ข้ามไปเนื้อหา

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพฝาง

พิกัด: 19°57′52″N 99°09′19″E / 19.96444°N 99.15528°E / 19.96444; 99.15528
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพฝาง
บ่อน้ำพุร้อนฝาง อยู่ในบริเวณติดกันกับโรงไฟฟ้า
แผนที่
ประเทศ ไทย
ที่ตั้งอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด19°57′52″N 99°09′19″E / 19.96444°N 99.15528°E / 19.96444; 99.15528
สถานะใช้งานอยู่
เริ่มโครงการธันวาคม 2532
เจ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
โรงไฟฟ้าความร้อนใต้พิภพ
ประเภทระบบสองวงจร
อุณหภูมิต่ำสุดแหล่งน้ำ130 °C (266 °F)
จำนวนบ่อ13
บ่อลึกสูงสุด100 เมตร (330 ฟุต)
อัตราไหลน้ำร้อน16.5 ลิตร/วินาที
ความสามารถในการผลิตไฟฟ้า
Units operational0.30 เมกะวัตต์
กำลังการผลิตติดตั้งรวม300 กิโลวัตต์ไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพฝาง (อังกฤษ: Fang Geothermal Power Plant) เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพเพียงแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย[1]

ประวัติ

[แก้]

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพฝาง เกิดขึ้นจากการสำรวจร่วมกันของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการหาพื้นที่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนจากใต้พิภพในพื้นที่อำเภอสันกำแพงและอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 โดยความช่วยเหลือทางวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฝรั่งเศส[1] คือองค์การฝรั่งเศสเพื่อการจัดการด้านพลังงาน (AFME) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524[2] และกรมป่าไม้ได้ประกาศพื้นที่เป็นวนอุทยานชื่อว่า "วนอุทยานบ่อน้ำร้อนฝาง" และถูกยกระดับขึ้นเป็นอุทยานลำดับที่ 97 ของประเทศไทย ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 และเปลี่ยนชื่อเป็น อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551[3]

ผลการศึกษา

[แก้]

จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2524 พบว่าหลุมเจาะระดับตื้นในแหล่งฝางนั้นมีคุณสมบัติที่จะสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ ทำให้ในปี พ.ศ. 2531 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงได้จัดซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบบสองวงจร มีขนาดกำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ ติดตั้งเป็นโรงไฟฟ้าสาธิตที่ใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นที่แรก ใช้น้ำร้อนจากหลุมขุดเจาะระดับตื้นมีอุณหภูมิอยู่ที่ 130 องศาเซลเซียส อัตราปริมาณการไหลอยู่ที่ 16.5 ถึง 22 ลิตรต่อวินาที เพื่อมาถ่ายเทความร้อนให้กับสารทำงาน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 1.2 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และป้อนเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค[1]

ส่วนน้ำร้อนหลังจากผ่านกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะมีอุณหภูมิลดลงเหลือ 77 องศาเซลเซียส สามารถใช้ในการอบแห้งหรือใช้งานสำหรับห้องเย็นในการรักษาผลิตผลทางการเกษตร และบางส่วนสามารถปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้โดยไม่ต้องบำบัด[1]

รายละเอียด

[แก้]

ข้อมูลจากการศึกษาและดำเนินการ โรงไฟฟ้ากำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ไฟฟ้า เป็นรูปแบบวงจรกังหันแรงคืน (Organic Rankine Cycle Turbine) มีคุณสมบัติ[2] ดังนี้

  • อัตราการไหลน้ำร้อน 16.5 ลิตร / วินาที (ร้อยละ 75 ของอัตราไหลสูงสุด)
  • อุณหภูมิน้ำร้อนเฉลี่ยขาเข้า 115 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิในท่อลดลง 2 องศาเซลเซียส)
  • อุณหภูมิน้ำร้อนไหลออก 77 องศาเซลเซียส
  • อัตรการไหลของน้ำเย็น 72.2 ลิตร / วินาที
  • อุณหภูมิน้ำเย็นเฉลี่ยเข้า 20 องศาเซลเซียส
  • กำลังผลิตสูงสุด 300 กิโลวัตต์ไฟฟ้า
  • กำลังผลิตสุทธิ 200 กิโลวัตต์ไฟฟ้า

การวิพากษ์วิจารณ์

[แก้]

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารมติชนรายสัปดาห์ว่า รัฐบาลควรจะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในประเทศให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะพลังงานความร้อนใต้พิภพ เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนาในประเทศด้านนี้มากเท่าที่ควร จากแหล่งน้ำร้อนธรรมชาติกว่า 112 แห่งที่มีศักยภาพอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานฟอสซิลนั้น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนจะมีต้นทุนต่ำกว่าพลังงานฟอสซิลถึง 8 เท่า[4]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Geothermal electricity in Thailand การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศไทย". iEnergyGuru. 2015-09-24.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 โครงการเอนกประสงค์พลังงานความร้อนใต้พิภพ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2529.
  3. เชียงใหม่นิวส์ (2019-05-27). "น้ำพุร้อนฝาง แหล่งพลังงานไฟฟ้าใต้พิภพแห่งเดียวของไทย". Chiang Mai News.[ลิงก์เสีย]
  4. "จดหมายจากฮาร์วาร์ด | 3 สิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้ จากคนไทยในบอสตัน (และโอกาสสำหรับเศรษฐกิจไทย) - มติชนสุดสัปดาห์". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 2024-10-21.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)