มหาดเล็ก
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
มหาดเล็ก หมายถึง ข้าราชการในพระราชสำนัก โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า “...... มีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้รับใช้ประจำเจ้านาย หรือผู้ที่ถวายตัวเป็นผู้รับใช้เจ้านาย, เรียกทหารที่มีหน้าที่รักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชวงศ์ว่า ทหารมหาดเล็ก, เรียกเต็มว่า ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” และให้ความหมายของคำว่า “มหาดเล็กรายงาน” ว่าเป็นคำโบราณ หมายถึง “.... มหาดเล็กซึ่งมีหน้าที่รายงานการสร้างวัดหรือคนเจ็บป่วยเป็นต้น” และยังใช้หมายถึง “....ข้าราชการชั้นฝึกหัดในหัวเมือง” อีกด้วย นอกจากนี้ยังให้ความหมายของ “มหาดเล็กหลวง” ว่าหมายถึง “....ข้าราชการในราชสำนักมีหน้าที่รับใช้พระมหากษัตริย์”
การแบ่งประเภท
[แก้]สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำอธิบายเกี่ยวกับมหาดเล็กไว้ว่า มหาดเล็กได้มีมาแต่โบราณ โดยได้ตราขึ้นในรัชสมัย ของพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 – พ.ศ. 2031) ซึ่งได้กำหนดศักดินามหาดเล็กไว้ด้วย เช่น
นายศักดิ์ นายฤทธิ นายสิท และนายเดช มีศักดินา 800
นายจ่าเรศ นายจ่ายง นายจ่ารง และนายจ่ายวด มีศักดินา 600
“พระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก” ซึ่งตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ร.ศ. 112 ได้แบ่งมหาดเล็กเป็น 4 จำพวก ได้แก่ “......
- มหาดเล็กบรรดาศักดิ์ ได้แก่ บรรดามหาดเล็ก ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ไม่ว่าจะเข้าเวรรับราชการหรือมิได้เข้าเวรรับราชการก็ตาม
- มหาดเล็กวิเศษ ได้แก่ บรรดาบุตรข้าราชการที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก
- มหาดเล็กคงกรม ได้แก่ บรรดามหาดเล็กจำพวกต่างๆ คือ หม่อมราชวงศ์ ยามค่ำเดือนหมาย ห้องเครื่อง หอศาสตราคม อินทร์พรหม เกณฑ์จ่าย ช่าง ต่างภาษา พิณพาทย์ และ คนจำพวกที่จางวางหัวหมื่นและนายเวรจัดขึ้นรับราชการ และ บรรดาคนที่ไม่ได้ถวายตัว
- มหาดเล็กยาม ได้แก่มหาดเล็กที่จางวางคัดเลือกจากมหาดเล็กวิเศษ หรือมหาดเล็กคงกรมที่มีคุณวุฒิสมควรเข้ารับราชการได้ ยกขึ้นเป็นมหาดเล็กประจำการเข้าเวรรับราชการที่ได้รับพระราชทานเงินเดือน...”
สำหรับ “มหาดเล็กไล่กา” ไม่จัดเข้าประเภทดังข้างต้น แต่เป็นทหารเด็กที่แต่เดิมเป็นเด็กผู้ชายที่เข้าไปอยู่ในวังกับญาติตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ดังปรากฏในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” สรุปความได้ว่ามีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ที่โปรดให้เด็กเล็กดังกล่าวเป็นพนักงานไล่กา ณ ที่ทรงบาตร จึงเรียกกันว่า “มหาดเล็กไล่กา” ต่อมาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อแรกเสวยราชย์ ได้โปรดให้รื้อฟื้นมาใช้ในราชสำนักอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเสด็จลงทรงบาตรทุกวัน และต่อมาได้โปรดให้เด็กที่ทำหน้าที่ไล่กาแต่งเครื่องแบบและฝึกทหารรวมจำนวนกันได้ประมาณ 30 คน และว่าอาจเป็นการเริ่มแรกที่จะมีทหารมหาดเล็กด้วย ต่อมาถึง พ.ศ. 2413 เมื่อมีการแห่โสกันต์พระเจ้าน้องนางเธอฝ่ายใน ได้โปรดให้ทหารมหาดเล็กไล่กาเดินนำกระบวนแห่
หน้าที่
[แก้]พระราชบัญญัติฉบับเดียวกันได้กำหนดหน้าที่ของมหาดเล็กไว้ในมาตรา 10 ไว้ว่าให้ “....มหาดเล็กผลัดเปลี่ยนกันประจำราชการ โดยแบ่งตามกำหนดวันข้างขึ้นข้างแรมทุกเดือนไป
- ข้างขึ้น เวรศักดิ์ เวรฤทธิ์ 2 เวร
- ข้างแรม เวรสิทธิ์ เวรเดช 2 เวร...”
โดยกำหนดให้ประจำเวร เวรละ 12 ชั่วโมง และให้ผลัดเวรเวลา 4 โมงเช้าครั้งหนึ่ง เวลา 4 ทุ่มครั้งหนึ่ง และให้สลับผลัดกลางวัน – กลางคืนกันในเวรเดือนใหม่
ลำดับศักดิ์
[แก้]สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า “มหาดเล็กบรรดาศักดิ์" เป็นมหาดเล็กที่สูงสุดเพราะได้รับพระราชทานสัญญาบัตร ส่วน “มหาดเล็กวิเศษ" หมายถึงบุตรข้าราชการที่ถวายตัวซึ่งค่อนข้างเป็นผู้ดี “มหาดเล็กจงกรม” มีความหมายกว้าง ส่วน “มหาดเล็กยาม” หมายถึงมหาดเล็กที่จางวางคัดตัวจากมหาดเล็กวิเศษและมหาดเล็กจงกรมที่มีคุณวุฒิยกเป็นมหาดเล็กประการรับราชการได้ และได้รับพระราชทานเงินเดือน และว่ามหาดเล็กที่มีคุณภาพจริงๆ คือ “มหาดเล็กบรรดาศักดิ์” และ “มหาดเล็กยาม” ตำแหน่งต่างๆ ในกรมมหาดเล็กมี 7 ชั้น ดังนี้
- ผู้บัญชาการกรมมหาดเล็ก
- จางวาง หัวหมื่น
- นายเวร
- จ่า
- หุ้มแพร
- นายรอง
- มหาดเล็กวิเศษ
สำหรับ “สารวัตรมหาดเล็ก” และ “มหาดเล็กยาม” ไม่ได้นับเข้าไว้ในลำดับข้างต้น
ตำแหน่ง
[แก้]ธรรมเนียมเดิมจัดตำแหน่งเป็น 4 เวร คือ เวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ และ เวรเดช หน้าที่ราชการของตำแหน่งทั้ง 4 นี้เหมือนกัน เพียงแต่ผลัดเวรเป็นข้างขึ้นข้างแรมดังกล่าวมาแล้ว และมีเวลาผลัดเวรกันเป็น 4 เวร จึงเรียกว่า เวร” มหาดเล็กชั้นหัวหมื่นลงมาถือเป็นตำแหน่งประจำเวร และมีชื่อเรียกตำแหน่งดังนี้
- เวรศักดิ์
- เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี
- หลวงศักดิ์นายเวร
- นายจ่ายง
- นายฉัน หุ้มแพรต้นเชือก
- นายสนิท หุ้มแพร
- นายชัยขรรค์ หุ้มแพร
- นายสนองราชบรรหาร หุ้มแพร
- นายพินัยราชกิจ หุ้มแพร
- นายรอง 5 คน ตรงกับหุ้มแพร
- เวรสิทธิ์
- เจ้าหมื่นเสมอใจราช
- หลวงสิทธิ์นายเวร
- นายจ่ายวด
- นายชิด หุ้มแพรต้นเชือก
- นายสุจินดา หุ้มแพร
- นายพลพ่าย หุ้มแพร
- นายเสนองานประพาส หุ้มแพร
- นายพินิจราชการ หุ้มแพร
- นายรอง 5 ตรงกับหุ้มแพร
- เวรฤทธิ์
- เจ้าหมื่นไวยวรนารถ
- หลวงฤทธิ์นายเวร
- นายจ่าเรศ
- นายกวดหุ้มแพรต้นเชือก
- นายเลห์อาวุธ หุ้มแพร
- นายพลพัน หุ้มแพร
- นายบำเรอบรมบาท หุ้มแพร
- นายพิจิตรสรรพการ หุ้มแพร
- นายรอง 5 คน ตรงกับหุ้มแพร
- เวรเดช
- เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์
- หลวงเดชนายเวร
- นายจ่ารง
- นายขันหุ้มแพรต้นเชือก
- นายเสน่ห์ หุ้มแพร
- นายสรรพวิชัย หุ้มแพร
- นายบำรุงราชบทมาลย์ หุ้มแพร
- นายพิจารณ์สรรพกิจ หุ้มแพร
- นายรอง 5 คน ตรงกับหุ้มแพร
ตำแหน่งสูงสุดคือ ผู้บัญชาการกรมมหาดเล็กนั้น เป็นตำแหน่งสูงสุดในกรมมหาดเล็ก นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ยังมิได้เคยโปรดเกล้าฯ ตั้งผู้ใด นอกจากพระราชโอรสซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้บัญชาการ ตำแหน่งนี้มีหน้าที่สำหรับบังคับบัญชาการในกรมมหาดเล็กทั่วไป ผู้ทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ ๕ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ สิ้นพระชนม์พระชันษาเพียง ๑๗ พรรษา หลังจากทรงดำรงตำแหน่งนี้เพียงไม่ถึง ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงไม่โปรดฯ ตั้งพระราชโอรสพระองค์ใดเป็นผู้บัญชาการกรมมหาดเล็กอีก ว่ากันว่าทรงมีพระราชปรารภถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ว่าเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กได้ไม่นานก็สวรรคต พระชันษาเพียง ๑๗ ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ได้ไม่ทันไรก็สิ้นพระชนม์อีก ทำให้ทรงพระราชดำริว่า ตำแหน่งนี้อาจมีอาถรรพ์ จึงไม่โปรดฯ ตั้งพระราชโอรสพระองค์ใดอีก คงว่างอยู่ตลอดรัชกาล สมัยรัชกาลที่ 6 ผู้บัญชาการได้แก่ พลเอก จางวางเอก มหาเสวกเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) ตำแหน่งอื่นนอกจากนี้ได้มีการจำแนกตำแหน่งอื่นๆ เช่นจางวางหัวหมื่น นายเวร นายจ่าหุ้มแพรและรองหุ้มแพรออกเป็นหลายชั้น
ยศ
[แก้]ยศมหาดเล็กเมื่อเทียบยศทหารจะได้ดังนี้
- จางวางเอก เทียบเท่า พลเอก
- จางวางโท เทียบเท่า พลโท
- จางวางตรี เทียบเท่า พลตรี
- หัวหมื่น เทียบเท่า พันเอก
- รองหัวหมื่น เทียบเท่า พันโท
- จ่า เทียบเท่า พันตรี
- หุ้มแพร เทียบเท่า ร้อยเอก
- รองหุ้มแพร เทียบเท่า ร้อยโท
- มหาดเล็กวิเศษ เทียบเท่า ร้อยตรี
- มหาดเล็กสำรอง เทียบเท่า ว่าที่ร้อยตรี
- พันจ่าเด็กชา เทียบเท่า จ่านายสิบ
- พันเด็กชาเอก เทียบเท่า สิบเอก
- พันเด็กชาโท เทียบเท่า สิบโท
- พันเด็กชาตรี เทียบเท่า สิบตรี
- เด็กชา เทียบเท่า พลทหาร
มหาดเล็กหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
[แก้]เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบตำแหน่งมหาดเล็กบางตำแหน่ง แต่เมื่อภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ลดฐานะกรมมหาดเล็กลงมาเป็นเพียง “กองมหาดเล็ก” สังกัดสำนักพระราชวัง และให้ข้าราชการมหาดเล็กมีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือน ให้มีเลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักพระราชวังเป็นผู้บังคับบัญชา
กระทั่ง พ.ศ. 2560 ได้มีการยกฐานะกองมหาดเล็กขึ้นเป็น กรมมหาดเล็ก ในสังกัดสำนักพระราชวังมีอธิบดีกรมมหาดเล็กเป็นผู้บังคับบัญชาและให้มหาดเล็กมีฐานะเป็น ข้าราชการพลเรือนในพระองค์
อ้างอิง
[แก้]- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- จำนงค์ ทองประเสริฐ, สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 22, หน้า 14928, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2532 - 2533