อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร
Princess Sirindhorn AstroPark | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 27 มกราคม 2563 |
สำนักงานใหญ่ | 260 หมู่ 4 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ |
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน |
|
เว็บไซต์ | www |
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (อังกฤษ: Princess Sirindhorn AstroPark) เป็นศูนย์ดาราศาสตร์แห่งชาติของประเทศไทยและเป็นที่ตั้งสำนักงานของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางดาราศาสตร์ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาวิจัย บ่มเพาะและสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ เป็นศูนย์บริการข้อมูล ฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีดาราศาสตร์ จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการที่สำคัญ
ประวัติ
[แก้]โครงการอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 รัฐบาลได้อุดหนุนงบประมาณก้อนแรกจำนวน 406 ล้านบาท มีกำหนดเริ่มก่อสร้างปี 2556 และเปิดใช้งานในปี 2559 แต่กระบวนการล่าช้าจนเริ่มก่อสร้างได้จริงในปี 2558 และมีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2561[1] อย่างไรก็ตามการก่อสร้างยังคงล่าช้าจากเนื่องจากงบประมาณที่บานปลาย โครงการนี้เปิดใช้งานเต็มรูปแบบในปี 2563 ปัจจุบันคาดว่ารัฐได้ลงทุนในอาคารและอุปกรณ์ภายในอุทยานแห่งนี้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท
ส่วนประกอบในอุทยาน
[แก้]อาคารสำนักงาน
[แก้]ประกอบด้วย งานวิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ ศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องสมุดดาราศาสตร์ ศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติ และส่วนงานสนับสนุนภารกิจหลัก
อาคารปฏิบัติการ
[แก้]เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวแห่งชาติ และวิศวกรรม ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ห้องปฏิบัติการเคลือบกระจก
อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ
[แก้]ประกอบด้วย ส่วนท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล 360 องศา รองรับความละเอียดสูงสุด 8K ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร ความจุ 160 ที่นั่ง[2] และพื้นที่สำหรับรถผู้พิการ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของไทย แต่มีความคมชัดที่สุดในอาเซียน ส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ 19 โซน ได้แก่ การสำรวจระบบสุริยะ เสียงแห่งเอกภพ การเกิดเฟสดวงจันทร์ การเกิดน้ำขึ้น-น้ำลง เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิกฝีมือคนไทย สเปกตรัมกับการศึกษาทางดาราศาสตร์ การสังเกตกลุ่มดาวบนท้องฟ้า รูม่านตากับความเข้มแสง การเกิดฤดูกาล การเปรียบเทียบน้ำหนักบนดาวเคราะห์ น้ำหนักของคุณบนดาวเคราะห์ การเกิดพายุบนดาวเคราะห์แก๊ส อุกกาบาต วิวัฒนาการดาวฤกษ์ ไทม์ไลน์การกำเนิดเอกภพ ลูกตุ้มเพนดูลัมกับการพิสูจน์การหมุนของโลก ภารกิจยานสำรวจดาวอังคาร ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ นิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์
หอดูดาว
[แก้]เป็นอาคารสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบต่าง ๆ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีขีดความสามารถสูง จำนวน 5 ชุด สำหรับให้บริการดูดาว สังเกตวัตถุท้องฟ้า รวมทั้งถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า เปิดบริการทุกวันเสาร์ 18:00-22:00 น. ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคม
ลานกิจกรรมกลางแจ้ง
[แก้]ใช้ในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ เช่น กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน การสังเกตปรากฏการณ์ท้องฟ้าและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ
ส่วนให้บริการประชาชน
[แก้]การให้บริการ | อังคาร-ศุกร์ | เสาร์ | อาทิตย์ | ค่าธรรมเนียม |
---|---|---|---|---|
นิทรรศการดาราศาสตร์ | 09:00 - 16:00 น. | 10:00 - 17:00 น. | 10:00 - 17:00 น. | ไม่มี |
ท้องฟ้าจำลอง : เรียนรู้การชมท้องฟ้าและดวงดาว 30 นาที ภาพยนตร์ดาราศาสตร์ 30 นาที | 11:00 น. / 14:00 น. | 11:00 น. / 14:00 น. / 17:00 น. | 11:00 น. / 14:00 น. | นักเรียน นักศึกษา 30 บาท
บุคคลทั่วไป 50 บาท |
กิจกรรมดูดาว NARIT Public Night เฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม | 18:00-22:00 น. | ไม่มี |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ทุ่มงบสร้างเชียงใหม่ เป็นศูนย์ดาราศาสตร์ ไทยรัฐ. 4 ส.ค. 2558
- ↑ สดร.เตรียมเปิดท้องฟ้าจำลองขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 17 ม. เต็มรูปแบบกุมภาพันธ์ 2563 25 ธันวาคม 2562. เชียงใหม่นิวส์.