มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
Srinakharinwirot University | |
ตรากราฟ Y = ex สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อเดิม |
|
---|---|
ชื่อย่อ | มศว[1] / SWU |
คติพจน์ | บาลี: สิกฺขา วิรุฬฺหิ สมฺปตฺตา การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ |
สถาปนา | 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 |
ผู้สถาปนา | หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล |
สังกัดการศึกษา | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
สังกัดวิชาการ |
|
งบประมาณ | 4,302,369,800 บาท (พ.ศ. 2568)[2] |
นายกสภาฯ | ชุมพล พรประภา (ปฎิบัติหน้าที่แทน) |
อธิการบดี | รองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ |
อาจารย์ | 1,989 คน (พ.ศ. 2566) |
บุคลากรทั้งหมด | 6,119 คน (พ.ศ. 2566) |
ผู้ศึกษา | 25,345 คน (พ.ศ. 2562)[3] |
ที่ตั้ง |
|
วิทยาเขต | พื้นที่มหาวิทยาลัย |
เพลง | ศรีนครินทรวิโรฒ |
สี | |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (อังกฤษ: Srinakharinwirot University; อักษรย่อ: มศว – SWU) ถือกำเนิดจาก โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ประสานมิตร ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2492 และต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็น "วิทยาลัยวิชาการศึกษา" เมื่อ พ.ศ. 2497 และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัย" เมื่อ พ.ศ. 2517 นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 11 ของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยได้ทำการเรียนการสอนมาแล้วกว่า 75 ปี มีรองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยคนปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ใช้คำว่า "นิสิต" เรียกผู้เข้าศึกษา โดยคำว่า "นิสิต" มีความหมายว่า "ผู้อยู่อาศัยชายคา" โดยคำว่า "นิสิต" ได้เริ่มใช้ครั้งแรกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงที่เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยถือว่าอยู่นอกเมือง การคมนาคมเพื่อมาศึกษาเป็นการยากลำบาก ดังนั้น ผู้ที่มาเรียนส่วนใหญ่จำเป็นต้องพักภายในหอพักของมหาวิทยาลัย และเรียกบุคคลที่อาศัยในห้องปฏิบัติการว่านิสิตเช่นเดียวกันด้วย ซึ่งในภายหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยพะเยา ได้เปิดอยู่นอกเมือง และผู้ที่มาศึกษาก็จำเป็นต้องอยู่หอพักเช่นเดียวกัน จึงได้ใช้คำว่า "นิสิต" เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าผู้ที่มาเรียนจะไม่ได้พักในหอพักเหมือนในสมัยก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังนิยมเรียกว่า "นิสิต"[4] สำหรับมหาวิทยาลัยดังกล่าว
ประวัติ
[แก้]มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แรกเริ่มได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นการผลักดันของ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น โดยจัดตั้งเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2492 เพื่อผลิตวิชาชีพครู ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดแคลนเป็นจำนวนมากในขณะนั้น นับว่าเป็นการเริ่มต้นการศึกษาในระดับวุฒิประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา และประกาศนียบัตรครูมัธยมศึกษา มีผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรกคือ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (สวัสดิ์ สุมิตร)
ในกาลต่อมา พ.ศ. 2496 ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงในขณะนั้น ได้เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการให้ก่อตั้ง วิทยาลัยวิชาการศึกษา[5] ในยุคสมัยนั้นวิชาชีพครูสูงสุดแค่วุฒิ ป.ม. (ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม) ซึ่งรับนักเรียกจากระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มาศึกษาต่อเทียบเท่ากับอนุปริญญาเท่านั้น ทำให้ปัญญาชนในสมัยนั้นหันไปเรียนวิชาชีพอื่นที่ได้รับใบปริญญา ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เข้าชี้แจงให้คณะรัฐบาลเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะดำเนินการและสิ่งที่เกิดขึ้น หากให้สามารถเปิดสอนครูถึงระดับปริญญาและสามารถชี้แจงจนเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมจึงได้มีมติยอมรับ และผ่านพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาออกมา แต่กว่าที่จะได้มีการยอมรับนั้นค่อนข้างพบอุปสรรคพอสมควร
...ตอนนั้นในหมู่ประชาชนความคิดที่ว่าจะให้ครูเรียนถึงปริญญายังไม่มี ดังนั้นการเสนอให้ครูมีการศึกษาถึงระดับปริญญาตรีเป็นของที่แปลกมาก อีกประการหนึ่งนั้นจะให้สถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยประสาทปริญญานี้ยิ่งไม่เข้าใจใหญ่ ฉะนั้นพอกฎหมายไปถึงพรรคเสรีมนังคศิลาแล้ว ผมก็ต้องไปชี้แจงหนักหน่วงมาก เพราะท่านผู้แทนสมัยโน้นเขาไม่เข้าใจเลย เป็นวิทยาลัยอะไรให้ปริญญา? เป็นครู, เป็นศึกษาธิการอำเภอจะเอาปริญญาเชียวหรือ? ผมก็ต้องชี้แจงมากมาย...
...แต่พอมาถึงประเด็นที่ว่า วิทยาลัยจะประสาทปริญญาได้นี่ไม่เคยเห็นมีแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น เป็นแค่วิทยาลัยจะมาประสาทปริญญาไม่เห็นด้วย เป็นไปไม่ได้ ผมก็ออกไปชี้แจงอีก ...แต่เขาก็ไม่ฟังเสียง เป็นวิทยาลัยจะมาประสาทปริญญาได้อย่างไร ตอนนั้นผมก็หนักใจมาก แต่ก็กัดฟันชี้แจงต่อไปอีก แล้วก็เป็นการบังเอิญมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งซึ่งอยู่ในที่ประชุมและผมทราบลูกของท่านเรียนอยู่ที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียกำลังทำปริญญาเอกด้วย ทำไมทำได้ล่ะ เขาจึงค่อยเงียบเสียงลง...
— ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี พ.ศ. 2531
เพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านการศึกษาให้เป็นวิชาชีพที่มีระบบแบบแผนมากขึ้น พร้อมทั้งได้เปิดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งในระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต โดยมี ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งอธิการ และศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะวิชาการศึกษา หลังจากนั้น จึงได้ดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในระยะนี้ได้มีการตั้งโรงเรียนสาธิต (Demonstration School) เพื่อให้เป็นแปลงทดลองค้นคว้าในระบบการศึกษาพื้นฐานสมัยใหม่ พร้อมกับมีการขยายวิทยาลัยวิชาการศึกษาไปยังส่วนภูมิภาคต่าง ๆ โดยขยายวิทยาเขตปทุมวัน วิทยาเขตบางแสน วิทยาเขตพิษณุโลก วิทยาเขตมหาสารคาม วิทยาเขตสงขลา วิทยาเขตพระนคร และวิทยาเขตพลศึกษา โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหาร
ในปี พ.ศ. 2516 ก่อนหน้า เหตุการณ์ 14 ตุลา ในช่วงเวลาที่ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร ดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา คณาจารย์ นิสิต และข้าราชการ ได้ร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปรับฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นกับทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ท่ามกลางการปกครองที่เข้มงวดรุนแรงของรัฐบาลทหารในขณะนั้น เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาโครงสร้าง การบริหาร และการเรียนการสอนที่จำกัด ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยและการขยายตัวที่มีความหลากหลายวิชาชีพ ท้ายที่สุด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตามความหมายที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้กับมหาวิทยาลัยฯ แปลว่า "มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร"
มหาวิทยาลัยฯ ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517[6] มีศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ และชื่อมหาวิทยาลัยฯ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ฯ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2517 โดยพระราชทานฯ ชื่อเต็มและความหมายของชื่อดังกล่าว
มหาวิทยาลัยมีระบบบริหารจัดการในรูปวิทยาเขตมาจนถึง พ.ศ. 2533 รวมเป็นระยะเวลา 16 ปี และวิทยาเขตในสังกัดตามภูมิภาค ทั้ง 5 แห่ง ได้เจริญขึ้นสมดั่งในเจตนารมณ์ ที่พระราชทานนาม "ศรีนครินทรวิโรฒ" และเริ่มแยกออกไปเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ โดยมีการบริหารจัดการและงบประมาณเป็นของตนเอง เพื่อขยายการศึกษาให้คล่องตัวนำความเจริญก้าวหน้าสอดคล้องไปกับบริบทพื้นที่ทุกภูมิภาคขณะที่มหาวิทยาลัยแม่ ในฐานะหลักนั้นก็ขยายตัวเองออกไปที่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ในปี พ.ศ. 2539 จากยุคก่อตั้ง 7 คณะในอดีตประกอบด้วย คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะพลศึกษาวิทยาเขตปทุมวัน และบัณฑิตวิทยาลัย เข้าสู่ยุคเป็นมหาวิทยาลัยพาหุศาสตร์ ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์ที่มีการจัดการศึกษาให้ครบถ้วนทุกสาขาวิชา ภายหลังจึงผลักดันพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่งมาจนถึงปัจจุบัน มีการจัดตั้งคณะสายวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่างครบถ้วน ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์(คณะกายภาพบำบัด) คณะพยาบาลศาสตร์ จวบจนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประกอบไปด้วยคณะวิชาทั้งสิ้นจำนวน 20 คณะ 3 วิทยาลัย 1 บัณฑิตวิทยาลัย มีหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัยที่สถานภาพเทียบเท่าเสมอกับ สหกรณ์, สำนัก, ศูนย์, โรง สถาบัน และ คลีนิค จำนวนทั้งหมด 16 หน่วยงาน
เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ[7] ได้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยปรับโครงสร้างเดิมในพระราชบัญญัติรูปแบบมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ หรือ "มหาวิทยาลัยรัฐออกนอกระบบ" ตามราชกิจจานุเบกษาเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน โดยนับแต่วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559 เป็นวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือมีผลบังคับแปรสภาพฯ อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
สัญลักษณ์
[แก้]-
ธงประจำมหาวิทยาลัย -
สีเทา-แดง
สีประจำมหาวิทยาลัย -
ธงประจำมหาวิทยาลัยแบบที่ 2
- ตราสัญลักษณ์
ได้มาจากกราฟที่เขียนแทนสมการทางคณิตศาสตร์ Y = ex หมายถึง การเพิ่มหรือการงอกงาม ซึ่งตรงกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า การศึกษาคือความเจริญงอกงาม (สิกขา วิรุฬฺ หิ สมฺปตฺตา)
ตราของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ผมเป็นผู้คิด ตอนนั้นเราเป็นสถานศึกษาใหม่ ๆ สีก็ไม่มี ตราก็ไม่มี บังเอิญเมื่อตอนเรียนปริญญาตรี ผมได้เรียนคณิตศาสตร์ จึงรู้ว่ามีเส้นกราฟอยู่เส้นหนึ่งสมการของมันก็คือ y เท่ากับ e ยกกำลัง x เวลาพล็อตกราฟแล้วเส้นกราฟจะขึ้นเรื่อยไม่มีวันลง ประดุจจรวดขึ้นไปในอวกาศ ถ้าจะนิยามคำว่าการศึกษาละก็ อาจจะทำได้สองอย่าง คือ การศึกษาชนิดที่เป็นภาวะอย่างหนึ่ง และการศึกษาชนิดที่เป็นการกระทำอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นการศึกษาที่เป็นภาวะแล้ว ก็อาจพูดได้ว่า การศึกษา คือ การงอกงาม งอกงามไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันรู้จักจบสิ้น แต่ถ้าเป็นทางการกระทำ ก็แปลว่า การที่เราจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียนเพื่อว่าผู้เรียนจะได้งอกงามขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน
— ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร
- ชื่อมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความหมายว่า "มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร" "วิโรฒ" มาจากคำว่า "วิโรฒ" ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ความงอกงามหรือเจริญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (อ่านว่า สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด) มีชื่อย่อว่า "มศว" (ไม่มีจุด) เขียนอักษรโรมันว่า "Srinakharinwirot University" มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า SWU (อ่านว่า สะ-วู)
- สีประจำมหาวิทยาลัย
สีเทา คือ สีของสมอง หมายถึง ความคิดหรือสติปัญญา
สีแดง คือ สีของเลือด หมายถึง ความกล้าหาญ
สีเทา-แดง จึงหมายถึง มีความกล้าหาญที่จะคิด และมีความคิดอย่างกล้าหาญ
การศึกษา
[แก้]ตามประกาศมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ระบุประเภทและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ผลิตบัณฑิต บัณฑิตเฉพาะด้าน หรือเน้นด้านบัณฑิตศึกษา วิจัย บริการวิชาการ ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมและหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ และอธิการบดีมอบหมาย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มคณะได้ ดังนี้
คณะกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
[แก้]- คณะศึกษาศาสตร์
- คณะพลศึกษา
- คณะศิลปกรรมศาสตร์
- คณะมนุษยศาสตร์
- คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
- คณะสังคมศาสตร์
- คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม
- คณะเศรษฐศาสตร์
- วิทยาลัยนานาชาติเพื่อศึกษาความยั่งยืน
- วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย
คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
[แก้]- คณะวิทยาศาสตร์
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร
- วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม
- วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ
[แก้]ระดับบัณฑิตศึกษา
[แก้]หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย
[แก้]สำนักงานสภามหาวิทยาลัย
[แก้]สำนักงานสภามหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัยและคณะกรรมการต่าง ๆ ของสภามหาวิทยาลัย และหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรือนายกสภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
สำนักงานอธิการบดี
[แก้]สำนักงานอธิการบดีเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่สนันสนุนการบริหารงานของมหาวิทยาลัยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และพันธกิจของมหาวิทยาลัย และหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีมอบหมาย
สถาบัน
[แก้]เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนการวิจัย หรือพันธกิจเฉพาะด้านและหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ และอธิการบดีมอบหมาย ซึ่งสถาบันตามประกาศมหาวิทยาลัยมีดังนี้
- สถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย
- สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
- สถาบันวิจัย พัฒนา และสาธิตการศึกษา
- สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์
อันดับและมาตรฐานมหาวิทยาลัย
[แก้]อันดับมหาวิทยาลัย
[แก้]อันดับมหาวิทยาลัย | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อันดับในประเทศ(อันดับนานาชาติ) | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สถาบันที่จัด/ปีการศึกษาที่จัด | อันดับ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
RUR (2020) | - | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
RUR (2018) | - | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
CWUR (2016) | - | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
QS (Asia) (2022) | 11(351-400) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
QS (World) (2020) | 13 | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
Webometrics (2022) | 14 | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
Webometrics (2017) | 13(1270) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
UI Green Metric (2019) | 15(236) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
SIR (2020) | 9(749) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
SIR (2019) | 7(690) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
THE (World) (2022) | 15(1201+) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
THE (World) (2019) | - | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
uniRank (2019) | 9 | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
URAP (2018) | - | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
U.S. News (2017) | - |
นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่
การจัดอันดับโดยเว็บโอเมตริกซ์
[แก้]การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics)[8] ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อยู่ในอันดับที่ 1,270 ของโลก อันดับที่ 478 ของทวีปเอเชีย[9] อันดับที่ 33 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[10] อันดับที่ 13 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย[11]
- QS University Rankings Asia 2016-17
การจัดอันดับโดย Qs มีเกณฑ์การจัดอันดับ ดังนี้
- ชื่อเสียงทางวิชาการ (30 เปอร์เซนต์) เป้าหมายของตัวชี้วัดนี้เพื่อจะบอกว่ามหาวิทยาลัยใดมีชื่อเสียงในในระดับนานาชาติ
- การสำรวจผู้จ้างงาน (20 เปอร์เซนต์)
- อัตราส่วนของคณะต่อนักศึกษา (15 เปอร์เซนต์) วัดจากอัตราส่วนของบุคลากรทางการศึกษาต่อจำนวนนักศึกษา และการติดต่อและให้การสนับสนุนของบุคลากรที่มีต่อนักศึกษา
- การอ้างอิงในรายงาน (10 เปอร์เซนต์) และผลงานของคณะ (10 เปอร์เซนต์) เป็นการรวมทั้งงานที่อ้างอิงใน scopusและ การตีพิมพ์ผลงานโดยคณะนั้นๆเอง
- บุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิต (5 เปอร์เซนต์)
- สัดส่วนคณะที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ (2.5 เปอร์เซนต์) และนักศึกษาต่างชาติ (2.5 เปอร์เซนต์)
- สัดส่วนของรับนักศึกษาและเปลี่ยนที่เข้ามาศึกษา (2.5 เปอร์เซนต์) และการส่งนักศึกษาออกไปแลกเปลี่ยน (2.5 เปอร์เซนต์)[12]
โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 301-350 ของเอเชีย
ที่ตั้งมหาวิทยาลัย
[แก้]มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
[แก้]วิทยาเขตประสานมิตร เป็นวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งอยู่เลขที่ 114 ซอยสุขุมวิท 23 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 เป็นที่ตั้งของคณะและหน่วยงานส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย ได้แก่
- คณะทันตแพทยศาสตร์
- คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (เฉพาะสาขาวิชานวัตกรรมการจัดการการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนา)
- คณะวิทยาศาสตร์
- คณะศิลปกรรมศาสตร์
- วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
- วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม
- วิทยาลัยนานาชาติเพื่อศึกษาความยั่งยืน
- คณะเศรษฐศาสตร์
- คณะศึกษาศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์ (ปีที่ 1-3)
- คณะมนุษยศาสตร์
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ปีที่ 1-2 เฉพาะหลักสูตรนานาชาติ)
- คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม
- คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์
[แก้]ตั้งอยู่เลขที่ 63 หมู่ที่ 7 ถนนรังสิต-นครนายก คลอง 16 ตำบลองครักษ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 26120 โทรศัพท์ 0-2649-5000 โทรสาร 0-3739-5542 ถึง 3 และ 0-3739-5545 ถึง 6 เป็นที่ตั้งของคณะและหน่วยงานได้แก่
- คณะพยาบาลศาสตร์
- คณะพลศึกษา
- คณะกายภาพบำบัด
- คณะเภสัชศาสตร์
- คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร
- คณะแพทยศาสตร์ (ปีที่ 4-6)
- วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (เฉพาะสาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร)
- คณะศึกษาศาสตร์ (ปีที่ 1-2 เฉพาะสาขาวิชาประถมศึกษา)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดตาก วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย
[แก้]ตั้งอยู่เลขที่ 209 หมู่ที่ 6 ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 63110 โทรศัพท์/โทรสาร 0-5550-8975
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดสระแก้ว วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย
[แก้]ตั้งอยู่เลขที่ 9 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหมากฝ้าย อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว 27160
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
[แก้]โรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ตั้งอยู่เลขที่ 100 หมู่ที่ 17 ตำบลบ้านสันเกี๋ยง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ 50270
วันสำคัญของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
[แก้]- วันศรีนครินทรวิโรฒ
วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2492 เป็นวันที่กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ที่ถนนประสานมิตร อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร วันที่ 28 เมษายน จึงเป็นวันมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และชาวศรีนครินทรวิโรฒ ควรจะรำลึกถึงปูชนียบุคคลที่สำคัญ 2 ท่าน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อตั้งสถานศึกษาแห่งนี้ คือ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ดำเนินการซื้อที่ดิน วางผัง บุกเบิกงาน และอีกท่านหนึ่ง ที่ได้ดำเนินการบริหารการศึกษา ได้ดำเนินการบริหารการศึกษาแห่งนี้คู่กันตลอดมาก็คือ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (สวัสดิ์ สุมิตร) ผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง
- วันสาโรช บัวศรี
วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2497 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติ วิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. 2497 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 71 ตอนที่ 61) ถือเป็นวันยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง เป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา และเป็นวันที่ตรงกับวันเกิดของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรีด้วย และเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี จึงเรียกวันที่ 16 กันยายน เป็นวันสาโรช บัวศรี
- วันสุดใจ เหล่าสุนทร
วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 เป็นวันยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษา เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตามราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 มหาวิทยาลัยจึงถือเอาวันที่ 29 มิถุนายน เป็นวันยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษา เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษา เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คือ ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร และเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร จึงเรียกวันที่ 29 มิถุนายน เป็นวันสุดใจ เหล่าสุนทร
งานเทางามสัมพันธ์
[แก้]กิจกรรมเทางามสัมพันธ์ เกิดขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตต่าง ๆ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยทักษิณ แม้ว่าวิทยาเขตต่าง ๆ จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ แต่ด้วยความตระหนักถึงความผูกพันทั้ง 5 มหาวิทยาลัย จึงมีปณิธานที่จะร่วมมือกันในภารกิจอันควรแก่มหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกันจัดงานเทา-งามสัมพันธ์ ขึ้น โดยใช้สี "เทา" ซึ่งเป็นสีประจำโดยรวมของทุกวิทยาเขตเป็นพื้นฐาน และเพิ่มคำว่า "งาม" ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายและมีคุณค่ายิ่ง มีความหมายรวมเป็น "เทา-งามสัมพันธ์" ในปี พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นเจ้าภาพโดยมีรูปแบบกิจกรรมที่เน้นด้านกีฬาและด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีร่วมเล็งเห็นความสำคัญต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งามสัมพันธ์ เป็นต้นมา ซึ่งมีข้อตกลงชัดเจนใน 4 ด้าน คือ ด้านการวิจัย ด้านการบริหารวิชาการแก่สังคม ด้านการสร้างความสามัคคีระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม ตลอดจนถึงการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา และด้านการพัฒนาองค์กรบริหาร การจัดการและวิชาการ
ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือเทางามอย่างเป็นทางการ เป็นมหาวิทยาลัยที่ 6 ของกลุ่ม และปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในเครือทั้งสิ้น 6 แห่งด้วยกัน คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยพะเยา (อนึ่ง มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้ใช้สีเทาเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒโดยตรงเหมือนอีก 4 แห่ง แต่แยกตัวมาจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยนเรศวร)
สภามหาวิทยาลัย
[แก้]รายนาม | ตำแหน่ง | ประสบการณ์การทำงาน |
---|---|---|
ชุมพล พรประภา | ปฏิบัติหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัย | ประธานกรรมการ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์แนชั่นแนล จํากัด
อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร
|
ศ.พิเศษ เข็มชัย ชุติวงศ์ | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | อดีตอัยการสูงสุด
อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม |
จรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ.อาร์ ดับเบิ้ลยู ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน)
กรรมการสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา
|
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | กรรมการและเหรัญญิก สภากาชาดไทย
ประธานกรรมการ บริษัทสยามพารากอนดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
|
ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | อัยการอาวุโส ทีปรีกษาสํานักงานคดีอาญา สํานักงานอัยการสูงสุด |
ฐิตินันท์ วัธนเวคิน | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | กรรมการเเละกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
กรรมการ บริษัท เคเคพี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) |
ศ.เกียรติคุณ ดร. ภก. ณรงค์ สาริสุต | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | กรรมการสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อดีตคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
|
ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร | กรรมการสภามหาวิทยาลัย |
กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
|
ดร.รวีพร คูหิรัญ | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
|
ศ.เกียรติคุณ นพ.มนตรี ตู้จินดา | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | กรรมการมูลนิธิ จุมภฏ-พันธุ์ทิพย์
อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
|
นพ.วิชัย โชควิวัฒน | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
|
โสภณ สุภาพงษ์ | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
|
พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | รองเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ
|
สุรางคณา วายุภาพ | กรรมการสภามหาวิทยาลัย | อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ |
ทำเนียบผู้อำนวยการ อธิการ และอธิการบดี
[แก้]รายนามผู้บริหาร | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
ผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร | |
1. หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ | 21 เมษายน พ.ศ. 2492 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2496 |
2. ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี | 1 เมษายน พ.ศ. 2496 - 30 กันยายน พ.ศ. 2496 |
อธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา | |
2. ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี (ผู้อำนวยการ) | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2496 - 29 กันยายน พ.ศ. 2497 |
2. ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี (อธิการ) | 1 เมษายน พ.ศ. 2496 - 30 กันยายน พ.ศ. 2496 |
3. ศาสตราจารย์ ดร.หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล | 30 กันยายน พ.ศ. 2497 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2499 (รักษาการ) |
4. ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร | 2 มกราคม พ.ศ. 2512 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 |
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ | |
4. ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร | 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 - 25 มกราคม พ.ศ. 2522 |
5. ศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ศศิธร | 26 มกราคม พ.ศ. 2522 - 25 มกราคม พ.ศ. 2526 |
6. รองศาสตราจารย์ ดร.ทรงศักดิ์ ศรีกาฬสินธุ์ | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 |
7. รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี เมืองนาโพธิ์ | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 |
8. รองศาสตราจารย์ ดร.พจน์ สะเพียรชัย | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 |
9. รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณทา พรหมบุญ | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2540 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 |
10. ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ | 28 มิถุนายน พ.ศ. 2546 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554 - 25 กันยายน พ.ศ. 2554 (รักษาการ) |
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ | 26 กันยายน พ.ศ. 2554 - 25 กันยายน พ.ศ. 2558[13] |
12. รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล | 26 กันยายน พ.ศ. 2558 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559 (รักษาการ) 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2567 |
13. รองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ | 6 ธันวาคม พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน (รักษาการ) |
บุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออกของ กระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เก็บถาวร 2021-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๘, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,สถิติจำนวนนิสิต ปีการศึกษา 2562 เก็บถาวร 2022-04-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2564.
- ↑ ทำไมจึงเรียก นิสิต มศว สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2563
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. 2497 (หน้า ๑๓๒๙), มาตรา เล่ม ๗๑ ตอนพิเศษ ๖๑ ประกาศใช้เมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2497. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗ (หน้า ๑), มาตรา เล่ม ๙๑ ตอนพิเศษ ๑๑๒ ประกาศใช้เมื่อ 28 มิถุนายน 2517. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561.
- ↑ พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๕๙, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๓๓ ก หน้า ๑๐ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๙
- ↑ [http://www.webometrics.info
- ↑ [http://www.webometrics.info/en/Asia
- ↑ [http://www.webometrics.info/en/Asia_Pacifico/South%20East%20Asia
- ↑ [http://www.webometrics.info/en/Asia/Thailand
- ↑ QS. QS University Rankings: Asia methodology. 13 June 2016. http://www.topuniversities.com/asia-rankings/methodology (accessed 29 June 2016).
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/124/19.PDF ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘ ตอนพิเศษ ๑๒๔ ง หน้า ๑๙ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ดูเพิ่ม
[แก้]- รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- มหาวิทยาลัยบูรพา
- มหาวิทยาลัยทักษิณ
- มหาวิทยาลัยพะเยา
- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
- โรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แม่แจ่ม
- ทีมมศว (ไม่มีจุด)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]บทความ
[แก้]- ประสาทปริญญาประสานมิตร: การเมืองของการรวมตัวเครือข่ายชนชั้นนำทางการศึกษา และการก่อร่างอุดมการณ์กษัตริย์นิยม พ.ศ. 2498-2508
- ความเป็นมาทางการเมืองของชื่อพระราชทาน “ศรีนครินทรวิโรฒ” (ปี 2513-2517)
เว็บไซต์
[แก้]- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- โรงแรม Swutel ในสังกัดของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เก็บถาวร 2014-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์