ข้ามไปเนื้อหา

ถนนทองหล่อ

พิกัด: 13°44′18″N 100°33′59″E / 13.7384°N 100.5663°E / 13.7384; 100.5663
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทองหล่อ)
ถนนทองหล่อ หรือ ซอยทองหล่อ

ถนนทองหล่อ หรือ ซอยสุขุมวิท 55 หรือที่นิยมเรียกกันว่า ซอยทองหล่อ เป็นเส้นทางจราจรแยกจากถนนสุขุมวิทในเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ไปบรรจบกับถนนเพชรบุรีในเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เป็นที่รู้จักทั่วไปว่า เป็นแหล่งรวมร้านอาหารนานาชาติ รวมทั้งศูนย์การค้า ร้านค้าหลายสัญชาติ ร้านค้าแฟชั่น สถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน สตูดิโอแต่งงาน และที่พักอาศัยชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น

ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560 ซอยทองหล่อห้ามจอดหรือหยุดรถโดยเด็ดขาดตั้งแต่ปากซอย ด้านถนนสุขุมวิทเข้าไประยะทาง 50 เมตร ทั้งสองฝั่ง ห้ามหยุด หรือจอดรถตลอดเวลา ตั้งแต่ระยะ 50 เมตร เข้าไปถึงระยะทาง 200 เมตร ทั้งสองฝั่ง ยกเว้นป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง ห้ามจอดรถตั้งแต่เวลา 6.00-21.00 น. เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่ระยะทาง 200 เมตร เป็นต้นไป ทั้งสองฝั่ง และห้ามจอดรถทุกชนิด ตั้งแต่เวลา 06.00-09.00 น. และเวลา 16.00-20.00 น. เว้นวันหยุดราชการ ทั้งนี้เป็นไปตามราชกิจจานุเบกษา เช่นเดียวกับถนนอีกหลายสายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร[1]

ประวัติ

[แก้]

ชื่อ

[แก้]

ชื่อซอยทองหล่อตั้งขึ้นตามชื่อเดิมของ ร.ท. ทองหล่อ ขำหิรัญ ร.น. (ยศในขณะนั้น; สำหรับยศสูงสุด และชื่อซึ่งเปลี่ยนใหม่ภายหลังจากนั้น คือ พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ) สมาชิกคณะราษฎรซึ่งกระทำการปฏิวัติสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในซอยนี้ในอดีต[2] ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซอยทองหล่อเป็นสถานที่ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนผ่านและตั้งฐานทัพขึ้น ย่านนี้ในนั้นเคยมีบาร์ญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเส้นทางสายตะวันออก เขตรับผิดชอบของทหารเรือ

จากข้อมูลหนังสืออนุสรณ์งานศพคุณทองหล่อ ทองบุญรอด เขียนไว้ว่า ชื่อซอยทองหล่อมาจากชื่อ "คุณทองหล่อ ทองบุญรอด" ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ. 2439 เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2515 มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับทหาร ขำหิรัญ (ทองหล่อ ขำหิรัญ) ในหนังสือระบุว่า คุณทองหล่อได้ทำอสังหาริมทรัพย์ จนใช้ชื่อผู้จัดสรรเรียกถนนชื่อ "ซอยทองหล่อ"[3]

เส้นเวลา

[แก้]
โรงพยาบาลคามิลเลียน

ตั้งแต่ พ.ศ. 2479 มีการเปิดใช้ถนนกรุงเทพ-สมุทรปราการ ภายหลังเรียกว่า ถนนสุขุมวิท แต่เดิมถนนสุขุมวิทกว้าง 7 เมตร ต่อมาขยายถนนเป็น 24 เมตร ประมาณ พ.ศ. 2501 ส่วนถนนทองหล่อเมื่อแรกเริ่มมีความกว้างเพียง 5 เมตร ปัจจุบันถนนกว้าง 25 เมตร ยาว 2,248 เมตร[4]

เมื่อ พ.ศ. 2503 ถนนทองหล่อยังเป็นถนนสายเล็กและมีคลองขนาบทั้งสองข้างทาง ในระยะนั้นมีมัสยิดดอฮีรุลอิสลาม (ทองหล่อ) ซึ่งจดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2503[5] มูลนิธิคณะนักบุญคามิลโลแห่งประเทศไทยได้ซื้อที่ดินบริเวณซอยทองหล่อเพื่อเปิดดำเนินการในชื่อ คามิลเลียนคลีนิค มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2503 ภายหลังได้พัฒนามาเป็นโรงพยาบาลคามิลเลียน[6]

จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2521 ปากซอยทองหล่อมีตลาดสดและแผงลอยนานาชนิด มีตึกแถวปลูกสร้างล้อมตลาดสด ปากซอยเป็นต้นทางรถประจำทางที่สุดสายที่ปากน้ำ และมีรถเมล์ผ่านอีกหลายสาย ในซอยมีบ้านพักชั้นดีปลูกอย่างหนาแน่นโดยผู้มีฐานะดี ปลายซอยมีโรงงานทำรองเท้า[7]

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2523 ได้มีการขยายเพิ่มเป็นหกช่องจราจร พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ

สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อได้ย้ายมาจากปลายซอยปานตา 1 แยกจากซอยสุขุมวิท 63 และย้ายมาอยู่ที่ทำการปัจจุบันเมื่อพ.ศ. 2525[8]

ในช่วง พ.ศ. 2536–2538 ได้มีการสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบในซอยทองหล่อ[9]

พ.ศ. 2542 เปิดดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยมีสถานีทองหล่อตั้งอยู่บริเวณปากซอย ถนนทองหล่อมีการเปลี่ยนแปลงจากที่ดินอยู่อาศัยเป็นพาณิชยกรรมในปริมาณมากขึ้นเห็นเด่นชัดในช่วง พ.ศ. 2540–2545 เริ่มกลายเป็นย่านพาณิชยกรรมระดับบน

การใช้ที่ดิน

[แก้]

ที่ดินและที่พักอาศัย

[แก้]
ถนนทองหล่อยามค่ำคืน

จากผังเมืองปัจจุบันสามารถก่อสร้างตึกสูงเกินกว่า 8 ชั้นได้จึงมีอาคารชุด เซอร์วิสต์อะพาร์ตเมนต์ เกิดขึ้นทั้งสองฟากถนน และตามซอกซอยต่าง ๆ มีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 18 โครงการ[10]

จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2557 ย่านทองหล่อ เอกมัย ถือเป็นทำเลยอดนิยมของการซื้อขายที่ดินเป็นอันดับ 1 (รองลงมาคือ พญาไท พหลโยธิน สนามเป้า สะพานควาย) บางแปลงมีการซื้อขายกันที่ 1,200,000-1,800,000 บาทต่อตารางวา[11] ราคาเพิ่มขึ้นไปถึง 22% จากปี 2555 อยู่ที่ 900,000 บาทต่อตารางวา เหตุเพราะมีชาวต่างชาติหลากหลายสัญชาติอาศัยอยู่ ส่งผลให้พื้นที่นี้สามารถเติบโตได้ดีจากตลาดผู้เช่าเพื่อการอยู่อาศัย[12] โดยช่วงกลางซอย (ไม่เกินซอยทองหล่อ 15) มีราคาสูง โครงการคอนโดมีเนียม สร้างแล้วกว่า 4,000-5,000 ยูนิต ส่วนใหญ่มีราคาขายตารางเมตรละกว่า 100,000 บาท หรือยูนิตละกว่า 4 ล้านบาท สำหรับที่อยู่เพื่อเช่าอย่างเซอร์วิสต์อะพาร์ตเมนต์และอะพาร์ตเมนต์มีประมาณ 2,429 ยูนิต มีผู้พักอาศัยต่อเนื่องโดยเฉลี่ยร้อยละ 96 ต่อปี มีราคาเช่าห้องพักระหว่าง 800-1,000 บาทต่อตารางเมตร[10]

ธุรกิจ

[แก้]

การที่ที่พักอาศัยอย่างคอนโดมิเนียมมีราคาขายตารางเมตรละกว่า 100,000 บาท เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สะท้อนเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม โดยส่วนใหญ่นิยมกินดื่มนอกบ้าน ในซอยทองหล่อจึงเป็นแหล่งรวมของร้านอาหาร และแหล่งบันเทิงจำนวนมาก[10] โดยเฉพาะในช่วงต้นซอยทองหล่อฝั่งสุขุมวิท ตลอดสองฝั่งแนวถนนเป็นแหล่งรวมของร้านอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี

ในซอยมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างร้านสะดวกซื้อ ธนาคาร โรงพยาบาล ร้านกาแฟ สถานบันเทิง ห้องแสดงสินค้าวัสดุ เครื่องเรือน สตูดิโอชุดแต่งงาน ร้านขนม ฯลฯ และยังมีโครงการประเภทคอมมิวนิตีมอลล์ คือ โครงการเจอเวนิว มาร์เช่ 55 เมสทองหล่อ เอตทองหล่อ และเพนนีบัลโคนี เป็นต้น แต่หลังจากผ่านกลางซอย จะพบร้านอาหารและร้านค้าน้อยลง ส่วนใหญ่กลายเป็นอาคารคอนโดมีเนียมและเซอร์วิสต์อะพาร์ตเมนต์ ศูนย์จำหน่ายวัสดุ เครื่องเรือน โรงพยาบาล[10]

นอกจากนี้ย่านทองหล่อยังเป็นสถานที่ทำงานของธุรกิจสร้างสรรค์ อย่างสถาปนิก นักออกแบบ ช่างภาพ ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม ศิลปิน มีสตูดิโอออกแบบที่มีกระจายอยู่มาก ยังมีสถานที่และกิจกรรมที่สนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น สถาบันปรีดี พนมยงค์ สถาบันการออกแบบอะแคเดมิกอิตาเลียนา สถาบันดนตรีเคพีเอ็น และโรงเรียนดนตรีและศิลปะการแสดง ซูเปอร์สตาร์ อะคาเดมี่[13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ห้ามหยุดจอดรถในซอย-ถนน". โพสต์ทูเดย์. 2017-04-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-24. สืบค้นเมื่อ 2017-04-23.
  2. "อาจย้ายมาอยู่ที่นี่ ที่ สุขุมวิท". กรุงเทพธุรกิจ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-01. สืบค้นเมื่อ 2012-08-24.
  3. "ชื่อ "ซอยทองหล่อ" มาจากไหน? ฤๅจะเป็นชื่อทหารในคณะราษฎร หรือนักธุรกิจจัดสรรที่ดิน?". ศิลปวัฒนธรรม.
  4. "ถนน ซอย บาทวิถี". สำนักงานเขตวัฒนา.
  5. "ตารางภาคผนวก แสดงรายละเอียดข้อมูลของมัสยิดในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 (ต่อ)" (PDF).
  6. "โรงพยาบาลคามิลเลียน กรุงเทพ". มูลนิธินักบุญคามิลโล.
  7. มานะ ชำนาญสวน. "การศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมจากสะพานทองหล่อ" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  8. "ประวัติและความเป็นมา". สน.ทองหล่อ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-14. สืบค้นเมื่อ 2024-04-11.
  9. เจนการ เจนการกิจ. "ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรม ในย่านสุขุมวิท" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. p. 81.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 "ซอยทองหล่อ ทำเลไข่แดง ย่านการค้ากำลังซื้อสูงกลางเมือง". ข่าวสด.
  11. "เปิดทำเลฮอต!!! ราคาที่ดินแพงสุดกลางกรุงปี 57". propertychannelnews. 2557-11-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-10. สืบค้นเมื่อ 2558-4-5. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "ที่ดินทองหล่อซื้อขายวาละ1.3ล้าน". ผู้จัดการ. 2557-11-25. สืบค้นเมื่อ 2558-4-2. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  13. เปิด 6 ทำเลมั่งคั่ง ขุมทรัพย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ webarchive

13°44′18″N 100°33′59″E / 13.7384°N 100.5663°E / 13.7384; 100.5663