การพิชิตจ๊กก๊กโดยวุยก๊ก
การพิชิตจ๊กก๊กโดยวุยก๊ก | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก | |||||||
การพิชิตจ๊กก๊กโดยวุยก๊ก | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
วุยก๊ก | จ๊กก๊ก | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
สุมาเจียว จงโฮย เตงงาย จูกัดสู |
เล่าเสี้ยน เกียงอุย เลียวฮัว จูกัดเจี๋ยม † | ||||||
กำลัง | |||||||
160,000–180,000[c] | 90,000–102,000[d] |
การพิชิตจ๊กก๊กโดยวุยก๊ก | |||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 魏滅蜀之戰 魏滅漢之戰 | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 魏灭蜀之战 魏灭汉之战 | ||||||
|
การพิชิตจ๊กก๊กโดยวุยก๊ก (จีน: 魏滅蜀之戰) เป็นการทัพที่เริ่มต้นด้วยรัฐวุยก๊กกระทำต่อรัฐจ๊กก๊กในช่วงปลายปี ค.ศ. 263 ในยุคสามก๊กของจีน การทัพนี้สิ้นสุดลงด้วยการล่มสลายของจ๊กก๊ก และเป็นการสิ้นสุดของการคงสมดุลไตรภาคีในจีนที่กินเวลามากกว่า 40 ปีนับตั้งแต่การสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในปี ค.ศ. 220 การพิชิตครั้งนี้เป็นการวางรากฐานสำหรับการรวมจีนเป็นหนึ่งเดียวในที่สุดภายใต้การปกครองของราชวงศ์จิ้นตะวันตกในปี ค.ศ. 280
ภูมิหลัง
[แก้]หลังการการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในปี ค.ศ. 220[7] รัฐที่ขัดแย้งกัน 3 รัฐได้ก่อตั้งขึ้นในจีนและรบกันเพื่อควบคุมดินแดนของอดีตจักรวรรดิฮั่น ในบรรดา 3 รัฐนี้ วุยก๊กเป็นรัฐที่มีอำนาจมากที่สุดในแง่ของความแข็งแกร่งทางกำลังทหาร ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ กำลังคน และขนาดทางภูมิศาสตร์ อีก 2 รัฐคือจ๊กก๊กและง่อก๊กได้ก่อตั้งความเป็นพันธมิตรขึ้นใหม่เพื่อต่อต้านวุยก๊กในปี ค.ศ. 223[8]
ระหว่างปี ค.ศ. 228 และ ค.ศ. 234 จูกัดเหลียงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งจ๊กก๊กซึ่งสนับสนุนนโยบายแข็งกร้าวต่อวุยก๊ก ได้ยกทัพ 5 ครั้ง (เป็นที่รู้จักในคำเรียกว่า "การบุกขึ้นเหนือ") เพื่อโจมตีอาณาเขตของวุยก๊กในมณฑลยงจิ๋วและเลียงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของมณฑลกานซู่และมณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เป้าหมายสูงสุดของการทัพคือการเปิดทางให้ทัพจ๊กก๊กเข้ายึดลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) นครหลวงของวุยก๊ก และฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น การบุกทุกครั้งล้วนประสบความล้มเหลว[9] หลังจูกัดเหลียงเสียชีวิตในปี ค.ศ. 234 ผู้สืบทอดอำนาจคือเจียวอ้วนและบิฮุยมีท่าทีในเชิงป้องกันต่อวุยก๊กมากขึ้น และมุ่งเน้นไปที่นโยบายส่งเสริมการพัฒนาภายในและความมั่นคงภายในจ๊กก๊ก แต่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 240 ถึง ค.ศ. 262 เกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กสานต่อเจตนารมณ์ของจูกัดเหลียงด้วยการยกทัพบุกวุยก๊กอีก 11 ครั้ง แต่การบุกแต่ละครั้งถูกยกเลิกไปในที่สุดเนื่องจากเสบียงอาหารไม่เพียงพอ, การสูญเสียอย่างหนักในสนามรบ และเหตุผลอื่น ๆ การทัพเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่แล้วในจ๊กก๊กให้ร่อยหรอลงเป็นอย่างมาก แต่ยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชากรของจ๊กก๊ก และยังส่งผลทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ราษฎรที่มีต่อเกียงอุยอีกด้วย[10]
ในช่วงเวลานั้น สุมาอี้ขุนพลวุยก๊กขึ้นมามีอำนาจหลังก่อรัฐประหารได้สำเร็จในปี ค.ศ. 249 หลังสุมาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 251 สุมาสูบุตรชายคนโตขึ้นสืบทอดอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผูกขาดอำนาจและควบคุมราชสำนักวุยก๊ก[11] ในปี ค.ศ. 254 สุมาสูปลดโจฮองจักรพรรดิวุยก๊กที่พยายามจะชิงอำนาจคืนจากสุมาสู แล้วสุมาสูก็ตั้งโจมอขึ้นครองราชย์แทน หลังสุมาสูเสียชีวิตในปี ค.ศ. 255 สุมาเจียวน้องชายของสุมาสูขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่และยังคงผูกขาดอำนาจในวุยก๊กต่อไป[12] ในปี ค.ศ. 260 โจมอทรงพยายามจะก่อรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจสุมาเจียวแต่ไม่สำเร็จ ตัวพระองค์เองก็ถูกปลงพระชนม์ โจฮวนที่ขึ้นสืบราชบัลลังก์ถัดจากโจมอในฐานะจักรพรรดิแห่งวุยก๊กก็ยังคงเป็นผู้ปกครองหุ่นเชิดภายใต้อิทธิพลและการควบคุมของสุมาเจียว[13]
การวางกลยุทธ์ของวุยก๊ก
[แก้]ลำดับเหตุการณ์การพิชิตจ๊กก๊กโดยวุยก๊ก[14] | ||
---|---|---|
ช่วงเวลาโดยประมาณ | สถานที่ | เหตุการณ์ |
ฤดูหนาว ค.ศ. 262 | นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน | สุมาเจียวประกาศแผนการพิชิตจ๊กก๊กแก่ราชสำนักวุยก๊ก สุมาเจียวมอบหมายให้จงโฮยรับผิดชอบราชการทหารในภูมิภาคกวนต๋ง วุยก๊กระดมกำลังทหารประมาณ 180,000 นายจากหลายมณฑลเพื่อเตรียมการบุกจ๊กก๊ก |
ต้นปี ค.ศ. 263 | อำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ | เกึยงอุยส่งคำแจ้งเตือนไปถึงนครหลวงเซงโต๋ว่าวุยก๊กดูเหมือนกำลังเตรียมการจะบุกจ๊กก๊ก ฮุยโฮทูลแนะนำเล่าเสี้ยนให้ทรงเพิกเฉยต่อคำแจ้งเตือน |
ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 263 | นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน | ราชสำนักวุยก๊กออกพระราชโองการกำหนดแนวทางในการบุกแบบสามทิศทาง โดยจงโฮย เตงงาย และจูกัดสูต่างนำกำลังพลของตนเข้าโจมตีจ๊กก๊กจากปีกตะวันออก ปีกตะวันตก และปีกกลางตามลำดับ |
20 กันยายน – 19 ตุลาคม ค.ศ. 263 | นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน | ทัพวุยก๊กยกออกจากลกเอี๋ยง |
มณฑลฉ่านซี | จงโฮยสั่งประหารชีวิตเคาหงีจากความล้มเหลวในภารกิจกำกับดูแลการก่อสร้างถนนที่นำเข้าสู่จ๊กก๊ก | |
อำเภอเฉิงกู้และอำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซี | จงโฮยสั่งให้ลิจูและซุนไคเข้าโจมตีอำเภอก๊กเสียและฮั่นเสียตามลำดับ เวลานั้นอองหำและเจียวปินขุนพลจ๊กก๊กตั้งมั่นรักษาอำเภอก๊กเสียและฮั่นเสียตามลำดับ | |
อำเภอหนิงเฉียง มณฑลฉ่านซี | จงโฮยส่งเฮาเหลกเข้าโจมตีด่านเองเปงก๋วน เจียวสียอมจำนนต่อเฮาเหลกและช่วยเฮาเหลกในการพิชิตด่านเองเปงก๋วน ปอเฉียมถูกสังหารในที่รบระหว่างป้องกันด่าน | |
20 ตุลาคม – 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 263 | นครเทียนฉุ่ย, อำเภอหล่งซี และอำเภอยฺหวีจง มณฑลการซู่ และนครอานคาง มณฑลฉ่านซี | อองกิ๋น, คันห่อง, เอียวหัว และหลิว ชินนำกำลังพลจากเมืองของตนเข้าร่วมการบุกจ๊กก๊ก |
นครหล่งหนานและอำเภอเหวิน มณฑลกานซู่ | เล่าเสี้ยนส่งเลียวฮัวและเตียวเอ๊กกับตังควดให้นำกำลังเสริมไปยังท่าจงและด่านเองเปงก๋วนตามลำดับ กำลังเสริมของจ๊กก๊กหยุดอยู่ที่อิมเป๋งเมื่อทั้งหมดทราบว่าทัพของจูกัดสูกำลังโจมตีเจี้ยนเวย์ | |
อำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ | เตงงายเอาชนะเกียงอุยที่ท่าจง | |
จุดตัดของแม่น้ำไป๋หลงกับแม่น้ำเจียหลิง | เกียงอุยพยายามล่าถอยไปยังไป๋ฉุ่ย แต่เอียวหัวสกัดไว้ที่เฉียงชฺวานโข่วและเอาชนะเกียงอุยได้ | |
อำเภอเหวิน มณฑลกานซู่ | เกียงอุยมุ่งหน้าไปยังหุบเขาข่งหานเพื่อเลี่ยงการปะทะกับจูกัดสูซึ่งกำลังปิดกั้นสะพานอู๋เจียใกล้กับอิมเป๋ง เมื่อจูกัดสูยกเลิกการปิดกั้น เกียงอุยก็ยกหันกลับมาทันที ข้ามสะพานและเคลื่อนไปยังเกียมโก๊ะ จูกัดสูพยายามจะมาหยุดเกียงอุยแต่ไม่ทันกาล | |
อำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวน | เกียงอุย, เลียวฮัว, เตียวเอ๊ก และตังควดล่าถอยมายังเกียมโก๊ะ จงโฮยโจมตีเกียมโก๊ะหลายครั้ง แต่ไม่สามารถฝ่าแนวป้องกันของจ๊กก๊กได้ | |
อำเภอเหวิน มณฑลกานซู่ และอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวน | เตงงายเสนอความคิดที่จะใช้ทางลัดจากอิมเป๋งไปยังกิมก๊กเพื่อเลี่ยงแนวป้องกันของเกียมโก๊ะ และมุ่งตรงไปยังเซงโต๋ เตงงายขอให้จูกัดสูร่วมแผนกับตนแต่จูกัดสูปฏิเสธ จงโฮยใส่ร้ายจูกัดสูว่าขี้ขลาดและยึดอำนาจบัญชาการทหารของจูกัดสู | |
18 พฤศจิกายน – 17 ธันวาคม ค.ศ. 263 | อำเภอเหวิน มณฑลกานซู่ | เตงงายนำกำลังทหารฝีมือดีผ่านทางลัดที่เลี่ยงเกียมโก๊ะและนำทางจากอิมเป๋งสู่เซงโต๋ |
นครเจียงโหยว มณฑลเสฉวน | ม้าเชียวเจ้าเมืองอิวกั๋งของจ๊กก๊กยอมจำนนต่อเตงงาย | |
นครเหมียนจู๋ มณฑลเสฉวน | เตงงายเอาชนะจูกัดเจี๋ยมที่กิมก๊ก จูกัดเจี๋ยม, จูกัดสง, หฺวาง ฉง, หลี่ ฉิว และเตียวจุ๋นถูกสังหารในที่รบ | |
นครเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน | เกียงอุยทิ้งเกียมโก๊ะและมุ่งไปยังเมืองปากุ๋น จงโฮยยกไปยังอำเภอโปยเสียและสั่งให้เฮาเหลก, เตนซก และบังโฮยไล่ตามตีเกียงอุย | |
นครเฉิงตูและนครกว่างฮั่น มณฑลเสฉวน | เล่าเสี้ยนทรงส่งเตียวเซีย, เจาจิ๋ว และเตงเลียงให้นำเอกสารยอมจำนนและตราพระราชลัญจกรไปส่งให้เตงงายที่อำเภอลกเสีย เล่าเสี้ยนยังทรงมีรับสั่งให้จาง จฺวิ้นและเจียวเอี๋ยนให้นำรับสั่งไปถึงคนที่เหลือในจ๊กก๊กให้ยอมจำนนต่อวุยก๊ก พระองค์ทรงส่งลิเฮาไปแจ้งเกียงอุยให้ยอมจำนนต่อจงโฮยที่อำเภอโปยเสีย | |
นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน | เตงงายนำทัพเข้ายึดเซงโต๋ | |
นครเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน | เกียงอุยยอมจำนนต่อจงโฮยที่อำเภอโปยเสีย |
วุยก๊กตัดสินใจโจมตีจ๊กก๊ก
[แก้]ในปี ค.ศ. 262[e] สุมาเจียวเห็นว่าจ๊กก๊กอ่อนแอลงและขาดแคลนทรัพยากรหลังการทำศึกกับวุยก๊กอย่างต่อเนื่อง สุมาเจียวจึงต้องการเปิดฉากการบุกจ๊กก๊กครั้งใหญ่เพื่อกำจัดภัยคุกคามจากจ๊กก๊ก ในบรรดาผู้ที่สุมาเจียวปรึกษา มีเพียงจงโฮยที่เห็นด้วยว่าวุยก๊กมีความสามารถจะพิชิตจ๊กก๊กได้ จงโฮยจึงได้ช่วยสุมาเจียวในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อการพิชิตจ๊กก๊ก[15]
สุมาเจียวจัดทำประกาศถึงราชสำนักวุยก๊กความว่า:
"นับตั้งแต่กบฏหลายครั้งในฉิวฉุน เราก็ไม่ได้ยกทัพไปทำศึกเป็นเวลา 6 ปีแล้ว เราได้ฝึกฝนทหารและซ่อมแซมชุดเกราะ เพื่อที่เราจะได้กำจัดรัฐป่าเถื่อนทั้งสองลงได้ หากเราวางแผนพิชิตง่อ ข้าพระพุทธเจ้าประมาณการว่ากระบวนการสร้างเรือและเปิดเส้นทางน้ำจะใช้กำลังทหารมากกว่า 1,000 กองพล กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราจะต้องใช้แรงงาน 100,000 นายเพื่อทำงานในช่วงเวลามากกว่า 100 วัน นอกจากนี้แดนใต้ยังมีอากาศชื้น กำลังพลของเราจะตกเป็นเหยื่อของโรคระบาดเป็นแน่ ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นว่าเราควรพิชิตจ๊กก่อน สามปีหลังจากนั้นเราจึงสามารถใช้ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของจ๊กในการส่งทัพเรือลงไปตามแม่น้ำเพื่อโจมตีง่อ ขณะเดียวก็ก็ส่งทัพเข้าบุกง่อทางบก การจะง่ายเหมือนกับที่รัฐจิ้น (晉) พิชิตรัฐหงี (虞 ยฺหวี) และรัฐเค็ก (虢 กั๋ว) กับรัฐจิ๋น (秦 ฉิน) กำจัดรัฐหัน (韓 หาน) และรัฐงุย (魏 เผย์) จากการประมาณการของเรา จ๊กมีทหารเข้มแข็ง 90,000 นาย ซึ่งมากกว่า 40,000 นายอยู่รักษาเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) และเมืองชั้นใน นั่นหมายความว่ามีกำลังพลน้อยกว่า 50,000 นายในที่อื่น ๆ บัดนี้เราสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของเกียงอุยที่ท่าจงทำให้เกียงอุยไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ทางตะวันออก จากนั้นเราก็สามารถส่งทัพผ่านหุบเขาล่อก๊ก (駱谷 ลั่วกู่) ที่มีการป้องกันน้อยที่สุด เพื่อเข้ายึดเมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) หากทัพจ๊กยังอยู่ในป้อมและด่าน ก็จะโดดเดี่ยวจากกองกำลังอื่น ๆ เราสามารถส่งทัพใหญ่เข้ายึดเมือง และส่งกองกำลังแยกที่ขนาดย่อมลงเข้ายึดอำเภอและหมู่บ้าน เมื่อถึงเวลานั้น ข้าศึกก็ไม่มีเวลาและกำลังคนเพียงพอที่จะรักษาด่านเกียมโก๊ะ (劍閣 เจี้ยนเก๋อ) และด่านเองเปงก๋วน (陽平關 หยางผิงกวาน) เมื่อถึงจุดนั้น ด้วยความไร้ความสามารถในฐานะผู้ปกครองของเล่าเสี้ยน ด้วยการป้องกันบริเวณชายแดนของจ๊กก๊กที่พังทลาย และด้วยราษฎรที่สั่นเทิ้มด้วยความกลัว การล่มสลายของจ๊กก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้"[5]
เตงงายขุนพลวุยก๊ผู้เคยนำทัพวุยก๊กในการต้านการบุกของจ๊กก๊กตามแนวชายระหว่างวุยก๊กและจ๊กก๊กหลายครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 255[f] ทัดทานการยกทัพบุกจ๊กก๊กอย่างหนักแน่น สุมาเจียวกังวลว่าเตงงายจะกระตุ้นคนอื่น ๆ ให้คัดค้านการทำศึกเช่นกัน จึงตั้งให้สุเมา (師纂 ชือ จฺว่าน) นายทะเบียนของสุมาเจียวให้เป็นนายกองพันในสังกัดของเตงงาย และสั่งให้สุเมา "โน้มน้าว" เตงงาย เตงงานจึงเปลี่ยนใจมาสนับสนุนการทำศึก[16]
การบุกจ๊กก๊กแบบสามทางของวุยก๊ก
[แก้]ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 262 สุมาเจียวแต่งตั้งให้จงโฮยเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西將軍 เจิ้นซีเจียงจฺวิน) และมอบอาญาสิทธิ์ในการกำกับดูแลราชการทหารในภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง) ราชสำนักวุยก๊กยังได้ระดมกำลังทหารประมาณ 180,000 นายจากมณฑลต่าง ๆ ทั่ววุยก๊กเพื่อเตรียมการบุกจ๊กก๊ก ในเวลาเดียวกัน ราชสำนักวุยก๊กยังมอบหมายให้ต๋องจูรับผิดชอบกำกับดูแลการสร้างเรือรบเพื่อเตรียมสำหรับการบุกง่อก๊กที่เป็นอีกรัฐอริของวุยก๊กในอนาคต[17][18]
ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 263 ราชสำนักวุยก๊กออกพระราชโองการกำหนดการบุกจ๊กก๊กแบบสามทาง:
- เตงงายจะนำกำลังพล 30,000 นายผ่านกานซง (甘松; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเตี๋ยปู้ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อโจมตีที่มั่นของเกียงอุยที่ท่าจง (沓中; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน)
- จูกัดสูจะนำกำลังพล 30,000 นายไปยังสะพานอู่เจีย (武街橋 อู่เจียเฉียว; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเหวิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อสกัดทางถอยของเกียงอุย
- จงโฮยจะนำกำลังพลมากกว่า 100,000 นายเข้าโจมตีจ๊กก๊กผ่านหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่; ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเหมย์ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)
- ผู้ใต้บังคับบัญชาของจงโฮยคือลิจู (李輔 หลี ฝู่) และเฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย) จะนำกองกำลังแยกผ่านหุบเขาล่อก๊ก (駱谷 ลั่วกู่; ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอโจวจื้อ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)[3][18]
- ราชสำนักวุยก๊กมอบหมายให้อุยก๋วนให้กำกับดูแลปฏิบัติการทางทหารของจงโฮยและเตงงาย อุยก๋วนยังดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการตุลาการทัพในสังกัดของจงโฮย และบัญชากำลังพล 1,000 นาย[19]
การวางกลยุทธ์ของจ๊กก๊ก
[แก้]การเปลี่ยนแปลงแนวป้องกันของจ๊กก๊กที่ฮันต๋ง
[แก้]ก่อนหน้านี้เมื่ออุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กก๊กเข้าทำหน้าที่ป้องกันเมืองฮันต๋งเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 219[20] อุยเอี๋ยนยืมแนวคิดเรื่อง "ประตูคู่" จากคัมภีร์อี้จิง (易經) และจัดกำลังพลติดอาวุธหนักที่ค่ายที่เชื่อมกันกันบริเวณชานเมืองและทางออกของเส้นทางที่มุ่งมาสู่ฮันต๋ง ค่ายเหล่านี้มีไว้เพื่อสกัดและยับยั้งกำลังทหารใด ๆ ที่บุกเข้ามา[21] ในช่วงยุทธการที่ซิงชื่อ (興勢) ในปี ค.ศ. 244 อองเป๋งขุนพลจ๊กก๊กใช้ยุทธวิธีเดียวกันนี้ในการป้องกันฮันต๋งจากการบุกของวุยก๊กที่นำโดยโจซอง[22]
เกียงอุยชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องค่ายที่เชื่อมต่อกันของอุยเอี๋ยนมีประโยชน์สำหรับการป้องกันเท่านั้นและไม่ทำให้มีข้อได้เปรียบเพิ่มเติม[23] เกียงอุยเสนอให้ยกเลิกค่ายเหล่านี้และโยกย้ายกำลังพลและทรัพยากรทั้งหมดไปยังป้อมปราการ 2 แห่งที่อำเภอฮั่นเสีย (漢城 ฮั่นเฉิง; อยู่ทางตะวันออกของอำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และก๊กเสีย (樂城 เล่อเฉิง; อยู่ทางตะวันออกของอำเภอเฉิงกู้ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) ซึ่งทำให้ครอบคลุมการเข้าถึงที่ราบฮันต๋ง แนวคิดคือการลวงให้ข้าศึกโจมตีป้อมปราการ ขยายเส้นทางส่งเสบียง และทำให้ข้าศึกอ่อนกำลังลงด้วยการโจมตีแบบกองโจร เมื่อข้าศึกตัดสินใจล่าถอย กองกำลังป้องกันก็จะใช้โอกาสนี้โจมตีโต้กลับและเอาชนะ[24]
ในปี ค.ศ. 258[13] เกียงอุยสั่งให้เอาเจ้ (胡濟 หู จี้), เจียวปิน (蔣斌 เจี่ยง ปิน) และอองหำ (王含 หวาง หาน) ซึ่งดูแลแนวป้องกันของฮันต๋ง ให้รื้อค่ายที่เชื่อมต่อกัน และโยกย้ายกำลังพลกับทรัพยากรไปยังอำเภอเซียวเส (漢壽 ฮั่นโช่ว; ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน), ฮั่นเสีย และก๊กเสียตามลำดับ เกียงอุยยังสั่งให้เสริมโครงสร้างป้องกันในสถานที่ต่าง ๆ รอบเมืองฮันต๋ง ได้แก่ ซีอาน (西安), เจี้ยนเวย์ (建威), อู่เว่ย์ (武衛), ฉือเหมิน (石門), อู่เฉิง (武城), เจี้ยนชาง (建昌) และหลิน-ยฺเหวี่ยน (臨遠)[25]
คำเตือนล่วงหน้าของเกียงอุย
[แก้]ในช่วงต้นปี ค.ศ. 263 เกียงอุยเขียนฎีกาถึงเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กมีความดังนี้:
"ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินว่าจงโฮยกำลังระดมทหารในกวนต๋ง และดูท่าจะเตรียมการเพื่อจะเปิดการบุก เพื่อเป็นการป้องกัน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าเราควรส่งเตียวเอ๊กและเลียวฮัวให้นำทัพไปป้องกันด่านเองเปงก๋วนและสะพานที่อิมเป๋ง"[26]
ฮุยโฮขันทีคนสนิทคนหนึ่งของเล่าเสี้ยนเป็นผู้เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ เชื่อคำทำนายของหมอดูว่าวุยก๊กจะไม่บุกจ๊กก๊ก จึงทูลแนะนำจักรพรรดิเล่าเสี้ยนให้เพิกเฉยต่อฎีกาของเกียงอุย และไม่นำความไปหารือในราชสำนัก[27]
โหมโรง
[แก้]ในระหว่างวันที่ 20 กันยายนถึง 19 ตุลาคม ค.ศ. 263[a] กำลังทหารวุยก๊กที่ระดมพลเพื่อทำศึกได้มารวมตัวกันที่ลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก และพร้อมที่จะยกพล ก่อนที่จะยกไป ราชสำนักวุยก๊กได้เลื่อนขั้นและมอบรางวัล และจัดการซ้อมรบเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจ ในช่วงเวลานี้ เติ้ง ตุน (鄧敦) ขุนนางวุยก๊กกล่าวว่าจ๊กก๊กไม่สามารถพิชิตได้ สุมาเจียวจึงสั่งให้ประหารชีวิตเติ้ง ตุนเป็นการเตือนคนอื่น ๆ ไม่ให้พูดจาเกี่ยวกับการทัพในทางไม่ดี[28]
จงโฮยได้สั่งให้เคาหงี (許儀 สฺวี่ อี๋) บุตรชายของเคาทูขุนพลผ่านศึกของวุยก๊ก ให้กำกับดูแลการก่อสร้างถนนที่นำไปสู่จ๊กก๊ก แต่ถนนสายนั้นสร้างได้ไม่ดี จงโฮยก็ไม่สนใจภูมิหลังของเคาหงีและสั่งให้ประหารชีวิตเคาหงีฐานที่ทำภารกิจล้มเหลว เหล่าทหารวุยก๊กต่างตกตะลึงที่จงโฮยกล้ากระทำเช่นนี้[29]
การเสริมกำลังของวุยก๊ก
[แก้]ในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคมถึง 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 263[g] สุมาเจียวสั่งให้เจ้าเมืองของสามเมืองนำกำลังทหารประจำการของตนเข้าร่วมในการศึก ได้แก่ อองกิ๋น (王頎 หวาง ฉี) นำกำลังพลจากเมืองเทียนซุย (天水郡 เทียนฉุ่ยจฺวิ้น) ไปโจมตีค่ายของเกียงอุย คันห่อง (牽弘 เชียน หง) นำกำลังพลจากเมืองหลงเส (隴西郡 หล่งซีจฺวิ้น) และเปิดฉากโจมตีด้านหน้าที่มั่นของเกียงอุย และเอียวหัว (楊欣 หยาง ซิน) นำกำลังพลจากเมืองกิมเสีย (金城郡 จินเฉิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภอยฺหวีจง มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ไปโจมตีกานซง[30]
หลิว ชิน (劉欽) ก็นำกำลังพลจากเมืองเว่ย์ซิง (魏興郡 เว่ย์ซิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครอานคาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เพื่อโจมตีเมืองฮันต๋งผ่านหุบเขาจูงอก๊ก (子午谷 จื๋ออู๋กู่; ทางตะวันออกของอำเภอหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)[31]
การตอบสนองต่อการรุกรานของวุยก๊กโดยจ๊กก๊ก
[แก้]หลังได้รับข่าวการบุกของวยก๊ก ราชสำนักจ๊กก๊กจึงสั่งให้เลียวฮัวนำกำลังเสริมไปหนุนช่วยเกียงอุยที่ท่าจง ในเวลาเดียวกันก็ส่งเตียวเอ๊ก ตังควด และคนอื่น ๆ นำกำลังพลไปยังด่านเองเปงก๋วน (陽平關 หยางผิงกวาน) หรือหยางอานกวาน (陽安關; อยู่ในอำเภอหนิงเฉียง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และช่วยเหลือทัพจ๊กก๊กในการป้องกันปริมณฑลภายนอก[32]
เมื่อกำลังเสริมของจ๊กก๊กยกมาถึงอิมเป๋ง (陰平 อินผิง; ปัจจุบันคืออำเภอเหวิน มณฑลกานซู่) ก็ได้ยินว่าทัพวุยก๊กที่นำโดยจูกัดสูเข้าโจมตีเจี้ยนเวย์ (建威; ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขตอู่ตู นครหล่งหนาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) จึงหยุดการเดินทัพที่อิมเป๋ง[33]
ปีกด้านตะวันออก
[แก้]ก๊กเสียและฮั่นเสีย
[แก้]ประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 263 หลังจากทัพของจงโฮยผ่านหุบเขาเสียดก๊กและล่อก๊ก จงโอยสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคือลิจูและซุนไค (荀愷 สฺวิน ข่าย) ให้นำกองกำลังแยกคนละ 10,000 นายเข้าโจมตีก๊กเสียและฮั่นเสียตามลำดับ[34][35] ในเวลานั้น ก๊กเสียและฮั่นเสียมีผู้รักษาคือนายทหารของจ๊กก๊กอองหำ (王含 หวาง หาน) และเจียวปิน (蔣斌 เจี่ยง ปิน) ตามลำดับ โดยมีทหารใต้บังคับบัญชาคนละ 5,000 นาย[36]
ในช่วงเวลานั้น จงโฮยเขียนจดหมายถึงเจียวปินเพื่อถามที่ตั้งของหลุมศพของเจียวอ้วนบิดาของเจียวปิน เจียวปินเขียนจดหมายตอบกลับอย่างสุภาพและบอกจงโฮยว่าหลุมศพของบิดาอยู่ที่อำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน) จงโฮยส่งคนเป็นตัวแทนตนไปเคารพหลุมศพของจูกัดเหลียงที่เขาเตงกุนสัน (定軍山 ติ้งจฺวินชาน)[37] ภายหลังเมื่อจงโฮยไปถึงอำเภอโปยเสียก็เข้าเยี่ยมหลุมศพของเจียวอ้วน[38]
อองหำและเจียงปินสามารถตั้งมั่นรักษาที่มั่นของแต่ละคนที่ก๊กเสียและฮั่นเสียตามลำดับ หลังจงโฮยไม่สามารถยึดป้อมปราการทั้งสองได้ จงโฮยจึงนำทัพเลี่ยงป้อมปราการทั้งสองและเคลื่อนพลไปยังด่านเองเปงก๋วน (陽平關 หยางผิงกวาน) หรือหยางอานกวาน (陽安關; อยู่ในอำเภอหนิงเฉียง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)[39] ชะตากรรมในท้ายที่สุดของอองหำไม่มีการระบุไว้ ในขณะที่มีบันทึกว่าหลังการล่มสลายของจ๊กก๊ก เจียวปินยอมจำนนต่อจงโฮยที่อำเภอโปยเสียและกลายเป็นมิตรกันกับจงโฮย[40]
ด่านเองเปงก๋วน
[แก้]ในขณะที่จงโฮยกำลังบัญชาการการโจมตีก๊กเสียและฮั่นเสีย ก็สั่งให้เฮาเหลกนำทัพหน้าเข้าโจมตีด่านเองเปงก๋วนและเข้ายึดคลังเสบียงและคลังแสงของด่าน[41]
ปอเฉียมขุนพลจ๊กก๊กเป็นผู้รักษาด่านเองเองก๋วน ผู้ใต้บังคับบัญชาของปอเฉียมชื่อเจียวสี (蔣舒 เจี่ยง ชู) เคยดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพพื้นที่ของอำเภออู่ซิง (武興縣 อู่ซิงเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเลฺว่หยาง มณฑลฉ่านซี) แต่เพราะเจียวสีขาดความสามารถจึงถูกปลดจากตำแหน่งแล้วย้ายไปประจำการที่ด่านเองเปงก๋วน เป็นผลทำให้เจียวสีรู้สึกแค้นราชสำนักจ๊กก๊กและแอบต้องการแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ก[42]
เจียวสีเริ่มจากพยายามโน้มน้าวปอเฉียมให้นำกำลังทหารออกจากด่านเองเปงก๋วนเข้ารบกับข้าศึก แต่ปอเฉียมปฏิเสธเพราะเห็นว่าเสี่ยงเกินไป เจียวสีจึงพูดปดต่อปอเฉียมว่าตนจะยกออกไปรบกับข้าศึก ส่วนปอเฉียมให้คงอยู่รักษาด่าน หลังจากปอเฉียมเห็นด้วย เจียวสีจึงนำกำลังพลออกจากด่านเองเปงก๋วนไปยังอิมเป๋ง แล้วเข้าสวามิภักดิ์ต่อเฮาเหลก เฮาเหลกเห็นว่าการป้องกันของด่านเองเปงก๋วนอ่อนแอลงหลังการแปรพักตร์ของเจียวสี จึงนำกำลังพลเข้าโจมตีด่านและยึดด่านพร้อมด้วยทรัพยากรในด่านได้สำเร็จ ปอเฉียมต่อสู้เพื่อต้านทานข้าศึกอย่างกล้าหาญ แต่ในที่สุดก็เสียชีวิจในที่รบ ทหารวุยก๊กประทับใจในวีรกรรมของปอเฉียม[43][44]
ปีกด้านตะวันตก
[แก้]จากท่าจงถึงอิมเป๋ง
[แก้]ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 263 หนึ่งเดือนหลังยุทธการที่ท่าจง เตงงายเอาชนะเกียงอุยในยุทธการและทำให้เกียงอุยจำต้องล่าถอยไปยังอิมเป๋ง[45] หลังเกียงอุยได้รับข่าวว่าทัพของจงโอยยึดได้ด่านเองเปงก๋วนและเข้าครองเมืองฮันต๋งแล้ว เกียงอุยจึงพยายามล่าถอยไปยังไป๋ฉุ่ย (白水; อยู่ในอำเภอชิงชฺวาน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน)[46] แต่เอียวหัวยกไล่ตามตีและเอาชนะเกียงอุยได้ที่เฉียงชฺวานโข่ว (彊川口; จุดบรรจบของแม่น้ำไป๋หลงและแม่น้ำเจียงหลิง) ใกล้กับอิมเป๋ง[47][48]
เมื่อเกียงอุยทราบว่าจูกัดสูสกัดทางถอยของตนที่สะพานอู่เจียใกล้กับอิมเป๋ง เกียงอุยจงนำกำลังพลที่เหลือผ่านหุบเขาข่งหาน (孔函谷 ข่งหานกู่; ทางใต้ของเขตซีกู้ นครหลานโจว มณฑลกานซู่) ไปยังถนนทางเหนือเพื่อพยายามเลี่ยงที่ตั้งมั่นของจูกัดสู เมื่อจูกัดสูทราบเรื่องนี้จึงล่าถอยไป 30 ลี้ ในเวลานั้นเกียงอุยนำกำลังพลเดินทางไปประมาณ 30 ลี้บนถนนทางเหนือ เมื่อได้ยินว่าจูกัดสูยกเลิกการปิดกั้นสะพานแล้ว เกียงอุยจึงสั่งกำลังพลให้หันกลับและยกข้ามสะพานไปอย่างรวดเร็ว จูกัดสูพยายามหันกลับมาจะสกัดเกียงอุยอีกครั้งแต่มาถึงสะพานช้าไปหนึ่งวัน หลังจากเกียงอุยข้ามสะพานไปแล้วก็เคลื่อนพลไปยังด่านเกียมโก๊ะ (劍閣 เจี้ยนเก๋อ; อยู่ในอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นด่านภูเขาและรักษาการณ์อยู่ที่นั่น[49]
การป้องกันของจ๊กก๊กที่เกียมโก๊ะ
[แก้]เมื่อกองกำลังเสริมที่นำโดยเตียวเอ๊กและตังควดมาถึงอำเภอเซียวเส เกียงอุยและเลียวฮัวตัดสินใจทิ้งที่มั่นที่อิมเป๋ง แล้วสมทบกับเตียวเอ๊กและตังควดที่เกียมโก๊ะ[50][51]
ในช่วงเวลานั้น จงโฮยเปิดฉากโจมตีเกียมโก๊ะหลายครั้งแต่ไม่สามารถฝ่าการป้องกันของด่านเกียมโก๊ะได้[52] จากนั้นจงโฮยจึงเขียนจดหมายถึงเกียงอุยเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ยอมจำนน:
"ท่านเป็นผู้มีความสามารถทั้งราชการพลเรือนและราชการทหาร ท่านมีความเฉียบแหลมในยุทธวิธีอย่างยิ่ง และชื่อเสียงของตนก็เป็นที่รู้จักกันดีตลอดภูมิภาคปาจ๊กและที่อื่น ๆ ในแผ่นดิน ผู้คนทั้งใกล้และไกลต่างชื่นชมท่าน ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าทบทวนประวัติศาสร์ ก็หวังว่าเราจะได้ร่วมรับใช้ราชวงศ์เดียวกัน ความสัมพันธ์ของเราเปรียบได้กับมิตรภาพระหว่างจี้จ๋า (季札) และจื๋อฉ่าน (子產)"[53]
เกียงอุยไม่ได้ตอบจดหมายของจงโฮย และสั่งกำลังพลให้เสริมการป้องกันเกียมโก๊ะ[54] จงโฮยยังเขียนหนังสือขนาดยาวถึงทัพจ๊กก๊กเพื่อโน้มน้าวให้ยอมจำนน ความว่า:
"ในอดีตเมื่อราชวงศ์ฮั่นเสื่อมถอย แผ่นดินแตกแยกและราษฎรต้องทุกข์ยากแสนสาหัส ไทล่อฮูฮ่องเต้ (太祖武皇帝 ไทจู๋อู่หฺวางตี้; หมายถึงโจโฉ) ทรงใช้พระอัจฉริยภาพทางการทหารที่สวรรค์ประทานให้ในการนำระเบียบมาจัดการความโกลาหล ช่วยเหลือราษฎรจากควาททุกข์ยาก ฟื้นฟูสันติและความมั่นคงแก่แผ่นดิน เกาจู่เหวินหฺวางตี้ (高祖文皇帝; หมายถึงโจผี) ทรงสานต่อพระปณิธานและสร้างความสำเร็จยิ่งใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์ ภายนอกชายแดนของเรา มีผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองที่แตกต่างและมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา และคนเหล่านี้ยังไม่ได้รับพระคุณและพระเมตตาของแผ่นดินเรา จักรพรรดิทั้งสามพระองค์ก่อนหน้าทรงเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง จักรพรรดิองค์ปัจจุบัน (โจฮวน) มีพระทัยที่เอื้อเฟื้อและมีพระประสงค์จะสืบต่อพระปณิธานของบรรพชน ข้าราชบริพารของพระองค์รับใช้ด้วยความจงรักภักดีสูงสุด ทำอย่างเต็มกำลังเพื่อรับใช้ราชวงศ์ รักษาระเบียบและความมั่นคงในราชสำนัก นำสันติและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ราษฎร นั่นคือเหตุผลที่แผ่นดินของเรามีการปกครองที่ดี เมื่อเราแสดงความเมตตาต่อชนกลุ่มน้อย คนเหล่านั้นก็เต็มใจที่จะยอมจำนนต่อการปกครองของเรา ราษฎรในจ๊กแตกต่างอะไรจากราษฎรที่อื่น ๆ เล่า น่าเสียดายที่ราษฏรจ๊กต้องถูกผูกมัดกับภาระจำยอมตลอดชีวิต ทัพของเราได้รับภารกิจให้กระทำตามเจตจำนงแห่งฟ้าและลงโทษผู้ต่อต้านราชวงศ์ ขุนพลโจมตีภาคตะวันตก (เตงงาย), ข้าหลวงมณฑลยงจิ๋ว (จูกัดสู) และขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตกกำลัวนำห้าทัพมาในภารกิจนี้ กองทัพในยุคโบราณไปทำศึกในนามของความชอบธรรมและความเมตตา ทัพของผู้ปกครองควรเอาทางชนะใจของราษฎรแทนที่จะเพียงแค่ต่อสู้ งีซุ่น (虞舜 ยฺหวีชุ่น) ปกครองด้วยความเมตตาเพื่อพิชิตชนเผ่าเหมียว (苗) เมื่อครั้งจิวบูอ๋อง (周武王 โจวอู่หวาง) โค่นล้มราชวงศ์เซียง (商 ชาง) พระองค์เปิดพระคลังและแจกจ่ายทรัพย์สมบัติให้กับราษฎร และให้เกียรติข้าราชการมีคุณธรรมที่เคยรับใช้ราชวงศ์เซียง ในกาลนี้ ขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตกยกมาทำศึกไม่ใช่เพื่อแสวงหาความรุ่งโรจน์ให้กับตนเองและราชวงศ์ แต่แท้จริงแล้วต้องการช่วยเหลือราษฎรจากความทุกข์ยาก ขออธิบายสถานการณ์เลวร้ายที่พวกท่านกำลังเผชิญอยู่ และหวังว่าพวกท่านจะรับฟังคำแนะนำที่จริงใจ[55] เจ้านายคนก่อนของมณฑลเอ๊กจิ๋วมีความทะเยอทะยานยิ่งใหญ่เมื่อสร้างกองทัพขึ้นจากศูนย์ เมื่อพ่ายแพ้ในมณฑลกิจิ๋วและชีจิ๋ว กับถูกคุกคามโดยอ้วนเสี้ยวและลิโป้ จักรพรรดิฮูฮ่องเต้ของเราก็มาช่วยเหลือและพัฒนาความเป็นพันธมิตรด้วยเขา แต่ภายหลังเขากลับทรยศต่อจักรพรรดิฮูฮ่องเต้และไม่มีความเชื่อเดียวกันอีกต่อไป ขณะที่จูกัดขงเบ้งปกครองจ๊กเป็นอย่างดีและรักษาชายแดนไว้ เจียง ปั๋วเยฺว[h] (姜伯約) กลับเอาแต่ทำศึกคุกคามชายแดนของเรา และสร้างอันตรายให้กับชนเผ่าเกี๋ยง (羌 เชียง) และตี (氐) ในเวลานั้นขณะที่เรากำลังยุ่งกับเรื่องอื่น เราไม่มีเวลาที่จะจัดการกับการรุกรานของเกียงอุย บัดนี้เมื่อชายแดนของเราสงบและแผ่นดินมั่นคงแล้ว เราจึงตัดสินใจระดมทัพและรอคอยโอกาสที่จะเปิดฉากการโจมตีโต้ตอบเต็มกำลัง จ๊กระดมกำลังทหารได้จากเพียงมณฑลเดียวและกระจายกำลังป้องกันโดยรอบ จึงไม่มีทางจะสู้กับทัพหลวงของเราได้ ทัพจ๊กประสบความพ่ายแพ้ยับเยินที่ตวนโกะ (段谷 ตฺว้านกู่) และเฮาโห (侯和 โหวเหอ) ไม่อาจหวังจะต้านทานกำลังของทัพเราได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จ๊กไม่เคยสงบสุขเลยเนื่องจากอยู่ในภาวะสงครามอย่างต่อเนื่อง และชาวจ๊กก็เหนื่อยล้าเต็มที จ๊กจะหวังที่จะต้านทานทัพที่รวมเป็นหนึ่งด้วยจิตวิญญาณและเจตนารมณ์ได้อย่างไร พวกท่านก็เห็นอยู่แล้ว ในอดีต เฉิน จวาง (陳莊) อัครมหาเสนาบดีของรัฐจ๊ก (蜀 ฉู่) ถูกรัฐจิ๋น (秦 ฉิน) จับตัวได้ ส่วนกองซุนสุด (公孫述 กงซุน ชู่) ถูกงอฮั่น (吳漢 อู๋ ฮั่น) สังหาร อย่างที่พวกท่านเห็นได้ ไม่มีอำนาจใดจะยึดครองและปกครองมณฑใด ๆ ในเก้ามณฑลได้เป็นเวลานาน พวกท่านคงเคยได้ยินมาว่าคนฉลาดสามารถคาดการณ์อันตรายและคนมีปัญญาสามารถหลีกเลี่ยงภัยพิบัติ นั่นคือการที่เวยจื่อ (微子) ตีจากราชวงศ์เซียงและกลายเป็นแขกของจิว (周 โจว) และคือการที่ตันแผง (陳平 เฉิน ผิง) ตีจากห้างอี๋ (項羽 เซี่ยง ยฺหวี่) ไปรับใช้ราชวงศ์ฮั่น และสร้างความสำเร็จใหญ่หลวงในภายหลัง ความปรารถนาของพวกท่านที่จะแสวงหาความสงบสุขชั่วคราวนั้นก็เปรียบเหมือนการกินยาพิษที่ออกฤทธิ์ช้า พวกท่านคิดไม่ได้เลยหรือที่จะทำอะไรบางอย่างที่ดีไปกว่าการจำกัดตัวเองกับการรับใช้จ๊ก จักรวรรดิของเราเต็มใจที่ไว้ชีวิตศัตรูของเรา และพวกผู้นำของเราก็เต็มใจที่จะแสดงความเมตตา ผู้ใดที่ยอมจำนนต่อเราก่อนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเอื้อเฟื้อ ผู้ที่ยอมจำนนต่อเราทีหลังจะไม่ได้รับการไว้ชีวิต เมื่อขุนพลง่อซุน อี (孫壹) ยอมจำนนต่อเรา ก็ได้รับการเลื่อนขั้นและได้รับบำเหน็จ บุนขิมและต๋องจูทรยศเราและเข้าร่วมกับข้าศึก ท้ายที่สุดเมื่อต๋องจูถูกจับ และบุตรชายสองคนของบุนขิมยอมจำนนต่อเรา เรายังคงปฏิบัติต่อพวกเขาเป็นอย่างดีโดยการมอบตำแหน่งและแต่งตั้งให้เป็นขุนพล ต๋องจูยังมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในราชการระดับสูง จักรพรรดิยังโปรดซุน อีอย่างสูง จ๊กมีผู้มีความสามารถและคุณธรรมจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงยินดีต้อนรับด้วยอ้อมแขนที่เปิดกว้าง หากพวกท่านสามารถประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบและตัดสินใจดำเนินรอยตามเวยจื่อและตันแผง เราก็ยินดีที่จะปฏิบัติต่อพวกท่านและลูกหลานของพวกท่านเป็นอย่างดี ลองนึกดูว่าจะดีมากเพียงใดที่ทุกคนในแผ่นดินอยู่อย่างสันติและกลมเกลียว ชาวนาทำงานในนา ตลาดคึกคักด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ไม่มีอันตรายใด ๆ มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองสำหรับทุกคน หากพวกท่านยังคงแสวงหาความสงบชั่วคราวและปฏิเสธที่แก้ไขทางของตน ก็อาจจะสายเกินไปที่จะเสียใจเมื่อยามที่ทัพของเราทำลายจ๊ก โปรดพิจารณาทางเลือกของพวกท่านอย่างรอบคอบและตัดสินใจทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อตัวของพวกท่านเอง พวกท่านควรแจ้งให้คนอื่น ๆ ได้ทราบและให้ทุกคนทราบถึงเจตนาของเราด้วย"[56]
เมื่อเสบียงอาหารของกองทัพพร่องลง จงโฮยตคิดจะที่ยกเลิกการยึดเกียมโก๊ะและล่าถอย[57]
จงโฮยยึดอำนาจบัญชากำลังทหารของจูกัดสู
[แก้]เมื่อเตงงายขอให้จูกัดสูมาร่วมกับตนในการเคลื่อนพลผ่านเส้นทางเบี่ยงเพื่อเลี่ยงเกียมโก๊ะไป จูกัดสูปฏิเสธเพราะตนไม่ได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้น จากนั้นจูกัดสูจึงนำกำลังพลของตนไปยังไป๋ฉุ่ยเพื่อสมทบกับจงโฮยและร่วมกันโจมตีเกียงอุยที่เกียมโก๊ะ จงโฮยต้องการเข้าบัญชาการกำลังทหารของจูกัดสู จึงลอบรายงานไปยังราชสำนักวุยก๊กว่าจูกัดสูแสดงความขี้ขลาดระหว่างการศึก เป็นผลทำให้จูกัดสูถูกปลดจากอำนาจบัญชาการทหารและถูกจับใส่รถนักโทษส่งตัวกลับลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก[58]
เส้นทางเบี่ยงของเตงงาย
[แก้]ระหว่างที่เตงงายอยู่ที่อิมเป๋ง เตงงายได้เสนอความคิดที่จะใช้ทางลัดผ่านหมู่บ้านเต๊กหยง (德陽 เต๋อหยาง) ไปยังอำเภอโปยเสีย ซึ่งจะนำไปยังพื้นที่ที่ห่างไปประมาณ 100 ลี้ ทางตะวันตกของเกียมโก๊ะ และประมาณ 300 ลี้ จากเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก ความคิดของเตงงายคือการลวงให้เกียงอุยส่งกำลังเสริมจากเกียมโก๊ะไปยังอำเภอโปยเสียและทำให้การป้องกันของเกียมโก๊ะอ่อนกำลังลง หากเกียงอุยไม่ส่งกำลังเสริมไป โปยเสียก็จะโดดเดี่ยวและพิชิตได้โดยง่าย[59]
จงโฮยเห็นด้วยกับความคิดของเตงงายและสั่งให้เถียน จาง (田章) ผู้ใต้บังคับบัญชาของคนให้เข้าร่วมกับเตงงายในการเดินทัพ ในช่วงระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายนและ 17 ธันวาคม ค.ศ. 263[i] เตงงายนำกองกำลังจู่โจมจากอิมเป๋งผ่านทางลัด โดยเลี่ยงไปทางตะวันตกของเกียมโก๊ะและมุ่งหน้าตรงไปยังอิวกั๋ง (江油 เจียงโหยว) ทางลัดครอบคลุมระยะทางมากกว่า 700 ลี้ และตัดข้ามภูมิประเทศที่เป็นภูเขา เตงงายและทหารต้องสร้างสะพานหลายแห่งตลอดทาง ภูเขาสูงและหุบเขาลึกทำให้การเดินทัพมีความอันตรายอย่างมาก หลังจากนั้นไม่นาน เตงงายและทหารก็ทิ้งห่างจากกองลำเลียงเสบียง เตงงงายใช้สักหลาดผืนใหญ่ห่อร่างกายตนเองแล้วกลิ้งลงจากภูเขา ทหารของเตงงายปีนต้นไม้และไต่หน้าผาลงมาเป็นแถว[60] ระหว่างทางเตงงายและทหารปะทะกับกองกำลังซุ่ม 3 กองของจ๊กก๊ก เตงงายเข้าโจมตีกองซุ่มจนแตกพ่ายและเข้าทำลายค่ายของกองซุ่มเหล่านี้ เตงงายให้เถียน จางนำกองหน้าไปแผ้วถางเส้นทาง[61] เตงงายและกองหน้าไปปรากฏที่อิวกั๋ง ม้าเชียว (馬邈 หมา เหมี่ยว) เจ้าเมืองอิวกั๋งที่จ๊กก๊กแต่งตั้งยอมจำนนต่อเตงงาย[62]
ยุทธการที่กิมก๊ก
[แก้]หลังยึดได้อิวกั๋ง เตงงายนำพลรุดหน้าไปยังอำเภอโปยเสียและเผชิญกับการต้านทานจากทัพจ๊กก๊กที่นำโดยจูกัดเจี๋ยม ผู้ใต้บังคับบัญชาของจูกัดเจี๋ยมชื่อหฺวาง ฉง (黃崇) โน้มน้าวจูกัดเจี๋ยทให้เข้ายึดครองพื้นที่ภูเขาโดยรอบอำเภอโปยเสียและใช้ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการหยุดยั้งทัพวุยก๊กจากการเข้าพื้นที่ราบ เมื่อจูกัดเจี๋ยมลังเล หฺวาง ฉงก็ร้องไห้ขอให้จูกัดเจี๋ยมกระทำตามที่เสนอหลายครั้ง[63]
จากนั้นจูกัดเจี๋ยมจึงสั่งทัพหน้าให้เข้าโจมตีเตงงายที่อำเภอโปยเสียแต่ทัพหน้าก็พ่ายแพ้ในการรบ จูกัดเจี๋ยมและกำลังพลที่เหลือจึงล่าถอยไปยังกิมก๊ก (綿竹 เหมียนจู๋) ต่อมาไม่นานที่กิมก๊ก จูกัดเจี๋ยมได้รับจดหมายจากเตงงายที่ขอให้จูกัดเจี๋ยมยอมจำนน จูกัดเจี๋ยมโกรธมากจึงสั่งประหารชีวิตคนนำสารที่นำจดหมายมาส่ง[64] แล้วสั่งกำลังพลให้จัดกระบวนทัพนอกกิมก๊กและนอกเข้าต่อสู้กับข้าศึก
เตงงายสั่งให้เตงต๋ง (鄧忠 เติ้ง จง) บุตรชาย และสุเมา (師纂 ชือ จฺว่าน) ผู้ใต้บังคับบัญชา ให้แต่ละคนนำกองกำลังแยกตีกระหนาบจูกัดเจี๋ยมจากด้านขวาและด้านซ้ายตามลำดับ ทั้งสองตีกระบวนทัพของจ๊กก๊กไม่สำเร็จ จึงกลับมาหาเตงงายและบอกกับเตงงายว่า "ไม่อาจเอาชนะข้าศึกได้" เตงงายตอบด้วยความโกรธว่า "ศึกนี้จะกำหนดว่าเราจะอยู่หรือตาย ที่พวกเจ้าพูดว่าไม่อาจเอาชนะข้าศึกนั้นหมายความว่าอย่างไร" เตงงายขู่จะประหารชีวิตทั้งสองฐานที่ขี้ขลาด ทั้งสองจึงรีบหันกลับไปและนำพลเข้าโจมตีอีกครั้ง ในการโจมตีครั้งที่สองนี้ ทั้งสองตีกระบวนทัพของจ๊กก๊กแตกเป็นผลสำเร็จและจึงเข้ายึดกิมก๊ก จูกัดเจี๋ยมพร้อมด้วยจูกัดสงบุตรชายและผู้ใต้บังคับบัญชา ได้แก่ หฺวาง ฉง[65] หลี่ ฉิว (李球)[66] และเตียวจุ๋น (張遵 จาง จุน)[67] ต่างถูกสังหารในที่รบที่กิมก๊ก[68][69]
การล่มสลายของจ๊กก๊ก
[แก้]เมื่อเกียงอุยทราบว่ากิมก๊กถูกตีแตกแล้ว จึงนำทัพของตนไปทางตะวันออกไปยังเมืองปากุ๋น (巴郡 ปาจฺวิ้น; นครฉงชิ่งในปัจจุบัน) จงโฮยนำทัพของตนไปที่อำเภอโปยเสียและสั่งให้เฮาเหลก เตนซก บังโฮย และคนอื่น ๆ ให้นำกำลังทหารไล่ตามตีเกียงอุย[70]
การยอมจำนนของเล่าเสี้ยน
[แก้]ในขณะเดียวกัน หลังเตงงายยึดได้กิมก๊ก เตงงายจึงนำทหารรุดหน้าต่อไปยังอำเภอลกเสีย (雒縣 ลั่วเซี่ยน; ทางเหรือของนครกว่างฮั่น มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ใกล้กับเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก ในช่วงเวลานั้นเมื่อเล่าเสี้ยนทรงหารือกับเหล่าข้าราชบริพารถึงทางเลือกที่มี บางคนทูลเสนอให้หนีไปพึ่งง่อก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตร ในขณะที่คนอื่น ๆ ทูลเสนอให้ล่าถอยไปทางใต้เข้าสู่ภูมิภาคหนานจง (南中; ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของมณฑลเสฉวนทางใต้ มณฑลยูนนาน และมณฑลกุ้ยโจวในปัจจุบัน)[71]
ในที่สุดเล่าเสี้ยนก็ทรงรับฟังข้อเสนอของเจาจิ๋วที่ให้ยอมแพ้และจำนนต่อเตงงาย[1] เล่าขำพระโอรสองค์หนึ่งของเล่าเสี้ยนสนับสนุนแข็งขันให้ยืดหยัดต่อสู้เตงงายเป็นครั้งสุดท้าย แต่หลังจากเล่าเสี้ยนทรงตัดสินพระทัยที่จะยอมจำนน เล่าขำจึงเสด็จไปยังศาลบรรพชนของเล่าปี่ผู้เป็นพระอัยกาและทรงพระกันแสง จากนั้นจึงทรงสังหารพระชายาและเหล่าบุตรของพระองค์ ก่อนจะทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม[72][73]
เล่าเสี้ยนทรงเขียนเอกสารยอมจำนนความว่า:
"เนื่องจากมีแม่น้ำสองสายไหลตัดผ่านดินแดนเรา เราจึงอยู่แยกห่างกันไปไกลโพ้น เราได้ปกครองจ๊กได้โดยบังเอิญ เห็นว่าเราจะสามารถตั้งมั่นอยู่ที่มุมหนึ่งได้ และท้าทายเจตจำนงของสวรรค์และอำนาจของจักรวรรดิ เมื่อเวลาผ่านไปหลายไป เราค่อย ๆ พบว่าตนเองห่างไกลออกไปจากนครหลวงหลายหมื่นลี้ ข้าพเจ้ามักระลึกถึงช่วงศักราชอ้วยโช่ (黃初 หวางชู) เมื่อจักรพรรดิเหวินตี้ (文帝; หมายถึงโจผี) ทรงส่งขุนพลเซียน-ยฺหวี ฝู่ (鮮于輔) มายังจ๊กเพื่อประกาศพระราชโองด้วยถ้อยคำอันอบอุ่นและจริงใจ เน้นย้ำถึงพระเมตตาของพระองค์ และทรงเปิดประตูเพื่อรับการยอมจำนนของเรา พระองค์ทรงแสดงความเมตตากรุณาและความชอบธรรมอย่างเด่นชัด ข้าพเจ้าขาดคุณลักษณะและคุณธรรมที่ดี มองไม่เห็นภาพใหญ่ ยึดติดกับมรดกชั้นสามัญของบรรพบุรุษ ต่อสู้ดิ้นรนมาหลายปี และต่อต้านความพยายามของจักรวรรดิที่จะทำให้เรามีความเจริญยิ่งขึ้น เมื่อสวรรค์แสดงความพิโรธ ก็เป็นเพียงเรื่องของเวลาก่อนที่ทุกสิ่งจะยอมจำนนต่ออำนาจของจักรวรรดิ ทัพอันยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิแสดงพลังอำนาจและปลูกฝังความกลัวไปทุกแห่งหนที่ยกพลไป ใครเลยจะกล้าไม่เปลี่ยนใจและยอมจำนนต่ออำนาจ ข้าพเจ้าได้สั่งข้าราชการและทหารของข้าพเจ้าให้วางอาวุธและถอดเกราะ ให้สำนักทั้งหมดรักษาคลังให้คงเดิม ราษฎรทั้งหมดให้เรียงแถวที่ชานเมือง และเสบียงอาหารทั้งหมดให้คงไว้ในทุ่งนา พวกเรารอคอยพระคุณของจักรวรรดิ และหวังว่าราษฎรของเราจะรักษาชีวิตไว้ได้ ข้าพเจ้าขอคารวะด้วยหวังว่าจักรวรรดิวุยอันยิ่งใหญ่จะปกครองด้วยความเมตตากรุณาและเผยแพร่คุณธรรมไปทั่วแผ่นดินเฉกเช่นอีอิ๋น (伊尹 อี อิ่น) และจิวกอง (周公 โจวกง) เหตุนี้ข้าพเจ้าขอส่งขุนนางมหาดเล็กคนสนิทเตียวเซีย, ที่ปรึกษาราชวังเจาจิ๋ว และนายกองทหารม้าคุ้มกันเตงเลียงให้นำตราประจำตำแหน่งของข้าพเจ้าให้ท่านเพื่อแสดงออกถึงการยอมจำนนและเป็นเครื่องหมายแทนความจริงใจและความสวามิภักดิ์ของข้าพเจ้า ชะตากรรมของข้าพเจ้าอยู่ในกำมือของท่านขุนพลโดยสิ้นเชิง ข้าพเจ้ายังจะนำโลงศพไปด้วยเมื่อไปพบท่าน ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องพูดอะไรเพิ่มเติมอีก[74]
เล่าเสี้ยนทรงมีรับสั่งให้เตียวเซีย, เจาจิ๋ว และเตงเลียงนำเอกสารยอมจำนนและตราพระราชลัญจกรของเล่าเสี้ยนไปมอบให้เตงงายที่อำเภอลกเสีย เตงงายรู้สึกยินดีที่ได้รับเอกสารยอมจำนนและตราพระราชลัญจกร จึงรายงานชัยชนะไปยังราชสำนักวุยก๊ก แล้วส่งเตียวเซียกับเตงเลียงกลับเซงโต๋[75][76] ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เล่าเสี้ยนยังทรงมีรับสั่งให้จาง จฺวิ้น (張峻) และคนอื่น ๆ ให้ส่งรับสั่งไปทั่วอาณาเขตของจ๊กก๊กให้ยอมจำนนต่อวุยก๊ก แล้วส่งเจียวเอี๋ยน (蔣顯 เจี๋ยง เสี่ยน) ไปสั่งให้เกียงอุยยอมจำนนต่อจงโฮยที่อำเภอโปยเสีย จากนั้นพระองค์จึงทรงส่งลิเฮา (李虎 หลี หู่) ไปยื่นหนังสือบันทึกเกี่ยวกับข้อมูลประชากรและข้อมูลทางสถิติอื่น ๆ ของจ๊กก๊กให้กับเตงงาย ในบันทึกระบุว่าจ๊กก๊กมี 280,000 ครัวเรือน มีประชากร 940,000 คน มีทหาร 120,000 นาย มีข้าราชการ 40,000 คน มีข้าวมากกว่า 400,000 หู (斛; หน่วยปริมาตร) มีทองคำ 2,000 ชั่งจีน (斤 จิน; หน่วยน้ำหนัก) มีเงิน 2,000 ชั่งจีน มีผ้ายกและผ้าไหมสี 400,000 ม้วน[77]
เมื่อเตงงายนำพลมาถึงประตูเมืองด้านเหนือของเซงโต๋ เล่าเสี้ยนทรงมัดพระองค์เองและนำโลงศพออกมาด้วย โดยพระองค์ทรงนำผู้ติดตามมากว่า 60 คนไปยอมจำนนต่อเตงงาย เตงงายเผาโลงศพ แก้มัดให้กับเล่าเสี้ยนและปฏิบัติต่อเล่าเสี้ยนเป็นอย่างดี เตงงายใช้พระราชอำนาจที่ราชสำนักวุยก๊กมอบให้ในการแต่งตั้งให้เล่าเสี้ยนรักษาการตำแหน่งขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) และแต่งตั้งตำแหน่งอื่น ๆ ให้กับอดีตขุนนางและข้าราชการของจ๊กก๊ก เตงงายอนุญาตให้เล่าเสี้ยนยังคงอาศัยในพระราชวังต่อไปได้ และยังได้ไปเยี่ยมเล่าเสี้ยนกับครอบครัวในภายหลังด้วย[78] ในช่วงเวลาเดียวกัน เตงงายออกคำสั่งห้ามกำลังพลไม่ให้ปล้นชิงข้าวของในเซงโต๋ และสั่งให้ดำเนินกิจกรรมประจำวันในเมืองต่อไปตามปกติ ราษฎรในจ๊กก๊กประทับใจในความเอื้อเฟื้อและความมีน้ำใจของเตงงาย อดีตข้าราชการของจ๊กก๊กบางคนได้กลายมาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเตงงาย[79]
เตงงายแต่งตั้งให้สุเมาเป็นข้าหลวงมณฑลของมณฑลเอ๊กจิ๋ว และแต่งตั้งให้คันห่องกำกับดูแลเมืองต่าง ๆ ของอดีตจ๊กก๊ก เตงงายยังสั่งให้สร้างอนุสรณ์สถานที่กิมก๊กเพื่อเชิดชูชัยชนะของตนและให้ฝังศพทหารวุยก๊กที่เสียชีวิตไว้ที่นั่นร่วมกับทหารของจ๊กก๊ก[80]
การยอมจำนนของเกียงอุย
[แก้]ในขณะเดียวกัน ทัพจ๊กก๊กที่นำโดยเกียงอุยได้รับข้อมูลที่สับสนปนเปเกี่ยวกับสถานการณ์ในนครเซงโต๋ บ้างก็ว่าเล่าเสี้ยนทรงต้องการอยู่ในเซงโต๋และป้องกันเมือง บ้างก็อ้างว่าเล่าเสี้ยนทรงกำลังจะทิ้งเซงโต๋หนีลงใต้ไปยังเมืองเกียมเหลง (建寧郡 เจี้ยนหนิงจฺวิ้น; ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลยูนนานและมณฑลกุ้ยโจวในปัจจุบัน) เกียงอุยจึงเตรียมนำกำลังไปไปยังอำเภอชี (郪縣 ชีเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอซานไถ มณฑลเสฉวน) ซึ่งอยู่ใกล้กับเซงโต๋มากกว่าเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง[81] ไม่นานหลังจากนั้น เกียงอุยและทหารก็ได้รับคำสั่งจากนครเซงโต๋ให้วางอาวุธและยอมจำนนต่อจงโฮยที่อำเภอโปยเสีย ทหารจ๊กก๊กหลายนายรู้สึกตกใจและโกรธมากที่รู้ว่าจักรพรรดิเล่าเสี้ยนยอมจำนน จึงชักกระบี่ฟันกับหินเพื่อระบายความคับข้องใจ[82][83]
ในที่สุดเมื่อจงโฮยพบกับเกียงอุย จงโฮยถามว่า "เหตุใดท่านถึงมาช้า" เกียงอุยตอบด้วยสีหน้าจริงจังแต่มีน้ำตาไหลอาบแก้มว่า "การพบกันของเราวันนี้ต่างหากที่มาเร็วเกินไป" จงโฮยประทับใจกับคำตอบของเกียงอุยอย่างมาก[84]
กำลังเสริมของง่อก๊ก
[แก้]ในระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายนถึง 17 ธันวาคม ค.ศ. 263[j] ราชสำนักจ๊กก๊กร้องขอการสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากง่อก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรทางตะวันออก จากนั้นในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 264[j] ซุนฮิวจักรพรรดิง่อก๊กมีรับสั่งให้นายทหารห้านายนำกองกำลังสามกองแยกกันเข้าไปโจมตีอาณาเขตของวุยก๊ก โดยหวังจะเบี่ยงเบนความสนใจของวุยก๊กออกจากจ๊กก๊ก เตงฮองเข้าโจมตีฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย)[86] หลิว ผิง (留平) และชือ จี (施績) เข้าโจมตีลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครจิงโจว มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) ติง เฟิง (丁封) และซุนฮี (孫異 ซุน อี้) เข้าโจมตีอาณาเขตของวุยก๊กตลอดตอนกลางของแม่น้ำไกซุย (沔水 เหมียนฉุ่ย) ทัพง่อก๊กถอนทัพกลับหลังได้รับข่าวการล่มสลายของจ๊กก๊ก[85]
ผลสืบเนื่อง
[แก้]การจับกุมและความล่มจมของเตงงาย
[แก้]เตงงายรู้สึกภูมิใจในความสำเร็จของตน จึงกลายเป็นคนเย่อหยิ่งและยกตนอย่างมากหลังได้ควบคุมและดูแลอาณาเขตของจ๊กก๊กหลังเสร็จศึก ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 เตงงายเขียนจดหมายถึงสุมาเจียวเพื่อเสนอแนวคิดในการพิชิตง่อก๊กที่เป็นอีกหนึ่งรัฐอริของวุยก๊ก สุมาเจียวบอกเตงงายว่าข้อเสนอของเตงงายจะต้องนำไปหารือในราชสำนักก่อนที่จะอนุมัติ เตงงายรู้สึกไม่พอใจจึงพูดเปรยว่าตนมีเหตุผลที่จะปฏิเสธระเบียบวิธีมาตรฐานและใช้วิธีแบบเผด็จการตราบที่ตนกระทำเพื่อประโยชน์ของวุยก๊ก[87] จงโฮยผู้แอบต้องการก่อกบฏต่อวุยก๊ก ฉวยโอกาสนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์และจัดการความเย่อหยิ่งของเตงงายให้เกิดผลดีต่อตัวจงโฮยอย่างมาก จงโฮยยับยั้งรายงานจากเตงงายที่ส่งไปถึงราชสำนักวุยก๊ก เลียนลายมือเตงงายและแก้ไขรายงานให้มีสำนวนภาษาที่ดูหยาบคายและเรียกร้องมากเกินไป จงโฮยยังทำลายจดหมายจากสุมาเจียวถึงเตงงายอีกด้วย[88]
ในช่วงปลายกุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 ราชสำนักวุยก๊กมีคำสั่งให้จงโฮยและอุยก๋วนไปจับกุมเตงงาย ปลดอำนาจบังคับบัญชาทหาร และส่งตัวกลับไปลกเอี๋ยงด้วยรถนักโทษ[89] ในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 264 หลังจากนั้น อุยก๋วนส่งเตนซกให้นำทหารไปสกัดและสังหารเตงงาย, เตงต๋งบุตรชายของเตงงาย และสุเมาผู้ใต้บังคับบัญชาของเตงงายที่ทางตะวันตกของกิมก๊ก[90][91]
กบฏจงโฮย
[แก้]หลังเตงงายถูกจับกุมและถูกนำตัวไป จงโฮยจึงถือครองอำนาจบัญชาการทัพวุยก๊กที่กำลังยึดครองอาณาเขตของอดีตจ๊กก๊ก ด้วยการยุยงของเกียงอุย[92] จงโฮยจึงตัดสินใจก่อการกบฏต่อสุมาเจียว และวางกลยุทธ์โจมตีลกเอี๋ยงโดยมีเกียงอุยช่วยเหลือ[93]
ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 264 หนึ่งวันหลังจากมาถึงเซงโต๋ จงโฮยเรียกประชุมเหล่านายทหารระดับสูงของวุยก๊กทั้งหมด แล้วแสดงพระเสาวนีย์ปลอมของกวยทายเฮาที่มีรับสั่งให้ลุกขึนต่อต้านและโค่นอำนาจสุมาเจียว แต่จงโฮยก็เริ่มกังวลว่าเหล่านายทหารไม่เต็มใจจะสนับสนุนตน จงโฮยจึงสั่งให้คนสนิทเข้ายึดอำนาจบังคับบัญชาแต่ละหน่วยทหารของเหล่านายทหาร และให้กักบริเวณนายทหารเหล่านั้นไว้[94] ในวันที่ 3 มีนาคม มีข่าวลือว่าจงโฮยต้องการกวาดล้างนายทหารทั้งหมดที่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการก่อกบฏ เหล่านายทหารที่ถูกกักบริเวณจึงฝ่าออกรวมกลุ่มกับหน่วยทหารของตน แล้วก่อการกำเริบต่อต้านจงโฮย ความโกลาหลเกิดขึ้นในเซงโต๋ ผู้คนหลายร้อยคนถูกสังหาร จงโฮยและเกียงอุยต่อสู้กับทหารที่ก่อการกำเริบ แต่สุดท้ายก็ถูกรุมสังหาร[95]
การบุกปาตงของง่อก๊ก
[แก้]ในระหว่างที่วุยก๊กยกทัพบุกจ๊กก๊ก เงียมอู (閻宇 เหยียน ยฺหวี่) ขุนพลจ๊กก๊กผู้รับผิดชอบรักษาเมืองปาตง (巴東郡 ปาตงจฺวิ้น; ครอบคลุมบางส่วนของนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ได้รับคำสั่งให้นำกำลังพลจากเมืองปาตงไปสนับสนุนทัพจ๊กก๊กที่แนวหน้า หลัว เซี่ยน (羅憲) รองแม่ทัพของเงียมอู[96] ยังคงอยู่รักษาอำเภอเองอั๋น (永安 หย่งอาน; ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง) อำเภอเอกของเมืองปาตง พร้อมกับกำลังพลเพียง 2,000 นาย[97][98]
ในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 263 เมื่อข่าวการล่มของเซงโต๋มาถึงเองอั๋น หลัว เซี่ยนปลอบโยนราษฎรและฟื้นฟูความสงบมั่นคงในเองอั๋น หลังได้รับข่าวยืนยันว่าเล่าเสี้ยนทรงยอมจำนนต่อวุยก๊กแล้ว หลัว เซี่ยนเรียกระดมกำลังพลทั้งหมดและไว้อาลัยให้กับการล่มสลายของจ๊กก๊กเป็นเวลา 3 วัน[99]
ในช่วงเวลานั้น ง่อก๊กเตรียมการจะฉวยโอกาสจากสถานการณ์ในการบุกและยึดครองอาณาเขตของจ๊กก๊กเดิมภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อส่งกำลังเสริมไปช่วยจ๊กก๊กในการต้านวุยก๊ก ในช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 264 ปู้ เสีย (步恊) ขุนพลง่อก๊กนำกำลังพลจากซีหลิง (西陵; ปัจจุบันคือนครอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย์) เพื่อโจมตีเองอั๋น แต่ต้องเผชิญหน้าการต้านทานอย่างหนักจากหลัว เซี่ยนและทหารใต้บังคับบัญชา ในขณะที่ทัพง่อก๊กระดมยิงเกาทัณฑ์ใส่ที่มั่นของหลัว เซี่ยน หลัว เซี่ยนก็สั่งให้หยาง จง (楊宗) ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ตีฝ่าวงล้อมไปขอความช่วยเหลือจากวุยก๊ก หลัว เซี่ยนยังยอมมอบตราประจำตำแหน่ง และส่งตัวบุตรชายไปเป็นตัวประกันเพื่อโน้มน้าวและแสดงความจริงใจต่อสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก ในช่วงเวานั้น หลัว เซี่ยนนำทหารตีโต้ทัพง่อก๊กและเอาชนะได้[100]
ซุนฮิวจักรพรรดิแห่งง่อก๊กกริ้วที่ปู้ เสียพ่ายแพ้ จึงทรงมีรับสั่งให้ขุนพลลกข้องนำกำลังพล 30,000 นายไปหนุนช่วยปู้ เสียและล้อมเองอั๋น หลังการล้อมนาน 6 เดือน ประชากรของเองอั๋นมากกว่าครึ่งก็ล้มป่วยด้วยโรคติดต่อ ในเวลานั้นเองที่เฮาเหลกขุนพลวุยก๊กนำกำลังเสริมจากมณฑลเกงจิ๋วมาช่วยหลัว เซี่ยนและสลายวงล้อมที่เองอั๋น ทัพง่อก๊กล่าถอยไปเมื่อเห็นกำลังเสริมของวุยก๊กยกมาถึง[101] สุมาเจียวยอมรับการยอมจำนนของหลัว เซี่ยน และสั่งให้หลัว เซี่ยนยังอยู่รักษาเองอั๋นต่อไป[102]
บุคคลในยุทธการ
[แก้]ทัพวุยก๊ก
[แก้]- แม่ทัพใหญ่ (大都督 ต้าตูตู) สุมาเจียว (司馬昭 ซือหม่า เจา) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก กำกับการศึกโดยภาพรวมจากลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก[5]
- ขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西將軍 เจิ้นซีเจียงจฺวิน) จงโฮย (鍾會 จง ฮุ่ย) นำกำลังทหารมากกว่า 100,000 นายเข้าโจมตีจ๊กก๊กจากปีกด้านตะวันออก[3]
- เจ้าพนักงานตุลาการ (廷尉卿 ถิงเว่ย์ชิง) อุยก๋วน (衛瓘 เว่ย์ กว้าน) ทำหน้าที่รักษาการตุลาการทัพในสังกัดของจงโฮย และยังได้รับมอบอาญาสิทธิ์ให้กำกับดูแลปฏิบัติการทางทหารของจงโฮยและเตงงาย[19]
- หัวหน้าเสมียน (長史 จ๋างฉื่อ) เตาอี้ (杜預 ตู้ ยฺวี่)[103]
- ขุนพลทัพหน้า (前將軍 เฉียนเจียงจฺวิน) ลิจู (李輔 หลี ฝู่) นำกองกำลังแยก 10,000 นายเข้าโจมตีอำเภอก๊กเสีย[35]
- ผู้พิทักษ์ทัพ (護軍 ฮู่จฺวิน) ซุนไค (荀愷 สฺวิน ข่าย) นำกองกำลังแยก 10,000 นายเข้าโจมตีอำเภอฮั่นเสีย[35]
- ผู้พิทักษ์ทัพ (護軍 ฮู่จฺวิน) เฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย) นำทัพหน้าเข้าโจมตีด่านเองเปงก๋วน[41]
- ขุนพลรักษาค่ายใหญ่ (牙門將 หยาเหมินเจี้ยง) เคาหงี (許儀 สฺวี่ อี๋) กำกับดูแลการสร้างถนนที่นำไปสู่จ๊กก๊ก ถูกประหารชีวิตจากการปฏิบัติภารกิจล้มเหลวเพราะถนนสร้างได้ไม่ดี[29]
- เถียน จาง (田章) ติดตามเตงงายในการยกพลไปทางเบี่ยงที่ลัดไปยังกิมก๊ก[61]
- ขุนพลสงบโจร (平寇將軍 ผิงโค่วเจียงจฺวิน) บังโฮย (龐會 ผาง ฮุ่ย)[70]
- ผู้พิทักษ์ทัพ (護軍 ฮู่จฺวิน) เตนซก (田續 เถียน ซฺวี่)[70]
- ข้าหลวงมณฑลยงจิ๋ว (雍州刺史 ยงโจวชื่อฉื่อ) จูกัดสู (諸葛緒 จูเก่อ ซฺวี่) นำกำลังพล 30,000 นายเข้าโจมตีจ๊กก๊กจากปีกด้านกลาง[3]
- ขุนพลโจมตีภาคตะวันตก (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) เตงงาย (鄧艾 เติ้ง อ้าย) นำกำลังพล 30,000 นายเข้าโจมตีจ๊กก๊กทางจากปีกด้านตะวันตก[3]
- เจ้าเมืองเว่ย์ซิง (魏興太守) หลิว ชิน (劉欽) นำกำลังพลจากเมืองเว่ย์ชิงเข้าโจมตีเมืองฮันต๋งผ่านหุบเขาจูงอก๊ก[31]
- เจ้าเมืองเทียนซุย (天水太守 เทียนฉุ่ยไท่โฉ่ว) อองกิ๋น (王頎 หวาง ฉี) นำกำลังพลจากเมืองเทียนซุยเข้าโจมตีท่าจง[30]
- เจ้าเมืองหลงเส (隴西太守 หล่งซีไท่โฉ่ว) คันห่อง (牽弘 เชียน หง) นำกำลังพลจากเมืองหลงเสเข้าโจมตีท่าจง[30]
- เจ้าเมืองกิมเสีย (金城太守 จินเฉิงไท่โฉ่ว) เอียวหัว (楊欣 หยาง ซิน) นำกำลังพลจากเมืองกิมเสียเข้าโจมตีกานซง[30]
ทัพจ๊กก๊ก
[แก้]- มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) เกียงอุย (姜維 เจียง เว่ย์) นำทัพจ๊กก๊กที่ท่าจงก่อนล่าถอยไปยังอิมเอ๋งและจากนั้นไปยังเกียมโก๊ะ[51]
- ขุนพลทหารม้าและรถรบฝ่ายขวา (右車騎將軍 โย่วเชอฉีเจียงจฺวิน) เลียวฮัว (廖化 เลี่ยว ฮฺว่า) นำกำลังเสริมไปสนับสนุนเกียงอุยที่ท่าจงและอิมเป๋ง ก่อนล่าถอยไปยังเกียมโก๊ะด้วยกันกับเกียงอุย[51]
- ขุนพลทหารม้าและรถฝ่ายซ้าย (左車騎將軍 จั่วเชอฉีเจียงจฺวิน) เตียวเอ๊ก (張翼 จาง อี้) นำกำลังเสริมไปสมทบกับเกียงอุยที่เกียมโก๊ะ[51]
- มหาขุนพลผู้ช่วยเหลือรัฐ (輔國大將軍 ฟู่กั๋วต้าเจียงจฺวิน) ตังควด (董厥 ต่ง เจฺว๋) นำกำลังเสริมไปสมทบกับเกียงอุยที่เกียมโก๊ะ[51]
- † ขุนพลราชองครักษ์ฝ่ายซ้าย (左中郎將 จั่วจงหลางเจี้ยง) ปอเฉียม (傅僉 ฟู่ เชียน) รักษาด่านเองเปงก๋วน[43]
- ผู้ควบคุมทัพ (監軍 เจียนจฺวิน) อองหำ (王含 หวาง หาน) นำกำลังพล 5,000 นายรักษาอำเภอก๊กเสีย[35]
- ขุนพลสงบยุทธ (綏武將軍 ซุยอู่เจียงจฺวิน) เจียวปิน (蔣斌 เจี่ยง ปิน) นำกำลังพล 5,000 นายรักษาอำเภอฮั่นเสีย[35]
- เจ้าเมืองอิวกั๋ง (江油太守 เจียงโหยวไท่โฉ่ว) ม้าเชียว (馬邈 หมา เหมี่ยว) รักษาเมืองอิวกั๋ง[62]
- † ขุนพลพิทักษ์ทัพ (護軍將軍 ฮู่จฺวินเจียงจฺวิน) จูกัดเจี๋ยม (諸葛瞻 จูเก่อ จาน) รักษาอำเภอกิมก๊ก[68]
- มหาขุนพลขวา (右大將軍 โย่วต้าเจียงจฺวิน) เงียมอู (閻宇 เหยียน ยฺหวี่) นำกำลังเสริมจากเมืองปาตงไปป้องกันเซงโต๋[98]
- ผู้บัญชาทหาร (領軍) หลัว เซี่ยน (羅憲) ป้องกันอำเภอเองอั๋นจากการบุกของง่อก๊กหลังการล่มสลายของจ๊กก๊ก[98][100]
- หยาง จง (楊宗) ได้รับมอบหมายจากหลัว เซี่ยนให้ไปขอกำลังเสริมจากวุยก๊กในการป้องกันเองอั๋นจากง่อก๊ก[100]
- ผู้บัญชาทหาร (領軍) หลัว เซี่ยน (羅憲) ป้องกันอำเภอเองอั๋นจากการบุกของง่อก๊กหลังการล่มสลายของจ๊กก๊ก[98][100]
ทัพง่อก๊ก
[แก้]- มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) เตงฮอง (丁奉 ติง เฟิ่ง) นำทัพง่อก๊กเข้าโจมตีฉิวฉุนเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของวุยก๊กไปจากจ๊กก๊ก[86]
- หลิว ผิง (留平) นำทัพง่อก๊กเข้าโจมตีเมืองลำกุ๋น[85]
- มหาขุนพลฝ่ายบน (上大將軍 ช่างต้าเจียงจฺวิน) ชือ จี (施績) นำทัพง่อก๊กเข้าโจมตีเมืองลำกุ๋น[85]
- ขุนพลทัพหลัง (後將軍 โฮ่วเจียงจฺวิน) ติง เฟิง (丁封) นำทัพง่อก๊กเข้าโจมตีอาณาเขตของวุยก๊กตลอดตอนกลางของแม่น้ำไกซุย[85]
- ซุนฮี (孫異 ซุน อี้) นำทัพง่อก๊กเข้าโจมตีอาณาเขตของวุยก๊กตลอดตอนกลางของแม่น้ำไกซุย[85]
- ขุนพลสงบทัพ (撫軍將軍 ฟู่จฺวินเจียงจฺวิน) ปู้ เสีย (步恊) นำทัพง่อก๊กเข้าโจมตีอำเภอเองอั๋นหลังการล่มสลายของจ๊กก๊ก[100]
- ขุนพลพิทักษ์ทัพ (鎮軍將軍 เจิ้นจฺวินเจียงจฺวิน) ลกข้อง (陸抗 ลู่ ค่าง) นำกำลังพล 30,000 นายไปหนุนช่วยปู้ เสีย[101]
ในวัฒนธรรมประชานิยม
[แก้]เมี่ยฉู่จี้ (滅蜀記; แปลว่า เรื่องราวการล่มสลายของจ๊กก๊ก; ISBN 9789867480972) เป็นนวนิยายใน ค.ศ. 2008 โดยหลี่ ปั๋ว (李柏) ที่เล่าถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล่มสลายของจ๊กก๊ก โดยมีเกียงอุย เตงงาย และจงโฮยเป็นตัวละครหลัก[104]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 จือจื้อทงเจี้ยนบันทึกว่าราชสำนักวุยก๊กออกพระราชโองการให้เตงงาย, จูกัดสู และจงโฮยนำทัพวุยก๊กเข้าโจมตีจ๊กก๊กจากสามทิศทาง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน 5 ถึงเดือน 7 ของศักราชจิ่ง-ยฺเหวียน (景元) ปีที่ 4 ศักราช ในรัชสมัยของโจฮวน ทัพวุยก๊กเคลื่อนออกจากนครหลวงลกเอี๋ยงในเดือน 8[1] เดือน 8 ของศักราชจิ่ง-ยฺเหวียนปีที่ 4 เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 20 กันยายนถึง 19 ตุลาคม ค.ศ. 263 ในปฏิทินกริกอเรียน
- ↑ บทพระราชประวัติสุมาเจียวในจิ้นชูบันทึกว่า รายงานชัยชนะของขุนพลวุยก๊กมาถึงลกเอี๋ยงในเดือน 10 ของศักราชจิ่ง-ยฺเหวียนปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮวน[2] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน ถึง 17 ธันวาคม ค.ศ. 263 ในปฏิทินกริกอเรียน
- ↑ บทชีวประวัติของจงโฮยในสามก๊กจี่บันทึกว่าเตงงายกับจูกัดสูนำกำลังพลคนละ 30,000 นาย ส่วนจงโฮยนำกำลังพลมากกว่า 100,000 นายในการทัพครั้งนี้[3] ส่วนบทพระราชประวัติสุมาเจียวในจิ้นชูบันทึกว่าทัพวุยก๊กในการทัพครั้งนี้มีทั้งหมด 180,000 นาย[4]
- ↑ สุมาเจียวประมาณการก่อนการรบว่าจ๊กก๊กมีกำลังพลรวม 90,000 นาย (50,000 นายที่แนวหน้า และอีก 40,000 นายอยู่รักษาเซงโต๋และดินแดนภายใน)[5] แต่ฉู่จี้บันทึกว่าจ๊กก๊กมีกำลังพล 102,000 นายในช่วงเวลาที่เล่าเสี้ยนยอมจำนนต่อเตงงาย[6]
- ↑ จือจื้อทงเจี้ยนบันทึกว่าสุมาเจียวทำประกาศนี้ในศักราชจิ่ง-ยฺเหวียน (景元) ปีที่ 3 ในรัชสมัยของโจฮวน ปีนี้เทียบได้กับปี ค.ศ. 262 ในปฏิทินกริโกเรียน[1] แต่ในบทพระราชประวัติสุมาเจียวในจิ้นชูบันทึกว่าสุมาเจียวทำประกาศนี้ในฤดูร้อนของศักราชจิ่ง-ยฺเหวียนปีที่ 4 ซึ่งเทียบได้กับฤดูร้อนของปี ค.ศ. 263[5] บทความนี้อิงตามที่ระบุในจือจื้อทงเจี้ยน
- ↑ ดูเตงงาย#ป้องกันชายแดนวุยก๊ก
- ↑ บทพระราชประวัติสุมาเจียวในจิ้นชูบันทึกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือน 9 ปีที่ 4 ของศักราชจิ่ง-ยฺเหวียน (景元) ในรัชสมัยของโจฮวน[30] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 20 ตุลาคมถึง 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 263 ในปฏิทินกริกอเรียน
- ↑ หมายถึงเกียงอุย (姜維 เจียง เหวย์) ปั๋วเยฺว (伯約) เป็นชื่อรองของเกียงอุย
- ↑ บทชีวประวัติเตงงายในสามก๊กจี่บันทึกว่าเตงงายใช้ทางลัดในเดือน 10 ของศักราชจิ่ง-ยฺเหวียน (景元) ปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮวน[60] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายนและ 17 ธันวาคม ค.ศ. 263 ในปฏิทินกริกอเรียน
- ↑ 10.0 10.1 บทประวัติซุนฮิวในสามก๊กจี่บันทึกว่าจ๊กก๊กขอการหนุนช่วยจากง่อก๊กในเดือน 10 ของศักราชหย่งอาน (永安) ปีที่ 6 ในรัชสมัยของซุนฮิว[85] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายนถึง 17 ธันวาคม ค.ศ. 263 ในปฏิทินกริกอเรียน บทประวัติซุนฮิวยังบันทึกอีกว่าซุนฮิวทรงมีรับสั่งให้เตงฮอง, หลิว ผิง, ติง เฟิง และซุนฮีนำทัพง่อก๊กไปโจมตีอาณาเขตของวุยก๊กในวันเจี่ยเชิน (甲申) หลังเดือน 10 ของศักราชหย่งอานปีที่ 6[85] วัน เจี่ยเชินหลังเดือน 10 ที่ใกล้ที่สุดคือวันที่ 22 ของเดือน 11 ซึ่งเทียบได้กับวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 264 ในปฏิทินกริกอเรียน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Sima (1084), vol. 78.
- ↑ ([景元四年]冬十月,天子以諸侯獻捷交至, ...) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 ([景元]四年秋,乃下詔使鄧艾、諸葛緒各統諸軍三萬餘人,艾趣甘松、沓中連綴維,緒趣武街、橋頭絕維歸路。會統十餘萬衆,分從斜谷、駱谷入。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (於是征四方之兵十八萬, ...) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 (景元[四年]夏,帝將伐蜀,乃謀眾曰:「自定壽春已來,息役六年,治兵繕甲,以擬二虜。略計取吳,作戰船,通水道,當用千餘萬功,此十萬人百數十日事也。又南土下濕,必生疾疫。今宜先取蜀,三年之後,在巴蜀順流之勢,水陸並進,此滅虞定虢,吞韓並魏之勢也。計蜀戰士九萬,居守成都及備他郡不下四萬,然則餘眾不過五萬。今絆姜維於遝中,使不得東顧,直指駱穀,出其空虛之地,以襲漢中。彼若嬰城守險,兵勢必散,首尾離絕。舉大眾以屠城,散銳卒以略野,劍閣不暇守險,關頭不能自存。以劉禪之暗,而邊城外破,士女內震,其亡可知也。」) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ (又遣尚書郎李虎送士民簿, ... 帶甲將士十萬二千, ...) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
- ↑ Sima (1084), vol. 69.
- ↑ Sima (1084), vol. 70.
- ↑ Sima (1084), vols. 71-72.
- ↑ Sima (1084), vols. 74-78.
- ↑ Sima (1084), vol. 75.
- ↑ Sima (1084), vol. 76.
- ↑ 13.0 13.1 Sima (1084), vol. 77.
- ↑ สามก๊กจี่ เล่มที่ 28, 33 และ 44, จิ้นชู เล่มที่ 2 และจือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 78.
- ↑ (文王以蜀大將姜維屢擾邊陲,料蜀國小民疲,資力單竭,欲大舉圖蜀。惟會亦以為蜀可取,豫共籌度地形,考論事勢。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (征西將軍鄧艾以為未有釁,屢陳異議。帝患之,使主簿師纂為艾司馬以喻之,艾乃奉命。) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ (景元三年冬,以會為鎮西將軍、假節都督關中諸軍事。文王勑青、徐、兖、豫、荊、揚諸州,並使作船,又令唐咨作浮海大船,外為將伐吳者。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ 18.0 18.1 (於是征四方之兵十八萬,使鄧艾自狄道攻姜維於遝中,雍州刺史諸葛緒自祁山軍於武街,絕維歸路,鎮西將軍鐘會帥前將軍李輔、征蜀護軍胡烈等自駱穀襲漢中。) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ 19.0 19.1 (鄧艾、鐘會之伐蜀也,瓘以本官持節監艾、會軍事,行鎮西軍司,給兵千人。) จิ้นชู เล่มที่ 36.
- ↑ Sima (1084), vol. 68.
- ↑ (初,先主留魏延鎮漢中,皆實兵諸圍以禦外敵,敵若來攻,使不得入。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (及興勢之役,王平捍拒曹爽,皆承此制。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (維建議,以為錯守諸圍,雖合周易「重門」之義,然適可禦敵,不獲大利。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (不若使聞敵至,諸圍皆歛兵聚穀,退就漢、樂二城,使敵不得入平,且重關鎮守以捍之。有事之日,令游軍並進以伺其虛。敵攻關不克,野無散穀,千里縣糧,自然疲乏。引退之日,然後諸城並出,與游軍并力搏之,此殄敵之術也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (於是令督漢中胡濟却住漢壽,監軍王含守樂城,護軍蔣斌守漢城,又於西安、建威、武衞、石門、武城、建昌、臨遠皆立圍守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ ([景耀]六年,維表後主:「聞鍾會治兵關中,欲規進取,宜並遣張翼、廖化督諸軍分護陽安關口、陰平橋頭以防未然。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (皓徵信鬼巫,謂敵終不自致,啟後主寢其事,而羣臣不知。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ ([景元四年]秋八月,軍發洛陽,大賚將士,陳師誓眾。將軍鄧敦謂蜀未可討,帝斬以徇。) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ 29.0 29.1 (先命牙門將許儀在前治道,會在後行,而橋穿,馬足陷,於是斬儀。儀者,許褚之子,有功王室,猶不原貸。諸軍聞之,莫不震竦。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ 30.0 30.1 30.2 30.3 30.4 ([景元四年]九月,又使天水太守王頎攻維營,隴西太守牽弘邀其前,金城太守楊頎趣甘松。) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ 31.0 31.1 (魏興太守劉欽趣子午谷,諸軍數道平行,至漢中。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (及鍾會將向駱谷,鄧艾將入沓中,然後乃遣右車騎廖化詣沓中為維援,左車騎張翼、輔國大將軍董厥等詣陽安關口以為諸圍外助。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (比至陰平,聞魏將諸葛緒向建威,故住待之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (會使護軍荀愷、前將軍李輔各統萬人,愷圍漢城,輔圍樂城。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 (鐘會分為二隊,入自斜谷,使李輔圍王含于樂城,又使部將荀愷攻蔣斌於漢城。) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ (蜀令諸圍皆不得戰,退還漢、樂二城守。蜀監軍王含守樂城,護軍蔣斌守漢城,兵各五千。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (會徑過,西出陽安口,遣人祭諸葛亮之墓。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (魏大將軍鍾會至漢城,與斌書曰: ... 會得斌書報,嘉歎意義,及至涪,如其書云。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ ([鍾]會攻樂城,不能克,聞關口已下,長驅而前。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (後主旣降鄧艾,斌詣會於涪,待以交友之禮。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ 41.0 41.1 (使護軍胡烈等行前,攻破關城,得庫藏積糓。會直指陽安,護軍胡烈攻陷關城。) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ (蜀記曰:蔣舒為武興督,在事無稱。蜀命人代之,因留舒助漢中守。舒恨,故開城出降。) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ 43.0 43.1 43.2 (漢晉春秋曰:蔣舒將出降,乃詭謂傅僉曰:「今賊至不擊而閉城自守,非良圖也。」僉曰:「受命保城,惟全為功,今違命出戰,若喪師負國,死無益矣。」舒曰:「子以保城獲全為功,我以出戰克敵為功,請各行其志。」遂率衆出。僉謂其戰也,至陰平,以降胡烈。烈乘虛襲城,僉格鬬而死,魏人義之。) อรรถาธิบายจาก'ฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (鍾會攻圍漢、樂二城,遣別將進攻關口,蔣舒開城出降,傅僉格鬬而死。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (月餘,維為鄧艾所摧,還住陰平。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (未到,聞其已破,退趣白水, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (姜維聞之,引還,王頎追敗維於強川。) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ (維聞鍾會諸軍已入漢中,引退還。欣等追躡於彊川口,大戰,維敗走。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (聞雍州已塞道屯橋頭,從孔函谷入北道,欲出雍州後。諸葛緒聞之,却還三十里。維入北道三十餘里,聞緒軍却,尋還,從橋頭過,緒趣截維,較一日不及。維遂東引,還守劒閣。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (維與張翼、廖化合軍守劍閣,鐘會攻之。) จิ้นชู เล่มที่ 2.
- ↑ 51.0 51.1 51.2 51.3 51.4 (翼、厥甫至漢壽,維、化亦舍陰平而退,適與翼、厥合,皆退保劒閣以拒會。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (鍾會攻維未能克。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (會與維書曰:「公侯以文武之德,懷邁世之略,功濟巴、漢,聲暢華夏,遠近莫不歸名。每惟疇昔,甞同大化,吳札、鄭喬,能喻斯好。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (維不荅書,列營守險。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (往者漢祚衰微,率土分崩,生民之命,幾於泯滅。太祖武皇帝神武聖哲,撥亂反正,拯其將墜,造我區夏。高祖文皇帝應天順民,受命踐阼。烈祖明皇帝奕世重光,恢拓洪業。然江山之外異政殊俗,率土齊民未蒙王化,此三祖所以顧懷遺恨也。今主上聖德欽明,紹隆前緒,宰輔忠肅明允,劬勞王室,布政垂惠而萬邦恊和,施德百蠻而肅慎致貢。悼彼巴蜀,獨為匪民,愍此百姓,勞役未已。是以命授六師,龔行天罰,征西、雍州、鎮西諸軍,五道並進。古之行軍,以仁為本,以義治之;王者之師,有征無戰;故虞舜舞干戚而服有苗,周武有散財、發廩、表閭之義。今鎮西奉辭銜命,攝統戎重,庶弘文告之訓,以濟元元之命,非欲窮武極戰,以快一朝之政,故畧陳安危之要,其敬聽話言。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (益州先主以命世英才,興兵朔野,困躓兾、徐之郊,制命紹、布之手,太祖拯而濟之,與隆大好。中更背違,棄同即異,諸葛孔明仍規秦川,姜伯約屢出隴右,勞動我邊境,侵擾我氐、羌,方國家多故,未遑脩九伐之征也。今邊境乂清,方內無事,畜力待時,并兵一向,而巴蜀一州之衆,分張守備,難以禦天下之師。段谷、侯和沮傷之氣,難以敵堂堂之陳。比年以來,曾無寕歲,征夫勤瘁,難以當子來之民。此皆諸賢所親見也。蜀相牡見禽於秦,公孫述授首於漢,九州之險,是非一姓。此皆諸賢所備聞也。明者見危於無形,智者規禍於未萌,是以微子去商,長為周賔,陳平背項,立功於漢。豈晏安酖毒,懷祿而不變哉?今國朝隆天覆之恩,宰輔弘寬恕之德,先惠後誅,好生惡殺。往者吳將孫壹舉衆內附,位為上司,寵秩殊異。文欽、唐咨為國大害,叛主讎賊,還為戎首。咨困逼禽獲,欽二子還降,皆將軍、封侯;咨與聞國事。壹等窮踧歸命,猶加盛寵,况巴蜀賢知見機而作者哉!誠能深鑒成敗,邈然高蹈,投跡微子之蹤,錯身陳平之軌,則福同古人,慶流來裔,百姓士民,安堵舊業,農不易畒,巿不回肆,去累卵之危,就永安之福,豈不美與!若偷安旦夕,迷而不反,大兵一發,玉石皆碎,雖欲悔之,亦無及已。其詳擇利害,自求多福,各具宣布,咸使聞知。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (會不能克,糧運縣遠,將議還歸。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (會與緒軍向劒閣,會欲專軍勢,密白緒畏懦不進,檻車徵還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾上言:「今賊摧折,宜遂乘之,從陰平由邪徑經漢德陽亭趣涪,出劒閣西百里,去成都三百餘里,奇兵衝其腹心。劒閣之守必還赴涪,則會方軌而進;劒閣之軍不還,則應涪之兵寡矣。軍志有之曰:『攻其不備,出其不意。』今掩其空虛,破之必矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ 60.0 60.1 ([景元四年]冬十月,艾自陰平道行無人之地七百餘里,鑿山通道,造作橋閣。山高谷深,至為艱險,又糧運將匱,頻於危殆。艾以氊自裹,推轉而下。將士皆攀木緣崖,魚貫而進。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ 61.0 61.1 (鄧艾追姜維到陰平,簡選精銳,欲從漢德陽入江由、左儋道詣緜竹,趣成都,與諸葛緒共行。緒以本受節度邀姜維,西行非本詔,遂進軍前向白水,與會合。會遣將軍田章等從劒閣西,徑出江由。未至百里,章先破蜀伏兵三校,艾使章先登。遂長駈而前。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ 62.0 62.1 (先登至江由,蜀守將馬邈降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (權留蜀子崇,為尚書郎,隨衞將軍諸葛瞻拒鄧艾。到涪縣,瞻盤桓未進,崇屢勸瞻宜速行據險,無令敵得入平地。瞻猶與未納,崇至于流涕。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
- ↑ ([景耀]六年冬,魏征西將軍鄧艾伐蜀,自陰平由景谷道旁入。瞻督諸軍至涪停住,前鋒破,退還,住緜竹。艾遣書誘瞻曰:「若降者必表為琅邪王。」瞻怒,斬艾使。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ 65.0 65.1 (會艾長驅而前,瞻却戰至緜竹,崇帥厲軍士,期於必死,臨陣見殺。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
- ↑ 66.0 66.1 (恢弟子球,羽林右部督,隨諸葛瞻拒鄧艾,臨陣授命,死于緜竹。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
- ↑ 67.0 67.1 (苞子遵為尚書,隨諸葛瞻於綿竹,與鄧艾戰,死。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ 68.0 68.1 68.2 (遂戰,大敗,臨陣死,時年三十七。衆皆離散,艾長驅至成都。瞻長子尚,與瞻俱沒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ 69.0 69.1 69.2 (蜀衞將軍諸葛瞻自涪還綿竹,列陳待艾。艾遣子惠唐亭侯忠等出其右,司馬師纂等出其左。忠、纂戰不利,並退還,曰:「賊未可擊。」艾怒曰:「存亡之分,在此一舉,何不可之有?」乃叱忠、纂等,將斬之。忠、纂馳還更戰,大破之,斬瞻及尚書張遵等首, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ 70.0 70.1 70.2 (艾遂至緜竹,大戰,斬諸葛瞻。維等聞瞻已破,率其衆東入于巴。會乃進軍至涪,遣胡烈、田續、龐會等追維。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (後主使羣臣會議,計無所出。或以為蜀之與吳,本為和國,宜可奔吳;或以為南中七郡,阻險斗絕,易以自守,宜可奔南。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 42.
- ↑ (是日,北地王諶傷國之亡,先殺妻子,次以自殺。) Sanguozhi vol. 33.
- ↑ (漢晉春秋曰:後主將從譙周之策,北地王諶怒曰:「若理窮力屈,禍敗必及,便當父子君臣背城一戰,同死社稷,以見先帝可也。」後主不納,遂送璽緩。是日,諶哭於昭烈之廟,先殺妻子,而後自殺,左右無不為涕泣者。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
- ↑ (奉書曰:「限分江、漢,遇值深遠,階緣蜀土,斗絕一隅,干運犯冒,漸苒歷載,遂與京畿攸隔萬里。每惟黃初中,文皇帝命虎牙將軍鮮于輔,宣溫密之詔,申三好之恩,開示門戶,大義炳然,而否德暗弱,竊貪遺緒,俛仰累紀,未率大教。天威旣震,人鬼歸能之數,怖駭王師,神武所次,敢不革面,順以從命!輒勑羣帥投戈釋甲,官府帑藏一無所毀。百姓布野,餘糧棲畝,以俟后來之惠,全元元之命。伏惟大魏布德施化,宰輔伊、周,含覆藏疾。謹遣私署侍中張紹、光祿大夫譙周、駙馬都尉鄧良奉齎印緩,請命告誠,敬輸忠款,存亡勑賜,惟所裁之。輿櫬在近,不復縷陳。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
- ↑ (紹、良與艾相遇於雒縣。艾得書,大喜,即報書,遣紹、良先還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
- ↑ (... 進軍到雒。劉禪遣使奉皇帝璽綬,為箋詣艾請降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (禪又遣太常張峻、益州別駕汝超[sic]受節度,遣太僕蔣顯有命勑姜維。又遣尚書郎李虎送士民簿,領戶二十八萬,男女口九十四萬,帶甲將士十萬二千,吏四萬人,米四十餘萬斛,金銀各二千斤,錦綺綵絹各二十萬匹,餘物稱此。) อรรถาธิยายจากฉู่จี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
- ↑ (艾至城北,後主輿櫬自縛,詣軍壘門。艾解縛焚櫬,延請相見。因承制拜後主為驃騎將軍。諸圍守悉被後主勑,然後降下。艾使後主止其故宮,身往造焉。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾至成都,禪率太子諸王及群臣六十餘人靣縛輿櫬詣軍門,艾執節解縛焚櫬,受而宥之。檢御將士,無所虜畧,綏納降附,使復舊業,蜀人稱焉。輙依鄧禹故事,承制拜禪行驃騎將軍,太子奉車、諸王駙馬都尉。蜀群司各隨高下拜為王官,或領艾官屬。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (以師纂領益州刺史,隴西太守牽弘等領蜀中諸郡。使於緜竹築臺以為京觀,用彰戰功。士卒死事者,皆與蜀兵同共埋藏。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (維等初聞瞻破,或聞後主欲固守成都,或聞欲南入建寧,於是引軍由廣漢、郪道以審虛實。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (尋被後主敕令,乃投戈放甲,詣會於涪軍前,將士咸怒,拔刀斫石。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (維至廣漢郪縣,令兵悉放器仗,送節傳於胡烈,便從東道詣會降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (干寶晉紀云:會謂維曰;「來何遲也?」維正色流涕曰:「今日見此為速矣!」會甚奇之。) อรรถาธิบายจากจิ้นจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ 85.0 85.1 85.2 85.3 85.4 85.5 85.6 ([永安六年]冬十月,蜀以魏見伐來告。 ... [十一月]甲申,使大將軍丁奉督諸軍向魏壽春,將軍留平別詣施績於南郡,議兵所向,將軍丁封、孫異如沔中,皆救蜀。蜀主劉禪降魏問至,然後罷。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
- ↑ 86.0 86.1 ([永安]六年,魏伐蜀,奉率諸軍向壽春,為救蜀之勢。蜀亡,軍還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 55.
- ↑ (艾言司馬文王曰:「兵有先聲而後實者, ... 望風而從矣。」文王使監軍衞瓘喻艾:「事當須報,不宜輙行。」艾重言曰:「銜命征行, ... 終不自嫌以損于國也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (世語曰:會善效人書,於劒閣要艾章表白事,皆易其言,令辭指悖傲,多自矜伐。又毀文王報書,手作以疑之也。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (會內有異志,因鄧艾承制專事,密白艾有反狀,於是詔書檻車徵艾。司馬文王懼艾或不從命,勑會並進軍成都,監軍衞瓘在會前行,以文王手筆令宣喻艾軍,艾軍皆釋仗,遂收艾入檻車。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾父子旣囚,鍾會至成都,先送艾,然後作亂。會已死,艾本營將士追出艾檻車,迎還。瓘遣田續等討艾, ...) Sanguozhi vol. 28.
- ↑ (世語曰:師纂亦與艾俱死。纂性急少恩,死之日體無完皮。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (... 乃詭說會曰:「聞君自淮南已來, ... 而從赤松游乎?」會曰:「君言遠矣,我不能行,且為今之道,或未盡於此也。」維曰:「其佗則君智力之所能,無煩於老夫矣。」由是情好歡甚。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (會所憚惟艾,艾旣禽而會尋至,獨統大衆,威震西土。自謂功名蓋世,不可復為人下,加猛將銳卒皆在己手,遂謀反。欲使姜維等皆將蜀兵出斜谷,會自將大衆隨其後。旣至長安,令騎士從陸道,步兵從水道順流浮渭入河,以為五日可到孟津,與騎會洛陽,一旦天下可定也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (會以五年正月十五日至,其明日,悉請護軍、郡守、牙門騎督以上及蜀之故官,為太后發喪於蜀朝堂。矯太后遺詔,使會起兵廢文王,皆班示坐上人,使下議訖,書版署置,更使所親信代領諸軍。所請群官,悉閉著益州諸曹屋中,城門宮門皆閉,嚴兵圍守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (會帳下督丘建本屬胡烈,烈薦之文王,會請以自隨,任愛之。 ... 或謂會:「可盡殺牙門騎督以上。」會猶豫未決。十八日日中,烈軍兵與烈兒雷鼓出門,諸軍兵不期皆鼓譟出,曾無督促之者,而爭先赴城。 ... 斯須,門外倚梯登城,或燒城屋,蟻附亂進,矢下如雨,牙門、郡守各緣屋出,與其卒兵相得。姜維率會左右戰,手殺五六人,衆旣格斬維,爭赴殺會。會時年四十,將士死者數百人。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (時大將軍閻宇都督巴東,拜憲領軍,為宇副貳。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
- ↑ (魏之伐蜀,召宇西還,憲守永安城。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
- ↑ 98.0 98.1 98.2 (魏之伐蜀,召[閻]宇西還,留宇二千人,令[羅]憲守永安城。) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 41.
- ↑ (及成都敗,城中擾動,邊江長吏皆棄城走,憲斬亂者一人,百姓乃安。知劉禪降,乃率所統臨於都亭三日。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
- ↑ 100.0 100.1 100.2 100.3 (及鐘會、鄧艾死,百城無主,吳又使步協西征,憲大破其軍。憲臨江拒射,不能禦,遣參軍楊宗突圍北出,告急安東將軍陳騫,又送文武印綬、任子詣晉王。協攻城,憲出與戰,大破其軍。孫休怒,復遣陸抗等帥衆三萬人增憲之圍。被攻凡六月日而救援不到,城中疾病大半。) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 41.
- ↑ 101.0 101.1 (孫休怒,又遣陸抗助協。憲距守經年,救援不至,城中疾疫太半。會荊州刺史胡烈等救之,抗退。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
- ↑ (晉王即委前任,拜憲淩江將軍,封萬年亭侯。) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 41.
- ↑ (鐘會伐蜀,以預為鎮西長史。) จิ้นชู เล่มที่ 34.
- ↑ "滅蜀記 [Mie Shu Ji]". www.books.com.tw (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 8 June 2018.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซันกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาง เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
- ล่อกวนตง (คริสต์ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้).
- Killigrew, John H. (2001), "A Case Study of Chinese Civil Warfare: The Cao-Wei Conquest of Shu-Han in AD 263", Civil Wars, 4 (4): 95–114, doi:10.1080/13698240108402489, S2CID 144705304
- Selected Examples of Battles in Ancient China (1st ed.). Beijing: Chinese Publishing House. 1984.
- Yuan, Tingdong (1988). War in Ancient China (1st ed.). Chengdu: Sichuan Academy of Social Science Publishing House. ISBN 7-80524-058-2.
- Zhang, Xiaosheng (1988). General View of War of Ancient China (1st ed.). Beijing: Long March Publishing House. ISBN 7-80015-031-3.