067. September 12, 1938. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-16. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  6. "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 56 (0 ก): 354–363. April 17, 1939. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  7. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (26 ง): 1114–1433. June 10, 1947. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  8. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (45 ง): (ฉบับพิเศษ) 57-58. May 30, 1956.
  9. "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งอำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอคำชะอี อำเภอย่านตาขาว อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอหนองบัว อำเภอวัฒนานคร อำเภอแสวงหา อำเภอท่าชนะ อำเภอพระพุทธบาท อำเภอโนนสัง อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอคีรีมาศ อำเภอชนแดน อำเภอแม่แจ่ม อำเภอไทรน้อย และอำเภอบ้านแพง พ.ศ. ๒๔๙๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (46 ก): 657–661. June 5, 1956. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  10. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 87 (60 ง): 2069–2071. July 7, 1970.
  11. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แก้ไขประกาศตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 88 (29 ง): 920–921. March 16, 1971.
  12. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 95 (117 ง): 3570–3574. October 24, 1978.
  13. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 96 (204 ง): 4745–4751. December 11, 1979.
  14. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่อาย อำเภอดอยเต่า อำเภอจอมทอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 96 (142 ง): (ฉบับพิเศษ) 1-9. August 16, 1979.
  15. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนชื่อตำบลบางแห่งในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 98 (19 ง): 353. February 3, 1981.
  16. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 108 (92 ง): 4820–4823. May 23, 1991. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-02-23. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  17. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอดอยหล่อ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 112 (พิเศษ 9 ง): 65. March 22, 1995.
  18. "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. February 24, 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  19. "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อเทศบาลตำบลบ้านหลวง เป็นเทศบาลตำบลจอมทอง พ.ศ. ๒๕๔๓" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 117 (84 ก): 7–8. September 11, 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-21. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  20. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอฆ้องชัย...และอำเภอเหล่าเสือโก้ก พ.ศ. ๒๕๕๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 124 (46 ก): 14–21. August 24, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
  21. สิ้น 'หลวงปู่ทอง' เกจิดังล้านนา พระนักปฏิบัติ สิริอายุรวม 96 ปี
  22. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-23. สืบค้นเมื่อ 2009-08-11.
  23. http://www.cm77.org/board/archiver/?tid-274.html[ลิงก์เสีย]
  24. 24.0 24.1 กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เดือนธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. สืบค้น 13 มีนาคม 2567.
  25. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-07. สืบค้นเมื่อ 2009-08-07.
  26. ธิติ พึ่งพุทธ และ พิมพ์พร ไชยพร, “แนวคิดในการออกแบบและรูปแบบผังพื้นพระวิหาร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่,” สาระศาสตร์, ฉบับที่ 5 (2565) : 193, สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567, [2]
  27. พิทักษ์ จอมเมือง, "การประเมินมูลค่าการประเมินมูลค่าทางนันทนาการของพื้นที่ป่าอนุรักษ์: กรณีศึกษา อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่," (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร คณะธุรกิจการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2544), หน้า 21-24. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567 , ใน ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์และงานวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้, [3]
  28. ธีรพัฒน์ ขันใจ และ คณะ, “การสำรวจและวิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดคราบหมองหม่นของพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล และพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่,” วารสารวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย , 12 (3) : 385, สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567, [4]
  29. สำนักอุทยานแห่งชาติ, “น้ำตกสิริธาร - อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์,” สำนักอุทยานแห่งชาติ, สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน, 2567, [5]
  30. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม กลุ่มงานจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ, “ดอยอ่างกาหลวง,” สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม กลุ่มงานจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ, สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน, 2567, [6]