หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล
ปนัดดา ดิศกุล | |
---|---|
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 – 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559 | |
นายกรัฐมนตรี | ประยุทธ์ จันทร์โอชา |
ก่อนหน้า | สันติ พร้อมพัฒน์ |
ถัดไป | ออมสิน ชีวะพฤกษ์ สุวิทย์ เมษินทรีย์ |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 | |
นายกรัฐมนตรี | ประยุทธ์ จันทร์โอชา |
ก่อนหน้า | ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ |
ถัดไป | อุดม คชินทร |
สมาชิกวุฒิสภา | |
ดำรงตำแหน่ง 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – 10 กรกฎาคม 2567 | |
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 – 30 กันยายน พ.ศ. 2558 | |
ก่อนหน้า | ธงทอง จันทรางศุ |
ถัดไป | เอก อังสนานนท์ |
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 – 30 กันยายน พ.ศ. 2555 | |
ก่อนหน้า | อมรพันธุ์ นิมานันท์ |
ถัดไป | ธานินทร์ สุภาแสน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 26 สิงหาคม พ.ศ. 2499 |
เชื้อชาติ | ไทย |
คู่สมรส | อัมพร ดิศกุล ณ อยุธยา |
บุตร | วรดิศ ดิศกุล ณ อยุธยา |
บุพการี |
|
ร้อยเอก หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล (เกิด 26 สิงหาคม พ.ศ. 2499 ชื่อเล่น: คุณเหลน) เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ อดีตกรรมการในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ[1]อดีตประธานอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ[2]
อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ โฆษกกระทรวงมหาดไทยฝ่ายข้าราชการประจำ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (ผู้เชี่ยวชาญ ระดับ 10) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ครอบครัว
[แก้]เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของ พลตรี หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล สมาชิกขบวนการเสรีไทย (สายอังกฤษ) ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเซียบูรพา และอดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศมาเลเซีย สมาพันธรัฐสวิส และนครรัฐวาติกัน กับนางมัณฑนา ดิศกุล ณ อยุธยา เป็นนัดดา (หลานปู่) คนแรกในหม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล ราชองครักษ์และองคมนตรีในรัชกาลที่ 7 พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเป็นปนัดดา (เหลน) สืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ต.อ.จ.) ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกิดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันสมรสกับนางอัมพร ดิศกุล ณ อยุธยา และมีบุตรชายคนเดียว คือ นายวรดิศ ดิศกุล ณ อยุธยา ปัจจุบันเป็นนักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอกทาง 'Innovation Management'
การศึกษา
[แก้]ในระดับประถม (รุ่นที่ 10) และมัธยมที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร จากนั้นจึงติดตามครอบครัวซึ่งบิดารับราชการเป็นเอกอัครราชทูต จึงได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ณ โรงเรียนเตรียมทหารคิงส์ ประเทศออสเตรเลีย โดยสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ และปริญญาโททางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) จาก Brigham Young University ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังเข้ารับราชการแล้ว ได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น โดย ไจก้า เข้ารับการศึกษาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่นเปรียบเทียบ (History of Comparative Studies of Siam-Japan) ณ Sophia University ประเทศญี่ปุ่น และหลักสูตรการฝึกอบรมวิชาทางการทูต ณ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผ่านการศึกษาหลักสูตร อาทิ หลักสูตรนักบริหารกระทรวงมหาดไทยระดับกลาง หลักสูตรนักปกครองชั้นสูง จากวิทยาลัยมหาดไทย สถาบันดำรงราชานุภาพ และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.รุ่น 2550)
ราชการ
[แก้]ข้าราชการประจำ
[แก้]หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เริ่มต้นเข้ารับราชการในกองทัพบก ตำแหน่งอาจารย์ส่วนการศึกษา กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชั้นยศร้อยเอก และเข้าศึกษาหลักสูตรกระโดดร่ม (ส่งทางอากาศ) รุ่นที่ 144 พร้อมกับนักเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 32 ณ ค่ายเอราวัณ ศูนย์สงครามพิเศษ จ.ลพบุรี และหลักสูตรชั้นนายร้อยเหล่าทหารม้า ณ ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี จากนั้นได้ย้ายมารับราชการสังกัดกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง อาทิ ปฏิบัติราชการด้านงานวิเทศสัมพันธ์ (ฝ่ายกิจการต่างประเทศ) เป็นล่ามภาษาต่างประเทศประจำตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (หลายสมัย) ในปี พ.ศ. 2541 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนนโยบายการเมืองการปกครองและการบริหาร สำนักนโยบายและแผน เป็นหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย และปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการกองการต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2546 ได้รับแต่งตั้งเป็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี (พ.ศ. 2547) รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ (พ.ศ. 2550) ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 10 (ชช.10) ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในปี พ.ศ. 2552 ในปี พ.ศ. 2553 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2557 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ข้าราชการการเมือง
[แก้]นอกจากดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้ว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อีกหน้าที่หนึ่ง
แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 หม่อมหลวงปนัดดา ได้ขอลาออกจากราชการเพื่อปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพียงหน้าที่เดียว
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ได้รับพระราชโองการแต่งตั้งให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[3] จนพ้นความเป็นรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560[4] ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 และได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562
บทวิจารณ์
[แก้]หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ได้รับการกล่าวขานถึงอย่างกว้างขวางในความเป็นข้าราชการผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาตลอดชีวิตการรับราชการตราบจนเกษียณอายุราชการ โดยได้รับการประกาศเกียรติคุณจากหลายส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ และองค์กรภาคเอกชนและภาครัฐ อาทิ (1) สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยพิจารณามอบรางวัลเมขลา (ปูชนียบุคคลที่ทรงคุณค่าต่อแผ่นดิน) ในฐานะข้าราชการผู้ยึดมั่นความจงรักภักดีเป็นหัวใจแห่งการครองตน ครองคน และครองงาน (2) สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทยพิจารณามอบรางวัลครุฑทองคำผู้บริหารราชการพลเรือนดีเด่น ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประสบความสำเร็จทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และได้รับความเมตตากรุณา เป็นที่รักใคร่ของพี่น้องประชาชน เป็นข้าราชการผู้เสริมสร้างความรู้-รัก-สามัคคีอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงที่ประเทศชาติมีความขัดแย้งทางการเมือง (3) สำนักงาน ป.ป.ช. ประกาศมอบรางวัลเกียรติยศให้เป็นข้าราชการผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นการปฏิบัติราชการตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด และได้รับการประดับรูปภาพเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล ณ ห้องเกียรติสถิต พิพิธภัณฑ์ต่อต้านการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนพิษณุโลก (4) โรงเรียนสาธิต (ฝ่ายประถม) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประกาศเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น ณ ห้องเกียรติประวัติของโรงเรียน (5) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถาบันทรัพยากรมนุษย์ ประกาศเกียรติคุณและมอบโล่เกียรติยศข้าราชการนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดีเด่น ยังความภาคภูมิใจแก่ชีวิตการรับราชการของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุลและครอบครัวตลอดระยะเวลา 37 ปีเต็ม
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 59 ในโลกออนไลน์ คนแห่ชื่นชมหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล หลังต่อแถวขึ้นเครื่องบินที่สนามบิน ยกเป็นข้าราชการตัวอย่าง ซึ่งโลกออนไลน์ดังกล่าวได้มีการแชร์ภาพสุดประทับใจของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแต่ไม่ระบุชื่อ ที่เข้าแถวต่อคิวรอขึ้นเครื่องบินโดยสารเหมือนกับประชาชนทั่วไป โดยภาพดังกล่าวได้เผยให้เห็นว่าคือ "ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล" สวมเสื้อผ้าไหมสีฟ้าถือกระเป๋าเอกสารยืนหันหลังต่อแถวเตรียมขึ้นเครื่องบินที่สนามบิน ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ได้เผยแพร่ภาพระบุข้อความว่า "ประทับใจภาพ ม.ล.ปนัดดา ต่อแถวขึ้นเครื่องบินของสายการบินโลว์คอสต์ เพื่อเดินขึ้นเครื่องเช่นเดียวกับผู้โดยสารคนอื่นๆ เมื่อพนักงานตรวจตั๋วเดินทาง ส่งบัตรโดยสารคืนให้ ท่านก็กล่าวถ้อยคำว่า ขอบคุณครับ ด้วยน้ำเสียงอบอุ่น ถ่อมตน เมื่อผมเดินตามท่านไปถึงประตูเครื่อง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินยกมือไหว้ ท่านก็ยกมือรับไหว้ตอบ และกล่าวคำว่าสวัสดีครับ ด้วยน้ำเสียงเช่นเดิม พร้อมกับรอยยิ้มที่ดูเป็นมิตร ขณะที่เดินไปยังที่นั่งของท่าน ท่านเดินผ่านสุภาพสตรีสูงอายุท่านหนึ่ง ท่านก็ค้อมตัวเล็กน้อย พร้อมกล่าวคำว่า ขอโทษนะครับ แล้วท่านก็เดินผ่านไป และยกกระเป๋าขึ้นเก็บยังที่เก็บของด้วยตัวท่านเอง ขอยกให้ท่านเป็นข้าราชการตัวอย่างที่ผมจะขอจดจำ" สื่อขอสัมภาษณ์ "พี่หม่อมของพวกเรา" ภายหลังว่ามีความรู้สึกอย่างไรที่ผู้คนเข้ามาชื่นชมมากมายเป็นครั้งที่ 2 แล้วภายหลังปี 2557 ท่านตอบว่า "กราบขอบพระคุณในความมีไมตรีจิตของทุกท่านครับ พี่ปฏิบัติของพี่มาเช่นนี้ ตั้งแต่เมื่อแลเห็นคุณพ่อผู้ล่วงลับ (หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล) เป็นแบบอย่างเมื่อครั้งที่พ่อเป็นเอกอัครราชทูตในต่างประเทศ และเมื่อพี่มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ภริยากับลูกชายก็บอกว่าทำถูกต้อง ทำเหมือนคุณพ่อ ถ้าไม่ทำซิจะแปลก อายผู้คนเขา ใครๆ เขาก็ทำกัน ตำแหน่งหน้าที่ในคราวหนึ่งๆ ก็คือหัวโขนเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องอื่นใดเลย ความเสมอต้นเสมอปลายต่างหากที่จะยั่งยืน"
เมื่อ 27 พ.ย. 60 ภายหลังมีคำสั่งแต่งตั้งหม่อมหลวงปนัดดา ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม "สื่อมวลชนสัมภาษณ์พี่หม่อมอีกครั้งในความรู้สึก ว่าทำไมจึงรับตำแหน่งดังกล่าว โดยที่หลายคนมองว่าตำแหน่งต่ำกว่าเดิม" พี่หม่อมของพวกเราก็ตอบโดยไม่ชักช้าว่า "พี่เป็นข้าราชการประจำมาทั้งชีวิต ย่อมถือปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ตำแหน่งใหญ่หรือเล็กเราก็คิดกันไป แต่ตามจริงพี่ผ่านมาหมดแล้วในทุกหน้าที่ สำคัญ คือ งานที่เราจะสร้างและลงมือทำต่างหาก ภูมิใจที่สุดคือการได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมและจังหวัดเชียงใหม่ แรงบันดาลใจของพี่มีอย่างเดียว คือ การทำหน้าที่ราชการถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ ตามที่คุณพ่อพี่เคยสอนไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับราชการ ในขณะที่ยังพอมีกำลังวังชา ไม่เคยคิดว่าตำแหน่งใหญ่หรือเล็ก พ่อสอนให้ยึดมั่นความจงรักภักดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เจียมเนื้อเจียมตัว ซึ่งมีความหมายว่า มีความสุขุมรอบคอบ ไม่ผลีผลาม รู้จักการยับยั้งชั่งใจ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ทุกวันนี้พี่ก็ยังยึดถือคติธรรมข้อนี้"
วันที่ 14 พ.ค. 61 หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รับพระราชทาน "โล่เกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติ" ตามคำกราบบังคมทูลของจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561
รางวัลดีเด่น
[แก้]หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ได้รับรางวัลดีเด่นหลายรางวัล อาทิ
- ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็น “ ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ” ของกระทรวงมหาดไทย ประจำปี พ.ศ. 2532 โดยสอบเลื่อนระดับ 6 ได้เป็นที่ 1 ของกระทรวงมหาดไทยในปีนั้น
- ได้รับพระราชทายยศเป็นนายกองโท กองอาสารักษาดินแดน ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2543[5]
- ได้รับรางวัล “ศิษย์เก่าดีเด่น” ประจำปี พ.ศ. 2549 จาก โรงเรียนสาธิตศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)
- ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็น “ศิษย์เก่าดีเด่น เนื่องในวัน ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี” ประจำปี พ.ศ. 2549
- ได้รับรางวัล “คนดี ศรีสยาม” ประจำปี พ.ศ. 2549 จากสหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ
- ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” ประจำปี พ.ศ. 2549
- ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “พ่อตัวอย่างแห่งชาติ” ประจำปี พ.ศ. 2550[6]
- ได้รับรางวัลกิติคุณสัมพันธ์ "สังข์เงิน" ครั้งที่ 23 ประจำปี 2552-2553
- ได้รับพระราชทานปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2553
- ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีการศึกษา 2557
- ได้รับรางวัล "ครุฑทองคำ" ผู้บริหารราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2553-2554 ของสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย
- ได้รับรางวัลเกียรติยศโล่เชิดชูเกียรติ “ยกย่องให้เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ประจำปี 2555” ของสำนักงาน ป.ป.ช.
- ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2556
- ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ "ข้าราชการผู้สร้างชื่อเสียงให้กับกระทรวงมหาดไทย" ปี 2559
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มีมติประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลเกียรติยศ "ข้าราชการผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์" (Human Resource Excellence Award) ประจำปี 2560 แก่หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล
- วันที่ 14 พ.ค.61 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รับพระราชทาน "โล่เกียรติยศผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติ" ตามคำกราบบังคมทูลของจุฬาราชมนตรี และ คณะกรรมการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2555 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[7]
- พ.ศ. 2550 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[8]
- พ.ศ. 2529 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยานุจุลจอมเกล้า (ต.อ.จ.)[9]
- พ.ศ. 2555 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[10]
- พ.ศ. 2549 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[11]
รางวัลและเกียรติยศ
[แก้]- พ.ศ. 2543 ว่าที่นายกองโท หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดนเป็น นายกองโท หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล [12]
- พ.ศ. 2548 ว่าที่นายกองเอก หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดนเป็น นายกองเอก หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล [13]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://www.ipthailand.go.th/images/633/law_info2540.pdf
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/163/17.PDF
- ↑ พระราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 133 ตอนพิเศษ 296 ง, 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559.
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (ครม. ประยุทธ์ 5)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 พฤศจิกายน 2560. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน
- ↑ คติเลี้ยงลูกของ พ่อตัวอย่างแห่งปี[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2013-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2010-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๑๔, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๘๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๗, ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๐ ข หน้า ๒๖๖, ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๐
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2543/B/017/300.PDF
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2018-10-11.
ก่อนหน้า | หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สันติ พร้อมพัฒน์ | รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ครม. 61) (30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559) |
ออมสิน ชีวะพฤกษ์ สุวิทย์ เมษินทรีย์ | ||
ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ | รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ครม. 61) (15 ธันวาคม พ.ศ. 2559 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560) |
อุดม คชินทร |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2499
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- หม่อมหลวง
- ราชสกุลดิศกุล
- นักการเมืองไทย
- รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย
- ทหารบกชาวไทย
- อาจารย์คณะสังคมศาสตร์
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม
- ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
- ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไทย
- บุคคลผู้ได้รับรางวัลครุฑทองคำ
- บุคคลจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
- บุคคลจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
- บุคคลจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.อ.จ.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา
- ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน