โรงพยาบาลศิริราช
โรงพยาบาลศิริราช | |
---|---|
โรงพยาบาลศิริราช มุมมองจากฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
ภูมิศาสตร์ | |
ที่ตั้ง | ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร, ไทย |
พิกัด | 13°45′35″N 100°29′14″E / 13.7596859°N 100.4872529°E |
หน่วยงาน | |
ประเภท | โรงพยาบาลเพื่อการเรียนการสอน |
สังกัด | คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล |
บริการสุขภาพ | |
แผนกฉุกเฉิน | มี |
จำนวนเตียง | 2,160[1] |
ประวัติ | |
เปิดให้บริการ | พ.ศ. 2431 |
ลิงก์ | |
เว็บไซต์ | si |
ลิงก์อื่น | โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย |
โรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โรงพยาบาลศิริราชเคยเป็นที่ประทับรักษาพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์และบุคคลสำคัญ ผู้อำนวยการได้แก่ ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร
ประวัติ
[แก้]ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดอหิวาตกโรคระบาดชุกชุมเมื่อ พ.ศ. 2424 ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นชั่วคราวในที่ชุมชนรวม 48 ตำบล ครั้นโรคร้ายเสื่อมถอยลง โรงพยาบาลจึงได้ปิดทำการ หากแต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า โรงพยาบาลนั้นยังประโยชน์บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พสกนิกรและผู้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร แต่การโรงพยาบาลนั้นเป็นการใหญ่ จำเป็นอยู่ที่ต้องมีคณะกรรมการเพื่อจัดการโรงพยาบาลให้สำเร็จ
วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดสร้างโรงพยาบาล ได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศิริธัชสังกาศ, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์, พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เถียร โชติกเสถียร), หลวงสิทธินายเวร (บุศย์ เพ็ญกุล) และดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน ทำหน้าที่จัดการและดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลเพื่อพระราชทานให้เป็นสถานที่รักษาแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลนั้น อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง ซึ่งเป็นวังเดิมของ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่รกร้าง แต่มีความร่มเย็นเหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย[2]
ในระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสอันประสูติจาก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ได้ประชวรโรคบิดและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ยังความอาลัยเศร้าโศกแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ถึงกับมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะให้มีโรงพยาบาลขึ้น ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเมรุ 5 ยอดขึ้นเป็นพิเศษด้วยไม้จริงทั้งหมด ครั้นเสร็จงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย และสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่าง ๆ ในงานพระเมรุนำไปสร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณวังหลังดังกล่าว นอกจากนี้ยังพระราชทานทรัพย์ส่วนของเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์แก่โรงพยาบาลอีกด้วย
ในระยะแรกคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า "โรงศิริราชพยาบาล" ตามพระนามของเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์[3] หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "โรงพยาบาลวังหลัง" โดยทำการบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของไทย
โรงพยาบาลศิริราชเคยเป็นที่ประทับรักษาพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์และบุคคลสำคัญ เช่น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในรัชกาลที่ 6, พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ หม่อมหลวงบัว กิติยากร เป็นต้น
อาคารสำคัญ
[แก้]ศาลาศิริราช 100 ปี เป็นสถานที่ส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช จัดสร้างขึ้นเนื่องในการสมโภชครบ 100 ปี ของโรงพยาบาลศิริราช เมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลาศิริราช 100 ปี พร้อมกับตึกอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2531 โดยภายในลานศาลาศิริราช 100 ปี ประกอบด้วย พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และห้องโถงศิริราช 100 ปี (ซึ่งอยู่ภายในตึก 72 ปี) [4][5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://gishealth.moph.go.th/healthmap/infoequip.php?maincode=13814&id=131412[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ว่าด้วยกอมิตีผู้จัดการโรงพยาบาล ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดตั้งโรงพยาบาล (ที่วังกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง (วังหลัง), เล่ม ๔, ตอน ๕, ๕ พฤษภาคม จ.ศ.๑๘๘๗, หน้า ๓๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกรมพยาบาล, เล่ม ๕, ตอน ๔๐, ๑๓ กุมภาพันธ์ จ.ศ. ๑๘๘๘, หน้า ๓๔๒
- ↑ "วารสารศิริราชประชาสัมพันธ์ เดือนธันวาคม 2548" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-03-07. สืบค้นเมื่อ 2010-08-05.
- ↑ "วารสารศิริราชประชาสัมพันธ์ เดือนมิถุนายน 2549" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-06. สืบค้นเมื่อ 2010-08-05.
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เก็บถาวร 2006-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงพยาบาลศิริราช
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์