การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย
การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย | |
---|---|
ความชุกของผู้ติดเชื้อยืนยันต่อประชากรแสนคนรายจังหวัด | |
จำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมแยกรายจังหวัด | |
โรค | โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 |
สถานที่ | ประเทศไทย |
การระบาดครั้งแรก | อู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน |
ผู้ป่วยต้นปัญหา | ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ |
วันแรกมาถึง | 8 มกราคม พ.ศ. 2563 (4 ปี 358 วัน) |
ผู้ป่วยยืนยันสะสม | 4,692,636 คน[1] |
หาย | 4,692,636 คน[1] |
เสียชีวิต | 34,586 คน[1] |
ddc |
การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ดำเนินอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ปี พ.ศ. 2563 และเป็นส่วนหนึ่งของการระบาดทั่วโลกของโควิด-19 โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่พบผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 รายแรกนอกประเทศจีน[2] การคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศพบผู้ป่วยประปรายตลอดเดือน ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากหรือเป็นผู้พำนักอยู่ในประเทศจีนแทบทั้งสิ้น จนเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 ถึงมีรายงานว่าพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการแพร่เชื้อในประเทศเป็นครั้งแรก[3] จำนวนผู้ป่วยยังมีน้อยตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2563 โดยมีผู้ป่วยยืนยัน 40 รายเมื่อสิ้นเดือน แต่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากในกลางเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งมีการระบุสาเหตุจากกลุ่มการแพร่เชื้อจากหลายกลุ่ม ซึ่งกลุ่มใหญ่สุดเกิดขึ้นในการแข่งขันชกมวยไทย ณ สนามมวยเวทีลุมพินี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563[4] ผู้ป่วยยืนยันแล้วเพิ่มเกิน 100 คนต่อวัน ในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา
การตอบสนองของรัฐบาลต่อการระบาดเริ่มจากการคัดกรองและการติดตามการสัมผัส มีการคัดกรองโควิดตามท่าอากาศยานนานาชาติ ตลอดจนที่โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางหรือสัมผัส[5] มีการสอบสวนโรคกรณีที่เกิดกลุ่มการระบาด กระทรวงศึกษาธิการเน้นการเฝ้าระวังตนเอง การรักษาความสะอาดโดยเฉพาะการล้างมือ และการเลี่ยงฝูงชน (หรือใส่หน้ากากอนามัยแทน)[6] แม้บุคคลที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงสูงจะได้รับคำแนะนำให้กักตนเอง แต่ยังไม่มีคำสั่งจำกัดการเดินทางจนวันที่ 5 มีนาคม 2563[7] และวันที่ 19 มีนาคม 2563 มีประกาศเพิ่มเติมให้ต้องมีเอกสารการแพทย์รับรองการเดินทางระหว่างประเทศและคนต่างด้าวต้องมีประกันสุขภาพ[8][9] ปลายเดือนมีนาคม 2563 สถานที่สาธารณะและธุรกิจห้างร้านได้รับคำสั่งให้ปิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัด[10] นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลวันที่ 26 มีนาคม[11] และมีประกาศห้ามออกนอกเคหะสถานยามวิกาล ตั้งแต่คืนวันที่ 3 เมษายน 2563[12] พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินยังสั่งงดจำหน่ายสุราชั่วคราวและให้ประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งยกเลิกเป็นส่วนใหญ่ในเดือนกรกฎาคมและเปิดสถานศึกษาในช่วงสิงหาคม 2563 อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังไม่ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อมาพบการระบาดของโรครอบใหม่ในจังหวัดสมุทรสาครประมาณกลางเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งสงสัยว่ามาจากแรงงานต่างด้าวที่มีการลักลอบพาเข้าประเทศ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 20 เดือนเมษายน 2564 พบการระบาดใหม่โดยมีคลัสเตอร์ที่ย่านทองหล่อและนราธิวาส
รัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการรับมือวิกฤตการณ์ในหลาย ๆ ด้าน ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังเกิดความกังวลต่อการกักตุนและโก่งราคาขายหน้ากากอนามัย รัฐบาลเข้าควบคุมราคาและแทรกแซงการจัดจำหน่าย[13] แต่ยังไม่สามารถป้องกันการขาดแคลนตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ และเกิดกรณีอื้อฉาวจากกรณีที่ประชาชนสงสัยว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการลักเอาจากคลัง[14][15][16] นอกจากนี้ รัฐบาลยังถูกวิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายข้อกำหนดการเดินทางระหว่างประเทศและการกักโรค ลงมือไม่เด็ดขาดและล่าช้า และการสื่อสารแบบกลับไปกลับมา[17][18] การสั่งปิดธุรกิจห้างร้านในกรุงเทพมหานครโดยพลัน ทำให้คนงานหลายหมื่นคนเดินทางกลับภูมิลำเนา ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเข้าไปอีก สะท้อนภาพความล้มเหลวของการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ[19] อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยค่อนข้างประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาด โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่ทนทาน[20][21] ในการระบาดระลอกหลัง ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศแต่ใช้วิธีกำหนดมาตรการตามพื้นที่เสี่ยง พร้อมกับมีมาตรการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจลดลงมาก
แผนการกระจายวัคซีนในประเทศเน้นการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคและใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก ทางการสั่งซื้อวัคซีนในเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องราคา การห้ามเอกชนนำเข้าวัคซีนและความเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและเครือเจริญโภคภัณฑ์[22][23][24] นอกจากนี้ การกระจายวัคซีนโดยไม่คำนึงถึงลำดับความเร่งด่วนรวมถึงการเลือกปฏิบัติ การกระจายวัคซีนล่าช้า ความแคลงใจต่อประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนแวค และการสั่งห้ามนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่นทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างมาก จนมาถึงเดือนมิถุนายน 2564 จึงเริ่มมีการอนุญาตให้นำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่นผ่านหน่วยงานของรัฐ ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังวิจัยวัคซีนในประเทศ ปัจจุบันยังมีคำสั่งซื้อวัคซีนอีกหลายยี่ห้อแต่จะเข้าประเทศในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
โรคระบาดทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญ กองทุนการเงินระหว่างประเทศทำนายว่าจีดีพีของไทยจะหดตัวลงร้อยละ 6.7[25] ในปี 2563 ปรับลดจากเดิมขยายตัวร้อยละ 2.5 รัฐบาลประกาศมาตรการช่วยเหลือหลายอย่าง รวมทั้งการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท แต่มีผู้ได้รับการช่วยเหลือจำนวนน้อย[26]
ภายหลังการแพร่ระบาดใหญ่เริ่มอ่อนแรงลง รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจออกประกาศให้โควิด-19 ถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2565 ก่อนตัดสินใจประกาศปรับเข้าสู่ระยะเฝ้าระวังที่ไม่เป็นอันตรายโดยให้มีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นผลให้คณะรัฐมนตรีประกาศยุติบทบาทหน้าที่ของ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลง พร้อมกับการประกาศยุติการใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ใช้ในการควบคุมโรคติดต่อลงพร้อมกัน
เส้นเวลา
[แก้]มกราคมถึงมีนาคม 2563
[แก้]
วันที่ 13 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันรายแรก ซึ่งนับเป็นผู้ป่วยรายแรกที่พบนอกประเทศจีน โดยเป็นหญิงจีนที่เดินทางมากับกลุ่มทัวร์จากนครอู่ฮั่นมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 8 มกราคม[27][28][29] ระหว่างวันที่ 17–31 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันแล้วอีกรวมเป็น 19 คน ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน โดยพบที่จังหวัดเชียงใหม่ นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์และกรุงเทพมหานคร[30][31][32][33]
[34][35][36][37][38] โดยพบผู้ป่วยชาวไทยที่ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศจีนคนแรกในวันที่ 31 มกราคม โดยเป็นคนขับแท็กซี่ซึ่งคาดว่าสัมผัสกับนักท่องเที่ยวจีน[39]
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ รัฐบาลส่งเครื่องบินไปรับพลเมือง 138 คน ที่ติดอยู่ในนครอู่ฮั่นจากมาตรการปิดเมือง[40]
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีการพบหญิงชาวไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 35 ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง โดยเป็นกรณีแรกที่ผู้ป่วยเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขในประเทศไทย จากการสอบสวนพบว่า บุคคลนี้มิได้มีการสวมหน้ากากอนามัยและชุดป้องกันขณะให้การรักษาผู้ป่วย[41] ทั้งนี้มีรายงานหลายแห่งออกมากล่าวว่าบุคคลนี้ทำงานอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง และภายหลังมีการชี้แจงโดยกระทรวงสาธารณสุข[42]
วันที่ 1 มีนาคม กระทรวงสาธารณสุขรายงานพบผู้เสียชีวิตรายแรกของประเทศ เป็นชายไทย อายุ 35 ปี ซึ่งป่วยเป็นไข้เด็งกีมาก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือนมกราคม ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยกลุ่มอาการการทำหน้าที่ผิดปกติของหลายอวัยวะ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์[43]
วันที่ 6 มีนาคม พบว่าสนามมวยลุมพินีเป็นคลัสเตอร์ระบาดหลัก ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม รัฐบาลมีนโยบายให้ปิดสถานที่มีคนมารวมตัวกันเป็นกิจวัตร ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้ง่าย โดยสถาบันการศึกษา สถาบันกวดวิชา ร้านนวด ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ให้ปิดตั้งแต่ 18–31 มีนาคม ขณะที่สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ให้ปิดทันทีจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และให้งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค และให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และการทำงานที่บ้าน[44] วันที่ 23 มีนาคม ประชาชนในกรุงเทพมหานครทยอยเดินทางกลับต่างจังหวัด[45]
วันที่ 25 มีนาคม รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน โดยมีระบุสิ่งที่ห้ามทำและให้ทำ เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนดตามคำสั่งผู้ว่าฯ ห้ามคนทั้งหลายเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย (มีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลต่าง ๆ) ห้ามชุมนุมมั่วสุม ห้ามแพร่ข่าวเท็จ เป็นต้น[46] นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง "ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" (ศบค.)[47]เป็นหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ[48]
เมษายนถึงมิถุนายน 2563
[แก้]3 เมษายน รัฐบาลประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล (เคอร์ฟิว) ทั่วประเทศ ระหว่างเวลา 22.00–04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น[49]
วันที่ 9 เมษายน อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่ามีการค้นหาโรคเชิงรุก (Active case finding) และกำลังเฝ้าติดตามคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุว่าได้ชี้เป้าหมายให้จังหวัดภูเก็ตดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค หลังพบผู้ป่วยในจังหวัดภูเก็ต 158 รายตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางจังหวัดมีมาตรการปิดสถานบันเทิง ร้านนวดขยายทั้งจังหวัด และปิดช่องทางเข้าออกจังหวัด[50] 17 เมษายน พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง แถลงว่าจากการลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 เชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานครร่วมกับเพจ หมอแล็บแพนด้า ทำให้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย[51]
รายงานการศึกษาพฤติกรรมคนไทยในช่วงล็อกดาวน์จัดทำโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนในเขตเมืองปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐค่อนข้างดีมากกว่า 75% ทุกมาตรการ แต่คนยากจนในเขตเมืองและคนชนบทยังปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้น้อย เนื่องจากเลี่ยงพื้นที่แออัดไม่ได้ และคนชนบทยังมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ งานวิจัยพบว่า 89% ของกิจกรรมเกิดขึ้นในบ้านพักตนเองหรือญาติ ประชาชนติดตามข่าวสารน้อยลงและมีความตั้งใจปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ลดลงมากหลังจากล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์ และพบว่าหากมีการล็อกดาวน์ต่อ ความตั้งใจในการปฏิบัติตามอาจไม่กลับสู่ค่าเดิมในช่วงแรกของการล็อกดาวน์ได้อีก[52]
วันที่ 20 และ 22 เมษายน เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่จับผู้แจกอาหารให้แก่ผู้มารอรับบริจาคทั้งที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดภูเก็ตตามลำดับ[53] ด้านกรุงเทพมหานครมีข้อกำหนดสำหรับการแจกอาหาร เช่น ให้เจ้าหน้าที่ช่วยแจก แจกในที่ที่ราชการกำหนด หรือใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่[54] 25 เมษายน มีข่าวว่าราชการอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ไม่รับประสานการแจกของบริจาคช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีคำพูดว่า "จะแจกเพื่ออะไร อยากได้หน้า หรือหาเสียง"[55]
24 เมษายน ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกพระราชกำหนดฯ สถานการณ์ฉุกเฉิน และให้เปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่ออภิปรายปัญหาโควิด-19[56]
25 เมษายน ศบค. เปิดเผยว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 รายจากการตรวจหาเชื้อในแรงงานข้ามชาติ ณ ศูนย์กักขังที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อ. สะเตา จ. สงขลา[57]
3 พฤษภาคม ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 ใน 6 กลุ่มกิจกรรมในโซนสีขาว ให้กลับมาดำเนินการได้ปกติ ได้แก่ ตลาด ร้านจำหน่ายอาหาร กิจการค้าปลีก-ส่ง กีฬาสันทนาการ ร้านตัดผมและเสริมสวยและร้านตัดผมและฝากเลี้ยงสัตว์ ของ ศบค. มีผล[58] วันเดียวกัน จังหวัดยะลาพบจำนวนผู้ป่วยจากการตรวจหาผู้ป่วยใหม่เชิงรุกจำนวน 23 คน ด้านโฆษก ศบค. แถลงว่า จากกระแสข่าวที่ตรวจพบผู้ป่วยใหม่ 40 รายก่อนหน้านี้นั้นเป็นตัวเลขสัดส่วนที่มากผิดปกติ จึงสั่งให้มีการทบทวนใหม่ก่อน และยืนยันว่าจะไม่มีการปกปิดข้อมูล[59]
4 พฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18 รายที่ศูนย์กักคนเข้าเมือง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา[60] วันเดียวกัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และมีจังหวัดเกินครึ่งหนึ่งของประเทศที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 4 สัปดาห์หลัง แต่จะยังเฝ้าระวังการระบาดระลอกที่สองต่อไป[61]
13 พฤษภาคม ศบค. แถลงว่าประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เป็นวันแรก และเป็นวันที่ 17 ที่จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อต่ำกว่าวันละ 10 คน นอกจากนี้ ภายใน 28 วันที่ผ่านมามี 50 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม โดยจำนวนผู้ป่วยสะสมยังคงมากในกรุงเทพมหานครและภาคใต้[62]
17 พฤษภาคม ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 ตามประกาศของ ศบค. มีผลบังคับโดย อนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานออกกำลังกายบางส่วน[63] ในปลายเดือน คณะรัฐมนตรีมีมติต่อ พรก. ฉุกเฉินต่อ[64] รวมทั้งการผ่อนปรนระยะที่ 3 และลดระยะเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00–3.00 น.[65]
ในเดือนมิถุนายน 2563 ศบค. ผ่อนปรนมาตรการเป็นลำดับ โดยเปิดให้ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดได้ในต้นเดือนมิถุนายน[66] กลางเดือน ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน และสามารถใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถานศึกษา สถาบันกวดวิชา และสามารถเปิดโรงเแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และเครื่องดื่มทั่วไป อนุญาตให้มีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ยกเว้น สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการประเภทผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่พำนักอาศัย สามารถเปิดได้แต่ต้องมีมาตรการ ยกเว้นสถานบันเทิง สถานแข่งขัน[67] และปลายเดือน ศบค. ประกาศผ่อนปรนระยะที่ 5 ซึ่งรวมถึงธุรกิจผับ บาร์ คาราโอเกะ โรงอาบน้ำ โรงน้ำชา ร้านเกมและอินเทอร์เน็ต[68] แต่คณะรัฐมนตรียังต่ออายุ พรก. ฉุกเฉินต่อ พร้อมมีคำสั่งห้ามชุมนุม ห้ามกักตุนสินค้า และห้ามเสนอข่าวเท็จ[69]
กรกฎาคมถึงกันยายน 2563
[แก้]8 กรกฎาคม พบกรณีทหารอียิปต์จากเครื่องบินทหารพบติดโควิด-19 แต่ไม่ได้กักตัว และ 10 กรกฎาคม พบผู้ป่วยเด็กครอบครัวของอุปทูตซูดานติดโควิด-19 แต่ไม่ได้กักตัวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ[70] 14 กรกฎาคม ศบค. ชี้แจงว่า กรณีทหารอียิปต์ใช้เพียงวิธีระบบติดตามตัวเท่านั้น[71] มีคำสั่งกักตัวผู้ใกล้ชิดจากการบินไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[72][73] นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง[74]
ในวันที่ 19 สิงหาคม มีรายงานพบผู้ป่วยที่อาจเป็นการติดเชื้อรายแรกในประเทศในรอบ 86 วัน แต่ขณะนี้กำลังรอผลตรวจ[75] วันที่ 21 สิงหาคม โฆษก ศบค. ประกาศว่าที่ประชุมมีมติขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน จนหมดเขตวันที่ 30 กันยายน โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างด้าวหลายเส้นทาง พร้อมกับให้เหตุผลว่า ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจาก พรก. ฉุกเฉิน และที่ประชุม ศบค. ได้ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายมากแล้ว เช่น เปิดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษา[76]
วันที่ 3 กันยายน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศในรอบ 100 วัน โดยเป็นผู้ต้องขังชายที่ต้องโทษในคดียาเสพติด และก่อนหน้านั้นทำงานเป็นดีเจ โดยมีการตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 2 กันยายน หลังจากพบอาการมีเสมหะเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม[77]
ตุลาคมถึงธันวาคม 2563
[แก้]วันที่ 20 ตุลาคม นักท่องเที่ยวจีนจำนวน 41 คนจากเซี่ยงไฮ้เดินทางถึงประเทศ โดยเข้ากักตัว 14 วัน[78]
วันที่ 18 พฤศจิกายน ศบค. ขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 45 วัน ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2563–15 ม.ค. 2564 และถอนข้อเสนอลดเวลาการกักตัวเหลือ 10 วัน ของกระทรวงสาธารณสุข[79]
วันที่ 19 ธันวาคม พบการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ในจังหวัดสมุทรสาคร[80] ซึ่งเหล่านี้เป็นแรงงานเข้าเมืองจากประเทศพม่าเป็นหลักซึ่งเป็นแรงงานสำคัญในอุตสาหกรรมประมงของประเทศ[81][82] มีผู้ติดเชื้อกว่า 1,300 คนใน 27 จังหวัดที่เชื่อมโยงจากคลัสเตอร์นี้[83] วันที่ 20 ธันวาคม พบผู้ติดเชื้อใหม่ 576 คน ซึ่งนับเป็นยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดนับแต่มีการบันทึก[84] และเมื่อปลายเดือนธันวาคม พบคลัสเตอร์การระบาดอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดระยองซึ่งเชื่อมโยงกับบ่อนการพนัน และคนงานบ่อนดังกล่าวเสียชีวิตเมือ่วันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งนับเป็นผู้เสียชีวิตจากโรครายแรกในรอบเกือบสองเดือน[85][86]
มกราคมถึงมีนาคม 2564
[แก้]วันที่ 4 มกราคม ศบค. สั่งห้ามเข้าออกพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และ ตราด ยกเว้นเหตุจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉิน[87] ในเดือนเดียวกัน พบว่า เตชินท์ พลอยเพชร (ดีเจมะตูม) เป็นซูเปอร์สเปรเดอร์หลังไม่กักตัวและจัดปาร์ตี้ตามปกติ โดยพบผู้ติดเชื้อจากเขา 19 ราย[88] วันที่ 25 มกราคม 2564 เป็นวันที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุดตั้งแต่เริ่มระบาด โดยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 959 ราย[89]
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ วัคซีนชุดแรกได้นำส่งมาถึงประเทศไทย เป็นวัคซีนของซิโนแว็กชื่อ โคโรนาแว็ก (CoronaVac) จำนวน 200,000 โดส และของแอสตราเซเนกา (AZD1222) จำนวน 117,000 โดส รวมทั้งหมด 317,000 โดส วัคซีนล็อตแรกของซิโนแว็กจะถูกกระจายไปใน 13 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สมุทรสาคร), พื้นที่ควบคุม (เช่น กทม. ฝั่งตะวันตก, ปทุมธานี, อ.แม่สอด จ.ตาก) และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม (เช่น ภูเก็ต, เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่)[90]
วันที่ 24 มีนาคม กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า มียอดผู้ฉีดวัคซีนแล้ว 96,188 ราย เป็นผู้ที่ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 5,862 ราย[91]
เมษายนถึงมิถุนายน 2564
[แก้]ต้นเดือนเมษายน พบคลัสเตอร์การระบาดใหม่จากคริสตัลคลับ[92] สถานบันเทิงย่านทองหล่อ–เอกมัย กรุงเทพมหานคร พบมีนักการเมืองและศิลปิน-ดาราหลายคนเป็นกลุ่มเสี่ยงและขอกักตัว[93] นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์อีกแห่งหนึ่งที่เรือนจำนราธิวาส[94] แต่จะไม่มีคำสั่งควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงสงกรานต์[95] ต่อมามีการเปิดเผยว่าโควิด-19 ระลอกนี้เป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ในประเทศอังกฤษ (B117) ซึ่งระบาดเร็วขึ้น 1.7 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ (ได้แก่ สายพันธุ์ S และ GS)[96] จนถึงวันที่ 6 เมษายน มีรายงานว่ามีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 274,354 ราย และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์มีทั้งหมด 49,635 ราย เท่ากับว่ามีการกระจายวัคซีนฉีดให้ประชาชนครบ 2 เข็มไปแล้วรวม 99,270 โดส คิดเป็นร้อยละ 10.45 ของวัคซีนที่จัดสรรทั้งหมด[97] ด้านกองทัพบกประกาศจะไม่ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แม้ว่าพบมีผู้ป่วยโควิด-19 ไปร่วมจับสลาก[98] ในช่วงเดียวกัน มีข่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเลิกรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่อธิบดีกรมการแพทย์ย้ำว่าเตียงของโรงพยาบาลเอกชนยังมีเพียงพอ[99] ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปรียบเทียบการระบาดรอบนี้ว่าเหมือน "ปลวกแตกรัง" อาจมีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคน และอาจต้องใช้เวลาคุมโรค 2 เดือน[100] ที่จังหวัดเชียงใหม่ พบร้านวอร์มอัพและกราวด์ (GROUND) เป็นแหล่งระบาด[101] ขณะที่ในจังหวัดนครราชสีมา พบมีร้านหมูกระทะชื่อ "น้ำหวานหมูกระทะ" เป็นคลัสเตอร์[102]
วันที่ 14 เมษายน 2564 เป็นวันที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นจากวันก่อนเกิน 1,000 รายเป็นวันแรก[103] วันที่ 17 เมษายน นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า อัตราขยายเชื้อ (Reproductive rate) ของโควิด-19 ในประเทศไทยสูงสุดในโลกที่ 2.27 (เฉลี่ยผู้ติดเชื้อ 1 รายจะแพร่เชื้อต่อให้ผู้อื่น 2.27 ราย)[104] วันที่ 23 เมษายน เป็นวันแรกที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่เกิน 2,000 คนต่อวัน[105] ช่วงปลายเดือนเมษายน เกิดกระแสในโลกออนไลน์เมื่ออาคม ปรีดากุล (ค่อม ชวนชื่น) ดาราตลก ได้รับการประสานย้ายโรงพยาบาลไปยังโรงพยาบาลรามาธิบดี หลังมีคนใกล้ตัวออกมาโพสต์แสดงความเห็นใจและต้องการเปลี่ยนแพทย์ ทำให้เกิดข้อครหาเรื่องการเลือกปฏิบัติและอภิสิทธิ์ของผู้มีชื่อเสียง[106] ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับกรณีที่มีผู้สูงอายุติดโควิด-19 ทั้งบ้าน แต่เสียชีวิตขณะรอรับรักษาในโรงพยาบาล[107] วันที่ 24 เมษายน พบผู้ป่วยเป็นผู้เดินทางเข้าประเทศจากอินเดีย ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เบงกอล (B 1618) ที่มีความรุนแรงหรือแพร่กระจายสูงด้วย รวมทั้งทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าไทยไม่พร้อมรับรักษาผู้ป่วยที่จะเดินทางเข้าประเทศมาเพื่อรักษาโควิด-19[108] วันที่ 25 เมษายน พบเพจโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งโพสต์ข้อความให้กำลังใจอนุทิน ชาญวีรกูลด้วยแฮชแท็ก #ทองแท้ไม่กลัวไฟ ท่ามกลางกระแสวิจารณ์เขา[109] วันที่ 27 เมษายน มีการโฆษณาว่า บริษัทไฟเซอร์เคยเสนอขายวัคซีนโควิด-19 ให้แก่รัฐบาลไทย 4 ครั้ง จำนวน 13 ล้านโดส ในเดือนมกราคม 2564 แต่อนุทินปฏิเสธทุกครั้ง[110] วันที่ 28 เมษายน หอการค้าไทยโพสต์ระบุว่า จากการประชุมกับรัฐบาลได้ความว่าเอกชนจะไม่มีการนำเข้าวัคซีนทางเลือก[111] หลังค่อม ชวนชื่นเสียชีวิต ทำให้เกิดการกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงการบริหารจัดการนำเข้าวัคซีนของภาครัฐว่าเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่มีทางเลือกให้กับประชาชน รวมถึงการคัดเลือกยี่ห้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ[112][113]
กรมราชทัณฑ์เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ว่า พบผู้ติดเชื้อในทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวม 2,935 คน[114] วันที่ 13 พฤษภาคม มีการเปิดเผยว่า มีส่วนเอกชนให้ความร่วมมือกับราชการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรการแพทย์และกลุ่มอาชีพเสี่ยง รวม 25 จุด โดยคาดว่าจะมีขีดความสามารถฉีดวัคซีนได้สูงสุด 50,000 คนต่อวัน[115] วันที่ 14 พฤษภาคม อนุทินยังระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนสามารถติดต่อจัดซื้อวัคซีนจากเอกชนได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านองค์การเภสัชกรรม ด้านรองนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนระบุว่าขณะนี้ยังไม่มีบริษัทตัวแทนวัคซีนโมเดอร์นาจำหน่ายให้[116] ต่อมาอนุทินระบุว่ามีกำหนดฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบวอล์คอินเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน[117] วันที่ 16 พฤษภาคม รายงานว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันในประเทศไทยมีจำนวนถึง 1 แสนคนแล้ว[118] วันที่ 17 พฤษภาคม ผู้ป่วยรายใหม่ 9,635 ราย ซึ่งรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำหรือที่ต้องขัง 6,835 คน นับเป็นยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงสุดนับแต่มีการระบาดในประเทศไทย[119] ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสั่งเร่งตรวจโควิด-19 เชิงรุกในเรือนจำทุกแห่ง อธิบดีกรมราชทัณฑ์โทษว่าการควบคุมคนเข้า-ออกไม่ได้ และการมีจำนวนนักโทษเพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้โควิด-19 เกิดระบาดในเรือนจำขึ้น ทั้งนี้อดีตนักโทษและผู้ต้องขังยืนยันว่าในเรือนจำมีสภาพแออัดอย่างมาก[120] ในวันที่ 18 พฤษภาคม มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในจังหวัดแพร่เสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19[121] วันที่ 26 พฤษภาคม พบผู้เสียชีวิตจากโรคใหม่ 41 ราย นับเป็นสถิติสูงสุดรายวันนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในประเทศ[122] หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ภาครัฐมีการตกแต่งตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่ำกว่าจริง เช่น ระบุว่าเสียชีวิตจากปอดอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียแทน และอ้างว่ามีภาคการเมืองเข้าแทรกแซง[123] วันที่ 30 พฤษภาคม ไทยมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เกิน 1,000 รายแล้ว สูงเป็นอันดับที่ 83 ของโลก[124]
วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นวันแรกที่เริ่มปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ ใช้เวลาเพียงครึ่งวันพบฉีดไปได้แล้วกว่า 140,000 ราย อย่างไรก็ดี บีบีซีไทยรายงานว่ามีข้อขัดข้องเรื่องจำนวนวัคซีน ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยยกเลิกใบนัดหมายฉีดวัคซีนก่อนหน้านี้ ก่อนกลับมาชี้แจงว่าได้รับจัดสรรวัคซีนเพิ่มแล้ว[125] ในวันเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขแถลงว่าในบรรดาตัวอย่างไวรัสในการระบาดรอบนี้ 3,595 ตัวอย่าง พบว่า 235 ตัวอย่างเป็นโควิดสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งแพร่ขยายเร็ว[126] วันที่ 17 มิถุนายน มีคำสั่งปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจัดหาวัคซีนให้พนักงานไทยเบฟเวอเรจและครอบครัว 7.1 หมื่นคนทั่วประเทศ[127] ประมาณปลายเดือนมิถุนายน พบผู้ติดเชื้อเป็นบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ แม้ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม จำนวนหลายสิบราย[128] ทำให้ยง ภู่วรวรรณเสนอให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 3 เชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพพอ ๆ กับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม[129] วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตเกิน 50 รายเป็นวันแรก[130] ในช่วงนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งแจ้งว่ามีภาระเกินตัว ทำให้ต้องงดตรวจหาเชื้อ และบางแห่งงดตรวจผู้ป่วยนอก[131][132] ปลายเดือนมิถุนายน ยังมีการตั้งข้อสงสัยว่าทำไมสมาชิกวุฒิสภากับดาราจึงหาเตียงในโรงพยาบาลได้เร็ว[133][134] นอกจากนี้ คำสั่งล็อกดาวน์กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงปลายเดือนยังทำให้คนงานก่อสร้างกระจายกลับภูมิลำเนารวมทั้งประเทศ[135] และมีการนำแรงงานไปทิ้งไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ[136][137] ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 พบว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายนแล้วกว่า 220,000 คน เสียชีวิต 1,840 คน[138]
หลังกรกฎาคม 2564
[แก้]วันที่ 1 กรกฎาคม มีข่าวว่ากองทัพบกขอโควตาวัคซีนไปฉีดให้กำลังพล ครอบครัวและบริวารรวม 60,000 โดส และเปิดเผยว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 มีทหารและผู้เกี่ยวข้องต้องกักตัวแล้วกว่า 29,000 คน และติดเชื้อแล้วกว่า 1,100 คน[139] วันที่ 2 กรกฎาคม มียอดผู้เสียชีวิตรายวันสูงเกิน 60 ราย เป็นวันแรก[140] ข้อมูล ณ วันที่ 2 กรกฎาคม พบว่าการระบาดจากคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างเมื่อปลายเดือนมิถุนายนนี้ได้ลามไป 73 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว และในกรุงเทพมหานครมีคลัสเตอร์ระบาด 113 คลัสเตอร์[141]
ในช่วงเดือนสิงหาคม ทางการสหรัฐบริจาควัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส และกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนจะได้ฉีดวัคซีนดังกล่าว[142] แต่ต่อมามีข่าวว่าหลายพื้นที่ต้องมีการปันส่วนวัคซีนไฟเซอร์ เพราะได้รับจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอกับที่ได้แจ้งไว้[143][144][145][146] โดยก่อนหน้านี้มีการวางเกณฑ์มากมาย เช่น บุคลากรทางการแพทย์จะต้องเป็นผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้วเท่านั้นจึงมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์[147] มีป้ายประกาศมอบความชอบให้อนุทิน ชาญวีรกูลจากการมอบวัคซีนดังกล่าว[148] และมีข่าวว่าทหารได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ดังกล่าว เพราะมีการตั้งโรงพยาบาลสนามจึงทำให้กลายเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสผู้ป่วย ("ด่านหน้า")[149] ในช่วงเดียวกันมีข่าวว่าทางการเตรียมเสนอพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่เจ้าหน้าที่ให้ไม่มีความผิดจากกรณีการจัดหาวัคซีน[150]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
มาตรการรับมือ
[แก้]มาตรการต่อผู้เดินทางเข้าประเทศ
[แก้]เริ่มมีการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าจากประเทศจีนในท่าอากาศยาน 6 แห่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานเชียงราย (เริ่ม 24 มกราคม) พบผู้ป่วยต้องสงสัยจำนวนหนึ่งที่มีภาวะทางเดินหายใจที่พบทั่วไปโรคอื่น[151][152][5]
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ เอ็มเอส เวสเตอร์ดัม ถูกปฏิเสธเข้าเทียบท่า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง[153] หลังถูกปฏิเสธจากฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และกวม มาแล้วก่อนหน้านี้[154] วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เรือ เอ็มวี ซีบอร์นโอเวชัน และเรือ ควอนตัมออฟเดอะซีส์ ได้รับอนุญาตให้เทียบท่า ทั้งนี้ เพราะเรือทั้งสองมีกำหนดขึ้นฝั่งที่ประเทศไทยอยู่แล้ว ผู้โดยสารบนเรือได้รับการตรวจคัดกรองก่อนได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง[155][156]
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ การคัดกรองโควิด-19 ขยายรวมไปถึงผู้เดินทางเข้าประเทศจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ กระทรวงสาธารณสุขยังเพิ่มมาตรการต่อโควิด-19 เป็นระดับ 3 เพื่อเตรียมรับการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้น ทุกจังหวัดต้องมีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพทดสอบโควิด-19 ได้อย่างน้อย 1 แห่ง[157] วันที่ 21 กุมภาพันธ์ กระทรวงสาธารณสุขประกาศเกณฑ์คัดรองใหม่ โดยเพิ่มการตรวจเพิ่มเติมสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศจากฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ และไต้หวัน ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมไม่ทราบสาเหตุ และอาศัยอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัดที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี กระบี่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ จะถือว่าเป็นผู้ป่วยต้องสงสัยโควิด-19 อัตโนมัติ[158]
วันที่ 6 เมษายน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยออกประกาศขยายเวลาห้ามเที่ยวบินขาเข้าประเทศ จนถึงวันที่ 18 เมษายน[159]
หลังเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 รัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนปรนแก่ผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จะลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน จนเดือนมกราคม 2565 ถ้ามีใบรับรองฉีดวัคซีนครบจะไม่ต้องกักตัว[160]
ข้อจำกัดสำหรับผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงติดโรค
[แก้]เมื่อวันที่ 6 มีนาคม กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดพื้นที่เสี่ยงแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เขตติดโรคติดต่ออันตราย[161] และพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง[162]
- เขตติดโรคติดต่ออันตราย
ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศ จีน (รวมฮ่องกง และ มาเก๊า), เกาหลีใต้, อิตาลี และ อิหร่าน จะได้รับการกักตัวในพื้นที่ที่รัฐกำหนดเป็นเวลา 14 วัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเขตติดโรคติดต่ออันตราย เพิ่มเติมจากประกาศฉบับแรกอีก 5 ประเทศ[163] รวมเป็นทั้งหมด 9 ประเทศ
ในวันที่ 15 พฤษภาคม มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดต่อโรคอันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยยกเลิกประเทศ จีน (รวมฮ่องกง และ มาเก๊า) และ เกาหลีใต้ ออกจากเขตติดต่อโรคอันตราย[164]
- พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศดังกล่าว ต้องแยกตัวจากผู้อื่นและไม่ควรออกจากบ้านเป็นเวลา 14 วัน และจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามใกล้ชิด
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
[แก้]หน่วยงานที่กำกับดูแลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย คือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ เป็นกรรมการ[48] นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นโฆษก[165], แพทย์หญิง พรรณประภา ยงค์ตระกูล และแพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ เป็นผู้ช่วยโฆษก[166] สำหรับการแถลงข่าวจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และสื่อสารต่อประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในทุก ๆ วัน
วันที่ 27 เมษายน 2564 มีข่าวว่า คณะรัฐมนตรีโอนอำนาจเกี่ยวกับการรับมือโควิด-19 ให้แก่นายกรัฐมนตรี[167] ในเดือนมิถุนายน 2564 อนุทิน ชาญวีรกูลยืนยันว่าปัญหาบางโรงพยาบาลได้รับจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอนั้น ไม่เกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข แต่ขึ้นอยู่กับ ศบค.[168]
มาตรการจำกัดการระบาดในประเทศและสาธารณสุข
[แก้]วันที่ 25 มีนาคม 2563 รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พรก. ฉุกเฉิน) ทั่วประเทศเพื่อสกัดการแพร่ของโควิด-19 โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน มีใจความสำคัญเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ห้ามบุคคลเข้าไปในเขตที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งห้าม รวมทั้งห้ามชุมนุมและเผยแพร่ข่าวปลอม[169] วันที่ 3 เมษายน รัฐบาลประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 น. – 4.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ยกเว้นบางอาชีพ เป็นมาตรการรับมือโควิด-19 วันที่ 17 เมษายน ตำรวจรายงานว่าจับกุมผู้ฝ่าฝืนคำสั่งได้ 7,000 คน[170] วันที่ 7 เมษายน คณะรัฐมนตรีสั่งเลื่อนวันเปิดภาคเรียนภาคเรียนที่ 1/2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม วันที่ 8 เมษายน กระทรวงวัฒนธรรมสั่งห้ามจัดงานสงกรานต์ทุกระดับ[45] วันที่ 9 เมษายน 14 จังหวัดและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศห้ามเข้าออก ได้แก่ เชียงราย ตาก น่าน แพร่ ตราด บึงกาฬ ภูเก็ต สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เมืองพัทยา และระนอง[171] วันที่ 11 เมษายน 47 จังหวัดมีคำสั่งงดจำหน่ายสุราชั่วคราว[172] หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายสุราได้แต่ห้ามนั่งดื่มที่ร้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและพิษณุโลกสั่งห้ามจำหน่ายสุราต่อไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม และสั่งปิดท่าอากาศยานพิษณุโลกสำหรับให้อากาศยานใช้ขึ้นลงด้วย[173]
งานวิจัยของวิโรจน์ ณ ระนองระบุว่า หลังจากรัฐบาลใช้มาตรการเด็ดขาดในการระบาดรอบแรก หากมีข่าวที่ตื่นตระหนกก็จะเกิดวิกฤตความเชื่อมั่น และมีผลกระทบทางเศรษฐกิจวงกว้าง อีกทั้งเสนอให้รัฐบาลต้องขยายมาตรการช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว[174]
มาตรการที่ให้ลงทะเบียนก่อนเข้าสถานที่นั้นก่อให้เกิดคำถามเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว เนื่องจากมีการนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิด[175]
จากเหตุการณ์พบทหารอียิปต์ติดโตวิด-19 จำนวน 1 นายในวันที่ 8 กรกฎาคม มีคำสั่งปิดโรงเรียนในจังหวัดระยอง 274 แห่ง[176] และมีการปิดห้างจำนวน 2 แห่ง ผู้ที่อยู่ในห้างในช่วงดังกล่าวจำนวนเกือบ 800 คนได้รับคำแนะนำให้ตรวจหาเชื้อไวรัส[177]
วันที่ 2 มกราคม 2564 หลังมีการระบาดรอบใหม่ในเดือนธันวาคม 2563 ศบค. ได้แบ่งพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศตามความเสี่ยง แต่รอบนี้ไม่สั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ โดยโฆษก ศบค. ชี้แจงว่าที่ไม่สั่งล็อกดาวน์เพราะจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบสัมมาชีพ แต่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ฝ่าฝืน เช่น ผู้ลักลอบเล่นการพนัน ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว เป็นต้น[178] กรุงเทพมหานครสั่งปิดโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กระหว่างวันที่ 4–17 มกราคม 2564[179] และต่อมาไม่นาน กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนทุกแห่งในเดือนมกราคม[180]
การขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่านำกฎหมายดังกล่าวมาใช้เพื่อควบคุมโรคหรือจำกัดการชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้ พบว่ามักมีการดำเนินคดีตาม พรก. ฉุกเฉิน คู่กับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558[181] ระหว่างเดือนมีนาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 พบมีผู้ถูกดำเนินคดีตาม พรก. ฉุกเฉินอย่างน้อย 444 คน[182] ช่วงเดือนมีนาคม 2563 องค์การฮิวแมนไรต์วอชออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคามผู้วิจารณ์มาตรการรับมือโควิด-19 ของรัฐบาล[183]
การปกปิดไทม์ไลน์การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ[184] ปรากฏว่าบุคคลที่ถูกต้นสังกัดลงโทษเนื่องจากปกปิดไทม์ไลน์มีหลายสาขาอาชีพ เช่น พนักงานบริษัท ข้าราชการศาล[185] แต่จากกรณีของบุคคลบางคน เช่น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ปกปิดไทม์ไลน์นั้น ทำให้สื่อตั้งคำถาม[186]
ในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาดแต่ละครั้งมักมีคำสั่งให้เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ ซึ่งประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ วิธีการของกระทรวงศึกษาธิการที่ผลักภาระไปให้โรงเรียนต่าง ๆ รับผิดชอบกันเองทำให้ประสิทธิภาพการศึกษาลดลงมาก อีกทั้งไม่คำนึงถึงความพร้อมในการเรียนออนไลน์ในพื้นที่ห่างไกลและยากจน ด้านเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานระบุว่ากำลังทดลองให้การศึกษาผ่านวิทยุ ส่วนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนหลายแห่งเพื่อเป็นแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์[187] ในเดือนพฤษภาคม 2564 กระทรวงศึกษาธิการเตรียมจัดการเรียนการสอนผ่าน "ครูพร้อม" ซึ่งเป็นเว็บพอร์ทัลซึ่งรวบรวมสื่อในสังกัดของกระทรวง[188]
ในเดือนเมษายน 2564 จังหวัดเชียงใหม่เปิดโรงพยาบาลสนามจำนวน 280 เตียงเพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 148 รายในช่วงนั้น[189] แต่ขาดเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างหนัก และขอรับบริจาค[190] ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายออกประกาศขอความร่วมมืองดออกบ้านถ้าไม่จำเป็น 14 วัน[191] กระทรวงสาธารณสุขถูกวิจารณ์หลังโพสต์วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ 4 เข็มว่าเป็น "วัคซีนทิพย์"[192] วันที่ 9 เมษายน 2564 มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงจะส่งมอบงบ 600 ล้านเยนเพื่อช่วยเหลือประเทศไทยในการสร้างระบบเครือข่ายขนส่งอุณหภูมิเย็นเพื่อจัดเก็บวัคซีนโควิด-19[193] วันที่ 22 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขส่งฟ้าทะลายโจรแคปซูล 600,000 แคปซูลให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ หลังมีงานวิจัยระบุว่าฟ้าทะลายโจรลดโอกาสเกิดอาการป่วยโควิด-19 รุนแรง[194] หลายจังหวัดออกประกาศคำสั่งสวมหน้ากากอนามัยนอกเคหะสถาน ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตามกฎหมาย[195] ทางการไทยสั่งให้ผู้ที่ตรวจพบเชื้อทุกคนต้องรับรักษาในโรงพยาบาลไม่ว่ามีหรือไม่มีอาการ ทำให้เกิดการขาดแคลนเตียงอย่างหนัก แม้มีการตั้งโรงพยาบาลสนามในหลายจังหวัดแล้ว โดยในเดือนพฤษภาคม มียอดผู้ป่วยโควิด- 19 นอนโรงพยาบาลรวมเกือบ 30,000 ราย[196]
ปลายเดือนมิถุนายน 2564 หลังพบมีคลัสเตอร์ระบาดในค่ายคนงานก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร ทำให้มีคำสั่งล็อกดาวน์จังหวัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ออกมาในเวลา 1.00 น. ทำให้ได้รับเสียงวิจารณ์มาก เพราะไม่มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเพียงพอ[197] ในช่วงเดียวกัน ยังมีข่าวออกมาต่าง ๆ ว่า หลายโรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรการแพทย์อย่างหนัก และมีการส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอสนับสนุนบุคลากร[198] บุคลากรด่านหน้ามีภาระงานล้นมือ และมีปัญหาเตียงโรงพยาบาลไม่เพียงพอด้วย[199] เสียงวิจารณ์รัฐบาลที่ไม่เห็นใจประชาชน ไม่สามารถคุมสถานการณ์ผู้ติดเชื้อและไม่ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายจากมาตรการต่าง ๆ ทำให้กระแส #รัฐบาลฆาตกร ติดเทรนด์ทวิตเตอร์[200] ในเดือนสิงหาคม 2564 ศบค. ระบุว่า มาตรการรับมือการระบาดไม่ได้ผลเพราะประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ[201]
มาตรการทางเศรษฐกิจ
[แก้]""รัฐบาลได้ช่วยทุกอย่าง ช่วยทั้งร้านอาหาร ช่วยทั้งหมด ช่วยทั้งคน ทั้งกรรมการทั้งหมด คนทำงานทั้งหมด ทุกส่วน รัฐบาลออกมาช่วยไหม รัฐบาลช่วย 50% ช่วยทั้งหมดแล้ว จะเอาอะไรอีก โว๊ะ"" |
—ประวิตร วงษ์สุวรรณ[202] |
วันที่ 17 เมษายน ประยุทธ์แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ว่าจะส่งจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีไทย 20 อันดับแรก เพื่อขอให้ร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโควิด-19[203] วันที่ 19 เมษายน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกำหนดกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท[204]
วันที่ 21 เมษายน สำนักงานประกันสังคมเปิดเผยว่ามีผู้ประกันตนยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนแล้วกว่า 1.2 ล้านราย พร้อมยืนยันว่าสำนักงานฯ มีเงินลงทุนกรณีว่างงานกว่า 160,000 ล้านบาท ไม่กระทบต่อเสถียรภาพของสำนักงานฯ[205]
วันที่ 24 เมษายน ศบค. ออกมาเปิดเผยว่าค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 คิดเป็นประมาณ 1 ล้านบาทต่อคน[206]
ระหว่างเดือนมิถุนายนถึง 13 กรกฎาคม ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่าได้อนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว 63,342 ราย คิดเป็นมูลค่า 103,750 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของวงเงิน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอีกกว่า 2.4 ล้านราย (ร้อยละ 83 ของผู้ประกอบการทั้งหมด) ไม่มีสิทธิในเงินกู้ดังกล่าว[207]
สำหรับมาตรการกลุ่มโอนเงินโดยตรง ประกอบด้วย โครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งกระทรวงการคลังแถลงว่าจะมีผู้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ครบ 11 ล้านคนจนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563[208], มาตรการ "คนละครึ่ง" ซึ่งเป็นการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้จ่ายวงเงิน 3,500 บาท โดยกระทรวงการคลังเปิดเผยในเดือนมีนาคม 2564 ว่ามีผู้ใช้สิทธิ 14.7 ล้านคน[209] และโครงการ "เรารักกัน" ซึ่งเป็นการชดเชยแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ของกระทรวงแรงงาน หัวละ 4,000 บาท คาดใช้วงเงิน 37,100 ล้านบาท[210] เวิร์กพอยต์ทูเดย์ สรุปข้อมูลงบประมาณเพื่อรับมือโควิด-19 ณ วันที่ 22 มีนาคม 2564 พบว่า งบทางสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 20,498 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงเพียงร้อยละ 24.7 และงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 355,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 133,115 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงร้อยละ 47.5[211] วันที่ 23 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 85/2564 ซึ่งมอบหมายงบประมาณ 45,000 ล้านบาทให้แก่รัฐมนตรีไปพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ทำให้พรรคก้าวไกลและประชาธิปัตย์ออกมาคัดค้าน โดยมองว่าเป็นการหาเสียง[212][213] ต่อมา มีข่าวว่าแอพเป๋าตังกำหนดให้ยินยอมแบ่งข้อมูลส่วนบุคคลให้บริษัทพันธมิตรของธนาคาร[214]
ในโอกาสครบรอบ 1 ปีหลังเงินกู้ภาครัฐเกือบ 2 ล้านล้านบาท นักการเมืองพรรคเพื่อไทยออกมาเปิดเผยว่ามียอดเบิกจ่ายเพียงร้อยละ 34 แต่วิจารณ์รัฐบาลว่าไม่สามารถพยุงภาคธุรกิจ ไม่สามารถกระตุ้นการจ้างงานและไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างได้ผล[215] ด้านนักการเมืองพรรคก้าวไกลวิจารณ์ว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนประชาชนลดลงสวนทางกับสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังบังคับจ่ายผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข[216]
วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีออกพระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท[217] ทำให้มีการคาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจแตะร้อยละ 60 ในปีงบประมาณ 2565[218] ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายร่างงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. 2565 ส.ส. ฝ่ายค้านวิจารณ์การตัดลดงบกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังปรับเพิ่มงบจัดซื้ออาวุธ[219]
วันที่ 16 มิถุนายน 2564 นายกรัฐมนตรีประกาศตั้งเป้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน[220] ในเดือนเดียวกัน มีการเปิดโปงว่ารัฐบาลใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมเพื่อนำไปเยียวยาซึ่งผิดวัตถุประสงค์ไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท[221] วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เริ่มเปิด "ภูเก็ต แซนบ็อกซ์" เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบแล้วเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัว[222] แต่นักท่องเที่ยวจำนวนมากยกเลิกตั๋วเครื่องบินเพราะระบบราชการอนุมัติเอกสารล่าช้า[223]
วัคซีน
[แก้]"วิเคราะห์แล้วว่า[จำนวนและกรอบระยะเวลาการฉีดวัคซีน]มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีการระบาดรุนแรง และไม่มีผู้ป่วย หรือ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เช่นในบางประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนโดยด่วน" |
—อนุทิน ชาญวีรกูล[224] |
ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ทางการสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา จำนวน 26 ล้านโดส[225] ทั้งนี้ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธยได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "เมื่อรับวัคซีนมาแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอันนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนส์"[226] นอกจากนี้ยังแผนนำเข้าวัคซีนจากบริษัทซีโนแว็ก สัญชาติจีน 2 ล้านโดส ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2564[227] ซึ่งบริษัทซีโนแว็กเป็นบริษัทที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าร่วมทุนด้วยจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถือหุ้น 15%[24]
ในเดือนมกราคม 2564 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกรัฐบาลแจ้งความฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ หลังตั้งคำถามถึงบริษัทผลิตวัคซีนที่พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของ[23] ต่อมา อนุทิน ชาญวีรกูล โพสต์ตอบคำถามของธนาธร โดยตอนหนึ่งระบุว่า จำนวนและกรอบเวลาการสั่งซื้อวัคซีนนั้นเป็นไปตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ[224] ในเดือนเดียวกัน มีการวิจารณ์ว่าการผูกขาดดังกล่าวเป็นการหาความชอบให้แก่พระมหากษัตริย์[22][228]
วัคซีนลอตแรกถึงไทยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และเริ่มฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์[229] แผนกระจายวัคซีนลอต 2 จำนวน 8 แสนโดส โดยแบ่งเป็นกลุ่มพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ท่องเที่ยว[230] วันที่ 26 พฤษภาคม มีข่าวว่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาลส่วนหนึ่งวิ่งเต้นเพื่อให้ท้องถิ่นของตนได้รับจัดสรรวัคซีนมากที่สุด[231] ในวันเดียวกัน ศบค. ประกาศชะลอการลงทะเบียนจองวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม เนื่องจากจะมีการจัดสรรวัคซีนใหม่โดยเปลี่ยนจากโควต้าจองมาเป็นการจัดสรรให้กับพื้นที่ระบาดก่อน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่ามียอดผู้จองวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวแล้ว 7.9 ล้านราย[232] ข้อมูลในวันเดียวกันพบว่า ไทยมีวัคซีนซิโนแวค 6 ล้านโดส และแอสตราเซเนกา 117,000 โดส และกำลังนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมในเดือนมิถุนายน ขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศจะทยอยส่งมอบจนครบ 61 ล้านโดส[233] สส. พรรคก้าวไกลวิจารณ์การวางแผนวัคซีนของรัฐบาลว่า ทำให้ต้องจ่ายค่าตรวจหาเชื้อ ค่ายาต้านไวรัสและค่านอนโรงพยาบาลที่แพงกว่าวัคซีนมาก นอกจากนี้แทนที่จะยอมจัดสรรงบซื้อวัคซีนเพียงไม่ถึง 1 แสนล้านบาท แต่กลับต้องใช้งบเพื่อเยียวยาถึง 7 แสนล้านบาท[234]
จนถึงเดือนมิถุนายน 2564 วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว ประกอบด้วย ซิโนแวค แอสตราเซเนกา วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน[235] โมเดอร์นา[236] ซิโนฟาร์ม[237] และไฟเซอร์[238]
ระหว่างวันที่ 7–19 มิถุนายน 2564 มีการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 (ซิโนแวคและแอสตราเซเนกา) จำนวน 3.5 ล้านโดสใน 13 เขตสุขภาพ[239] วันที่ 7 มิถุนายน 2564 นายกรัฐมนตรีลงนามนำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 25 ล้านโดสและซิโนแวค 8 ล้านโดส[240] สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเปิดเผยราคาวัคซีนโมเดอร์นา 2 เข็มอยู่ที่ 3,800 บาท และจะสั่งซื้อ 10 ล้านโดส[241] วันที่ 8 มิถุนายน ศบค. ออกคำสั่งอนุญาตให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนซื้อวัคซีนได้[242] ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ออกประกาศว่าตนมีอำนาจนำเข้ายาและวัคซีนเพื่อใช้รักษาโควิด-19 ได้[243] อีกทั้งไม่ต้องรับผิดทางคดีทั้งปวง[244] วันที 15 มิถุนายน 2564 ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า พบปัญหาบุคคลที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกาสองเข็มแล้วยังมีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ อาจต้องฉีดวัคซีนเพิ่มเป็นเข็มที่สาม[245] วัคซีนซิโนฟาร์มลอตแรกมาถึงในวันที่ 20 มิถุนายน 2564[246] วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งกล่าวว่า มีแผนนำเข้าวัคซีนทางเลือกมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 แต่ติดขัดที่รัฐบาลไม่ยอมลงนาม[247] วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ครม. มีมติจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ โดยให้กรมควบคุมโรคลงนามในสัญญากับผู้ผลิต เบื้องต้นมีจำนวน 20 ล้านโดส และเห็นชอบความตกลงกับสหรัฐเพื่อรับมอบบริจาคอีกจำนวนหนึ่ง และเห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรม (เป็นตัวกลาง) ลงนามในการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นา กับบริษัทซิลลิค ฟาร์มา ผู้จัดจำหน่าย[248]
ความเชื่อมั่นต่อวัคซีน
[แก้]"ในขณะนี้ถ้าเอา (วัคซีนของไฟเซอร์) มาฉีดกลุ่ม 3 (บุคลากรทางการแพทย์) แสดงว่าเรายอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น" |
—ความเห็นของกรรมการพิจารณาการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์รายหนึ่ง[249] |
วันที่ 21 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดระยองจำนวน 6 รายมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมองภายใน 10 นาทีหลังฉีดวัคซีนโคโรนาแวค[250] วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอเกณฑ์จ่ายเงินชดเชยกรณีได้รับความเสียหายจากวัคซีน รายละ 1–4 แสนบาท[251] ในวันที่ 8 พฤษภาคม แพทย์จุฬาคนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กบรรยายภาวะที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะวัคซีนโคโรนาแว็ก[252] โดยตั้งชื่อว่า กลุ่มอาการทางระบบประสาทเฉพาะที่ที่สัมพันธ์กับการรับวัคซีน (immunization-related focal neurological syndrome, IRFN)[253][a] ผู้ป่วยมักมีอาการทางระบบรับสัมผัส เช่น รู้สึกชาด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย เช่น ปลายมือ มุมปาก และแก้ม มักพบเป็นข้างเดียวกันกับที่ฉีดวัคซีน นอกจากนี้อาจพบอาการตาบอดครึ่งซีก (hemianopia) ชั่วคราว และอาการอ่อนแรงชั่วคราวได้ด้วย และอาจพบร่วมกับอาการปวดศีรษะและอาเจียน[254] มักพบในผู้รับวัคซีนที่เป็นเพศหญิงอายุ 20-50 ปี[254] ข้อมูลจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 พบว่ามีผู้เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วจำนวน 9 คน แต่ทางการระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากโรคประจำตัวและปัจจัยอื่นทั้งหมด[255] ในเดือนมิถุนายน 2564 อย. สั่งงดฉีดซิโนแวคบางล็อตเนื่องจากพบเป็นเจล[256]
วัคซีนในประเทศ
[แก้]ในเดือนมีนาคม 2564 เริ่มการทดลองวัคซีน NDV-HXP-S ที่มหาวิทยาลัยมหิดล[257][258][259] ส่วนในเดือนเมษายน 2564 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศรับสมัครอาสาสมัครวัคซีน ChulaCov19 ระยะที่ 1 และ 2[260] ในขณะที่วัคซีนที่ผลิตด้วยใบยาสูบของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์มร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังอยู่ในระยะก่อนการทดลองในมนุษย์ โดยคาดว่าจะเข้าสู่ระยะการทดลองในมนุษย์ในเดือนสิงหาคม 2564[261] จนถึงเดือนเมษายน 2564 ขั้นตอนการผลิตวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์อยู่ในขั้นส่งตรวจคุณภาพวัคซีน และนายกรัฐมนตรียืนยันว่าเป็นไปตามกำหนดส่งมอบในเดือนมิถุนายน 2564[262][263]
การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ
[แก้]วันที่ 17 มกราคม 2565 อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ให้ข้อมูลว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา COVID-19 ควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันด้านสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด[264]เมื่อต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งของสาธารณะเช่น รถแท็กซี่ หรือรถประจำทาง ให้คนขับรถและผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท[265] และสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีโอกาสที่ได้รับเชื้อโควิดแต่ยังไม่แสดงอาการแน่ชัดให้เรียกใช้รถรับส่งเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยโควิดเพื่อเลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ[266]
ผลกระทบ
[แก้]เศรษฐกิจ
[แก้](ร้อยละ)
อ้างอิง: ธนาคารพัฒนาเอเชีย[267]
ในเดือนเมษายน 2564 ประธานหอการค้าไทยเปิดเผยว่า คนไทยอาจสูญเสียงานแล้วกว่า 7 ล้านตำแหน่ง และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านตำแหน่งหากการระบาดยังยืดเยื้อต่อไปอีก 2–3 เดือน[268] สายการบินพาณิชย์ที่ดำเนินการในประเทศไทย 8 แห่งยื่นหนังสือทวงถามกระทรวงการคลังถึงมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 25,000 ล้านบาทที่ร้องขอไปก่อนหน้านี้[269] ด้านสายการบินแห่งชาติของไทย การบินไทย ได้รับผลกระทบต่อผลประกอบการอย่างหนัก แม้ว่ากระทรวงการคลังจะออกเงินกู้วงเงิน 50,000 ล้านบาทเมื่อวันที่ 29 เมษายน แต่จำนวนดังกล่าวน่าจะทำให้บริษัทคงสภาพคล่องไปได้ถึงสิ้นปี 2563 เท่านั้น[270] สุดท้ายการบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจและต้องเข้ารับการฟื้นฟูกิจการ
การสำรวจขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติในเดือนมิถุนายน 2563 พบว่า อุตสาหกรรมกว่าร้อยละ 90 คาดว่าจะเสียรายได้กว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีกลาย[271]: 1 มาตรการของรัฐทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์มีดัชนีสมรรถนะการผลิต (MPI) ในเดือนเมษายน 2563 ลดลงปีต่อปีร้อยละ 82 นับเป็นการผลิตที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2530 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักรองลงมา ได้แก่ ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์, มอลต์และเครื่องดื่มมอลต์ ระบบเครื่องปรับอากาศและน้ำตาล[271]: 2 ส่วนอุตสาหกรรมที่มี MPI เพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2563 ได้แก่ คอนกรีตและซีเมนต์ การแพทย์ แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลแช่แข็ง และอาหารสัตว์ โดยเพิ่มขึ้นปีต่อปีตั้งแต่ร้อยละ 10 ถึง 40[271]: 2
ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม เกิดการประท้วงเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ และมาตรการตอบสนองของรัฐบาลที่ล้มเหลว ในเดือนสิงหาคม มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2563 พบว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 12.2 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.95 หรือประมาณ 8 แสนคน ด้านมหาวิทยายลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นใน 6 เดือนจะมีการปลดคนงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคน[272] ด้านนายกรัฐมนตรีกล่าวโทษการประท้วงว่าทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักเข้าไปอีก รายงานของธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะหดตัวลงร้อยละ 8.9 ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในบรรดา 9 ประเทศที่จัดอันดับ[273]
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าการระบาดระลอก 3 ในรอบเดือนเมษายน 2564 อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่า 60,000–100,000 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ ซึ่งคาดว่าคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1–2 แสนล้านบาท[274]
ในเดือนพฤษภาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่าดัชนีอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นเดียวกับการผลิตเบียร์[275]
ข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2564 พบว่าใน 1 ปีที่ผ่านมา หนี้สินครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้น 5 แสนล้านบาท เป็น 14 ล้านล้านบาท และต้นปี 2564 มีคนตกงาน เสี่ยงตกงานและเสมือนว่างงานกว่า 4.7 ล้านคน[138]
สังคม
[แก้]เกิดกรณีการแจ้งผลการตรวจที่ผิดพลาดทำให้ได้รับผลกระทบ มีรายหนึ่งที่ถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจ[276][277]
ในเดือนพฤษภาคม 2564 สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลการสำรวจสภาพจิตใจของคนไทย โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 1,713 คน เกี่ยวกับความรู้สึกต่อสถานการณ์ พบว่า ผู้ตอบร้อยละ 75.35 รู้สึกเครียดและวิตกกังวล ร้อยละ 72.95 รู้สึกสิ้นหวัง สำหรับสาเหตุ ร้อยละ 88.33 ระบุว่าเกิดจากสถานการณ์การระบาดที่ยังรุนแรง และร้อยละ 60.52 เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ[278]
ผลของคำสั่งล็อกดาวน์บางส่วนโดยไม่มีการเยียวยาทำให้มีการรวมตัวกันขัดขืนมาตรการของรัฐ เช่น แคมเปญออนไลน์ #กูจะเปิดมึงจะทำไม ของผู้ประกอบการร้านอาหาร[202] ในรอบเดือนมิถุนายน 2564 พบมีผู้ก่อเหตุชิงทรัพย์ร้านทองแล้วกว่า 10 ครั้ง[279]
การแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ
[แก้]- เกาหลีใต้ – เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2563 หญิงชาวเกาหลีใต้กลับจากการเดินท่องเที่ยวประเทศไทย พบว่าผลเป็นบวก และยืนยันการติดเชื้อเป็นกรณีที่ 16 ของประเทศ[280]
- เยอรมนี – เมื่อ 4 มีนาคม 2563 เมืองโคโลญยืนยันผู้ป่วย 5 กรณี ซึ่งรวมถึงหญิงที่กลับจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย และคาดว่าติดเชื้อที่นั่น[281]
- ออสเตรเลีย – เมื่อ 5 มีนาคม 2563 รัฐควีนส์แลนด์ยืนยันว่า ชายวัย 81 ปี ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศไทยได้ทำการทดสอบโรค พบว่าผลเป็นบวก และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซันไชน์โคสต์[282]
- อินเดีย – เมื่อ 6 มีนาคม 2563 อินเดียรายงานยืนยันกรณีที่ 31 ผู้ป่วยเป็นชาวอินเดียที่มีประวัติการเดินทางจากประเทศไทยและมาเลเซีย[283]
- ลาว – เมื่อ 22 เมษายน 2564 มีคำสั่งล็อกดาวน์นครหลวงเวียงจันทน์ หลังคณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 แถลงข่าวการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยพบในเวียงจันทน์ 26 ราย ในคลัสเตอร์เดียวกัน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากผู้ป่วยลำดับที่ 59 ที่ติดเชื้อจากเพื่อนคนไทยที่ลักลอบนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงไปเที่ยวในเวียงจันทน์ เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์[284]
- อียิปต์ – ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีข่าวว่าสหราชอาณาจักรพบผู้ป่วยโควิด-19 (สายพันธุ์ C.36.3 ที่พบครั้งแรกในนักบินผู้ช่วยในประเทศไทย) จำนวนหนึ่งเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรจากประเทศอียิปต์ ซึ่งทางการไทยแถลงว่าผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาในไทยจากอียิปต์เมื่อ 26 มกราคม โดยตรวจพบเชื้อดังกล่าวและพักอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ เมื่อหายป่วยตรวจไม่พบเชื้อแล้วได้เดินทางกลับอียิปต์ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ จึงไม่ควรเรียกว่าเป็นสายพันธุ์ไทย[285][286]
- กัมพูชา – วันที่ 19 มิถุนายน 2564 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา แถลงว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (ฺB.1.617.2) ในประเทศเป็นครั้งแรกโดยเป็นแรงงานชาวกัมพูชาที่เดินทางกลับจากประเทศไทยระหว่างวันที่ 5–8 มิถุนายน ผ่านทางด่านพรมแดนโดยมาจากกรุงเทพฯ 5 คน และจากจังหวัดชลบุรี 2 คน[287]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ ระวังสับสนกับการตอบสนองที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากการก่อภูมิคุ้มกัน (immunization stress-related response, ISRR) ซึ่งมีบรรยายในวรรณกรรมขององค์การอนามัยโลก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 COVID-19 Dashboard
- ↑ Cheung, Elizabeth (13 January 2020). "Thailand confirms first case of Wuhan virus outside China". South China Morning Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 January 2020. สืบค้นเมื่อ 13 January 2020.
- ↑ "สธ.แถลง พบคนขับแท็กซี่ ติดไวรัสโคโรน่า เป็นคนไทยรายแรก ไม่มีประวัติไปจีน" [MOPH announces taxi driver infected with coronavirus; first Thai case with no records of travelling to China]. Thairath Online. 31 January 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 January 2020. สืบค้นเมื่อ 31 January 2020.
- ↑ "ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทย ปะทุจากผับกทม.4 ย่านดัง- สนามมวยแพร่ไป 9 จ." [COVID-19 cases in Thailand surge; spreads from four major Bangkok-area entertainment districts – boxing stadiums to 9 provinces]. Krungthep Turakij. 20 March 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ 5.0 5.1 "รายงานข่าวกรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Novel Coronavirus;2019-nCoV) ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563" [Report of Novel Coronavirus (2019-nCoV) situation in Thailand, 1 February 2020]. 1 February 2020. สืบค้นเมื่อ 2 February 2020 – โดยทาง Ministry of Public Health, Thailand.
- ↑ "สธ.ยกระดับควบคุมป้องกันโรค ประกาศคำเตือนระดับ 3 หลีกเลี่ยงเดินทางไปพื้นที่ระบาด" [MOPH ramps up disease control measures; issues level 3 warning to avoid areas with ongoing transmission]. The Bangkok Insight. 31 January 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ "4 ประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าไทยต้องมี "ใบรับรองแพทย์"" [Arrivals from 4 high-risk coutries required to present "medical certificates"]. Thai PBS. 9 March 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ "ประกาศสกัดโควิด-19 ต่างชาติเข้าไทยต้องมีใบรับรองแพทย์-ประกันภัยแสนเหรียญ" [To curb COVID-19, foreigners arriving in Thailand now required to possess medical certificate – 100,000 USD health insurance]. Thairath Online. 19 March 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ "Covid-19: Thailand's strict new entry requirements take effect". New Straits Times. 22 March 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ "กทม.และ 5 จังหวัด ประกาศปิดห้างกับ 25 สถานที่ (คลิป)" [Bangkok and five other provinces close malls and 25 other locations (with clip)]. Thairath Online. 22 March 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ The Standard Team (24 March 2020). "นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คุมโควิด-19 มีผล 26 มี.ค. ย้ำยังไม่ประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้าน" [PM declares state of emergency effective 26 March in response to COVID-19; maintains there is no curfew yet]. The Standard. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ "Curfew starts today". Bangkok Post. 3 April 2020. สืบค้นเมื่อ 3 April 2020.
- ↑ "ประกาศราชกิจจาฯ 'หน้ากากอนามัย-เจลล้างมือ' สินค้าควบคุม 1 ปี" [New regulations imposed on 'face masks – hand gels' to remain in effect for one year]. Krungthep Turakij. 4 February 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ "'จุรินทร์'รับกำลังผลิตหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ" ['Churin' admits production capacity of face masks still not enough]. Daily News. 11 February 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ "หน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ สธ.แนะคนไม่ป่วยให้ใส่หน้ากากผ้า" [In face of mask shortage, MOPH advises the healthy to wear cloth masks]. Workpoint News. 5 March 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-29. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ Rojanaphruk, Pravit (9 March 2020). "Minister's Aide Accused of Hoarding, Selling Millions of Masks to China". Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ "คนไทยในต่างแดนฟ้องศาลปกครองสั่งยกเลิกใบ Fit to Fly" [Thais living abroad file petition with Administrative Court to rescind fit-to-fly order]. BBC Thai. 27 March 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ "มึน กทม. "ยกเลิกข่าว" ปิดห้าง 22 วัน" [Confusion ensues as Bangkok authorities "cancel" news release of 22-day mall shutdown]. Thansettakij. 21 March 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ "เผยคนแห่นั่งรถทัวร์ กลับบ้านหนีโควิด เกือบแสน! รมว.คมนาคม สั่งทำ 7 ขั้นตอน" [Nearly 100,000 flock home on tour buses to flee COVID! Transport Minister orders 7-step procedure]. Khaosod. 22 March 2020. สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
- ↑ Abuza, Zachary (21 April 2020). "Explaining Successful (and Unsuccessful) COVID-19 Responses in Southeast Asia". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ 10 June 2020.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Bello, Walden (3 June 2020). "How Thailand Contained COVID-19". Foreign Policy In Focus. สืบค้นเมื่อ 10 June 2020.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 22.0 22.1 "อึ้ง! ยามห้างดัง ง้างมือตบหน้า นศ.สาว ถือป้ายแสดงออก ทางการเมือง". ข่าวสด. 19 January 2021. สืบค้นเมื่อ 19 January 2021.
- ↑ 23.0 23.1 "Thailand Charges Opposition Figure with Defaming King". VOA (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 25 January 2021.
- ↑ 24.0 24.1 "'ซีพี' ทุ่ม 1.5 หมื่นล้านบาท ลงทุน บ.ผลิตวัคซีน 'ซิโนแวค'". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 5 January 2021.
- ↑ Paweewun, Oranan (16 April 2020). "IMF: Thai GDP down 6.7%". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 10 June 2020.
- ↑ Theparat, Chatrudee (7 April 2020). "Cabinet gives green light to B1.9tn stimulus". Bangkok Post.
- ↑ Schnirring, Lisa (14 January 2020). "Report: Thailand's coronavirus patient didn't visit outbreak market". CIDRAP. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 January 2020. สืบค้นเมื่อ 15 January 2020.
- ↑ "Novel coronavirus (02): Thailand ex China (HU) WHO. Archive Number: 20200113.6886644". Pro-MED-mail. International Society for Infectious Diseases. สืบค้นเมื่อ 14 January 2020.
- ↑ "Thailand confirms first case of Wuhan virus outside China". South China Morning Post. 13 January 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 January 2020. สืบค้นเมื่อ 13 January 2020.
- ↑ CityNews. "New patient suspected of new corona virus found in Chiang Mai". Chiang Mai Citylife (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-01-22.
- ↑ Nwdnattawadee, Nwdnattawadee (2020-01-21). "ด่วน! เชียงใหม่พบผู้ต้องสงสัยปอดอักเสบ เป็นชายชาวจีน มีไข้สูง เดินทางมาจากอู่ฮั่น ประเทศจีน". CM108 เชียงใหม่108. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-24. สืบค้นเมื่อ 2020-01-22.
- ↑ "First Thai infected with coronavirus". Bangkok Post. 22 January 2020. สืบค้นเมื่อ 23 January 2020.
- ↑ "Govt confirms Thai coronavirus case". Bangkok Post. 23 January 2020. สืบค้นเมื่อ 24 January 2020.
- ↑ "สธ.ยืนยัน สาวจีนป่วย ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ รายที่ 5 แล้วในไทย". Khaoosod. 24 January 2020. สืบค้นเมื่อ 25 January 2020.
- ↑ "ผลออกแล้ว!หญิงชาวจีนที่หัวหิน ติดเชื้อ'ไวรัสโคโรน่า'". Dailynews. 25 January 2020. สืบค้นเมื่อ 25 January 2020.
- ↑ "สธ.ยืนยันพบผู้ป่วย "ไวรัสโคโรนา" 8 ราย". PPTVHD36. 25 January 2020. สืบค้นเมื่อ 26 January 2020.
- ↑ "ด่วน! สธ.ยืนยัน พบนักท่องเที่ยวจีนในไทยติดเชื้อโคโรนาเพิ่ม 6 คน". Thai PBS. 2020-01-28. สืบค้นเมื่อ 2020-01-28.
- ↑ "Thailand confirms 6 more Wuhan virus infections, bringing total to 14". CNA. 28 January 2020. สืบค้นเมื่อ 28 January 2020.
- ↑ "สธ.แถลง พบคนขับแท็กซี่ ติดไวรัสโคโรน่า เป็นคนไทยรายแรก ไม่มีประวัติไปจีน" [Ministry of Health announces taxi driver infected with coronavirus, first Thai with no records of travelling to China]. Thairath Online. 31 January 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 January 2020. สืบค้นเมื่อ 31 January 2020.
- ↑ "เครื่องบินรับ 138 คนไทยจากอู่ฮั่น เดินทางถึงสนามบินอู่ตะเภาแล้ว (มีคลิป)" [Plane carrying 138 Thais from Wuhan has landed at U-Tapao Airport (with clip)]. Sanook. 4 February 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 4, 2020. สืบค้นเมื่อ 4 February 2020.
- ↑ "First case of medical worker found". Bangkok Post. 11 February 2020. สืบค้นเมื่อ 17 February 2020.
- ↑ "บุคลากรทางการแพทย์ไทย ติด 'ไวรัสโคโรน่า 2019' รายแรก". 15 February 2020. สืบค้นเมื่อ 17 February 2020 – โดยทาง กรุงเทพธุรกิจ.
- ↑ "ไวรัสโคโรนา : ผู้ป่วยโควิด-19 คนไทย เสียชีวิตรายแรก" [First Thai COVID-19 death]. 1 March 2020. สืบค้นเมื่อ 1 March 2020 – โดยทาง BBC Thailand.
- ↑ "ไวรัสโคโรนา : ครม.สั่งปิดสถานศึกษา-สถานบันเทิง ชาวต่างชาติจากเขตโรคติดต่อต้องมีใบรับรองแพทย์". บีบีซีไทย. 17 March 2020. สืบค้นเมื่อ 24 March 2020.
- ↑ 45.0 45.1 ย้อนไทม์ไลน์ 100 วัน กับสถานการณ์ ‘โควิด-19’ ในประเทศไทย
- ↑ "ไวรัสโคโรนา : รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศ 26 มี.ค.-30 เม.ย. สกัดโควิด-19 ยังไม่สั่ง "ปิดประเทศ-ปิดเมือง-ปิดบ้าน"". บีบีซีไทย. 25 March 2020. สืบค้นเมื่อ 31 March 2020.
- ↑ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๕/๒๕๖๓ เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
- ↑ 48.0 48.1 ไทยโพสต์ (25 March 2020). "เปิดคำสั่งตั้ง 'ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19' บิ๊กตู่นำทัพต้านไวรัสนรก". www.thaipost.net. สืบค้นเมื่อ 6 April 2020.
- ↑ หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ (10 April 2020). "โควิด-19 : เคอร์ฟิว 24 ชม. ในไทยยังเป็นแค่ "ข่าวปลอม" แล้วมีประเทศไหนบ้างที่สั่ง "ปิดบ้าน" สกัดไวรัสโคโรนา". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 10 April 2020.
- ↑ ปูพรมตรวจ Active case finding ตัดตอน COVID-19 ระบาด
- ↑ กรุงผวาอีกรอบ! กทม.ตรวจโควิดเชิงรุก เจอติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 5
- ↑ “เจาะลึกพฤติกรรมคนไทย” ต่อมาตรการลดแพร่ระบาดโควิด-19
- ↑ เพื่อไทย ห่วง จนท.ทำเกินกว่าเหตุ จับผู้ใจบุญแจกอาหารช่วงโควิด-19
- ↑ เปิดวิธี ‘แจกอาหาร’ ให้ถูกระเบียบ กทม. สู้ภัยโควิด-19 ไปด้วยกัน
- ↑ ฟังแล้วจุก! ติดต่อแจก ของบริจาค โดนถามกลับ อยากได้หน้าเหรอ?
- ↑ โควิด-19 : ฝ่ายค้านมีมติให้รัฐบาลเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอเปิดสภาสมัยวิสามัญถกปัญหาไวรัส
- ↑ โควิด-19 : ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 53 ราย จากการตรวจกลุ่มแรงงานข้ามชาติซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงรายใหม่
- ↑ โควิด-19 : ศบค. เคาะมาตรการผ่อนปรน 6 กลุ่มกิจการ-กิจกรรม เริ่ม 3 พ.ค.
- ↑ เผยยะลาปฏิบัติการเชิงรุก พบผู้ติดโควิดที่ยะหากว่า 20 คน สั่งตรวจใหม่
- ↑ ไทยพบผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' เพิ่ม 18 ราย รวมยอดสะสม 2,987 ราย ไม่พบเสียชีวิตเพิ่ม
- ↑ '4 สัญญาณ'เฝ้าระวัง'โควิด-19'ระบาดระลอก2ในไทย
- ↑ โควิด-19 : ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายใหม่เป็นวันแรก
- ↑ โควิด-19 : ศบค. เดินหน้าผ่อนปรนมาตรการระยะ 2 ลดเวลาเคอร์ฟิว เปิดห้างใหญ่-สนามกีฬา 17 พ.ค.
- ↑ เคาะต่อพรก.ฉุกเฉิน1เดือน…ลุ้นลดเคอร์ฟิว-ผ่อนปรนเฟส3
- ↑ เบื้องหลัง “คลายล็อกเฟส 3" เตรียมยกเลิก "พรก.ฉุกเฉิน" หลังระยะ4
- ↑ สปริงนิวส์ (31 May 2020). "เดินทางข้ามจังหวัด ตามมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ต้องทำอย่างไรบ้าง?". www.springnews.co.th. สืบค้นเมื่อ 1 June 2020.
- ↑ กทม. ประกาศผ่อนปรนระยะ 4 เช็ก 11 สถานที่เปิดได้ ส่วนอีก 5 ยังหมดสิทธิ์
- ↑ โควิด-19 : ผ่อนคลายมาตรการระยะ 5 ผับ-บาร์-คาราโอเกะ-อาบอบนวด เปิดได้แต่ต้องปิดเที่ยงคืน
- ↑ ต่ออายุ "พรก.ฉุกเฉิน" ครม.เคาะวันนี้ เตือน ห้ามชุมนุม-กักตุนสินค้า โทษหนัก
- ↑ สรุปครบ! ประเด็น 'ทหารอียิปต์' และ 'ลูกทูตซูดาน' ป่วยโควิด-19 เสี่ยงระบาดในไทย
- ↑ เคลียร์ชัด! เคส VIP 'ทหารอียิปต์' ศบค.แจงทำไมไม่ตรวจ 'โควิด-19'
- ↑ 'การบินไทย' สั่งกักตัว 7 จนท.ภาคพื้น หลังให้บริการ 'ทหารอียิปต์'
- ↑ กักตัวตำรวจภูธรเมืองระยอง 6 นายเสี่ยงโควิด-19
- ↑ ครม.ไฟเขียว สั่งย้ายผู้ว่าฯ ระยอง
- ↑ ""โอกาสที่จะเป็นการติดเชื้อในประเทศได้น้อยมาก"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 23 August 2020.
- ↑ "ศบค.ชุดใหญ่ เคาะต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน". โพสต์ทูเดย์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-22. สืบค้นเมื่อ 23 August 2020.
- ↑ บีบีซีไทย (3 September 2020). "โควิด-19 : พบผู้ต้องขังชายติดเชื้อก่อนส่งตัวเข้าแดน ทางการเร่งติดตามผู้ใกล้ชิดป้องกันการระบาดระลอก 2". www.bbc.com. สืบค้นเมื่อ 22 October 2020.
- ↑ "กลุ่มแรก! 41 ทัวร์จีนถึงไทย-กักตัวอีก 14 วัน". Thai PBS. 20 October 2020. สืบค้นเมื่อ 21 October 2020.
- ↑ "ศบค.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 45 วัน ตีกลับกักตัวเหลือ 10 วัน มาเสนอใหม่อีกครั้ง ไฟเขียวชายแดนตั้ง OQ". ผู้จัดการออนไลน์. 18 November 2020.
- ↑ "แถลงด่วน! โควิดสมุทรสาครติดเชื้อ 548 คน สั่งล็อกดาวน์ 14 วันยาวถึงวันปีใหม่". Hfocus.org. สืบค้นเมื่อ 31 December 2020.
- ↑ Yuda, Masayuki (21 December 2020). "Thailand to test thousands as COVID strikes Myanmarese workers". Nikkei Asia. สืบค้นเมื่อ 22 December 2020.
- ↑ Kuhakan, Jiraporn; Sriring, Orathai (22 December 2020). "Thai PM blames virus surge on illegal migration, hints at new curbs". Reuters. สืบค้นเมื่อ 23 December 2020.
- ↑ "Thailand confirms 67 new coronavirus infections". Reuters. 24 December 2020. สืบค้นเมื่อ 24 December 2020.
- ↑ "After months of calm, Thailand grapples with COVID-19 outbreak". ChannelNewsAsia.com. 23 December 2020. สืบค้นเมื่อ 23 December 2020.
- ↑ "Thailand reports COVID-19 death, imposes entertainment curbs in Bangkok". ChannelNewsAsia.com. Reuters. 28 December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-17. สืบค้นเมื่อ 31 December 2020.
- ↑ "First Covid-19 death in two months". Bangkok Post. 28 December 2020. สืบค้นเมื่อ 31 December 2020.
- ↑ "ด่วน ศบค. ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด งดเดินทางเข้า-ออก คุมโควิด-19". ไทยรัฐ. 4 January 2021. สืบค้นเมื่อ 5 January 2021.
- ↑ "มาเป็นผัง! กลุ่มปาร์ตี้ "ดีเจมะตูม" พบติดโควิด-19 แล้ว 19 คน แถมเป็นกลุ่มจากหลากหลายอาชีพ". โพสต์ทูเดย์ (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 26 January 2021.
- ↑ "'โควิด-19'วันนี้ ยอดรายใหม่สูงที่สุดในประเทศไทย". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 26 January 2021.
- ↑ "วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกถึงไทยแล้ว แต่ผลสำรวจพบบุคลากรทางแพทย์ฯ แค่ 55% พร้อมฉีด". บีบีซี ไทย. 24 February 2021. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
- ↑ "สธ. เผยยอดผู้ฉีดวัคซีนโควิด ครบ 2 เข็มแล้ว 5,862 ราย". ประชาชาติธุรกิจ. 24 March 2021. สืบค้นเมื่อ 30 March 2021.
- ↑ "ผ่าอาณาจักร "คริสตัลคลับ" คลัสเตอร์ทองหล่อ "โควิดรอบ3"". ฐานเศรษฐกิจ. สืบค้นเมื่อ 8 April 2021.
- ↑ "รัฐมนตรีพร้อมใจปฏิเสธ ไปเที่ยว "ผับทองหล่อ" คลัสเตอร์ลามหลายจังหวัด". ไทยรัฐ. 5 April 2021. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
- ↑ "เรือนจำนราธิวาสพบนักโทษ-จนท.-พยาบาลติดเชื้อโควิด-19 รวม 112 ราย". ผู้จัดการออนไลน์ (ภาษาอังกฤษ). 4 April 2021. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
- ↑ "ประยุทธ์ ออกประกาศกลางดึก มาตรการลดเสี่ยงโควิด-ให้จังหวัดปิดกิจการตามระดับติดเชื้อ". ประชาชาติธุรกิจ. 6 April 2021. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
- ↑ "คลัสเตอร์ทองหล่อเจอ'โควิดกลายพันธุ์'คาดระบาดหนักขึ้น 170เท่า". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
- ↑ "1 เดือนผ่านไปไทยกระจายวัคซีนฉีดครบ 2 เข็มเพียง 10.45% ของวัคซีนทั้งหมด". THE STANDARD. 7 April 2021. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
- ↑ "ทบ.ไม่เลิก 'เกณฑ์ทหาร' หลังพบคนติดโควิด-19 ไปร่วมจับใบดำใบแดง". โพสต์ทูเดย์ (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 10 April 2021.
- ↑ "เกิดอะไรขึ้นที่ รพ. เอกชน เตียงผู้ป่วยไม่พอ-น้ำยาตรวจโควิดขาดแคลนจริงหรือ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 10 April 2021.
- ↑ "ปลัดสธ. เผย ระบาดรอบนี้ คุมยาก-จับไม่อยู่ ปลวกแตกรัง คาดใช้เวลาคุม 2 เดือนขึ้นไป". มติชนออนไลน์. 8 April 2021. สืบค้นเมื่อ 12 April 2021.
- ↑ "เชียงใหม่ พบหญิงติดโควิดเที่ยวร้าน "วอร์มอัพ-กราวน์" 8 คืนรวด สั่งปิด 14 วัน". ประชาชาติธุรกิจ. 6 April 2021. สืบค้นเมื่อ 15 April 2021.
- ↑ "โคราช ผู้สัมผัสเสี่ยง 'คลัสเตอร์หมูกระทะ' แห่ตรวจ 'โควิด-19'". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 15 April 2021.
- ↑ "ผู้ติดเชื้อรายวันทะลุพันแล้ว กรมควบคุมโรคเตือนหากไม่คุม พุ่งเป็นหมื่น". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 18 April 2021.
- ↑ "นักวิชาการจุฬาฯชี้ ไทยครองแชมป์โลกอัตราขยายเชื้อโควิด 19". TNN. 18 April 2021. สืบค้นเมื่อ 18 April 2021.
- ↑ "แตะระดับ 2 พัน ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ +2,070 คน ตาย 4 ศพ". ไทยรัฐ. 23 April 2021. สืบค้นเมื่อ 24 April 2021.
- ↑ "ดราม่า #น้าค่อม ชาวเน็ตวิจารณ์ยับ เพราะดังจึงมี 'สิทธิ์' ? แต่คนธรรมดาเลือกไม่ได้". ข่าวสด. 24 April 2021. สืบค้นเมื่อ 24 April 2021.
- ↑ "ติดโควิดทั้งบ้าน ผู้สูงอายุเสียชีวิตระหว่างรอเตียง เร่งช่วยอีก 2 คน". Thai PBS. 23 April 2021. สืบค้นเมื่อ 24 April 2021.
- ↑ "ชาวเน็ตวิจารณ์สนั่น! หลังพบชาวอินเดียติดเชื้อโควิด-19 แห่เข้าไทย วอนภาครัฐหยุดรับก่อน". ผู้จัดการออนไลน์. 25 April 2021. สืบค้นเมื่อ 25 April 2021.
- ↑ "รพ.ปากช่องนานา เผย ชาวสาธารณสุขนครราชสีมา ให้กำลังใจ 'อนุทิน' ทุ่มเทแก้ปัญหา ผุด #ทองแท้ไม่กลัวไฟ". มติชนออนไลน์. 25 April 2021. สืบค้นเมื่อ 25 April 2021.
- ↑ ""จาตุรนต์" ขุดข่าว ไฟเซอร์ เสนอขายวัคซีนให้ไทย แต่ถูกปฏิเสธ 4 รอบ". ประชาชาติธุรกิจ. 27 April 2021. สืบค้นเมื่อ 27 April 2021.
- ↑ "หอการค้าไทย กลับลำหาวัคซีนทางเลือกเอง ขอบคุณรัฐมีพอไม่ต้องควักเพิ่ม". ข่าวสด. 28 April 2021. สืบค้นเมื่อ 28 April 2021.
- ↑ "'ชูวิทย์'ยกปรากฏการณ์ 'น้าค่อม' สะท้อนอารมณ์คนถึง รบ. ทำคนตาย จัดการวัคซีนห่วย". มติชน. 1 May 2021. สืบค้นเมื่อ 4 May 2021.
- ↑ "นาตาลี อาลัย "น้าค่อม" ชี้ถ้าประเทศฉีดวัคซีนเร็วกว่านี้ คงไม่สูญเสีย". มติชน. 30 April 2021. สืบค้นเมื่อ 4 May 2021.
- ↑ "โควิดลามคุก! พบผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงกลาง-เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ติดเชื้อเกือบ 3,000 ราย". ผู้จัดการออนไลน์. 12 May 2021. สืบค้นเมื่อ 12 May 2021.
- ↑ "เปิด25สถานที่จุดฉีดวัคซีนนอกรพ.ทั้งห้างดัง แบงก์ มหาวิทยาลัย". เดลินิวส์. 12 May 2021. สืบค้นเมื่อ 13 May 2021.
- ↑ "รพ.เอกชน วอน ปชช. อย่ารอวัคซีนโควิดทางเลือก เผยโมเดอร์นายังไม่มีของส่งให้". มติชนออนไลน์. 14 May 2021. สืบค้นเมื่อ 15 May 2021.
- ↑ "'อนุทิน'ย้ำวอล์กอินฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดีเดย์ 1 มิ.ย.นี้". Thai Post. สืบค้นเมื่อ 15 May 2021.
- ↑ "COVID-19: 16 พ.ค. 2564 ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในไทยทะลุ 1 แสนรายแล้ว". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 16 May 2021.
- ↑ "ศบค. พบผู้ติดเชื้อวันนี้(17พ.ค.) พุ่งกระฉูด 9,635 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 25 คน". ประชาชาติธุรกิจ. 17 May 2021. สืบค้นเมื่อ 18 May 2021.
- ↑ "ทำไมโควิดจึงระบาดหนักในคุก". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 18 May 2021.
- ↑ "คาดอีก 2 วัน รู้ผลชันสูตร 'ผู้ใหญ่บ้าน' ช็อก หลังฉีดวัคซีนโควิด". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 20 May 2021.
- ↑ ยอด 'โควิด-19' วันนี้ ตายหนัก! เสียชีวิตสูงถึง 41 ราย ติดเชื้อเพิ่ม 2,455 ราย
- ↑ ""หมอศิริราช"เดือด! อัดเลิกปิดข้อมูลภาพรวมการเสียชีวิตจากโควิดต่ำกว่าเป็นจริง". ฐานเศรษฐกิจ. สืบค้นเมื่อ 27 May 2021.
- ↑ "โควิดวันนี้ ไทยขยับขึ้นอันดับ 83 โลก ยอดดับสะสมทะลุ 1,000 รายแล้ว". ข่าวสด. 30 May 2021. สืบค้นเมื่อ 31 May 2021.
- ↑ "ฉีดวัคซีน: คิกออฟฉีดวัคซีนวันแรก หลายจังหวัดได้แอสตร้าเซนเนก้าฉีดผู้สูงอายุ". BBC ไทย. 7 June 2021. สืบค้นเมื่อ 13 June 2021.
- ↑ "พบเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดียใน 10 จังหวัด กังวลแทนที่สายพันธุ์อังกฤษ". BBC ไทย. 7 June 2021. สืบค้นเมื่อ 8 June 2021.
- ↑ "มหาดไทย แจงปมสั่งผู้ว่าฯ จัดหาวัคซีนให้ พนง.ไทยเบฟฯ และครอบครัว 7.1 หมื่นคน". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 20 June 2021.
- ↑ "เชียงราย พบบุคลากรการแพทย์ติดโควิดอื้อ ส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม". ไทยรัฐ. 23 June 2021. สืบค้นเมื่อ 24 June 2021.
- ↑ "แค่ 2 เข็มไม่พอ 2 วัคซีนจีน แนะให้ฉีดถึง 3 "หมอยง" ศึกษาเว้น 3 หรือ 6 เดือน". ไทยรัฐ. 23 June 2021. สืบค้นเมื่อ 24 June 2021.
- ↑ โควิดไทยทุบสถิติ! เสียชีวิตพุ่ง 51 ราย ติดเชื้อเพิ่มกว่า 3 พันราย
- ↑ "เช็คที่นี่ โรงพยาบาลชื่อดังแห่ ปิดให้บริการตรวจเชื้อโควิด". ฐานเศรษฐกิจ. สืบค้นเมื่อ 25 June 2021.
- ↑ "รพ.ศิริราชปิดหน่วยตรวจโรคแพทย์เวร 23-30 มิ.ย." ฐานเศรษฐกิจ. สืบค้นเมื่อ 25 June 2021.
- ↑ "คำนูณ ยืนยัน ส.ว. ไม่มีสิทธิพิเศษรักษาโควิด เคส พล.อ. เลิศฤทธิ์ เป็นคนไข้ประจำ รพ.พระมงกุฏเกล้าอยู่แล้ว". THE STANDARD. 28 June 2021. สืบค้นเมื่อ 28 June 2021.
- ↑ "ชาวเน็ตสงสัย "แพนเค้ก" ผลโควิดเพิ่งออกทำไมได้เตียงเร็ว?". ผู้จัดการออนไลน์. 28 June 2021. สืบค้นเมื่อ 28 June 2021.
- ↑ "ห้ามย้ายคนงาน ทหารเข้ม แคมป์ก่อสร้าง แต่หลายแห่งเผ่นหายแล้ว". ไทยรัฐ. 27 June 2021. สืบค้นเมื่อ 28 June 2021.
- ↑ "จนท.เหนื่อยอีก แคมป์ปิด แรงงานเขมรถูกนายจ้างพามาทิ้งไว้ที่สุรินทร์". ไทยรัฐ. 27 June 2021. สืบค้นเมื่อ 28 June 2021.
- ↑ "แตกตื่น! แรงงานกัมพูชาทะลักกลับประเทศที่ด่านช่องจอม หลังไทยสั่งปิดแคมป์ พบนายจ้างแสบขนมาทิ้งข้างทางอื้อ". ผู้จัดการออนไลน์. 27 June 2021. สืบค้นเมื่อ 28 June 2021.
- ↑ 138.0 138.1 "โควิดระลอก 3 ผลกระทบต่อคนไทย ไม่ใช่เรื่องตลก". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 29 June 2021.
- ↑ "ก้าวไกล ปูดโควตา'กองทัพ'ขอวัคซีนฉีด 'กำลังพล-ครอบครัว-บริวาร'". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 1 July 2021.
- ↑ ศบค. พบผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้(2 ก.ค.) พุ่งกระฉูด 6,087 ราย ตายเพิ่ม 61 คน
- ↑ "ทั่วไทยระทม! คนจากกทม.ปริมณฑล แพร่โควิด 34 จว. "กรุงเทพฯ" ยอดพุ่ง 113 คลัสเตอร์ เหลือแค่ 3 จว.รอด!". pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 3 July 2021.
- ↑ "All health workers to get Pfizer shots". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "รัฐบาลยันทยอยส่ง"ไฟเซอร์"ให้จนครบ". pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "น้ำตาแทบร่วง! บุคลากรทางการแพทย์ปัตตานี โอดวัคซีนไฟเซอร์ไม่เพียงพอถึงขั้นต้องจับสลากฉีด". ผู้จัดการออนไลน์. 10 August 2021. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "รพ.ธรรมศาสตร์ เผย ได้รับไฟเซอร์ เพียง 60% ทั้งที่ส่งชื่อไปไม่ถึงครึ่งของบุคลากร". มติชนออนไลน์. 9 August 2021. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "รพ.โอดฉีดไฟเซอร์เข็ม 3 จัดสรร 'ด่านหน้า' ไม่เพียงพอ". มติชนออนไลน์. 10 August 2021. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "ย้อนที่มาก่อนวัคซีน Pfizer จะถึงแขนบุคลากรด่านหน้า นโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยการด่า?". THE STANDARD. 8 August 2021. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "แจงดราม่า "อนุทิน" ปมมอบวัคซีนไฟเซอร์ที่นครสวรรค์ ชี้เข้าใจคลาดเคลื่อน". ไทยรัฐ. 8 August 2021. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "สสจ.เลย แจงฉีดไฟเซอร์นายทหารยศ ส.อ. เพราะเป็นด่านหน้า ดูแลผู้ป่วยใน รพ.ค่าย ย้ำสมควรได้รับวัคซีน". มติชนออนไลน์. 9 August 2021. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "หมอลั่น "เราไม่ใช่พวกเดียวกับคุณ" ยืนยันนิรโทษกรรมไม่จำเป็นอย่าร้อนตัว". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 11 August 2021.
- ↑ "WHO | Novel Coronavirus – Thailand (ex-China)". WHO. 14 January 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 January 2020. สืบค้นเมื่อ 15 January 2020.
- ↑ "Wuhan viral pneumonia alert". Chiang Mai Citylife. 7 January 2020. สืบค้นเมื่อ 15 January 2020.
- ↑ Slessor, Camron (11 February 2020). "Westerdam cruise ship stranded at sea again after being refused entry to Thailand amid coronavirus fears". ABC News. สืบค้นเมื่อ 11 February 2020.
- ↑ "Thailand bars Westerdam cruise ship, China virus toll tops 1,000". Bangkok Post. 11 February 2020. สืบค้นเมื่อ 11 February 2020.
- ↑ "Phuket liner let-in cops flak". Bangkok Post. 14 February 2020. สืบค้นเมื่อ 20 February 2020.
- ↑ "สรุปประเด็นเรือสำราญเทียบท่าภูเก็ต". The Standard. 13 February 2020. สืบค้นเมื่อ 20 February 2020.
- ↑ "Japanese and S'pore arrivals screened". Bangkok Post. 18 February 2020. สืบค้นเมื่อ 18 February 2020.
- ↑ "Thailand expands virus detection". Bangkok Post. 21 February 2020. สืบค้นเมื่อ 22 February 2020.
- ↑ โควิด-19 : ออกคำสั่งขยายเวลาห้ามเครื่องบินโดยสารเข้าไทยชั่วคราว จาก 6 เม.ย. ไปถึง 18 เม.ย.
- ↑ "รัฐบาลไฟเขียวต่างชาติเที่ยวภูเก็ตไม่ต้องกักตัว เริ่ม 1 ก.ค." BBC ไทย. 30 March 2021. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
- ↑ "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักร ที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019". กรมควบคุมโรค. 6 March 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-22. สืบค้นเมื่อ 2020-05-15.
- ↑ "ผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง หรือพื้นที่พบผู้ป่วยตามรายงานขององค์การอนามัยโลก". กรมควบคุมโรค. 16 March 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-22. สืบค้นเมื่อ 2020-05-15.
- ↑ "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ๒๕๖๓" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๙๓ ง หน้า ๑๖. ๒๒ เมษายน ๒๕๖๓.
- ↑ "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. ๒๕๖๓" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๑๔ ง หน้า ๒๑. ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓.
- ↑ สยามรัฐ (26 March 2020). "'ศบค.' ตั้ง 'หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน' ปฏิบัติหน้าที่ โฆษก ศบค". siamrath.co.th. สืบค้นเมื่อ 1 August 2020.
- ↑ สนุก.คอม (16 May 2020). "เปิดประวัติ "หมอบุ๋ม" พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค". www.sanook.com. สืบค้นเมื่อ 1 August 2020.
- ↑ "ประยุทธ์ รวบอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับ แก้ปัญหาโควิด". ประชาชาติธุรกิจ. 27 April 2021. สืบค้นเมื่อ 20 June 2021.
- ↑ ""อนุทิน" ยันจัดวัคซีนโควิดโควตา ศบค.-ไม่เกี่ยวเลื่อนนัดฉีด". Thai PBS. 13 June 2021. สืบค้นเมื่อ 20 June 2021.
- ↑ ไวรัสโคโรนา : รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศ 26 มี.ค.-30 เม.ย. สกัดโควิด-19 ยังไม่สั่ง “ปิดประเทศ-ปิดเมือง-ปิดบ้าน”
- ↑ 7,000 Curfew Arrests Made Over the Past Two Weeks: Police
- ↑ เช็กที่นี่!! 14 จังหวัดประกาศล็อกดาวน์ ห้ามเข้า-ออกแล้ว
- ↑ “มหาดไทย” เปิดชื่อ 47 จังหวัด งดขายเหล้า สกัดโควิด-19
- ↑ พิษณุโลก 'ห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์' ต่ออีก 1 เดือน ยาวถึง 31 พ.ค. 63. คุณภาพชีวิต-สังคม, กรุงเทพธุรกิจ. 3 พฤษภาคม 2563.
- ↑ "สถานการณ์และแนวทางรับมือกับ COVID-19 ของไทย". TDRI. 21 August 2020. สืบค้นเมื่อ 12 April 2021.
- ↑ "วิจารณ์ยับ! มาตรการลงชื่อ-เบอร์ก่อนเข้าร้านสะดวกซื้อ หลังโดนพนักงานแอดไลน์มาจีบ". เนชั่นทีวี. 26 May 2020. สืบค้นเมื่อ 12 April 2021.
- ↑ ลุกลาม! ระยองสั่งปิดโรงเรียน 274 แห่ง ปม "ทหารอียิปต์" ติดโควิด
- ↑ ปิดห้างระยอง 2 วันคุม COVID-19 คัดกรองคนเฉียดพัน
- ↑ "ศบค.แจงเหตุรอบนี้ "ไม่ล็อกดาวน์" ดูรายละเอียด คุมสูงสุด 28 จังหวัด เริ่มจันทร์นี้!". ข่าวสด. 2 January 2021. สืบค้นเมื่อ 5 January 2021.
- ↑ "Bangkok to close schools for two weeks as number of COVID-19 cases rise". Reuters. 1 January 2021. สืบค้นเมื่อ 1 January 2021.
- ↑ "UPDATE 3-Thailand mulls more restrictions amid second wave of coronavirus". Reuters. 3 January 2021. สืบค้นเมื่อ 4 January 2021.
- ↑ "ครบ 1 ปี ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมโควิด-19 ควรไปต่อหรือพอแค่นี้". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
- ↑ "มีนาคม 64: เดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มเกือบ 200 ราย ยอดพุ่งไปอย่างน้อย 581 คน ใน 268 คดี | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (THAI LAWYERS FOR HUMAN RIGHTS)". TLHR. 6 April 2021. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
- ↑ "ฮิวแมนไรท์วอทช์ร้อง รบ.ไทยหยุดคุกคามคนวิจารณ์การรับมือโควิด-19". VoiceTV. สืบค้นเมื่อ 12 April 2021.
- ↑ "เตือน! ปกปิด 'ไทม์ไลน์' โควิด มีโทษสูงสุด ทั้งจำทั้งปรับ รับมือระบาดรอบใหม่". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 10 April 2021.
- ↑ "ปกปิดไทม์ไลน์! 'พนง.บริษัท-ขรก.ศาล'ติดโควิด สธ.จ่อฟันพรบ.โรคติดต่อ". ข่าวสด. 7 April 2021. สืบค้นเมื่อ 10 April 2021.
- ↑ "เทียบชัดๆ ไทม์ไลน์ "ศักดิ์สยาม-ผู้ป่วยทั่วไป" ทำไมปกปิดข้อมูล ?". ฐานเศรษฐกิจ. สืบค้นเมื่อ 10 April 2021.
- ↑ คำเปรม, พัชรินทร์ (30 April 2021). "ถอดรหัสโควิด ระลอก3 สารพัดปัญหาเรียนออนไลน์". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 1 June 2021.
- ↑ ""ครูพร้อม" คืออะไร ทำไมถึงมีบทบาทในช่วงโควิดระบาด". คมชัดลึกออนไลน์. 12 May 2021. สืบค้นเมื่อ 1 June 2021.
- ↑ "เชียงใหม่วิกฤติป่วยโควิดพุ่ง 148 ราย เปิด รพ.สนามรับได้ 280 เตียง". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 10 April 2021.
- ↑ "โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ ขาดแคลนน้ำดื่มและของใช้ ขอรับบริจาคจำนวนมาก". ผู้จัดการออนไลน์ (ภาษาอังกฤษ). 10 April 2021. สืบค้นเมื่อ 12 April 2021.
- ↑ "เชียงราย ประกาศ ขอความร่วมมือปชช. อยู่บ้าน 14 วัน งดออกบ้านโดยไม่จำเป็น". ข่าวสด. 17 April 2021. สืบค้นเมื่อ 17 April 2021.
- ↑ "สธ.เผยวัคซีน 4 เข็มสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ โซเชียลตอกกลับ "วัคซีนทิพย์"". คมชัดลึกออนไลน์. 21 April 2021. สืบค้นเมื่อ 22 April 2021.
- ↑ "Prime Minister Suga to support the development of Thailand's vaccine transportation network Total 600 million yen | tellerreport.com". www.tellerreport.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 22 April 2021.
- ↑ "สธ.ส่ง'ฟ้าทะลายโจร'6แสนแคปซูล ให้รพ.ใช้ร่วมรักษาผู้ป่วยโควิด". เดลินิวส์. 22 April 2021. สืบค้นเมื่อ 23 April 2021.
- ↑ "เช็กจังหวัดต้อง "สวมแมสก์" ออกจากบ้าน เตือน "ดึงใต้คาง-ปิดแค่ปาก-ไม่ปิดจมูก" ผิดกฎหมาย". ไทยรัฐ. 27 April 2021. สืบค้นเมื่อ 28 April 2021.
- ↑ "GOV'T WANTS TO BUY MORE VACCINES AS SURGE WORSENS". Khaosod English. Associated Press. 8 May 2021. สืบค้นเมื่อ 15 May 2021.
- ↑ "เดือด! จวกรบ.ประกาศล็อกดาวน์ ตอนตี 1 ชี้ไม่เห็นหัวปชช. จี้ลาออก #ประยุทธ์ออกไป พุ่งติดเทรนด์". มติชนออนไลน์. 27 June 2021. สืบค้นเมื่อ 27 June 2021.
- ↑ "แพทย์-พยาบาล ขาดแคลนหนัก! 4 รพ.ใหญ่ ขอกำลังหนุน 150 คน สู้โควิด - The Bangkok Insight". www.thebangkokinsight.com. สืบค้นเมื่อ 3 July 2021.
- ↑ "แพทย์รามาฯ เผย เตียงโควิดวิกฤตหนัก สับรัฐแหลก ด่านหน้า "ขอปืนใหญ่ แต่ได้ปืนแก๊ป"". pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 3 July 2021.
- ↑ "เน่าเฟะ บริหารล้มเหลว ที่มารัฐบาลฆาตกร คนไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติ รอวันตาย". ไทยรัฐ. 2 July 2021. สืบค้นเมื่อ 3 July 2021.
- ↑ "ศบค.เผยเหตุล็อกดาวน์แต่ยอดติดเชื้อพุ่ง เพราะปชช.การ์ดตก". โพสต์ทูเดย์ (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 11 August 2021.
- ↑ 202.0 202.1 "แคมเปญขัดขืน "กูจะเปิดมึงจะทำไม" ชวนเปิดร้านอาหารนั่งดื่มกิน ศบค.เบรก "บิ๊กป้อม" ถาม "เอาอะไรอีก"!". pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 30 June 2021.
- ↑ นายกฯ ปลุกพลังคนไทย ขอความร่วมมือ 20 เศรษฐีไทย รวมใจ ฝ่าภัยโควิด-19. ไทยรัฐ.
- ↑ ด่วน! ราชกิจจาประกาศ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน 3 ฉบับรวด “ห้ามจ่ายนอกรายการโควิด”
- ↑ ผู้ว่างงานขอเยียวยาทะลุ 1.2 ล้านราย ได้เงินแล้ว 8 พันราย
- ↑ ศบค.เผย งบฯ รักษาติดเชื้อโควิด-19 คนละล้าน-เกิดระบาดรอบ 2 อีกไม่ได้
- ↑ ส่อง Soft Loan แบงก์ชาติ SME เข้าถึงแค่ 12% ของผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อ
- ↑ 'เราไม่ทิ้งกัน' โอน 'เงินเยียวยา' ส่วนที่เหลือแล้ว 5-8 พ.ค.ได้เงินครบทั้ง 11 ล้านคน
- ↑ "'คนละครึ่ง เฟส 3' หลังพฤษภาคม 2564 มาแน่!". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
- ↑ "แรงงาน เผยไทม์ไลน์ 'ม.33 เรารักกัน' เปิดลงทะเบียน 21 ก.พ. นี้ คาดใช้เงินเยียวยา 3.71 หมื่นล้านบาท". THE STANDARD. 6 February 2021. สืบค้นเมื่อ 12 April 2021.
- ↑ "เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทสู้โควิด อยู่ไหน". Twitter. WorkpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 25 April 2021.
- ↑ "สส.ก้าวไกลค้านรัฐบาลแบ่งเค้กงบฟื้นฟูโควิด4.5หมื่นล้านแจกรายจังหวัดฐานเสียงรมต". Thai Post. สืบค้นเมื่อ 24 April 2021.
- ↑ "เปิดคำสั่งนายกฯแบ่ง'รมต.'คุมจว.ทั่วประเทศ 'พปชร.'ยึดฐานเสียง-ส่ง'ธรรมนัส'เจาะใต้". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 24 April 2021.
- ↑ "ชาวเน็ตโอด! "เป๋าตัง" เวอร์ชันใหม่มีติ๊กยอมรับให้ข้อมูลบริษัทพันธมิตร ใครไม่ทันอ่านกลับมาแก้ไม่ได้แล้ว". ผู้จัดการออนไลน์. 7 June 2021. สืบค้นเมื่อ 8 June 2021.
- ↑ "1 ปี เงินกู้โควิด พลาดเป้า "ศิริกัญญา" ชำแหละเสียโอกาสกู้วิกฤต". ประชาชาติธุรกิจ. 22 April 2021. สืบค้นเมื่อ 27 May 2021.
- ↑ "'ศิริกัญญา' ชี้โควิดระลอก3 สะท้อนเหลื่อมล้ำ เผยเงินกู้ก้อนใหม่ ฟื้นศก.ได้แต่ไม่ใช่รบ. 'บิ๊กตู่'". มติชนออนไลน์. 8 May 2021. สืบค้นเมื่อ 27 May 2021.
- ↑ "คลอดแล้ว!"พรก.กู้5แสนล้าน"ใช้แก้ปัญหาโควิด". โพสต์ทูเดย์. สืบค้นเมื่อ 25 May 2021.
- ↑ "สบน. ยอมรับ พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้าน อาจดันหนี้สาธารณะปีงบ 65 ไต่ระดับ 60% ย้ำอยู่ระหว่างทบทวนแผนก่อหนี้ใหม่ เพื่อประเมินตัวเลขที่ชัดเจน". THE STANDARD. 25 May 2021. สืบค้นเมื่อ 27 May 2021.
- ↑ "ฝ่ายค้านประกาศคว่ำงบ 65 วาระแรก เหตุไม่สะท้อนวิกฤตโควิด". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 2 June 2021.
- ↑ "นายกฯออกแถลงการณ์ ตั้งเป้า 'ไทย' ต้องเปิดประเทศภายใน 120 วัน". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 16 June 2021.
- ↑ "สวดรัฐล้วงเงินประกันสังคม 1 แสนล้าน เยียวยาโควิดผิดวัตถุประสงค์กองทุน". เดลินิวส์. 29 June 2021. สืบค้นเมื่อ 30 June 2021.
- ↑ "ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ (Phuket Sandbox) ดีเดย์ 1 ก.ค. 64 รวมเรื่องต้องรู้". ประชาชาติธุรกิจ. 30 June 2021. สืบค้นเมื่อ 30 June 2021.
- ↑ "5 แอร์ไลน์ป่วน ! ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 1 ก.ค. ติดหล่ม COE ต่างชาติแห่ยกเลิกตั๋ว". ประชาชาติธุรกิจ. 29 June 2021. สืบค้นเมื่อ 30 June 2021.
- ↑ 224.0 224.1 "ตอบแล้ว! 'อนุทิน' แจงข้อสงสัยธนาธร กรณีจัดหาวัคซีน". มติชนออนไลน์. 26 January 2021. สืบค้นเมื่อ 26 January 2021.
- ↑ "เรื่องน่ารู้ของวัคซีนโควิด-19 ที่ไทยสั่งซื้อ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 5 January 2021.
- ↑ "นายกฯ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ร.10 ทรงให้ "สยามไบโอไซเอนซ์" รองรับวัคซีนโควิด-19". BBC ไทย. 27 November 2020. สืบค้นเมื่อ 5 January 2021.
- ↑ "ข่าวดี ไทยเริ่มผลิตวัคซีน "โควิด-19" ในประเทศ รอบที่ 2 แล้ว". ไทยรัฐ. 3 January 2021. สืบค้นเมื่อ 5 January 2021.
- ↑ "Iconsiam guard accused of slapping student protester but guess which was taken to police?". Coconuts. 19 January 2021. สืบค้นเมื่อ 19 January 2021.
- ↑ "วัคซีนโควิดล็อตแรกถึงไทย แต่กลุ่มเป้าหมายแรกพร้อมฉีดแค่ไหน". BBC ไทย. 24 February 2021. สืบค้นเมื่อ 24 February 2021.
- ↑ "ไทยกระจาย 'วัคซีนโควิด19' ล็อต 2 มากกว่า 22 จังหวัด". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 7 April 2021.
- ↑ "ศึกชิงวัคซีนโควิด สมรภูมินี้ใครชนะ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 26 May 2021.
- ↑ ""หมอพร้อม" ชะลอลงทะเบียน ปรับแผนกระจายวัคซีนใหม่ ประยุทธ์ สั่ง". ประชาชาติธุรกิจ. 26 May 2021. สืบค้นเมื่อ 26 May 2021.
- ↑ "วัคซีนทางเลือกแรกของไทย กับเบื้องหลังปิดดีล "ซิโนฟาร์ม"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 2 June 2021.
- ↑ "'วิโรจน์' ไล่ 'รัฐบาล' ลาออก จัดงบประมาณ 'ไร้สามัญสำนึก' เหมือนลูกทรพีตื๊อซื้อของเล่น ให้กองทัพซุกงบ". มติชนออนไลน์. 31 May 2021. สืบค้นเมื่อ 31 May 2021.
- ↑ "เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้างกับคนไทย หลังเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 8 April 2021.
- ↑ "วัคซีนโมเดอร์นา ได้รับการขึ้นทะเบียน จาก อย. มีผล 13 พ.ค." ประชาชาติธุรกิจ. 13 May 2021. สืบค้นเมื่อ 13 May 2021.
- ↑ "ซิโนฟาร์ม อย. อนุมัติการขึ้นทะเบียนแล้ว". ประชาชาติธุรกิจ. 28 May 2021. สืบค้นเมื่อ 2 June 2021.
- ↑ "ไฟเซอร์ อย. อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนแล้ว". ประชาชาติธุรกิจ. 24 June 2021. สืบค้นเมื่อ 9 July 2021.
- ↑ ""ฉีดวัคซีนโควิด-19" เช็กเลยกลุ่มจังหวัดไหนได้วัคซีนอะไร เท่าไหร่ ครบจบ". ฐานเศรษฐกิจ. สืบค้นเมื่อ 7 June 2021.
- ↑ "ประยุทธ์ ลงนามแล้ว นำเข้าวัคซีน 'จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน' 25 ล้านโดส". ข่าวสด. 7 June 2021. สืบค้นเมื่อ 8 June 2021.
- ↑ "สมาคม รพ.เอกชน เคาะวัคซีนโมเดอร์นา 2 เข็ม 3,800 บาท ราคาเดียวทั่วประเทศ". ประชาชาติธุรกิจ. 7 June 2021. สืบค้นเมื่อ 8 June 2021.
- ↑ "นายกฯ ประกาศ 6 มาตรการปลดล็อก 'วัคซีนโควิด-19' ท้องถิ่นซื้อได้ สั่งสธ.เร่งนำเข้าวัคซีน". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 8 June 2021.
- ↑ "สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ประกาศเพิ่มอำนาจ สามารถนำเข้า จัดจำหน่ายวัคซีนได้เอง จับตานำเข้าวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' ทางเลือกปชช". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 26 May 2021.
- ↑ "ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อนุญาตให้จัดหาวัคซีนในสถานการณ์โควิด 19 และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 26 May 2021.
- ↑ ""หมอธีระวัฒน์" เผย เจอปัญหาผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้ว ภูมิขึ้นน้อย". ไทยรัฐ. 13 June 2021. สืบค้นเมื่อ 15 June 2021.
- ↑ "วัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรกถึงไทย". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 20 June 2021.
- ↑ "รู้คำตอบ! หมอโทรถาม ไฟเซอร์-โมเดอร์นา ทำไมช้า เผยรบ.ไม่เซ็นสัญญา". ข่าวสด. 2 July 2021. สืบค้นเมื่อ 2 July 2021.
- ↑ "ครม.เห็นชอบจัดหาไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เป็นวัคซีนหลักฉีดให้คนไทยฟรี". ไทยรัฐ. 6 July 2021. สืบค้นเมื่อ 9 July 2021.
- ↑ "มีอะไรในบันทึกประชุมเรื่องวัคซีนไฟเซอร์ให้หมอ-พยาบาลด่านหน้า". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "คนไทยยังไว้ใจวัคซีนซิโนแวคได้หรือไม่ หลังพบอาการคล้ายสโตรก 6 ราย". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 April 2021.
- ↑ "เปิดเกณฑ์สปสช.จ่ายช่วยเหลือคนไทยจากผลข้างเคียงวัคซีน 1-4 แสนบาท". โพสต์ทูเดย์. สืบค้นเมื่อ 5 May 2021.
- ↑ "อ.เจษฎา โพสต์ผลศึกษา รพ.จุฬา พบส่วนใหญ่เพศหญิงมีอาการข้างเคียง หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค". CH3Plus.com. สืบค้นเมื่อ 13 May 2021.
- ↑ "กลุ่มอาการ IRFN ที่พบได้หลังรับวัคซีนโรคโควิด-19". chulalongkornhospital.go.th. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. สืบค้นเมื่อ July 3, 2021.
- ↑ 254.0 254.1 นิจศรี ชาญณรงค์ สุวรรณเวลา (2021-05-08). "Immunization Related Focal Neurological Syndrome (IRFN) อาการไม่รุนแรง หายเองได้ ขอให้มั่นใจในการฉีดวัคซีน COVID-19". facebook. Nijasri Charnnarong. สืบค้นเมื่อ 2021-05-10.
- ↑ "เปิดสาเหตุ 'เสียชีวิต' หลัง 'ฉีดวัคซีนโควิด' เกิดจากอะไรบ้าง?". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 1 June 2021.
- ↑ "ด่วน! อย. แจ้งพบ วัคซีนซิโนแวค บางล็อตมีปัญหา เป็นเจลใส-เขย่าไม่หาย". ข่าวสด. 29 June 2021. สืบค้นเมื่อ 29 June 2021.
- ↑ Limited, Bangkok Post Public Company. "Thai-made vaccine ready 'by next year'". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-04-09.
- ↑ Zimmer, Carl (2021-04-05). "Researchers Are Hatching a Low-Cost Coronavirus Vaccine". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-04-09.
- ↑ "Thai-developed Covid-19 vaccine starts human trials". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 8 April 2021.
- ↑ "จุฬาฯ เปิดรับ อาสาสมัครทดลองวัคซีนโควิด สัญชาติไทย". ประชาชาติธุรกิจ. 22 April 2021. สืบค้นเมื่อ 24 April 2021.
- ↑ วัคซีนใบยาฝีมือคนไทย สู้โควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564
- ↑ "นายกฯ เชื่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าปลอดภัย-สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตได้ตามแผน". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 24 April 2021.
- ↑ "นายกฯ ยืนยันไม่ล็อกดาวน์ ติดต่อรัสเซียขอซื้อวัคซีน". BBC ไทย. 16 April 2021. สืบค้นเมื่อ 24 April 2021.
- ↑ Pafun (2022-01-17). "ขนส่งคุมเข้ม สกัดโควิดระบาดจากรถสาธารณะ". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 24 January 2022.
- ↑ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับรถโดยสารสาธารณะ เก็บถาวร 2022-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรมการขนส่งทางบก สืบค้นเมื่อ 24 January 2022.
- ↑ jit (2022-01-18). "เจาะลึก 5 ระบบเด่นใน Taxi COVID PocoCar". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 24 January 2022.
- ↑ "Vietnam growth among Asia's highest despite Covid-19 slump: ADB". VnExpress (ภาษาอังกฤษ). 4 March 2020. สืบค้นเมื่อ 28 June 2020.
- ↑ Covid-19 outbreak ‘could kill 10m Thai jobs’
- ↑ ออกโรงทวงเงินกู้ 2.5 หมื่นล้าน วอนรัฐอย่าลืม “ธุรกิจการบิน”
- ↑ โควิด-19 : วิกฤตโรคระบาดทำสายการบินทั่วโลก ลดคน-ลดเงินเดือน-ขอรัฐช่วย
- ↑ 271.0 271.1 271.2 Impact Assessment of COVID-19 on Thai Industrial Sector (PDF). UNIDO Regional Office Hub in Thailand, United Nations Thailand. June 2020.
- ↑ "ขีดเส้น6เดือนเศรษฐกิจไม่กระเตื้องตกงานอีก2ล้านคน". โพสต์ทูเดย์ (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 23 August 2020.
- ↑ "ธ.โลกประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ ถดถอยมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน". BBC ไทย. 29 September 2020. สืบค้นเมื่อ 11 October 2020.
- ↑ "ศูนย์พยากรณ์ศก.ชี้โควิดรอบ3 เสียหาย 6หมื่น-1 แสนล้าน ส.แอลกอฮอล์ คาดกระทบสงกรานต์ 1-2 แสนล้าน". มติชนออนไลน์. 10 April 2021. สืบค้นเมื่อ 10 April 2021.
- ↑ "โควิดเม.ย.ไม่ล็อกดาวน์ คนไทยซดเบียร์แก้เซ็ง ผลิตพุ่ง 515%". มติชนออนไลน์. 31 May 2021. สืบค้นเมื่อ 31 May 2021.
- ↑ "นศ.สาว ช็อกผลตรวจโควิดผิดเป็นบวก ทำวุ่นวายหนัก วอนหาผู้รับผิดชอบ". ไทยรัฐ. 14 April 2021. สืบค้นเมื่อ 15 April 2021.
- ↑ "หนุ่มเชียงราย ผลตรวจโควิดผิดทำชีวิตพัง ผู้คนรังเกียจ ซื้อของก็ไม่ขายให้". ไทยรัฐ. 15 April 2021. สืบค้นเมื่อ 15 April 2021.
- ↑ "โควิดทำคนไทยเครียดหนัก! ผลโพลชี้จิตใจย่ำแย่-ท้อถอยเกินจะรับมือได้". โพสต์ทูเดย์. สืบค้นเมื่อ 31 May 2021.
- ↑ "พิษโควิดตกงาน ชิงทองเกลื่อนเมือง 1 เดือน เกิดเหตุมากกว่า 10 ครั้ง". ch7.com. สืบค้นเมื่อ 3 July 2021.
- ↑ "Coronavirus: South Korean woman travelling home from Thailand tests positive for virus". The Straits Times. 4 February 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 February 2020. สืบค้นเมื่อ 4 February 2020.
- ↑ "Coronavirus Mitglied des WDR-Rundfunkrats positiv getestet – 29 Fälle in Köln". Kölner Stadt-Anzeiger. 4 March 2020.
- ↑ "Novel Coronavirus alert". Queensland Government. 5 March 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-12. สืบค้นเมื่อ 2020-03-10.
- ↑ "Coronavirus: Delhi resident tests positive for coronavirus, total 31 people infected in India". Hindustan Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-12. สืบค้นเมื่อ 6 March 2020.
- ↑ "ล็อกดาวน์เวียงจันทน์ 14 วัน! นายกฯ ลาวสั่งด่วน ผลพวงจากคลัสเตอร์โควิดข้ามแม่น้ำโขง". ผู้จัดการออนไลน์. 22 April 2021.
- ↑ "'Thai variant' detected in UK". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 28 May 2021.
- ↑ "Public Health Ministry Denied Existence of COVID's Thai Variant". สำนักข่าวไทย English News. 28 May 2021.
- ↑ "Delta variant detected in returning migrant workers". The Phnom Penh Post. 19 June 2021.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Coronamapper เก็บถาวร 2020-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – แผนที่การระบาดของไวรัสทั่วโลก
- กระทรวงสาธารณสุข เก็บถาวร 2020-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
- แผนที่ข่าว COVID-19 🔍 เก็บถาวร 2020-03-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – แผนที่แสดงการระบาดของไวรัสในประเทศไทย
- รายงานประจำวันเกี่ยวกับการติดเชื้อ COVID–19 โดยองค์การอนามัยโลก