ข้ามไปเนื้อหา

เทศบาลตำบลบ้านหลวง

พิกัด: 18°29′25″N 98°40′28.6″E / 18.49028°N 98.674611°E / 18.49028; 98.674611
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทศบาลตำบลบ้านหลวง
น้ำตกแม่กลางในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ทต.บ้านหลวงตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
ทต.บ้านหลวง
ทต.บ้านหลวง
ที่ตั้งของเทศบาลตำบลบ้านหลวง
พิกัด: 18°29′25″N 98°40′28.6″E / 18.49028°N 98.674611°E / 18.49028; 98.674611
ประเทศ ไทย
จังหวัดเชียงใหม่
อำเภอจอมทอง
จัดตั้ง27 ตุลาคม พ.ศ. 2552 (ทต.บ้านหลวง)
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์
พื้นที่
 • ทั้งหมด366 ตร.กม. (141 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2561)
 • ทั้งหมด13,785 คน
 • ความหนาแน่น37.67 คน/ตร.กม. (97.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.05500204
ทางหลวง
ที่อยู่
สำนักงาน
1 หมู่ 20 บ้านน้ำตกแม่กลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง
โทรศัพท์0-5303-3618
โทรสาร0-5311-4370
เว็บไซต์banloung.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เทศบาลตำบลบ้านหลวง เป็นเทศบาลตำบลแห่งหนึ่งในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลบ้านหลวง โดยส่วนที่เหลืออยู่ในเขตเทศบาลตำบลจอมทอง มีพื้นที่ประมาณ 366 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นเทศบาลตำบลขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลตำบลบ้านหลวงเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ภูเขาและป่าไม้ขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันมีชื่อของประเทศ ทำให้มีการเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มจำนวนของสถานประกอบการท่องเที่ยว

ประวัติ

[แก้]

การเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเทศราชเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ทำให้นครเชียงใหม่ ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ถูกลดบทบาทลงมาเป็นหัวเมืองหนึ่งในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2443 ทางราชการได้ตั้งชุมชนที่อยู่โดยรอบวัดพระธาตุศรีจอมทอง ให้เป็นเมืองหนึ่ง โดยใช้ชื่อ "แขวงจอมทอง" และให้ใช้ชื่อเรียกตามตำนานวัดพระศรีจอมทอง (ปัจจุบันเป็น วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร) แขวงจอมทอง มีพื้นที่ปกครอง 4 แคว้น คือ แคว้นบ้านหลวง แคว้นสองแคว แคว้นเตี๊ยะ แคว้นบ้านแปะ[ต้องการอ้างอิง] ต่อมา กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศยกฐานะสภาตำบลบ้านหลวงเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง เมื่อ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2539[ต้องการอ้างอิง] ต่อมาจึงได้รับการยกฐานะเป็น "เทศบาลตำบลบ้านหลวง" เมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552[1] การประกาศเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลบ้านหลวงเมื่อ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ได้แยกพื้นที่หมู่ที่ 1 และบางส่วนของหมู่ที่ 2, 3 และ 4 ของตำบลบ้านหลวงไปรวมกับเทศบาลตำบลจอมทอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ[2]

อนึ่ง ชื่อ "เทศบาลตำบลบ้านหลวง" เคยเป็นชื่อเดิมของเทศบาลตำบลจอมทองในช่วง พ.ศ. 2542–2543 (ในอดีตเป็นเขตสุขาภิบาลบ้านหลวง) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านหลวงในปัจจุบันที่ในขณะนั้นยังมีฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง โดยได้เปลี่ยนชื่อเป็นเทศบาลตำบลจอมทองเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนกับชื่อ อบต.บ้านหลวง[3]

ภูมิศาสตร์

[แก้]

ที่ตั้ง

[แก้]

เทศบาลตำบลบ้านหลวงตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอจอมทองประมาณ 10 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 65 กิโลเมตร เทศบาลมีพื้นที่ประมาณ 366 ตารางกิโลเมตร[4][2] คิดเป็นร้อยละ 51 ของพื้นที่อำเภอจอมทองซึ่งมีขนาดประมาณ 712 ตารางกิโลเมตร และเป็นเทศบาลตำบลที่มีพื้นที่มากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง และตำบลสันติสุข อำเภอดอยหล่อ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลดอยแก้ว ตำบลสบเตี๊ยะ และเทศบาลตำบลจอมทอง อำเภอจอมทอง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง และตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลช่างเคิ่ง ตำบลท่าผา และตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม

ภูมิประเทศ

[แก้]

เทศบาลตำบลบ้านหลวงมีภูมิประเทศหลักแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ราบ (ครอบคลุมหมู่ที่ 2, 3, 4 และ 13) พื้นที่เชิงเขา (ครอบคลุมหมู่ที่ 10, 11, 12, 14, 16, 20 และ 21) และพื้นที่ภูเขา (ครอบคลุมหมู่ที่ 5, 6, 7, 8, 9, 15, 17, 18, 19, 22 และ 23) โดยมีสัดส่วนพื้นที่ภูเขามากที่สุด และมีพื้นที่ราบสำหรับเพาะปลูกค่อนข้างน้อย พื้นที่ภูเขาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์[4] เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของลุ่มแม่น้ำปิง แหล่งน้ำสำคัญได้แก่ น้ำแม่กลาง น้ำแม่ยะ น้ำแม่ปอน น้ำแม่หอย น้ำแม่กว๋าว ห้วยตองซาน ห้วยแม่หาด และห้วยขนาดเล็กอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ทั้งหมดไหลลงสู่แม่น้ำปิง พื้นที่ราบกลางภูเขามีการปลูกพืชสวน ทำนา และทำไร่หมุนเวียนบางแห่ง[5] ป่าไม้ในพื้นที่เชิงเขาและภูเขาประกอบด้วยป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบ โดยมีพื้นที่รวมกันกว่า 292 ตารางกิโลเมตร[ก] คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งเทศบาล

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

เทศบาลตำบลบ้านหลวงประกอบด้วย 22 หมู่บ้าน ตั้งแต่หมู่ 2 ถึงหมู่ 23 ส่วนหมู่ที่ 1 บ้านแท่นคำ รวมถึงบางส่วนของหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 อยู่ในเขตปกครองของเทศบาลตำบลจอมทอง[1][2] รายชื่อหมู่บ้านมีดังนี้

  1. หมู่ 2 บ้านลุ่มใต้ (บางส่วน)
  2. หมู่ 3 บ้านหลวงใต้ (บางส่วน)
  3. หมู่ 4 บ้านแม่กลาง (บางส่วน)
  4. หมู่ 5 บ้านขุนยะ
  5. หมู่ 6 บ้านป่าแขม
  6. หมู่ 7 บ้านขุนกลาง
  7. หมู่ 8 บ้านผาหมอน
  8. หมู่ 9 บ้านเมืองอาง
  1. หมู่ 10 บ้านแม่หอย
  2. หมู่ 11 บ้านเมืองกลาง
  3. หมู่ 12 บ้านหัวเสือ
  4. หมู่ 13 บ้านน้ำลัด
  5. หมู่ 14 บ้านปะ
  6. หมู่ 15 บ้านแม่ปอน
  7. หมู่ 16 บ้านตาดมื่น
  1. หมู่ 17 บ้านอ่างกาน้อย
  2. หมู่ 18 บ้านแม่ยะน้อย
  3. หมู่ 19 บ้านห้วยเฮี๊ยะ
  4. หมู่ 20 บ้านน้ำตกแม่กลาง
  5. หมู่ 21 บ้านกู่ฮ่อสามัคคี
  6. หมู่ 22 บ้านหนองหล่ม
  7. หมู่ 23 บ้านใหม่ห้วยเฮี๊ยะ

สังคม

[แก้]

จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2561 เทศบาลตำบลบ้านหลวงมีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ทั้งสิ้น 13,785 คน 3,867 ครัวเรือน[6] ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาทำอาชีพเกษตรกรรมและค้าขาย มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชไม้ดอกไม้ประดับโดยหน่วยงานโครงการหลวง ส่วนประชากรในพื้นที่ราบทำอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาและทำสวนผลไม้[4][5]

สถานที่สำคัญ

[แก้]
สถานที่ท่องเที่ยว
ศาสนสถาน
  • วัดน้ำตกแม่กลาง (หมู่ 20)
  • วัดเมืองกลาง (หมู่ 11)
  • วัดเชิงดอย
  • วัดน้ำต้อง (หมู่ 10)
  • วัดพระบาท
  • วัดพระธาตุดอยพระเจ้า
  • วัดน้ำลัด (หมู่ 13)
  • วัดพระเกิ๊ด (หมู่ 13)
  • วัดป่านิยมไพรผาหมอน (หมู่ 8)
  • สำนักสงฆ์ขุนกลาง (หมู่ 7)
  • คริสตจักรบ้านขุนกลาง (หมู่ 7)

เชิงอรรถ

[แก้]
ก. ^ คำนวณจากพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน[5] ประเภทป่าไม่ผลัดใบ 99,396.03 ไร่ และป่าผลัดใบ 83,216.44 ไร่ รวม 182,612.47 ไร่ เทียบเท่าพื้นที่ 292.18 ตารางกิโลเมตร

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา (2552).ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเทศบาลตำบลบ้านหลวง, สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562.
  2. 2.0 2.1 2.2 ราชกิจจานุเบกษา (2554).ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่, สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562.
  3. ราชกิจจานุเบกษา (2543).พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อเทศบาลตำบลบ้านหลวง เป็นเทศบาลตำบลจอมทอง พ.ศ. 2543 เก็บถาวร 2020-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562.
  4. 4.0 4.1 4.2 สภาพทั่วไป เก็บถาวร 2019-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, จากเว็บไซด์เทศบาลตำบลบ้านหลวง, สืบค้นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562.
  5. 5.0 5.1 5.2 แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่[ลิงก์เสีย], ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน, สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562.
  6. รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน พ.ศ. 2561 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]