วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร | |
---|---|
พระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม | |
ที่ตั้ง | แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700 |
ประเภท | พระอารามหลวง ชั้นโท |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร หรือนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า วัดสุวรรณาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร[1] ปัจจุบันตั้งอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ตรงข้ามกับแยกบางขุนนนท์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย โดยติดอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก
ประวัติ
[แก้]วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดทอง ลักษณะเป็นลานกว้างขวาง ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำรัสให้นำเชลยศึกพม่าจากค่ายบางแก้วไปประหารชีวิต ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงรับมาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์และสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอารามและพระราชทานนามว่า "วัดสุวรรณาราม" ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์มีพระนามเดิมว่า "ทองด้วง" เช่นเดียวกับชื่อวัด นอกจากนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระราชศรัทธาสร้างเมรุหลวงสำหรับใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งตามประเพณีต้องนำไปฌาปนกิจนอกกำแพงพระนครชั้นนอก เมรุหลวงนี้ใช้มาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5
ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณารามและให้ช่างเขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถด้วย มีงานของหลวงวิจิตรเจษฎา (ทองอยู่) ผู้เขียนเนมิราชชาดก กับหลวงเสนีย์บริรักษ์ (คงแป๊ะ) ผู้เขียนมโหสถชาดก ซึ่งเป็นจิตรกรขึ้นชื่อในยุคนั้นทั้งคู่ โดยทั้งคู่เขียนด้วยการประชันกัน โดยใช้ผ้าคลุมและเปิดออกเผยให้เห็นเมื่องานเสร็จแล้ว นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังในยุครัตนโกสินทร์ที่สวยงาม มีความละเอียดอ่อนของลายเส้นและรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีความสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย [2]
พระราชทานเพลิงพระศพ เชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวง
[แก้]หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 พม่าได้กวาดต้อนเชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวงกลับไปกรุงอังวะกว่า 2,000 พระองค์ ตามการบันทึกของเอกสาร "มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า" ที่ได้บันทึกรายพระนามไว้อย่างละเอียด เหลือแต่เชื้อพระวงศ์บางพระองค์ที่ทรงพระประชวรอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้น ได้แก่ เจ้าฟ้าสุริยา 1 เจ้าฟ้าพินทวดี 1 เจ้าฟ้าจันทวดี 1 พระองค์เจ้าฟักทอง 1 ทั้ง 4 พระองค์นี้เป็นราชบุตรีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง 1 หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร 1 หม่อมเจ้ามณีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดี 1 หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจีด 1 และยังมีพระองค์เจ้าทับทิม บุตรีของสมเด็จพระอัยกานั้น พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากสินได้สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้ในเวลาต่อมา
เชื้อพระวงศ์อยุธยาทั้งหมดได้ถูกทูลเชิญลงมาพำนักที่พระราชวังกรุงธนบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทูลเชิญเชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวงทั้งหมดจากราชสำนักกรุงธนบุรี มาพำนักยังพระบรมมหาราชวังด้วย ในปี พ.ศ.2344 เจ้าฟ้าพินทวดีแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงทรงสิ้นพระชนม์ลง ได้มีบันทึกในหมายรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวถึงการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าฟ้ากิม (คาดว่าคือเจ้าฟ้าพินทวดี) ณ เมรุวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2345 และสันนิฐานว่าอาจเป็นที่พระราชทานเพลิงพระศพของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอยุธยาทั้ง 4 พระองค์ อันเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีศักดิ์เป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร และสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์)
สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม
[แก้]ทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม พระอุโบสถ สร้างตามแบบแผนศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 มีเสาทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีระเบียงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ช่อฟ้าใบระกาประดับกระจก หน้าบันจำหลักลายรูปเทพนมและรูปนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง สถาปัตยกรรมอื่นๆ ภายในวัดได้แก่ พระวิหารสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีมุขขวางทั้งด้านหน้าและด้านหลังกับหมู่กุฏิสงฆ์ที่เป็นเรือนไม้ฝาปะกน เก่าแก่และงดงามมาก หมู่กุฏิสงฆ์ เป็นหมู่ตึก 6 หลัง มีหอฉันอยู่กลางและมีหอเล็กติดกำแพง 2 หอพร้อมทั้งหอระฆังและหอไตร
ภายในพระอุโบสถ นอกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้วยังเป็นที่ประดิษฐานของพระศาสดา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ฝีมือช่างเดียวกันกับพระศรีศากยมุนีที่วัดสุทัศน์ (ฝีมือช่างสุโขทัยมีนามว่า "พระศาสดา") สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปที่เชิญมาแต่กรุงสุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ 1 มีความเชื่อและความศรัทธาในพระศาสดาว่า มีความศักดิ์สิทธิ์และดลบันดาลให้สมประสงค์ได้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเกณฑ์ทหาร ผู้คนจึงนิยมมาแก้บนด้วยการนำผ้าขาวม้ามาผูกเอวและวิ่งวนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ พร้อมกับส่งเสียงเหมือนม้าร้องไปด้วย เรียกว่า "วิ่งม้า" เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่าในอดีต มีผู้พบเห็นม้าสีขาวตัวหนึ่งวิ่งวนรอบพระอุโบสถ จึงเชื่อกันว่าพระศาสดาคงโปรดม้า[3][2]
ลำดับเจ้าอาวาส
[แก้]ลำดับที่ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
---|---|---|---|
1 | พระธรรมเจดีย์ | ? | ? |
2 | พระธรรมกิตติ | ? | ? |
3 | พระญาณสมโพธิ | ? | ? |
4 | พระเทพมุนี (กัน) | ? | พ.ศ. 2410 |
5 | พระธรรมธราจารย์ (ด้วง) | พ.ศ. 2410 | พ.ศ. 2413 |
6 | พระธรรมธราจารย์ (นาค) | พ.ศ. 2413 | พ.ศ. 2416 |
7 | พระศีลาจารพิพัฒ (ศรี) | พ.ศ. 2417 | พ.ศ. 2439 |
8 | พระครุปัญญาวิมล (เนียม) | พ.ศ. 2439 | พ.ศ. 2441 |
9 | พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี (ทับ อินฺทโชโต) | พ.ศ. 2441 | พ.ศ. 2455 |
10 | พระครูสังวราธิคุณ (เทศ) | พ.ศ. 2458 | พ.ศ. 2463 |
11 | พระสาธุศีลสังวร (เผื่อน อุคฺคเสโน) | พ.ศ. 2465 | พ.ศ. 2466 |
12 | พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี (ผัน จนฺทโชโต) | พ.ศ. 2470 | พ.ศ. 2501 |
13 | สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ สุวฑฺฒโน) | พ.ศ. 2502 | พ.ศ. 2553 |
14 | พระราชปริยัติโมลี (ไพบูลย์ วิปุโล) | พ.ศ. 2554 | พ.ศ. 2556 |
15 | พระธรรมวชิราจารย์ (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ) | พ.ศ. 2556 | ปัจจุบัน |
เรื่องเล่าลือ
[แก้]นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องเล่าลือกันว่าที่วัดแห่งนี้มีผีสิง ด้วยเป็นดวงวิญญาณของทหารพม่าที่ถูกประหารชีวิตจำนวนมากในสมัยกรุงธนบุรี ครั้งหนึ่งมีการบูรณะโรงเรียนวัดสุวรรณาราม ซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของวัด มีการขุดพบโครงกระดูกที่ข้อแขนหรือข้อขามีกำไลนากสวมอยู่ นักการภารโรงผู้หนึ่งพบเข้าจึงแอบหยิบกลับมาและนำไปขายต่อ ได้เงินมาซื้ออาหารจำนวนมากเลี้ยงภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ตกดึกคืนนั้นภรรยาของภารโรงผู้นี้ก็ฝันเห็นทหารพม่ามาทวงกำไลคืน จึงเล่าให้ผู้เป็นสามีฟัง แต่ภารโรงก็ไม่รู้จะไปหาคืนมาได้อย่างไรเพราะได้ขายต่อไปแล้ว หลังจากนั้นไม่นาน ภรรยาที่ตั้งครรภ์อยู่นั้นก็เสียชีวิต และไม่นาน ภารโรงก็เสียชีวิตตามไปด้วย ผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้จึงมีความหวาดกลัว และได้ตั้งศาลบูชาขึ้นมาให้เป็นที่สิงสถิตย์ของเหล่าดวงวิญญาณทหารพม่า และได้ตั้งอีกศาลหนึ่งขึ้นมาซึ่งภายในเป็นรูปวาดของทหารไทยโบราณ 3 นาย เรียกว่า "ศาลเสด็จพ่อสามพระยา" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนายทหารผู้ที่ควบคุมเชลยศึกพม่ามาแต่ครั้งนั้น เพื่อให้ควบคุมเหล่าดวงวิญญาณทหารพม่าอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันศาลทั้ง 2 อยู่ในบริเวณลานโรงเรียนวัดสุวรรณาราม นอกจากนี้แล้วยังมีผู้พบเห็นผีหรือดวงวิญญาณหลายต่อหลายครั้ง เช่น ปรากฏมาในรูปของผีหัวขาด, เป็นผู้หญิงนั่งห้อยขาอยู่ริมน้ำ หรือเปรตบนหอระฆัง เป็นต้น[2] [4] [5]
สถานที่ใกล้เคียง
[แก้]- สำนักงานเขตบางกอกน้อย
- โรงเรียนวัดสุวรรณาราม
- ชุมชนบ้านบุ
- ตลาดไร้คาน หรือ ตลาดวัดทอง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๙๐
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "Lineกนก ตอน ลมหายใจสุดท้ายของชุมชน ช่วงที่ 1 ชุมชนบ้านบุ". เนชั่นทีวี. 2014-10-01.
- ↑ ""วิ่งม้าแก้บน" ทำบุญกุศลรับปีใหม่ ที่ "วัดสุวรรณาราม"". ผู้จัดการออนไลน์. 2014-01-03.[ลิงก์เสีย]
- ↑ หนุ่มลูกทุ่ง (2007-10-30). "สยองขวัญวันปล่อยผี กับเรื่องผีๆในเมืองกรุง". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-21. สืบค้นเมื่อ 2018-03-18.
- ↑ "ผวา!! หนุ่มเล่าเหตุการณ์หลังเจอดี "ผีหัวเรือ" วัดสุวรรณาราม งานนี้ถึงกับ..?(มีคลิป)". ทีนิวส์. 2016-06-28.
- วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร dhammathai.org
- วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เก็บถาวร 2008-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน bangkoktourist.com
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์