ข้ามไปเนื้อหา

กองอาสารักษาดินแดน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองอาสารักษาดินแดน
เครื่องหมายราชการกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
ประเทศ ไทย
รูปแบบกำลังกึ่งทหาร
กำลังรบ190,000
กองบัญชาการ1277/1 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คำขวัญ"ปวงข้า อส. ขอตั้งสัจจา จะปกป้องพาราจนสิ้นใจ"
วันสถาปนา10 กุมภาพันธ์[a]
ปฏิบัติการสำคัญความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย[1]
ผู้บังคับบัญชา
ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนนายกองใหญ่ อนุทิน ชาญวีรกูล[2]
เครื่องหมายสังกัด
ตราหน้าหมวก
ธงกองอาสารักษาดินแดน

กองอาสารักษาดินแดน (อส.; อังกฤษ: Volunteer Defense Corps; VDC) เป็นองค์การของรัฐ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษ เป็นองค์การกึ่งราชการ มีฐานะเทียบเท่ากองทัพต่าง ๆ ของกระทรวงกลาโหม เป็นกำลังกึ่งทหาร เป็นกองกำลังประจำถิ่น มีลักษณะคล้ายกับกองกําลังป้องกันชาติของสหรัฐอเมริกา จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายหรือฝากภารกิจให้กรมการปกครองเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนกิจการกองอาสารักษาดินแดน โดยมีสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน (สน.อส.) เป็นส่วนราชการสังกัดกรมการปกครอง ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการ นอกจากนี้ยังมีหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กองทัพบกไทยทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการฝ่ายทหาร

กองอาสารักษาดินแดนมีลักษณะโครงสร้างหน่วยงาน ลำดับการบังคับบัญชาเหมือนกับกองทัพ และมีชั้นยศเหมือนทหาร กล่าวคือ เป็นพลเรือนที่มียศเหมือนทหาร ซึ่งมีภารกิจและบทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 คือ รักษาความสงบร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย รวมถึงรักษาความปลอดภัยในสถานที่สำคัญ และการคมนาคม และเป็นกองกำลังส่วนหนึ่งไว้สำรองที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อมีการร้องขอทั้งในยามปกติและยามศึกสงคราม และตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 หมวด 7 มาตรา 29 ได้บัญญัติไว้ว่า "เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา" จึงไม่ใช่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานเหมือนอาสาสมัครทั่วไป และไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดกรมการปกครอง แต่เป็นเจ้าพนักงานองค์การของรัฐ ตามกฎหมายจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนนั่นเอง

ประวัติ

[แก้]

ในอดีตเมื่อมีศึกสงครามเข้ามาประชิดขอบขัณฑสีมาสยามประเทศ พระมหากษัตริย์เจ้า ขุนทหาร และราษฎรผู้รักษาชาติบ้านเมือง ก็จะลุกขึ้นสู้เพื่อรักษาพื้นแผ่นดินให้ลูกหลาน อย่างเช่นเหตุการณ์ของรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เหตุการณ์ของเมืองถลาง คุณหญิงจันและนางมุก หรือท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร และเหตุการณ์เมืองนครราชสีมา คุณหญิงโม หรือท้าวสุรนารี เป็นต้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดเหตุการณ์วิกฤติการณ์ ร.ศ.112 ขึ้น ทำให้สยามประเทศต้องเสียแผ่นดินฝังซ้ายแม่น้ำโขง หรือประเทศลาวแก่ฝรั่งเศส เนื่องจากสยามมีกำลังทหารและอาวุธไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับฝรั่งเศสได้ เพราะได้มีการเลิกทาสไปแล้ว จึงไม่สามารถเกณฑ์กำลังไพร่พลได้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้ทอดพระเนตรเห็นพระราชบิดาทรงเสียพระทัยมาก และทรงมองเห็นว่า สยามเราไม่มีกำลังพลเพียงพอ และไม่มีกำลังสำรองไว้เพื่อป้องกันประเทศ จากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และเสด็จกลับประเทศ จึงทรงมีพระราชดำริจะจัดตั้งกองกำลังขึ้นเพื่อจะใช้ป้องกันประเทศในยามบ้านเมืองมีศึกสงคราม โดยมีแนวคิดมาจากกองทหารอาสาของอังกฤษ แต่ในขณะนั้นอาจจะยังไม่เหมาะแก่การตั้งกองกำลัง จึงทรงให้แปรสภาพไปเป็นอย่างอื่น เพื่อมิให้ผู้ใดได้เข้าใจความหมาย และในเวลาต่อมาพระองค์ได้เสด็จเสวยราชย์สมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กองเสือป่า” ขึ้น และมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพิเศษเสือป่า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระยศ นายกองใหญ่ และทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกหมายเลข 1 และมีการพระราชทานธงชัยประจำกองเสือป่า คือ ธงศารทูลธวัช ซึ่งการจัดตั้งกองเสือป่านั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อมีพระราชอำนาจสมบูรณ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงริเริ่มการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นทันที โดยปรากฏหลักฐานในกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ความว่า

การตั้งกองเสือป่าขึ้นด้วยความมุ่งหมายจะให้คนไทยทั่วกันรู้สึกว่าความจงรักภักดีต่อผู้ดำรงรัฐสีมาอาณาจักร โดยต้องตามมติธรรมประเพณีประการ 1 ความรักชาติบ้านเมืองและนับถือศาสนาประการ 1 ความสามัคคีในคณะและไม่ทำลายซึ่งกันและกัน

โดยก่อนที่จะทรงจัดตั้งกองเสือป่าอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทดลองฝึกหัดทหารมหาดเล็กจำนวนหนึ่งที่วังสราญรมย์ตามแบบอย่างที่มีพระราชประสงค์ ซึ่งการฝึกลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลจากลูกเสือ ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยการรบแบบที่พระองค์สนพระทัยอย่างยิ่ง คือ สงครามกองโจรและการซ้อมรบในเวลากลางคืน ซึ่งถือเป็นการรบแบบใหม่ในสมัยนั้น นอกจากชื่อกองเสือป่าแล้ว ยังมีการตั้งชื่ออื่นๆ ตามกิจกรรมและความเหมาะสมขึ้น เช่น "กองเสือป่ารักษาพระองค์" หรือ "กองเสือป่าหลวง", "กองเสือป่ารักษาแผ่นดิน" หรือ "กองเสือป่ารักษาดินแดน" ซึ่งอย่างหลังเป็นเสือป่าสำหรับข้าราชการ สามัญชน และพลเรือนทั่วพระนครและตามมณฑล โดยแบ่งเป็น 4 ภาคดูแลตามกลุ่มจังหวัด ถือเป็นต้นแบบของตำรวจตระเวนชายแดนในเวลาต่อมา หลังจากทรงจัดตั้งกองเสือป่าแล้ว ยังมีพระราชดำริว่า ควรมีสถานที่ใช้รวมตัวเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีสโมสรเสือป่าในแต่ละกองสำหรับเป็นที่ชุมนุม ประชุม สังสรรค์ เป็นที่เล่นกีฬาหลากหลายชนิด อีกทั้งเป็นที่อบรมสั่งสอนและปรึกษากิจการเสือป่าด้วย สโมสรเสือป่าจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 บริเวณสนามเสือป่า ปัจจุบันคือ สำนักพระราชวังสนามเสือป่า ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2468 กิจการเสือป่าได้ซบเซาและยุติลงอย่างเงียบๆ โดยไม่เคยมีการประกาศยุบเลิกหน่วยงานอย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏหลักฐานการสิ้นสภาพอย่างสมบูรณ์เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินกองเสือป่าตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ พุทธศักราช 2482 เพื่อโอนทรัพย์สินของกองเสือป่าไปอยู่ในความดูแลของคณะลูกเสือแห่งชาติทั้งหมด คงเหลือแต่เพียงกิจการลูกเสือเท่านั้นที่ดำเนินการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้กิจการเสือป่าได้ล้มเลิกไปแล้วก็ตาม แต่แนวคิดการฝึกราษฏรให้เป็นกำลังสำรองเพื่อช่วยทหารป้องกันประเทศ จึงถือว่า กองเสือป่านั้น เป็นรากเหง้าหรือพื้นฐานของกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน

ระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2497–ปัจจุบัน

ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ซึ่งกองอาสารักษาดินแดนนั้น สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีการจัดโครงสร้าง การบังคับบัญชาเหมือนกองทัพ และชั้นยศเหมือนทหาร โดยมีต้นแบบมาจากกองเสือป่า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างธงชัยประจำหน่วย เพื่อเป็นที่หมาย เป็นมิ่งขวัญ และเป็นที่เคารพขึ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีตรึงหมุด ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีพระราชทานธงชัยประจำหน่วย หรือที่เรียกว่า ธงประจำกองอาสารักษาดินแดน ณ ลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2497 จำนวน 1 ธง และในปี 2498 ได้มีการพระราชทานธงประจำกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดนครั้งแรก ดังนั้น กองอาสารักษาดินแดนจึงได้ถือเอาวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน คือ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยงาน

ธงประจำกอง (พรบ.ธง)

[แก้]
ธงกองอาสารักษาดินแดน
ธงกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด

ธงประจำกองอาสารักษาดินแดน เป็นธงที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด และเป็นเกียรติยศของกองอาสารักษาดินแดน เป็นมิ่งขวัญประจำหน่วยกำลังของหน่วยต่างๆ โดยมีลักษณะ การได้มา และมีความสำคัญเช่นเดียวกับธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วยทหาร หรือตำรวจ โดยกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ธงนั้นถือเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนชาติ ศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อให้กำลังพลทั้งหลาย ได้ยึดเหนี่ยวเคารพเป็นมิ่งขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ รวมถึงเพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือสิ่งแทนพระองค์ในองค์พระมหากษัตริย์ เมื่อเวลาเข้าสู่สงคราม กำลังพลทั้งปวงต้องพิทักษ์รักษาธงชัยประจำของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต ธงชัยประจำหน่วยจึงเป็นเครื่องหมายนำความองอาจ กล้าหาญ แห่งกำลังพลทั้งปวง ให้เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูให้ได้ชัยชนะกลับมา และด้วยความที่เป็นธงที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด จำต้องมีระเบียบปฏิบัติโดยเฉพาะ ทั้งการเก็บรักษา การเชิญธงในวาระต่างๆ ดังนั้น โอกาสในการเชิญธงชัยประจำกองนั้น จะต้องเป็นพิธีการสำคัญ เป็นเกียรติยศ เช่น เชิญเข้าประจำกองเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนาม ในการสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย เนื่องในพระราชพิธีรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2514 เชิญเข้าในพิธีชุมชุมกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เป็นต้น

ธงไชย หรือธงประจำกองอาสารักษาดินแดน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 72 เซนติเมตร ด้านหน้าของผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อเป็นสีทองขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีทอง ยอดธงเป็นรูปพระขรรค์ทำด้วยโลหะสีเงินและด้ามพระขรรค์ทำด้วยโลหะสีทอง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทำพิธีพุทธาภิเษกแล้ว เรียกว่า "พระยอดธง" และบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และที่ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 34 เซนติเมตร ขอบรอบวงกลมเป็นสีเหลือง มีรูปพระนเรศวรทรงช้างอยู่ภายในดวงกลมและมีความว่า “กองอาสารักษาดินแดน” หรือ "กองอาสารักษาดินแดนจังหวัด" ปักด้วยดิ้นทองเป็นแถวโค้งโอบใต้ดวงกลมนั้น ด้านหลังที่ตรงกลางของผืนธงมีรูปช่อชัยพฤกษ์และอุณาโลมอยู่ตรงกลางภายใต้พระมหามงกุฎ ปักด้วยดิ้นทอง มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองข้าง มีส่วนยาวเลยมุมธงด้านล่าง ด้านอื่นเป็นกรุยสีเหลือง มีสักหลาดสีแดงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีทอง 33 หมุด หมุดที่ 1 เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่ 2 เป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่ 3 เป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่ 4 เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดที่ 5 เป็นต้นไปเป็นรูปเครื่องหมายตราพระราชสีห์ 29 หมุด โดยหมุดที่ 1 จะอยู่บนสุด และหมุดต่อไปเรียงลงมาตามลำดับ

โดยความสำคัญของธงประจำกองอาสารักษาดินแดนนี้ ปรากฏในพระบรมราโชวาทในวันพิธีสวนสนามและพระราชทานธงประจำกองอาสารักษาดินแดน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ความตอนหนึ่งที่ว่า

เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน ทั้งหลาย

ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มาร่วมในการสวนสนาม และทำพิธีมอบธงชัยประจำกอง ให้แก่กองอาสารักษาดินแดนในวันนี้ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้ดำริจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนขึ้น ด้วยความมุ่งหมายที่จะอบรมประชาชนพลเมืองให้มีความรู้ในการทำหน้าที่ เพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาภัย อันเนื่องจากสงครามและจากภัยธรรมชาติ ช่วยกันรักษาความสงบสุขและความปลอดภัยของประเทศชาติ แบ่งเบาภาระของทหารและตำรวจซึ่งต้องทำหน้าที่อยู่โดยตรงแล้ว ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงมานั้น เป็นความดำริที่ชอบแล้ว ยิ่งเมื่อสถานการณ์ของโลกรอบ ๆ ประเทศ อยู่ในลักษณะดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ที่มิได้นิ่งนอนใจ รีบดำเนินการในเรื่องนี้ก็เป็นการสมควรยิ่งขึ้น จัดได้ว่าไม่อยู่ในความประมาท ชอบด้วยพุทธวะจะนะแล้ว ข้าพเจ้าขอให้เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ โดยพยายามฝึกสอนอบรมประชาชน ให้เข้าใจกิจการในหน้าที่ของตน ทั้งในส่วนตัวของบุคคล ของครอบครัว ของหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ ตลอดจนชาติบ้านเมืองในที่สุด เพื่อได้มีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันที่ที่จะช่วยป้องกันภัยอันตรายและรักษาความสงบในท้องถิ่นของตน ด้วยความองอาจกล้าหาญ และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อชาติบ้านเมือง และความเป็นเอกราชของเราจะได้วัฒนาถาวร

อันธงประจำกองที่ข้าพเจ้ามอบให้นี้ ย่อมเป็นเครื่องหมายแทนบรรดาศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านนับถือ ท่านจงเทิดทูนและรักษาไว้ให้ดี อย่าให้เสียเกียรติได้ และควรพิทักษ์รักษาเกียรติยิ่งกว่าชีวิตของตน ขอธงที่ได้มอบให้นี้จงเป็นเครื่องเตือนใจ ให้กองอาสารักษาดินแดนได้ปฏิบัติหน้าที่สมตามความมุ่งหมายเป็นมิ่งขวัญอันดีของกองอาสารักษาดินแดนสืบไป

ในที่สุด ขอให้บรรดาสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ตลอดท่านที่มาร่วมชุมนุมในงานนี้ จงประสบความสุขความเจริญ มีกำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิดในอันจะประกอบกิจในหน้าที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ

การแบ่งส่วนงานของกองอาสารักษาดินแดน

[แก้]
เครื่องแบบกองอาสารักษาดินแดน ชุดฝึกสีกากีพราง (ซ้ายตรวจแถว) และชุดฝึกสีเขียวพราง (ขวาในแถว)

กองอาสารักษาดินแดน แบ่งการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค

ส่วนกลาง

[แก้]

ส่วนกลาง คือ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (บก.อส.) ประกอบด้วย

  1. ฝ่ายอำนวยการ (ส่วนบังคับบัญชา)
  2. กองกำลังพล
  3. กองส่งกำลังบำรุง
  4. กองยุทธการ
  5. กองข่าว
  6. กองปฏิบัติการพิเศษ
  7. กองสนับสนุน

กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน

[แก้]

กองบัญชาการรักษาดินแดน มีโครงสร้าง[3] ดังนี้

ส่วนภูมิภาค

[แก้]

ส่วนภูมิภาค คือ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (บก.อส.จ.) ประกอบด้วย

  1. ฝ่ายอำนวยการ (ส่วนบังคับบัญชา)
    1. กองปฏิบัติการ
    2. กองสนับสนุน
  2. กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ

กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด

[แก้]

กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด มีโครงสร้าง[3] ดังนี้

  • ฝ่ายอำนวยการ
    • ฝ่ายอำนวยการ ที่ทำการปกครองจังหวัด (ทปค.จ.)
      • หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (หน.ฝอ.บก.อส.จ)
      • ผู้ชวยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (ผช.หน.ฝอ.บก.อส.จ)
    • ฝ่ายอำนวยการ กลุ่มงานคนเข้าเมือง (กง.คม.)
      • กองปฏิบัติการ
      • กองสนับสนุน
  • กองร้อยบังคับการและบริการ (ร้อย บก.บร.)
  • กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด (ร้อย อส.จ.)
  • กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ (ร้อย อส.อ.)

ตำแหน่งการบังคับบัญชาในกองอาสารักษาดินแดน

[แก้]

สายการบังคับบัญชา (ส่วนกลาง)

  1. ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
  2. รองผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
  3. ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
  4. หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
  5. รองหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
  6. ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
  7. หัวหน้ากอง และรองหัวหน้ากอง
  8. หัวหน้าแผนก
  9. ผู้บังคับกองร้อย

สายการบังคับบัญชา (ส่วนภูมิภาค)

  1. ผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
  2. รองผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
  3. ผู้ช่วยผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
  4. หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
  5. รองหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
  6. ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
  7. หัวหน้ากอง และรองหัวหน้ากอง
  8. หัวหน้าแผนก
  9. ผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด

กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ

  1. ผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ
  2. รองผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ
  3. ผู้ช่วยผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ
  4. จ่ากองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ
  5. ผู้บังคับหมวด และรองผู้บังคับหมวด

สายงานสนับสนุน (ส่วนกลาง)

  1. ที่ปรึกษากองอาสารักษาดินแดน
  2. ประจำกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน

สายงานสนับสนุน (ส่วนภูมิภาค)

  1. ประจำกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด

กำลังพลในสังกัดกองอาสารักษาดินแดน

[แก้]

กำลังพลในสังกัดกองอาสารักษาดินแดน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน โดยมีที่มาดังนี้

  1. โดยตำแหน่ง คือ ข้าราชการการเมือง (รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและรัฐมนตรีช่วย) หรือข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครองบ้างตำแหน่งที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือคำสั่งกองอาสารักษาดินแดน
  2. โดยแต่งตั้ง คือ ข้าราชการกรมการปกครองบ้างตำแหน่งที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือคำสั่งกองอาสารักษาดินแดน หรือบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านต่าง ๆ
  3. โดยสอบแข่งขันและคัดเลือก คือ บุคคลผู้มีความประสงค์ขอสมัครเข้ามาบรรจุและสั่งใช้เป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามของพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 มาตรา 12 กำหนดไว้

สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน

[แก้]

สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องมีคุณสมบัติและลักษณะ ตามของพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 หมวด 1 มาตรา 12 มีประเภท คือ 3

  1. ประเภทสำรอง คือ สมาชิกที่ยังไม่ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด
  2. ประเภทประจำกอง คือ สมาชิกที่ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตร และบรรจุอยู่ในอัตรากำลัง
  3. ประเภทกองหนุน คือ สมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกอง

ยศกองอาสารักษาดินแดน

[แก้]
เครื่องแบบสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (ชุดฝึกกากีพราง)

ยศกองอาสารักษาดินแดน เป็นยศที่ต้องมีพระบรมราชโองการพระราชทานยศจากพระมหากษัตริย์ เนื่องจากกำลังพลของกองอาสารักษาดินแดนเป็นกำลังพลกึ่งทหาร ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมในการปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามระเบียบวินัย จึงได้มีการกำหนดให้มีชั้นยศขึ้นตามพระราชบัญญัติยศ และเครื่องแบบผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 หรือเมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยทหาร หรือตำรวจ โดยแบ่งออกเป็นชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนชั้นสัญญาบัตร และชั้นยศของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนชั้นประทวน [4] และการแต่งตั้งผู้ใดให้ว่าที่ยศชั้นใดชั่วคราวตั้งแต่ชั้นนายหมวดตรีขึ้นไป ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจแต่งตั้งผู้นั้นให้ว่าที่ยศชั้นนั้นชั่วคราวได้ จนกว่าจะได้นำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานยศแล้ว สำหรับผู้ที่จะได้รับยศตั้งแต่ชั้นนายหมู่ใหญ่ลงมานั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือผู้บังคับบัญชาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมายเป็นผู้แต่งตั้งได้ สำหรับชื่อชั้นยศในภาษาอังกฤษนั้น ยึดถือตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเรียกชื่อยศและตำแหน่งในกองอาสารักษาดินแดนเป็นภาษาอังกฤษ พ.ศ. 2511 (ซึ่งในอดีตกำหนดไว้เพื่อพลาง) โดยจำแนกออกเป็นชั้นยศ คือ

  1. นายกองใหญ่ มีลักษณะเครื่องหมายยศเป็นดาวดอกพิกุล 5 ดาว มีพระมหามงกุฎพร้อมรัศมีและช่อชัยพฤกษ์ ประดับบนอินทรธนูทั้งสองข้าง ให้ยอดพระมหามงกุฎอยู่ทางด้านคอและให้ช่อชัยพฤกษ์โอบดาว เป็นพระยศสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชินี และเป็นยศสำหรับผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยตำแหน่ง)
  2. นายกอง มีลักษณะเครื่องหมายยศเป็นดาวดอกพิกุลจำนวนดาวตามชั้นยศ มีพระมหามงกุฎพร้อมรัศมีและช่อชัยพฤกษ์ ประดับบนอินทรธนูทั้งสองข้าง ให้ยอดพระมหามงกุฎอยู่ทางด้านคอและให้ช่อชัยพฤกษ์โอบดาว
  3. นายหมวด มีลักษณะเครื่องหมายยศเป็นขีดจำนวนตามชั้นยศ และมีดาวดอกพิกุล 1 ดาว อยู่เหนือขีด ประดับบนอินทรธนูทั้งสองข้าง
  4. นายหมู่ มีลักษณะเครื่องหมายยศเป็นขีดจำนวนตามชั้นยศ และมีตรากองอาสารักษาดินแดนอยู่เหนือขีด ประดับบนแขวเสื้อด้านขวา

ชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่

[แก้]

ชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนชั้นสัญญาบัตร และชื่อยศภาษาอังกฤษ (เพื่อพลาง) แบ่งออกเป็น 7 ชั้นยศ ได้แก่

กลุ่มชั้นยศ ชั้นนาย

กองใหญ่

ชั้นนายกอง ชั้นนายหมวด
กองอาสารักษาดินแดน
นายกองใหญ่ นายกองเอก นายกองโท นายกองตรี นายหมวดเอก นายหมวดโท นายหมวดตรี
VDC General VDC Colonel VDC Lieutenant Colonel VDC Major VDC Captain VDC First Lieutenant VDC Second Lieutenant
ก.ญ. ก.อ. ก.ท. ก.ต. มว.อ. มว.ท. มว.ต.
VDC Gen VDC Col VDC Lt Col VDC Maj VDC Capt VDC 1st Lt VDC 2nd Lt

ชั้นยศของสมาชิก

[แก้]

ชั้นยศของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนชั้นประทวน และชื่อยศภาษาอังกฤษ (เพื่อพลาง) แบ่งออกเป็น 4 ชั้นยศ ได้แก่

กลุ่มชั้นยศ นายทหารประทวนอาวุโส นายทหารประทวน พลสมัคร
และพลทหาร
กองอาสารักษาดินแดน
นายหมู่ใหญ่ นายหมู่เอก นายหมู่โท นายหมู่ตรี สมาชิกเอก สมาชิกโท สมาชิกตรี สมาชิก
VDC Sergeant Major (Special) VDC Sergeant Major 1st Class VDC Sergeant Major 2nd Class VDC Sergeant Major 3rd Class VDC Sergeant VDC Corporal VDC Lance Corporal VDC Member
ม.ญ. ม.อ. ม.ท. ม.ต. อส.อ. อส.ท. อส.ต. อส.
VDC SM(S) VDC SM1 VDC SM2 VDC SM3 VDC Sgt VDC Cpl VDC Lcpl VDC Mbr

ชั้นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่มิได้กำหนดเป็นชั้นยศตามพระราชบัญญัติยศ และเครื่องแบบผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดลำดับชั้นไว้ 4 ชั้น คือ สมาชิกเอก สมาชิกโท สมาชิกตรี มีลักษณะเครื่องหมายเป็นรูปอาร์มธงชาติไทย มีดาวดอกพิกุลสีทองจำนวนดาวตามลำดับชั้น และสำหรับชั้นสมาชิก มีลักษณะเครื่องหมายเป็นรูปอาร์มธงชาติไทยไม่มีดาว โดยใช้คำเรียกในภาษาอังกฤษ (เพื่อพลาง) ว่า Volunteer Defense Corps Member (VDC Mbr)[5]

บทบาทหน้าที่ ภารกิจ และอำนาจตามกฎหมาย

[แก้]

กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 หมวด 2 มาตรา 16 ดังนี้

  1. บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติ และการกระทำของข้าศึก
  2. ทำหน้าที่ตรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
  3. รักษาสถานที่สำคัญ และการคมนาคม
  4. ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว
  5. ทำความช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก
  6. เป็นกำลังส่วนหนึ่งไว้สำรองพร้อมที่จะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น

นอกจากนั้นแล้ว ในปัจจุบัน กองอาสารักษาดินแดน หรือ อส. ยังมีภารกิจและบทบาทหน้าที่ในด้านต่าง ๆ อีกมาก ทั้งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการปกครอง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การปราบปรามการค้ามนุษย์ การป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การจัดระเบียบสังคม การรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงการควบคุมความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การพัฒนาและสร้างมวลชน การบริการประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยว บรรเทาภัยด้านความมั่นคง เป็นต้น

ยุทโธปกรณ์

[แก้]

ยานพาหนะภาคพื้นดิน

[แก้]
รุ่น ภาพ ประเภท ที่มา หมายเหตุ
นิสสัน นาวารา (หุ้มเกราะ) รถเกราะ ธงของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น รถกระบะดัดแปลง

อาวุธเล็ก

[แก้]
ชื่อ ภาพ ประเภท ลำกล้องปืน ที่มา หมายเหตุ
HK-33 A2 ปืนเล็กยาวจู่โจม 5.56×45 มม. นาโต ธงของประเทศเยอรมนี เยอรมนี
 ไทย
กระทรวงมหาดไทยแจกจ่ายให้กองอาสารักษาดินแดน[6]
M-16[7]
ปืนเล็กยาวจู่โจม 5.56×45 มม. นาโต  สหรัฐอเมริกา
AK-102[8][9]
คาร์บิน 5.56×45 มม. นาโต ธงของประเทศรัสเซีย รัสเซีย

อ้างอิง

[แก้]
  1. รัฐทุ่มพันล้านตั้งกรมทหารพราน ส่ง'ปืนยาว'ให้อส.หวังดับไฟใต้ - กรุงเทพธุรกิจ
  2. โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน เป็นกรณีพิเศษแก่ “อนุทิน-เกรียง-ชาดา”
  3. 3.0 3.1 "กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน". www.vdch.go.th.
  4. พระราชบัญญัติยศ และเครื่องแบบผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗
  5. "สารครบรอบ 63 ปี วันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2560 หน้า 79". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-11. สืบค้นเมื่อ 2018-10-11.
  6. คปต. เห็นชอบจัดหาปืนเอชเค 2,700 กระบอกแจก อส.ชายแดนใต้ - ประชาไท
  7. อส.แฉเอง “วงจรจำนำปืน” ท้าตรวจทุกอำเภอเจอหายอื้อ - สำนักข่าวอิศรา
  8. เหี้ยม! โจรใต้ดักยิงถล่มใส่ อส.นราธิวาสดับคาที่ 2 นาย ก่อนฉกปืนหนี 4 กระบอก
  9. คนร้ายยิงเจ้าหน้าที่ อส.ยะลา เสียชีวิต 2 ก่อนชิงปืนหนี - Workpoint[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน