จังหวัดศรีสะเกษ
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
จังหวัดศรีสะเกษ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Si Sa Ket |
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง:
| |
คำขวัญ: หลวงพ่อโตคู่บ้าน ถิ่นฐานปราสาทขอม ข้าวหอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒธรรม เลิศล้ำสามัคคี | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดศรีสะเกษเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | อนุพงศ์ สุขสมนิตย์[1] (ตั้งแต่ พ.ศ. 2566) |
พื้นที่[2] | |
• ทั้งหมด | 8,839.976 ตร.กม. (3,413.134 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 21 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[3] | |
• ทั้งหมด | 1,450,333 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 9 |
• ความหนาแน่น | 164.06 คน/ตร.กม. (424.9 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 21 |
รหัส ISO 3166 | TH-33 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | โคกขัณฑ์, โคกขัน, ขุขันธ์ |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | ลำดวน |
• ดอกไม้ | ลำดวน |
• สัตว์น้ำ | กบนา |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ถนนเทพา ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ 33000 |
• โทรศัพท์ | 0 4561 1139 |
เว็บไซต์ | http://www.sisaket.go.th/ |
ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลักษณะภูมิประเทศทางตอนใต้เป็นที่สูง และค่อย ๆ ลาดต่ำไปทางเหนือลงสู่ลุ่มแม่น้ำมูลซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดยู่[4] ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 8,839.90 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,524,987.5 ไร่ ประกอบด้วยอำเภอ 22 อำเภอ[4] มีประชากรราว 1.47 ล้านคน [5] ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ซึ่งพูดภาษาถิ่นต่าง ๆ กัน อาทิ ภาษาลาว (สำเนียงลาวใต้ซึ่งใช้ครอบคลุมทั้งฝั่งอุบลราชธานีและจำปาศักดิ์) ภาษากูย ภาษาเยอ และภาษาเขมรถิ่นไทย ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนและนับถือผีมาแต่เดิม[6][7][8]
มีการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศรีสะเกษมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนเกิดพัฒนาการที่เข้มข้นในสมัยอาณาจักรขอมซึ่งได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมหลายประการไว้ เช่น ปราสาทหินและปรางค์กู่ ครั้นในสมัยอาณาจักรอยุธยาตอนปลาย ได้มีการยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน(บริเวณใกล้ ๆ ปราสาทกุด หรือปราสาทสี่เหลียมโคกลำดวน วัดเจ็ก อำเภอขุขันธ์ ในปัจจุบัน) เป็นเมืองขุขันธ์ [6][9][10] ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2450 ได้มีการย้ายเฉพาะ ศาลากลางเมืองขุขันธ์ จากที่ตั้งเดิม คืออำเภอเมืองขุขันธ์ ไปตั้งบริเวณศาลากลางเมืองศีร์ษะเกษ แต่ยังคงใช้ชื่อ ศาลากลางเมืองขุขันธ์ ส่วนพื้นที่ อำเภอเมืองขุขันธ์ เมืองขุขันธ์ ประเทศสยาม ยังอยู่ที่ตั้งแห่งเดิม โดยเหตุผลที่ย้ายเฉพาะ ศาลากลางเมืองขุขันธ์ จากที่ตั้งเดิมก็เพื่อความมั่นคง กล่าวคือ
- พื้นที่ซึ่งจะยกฐานะหรือตั้งเป็นจังหวัด มักจะไม่ตั้งในพื้นที่ติดพรมแดนของประเทศเพื่อนบ้าน
- เพื่อป้องกันการแสวงหาเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจผู้ล่าเมืองขึ้น โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น
- เพื่อรองรับความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะยุคนั้น จะสร้างเส้นทางรถไฟจากโคราชสู่ปลายทางอุบลราชธานี
- เพื่อให้ห่างไกลจากการรบกวนของผู้ที่ยังเคารพศรัทธาท้าวบุญจันทร์(น้องชายเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๙) ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎซึ่งถูกปราบและเสียชีวิต
พ.ศ. 2459 ตรงกับวันที่ วันที่ 19 พฤษภาคม 2459 ร. 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ผู้ว่าราชการเมือง เรียกว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" เมืองขุขันธ์ จึงเปลี่ยนนามจากเดิมเป็น จังหวัดขุขันธ์
พ.ศ. 2460 พื้นที่ของ อำเภอเมืองขุขันธ์ จังหวัดขุขันธ์ ประเทศสยาม ยังคงอยู่ที่ตั้งเดิม แต่ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2460 อำเภอเมืองขุขันธ์ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอห้วยเหนือ และอำเภอเมืองศีร์ษะเกษ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอศีร์ษะเกษ (ที่มา : ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 34 หน้า 40 วันที่ 29 เม.ย. 2460)
พ.ศ. 2481 เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นชื่อ จังหวัดศีร์ษะเกษ เปลี่ยนชื่อ อำเภอห้วยเหนือ เป็นชื่อ อำเภอขุขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษจิกายน 2481 เป็นต้นมา
แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญในจังหวัดศรีสะเกษ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ผามออีแดง สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ ปรางค์กู่ ปราสาทสระกำแพงน้อย ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทเยอ ปราสาทบ้านปราสาท ปราสาทโดนตวล บึงนกเป็ดน้ำไพรบึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา[4] ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้นพึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลัก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าวหอมมะลิ ผลไม้ เช่น ทุเรียน และเงาะ พืชสวน เช่น หอมแดง กระเทียม และยางพารา[6] ตลอดจนพืชไร่ เป็นต้นว่า มันสำปะหลัง และถั่วลิสง [4]
ที่มาของชื่อ
[แก้]คำว่า "ศรีสะเกษ" นั้นมีที่มาจากคำ "ศรีศิขเรศวร"[11] (ศรี+ศิขร+อิศวร) แปลว่า พระอิศวรซึ่งเป็นเจ้าแห่งภูผา อันเป็นชื่อของปราสาทพระวิหาร ก่อนที่จะกร่อนเสียงเป็น "ศรีศิขเรศ" และเพี้ยนเป็น "ศรีสะเกษ" ในเวลาต่อมา
ประวัติศาสตร์
[แก้]ก่อนประวัติศาสตร์
[แก้]หลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ แสดงให้เห็นการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่นี้ย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (สมัยก่อนที่จะมีการใช้ตัวอักษรหรือภาษาเขียน จารึกเรื่องราวต่างๆในสังคมมนุษย์) ตอนปลาย ในยุคเหล็กราว 2,500 ปีมาแล้ว เช่น แหล่งภาพสลักบริเวณผาเขียน-ผาจันทน์แดง ในเขตอำเภอขุนหาญ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก อันเป็นเขตพื้นที่สูงทางตอนใต้ของจังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา นอกจากนั้นยังร่องรอยชุมชนสมัยเหล็กอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ทางตอนเหนือของจังหวัด เช่น กลุ่มชุมชนโบราณในเขตอำเภอราษีไศล ซึ่งปรากฏร่องรอยชุมชนที่มีหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ ที่ได้รับการฝังศพพร้อมกับวัตถุอุทิศอันเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็กและภาชนะดินเผา ตลอดจนแบบแผนพิธีกรรมฝังศพแบบวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล-ชี หรือที่เรียกว่า"วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้"[6]
สมัยทวารวดี
[แก้]ต่อมาในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16 (ประมาณ 1,400 - 1,200 ปีมาแล้ว) ชุมชนสมัยเหล็ก (โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ทางตอนเหนือของจังหวัด) ได้มีพัฒนาการต่อมาเป็นชุมชนในพุทธศาสนา นิกายเถรวาทหรือหินยาน มีการจารึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ด้วยตัวอักษรหรือภาษาเขียนแบบโบราณ จึงจัดเป็นช่วง "ยุคหรือสมัยประวัติศาสตร์" ตอนต้น รวมทั้งมีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ โดยการขุดคูน้ำและสร้างคันดินล้อมรอบเมือง เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูแล้งและใช้เป็นแนวป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ชุมชนโบราณสำคัญที่มีลักษณะผังเมืองดังกล่าวนี้ เช่น เมืองโบราณที่มีคูน้ำ-คันดินในเขตอำเภอราษีไศล, เมืองโบราณโคกขัณฑ์(គោកខណ្ឌ)ซึ่งเป็นที่ตั้งตัวอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน [6]
สมัยขอมหรือเขมรโบราณ
[แก้]ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-17 (ประมาณ 1,300 - 900 ปีมาแล้ว) ก็มีชุมชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับกระแสวัฒนธรรมแบบขอมโบราณตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตตอนกลางและตอนล่างของพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่นับถือเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-16) และพุทธศาสนา นิกายมหายาน (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17) โดยปรากฏเป็นชุมชนขนาดน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง หลายชุมชมมีการก่อสร้างศาสนาสถานซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันคือปราสาทหินโบราณ เช่น ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่[12] ปราสาทหินสระกำแพงน้อย[13] ใน เขตอำเภออุทุมพรพิสัย ปราสาทบ้านปราสาท อำเภอห้วยทับทัน[14] ปราสาทกู่สมบูรณ์ อำเภอบึงบูรพ์ ปราสาททามจาน(หรือปราสาทบ้านสมอ)[15] ปราสาทปรางค์กู่ อำเภอปรางค์กู่ ปราสาทตาเล็ง อำเภอขุขันธ์ ปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง ปราสาทภูฝ้าย ปราสาทพระวิหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณพะลานหินเขตผามออีแดง ปราสาทโดนตวล อำเภอกันทรลักษ์ ปราสาทหนองปราสาท ปราสาทตำหนักไทร อำเภอขุนหาญ เป็นต้น โบราณสถานที่เรียกว่าปราสาทหินแบบศิลปะขอมที่พบเป็นจำนวนมากในจังหวัดศรีสะเกษ ส่งผลให้จังหวัดศรีสะเกษได้รับสมญานามว่า "เมืองปรางค์ร้อยกู่" หรือ "นครร้อยปราสาท" [6] [16]
สมัยอยุธยา
[แก้]การสร้างบ้านแปงเมืองซึ่งเป็นต้นเค้าของการพัฒนามาเป็นจังหวัดศรีสะเกษ ได้ปรากฏชัดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ตั้งแต่ พ.ศ. 2232 ในระยะนั้น เดิมเมืองขุขันธ์ หรือพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษปัจจุบัน มีกลุ่มชนเผ่าที่ถูกราชสำนักกรุงเทพ เรียกว่า เขมรป่าดง จำนวน 6 กลุ่ม อาศัยอยู่กันมานานแล้วและได้ตั้งเป็นชุมชน ต่าง ๆ ดังนี้ [17]
- ตากะจะ(หรือตาไกร) และ เชียงขันธ์ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน (บริเวณใกล้ปราสาทกุด หรือปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน วัดเจ็ก ในเขตอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบัน)
- เชียงปุม มาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านเมืองที ต่อมาได้สร้างบ้านเมืองอยู่ที่บ้านคูปทายและยกเป็นปทายสมันต์ (จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน)ส่วนเมืองทีให้เชียงปิดน้องชายเป็นหัวหน้าปกครอง
- เชียงฆะ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านอัจจะปนึง หรือเมืองดงยาง (ในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบัน)
- เชียงชัย มาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านจารพัต (ในเขตอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบัน)
- เชียงสง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเมืองลิง (ในเขตอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบัน)
- เชียงสี (ตากะอาม) มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่กุดหวาย (อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบัน)
ชุมชนชาวเขมรป่าดงดังกล่าวได้อยู่อาศัยเรื่อยมาจนล่วงเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ใน พ.ศ. 2302 รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ พญาช้างเผือกมงคลในราชสำนักแตกโรงมาจากกรุงศรีอยุธยา หนีเข้าป่าไปรวมอยู่กับโขลงช้างป่าในเทือกเขาพนมดงรัก ตากะจะหรือตาไกรและเชียงขัน พร้อมด้วยหัวหน้าชนเผ่าเขมรป่าดงได้รับอาสาตามจับพญาช้างเผือกได้แล้วนำส่งถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยความชอบในครั้งนี้จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ "ตากะจะ" หรือ "ตาไกร" เป็น "หลวงแก้วสุวรรณ" ตำแหน่งหัวหน้านายกอง ปกครองหมู่บ้าน โดยโปรดให้ยก บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนขึ้นเป็น เมือง "ขุขันธ์" ซึ่งอยู่ที่บริเวณใกล้ปราสาทกุด หรือปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน วัดเจ็ก อำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน จนล่วง พ.ศ. 2306 หลวงแก้วสุวรรณนำเครื่องบรรณาการถวายพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา ความชอบครั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้หลวงแก้วสุวรรณ เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก[18][19] [20]
หม่อมอมรวงศ์วิจิตร กล่าวไว้ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานกล่าวว่า เดิมพื้นที่ในมณฑลลาวทางนี้ เมื่อก่อนจุลศักราชได้ 1,000 ปี ก็เป็นทำเลป่าดง (เป็นการเรียกไปเองของสมัยกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งเป็นที่อาศัยของพวกคนอันสืบเชื้อสายมาแต่ขอม ต่อมาเรียกกันว่า "กูย (กวย)" ซึ่งยังมีอาศัยอยู่ในฝั่งโขงตะวันออก ซึ่งปรากฏหลักฐานการสร้างปราสาทหิน และจากอิฐดินเผาจำนวนมากมีกระจายอยู่ทั่วไปในแถบอิสานใต้ ละโว้ (ลพบุรี) ไปจนถึงในเขตภาคกลาง (สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือสมัยอาณาจักรทาวราวดี) และภาคเหนือตอนล่าง
เมืองศรีสะเกษมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ยุคขอมเรืองอำนาจแต่ที่นี้จะกล่าวถึงประวัติเมืองศรีสะเกษในช่วงที่เริ่มสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่และเริ่มเป็นที่รู้จัก เมืองศรีสะเกศ เมืองศีร์ษะเกษหรือเมืองศรีสะเกษ ในเอกสารบางฉบับอาจจะสะกดแตกต่างกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางภาษาในยุคสมัยนั้น ๆ ซึ่งในปัจจุบันใช้คำสะกดว่า “ศรีสะเกษ”
เมืองศรีสะเกศปรากฏความในตำนานเอกสารโบราณของอาณาจักรล้านช้างเกี่ยวกับการกำเนิดอาณาจักรล้านช้างร่มขาวจำปาศักดิ์ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้อาณาจักรล้านช้างแบ่งออกเป็น 3 อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง และอาณาจักรล้านช้างร่มขาวจำปาศักดิ์ ปรากฏความเมื่อพุทธศักราช 2237 อาณาจักรล้านช้างเกิดความระส่ำระสาย มีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น เนื่องจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเจ้านครหลวงเวียงจันทน์สวรรคต พระยาเมืองจันทน์เป็นขบถแย่งชิงราชสมบัติ และต้องการได้พระนางมังคลา ราชธิดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชมาเป็นมเหสี แต่พระนางไม่ยินยอมจึงได้หนีไปอาศัยอยู่กับพระครูยอดแก้ว แห่งวัดโพนเสม็ดหรือที่เรารู้จักกันในนาม เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ญาคูขี้หอม) ขณะนั้นพระนางกำลังทรงพระครรภ์ ท่านพระครูยอดแก้วจึงส่งไปอยู่ภูชะง่อนหอคำ ได้ประสูติพระโอรสทรงพระนามว่า “เจ้าหน่อกษัตริย์” ฝ่ายพระยาเมืองจันทน์เห็นราษฎรนับถือท่านพระครูยอดแก้วมากจึงคิดกำจัด ท่านพระครูยอดแก้วได้ทราบจึงพาราษฎรพร้อมทั้งศิษยานุศิษย์ประมาณ 3,000 คน อพยพหนีจากเวียงจันทน์ไปอยู่ที่บ้านงิ้วพันลำสมสนุก แขวงเมืองนครพนม แล้วให้คนเชิญเอาเจ้าหน่อกษัตริย์ที่ภูชะง่อนหอคำไปอยู่ด้วย เมื่อพระครูไปถึงตำบลใดก็มีราษฎรนิยมนับถือเข้าเป็นพวกด้วยเป็นอันมาก ท่านพระครูได้พาเหล่าราษฎรผู้ติดตามลงไปถึงแดนเขมร แขวงเมืองบันทายเพชร แสดงความจำนงจะอยู่ในเขตแดนเขมร แต่ขุนนางท้องถิ่นกลับเรียกเอาเงินครอบครัวละ 8 บาท ท่านพระครูเห็นว่าจะเป็นการเดือดร้อนแก่ราษฎร จึงอพยพขึ้นตามลำน้ำโขงถึงนครกาละจำปานาคบุรีศรี จึงหยุดตั้งพักอยู่ที่เมืองนั้น ราษฎรที่อพยพตามมาก็แยกย้ายกันไปอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ปะปนกับพวกข่าส่วยเขมรซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิม ฝ่ายเจ้านางแพง เป็นผู้ปกครองนครกาละจำปานาคบุรีศรี เห็นผู้คนนับถือพระครูเป็นจำนวนมาก ประกอบกับ เจ้านางแพงเป็นสตรีจึงมอบอำนาจการปกครองให้ท่านพระครูยอดแก้วเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ท่านพระครูยอดแก้วเห็นว่า กิจการบ้านการเมืองเป็นเรื่องของฆราวาส ไม่เหมาะสมแก่สมณวิสัย จนถึงพุทธศักราช 2252 เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม มีการทะเลาะวิวาทกันขึ้น ท่านพระครูจึงให้อำมาตย์ไปเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระมารดาซึ่งอยู่บ้านงิ้วสมสนุกลงไปยังเมืองกาละจำปานาคบุรีศรี พระครูพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ จึงอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นเอกราชตามราชประเพณี และเปลี่ยนนามเมืองนคร กาละจำปานาคบุรีศรี เป็นนครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี เมื่อพุทธศักราช 2256 ทรงพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร
เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรขึ้นครองราชสมบัติแล้วจึงได้รีบจัดการปกครองบ้านเมือง ตั้งตำแหน่งท้าวพระยาเสนาซ้ายขวา ตามแบบกรุงศรีสัตนาคนหุตครบทุกตำแหน่ง และทรงสร้างวัดหลวงแห่งใหม่เรียกว่า "วัดหลวงใหม่" แล้วนิมนต์ท่านพระครูยอดแก้วเข้าไปปกครองวัดนั้น พระครูยอดแก้วจึงได้รับการยกย่องเป็นเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก เมื่อส่งมอบหน้าที่ปกครองบ้านเมืองแก่เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรแล้ว เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กจึงจัดส่งศิษย์ที่มีความรู้ความสามารถออกไปรักษาดินแดนและตั้งเมืองต่าง ๆ โดยให้ขึ้นตรงต่ออำนาจปกครองของนครจำปาศักดิ์ ตั้งแต่บัดนั้นอาณาเขตนครจำปาศักดิ์จึงแผ่ครอบคลุมบริเวณพื้นที่อีสานตอนใต้ ได้แก่บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ ในปัจจุบัน สำหรับศิษย์เอกที่เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กแห่งนครจำปาศักดิ์ ส่งออกไปหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองปรากฏตามหลักฐานมีหลายท่าน ดังนี้
- จารย์หวด ไปรักษาด่านบ้านดอนโขงในลำน้ำโขง เรียกว่าดอนโขง เป็นเจ้าเมืองโขง
- ท้าวสุด เป็นพระยาไชยเชษฐา ไปรักษาบ้านหางโคกปากน้ำเซทางฝั่งโขงตะวันออก เป็นเจ้าเมืองเชียงแตง
- จารย์แก้ว ไปรักษาบ้านทม เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ
- ท้าวมั่น ข้าหลวงเดิมของนางแพนเป็นหลวงเอก ไปรักษาบ้านโพน เป็นเจ้าเมืองสาระวัน
- จารย์เชียง เป็นเจ้าเมืองศรีนครเขต อยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษปัจจุบัน
- ท้าวพรหม เป็นราชบุตรโคตร ไปรักษาด่านบ้านแก้วอาเฮิม เป็นเจ้าเมืองคำทองใหญ่
- จันทรสุริยวงศ์ ไปรักษาด่านบ้านโพนสิม เป็นเจ้าเมืองตะโป ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต
- จารย์สม ไปรักษาบ้านทุ่งอิฐกระบือ เป็นเจ้าเมืองอัตปือ
- บุตรพะละงุม เป็นขุนหนักเฒ่า ไปรักษาบ้านโคงเจียง เป็นเจ้าเมืองเชียงเจียง[21] อำเภอโขงเจียม ในปัจจุบัน
หลังจากที่เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กส่งศิษย์เอกไปปกครองเมืองต่าง ๆ แล้ว ในส่วนของจารย์เชียง ที่ได้ปกครองเมืองศรีนครเขต (อยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของเมืองศรีนครเขตอีกเลย พบเป็นเมืองร้างที่ถูกทิ้งร้างไว้จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแล้ว
สมัยธนบุรี
[แก้]ลุถึงสมัยกรุงธนบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2319–2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) โปรดเกล้าฯ มีรับสั่งให้พระยาจักรี (ทองด้วง) ไปทำศึกปราบกบฏกับเวียงจันทน์ พระไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) และหลวงปราบ ได้เกณฑ์กำลังไปช่วยรบอย่างเข้มแข็งจนได้รับชัยชนะทุกครั้ง ถือว่ามีความดีความชอบจึงได้โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน[22][23][24]
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
[แก้]ใน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้แยกบ้านโนนสามขาสระกำแพงออกจากเมืองขุขันธ์ แล้วตั้งเป็นเมืองใหม่คือ เมืองศรีสะเกษ ต่อมาใน พ.ศ. 2354 เมืองขุขันธ์ ขอพระราชทานพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ยกบ้านลังเสนเป็น เมืองกันทรลักษณ์ แล้วย้ายเมืองกันทรลักษณ์มาอยู่ที่บ้านลาวเดิม และยกบ้านแบบเป็น เมืองอุทุมพรพิสัย แล้วย้ายไปอยู่ที่บ้านปรือ ต่อมาใน พ.ศ. 2386 ได้จัดตั้งบ้านลำโดมใหญ่ เป็น เมืองเดชอุดม ขึ้นกับเมืองขุขันธ์ ต่อมาใน พ.ศ. 2388 ได้ตั้งบ้านไพรตระหมักและบ้านตาสี เป็น เมืองมโนไพร ขึ้นกับเมืองขุขันธ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา เรียกว่า เมืองมะลูเปรย)
ต่อมาจะกล่าวถึงประวัติเมืองศรีสะเกษควบคู่กับประวัติเมืองขุขันธ์ เนื่องจากเป็นเมืองเก่าที่คู่กับอำเภอเมืองของจังหวัดศรีสะเกษมาอย่างช้านาน ในปีพุทธศักราช 2325 พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ ซึ่งสืบเชื้อสายของจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วมงคลได้ขอตั้งบ้านโนนสามขาสระกำแพง ขึ้นเป็นเมืองแยกออกจากเมืองขุขันธ์ จากหนังสือพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง ได้ระบุถึงสาเหตุของพระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) ที่ขอตั้งเมืองใหม่ขึ้นนั้น เนื่องจากพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (เชียงขันธ์) ได้มีใบบอกกราบบังคมทูลข้อตั้งท้าวบุญจันทร์ บุตรเลี้ยงเป็นพระไกร ผู้ช่วยเมืองขุขันธ์ อยู่มาวันหนึ่งพระยาขุขันธ์ (เชียงขันธ์) เผลอเรียกพระไกร (ท้าวบุญจันทร์) ว่า ลูกเชลย พระไกร (ท้าวบุญจันทร์) จึงโกรธ และผูกพยาบาท ภายหลังมีพ่อค้าญวน 30 คน มาซื้อโคกระบือที่เมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์ (เชียงขันธ์) จึงอำนวยความสะดวกพร้อมทั้งจัดที่พักให้ญวนตลอดจนให้ไพร่นำทางกลุ่มพวกญวนไปช่องโพย ให้พวกญวนนำโค กระบือไปยังเมืองพนมเปญได้สะดวก พระไกรจึงได้กล่าวโทษมายังกรุงเทพฯ จากเหตุการณ์ที่พระไกร ได้กล่าวหาพระยาขุขันธ์ (เชียงขันธ์) ในข้อหากบฏคบคิดร่วมกับญวน จนเป็นเหตุให้พระยาขุขันธ์ (เชียงขันธ์) ถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ และพระไกรได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 3 แทนนั้น ทำให้พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ ในขณะนั้นไม่พอใจ เนื่องจากพระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) มีศักดิ์เป็นหลานของพระยาขุขันธ์ (เชียงขันธ์) อีกทั้งเกิดความระแวงเกรงกลัวว่าตัวท่านอาจจะไม่มีความปลอดภัยในชีวิตตนเองและครอบครัวในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์ จึงต้องตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อกราบบังคมทูลขอแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนแยกตั้งเป็นเมืองใหม่ โดยกราบบังคมทูลขอแยกบ้านโนนสามขาสระกำแพง และทูลขอเป็นเจ้าเมืองด้วยตนเอง ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นพระทัยและเห็นว่ามีความชอบธรรมมีเหตุมีผล จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านโนนสามขาสระกำแพง ขึ้นเป็น เมืองศีรษะเกศ ในปีพุทธศักราช 2325 และพระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนวงษา เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านแรก (บรรดาศักดิ์และราชทินนามที่ได้รับเป็นสัญลักษณ์ที่ลูกหลานเหลนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม ที่มีเชื้อสายสืบต่อกันมาทุกวันนี้เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ลูกหลานของเจ้าแก้วมงคลหรือจารย์แก้ว เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านแรก (สุวรรณภูมิ) ที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวง พระ พระยา ในราชทินนามรัตนวงศา คงหมายถึงต้นตระกูลที่ชื่อว่า แก้ว[25])
เมื่อพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองแล้ว พร้อมกันนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวชม บุตรพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เป็นปลัดเมือง และให้ท้าวบุญจันทร์ บุตรท้าวด้วง หลานท้าวชม เป็นยกบัตรเมืองศรีสะเกศ ทำราชการการขึ้นต่อกรุงเทพฯ เมื่อพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านโนนสามขาสระกำแพง แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะกันดารน้ำ ไม่เหมาะสมที่จะขยายเป็นเมืองใหญ่ในอนาคตได้ ต่อมาพุทธศักราช 2328 จึงได้เลือกที่ตั้งเมืองแห่งใหม่เป็นที่สูง มีบริเวณกว้างขวาง ใกล้ลำน้ำแห่งหนึ่งบริเวณแห่งนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ลำน้ำนั้นก็มีความเย็นใสสะอาดดี และท่านให้ชื่อลำน้ำนั้นว่าห้วยสำราญ ซึ่งอยู่บริเวณบ้านพันทาเจียงอี (เขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษทุกวันนี้) จึงได้ย้ายเมืองศรีสะเกศไปตั้งที่บ้านหนองพันทาเจียงอี ตั้งศาลากลางที่ริมน้ำห้วยสำราญ (บริเวณศาลากลางในปัจจุบัน) ปลูกสร้างบ้านพักข้าราชการ ขุนนางเรียงรายไปทางด้านหน้าและหลังศาลากลาง เรียกว่าคุ้มโฮงหรือคุ้มเมืองเก่าเลยหมู่บ้านพักข้าราชการออกไป เรียกว่า คุ้มตลาดนอก เลยคุ้มตลาดนอกออกไปเป็นโรงช้าง (ตรงวัดป่ามิ่งเมืองทุกวันนี้) เมื่อช้างเชือกใดเจ็บป่วยก็แยกออกไปรักษาที่หนองผักแว่นหรือหนองช้างโซ ต่อมาก็เรียกบ้านเจียงอี (เป็นภาษาส่วย แปลว่า ช้างป่วย) แล้วเรียกว่าเมืองศรีสะเกศตามเดิม ในส่วนที่ตั้งเมืองเดิมบ้านโนน สามขาสระกำแพงก็คงเรียกบ้านสระกำแพงอยู่จนเท่าทุกวันนี้[26]
จากบันทึกของคุณสุนทร สุริยุทธ เครือญาติสายสัมพันธ์กับสกุลเจ้าเมืองศรีสะเกษได้บันทึกเกี่ยวกับเมืองศรีสะเกษว่า เมืองศรีสะเกษปัจจุบันปรากฏว่ามีคุ้มเมืองเก่ามาแต่พร้อมเมืองศรีสะเกษ เรื่องนี้ได้รับคำบอกเล่าจากคุณย่า คือ นางทา สุริยุทธ บุตรีหลวงสุริยะ กรมการเมืองศรีสะเกศ สมัยพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศท่านสุดท้าย เล่าว่าพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) สร้างเมืองขุขันธ์ขึ้นที่บ้านดวนใหญ่ มีภรรยามาจากไหน ชื่ออะไรไม่ทราบ ทราบแต่ว่ามีบุตร 3 คน คนใหญ่เป็นหญิงชื่อ วันนา คนน้องเป็นชายชื่อท้าวอุ่น คนสุดท้องเป็นชายชื่ออะไรไม่ปรากฏ สอดคล้องกับหนังสือเมืองขุขันธ์ ของสภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์ ที่ระบุว่าพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) มีบุตรที่พอปรากฏเป็นหลักฐาน คือ พระรัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ ภายหลังมีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศท่านแรก พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ใน) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 5 และพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (นวน) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 6 แต่ในหนังสือเมืองขุขันธ์ ของสภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์กลับไม่ปรากฏชื่อ นางวันนา เป็นธิดาของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) ด้วย ซึ่งขัดแย้งกับบันทึกส่วนตัวของคุณยายแสง โกมณเฑียร บุตรีของญาพ่อทอง สุวรรณวิเศษ ทายาทของพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านสุดท้าย ได้ระบุไว้ว่า พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เป็นชาติลาว อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ตั้งแต่เป็นหนุ่มกับบิดา มาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ที่เมืองขุขันธ์ บิดามารดาได้ฝากเข้าทำงานกับเจ้าเมืองขุขันธ์ พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ยังโสดจึงได้แต่งงานกับลูกสาวเจ้าเมืองขุขันธ์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศท่านแรก ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือเชียงปุม ณ สุรินทร์ ของสุนัย ราชภัณฑารักษ์ ระบุว่า พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เป็นบุตรเจ้ามืดคำดล เจ้าผู้ครองท่านที่ 2 (ระหว่างพุทธศักราช 2268 - 2306) ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของนครจำปาศักดิ์ ท้าวมืดนั้นเป็นบุตรของจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วมงคล เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิท่านแรก ตรงกับสมัยอาณาจักรอยุธยา (ระหว่างพุทธศักราช 2256 – 2268) ซึ่งเจ้าแก้วมงคลเป็นโอรสของเจ้าศรีวิชัย และเจ้าศรีวิชัยเป็นพระราชนัดดาพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราช พระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์พระองค์ที่ 26 ซึ่งมีพระราชมารดาเป็นพระขนิษฐาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช[27] แต่ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง หากท่านพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ไม่ได้เป็นบุตรของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) แล้ว ทำไมท่านเจ้าเมืองขุขันธ์จึงต้องแต่งตั้งให้ท้าวอุ่นเป็นพระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ เพราะตำแหน่งปลัดเมืองมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนี้มักจะเป็นบุตรของเจ้าเมือง โดยตำแหน่งปลัดเมืองเมื่อเทียบกับระบบการปกครองแบบอาญาสี่ของล้านช้างแล้ว เทียบได้กับตำแหน่งอุปราช (อุปฮาด) หรือว่าที่เจ้าเมืองคนต่อไป
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) สืบเชื้อสายมาจากเจ้าแก้วมงคลและมีสายสัมพันธ์ด้วยกับพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) และข้อสังเกตอีกประการที่สนับสนุนว่าพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) สืบเชื้อสายมาจากเจ้าแก้วมงคล คือ ราชทินนามที่ปรากฏเฉพาะลูกหลานของเจ้าแก้วมงคล คือ ราชทินนาม "รัตนวงษา" ดังนั้น เมื่อเรียบเรียงเอกสารต่าง ๆ จะพบว่า พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) มีพี่น้องปรากฏนาม ดังนี้
- นางวันนา สมรสกับ จารย์ศรีธรรมา ช่างหลวงนครจำปาศักดิ์ ผู้บูรณะวัดพระโต เมืองศรีสะเกศ
- พระรัตนวงษา (ท้าวเซียง) เจ้าเมืองท่งศรีภูมิ (สุวรรณภูมิ) ท่านที่ 4
- พระรัตนวงษา (ท้าวสูน) เจ้าเมืองท่งศรีภูมิ (สุวรรณภูมิ) ท่านที่ 5
- พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านแรก
หลังจากที่พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) สมรสกับธิดาคนโตของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก เมื่อสมรสแล้วก็ได้อพยพมาตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านดวนใหญ่ ท้าวอุ่นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางที่พระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ ต่อมาได้อพยพจากบ้านดวนใหญ่ มาตั้งเมืองใหม่ที่บ้านโนนสามขาสระกำแพง (ดังที่เล่าประวัติไว้ข้างต้น) ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือเมืองศรีสะเกศปัจจุบัน และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนวงษา ปกครองเมืองศรีสะเกศสืบต่อไป พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศอยู่ได้ 3 ปี ถึงแก่กรรมในพุทธศักราช 2328
พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) มีบุตรชาย 2 ท่าน ได้แก่
- พระจันตะประเทศ (ท้าวคำพาวเมืองแสน) เจ้าเมืองชลบถวิบูลย์ท่านแรก ปัจจุบันคือ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
- พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านที่ 2[28]
หลังจากที่พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ถึงแก่กรรม ท้าวชม ผู้เป็นบุตรชาย ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองสืบต่อมา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิเศษภักดี เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศ ท่านที่ 2 และท้าวด้วง ยกบัตรเมืองศรีสะเกศ ได้เป็นพระภักดีโยธา ปลัดเมืองศรีสะเกศ ส่วนหลวงวิเศษ บุตรพระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) เป็นยกบัตรเมืองศรีสะเกศ
พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) มีบุตรเท่าที่ปรากฏนาม 2 ท่าน คือ
- ท้าวด้วง ต่อมาเป็น พระยาวิเศษภักดี (ท้าวด้วง) เจ้าเมืองศรีสะเกศ ท่านที่ 3 [29]
- หลวงวิเศษ ต่อมาเป็น พระภักดีโยธา ปลัดเมืองศรีสะเกศ
ช่วงที่พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) ปกครองเมืองศรีสะเกศไม่ปรากฏเหตุการณ์ใดสำคัญมากนัก แต่พบเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาในเอกสารประวัติวัดมหาพุทธารามกล่าวถึง พุทธศักราช 2328 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) ได้ย้ายเมืองศรีสะเกศจากที่ตั้งเดิมบ้านโนนสามขาสระกำแพงมาตั้งที่บริเวณที่เป็นศาลหลักเมืองในปัจจุบัน ในขณะที่สร้างเมืองนั้นมีคนไปพบหลวงพ่อโต ภายในใจกลางป่าแดง สภาพที่พบนั้นเป็นตุ๊กตาหินที่มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูป ชาวบ้านเล่ากันว่า ตุ๊กตาหินองค์นี้มีอภินิหาร กล่าวคือ หากมองดูจะเห็นเป็นรูปเล็ก ๆ เท่าแขนคนธรรมดา แต่พอเข้าไปโอบกอดด้วยแขนกลับโอบไม่รอบ ราษฎรจึงพากันฉงนใจไปบอกกับจารย์ศรีธรรมา ช่างหลวงเมืองจำปาศักดิ์ พี่เขยพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านแรก จึงได้มีการสมโภชกันขนานใหญ่และได้อุปถัมภ์บำรุง โดยให้สร้างวัดขึ้นบริเวณที่พบหลวงพ่อโต พร้อมทั้งนำอิฐปูนมาสร้างเสริมให้ใหญ่จริง ๆ ดังเห็นในปัจจุบัน ตั้งชื่อว่า วัดพระโตหรือวัดป่าแดง ปัจจุบัน คือ วัดมหาพุทธาราม เมื่อสร้างวัดแห่งนี้แล้ว พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) จึงได้จัดหาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิมาปกครอง ก่อสร้างเสนาสนะที่จำเป็นต่าง ๆ และเจ้าเมืองศรีสะเกศคนต่อ ๆ มาไม่ว่า พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) พระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) ก็ได้อุปถัมภ์เอาใจใส่บำรุงวัดพระโตเสมือนเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกศตลอดมา และในปีเดียวกันนั้นพระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) ได้ทำการชักชวนราษฎร ขุนนาง บริจาคทรัพย์สร้างวัดคู่เมืองศรีสระเกศ และได้ตั้งนามวัดว่า วัดหลวงสุมังค์ ปัจจุบัน คือ วัดหลวงสุมังคลาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่บิดา คือ พระยารัตนวงศา (ท้าวอุ่น) ขอแยกจากเมืองขุขันธ์มาตั้งจังหวัดศรีสะเกษ ณ ปัจจุบัน วัดหลวงสุมังค์นี้ปรากฏมี พระวิเศษมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมืองศรีสะเกศเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่สร้างขึ้นพร้อมเมืองศรีสะเกศประดิษฐานหลังจากที่พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) เจ้าเมืองศรีสะเกศ ท่านที่ 2 ถึงแก่กรรม ท้าวด้วงจึงได้เป็น เจ้าเมืองแทนบิดา และใช้ราชทินนามเดิมของบิดาสืบต่อมา เป็นพระยาวิเศษภักดี (ท้าวด้วง) เจ้าเมืองศรีสะเกศ ท่านที่ 3[30] (ในพงศาวดารอีสานไม่ได้กล่าวถึงเจ้าเมืองศรีสะเกศลำดับต่อมาอีกเลย มากล่าวตอนสิ้นรัชกาลที่ 2 และต้นรัชกาลที่ 3 ทีเดียว) และในปีเดียวกันนี้ ปรากฏเหตุการณ์สำคัญในพงศาวดารว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงแยกย้ายกันขึ้นไปตรวจสำรวจสำมะโนครัว แลตั้งกองสักเลกอยู่ตามหัวเมืองมณฑลอีสานบางเมือง มีเมืองกาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด เป็นต้น แลให้เรียกส่วยผลเร่ว เป็นธรรมเนียมแต่นั้นมา ในระหว่างนั้นพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองศรีสะเกศถึงแก่กรรม”[31]
ดังนั้น ช่วงปลายพุทธศักราช 2367 หลังจากพระยาวิเศษภักดี (ท้าวด้วง) เป็นเจ้าเมืองได้ไม่ถึงปีจึงถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันเป็นผลให้ในช่วงต้นปีพุทธศักราช 2368 พระภักดีโยธา (ท้าวบุญจันทร์) ปลัดเมือง บุตรชายของพระยาวิเศษภักดี (ท้าวด้วง) ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านที่ 4 และโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนหลวงวิเศษ ยกกระบัตรเมืองศรีสะเกศเป็นที่พระภักดีโยธา ปลัดเมืองศรีสะเกศแทน ส่วนราชบุตรเป็นหลวงยกกระบัตรแทน ทิดอูดเป็นหลวงมหาดไทย และขุนไชยณรงค์เป็นหลวงธิเบศร์ ต่อมาเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงกับหลวงธิเบศร์ หลวงมหาดไทย และหลวงอภัย กรมการเมืองศรีสะเกศ ซึ่งเป็นเผ่าลาวทั้งสามคนจึงได้อพยพครอบครัว และบ่าวไพร่ จำนวน 2,756 คน ยกไปตั้ง ณ บ้านลำโดมใหญ่ ซึ่งเป็นตั้งอยู่ระหว่างหว่างเขตเมืองศรีสะเกศกับเมืองนครจำปาศักดิ์ และเมืองอุบลราชธานี บ้านลำโดมใหญ่ ปรากฏมีชายฉกรรจ์ จำนวน 606 คน สำมะโนครัว 2,150 คน ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลำโดมใหญ่ขึ้นเป็นเมืองขนานนามว่า "เมืองเดชอุดม" (ปัจจุบัน คืออำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี) ในวันเสาร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 8 พุทธศักราช 2388 ตามคำขอของหลวงธิเบศร์ที่กราบบังคมทูลขอตั้งบ้านลำโดมใหญ่ขึ้นเป็นเมือง จึงทรง โปรดเกล้าฯ ให้หลวงธิเบศร์ เป็นพระศรีสุระสงคราม เจ้าเมืองเดชอุดม ให้หลวงมหาดไทยเป็นอุปฮาด ให้หลวงอภัยเป็นราชวงศ์ ให้หลวงวิเศษเป็นราชบุตร รักษาราชการแขวง เมืองเดชอุดมทิศเหนือตั้งแต่ลำห้วยเท้าสารฝั่งใต้ ทิศตะวันตกตั้งแต่ลำห้วยเท้าสารไปถึงเชิงเขาเพียงลำน้ำซอง (ฤๅซอม) โอบตามเชิงเขาไปถึงโดมน้อย ทิศตะวันออกตั้งแต่ลำโดมน้อยฟากทิศตะวันตกไปจนถึงลำน้ำมูล ทำราชการขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร
พุทธศักราช 2406 จีนหอยพ่อค้าเมืองอุบลราชธานีออกไปตั้งค้าขายอยู่บ้านเหมือดแอ่ริมน้ำห้วยขะยูง ได้ถูกผู้ร้ายปล้นชิงทรัพย์แล้วฆ่าตาย ญาติของจีนหอยได้ไปร้องต่อเมืองอุบลราชธานี ฝ่ายเมืองอุบลราชธานีแจ้งว่าเป็นเขตของเมืองสุวรรณภูมิ ครั้นไปร้องต่อเมืองสุวรรณภูมิ ฝ่ายเมืองสุวรรณภูมิก็แจ้งว่าเป็นเขตของเมืองศรีสะเกศ ญาติของจีนหอยจึงได้ไปร้องต่อพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา พระยากำแหงสงครามจึงได้เรียกเจ้าเมืองอุบลราชธานี เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และเจ้าเมืองศรีสะเกศมาพร้อมกัน แล้วมีบัญชาว่า ความเรื่องนี้เกิดฆ่ากันตายใกล้เขตเมืองอุบลราชธานี เมืองสุวรรณภูมิ และเมืองศรีสะเกศ ถ้าเมืองใดจับคนร้ายได้จะยกตำบลนี้ให้ขึ้นกับเมืองนั้น ถ้าจับคนร้ายไม่ได้ให้เฉลี่ยกันออกเงินให้ญาติของจีนหอยเป็นเงิน 5 ชั่ง หรือถ้าหัวเมืองใดยินยอมชำระเงิน 5 ชั่ง ให้ญาติของจีนหอยก็จะยกตำบลนี้ให้ขึ้นกับหัวเมืองนั้น เจ้าเมืองอุบลราชธานีจึงยินยอมชำระเงิน 5 ชั่งให้แก่ญาติของจีนหอย ตำบลที่พิพาทกันจึงตกเป็นของเมืองอุบลราชธานีตามคำตัดสินของพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา
พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) ปกครองเมืองศรีสะเกศนานถึง 56 ปี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2368 – 2424 ปรากฏว่าเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 10 พุทธศักราช 2424 พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) ได้นำบ่าวไพร่ออกไปชมการทำนาที่บ้านโนนจาน ตำบลน้ำคำ (ตำบลน้ำคำปัจจุบัน) เวลาค่ำพระยาวิเศษภักดี (บุญจันทร์) ลงอาบน้ำที่ห้วยสำราญ ดำน้ำครู่หนึ่งเป็นลมหน้ามืดจมน้ำ บุตรภรรยา บ่าวไพร่ช่วยเหลือไม่ทัน (ตำราพื้นเมืองเขาว่าเงือกฉก) ครั้นรุ่งขึ้นจึงพบศพ
พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) มีบุตรเท่าที่ปรากฏนาม คือ ท้าวคำปาน ผู้ช่วยเมืองศรีสะเกศ พระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า) ผู้ว่าราชการจังหวัดศีร์ษะเกษท่านแรก พระวิเศษฯ (ท้าวศร) ปลัดเมืองศีร์ษะเกษและมีบุตรหญิงคนหนึ่งชื่อ นางคำ นางคำได้แต่งงานกับท้าวสุริยา หลังจากที่พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) ถึงแก่กรรมแล้ว ปรากฏว่าพระพรหมภักดี (ท้าวโท) ยกกระบัตรเมืองศีร์ษะเกษ บุตรชายหลวงวิเศษ และท้าวคำปาน ผู้ช่วยราชการเมืองศีร์ษะเกษ บุตรชายพระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลี พระบาท เพื่อแย่งกันขอเป็นเจ้าเมือง แต่พอไปถึงกรุงเทพฯ ท้าวคำปาน ผู้ช่วยราชการเมืองศีร์ษะเกษ ได้ป่วยและถึงแก่กรรมเสียก่อน
สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน
[แก้]ใน พ.ศ. 2418 เมืองหนองคายเกิดกบฏโดยกลุ่มฮ่อ โปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพคุมกองทัพจากนครราชสีมา และกองทัพจากเมืองต่างๆ รวมทั้ง เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม และเมืองศรีสะเกษ ไปปราบกบฏฮ่อที่หนองคาย สามารถตีกลุ่มกบฏฮ่อแตกพ่ายยับเยิน ที่เหลือก็ถูกจับเป็นเชลยทั้งหมด ต่อมาใน พ.ศ. 2424 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ เริ่มใช้นโยบายเลิกทาส มีสารตรา ไปยังหัวเมืองด้านตะวันออก ห้ามมิให้จับข่า มาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนและใช้สอยการงานต่าง ๆ และส่วนผู้ใดได้ซื้อหามาจากผู้ใดอยู่ก่อนนั้น ก็ให้อยู่กับผู้นั้นต่อไป เพราะถ้าจะให้ข้าทาสนั้นหลุดพ้นค่าตัวไปก็จะเป็นเหตุเดือดร้อนแก่มูลนายซึ่งเป็นผู้ซื้อและแลกเปลี่ยนมาก่อนนั้น นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้วางโครงข่ายระบบโทรเลขจากเมืองขุขันธ์ไปยังเมืองต่าง ๆ 2 สายคือ สร้างทางสายโทรเลขขุขันธ์-จำปาศักดิ์ และสร้างทางสายโทรเลขจากเมืองขุขันธ์-มโนไพร-เมืองเสียมราฐ นอกจากนี้ยังจัดตั้งบ้านโนนหินกอง เป็น เมืองราษีไศล ขึ้นกับเมืองศรีสะเกษ
พุทธศักราช 2432 กรมการเมืองสุวรรณภูมิ มีใบบอกได้กล่าวโทษพระเจริญราชเดช (ท้าวฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคาม พระยาสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน (ม่วง) เจ้าเมืองสุรินทร์ และพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ว่ากระทำการอันมิชอบ คือ ได้ทำการแย่งชิงแบ่งเอาดินแดนที่เป็นเขตของเมืองสุวรรณภูมิบางส่วนไปตั้งเป็นเมืองขึ้นใหม่ โดยเจ้าเมืองมหาสารคามได้เอาบ้านนาเลา ตั้งเป็นเมืองวาปีปทุม เจ้าเมืองสุรินทร์ได้เอาบ้านทัพค่าย ขอตั้งเป็นเมืองชุมพลบุรี ส่วนพระวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ได้เอาบ้านโนนหินกองขอตั้งเป็นเมืองราษีไศล จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าหลวงกำกับเมืองจำปาศักดิ์และข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณอุบลราชธานีร่วมคณะไปสอบสวนหาข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนได้คำสัตย์จริงดังที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิกล่าวโทษ แต่เนื่องจากพระองค์เห็นว่าการกระทำของเจ้าเมืองทั้ง 3 ดังกล่าว ได้สำเร็จและล่วงเลยมานานแล้ว ยากที่จะรื้อถอนได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้คงเป็นเมืองขึ้นของทั้ง 3 เมืองตามเดิม และในปีนี้ภาคตะวันออกได้เกิดแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ราษฎรไม่ได้ทำไร่ทำนาเป็นเวลาติดต่อกันมาหลายปี ราษฎรได้รับความอดอยาก กินหัวเผือก หัวมันแทนข้าว ในปีนี้ข้าวเปลือกมีราคาสูงถึงเกวียนละ 1 ชั่ง 8 ตำลึง[32]
ใน พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ กองหนึ่งให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว ให้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองสาลวัน เมืองอัตตะปือ เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศีร์ษะเกษ เมืองอุบล เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ เมืองกมลาไสย เมืองสุวรรณภูมิ เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม ทั้งหมดนี้เป็นเมืองใหญ่ 21 เมือง นอกจากนี้ยังมีเมืองขึ้น 43 เมือง อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว และในปีถัดมา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดรูปการปกครองแบบมณทลขึ้น โดยให้เมืองศรีสะเกษขึ้นอยู่กับมณฑลอีสาน[33] ในปีเดียวกัน พระพรหมภักดี (ท้าวโท) ยกกระบัตรเมืองศีร์ษะเกษจึงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ท่านที่ 5 ถือศักดินา 3,000 ส่วนท้าวเหง้าบุตรพระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านที่ 4 เป็น พระภักดีโยธา ปลัดเมือง ถือศักดินา 600 ให้ราชวงศ์ (ปัญญา) บุตรหลวงไชย (สุก) เป็น พระพรหมภักดี ยกกระบัตรเมือง ถือศักดินา 500 และท้าวเกษ บุตรของพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองศีร์ษะเกษ ในปีนี้เจ้าเมืองและกรมการเมือง ได้ขอตั้งบ้านโนนหินกองซึ่งอยู่ในเขตเมืองสุวรรณภูมิ เป็นเมืองราษีไศล และให้เมืองราษีไศลนั้นขึ้นแก่เมืองศีร์ษะเกษ ให้พระพลราชวงศา (จันศรี) บุตรหลวงอภัย กรมการเมือง เป็นพระประจนปัจจนึก เจ้าเมืองราษีไศลคนแรก ถือศักดินา 800 ขึ้นตรงต่อเมืองศีร์ษะเกษแต่นั้นมา และมีตราพระราชสีห์ โปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงแสง (จัน) น้องชายของพระประจนปัจจนึก เป็นหลวงหาญศึกพินาศ ปลัดเมือง ให้ท้าวคำเม็ก บุตรเจ้าเมืองราษีไศลพระประจนปัจจนึก เป็นหลวงพิฆาตไพรี ยกกระบัตรเมืองราษีไศล ขึ้นต่อเมืองศีร์ษะเกษ และในปีนี้มีท้องตราราชสีห์ถึงหัวเมืองตะวันออกให้ราษฎรซื้อขายให้ปันสัตว์พาหนะแก่กัน ทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณเป็นหลักฐานแก่กัน ห้ามมิให้ทำหนังสือเดินทางแก่พวกพ่อค้าที่ไล่ต้อนสัตว์พาหนะไปขาย โดยไม่มีตั๋วพิมพ์รูปพรรณ
ใน พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้ยกทัพขึ้นทางเมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร และเมืองสมโบก ซึ่งสมันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรในฐานะผู้สำเร็จราชการข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานได้รับหน้าที่ผู้อำนวยการป้องกันราชอาณาจักร ให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองสุรินทร์ เมืองศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองมหาสารคาม และเมืองร้อยเอ็ด เมืองละ 800 เมืองสุวรรณภูมิ และเมืองยโสธร เมืองละ 500 ฝึกการรบแล้วส่งกำลังรบเหล่านี้เข้าตรึงการรุกรานของฝรั่งเศสทุกจุด สถานการณ์สงครามสงบลงในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2436 ต่างฝ่ายต่างถอนกำลังรบ กำลังรบของเมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ จึงได้กลับคืนบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่านับแต่ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเกิดศึกสงครามจากข้าศึกนอกราชอาณาจักร ชาวขุขันธ์และชาวศรีสะเกษจะมีบทบาทในการป้องกันบ้านเมืองด้วยเสมอ โดยในระยะเวลาดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อจัดการปกครองภายในหัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นระเบียบแบบแผนยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำหัวเมืองลาวกาวและเปลี่ยนชื่อใหม่ว่ามณฑลลาวกาว สืบแทนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) เป็นข้าหลวงเมืองขุขันธ์ โดยรวมเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์และเมืองสังขะ เป็นบริเวณเดียวกัน ตั้งที่ทำการข้าหลวง ณ เมืองขุขันธ์
พุทธศักราช 2428 – 2450 เป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอันมีผลต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริจัดการปฏิรูปการปกครองตามหัวเมืองต่าง ๆ ให้รวมศูนย์กลางเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน เนื่องจากสมัยก่อนจะมีตำแหน่งเจ้าเมือง ปกครองมีอำนาจในการปกครองท้องถิ่น มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้น ๆ ในหัวเมืองใหญ่นอกราชอาณาเขตหรือบางเมืองเจ้าเมืองหรือเจ้าผู้ครองนครสามารถแต่งตั้งขุนนางเองได้ และเมื่อเจ้าเมืองหรือเจ้าผู้ครองนครถึงแก่กรรม บุตรหลานผู้สืบสกุลก็สามารถเป็นเจ้าเมืองครองอำนาจในเมืองนั้น ๆ สืบต่อไปได้ ด้วยความที่ทรงไม่ไว้วางพระทัยในความไม่มั่นคงของราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองใหญ่ ๆ และมีความสำคัญในแต่ละภูมิภาคจากส่วนกลางมากำกับดูแลเมืองสำคัญและเมืองบริวารอีกชั้นหนึ่งด้วย
สำหรับเมืองศีร์ษะเกษในสมัยนั้นปรากฏชื่อหลวงจำนงยุทธกิจ (อิ่ม) และขุนไผทไทยพิทักษ์ (เกลื่อน) คณะข้าหลวงเมืองศีร์ษะเกษที่ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าเมืองศรีสะเกษ ในปีพุทธศักราช 2433 - 2443 และในปีพุทธศักราช 2443 – 2450 พระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า) ปลัดเมืองศีร์ษะเกษ บุตรชายพระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านที่ 4 ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าราชการเมืองศีร์ษะเกษท่านแรก
พุทธศักราช 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ออกพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ยกเลิกการปกครองแบบอาชญา 4 แบ่งการปกครองเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เมือง มณฑล ตำแหน่งที่ถูกยกเลิกไป คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร โดยเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการเมืองปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมืองตามลำดับ ตำแหน่งท้าวฝ่ายหรือนายเส้น ตาแสง จ่าบ้าน นายบ้าน ซึ่งเดิมเจ้าเมืองแต่งตั้งขึ้นเพื่อปกครองท้องที่ต้องถูกยกเลิกไปด้วย ผู้ครองเมืองเล็ก ๆ ที่ถูกยุบลงเป็นอำเภอหรือตำบล เป็นกลุ่มที่ไม่อาจปรับเข้ากับการปกครองแบบใหม่ได้ นอกจากนี้ยังได้มีการยกเลิกการปกครองโดยการสืบสกุลด้วย ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งเดิมที่ไม่อาจปรับเข้ากับตำแหน่งใหม่ได้ต้องถูกลดความสำคัญลง ดังนั้นเพื่อเป็นการชดเชยและรักษาเกียรติยศของผู้ปกครองเดิมไว้ จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานศักดินาเจ้านาย พระยา ท้าว แสน เมืองประเทศราชในเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2442 และในปีเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯเปลี่ยนชื่อมณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชื่อบริเวณในมณฑลนครราชสีมา[34]
เมืองขุขันธ์ขณะที่ยกเป็นผู้ว่าราชการเมือง มีพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) เป็นผู้ว่าราชการเมืองร่วมกับเมืองต่าง ๆ ในมณฑลลาวกาวอีก 17 เมือง และเป็นผู้ว่าราชการเมืองคนเดียวในมณฑลนี้ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ขณะที่เมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น เมืองอุบลราชธานี เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุรินทร์ เมืองยโสธร เมืองสุวรรณภูมิ เมืองวารินชำราบ เมืองศีขรภูมิ ฯลฯ ผู้ว่าราชการเมืองมีบรรดาศักดิ์ชั้นพระเท่านั้นส่วนเมืองศีร์ษะเกษไม่มีผู้เหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจึงได้ว่างตำแหน่งไว้ นัยว่าพระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า)[35] ปลัดเมืองศีร์ษะเกษ มีความชอบพอกับเสือยงที่ทางราชการปราบปรามได้เมื่อพุทธศักราช 2437 เมืองศีร์ษะเกษจึงว่างผู้ว่าราชการเมือง
พุทธศักราช 2443 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ตรากฎกระทรวง ชื่อ กฎข้อบังคับเรื่องเปลี่ยนชื่อมณฑล 4 มณฑล เป็นผลให้ชื่อมณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปลี่ยนไป คือ มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นมณฑลอีสาน มณฑลฝ่ายเหนือ เป็นมณฑลอุดร
สำหรับมณฑลอีสานนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพประสิทธิประสงค์ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอิสาณ ได้จัดแบ่งการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ออกเป็น 5 บริเวณ 14 เมือง 37 อำเภอ คือ บริเวณเมืองนครจำปาศักดิ์ บริเวณอุบลราชธานี บริเวณร้อยเอ็ด บริเวณสุรินทร์ และบริเวณขุขันธ์
บริเวณเมืองนครจำปาศักดิ์ มี 1 เมือง คือ เมืองนครจำปาศักดิ์ กับเมืองอื่น ที่ขึ้นกับเมืองนครจำปาศักดิ์ ยุบลงเป็นอำเภอมี 11 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครจำปาศักดิ์ อำเภอสยามโภค อำเภอธาราบริวัฒน์อำเภอพระพิพัฒน์ อำเภอเซลำเภา อำเภอสะพังภูยา อำเภอมูลป่าโมกข์ อำเภอสุขุมา อำเภอโพนทอง อำเภอบัว และอำเภอโดมประดิษฐ์ ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2446 เมืองนครจำปาศักดิ์ตกเป็นของลาวในอารักขาของฝรั่งเศส ยกเว้นอำเภอบัวเป็นของไทยและขึ้นอยู่กับเมืองเดชอุดม บริเวณอุบลราชธานีมี 3 เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองยโสธร และเมืองเขมราฐ และเมืองอื่น ๆ ที่ขึ้นกับเมืองเหล่านี้ ยุบลงเป็นอำเภอ ระยะแรกมี 19 อำเภอ บริเวณสุรินทร์ มี 2 เมือง คือ เมืองสุรินทร์กับเมืองสังฆะบุรี และเมืองอื่นที่ขึ้นกับเมืองเหล่านี้ยุบลงเป็นอำเภอ ระยะแรกมี 7 อำเภอ บริเวณขุขันธุ์ มี 3 เมือง คือ เมืองขุขันธ์ เมืองศีร์สะเกษ และเมืองเดชอุดม มีพระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี) เป็นข้าหลวงบริเวณ
เมืองขุขันธ์ ระยะแรกมี 5 อำเภอ คือ อำเภอขุขันธ์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอทุมพรพิสัย อำเภอกันทรารมณ์ และอำเภอมโนไพร[36] มีพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) เป็นว่าที่ผู้ว่าราชการเมือง เมืองศีร์สะเกษ ระยะแรกมี 4 อำเภอ คือ อำเภอกลางศีร์สะเกษ อำเภออุทัยศีร์สะเกษ อำเภอ ปจิมศีร์สะเกษ และอำเภอราษีไศล มีพระภักดีโยธา (เหง้า) เป็นผู้ว่าราชการเมือง เมืองเดชอุดม ระยะแรกมี 3 อำเภอ คือ อำเภอกลางเดชอุดม อำเภออุทัยเดชอุดม และอำเภอปจิมเดชอุดม มีพระสุรเดชอุดมมาภิรักษ์ (ทองปัญญา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง
พุทธศักราช 2447 มีการยุบอำเภอกันทรลักษ์ โดยส่วนหนึ่งไปรวมกับอำเภออุทุมพรพิสัย ส่วนหนึ่งไปรวมกับอำเภอห้วยเหนือ สาเหตุเนื่องจากเป็นที่ซ่องสุมผู้คนของท้าวบุญจันทร์ และในปีเดียวกันนี้พระยาบำรุงบุรประจันต์ (จันดี) ได้ย้ายศาลากลางเมืองขุขันธ์ ไปตั้งที่อำเภอกลางศีร์ษะเกษเป็นที่ตั้งปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องมาจากเหตุผลความปลอดภัยจากความตึงเครียดกรณีกบฏท้าวบุญจันทร์
พุทธศักราช 2448 มีการย้ายที่ว่าการอำเภอปจิมศีร์ษะเกษ ไปตั้งที่บ้านสำโรงใหญ่ ตำบลสำโรง เรียกว่าอำเภอสำโรงใหญ่
พุทธศักราช 2449 ที่ทำการบริเวณขุขันธ์ ตั้งอยู่ที่เมืองขุขันธ์ ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองศีร์สะเกษ ทั้งนี้เพราะทราบว่ารัฐบาลจะตัดทางรถไฟผ่านอำเภอเมืองศีร์สะเกษและในปีนี้ให้โอนเมืองกันทรารมณ์ที่อยู่ในความปกครองเมืองสังฆะบุรี ไปขึ้นอยู่ในปกครองเมืองขุขันธ์ แล้วยุบเมืองกันทรารมณ์ลงเป็นตำบลกันทรารมณ์ และในปีเดียวกันนี้ย้ายที่ว่าการอำเภออุทัยศีร์ษะเกษ ไปตั้งที่บ้านหนองกก ตำบลยาง
พุทธศักราช 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมหาดไทยปรับปรุงการปกครองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคงจัดเป็นมณฑล แต่แบ่งการปกครองมณฑลเป็นบริเวณ ดังนี้
- มณฑลอีสาน แบ่งการปกครองเป็น 4 บริเวณ คือ บริเวณอุบลราชธานี บริเวณขุขันธ์ บริเวณสุรินทร์ และบริเวณร้อยเอ็ด บริเวณขุขันธ์ประกอบด้วย เมืองขุขันธ์ เมืองศีร์ษะเกษ และเมืองเดชอุดม
- มณฑลอุดร แบ่งการปกครองเป็น 5 บริเวณ คือ บริเวณหมากแข้ง บริเวณธาตุพนม บริเวณสกลนคร บริเวณภาชี และบริเวณน้ำเหือง
- มณฑลนครราชสีมา แบ่งการปกครองเป็น 3 เมือง คือ เมืองนครราชสีมา เมืองบุรีรัมย์ และเมืองชัยภูมิ
พุทธศักราช 2452 ย้ายที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัยมาอยู่ที่บ้านชนา ตำบลน้ำอ้อม เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอน้ำอ้อม และย้ายที่ว่าการอำเภอน้ำอ้อมมาตั้งที่บ้านโนนสว่าง ตำบลน้ำอ้อม
พุทธศักราช 2455 มีการประกาศแบ่งมณฑลอีสาน ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด เมืองขุขันธ์ เมืองศีร์ษะเกษและเมืองเดชอุดม อยู่ในการปกครองของมณฑลอุบลราชธานี และมีการปรับบริเวณเมืองให้รวมเมืองขุขันธ์ เมืองศีร์ษะเกษ และเมืองเดชอุดม ซึ่งเรียกว่า บริเวณขุขันธ์เป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า เมืองขุขันธ์ มีศาลากลางอยู่ที่อำเภอกลางศีร์ษะเกษ ในปีเดียวกันนี้ได้ยุบอำเภอกันทรารมย์ลงเป็นตำบลกันทรารมย์ และเปลี่ยนชื่ออำเภอขุขันธ์เป็นอำเภอห้วยเหนือ ต่อมาในปีเดียวกันได้มีการยุบอำเภอกลางเดชอุดม อำเภออุทัยเดชอุดม และอำเภอปจิมเดชอุดม ลงเป็นอำเภอเดชอุดม ขึ้นกับเมืองขุขันธ์
พุทธศักราช 2456 เปลี่ยนชื่ออำเภอกลางศีร์ษะเกษ เป็นอำเภอศีร์ษะเกษ และเปลี่ยนชื่ออำเภอสำโรงใหญ่ เป็นอำเภออุทุมพรพิสัย เพื่อรักษานามเมืองอุทุมพรพิสัยเดิมที่ถูกยุบไป (ที่ตั้งเมืองอุทุมพรพิสัยเดิมนั้นปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศกัมพูชาและอำเภอกันทรลักษ์บางส่วน) เปลี่ยนชื่ออำเภอราษีไศล เป็นอำเภอคง ตามชื่อตำบลที่ตั้งและนามเมืองเดิม
ดังนั้น ระหว่างปีพุทธศักราช 2447 – 2450 ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองศีร์ษะเกษว่างลง และในปีพุทธศักราช 2450 เมืองบริเวณขุขันธ์ถูกยุบรวม คือ เมืองขุขันธ์ เมืองศีร์ษะเกษ และเมืองเดชอุดม ถูกยุบรวมเป็นเมืองเดียวกันรวมเรียกว่า เมืองขุขันธ์ เป็นผลทำให้อำเภอทุกอำเภอที่ขึ้นต่อเมืองศีร์ษะเกษ เมืองเดชอุดม และขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ ให้ขึ้นและอยู่ในการปกครองของเมืองขุขันธ์ทั้งสิ้น ดังนั้น ชื่อคำว่า เมืองศีร์ษะเกษ ได้เปลี่ยนแปลงไป และลดฐานะเป็นอำเภอกลางศีร์ษะเกษ และชื่อคำว่าเมืองเดชอุดม ได้เปลี่ยนและลดฐานะเป็นอำเภอกลางเดชอุดม ทำให้ชื่อคำว่าเมืองศีร์ษะเกษ และชื่อคำว่าเมืองเดชอุดม สิ้นสุดและสิ้นสภาพของความเป็นเมืองตั้งแต่บัดนั้นมา
พุทธศักราช 2459 ได้มี "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมือง ให้เรียกว่าจังหวัด ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2459"[37] มีสาระสำคัญว่า “…เพื่อความเข้าใจง่ายในการปกครอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า เมือง ให้เรียกว่าจังหวัด ผู้ว่าราชการเมือง ให้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัด ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 33, 2459 หน้า 51…” ดังนั้นเมืองขุขันธ์จึงเปลี่ยนเป็น“จังหวัดขุขันธ์”[38]ตั้งแต่วันที่19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2459 เป็นต้นมา โดยเริ่มแรกมี 7 อำเภอ คือ อำเภอศีร์ษะเกษ อำเภอห้วยเหนือ อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอท่าช้าง อำเภอน้ำอ้อม อำเภอคง และอำเภอเดชอุดม มีที่ตั้งศาลากลางจังหวัดที่อำเภอศีร์ษะเกษ ต่อมามีการเพิ่มอีก 1 กิ่งอำเภอ เป็นผลให้เขตการปกครองของจังหวัดขุขันธ์ในอดีตมี 7 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้สะกดชื่อตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2460 ได้แก่ อำเภอเมืองขุขันธ์ อำเภอศีร์ษะเกษ อำเภอราษีไศล (อำเภอคง) อำเภอรัตนบุรี (ต่อมาถูกโอนไปขึ้นกับจังหวัดสุรินทร์) อำเภอกันทรลักษ์ (อำเภอน้ำอ้อม) อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอเดชอุดม (ต่อมาได้รับการโอนไปขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานีใน พุทธศักราช 2472) กิ่งอำเภอบัวบุณฑริก (หรืออีกชื่อหนึ่งคือกิ่งอำเภอโพนงาม ซึ่งแยกออกมาจาก อำเภอเดชอุดม ในปีพุทธศักราช 2466 ต่อมาได้รับการโอนไปขึ้นกับ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับอำเภอเดชอุดม)[39][40]
พุทธศักราช 2465 มีการปรับปรุงการบริหารงานส่วนภูมิภาคใหม่ โดยรวมมณฑลหลายมณฑลเข้าเป็นภาค และโปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลอุดร มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด ขึ้นเป็นภาคอีสาน โดยมีอุปฮาด ทำหน้าที่ตรวจการบริหารราชการเหนือสมุหเทศาภิบาล และทำหน้าที่สมุหเทศาภิบาลประจำมณฑล ซึ่งที่ทำการภาคตั้งอยู่ด้วย โดยขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องอยู่ในปกครองของกระทรวงมหาดไทย
เพื่อให้การสั่งงานเป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น พุทธศักราช 2468 มีการยุบเลิกมณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด ให้ไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา จังหวัดขุขันธ์จึงขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา
พุทธศักราช 2470 มีการยุบเลิกมณฑลทั่วประเทศ จังหวัดขุขันธ์จึงขึ้นต่อการบริหารส่วนกลาง ต่อมามีการโอนตำบลต่าง ๆ ในเขตจังหวัดอุบลราชธานีไปขึ้นในการปกครองของจังหวัดขุขันธ์ คือ
- โอนพื้นที่ส่วนหนึ่งของตำบลโพนค้อ อำเภอวารินชำราบ ไปขึ้นกับอำเภอน้ำอ้อม ต่อมาเป็นตำบลเสียว ตำบลหนองหว้า ตำบลท่าคล้อ และตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเบญจลักษ์
- โอนพื้นที่ส่วนหนึ่งของตำบลโพนค้อ อำเภอวารินชำราบ ไปขึ้นกับอำเภอกันทรารมย์ ต่อมาเป็นตำบลโนนค้อ และตำบลหนองกุง อำเภอโนนคูณ
- โอนพื้นที่ตำบลหนองแก้ว ตำบลทาม ตำบลละทาย ตำบลเมืองน้อย และตำบลหนองแวง อำเภอเขื่องใน ไปขึ้นกับอำเภอกันทรารมย์
พุทธศักราช 2471 จังหวัดขุขันธ์ได้โอนพื้นที่อำเภอเดชอุดม และกิ่งอำเภอโพนงามไปขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี
พุทธศักราช 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม โดยจัดระเบียบราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เป็นผลให้ภาคและมณฑลต้องถูกยุบเลิกไป ในปีเดียวกันนี้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีก โดยแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด ให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล อำนาจการบริหารที่อยู่กับกรมการจังหวัดเปลี่ยนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่ผู้เดียว โดยมีกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา ต่อมามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยทางอ้อม โดยการเลือกผู้แทนตำบลไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พุทธศักราช 2476 ปรากฏว่าผู้แทนราษฎรจังหวัดขุขันธ์ คือ ขุนพิเคราะห์คดี (อินทร์ อินตะนัย) บุตรญาแม่มาศ หลานพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านสุดท้าย เป็นผู้แทนราษฎรท่านแรกของจังหวัดขุขันธ์
วันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้ตรา “พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง”[41] โดยในมาตรา 3 กำหนดให้เปลี่ยนชื่อ “จังหวัดขุขันธ์” เป็น จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนชื่ออำเภอ คือ อำเภอห้วยเหนือเป็นอำเภอขุขันธ์ อำเภอน้ำอ้อมเป็นอำเภอกันทรลักษ์ อำเภอคงเป็นอำเภอราษีไศล และอำเภอศีร์ษะเกษเป็นอำเภอเมืองศรีสะเกษ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสากลเหมือนกันทั่วประเทศ ชื่อจังหวัดศรีสะเกษจึงยึดตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 หน้า 664 หลังจากที่มีการเขียนไม่เหมือนกันมาจึงเป็นที่ยุติว่า“จังหวัดศรีสะเกษ” ตลอดมาจนปัจจุบัน[42]
ภูมิศาสตร์
[แก้]อาณาเขต
[แก้]- ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับประเทศกัมพูชา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดร้อยเอ็ด
ภูมิประเทศ
[แก้]จังหวัดศรีสะเกษนั้น ตอนใต้มีทิวเขาพนมดงรักซึ่งทอดตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ยาว 127 กิโลเมตร ยอดเขาสูงสุดในจังหวัดชื่อ "พนมตาเมือน" สูง 673 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยตั้งอยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ จากเขาพนมตาเมือนนี้ พื้นที่ค่อย ๆ ลาดต่ำลงไปทางเหนือเข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล
ภูมิประเทศส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ทางตอนกลางและตอนเหนือของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มลอนลาด มีระดับความสูงระหว่าง 150-200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลำน้ำหลายสายไหลผ่านพื้นที่ราบนี้ลงไปยังแม่น้ำมูล ลำน้ำสายสำคัญได้แก่ ห้วยทับทัน ห้วยสำราญ และห้วยขะยุง
เทศบาลเมืองศรีสะเกษในปัจจุบันตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยสำราญ ห้วยน้ำคำ และห้วยขะยุง ห่างจากแม่น้ำมูลไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 126 เมตร
จังหวัดศรีสะเกษ มีแหล่งน้ำที่สำคัญและมีผลต่อกิจกรรมการเกษตร การประมง ดังนี้
- แม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาดงพญาเย็นในท้องที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมาไหลเข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอราษีไศล ไหลผ่านอำเภอยางชุมน้อย อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอกันทรารมย์ แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำชีที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นระยะทางยาวประมาณ 120 กิโลเมตร พื้นที่ทางทิศเหนือของแม่น้ำมูลลักษณะเป็นที่ราบลุ่มมีสภาวะน้ำท่วมขังในฤดูฝน โดยถือเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่อันอยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 115–130 เมตร[43]
- ห้วยทับทัน ไหลมาจากอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย ไหลลงไปบรรจบแม่น้ำมูลบริเวณ[[อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
- ห้วยสำราญ ไหลมาจากเขตอำเภอปรางค์กู่ ผ่านอำเภอเมืองศรีสะเกษ แล้วไหลลงแม่น้ำมูล ที่เขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ
- ห้วยศาลา เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ดัดแปลงทำเป็นเขื่อนเก็บน้ำที่ไหลมาจากห้วยสำราญและมีต้นน้ำจากห้วยพนมดงรัก สามารถบรรจุน้ำได้สูงสุด 52.5 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ทำการชลประทาน จำนวน 20,400 ไร่ มีน้ำตลอดปี
- เขื่อนราษีไศล เป็นเขื่อนคอนกรีต มีบานประตูระบายน้ำ 7 บาน กั้นแม่น้ำมูลที่บ้านห้วย-บ้านดอน ตั้งอยู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เขื่อนเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2536
-
ป้ายเขื่อนราษีไศล
-
เขื่อนราษีไศล
-
พื้นที่เขื่อนราษีไศล
ภูมิอากาศ
[แก้]ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปของจังหวัดศรีสะเกษ มีอากาศร้อนจัดในฤดูร้อนและค่อนข้างหนาวจัดในฤดูหนาว ส่วนฤดูฝนจะมีฝนตกหนักในเดือนกันยายน โดยมักจะตกหนักในพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ของจังหวัด ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดจะมีปริมารฝนตกน้อย และไม่ค่อยสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยแล้วในปีหนึ่ง ๆ จะมีฝนตก 100 วัน ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,200–1,400 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 10 องศาเซลเซียส สูงสุดประมาณ 40 องศาเซลเซียส เฉลี่ยประมาณ 26-28 องศาเซลเซียส
ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยร้อยละ 66–73 ในเดือนกุมภาพันธ์มีปริมาณความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 62.24 และปริมาณความชื้นสัมพัทธ์จะเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมเป็นร้อยละ 71.95 ปริมาณความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งปริมาณความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดวัดได้ในเดือนสิงหาคมที่ร้อยละ 78.16 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน หลังจากนั้นปริมาณความชื้นสัมพัทธ์จะลดลงช่วงสิ้นสุดฤดูฝนในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม โดยมีปริมาณความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 73.80, 68.67 และ 66.45 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว
ค่าศักย์การคายระเหยน้ำในจังหวัดศรีสะเกษจะแปรผันไปตามฤดูกาล กล่าวคือในเดือนมกราคม มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำ 117.89 มิลลิเมตร ค่าศักย์การคายระเหยน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ในเดือนมีนาคมมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำอยู่ที่ 146.30 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นค่าสูงสุด และในเดือนเมษายนมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำอยู่ที่ 142.23 มิลลิเมตร หลังจากนั้นค่าศักย์การคายระเหยน้ำได้ลดต่ำลงในเดือนพฤษภาคมเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน โดยมีค่า 122.65 มิลลิเมตร ค่าศักย์การระเหยน้ำต่ำสุดอยู่ในเดือนกันยายนซึ่งมีค่า 85.93 มิลลิเมตร จากนั้นค่าจะเพิ่มปริมาณขึ้นเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม [44]
ความหลากหลายทางชีวภาพ
[แก้]พื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดในเขต อำเภอภูสิงห์ อำเภอขุนหาญ และ อำเภอกันทรลักษ์ อันเป็นแนวเทือกเขาพนมดงรัก ตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา เป็นอาณาบริเวณที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และมีธรรมชาติอันเป็นระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด สัตว์ป่าจำนวนมากในพื้นที่นี้จัดเป็นสัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น กูปรี หรือโคไพร หรือวัวป่า ซึ่งมีรายงานว่ามีปริมาณหลงเหลืออยู่น้อยมาก ด้วยเหตุนี้ ทางราชการจึงได้ประกาศจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดใกล้เคียง (สุรินทร์-อุบลราชธานี) ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม
ป่าไม้และพื้นที่อนุรักษ์
[แก้]ลักษณะป่าไม้ของจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนใหญ่เป็นป่าโปร่ง ประกอบด้วยป่ายาง ไม้เต็ง ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้กระบาก และไม้เบญจพรรณ จังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่ป่าไม้แยกเป็นป่าอนุรักษ์ (3 แห่ง 472,075 ไร่) ป่าสงวน (4 ป่า 92,042 ไร่) ป่าชุมชน (อยู่ในเขตป่าสงวน 25,621 ไร่, ป่าไม้ 1,845 ไร่, ป่าสาธารณประโยชน์ 7,094 ไร่) ป่าเศรษฐกิจ (Zone E: 825,246 ไร่) พื้นที่ป่าไม้ที่สมบูรณ์ร้อยละ 11.67 ของพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ
แร่ธาตุและทรัพยากรธรณี
[แก้]โครงสร้างทางธรณีวิทยา ตลอดจนลักษณะทางธรณีสัณฐานและปฐพีสัณฐาน พบว่าในเขตพื้นที่สูงทางตอนใต้ของจังหวัดได้แก่แนวพรมแดนไทย–กัมพูชา บริเวณอำเภอกันทรลักษ์และอำเภอขุนหาญ เป็นแหล่งกำเนิดแร่ธาตุอันเป็นทรัพยากรธรณีที่มีศักยภาพเชิงอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจหลายชนิด ผลการสำรวจทางธรณีวิทยาพบว่าในพื้นที่อำเภอดังกล่าวของจังหวัดศรีสะเกษเป็นแหล่งแร่ธาตุและทรัพยากรธรณีชนิดต่าง ๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วยหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่อการก่อสร้าง และรัตนชาติที่สำคัญได้แก่ พลอยสีแดงหรือสีดอกตะแบก โกเมน แซฟไฟร์ ทับทิม และเพทาย ตลอดจนพลอยอื่น ๆ เช่น พลอยน้ำค้างและโอลิวีน แหล่งแร่พลอยที่สำคัญได้แก่พื้นที่บ้านด่าน อำเภอกันทรลักษ์ และพื้นที่เชิงเขาพนมดงรักในเขตอำเภอขุนหาญ ซึ่งเป็นแหล่งแร่รัตนชาติขนาดใหญ่ที่กรมทรัพยากรธรณียังไม่ได้เปิดสัมปทานให้มีการดำเนินการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ
ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัด เป็นแหล่งทรายและกรวดแม่น้ำเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง โดยแหล่งผลิตที่สำคัญได้แก่พื้นที่ฝั่งแม่น้ำมูลในหลายอำเภอ เช่น อำเภอศิลาลาด อำเภอราษีไศล อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอยางชุมน้อย และอำเภอกันทรารมย์ นอกจากนั้น พื้นที่ทางตอนเหนือยังเป็นแหล่งแร่เกลือหินและโพแทซ ซึ่งมีปริมาณสำรองเพียงพอและมีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ แร่ดังกล่าวพบมากในเขตอำเภอศิลาลาด อำเภอราษีไศล อำเภอยางชุมน้อย และบางส่วนของอำเภอบึงบูรพ์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอกันทรารมย์
นอกเหนือจากแร่ข้างต้นแล้ว หลายพื้นที่ของจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งตอนเหนือ ตอนกลางและตอนใต้ ยังเป็นแหล่งแร่ศิลาแลงหรือดินแลงและแร่ดินเหนียว ซึ่งมีปริมาณสำรองและศักยภาพเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างรวมทั้งอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอิฐและดินเผา แหล่งแร่ที่สำคัญครอบคลุมพื้นที่อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอศรีรัตนะ อำเภอขุนหาญ และอำเภอกันทรลักษ์[45]
การเมืองการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]จังหวัดศรีสะเกษแบ่งการปกครองเป็น 2,557 หมู่บ้าน 206 ตำบล 22 อำเภอ[46] ได้แก่
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 2 แห่ง เทศบาลตำบล 34 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 192 แห่ง[47]
อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอกันทรารมย์ อำเภอไพรบึง |
อำเภอปรางค์กู่ อำเภอขุนหาญ
อำเภออุทุมพรพิสัย |
อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอศรีรัตนะ อำเภอขุขันธ์ อำเภอราษีไศล
|
อำเภอวังหิน อำเภอพยุห์ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ
|
-
พื้นที่เทศบาลเมืองศรีสะเกษ
-
โรงแรมในเทศบาลเมืองศรีสะเกษ
ผู้ว่าราชการเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัด
[แก้]แบ่งช่วงได้ดังนี้
- ผู้ว่าราชการเมืองและจังหวัดขุขันธ์ (พ.ศ. 2450–2481)
- ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (พ.ศ. 2481–ปัจจุบัน)
รายนามเจ้าเมืองขุขันธ์, ข้าหลวงกำกับราชการ, ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ | |
รายนาม | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1. พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (พระยาขุขันธ์ภักดี-พระไกรภักดีศรีนครลำดวน-หลวงแก้วสุวรรณ หรือตากะจะ)
ผู้ก่อตั้งเมือง เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก |
พ.ศ. 2302 – 2321
(รัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย – รัชกาลพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยกรุงธนบุรี) |
2. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (หลวงปราบ/เชียงขัน) เจ้าเมืองขุขันธ์ | พ.ศ. 2321 – 2325
(รัชกาลพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยกรุงธนบุรี) |
3. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวบุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์ | พ.ศ. 2325 – 2369
(รัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช – รัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
4. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (พระสังฆะ บุตรเจ้าเมืองสังฆะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ | พ.ศ. 2369 – พ.ศ. 2393
(รัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
5. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวใน หรือ พระยาภักดีภูธรสงคราม) เจ้าเมืองขุขันธ์ | พ.ศ. 2393
(รัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
6. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวนวล หรือ พระแก้วมนตรี) เจ้าเมืองขุขันธ์ | พ.ศ. 2393
(รัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
7. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวกิ่ง หรือ พระภักดีภูธรสงคราม) เจ้าเมืองขุขันธ์ | พ.ศ. 2393 – พ.ศ. 2395
(รัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว – รัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
8. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง หรือ พระวิชัย) เจ้าเมืองขุขันธ์ | พ.ศ. 2395 – พ.ศ. 2426
(รัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว – รัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
9. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา ขุขันธิน ต้นสกุล ขุขันธิน นามสุกลพระราชทาน [48]) เจ้าเมืองขุขันธ์ และผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์(คนแรก) | พ.ศ. 2426 – พ.ศ. 2450
(รัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
หลวงเสนีย์พิทักษ์ ข้าหลวงกำกับราชการเมืองขุขันธ์(คนที่ 1) ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าเมืองขุขันธ์ | พ.ศ. 2428 – พ.ศ. 2431
(รัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
พระยาบำรุงบุรประจันต์ (ท้าวจันดี หรือ พระรัตนโกศา) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองขุขันธ์(คนที่ 2) ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าเมืองขุขันธ์ | พ.ศ. 2432 – พ.ศ. 2435
(รัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
พระศรีพิทักษ์ (ท้าวหว่าง) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองขุขันธ์(คนที่ 3) ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าเมืองขุขันธ์ | พ.ศ. 2436 – พ.ศ. 2450
(รัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
รายนามเจ้าเมือง, ข้าหลวงกำกับราชการ, ผู้ว่าราชการเมืองศีร์ษะเกษ | |
รายนาม | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1. พระรัตนวงษา (ท้าวอุ่น หรือ พระภักดีภูธรสงคราม) ผู้ก่อตั้งเมือง เจ้าเมืองท่านแรก
(อดีตปลัดเมืองขุขันธ์ ผู้กราบบังคมทูลขอแยกมาตั้งเมืองศรีสะเกษ บริเวณบ้านโนนสามขาสระกำแพง เมื่อ พ.ศ. 2325) |
พ.ศ. 2325 – 2328
(รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมัยกรุงรัตนโกสินทร์) |
2. พระวิเศษภักดี (ท้าวชม) เจ้าเมืองศรีสะเกษ
(พ.ศ. 2328 ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านพันทาเจียงอี คือที่ตั้งตัวเมืองจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) |
พ.ศ. 2328 – พ.ศ. 2368
(รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช-รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
3. พระวิเศษภักดี เจ้าเมืองศรีสะเกษ | พ.ศ. 2368 – พ.ศ. 2424
(รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว-รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
4. พระวิเศษภักดี (ท้าวโท หรือ พระพรหมภักดี) เจ้าเมืองศรีสะเกษ | พ.ศ. 2424 – พ.ศ. 2437
(รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
หลวงจำนงยุทธกิจ(อิ่ม)และ ขุนไผทไทยพิทักษ์(เกลื่อน)
(คณะข้าหลวงเมืองศรีสะเกษ ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าเมืองศรีสะเกษ) |
พ.ศ. 2433 – พ.ศ. 2443
(รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
5.พระภักดีโยธา(เหง้า) ผู้ว่าราชการเมืองศรีสะเกษ (คนแรก) | พ.ศ. 2443 – พ.ศ. 2450
(รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) |
. | พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา ขุขันธิน) ต้นสกุล ขุขันธิน นามสกุลพระราชทาน [49] | พ.ศ. 2426 – พ.ศ. 2450 | เจ้าเมืองขุขันธ์ และผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์(คนแรก) | |
. | พระภักดีโยธา (เหง้า) | พ.ศ. 2443 – พ.ศ. 2450 | ผู้ว่าราชการเมืองศรีสะเกษ (คนแรก) | |
1. | พระยาบำรุงบุรประจันต์จางวาง (จันดี กาญจนเสริม) | พ.ศ. 2450 – พ.ศ. 2452 | ผู้ว่าราชการเมืองจังหวัดขุขันธ์ | |
2. | พระยาประชากิจ (ทับ มหาเปาระยะ) | พ.ศ. 2452 – พ.ศ. 2454 | ||
3. | พระยาวิเศษสิงหนาท (ปิ๋ว บุนนาค) | พ.ศ. 2454 – พ.ศ. 2456 | ||
4. | ร้อยเอก พระอินทร์ประสิทธิศร (เชื้อ ทองอุทัย) | พ.ศ. 2456 – พ.ศ. 2457 | ||
5. | อำมาตย์ตรี หม่อมเจ้าถูกถวิล สุขสวัสดิ์ | พ.ศ. 2457 – พ.ศ. 2459 | ||
6. | อำมาตย์โท พระภักดีศรีสุนทรราช (ดิศ โกมลบุตร) | พ.ศ. 2459 – พ.ศ. 2461 | ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ | |
7. | อำมาตย์เอก พระยาวิเศษชัยชาญ (ชอุ่ม อมัตติรัตน์) | พ.ศ. 2461 – พ.ศ. 2465 | ||
8. | อำมาตย์โท พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) | 25 เม.ย. 2465 – 30 ก.ย. 2465 | ||
9. | อำมาตย์โท พระวิสุทธราชรังสรรค์ (ใหญ่ บุนนาค) | 1 ต.ค. 2465 – 30 เม.ย. 2472 | ||
10. | อำมาตย์ตรี พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) | 15 พ.ค. 2472 – 14 พ.ค. 2473 | ||
11. | อำมาตย์โท พระศรีวิชัยบริบาล (สวัสดิ์ ปัทมดิลก) | 15 พ.ค. 2473 – 30 เม.ย. 2478 | ||
12. | หลวงศรีราชรักษา (ผิว ชาศรีรัฐ) | 10 พ.ค. 2478 – 31 พ.ค. 2481 | ||
13. | พระศรีราชสงคราม (ศรี สุขวาที) | 1 มิ.ย. 2481 – 31 ธ.ค. 2481 | ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ | |
14. | พระบริรักษ์ภูธร (เพิ่ม ขนิษฐายนต์) | 1 พ.ค. 2482 – 31 ธ.ค. 2483 | ||
15. | หลวงปริวรรควรจิตร (จันทร์ เจริญไชยา) | 1 ม.ค. 2484 – 31 ส.ค. 2485 | ||
16. | นายชอบ ชัยประภา | 9 ก.ย. 2485 – 10 ส.ค. 2488 | ||
17. | ขุนบำรุงรัตนบุรี (ปกรณ์ จุฑะพุทธิ) | 24 ส.ค. 2488 – 18 ต.ค. 2489 | ||
18. | นายศิริ วรนารถ | 11 พ.ย. 2489 – 14 ส.ค. 2490 | ||
19. | นายเติม ศิลปิ | 10 ก.ย. 2490 – 8 ก.พ.2492 | ||
20. | นายพินิต โพธิพันธ์ | 23 ก.พ. 2492 – 1 ก.ค. 2495 | ||
21. | ขุนวัฒนานุรักษ์ (ประจักษ์ วงศ์รัตน์) | 19 ก.ค. 2495 – 27 เม.ย. 2498 | ||
22. | นายกิติ ยธการี | 28 เม.ย. 2498 – 11 ก.ค. 2500 | ||
23. | นายจาด อุรัสยะนันทน์ | 12 ก.ค. 2500 – 17 ก.พ. 2501 | ||
24. | นายวรวิทย์ รังสิโยทัย | 17 ก.พ. 2501 – 20 ก.ค. 2504 | ||
25. | นายรังสรรค์ รังสิกุล | 5 ก.ย. 2504 – 1 ส.ค. 2512 | ||
26. | นายกำเกิง สุรการ | 17 ก.ย. 2512 – 29 ก.ย. 2514 | ||
27. | นายประมวล รังสิคุต | 30 ก.ย. 2514 – 22 พ.ย. 2516 | ||
28. | นายเชื้อ เพ็ชรช่อ | 23 พ.ย. 2516 – 26 ก.ค. 2517 | ||
29. | นายพิศาล มูลศาสตรสาทร | 24 ต.ค. 2517 – 14 ต.ค. 2518 | ||
30. | นายกรี รอดคำดี | 15 ต.ค. 2518 – 13 ต.ค. 2521 | ||
31. | นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ | 14 ต.ค. 2521 – 31 มี.ค. 2524 | ||
32. | เรือตรี ดนัย เกตุสิริ | 1 เม.ย. 2524 – 30 ก.ย. 2528 | ||
33. | นายจำลอง ราษฎร์ประเสริฐ | 1 ต.ค. 2528 – 30 ก.ย. 2531 | ||
34. | นายธวัช โพธิสุนทร | 1 ต.ค. 2531 – 30 ก.ย. 2533 | ||
35. | ร้อยตรี สมจิตต์ จุลพงษ์ | 1 ต.ค. 2533 – 30 ก.ย. 2535 | ||
36. | นายอุทัยพันธุ์ สงวนเสริมศรี | 1 ต.ค. 2535 – 30 ก.ย. 2536 | ||
37. | นายจิโรจน์ โชติพันธุ์ | 5 ต.ค. 2536 – 30 ก.ย. 2540 | ||
38. | นายพจน์ ใจมั่น | 20 ต.ค. 2540 – 30 ก.ย. 2542 | ||
39. | นายโกสินทร์ เกษทอง | 1 ต.ค. 2542 – 22 เม.ย. 2544 | ||
40. | นายสุจริต นันทมนตรี | 23 เม.ย. 2544 – 30 ก.ย. 2545 | ||
41. | นายสวัสดิ์ ศรีสุวรรณดี | 1 ต.ค. 2545 – 30 ต.ค. 2546 | ||
42. | นายถนอม ส่งเสริม | 1 ต.ค. 2546 – 30 ก.ย. 2548 | ||
43. | นายสันทัด จัตุชัย | 1 ต.ค. 2548 – 29 เม.ย. 2550 | ||
44. | นายก้องเกียรติ อัครประเสริฐกุล | 30 เม.ย. 2550 – 30 ก.ย. 2550 | ||
45. | นายเสนีย์ จิตตเกษม | 1 ต.ค. 2550 – 17 พ.ค. 2552 | ||
46. | นายระพี ผ่องบุพกิจ | 18 พ.ค. 2552 – 2 พ.ค. 2553 | ||
47. | นายกองเอก วิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ | 3 พ.ค. 2553 – 30 ก.ย. 2553 | ||
48. | นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต | 1 ต.ต. 2553 – 23 พ.ย. 2554 | ||
49. | นายประทีป กีรติเรขา | 29 ธ.ค. 2554 – 1 ก.พ. 2558 | ||
50. | นายยุทธนา วิริยะกิตติ | 2 ก.พ. 2558 – 29 มี.ค. 2559 | ||
51. | นายธวัช สุระบาล | 29 มี.ค. 2559 – 30 ก.ย. 2561 | ||
52. | นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี | 1 ต.ต. 2561 – 30 ก.ย. 2562 | ||
53. | นายวัฒนา พุฒิชาติ | 1 ต.ต. 2562 – 30 ก.ย. 2565 | ||
54. | นายสำรวย เกษกุล | 2 ธ.ต. 2565 – 30 ก.ย. 2566 | ||
55. | นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ | 1 ต.ต. 2566 – ปัจจุบัน |
ประชากร
[แก้]กลุ่มชาติพันธุ์
[แก้]ในจังหวัดศรีสะเกษ มีชุมชนหลายกลุ่มตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการอพยพย้ายครัวเข้ามาของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันยังคงปรากฏลักษณะเฉพาะทางกายภาพและวัฒนธรรมของกลุ่มคนเหล่านั้นอยู่ กลุ่มคนดังกล่าวได้แก่ ชาวลาว ชาวเขมร ชาวกูย (หรือกวย) และเยอ[6] [50]
- กลุ่มชาติพันธุ์ลาวอีสาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ
- ชาวลาวอีสานดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ปี มีสำเนียงพูดเป็นภาษาถิ่นอีสานถิ่นใต้สำเนียงเดียวกับจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร
- ชาวลาวที่โยกย้ายถิ่นมาจากประเทศลาวหรือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มี 2 กลุ่มคือ ชาวลาวเวียงจันทน์ และชาวลาวจำปาศักดิ์ พูดสำเนียงลาวเวียงซึ่งพบได้มากในตัวอำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอขุนหาญ และอำเภอขุขันธ์ ซึ่งเป็นสำเนียงเดียวกับนครหลวงเวียงจันทน์ในประเทศลาว มีลักษณะการพูดเนิบช้าและเหน่อ และภาษาลาวใต้ในแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว มีสำเนียงการพูดที่ห้วนสั้น การเข้ามาของชาวลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไม่ทราบปีที่แน่ชัด แต่พบการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 และยุคสงครามกลางเมืองลาวคอมมิวนิสม์ (พ.ศ. 2496–2518)
ทั้ง 2 กลุ่มมีภาษาในการสื่อสารเป็นของตนเองทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ได้แก่ อักษรไทยน้อย โดยพัฒนาตัวอักษรมาจากตัวฝักขามสมัยสุโขทัย พร้อมกับการเข้ามาของศาสนาพุทธในดินแดนอีสาน และยังใช้อักษรที่เรียกว่า ตัวธรรมลาว และตัวธรรมอีสาน โดยพัฒนามาจากอักษรขอม สำหรับตัวธรรมลาวยังมีเสียงไม่ครบ จึงนำตัวอักษรขอมเพิ่มเข้าไป รวมเป็นพยัญชนะ 33 ตัว สระ 8 ตัว (สวิง บุญเจิม. 2555: 5-19) สำเนียงภาษาพูดของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไท-ลาว จัดอยู่อยู่ในตระกูลภาษาขร้า-ไท ในจังหวัดศรีสะเกษมีความแตกต่างจากสำเนียงของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในจังหวัดทางตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพื้นฐานการพัฒนาและถิ่นฐานเดิมที่แตกต่างกันไป โดยรวมแล้วกลุ่มภาษาไทในจังหวัดศรีสะเกษถูกแบ่งออกเป็น 3 สำเนียงคือ ไทอีสาน ลาวเวียง และลาวใต้ โดยหลอมรวมเป็นวัฒนธรรมไท-ลาวของชาวศรีสะเกษ อย่างไรก็ดีมักเรียกรวมกลุ่มวัฒนธรรมกลุ่มนี้ว่าชาวลาว [6]
- กลุ่มชาติพันธุ์กูย (กวย) ในเอกสารสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรียกกลุ่มเขมรป่าดง มีเพียงภาษาพูดเท่านั้น สำเนียงและคำศัพท์ร่วมหลายคำคล้ายภาษาข่า ภาษาแสก ภาษาโส้ จัดล้วนจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) ช่วยให้สามารถสื่อสารกันได้ ภาษากวยยังเป็นภาษาพิเศษที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมของหมอควาญช้าง สำหรับการบวงสรวงผีก่อนการออกจับช้างป่า มีกลุ่มชาติพันธุ์กวยตั้งถิ่นฐานอยู่ในบางส่วนของอำเภอราษีไศล อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอห้วยทับทัน อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอปรางค์กู่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอศรีรัตนะ อำเภอไพรบึง อำเภอขุนหาญ และอำเภอกันทรลักษ์ [6] [51]
- กลุ่มชาติพันธุ์เยอ มีเพียงภาษาพูด ซึ่งมีคำศัพท์ส่วนใหญ่คล้ายกับภาษากวยแต่มีสำเนียงที่แตกต่างและเพี้ยนไปจากภาษากวยตามสภาพแวดล้อม นักภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่าภาษาเยอคือภาษากวยที่มีความใกล้ชิดกับภาษาลาว ส่วนภาษากวยคือภาษาเยอที่ใกล้ชิดกับภาษาเขมร อย่างไรก็ตาม ภาษาเยอจัดเป็นภาษาในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (มอญ–เขมร) เช่นกัน โดยพบว่ามีการพูดภาษาดังกล่าวนี้ในบางพื้นที่ของอำเภอไพรบึง อำเภอพยุห์ อำเภอศรีรัตนะ และอำเภอน้ำเกลี้ยง [6]
- กลุ่มชาติพันธุ์เขมร มีภาษาพูดที่จัดเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย หรือเขมรสูง (ขแมร์เลอ) เนื่องจากมีสำเนียงและคำศัพท์หลายคำแตกต่างไปจากภาษาพูดของชาวเขมรในประเทศกัมพูชาซึ่งจัดเป็นชาวเขมรลุ่มหรือเขมรต่ำ(ขแมร์กรอม) อย่างไรก็ดี จากผลการวิจัยของทั้ง 2 สำเนียงคือภาษาเขมรถิ่นไทยและภาษาเขมรถิ่นกัมพูชา ภาษาเขมรถิ่นไทยหรือเขมรสูงสามารถใช้พูดสื่อสารกับชาวเขมรในประเทศกัมพูชาได้ แต่ภาษาเขมรลุ่มในประเทศกัมพูชามักไม่ค่อยเข้าใจภาษาเขมรสูง โดยในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษมีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขมรสูงอาศัยอยู่หนาแน่นในอำเภอภูสิงห์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ อำเภอกันทรลักษ์ รวมทั้งบางส่วนของอำเภอศรีรัตนะ อำเภอไพรบึง อำเภอปรางค์กู่ อำเภออุทุมพรพิสัยและอำเภอห้วยทับทัน ซึ่งประชากรในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรถิ่นไทยนี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งจังหวัดศรีสะเกษ [6] [52]
การศึกษา
[แก้]จังหวัดศรีสะเกษ มีสถานศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 1,032 แห่ง แบ่งเป็นสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 970 แห่ง (พื้นฐาน 914 แห่ง เอกชน 28 แห่ง อาชีวศึกษา 6 แห่ง และนอกระบบ 22 แห่ง) และสถานศึกษานอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 55 แห่ง (อว. 2 แห่ง สธ. 1 แห่ง อปท. 39 แห่ง ตชด. 1 แห่ง พศ. 10 แห่ง และมกช. 2 แห่ง)
เศรษฐกิจ
[แก้]โครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษ 3 อันดับแรกขึ้นอยู่กับภาคการเกษตร ภาคการขายส่งขายปลีก และภาคการศึกษา โดยใน พ.ศ. 2553 มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) เป็น 12,622 ล้านบาท, 12,525 ล้านบาท และ 8,731 ล้านบาท ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งสิ้นเพิ่มขึ้นเป็น 55,643 ล้านบาท ประชากรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 36,142 บาทต่อคนต่อปี [53]
ภาพรวม
[แก้]ภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม สภาพเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับปริมาณและระดับราคาของพืชผลทางการเกษตรในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมาภาคการเกษตรมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลไม้เริ่มมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดด้วยราคาผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักปรับตัวลดลง ขณะที่ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชนขยายตัวเล็กน้อยตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การลงทุนภาคเอกชนหดตัว เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ด้านการลงทุนภาคอุตสาหกรรม มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 423 โรงงาน ทุนจดทะเบียนจำนวน 3,294.687 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (OTOP) จังหวัดศรีสะเกษมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP ปีละประมาณ 1,356.798 ล้านบาท ในด้านภาคการค้าชายแดน จังหวัดศรีสะเกษมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา และจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวรที่เป็นเส้นทางสำคัญในการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ทั้งนี้ สถานการณ์การค้าชายแดนบริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีมูลค่าการค้าในแต่ละปีเพิ่มสูงมาก โดยในปี 2544 มีมูลค่ารวม 48.107 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2552 มีมูลค่ารวม 1,090.681 ล้านบาท (มูลค่าการส่งออก 905.638 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 185.044 ล้านบาท)
การขนส่ง
[แก้]จากกรุงเทพมหานครสามารถเดินทางไปยังจังหวัดศรีสะเกษได้ดังนี้
- รถยนต์ กรุงเทพมหานคร-ศรีสะเกษ ใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน ถึงทางแยกที่อำเภอเมืองสระบุรี แล้วไปตามถนนมิตรภาพจนถึงจังหวัดนครราชสีมา แยกทางขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ จนถึงศรีสะเกษ รวมระยะทาง 571 กิโลเมตร
- รถไฟ สามารถเดินทางโดยรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือมาลงที่สถานีศรีสะเกษ ระยะทาง 515.09 กิโลเมตร
- รถโดยสารประจำทาง สามารถเดินทางจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ สายตะวันออกเฉียงเหนือ มาลงที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดศรีสะเกษได้โดยตรง(กำลังสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่2)
- เครื่องบิน สามารถเดินทางโดยสายการบินภายในประเทศมายังท่าอากาศยานอุบลราชธานีและเดินทางต่อมายังจังหวัดศรีสะเกษด้วยระยะทางอีกประมาณ 70 กิโลเมตร
การท่องเที่ยว
[แก้]จังหวัดศรีสะเกษ มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่งที่มีลักษณะทางธรรมชาติโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ในทางธรณีวิทยา[54] ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจำนวนมาก[6]
- แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์
บริเวณที่ตั้งของจังหวัดนี้เคยเป็นอู่วัฒนธรรมโบราณ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลาย จนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ได้แก่วัฒนธรรมทวารวดี อาณาจักรขอมหรือเขมรโบราณ ล้านช้าง อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านหลุบโมก ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล พบร่องรอยเมืองโบราณมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบสองชั้น ภายในเมืองมีซากโบราณสถานและใบเสมาอันแสดงถึงร่องรอยการนับถือพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังพบปราสาทและปรางค์กู่อีกหลายแห่ง โดยเป็นศิลปะเขมรราวพุทธศตวรรษที่ 13–17 รวมทั้งชุมชนเขมรโบราณ เช่น แหล่งโบราณคดีในเขตปราสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งอยู่รอบๆบารายหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ประจำชุมชนเขมรโบราณใน อำเภออุทุมพรพิสัย แหล่งโบราณคดีบ้านหัวช้าง อำเภอไพรบึง ซึ่งพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาชนิดเนื้อแกร่ง ตกแต่งผิวด้วยการเคลือบสีน้ำตาล ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ
โบราณสถานที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ซึ่งกรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ได้แก่ [6]
-
ทัศนียภาพยามพระอาทิตย์ตก สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
-
ผามออีแดง
-
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ
-
ปราสาทสระกำแพงใหญ่
วัฒนธรรม
[แก้]เทศกาลและงานประเพณี
[แก้]- เทศกาลดอกลำดวนบาน และประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ
ในช่วงเดือนมีนาคมของแต่ละปี ดอกลำดวนซึ่งเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานและเป็นต้นไม้/ดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ มีขึ้นอยู่ตามธรรมชาติโดยทั่วไปโดยเฉพาะในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ อันเป็นสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีต้นลำดวนมากกว่า 50,000 ต้น ได้ออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วทั้งเมือง
จังหวัดศรีสะเกษได้ร่วมกับมูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และส่วนราชการทุกหน่วยงานภายในจังหวัดศรีสะเกษ กำหนดจัดงาน เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ขึ้น ณ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ ในช่วงเดือนมีนาคม ของทุกปี
ความโดดเด่นของเทศกาลคือการแสดงประกอบแสง สี เสียง ชุด ศรีพฤทเธศวร ซึ่งเป็นการแสดงที่ย้อนยุคบอกเล่าตำนานของการสร้างเมืองศรีสะเกษ หรือ เมืองศรีนครลำดวน ในอดีต นับเป็นการแสดงละครกลางแจ้งรายการหนึ่งของประเทศไทย ประกอบด้วยนักแสดงจำนวนกว่า 1,000 คน และชุดการแสดงหลายรายการ โดยเฉพาะ ระบำศรีพฤทเธศวร ซึ่งเป็นการแสดงนาฏยศิลป์ที่ได้รับการออกแบบโดยกรมศิลปากร นอกจากนั้น ยังมีการแสดงดนตรี การฟ้อนรำ และศิลปะพื้นบ้านของชน 4 เผ่าไทยศรีสะเกษ ได้แก่ ลาว กูย เยอ และ เขมร ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ต้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และระหว่างชมการแสดงนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับรสชาติอาหารพื้นเมืองในบรรยากาศการรับประทานอาหารแบบ พาข้าวแลง หรือการรับประทานอาหารมื้อค่ำ ท่ามกลางกลิ่นของดอกลำดวน [55]
- เทศกาลเงาะ ทุเรียน และของดีศรีสะเกษ
จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นแผ่นดินทองแห่งอีสานใต้ เนื่องจากมีสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะเขตที่ราบลุ่มน้ำมูลและเขตที่ราบลุ่มตอนกลางของจังหวัดในบริเวณที่เรียกว่า ดงภูดินแดง ที่มีลักษณะดินป็นดินร่วนปนทราย สีแดง(จึงเรียกว่า ดงดินแดง หรือ ภูดินแดง ) มีความอุดมสมบูรณ์สูง สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญได้ ภูดินแดงเป็นภูเขาไฟเก่าที่มีพื้นที่กว้างขวาง อยู่ลึกเข้ามาจากแนวเทือกเขาพนมดงรัก ชายเขตแดนไทยกับกัมพูชา เป็นรอยต่อของอำเภอเบญจลักษณ์ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอศรีรัตนะ อำเภอขุนหาญและอำเภอกันทรลักษณ์[6] เขตนี้จึงเป็นย่านที่ปลูกพืชสวนสำคัญ ได้ผลดี เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง มะยงชิด สะตอ ยางพารา ลำไย ลิ้นจี่ มะปรางหวาน กระท้อน ส้มโอ มะม่วง โดยเฉพาะการผลิตเงาะและทุเรียน จังหวัดศรีสะเกษถือเป็นแห่งผลิตแห่งแรก และเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่ปลูกกว่า 7,000 ไร่ เงาะที่ผลิตเป็นพันธุ์เงาะโรงเรียน ส่วนทุเรียนเป็นพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี จึงเป็นแหล่งพืชสวนและผลไม้อันเป็นผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการส่งออกแหล่งใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนั้น ยังมีพืชผลอื่น ๆ ที่ออกผลตลอดทั้งปี [6]
ดังนั้น ในเดือนมิถุนายนของทุกปี จังหวัดศรีสะเกษจึงกำหนดเป็นช่วงเทศกาล เงาะ ทุเรียน และของดีศรีสะเกษ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัด รวมทั้งการเผยแพร่ชื่อเสียงของผลไม้และพืชผลทางการเกษตรจากศรีสะเกษ มีขบวนรถบุปผาชาติประดับด้วยผลไม้ กิจกรรมคาราวานการท่องเที่ยวชมสวนและชิมผลไม้ไปตามสวนในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ เช่น ในเขตอำเภอกันทรลักษ์และอำเภอขุนหาญ รวมทั้งการจำหน่ายผลไม้และพืชผลทางการเกษตรคุณภาพดี [56]
- การแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอนและมินิควอเตอร์สู่ผามออีแดง
จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมทุกปี บนเส้นทางขึ้นสู่ผามออีแดง เขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ระหว่างหมู่บ้านภูมิซรอล–ผามออีแดง เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นเขาสู่ชายแดนที่ต้องวิ่งฝ่าสายหมอกในช่วงปลายฤดูฝน จึงนับเป็นเส้นทางและรายการที่ท้าทาย เป็นสนามประลองกำลังที่นักกีฬาวิ่งมาราธอนจากทั่วประเทศให้ความสนใจมากที่สุดอีกรายการหนึ่ง [57]
บุคคลที่มีชื่อเสียง
[แก้]บุคคลในประวัติศาสตร์
[แก้]- พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านเเรก
- พระยารัตนวงษา (อุ่น) เจ้าเมืองศรีสะเกษท่านเเรก
พระภิกษุสงฆ์
[แก้]- พระมงคลวุฒ (เครื่อง สุภทฺโท)
- พระญาณวิเศษ (สุพรรณ กนโก)
- พระครูสุชัยวรธรรม (วีระชัย วรธมฺโม)
- พระปัญญาวชิรโมลี (นพพร ธีรปญฺโญ)
- พระเมธีวัชรบัณฑิต (หรรษา ธมฺมหาโส)
- พระราชญาณโสภณ (จรัส เขมจารี)
ข้าราชการ,นักการเมือง
[แก้]- สุริยะใส กตะศิลา นักการเมือง
- ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ นักการเมือง
นักร้อง,นักแสดง,เน็ตไอดอล
[แก้]- นกน้อย อุไรพร
- เพชรรัตน์ สีแก้ว
- ยิ่งยง ยอดบัวงาม
- เสถียร ทำมือ
- ฉันทนา กิติยพันธ์
- อุ๋งอิ๋ง เพชรบ้านแพง (รัตนาภรณ์ หอมหวล)
- เม้ก อภิสิทธิ์
- บิ๊กวัน กันทรลักษ์
- จีเหลิน สายหมอบ (เจ้าของเพลง บักจีเหลิน)
นักกีฬา
[แก้]ศิลปินแห่งชาติ,บุคคลทางศิลปะวัฒนธรรม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 245 ง หน้า 4 วันที่ 2 ตุลาคม 2566
- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 29 มกราคม 2565.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 "อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-13. สืบค้นเมื่อ 2011-11-13.
- ↑ ประกาศสานักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 เก็บถาวร 2011-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย>
- ↑ 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.>
- ↑ วีระ สุดสังข์."ชาวกวย-ชาวเขมร : รำตำตะ-เล่นตร๊ดที่ศรีสะเกษ", วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มีนาคม 2543) : หน้า 118-121.
- ↑ สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และคณะ. รายงานการทำงานภาคสนามวิชาระเบียบวิธีการทำวิจัยทางภาษาศาสตร์ภาคการศึกษาที่ 2/2534 เขมรเหนือ บ้านใจดี หมู่ 1 ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ.นครปฐม : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา, 2535.
- ↑ ศรีศักร วัลลิโภดม,รองศาสตรจารย์. ค้นหาอดีตของเมืองโบราณ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2538.
- ↑ Tips, Walter W.J.Pavie Mission Exploration Work : laos, Cambodai, Siam, Yunnan, and Vietnam.[ Translated from “Mission Pavie Indo-Chine, 1879-1895. Geographie et Voyage”].Bangkok : White Lotus, 1999.
- ↑ โครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง องค์ความรู้จากปราสาทพระวิหาร
- ↑ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว."รูปทวารบาลสำริด : ประติมากรรมชิ้นเอกของปราสาทกำแพงใหญ่ = The bronze portal guardian masterpiece of Prasat Sa Khamphaeng Yai", วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ 15 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม - ธันวาคม 2532) : หน้า 76-81.
- ↑ กิตินันท์ ช่วยคงทอง. "หลักฐานใหม่จากอโรคยาศาล ปราสาทสระกำแพงน้อย", วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ 36 ฉบับที่ 4(ตุลาคม-ธันวาคม 2553) : หน้า 34-37.
- ↑ ชินณวุฒิ วิลยาลัย. "ทับหลังพบใหม่...ที่ปราสาทบ้านธาตุ จังหวัดศรีสะเกษ", นิตยสารศิลปากร, ปีที่ 52 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2552) : หน้า 52-63.
- ↑ ก่องแก้ว วีระประจักษ์. "จารึกปราสาททามจาน", นิตยสารศิลปากร, ปีที่ 53 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2553) : หน้า 32-45.
- ↑ จังหวัดศรีสะเกษ.ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดศรีสะเกษ.กรุงเทพฯ : สำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ, 2532.
- ↑ [อ้างแล้ว] พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน พ.ศ. 2260
- ↑ กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
- ↑ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร).พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน.มปท, มปป.
- ↑ อรุณรัตน์ ทองปัญญา. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นศรีสะเกษ. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ, 2545.
- ↑ เติม วิพากษ์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557), หน้า 143.
- ↑ กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
- ↑ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร).พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน.มปท, มปป.
- ↑ อรุณรัตน์ ทองปัญญา. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นศรีสะเกษ. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ, 2545.
- ↑ อุทัย เทพสิทธา, ความเป็นมาของไทย-ลาว, (กรุงเทพฯ : สาส์นสวรรค์, 2509), หน้า 269.
- ↑ สุนทร สุริยุทธ, ประวัติจังหวัดศรีสะเกษ, (ศรีสะเกษ : 2541), หน้า 26.
- ↑ สุนัย ราชภัณฑารักษ์, เชียงปุม ณ สุรินทร์, (ขอนแก่น : โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท, 2529), หน้า 9.
- ↑ ชัชวาลย์ คำงาม และปิยะศักดิ์ สุริยุทธ.(2564).ลูกหลานเจ้าเมืองศรีสะเกษ.[ออนไลน์] เข้าถึงได้ทาง https://sites.google.com/view/heir-of-sisaket/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%94?authuser=0
- ↑ ในเอกสารส่วนตัวของคุณยายแสง โกมณเฑียร ที่ท่านได้รับมาจากตระกูลสีหบัณห์ ทายาทพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองท่านสุดท้าย ระบุว่า ท้าวด้วง ต่อมาได้ครองเมืองศรีสะเกษแทนบิดาในราชทินนาม พระยาวิเศษภักดี แต่เมื่อเทียบเคียงกับเอกสารอื่นประกอบ กลับไม่พบชื่อท้าวด้วงเป็นเจ้าเมืองท่านที่ 3 พบว่าเจ้าเมืองท่านที่ 3 คือ พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) ซึ่งเป็นบุตรท้าวด้วง ผู้เรียบเรียงสันนิษฐานว่าท้าวด้วง อาจจะเป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษที่หายสาบสูญ ไม่ได้จดบันทึกไว้อย่างที่ควรจะเป็น หากมีการชำระประวัติศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษครั้งต่อไปเห็นควรว่า น่าจะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาคงจะดีมิใช่น้อย, ชัชวาลย์ คำงาม และปิยะศักดิ์ สุริยุทธ.(2564).ลูกหลานเจ้าเมืองศรีสะเกษ.[ออนไลน์] เข้าถึงได้ทาง https://sites.google.com/view/heir-of-sisaket/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9/4%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9
- ↑ บันทึกลำดับสายสกุลเจ้านาย เจ้าเมืองศรีสะเกษ.
- ↑ เติม วิพากษ์พจนกิจ, เรื่องเดิม, หน้า 144
- ↑ ชัชวาลย์ คำงาม และปิยะศักดิ์ สุริยุทธ.(2564).ลูกหลานเจ้าเมืองศรีสะเกษ.[ออนไลน์] เข้าถึงได้ทาง https://sites.google.com/view/heir-of-sisaket/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81
- ↑ ซึ่งมีกองบัญชาการมณฑลอยู่ที่ตัวเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, (กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์, 2525), หน้า 197
- ↑ พระราชเมธี (วรวิทย์), ประวัติศรีสะเกษ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระเทพวรมุนี (เสน ปญฺญฺวชิโร), (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. 2535), หน้า 28
- ↑ พุทธศักราช 2446 อำเภอมโนไพร ตกไปเป็นของกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส มโนไพรเป็นเมืองได้ 45 ปี และเป็นอำเภออยู่เพียง 3 ปี
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2459 (2459, 28 พฤษภาคม), ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม33), [ออนไลน์], แหล่งที่มา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/A/51.PDF เก็บถาวร 2008-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ กรมศิลปากร, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544), หน้า 10.
- ↑ เติม วิพากษ์พจนกิจ, เรื่องเดิม, หน้า 149.
- ↑ เติม วิพากษ์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2542
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่งพุทธศักราช 2481 (2481, 14 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 55),[ออนไลน์], แหล่งที่มา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/A/658.PDF เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ ชัชวาลย์ คำงาม และปิยะศักดิ์ สุริยุทธ.(2564).ลูกหลานเจ้าเมืองศรีสะเกษ.[ออนไลน์] เข้าถึงได้ทาง https://sites.google.com/view/heir-of-sisaket/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.ภูมิลักษณ์ประเทศไทย.กรุงเทพฯ : ภาควิชาภูมิศาสตร์และภาควิชาธรณีวิทยา, 2534.
- ↑ ข้อมูลจังหวัดศรีสะเกษกับความเหมาะสมในการปลูกข้าว จัดทำโดยศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ เข้าถึงออนไลน์ทาง http://srn.brrd.in.th/km/index.php?option=com_content&view=article&id=44 เก็บถาวร 2012-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ กรมทรัพยากรธรณี.การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดศรีสะเกษ.กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,2553., สรุปข้อมูลจังหวัด จัดทำโดยศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เข้าถึงออนไลน์ทาง http://www.sisaket.go.th เก็บถาวร 2006-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ข้อมูลการเขตการปกครองจังหวัดศรีสะเกษ จัดทำโดยสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ เข้าถึงออนไลน์ทาง www.sisaket.go.th
- ↑ ข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สรุปจำนวน อปท แยกรายจังหวัด ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 จัดทำโดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าถึงออนไลน์ทาง http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt/apt.jsp เก็บถาวร 2011-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์. การชำระประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์.2548 [ออนไลน์] เข้าถึงได้จากเว็บไซต์สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์ http://mueangkhukhanculturalcouncil.blogspot.com/2008/11/blog-post_9305.html
- ↑ สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์. การชำระประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์.2548 [เข้าถึงได้จากเว็บไซต์สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์
- ↑ เสาวภา พรสิริพงษ์."แผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ในจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา : เครื่องมือจัดการทรัพยากรโดยชุมชน". บทความประกอบการประชุมเชิงวิชาการและนิทรรศการเรื่อง “กลุ่มชาติพันธ์กับการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”. อุบลราชธานี : คณะศิลปศาสตร์ และศูนย์วิจัยอนุภูมิภาคลุ่มแม่นำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2549.
- ↑ น้ำทิพย์ พุ่มไม้ทอง."การสำรวจคุณภาพชีวิต และความต้องการทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวกูย(กวย)เขมรในบ้านแจงแมง และบ้านซำ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ".วิทยานิพนธ์หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพืน้ ฐานการศึกษา ภาควิชาสารัตถศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.
- ↑ ระพีพรรณ คมใส."พิธีกรรมแซนเนียะตาของกลุ่มชาวไทยเขมร : ศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านกราม ดำบลไพร อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ". วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.
- ↑ สำนักงานสถิติแห่งชาติข้อมูลสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศจำแนกเป็นรายภาคและรายจังหวัด ประจำปี 2553.กรุงเทพฯ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2554
- ↑ กรมทรัพยากรธรณี.การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดศรีสะเกษ.กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,2553.
- ↑ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ.เอกสารแนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ.สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 2, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.2548
- ↑ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ.(2552).เทศกาลงานประเพณี. [ออนไลน์] เข้าถึงได้ทาง http://sisaket.mots.go.th/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=3
- ↑ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดศรีสะเกษ [อ้างแล้ว]
- กรมทรัพยากรธรณี.การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดศรีสะเกษ.กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,2553.
- กรมพัฒนาที่ดิน. รายงานการสำรวจดินจังหวัดศรีสะเกษ. (โดยไมตรี สังหะวาระ และทวี รัตนวิมล).กรุงเทพฯ : กองสำรวจดิน, 2520.
- กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
- กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดี จังหวัดศรีสะเกษ. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี, 2526.
- กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม.ฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดศรีสะเกษ. กรุงเทพฯ : กองสารสนเทศสิ่งแวดล้อม, 2545.
- ก่องแก้ว วีระประจักษ์. "จารึกปราสาททามจาน", นิตยสารศิลปากร, ปีที่ 53 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2553) : หน้า 32-45.
- กิตินันท์ ช่วยคงทอง. "หลักฐานใหม่จากอโรคยาศาล ปราสาทสระกำแพงน้อย", วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ 36 ฉบับที่ 4(ตุลาคม-ธันวาคม 2553) : หน้า 34-37.
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.ภูมิลักษณ์ประเทศไทย.กรุงเทพฯ : ภาควิชาภูมิศาสตร์และภาควิชาธรณีวิทยา, 2534.
- จังหวัดศรีสะเกษ.ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดศรีสะเกษ.กรุงเทพฯ : สำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ, 2532.
- ชินณวุฒิ วิลยาลัย. "ทับหลังพบใหม่...ที่ปราสาทบ้านธาตุ จังหวัดศรีสะเกษ", นิตยสารศิลปากร, ปีที่ 52 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2552) : หน้า 52-63.
- ฐากูร โกมารกุล ณ นคร. "บนแผ่นดินผืนนี้ ศรีสะเกษ", อนุสาร อสท ,ปีที่ 52 ฉบับที่ 2 (กันยายน 2554): หน้า 106-114.
- เติม วิพากษ์พจนกิจ.ประวัติศาสตร์อีสาน.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2542.
- น้ำทิพย์ พุ่มไม้ทอง."การสำรวจคุณภาพชีวิต และความต้องการทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวส่วยเขมรในบ้านแจงแมง และบ้านซำ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ".วิทยานิพนธ์หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพืน้ ฐานการศึกษา ภาควิชาสารัตถศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.
- ไพฑูรย์ พงศะบุตร. (2549). "ศรีสะเกษ". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน (เล่ม 26: ฤ, ฤๅ-สตูล). กรุงเทพฯ: ด่านสุธาการพิมพ์. หน้า 16819-19822.
- ระพีพรรณ คมใส."พิธีกรรมแซนเนียะตาของกลุ่มชาวไทยเขมร : ศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านกราม ดำบลไพร อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ". วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.
- เรวัติ ชัยราช แและ จินดามณี แสงกาญจวนิช.รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว),2549.
- วีระ สุดสังข์."ชาวกวย-ชาวเขมร : รำตำตะ-เล่นตร๊ดที่ศรีสะเกษ", วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มีนาคม 2543) : หน้า 118-121.
- วีระศักร จันทร์ส่งแสง. "ดงภูดิน เมืองหลวงแห่งเทพเทวาลุ่มน้ำมูน", นิตยสารสารคดี, ปีที่ 26 ฉบับที่ 312 (กุมภาพันธ์ 2554) : หน้า 140-166.
- ศรีศักร วัลลิโภดม. "ศรีสะเกษ เขตเขมรป่าดง", ใน แอ่งอารยธรรมอีสาน : แฉหลักฐานโบราณคดี พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2533.
- สมัย สุทธิธรรม. สารคดีชุดถิ่นทองของไทย : ศรีสะเกษ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2545.
- สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และคณะ. รายงานการทำงานภาคสนามวิชาระเบียบวิธีการทำวิจัยทางภาษาศาสตร์ภาคการศึกษาที่ 2/2534 เขมรเหนือ บ้านใจดี หมู่ 1 ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ.นครปฐม : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา, 2535.
- สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว."รูปทวารบาลสำริด : ประติมากรรมชิ้นเอกของปราสาทกำแพงใหญ่ = The bronze portal guardian masterpiece of Prasat Sa Khamphaeng Yai", วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ 15 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม - ธันวาคม 2532) : หน้า 76-81.
- สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว. ปราสาทเขาพระวิหาร : ศาสนบรรพตที่โดดเด่นที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2536.
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ.ข้อมูลสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศจำแนกเป็นรายภาคและรายจังหวัด ประจำปี 2553.กรุงเทพฯ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2554.
- เสาวภา พรสิริพงษ์."แผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ในจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา : เครื่องมือจัดการทรัพยากรโดยชุมชน". บทความประกอบการประชุมเชิงวิชาการและนิทรรศการเรื่อง “กลุ่มชาติพันธ์กับการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”. อุบลราชธานี : คณะศิลปศาสตร์ และศูนย์วิจัยอนุภูมิภาคลุ่มแม่นำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2549.
- หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร).พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน.มปท, มปป.
- อรุณรัตน์ ทองปัญญา. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นศรีสะเกษ. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ, 2545.
- สวิง บุญเจิม. ตำราเรียนอักษรธรรมอีสาน. อุบลราชธานี : มรดกอีสาน, 2555.
ดูเพิ่ม
[แก้]- จังหวัดขุขันธ์
- รายชื่อวัดในจังหวัดศรีสะเกษ
- รายชื่อโรงเรียนในจังหวัดศรีสะเกษ
- รายชื่อห้างสรรพสินค้าในจังหวัดศรีสะเกษ
- สโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ ยูไนเต็ด