จังหวัดอุทัยธานี
จังหวัดอุทัยธานี | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Uthai Thani |
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง:
| |
คำขวัญ: อุทัยธานี เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดอุทัยธานีเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ธีรพัฒน์ คัชมาตย์ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2565) |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 6,730.246 ตร.กม. (2,598.563 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 29 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[2] | |
• ทั้งหมด | 322,273 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 67 |
• ความหนาแน่น | 47.88 คน/ตร.กม. (124.0 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 73 |
รหัส ISO 3166 | TH-61 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | อุทัย, อุไทย, อู่ไทย |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | สะเดา |
• ดอกไม้ | สุพรรณิการ์ |
• สัตว์น้ำ | ปลาแรด |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ถนนศรีอุทัย ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี 61000 |
• โทรศัพท์ | 0 5651 1063 |
เว็บไซต์ | http://www.uthaithani.go.th/ |
อุทัยธานี (เดิมสะกดว่า อุไทยธานี)[3] เป็นจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย หรือบางหน่วยงานจัดให้อยู่ในตอนล่างของภาคเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 6,730.246 ตารางกิโลเมตร มีประชากรในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 325,116 คน
ประวัติ
[แก้]เมืองอุทัยธานีมีหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรยืนยันไว้ว่า เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว โดยพบหลักฐานยืนยันในหลายพื้นที่ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินกะเทาะจากหินกรวด ภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผา (เขาปลาร้า) เป็นต้น
ตำนานเก่าเล่าว่า ในสมัยกรุงสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองนั้น ท้าวมหาพรหมได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า คือ อำเภอหนองฉางในปัจจุบันนี้ แล้วพาคนไทยเข้ามาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านคนมอญและคนกะเหรี่ยง จึงเรียกว่า "เมืองอู่ไทย" ตามกลุ่มหรือที่อยู่ของคนไทยซึ่งพากันตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น มีพืชพันธุ์และอาหารอุดมสมบูรณ์กว่าแห่งอื่น ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินและเกิดกันดารน้ำ เมืองอู่ไทยจึงถูกทิ้งร้าง จนในที่สุด พะตะเบิดได้เข้ามาปรับปรุงเมืองอู่ไทย โดยขุดที่เก็บกักน้ำไว้ใกล้เมือง และพะตะเบิดได้เป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทยเป็นคนแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมืองอู่ไทยต่อมาได้เรียกกันเป็น "เมืองอุไทย" คาดว่าเพี้ยนไปตามสำเนียงชาวพื้นเมืองเดิม ได้มีฐานะเป็นหัวเมืองด่านชั้นนอก มีพระพลสงครามเป็นนายด่านแม่กลอง และพระอินทรเดชเป็นนายด่านหนองหลวง (ปัจจุบันแม่กลองคืออำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และหนองหลวงคือตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง) คอยดูแลพม่าที่จะยกทัพมาตามเส้นทางชายแดนด่านแม่ละเมา
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2163) ได้โปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติอำนาจการใช้ตราประจำตำแหน่ง มีบัญชาการตามหัวเมืองนั้น ได้ระบุในกฎหมายเก่าลักษณะพระธรรมนูญว่า "เมืองอุไทยธานี เป็นหัวเมืองขึ้นแก่มหาดไทย"
เมืองอุไทยธานีเป็นเมืองที่อยู่บนที่ดอนและลึกเข้าไป ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่และไม่สามารถติดต่อทางเรือได้ ดังนั้นชาวเมืองจึงต้องขนข้าวบรรทุกเกวียนมาลงที่แม่น้ำ จึงทำให้พ่อค้าพากันไปตั้งยุ้งฉางรับซื้อข้าวที่ริมแม่น้ำจนเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกว่าหมู่บ้าน "สะแกกรัง" เนื่องจากเป็นพื้นที่มีป่าสะแกขึ้นเต็มริมน้ำและมีต้นสะแกใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน บ้านสะแกกรัง ชาวจีนเรียกเพี้ยนเป็น "ซิเกี๋ยกั้ง" เป็นตลาดซื้อข้าวที่มีพ่อค้าคนจีนนิยมไปตั้งบ้านเรือนและยุ้งฉาง ต่อมาในระยะหลังได้มีเจ้านายและขุนนางมาตั้งบ้านเรือนอยู่ เพราะความสะดวกในการกะเกณฑ์สิ่งของส่งเมืองหลวงซึ่งเป็นจำพวกมูลค้างคาว ไม้ซุง กระวาน และช้างป่า อีกทั้งยังมีช่องทางในการค้าข้าวอีกด้วย
ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) นั้น จมื่นมหาสนิท (ทองคำ) ซึ่งย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรังนั้น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชนิกูล และต่อมาได้กำเนิดบุตรชายคนโตชื่อ "ทองดี " เกิดที่สะแกกรัง สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกฯ พระนามเดิม ทองดี เดิมทรงรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ดำรงตำแหน่งพระอักษรสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทย ถึงรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เกิดการระส่ำระสายแตกสามัคคีในพระนคร จึงทรงอพยพครอบครัวไปรับราชการกับเจ้าเมืองพิษณุโลก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ ต่อมาทรงพระประชวร สิ้นพระชนม์ในเมืองพิษณุโลก บุตรชายชื่อ "ทองด้วง" ภายหลังได้รับราชการเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และสถาปนาเป็นกษัตริย์ราชวงศ์จักรีปกครองแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" ทรงอัญเชิญพระอัฐิส่วนหนึ่งประดิษฐาน ณ หอพระในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายบังคมในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาในฐานะสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี พระอัฐิอีกส่วนหนึ่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระเจดีย์ทองในพระมณฑปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ราชวรมหาวิหาร มีประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งเครื่องทองน้อย เพื่อสักการบูชาทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนิน
พ.ศ. 2376 ข้าราชการชาวกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาอุไทยธานี เจ้าเมืองอุไทยธานีในสมัยนั้น ได้เห็นว่าบ้านสะแกกรังเป็นตลาดใหญ่ มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่กันอย่างหนาแน่น อีกทั้งเป็นสถานที่ที่ชาวอุไทยธานีติดต่อค้าขายข้าวและไม้ซุงกับพ่อค้าที่นั่นมานานแล้ว จึงคิดตั้งบ้านเรือนเพื่อค้าขาย ประจวบกับเวลานั้น เจ้าเมืองไชยนาทเป็นเพื่อนกัน จึงขอตั้งบ้านเรือนที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง เนื่องจากผู้คนมาติดต่อราชการและมาค้าขายกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากเจ้าเมืองไม่กล้าขึ้นไปเมืองอุไทยธานีเก่า อ้างว่ากลัวไข้ป่า จึงเป็นเหตุให้พากันอพยพมาอยู่กันมากขึ้น
พ.ศ. 2391 ได้มีการแบ่งเขตดินแดนเมืองอุไทยธานีและเมืองไชยนาท โดยตัดเขตบ้านสะแกกรังทางฝั่งคลองฟากใต้ ตั้งแต่ท้ายบ้านสะแกกรังไปจดเมืองอุไทยธานีเก่า โอนที่นั่นจากเมืองไชยนาทเป็นของเมืองอุไทยธานี ดังนั้นเมืองอุไทยธานี จึงตั้งอยู่ที่ปลายสุดเขตแดนเมืองมโนรมย์ ข้างใต้บ้านลงมาสักคุ้งน้ำหนึ่งก็เป็นแดนเมืองไชยนาท
พ.ศ. 2441 เมืองอุไทยธานีขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนไปขึ้นกับมณฑลอยุธยา สุดท้ายมีการประกาศเลิกมณฑลปี พ.ศ. 2476 และจัดให้จังหวัดเป็นหน่วยปกครองส่วนภูมิภาคที่สำคัญที่สุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ภูมิศาสตร์
[แก้]ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดอุทัยธานีถูกจัดให้อยู่ในภาคกลางตอนบนตาม ราชบัณฑิตยสถานและกรมอุตุนิยมวิทยา แต่บางหน่วยงานถูกจัดให้อยู่ตอนล่างของภาคเหนือ มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดข้างเคียง ดังนี้
"ทิศเหนือ" ติดกับ จังหวัดนครสวรรค์
"ทิศตะวันออก" ติดกับ จังหวัดชัยนาท
"ทิศใต้" ติดกับ จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี
"ทิศตะวันตก" ติดกับ จังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี
แม่น้ำและแหล่งน้ำที่สำคัญ
[แก้]- แม่น้ำสะแกกรัง มีต้นกำเนิดจากเขาโมโกจูในจังหวัดกำแพงเพชร ไหลผ่านอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านอำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอทัพทัน และอำเภอเมืองอุทัยธานี ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ที่บ้านท่าซุง ตำบลท่าซุง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวประมาณ 225 กิโลเมตร โดยในแม่น้ำบริเวณตลาดหน้าวัดอุโปสถาราม มีชุมชนชาวแพซึ่งอยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคน มีการทำสวนต้นเตยและเพาะเลี้ยงปลาแรดในกระชังซึ่งเป็นปลาที่มีชื่อของจังหวัดด้วย
- แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ผ่าน ต.หาดทนง (เกาะเทโพ) อ.เมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี
- ลำห้วยคลองโพ เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอชุมตาบง อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ไหลมาบรรจบแม่น้ำสะแกกรัง(แควตากแดด) ที่ตำบลสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร
- ลำห้วยขุนแก้ว เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอบ้านไร่ และอำเภอห้วยคต ไหลผ่านอำเภอห้วยคต อำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี และอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท มาบรรจบแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลวัดสิงห์ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร
- ลำห้วยทับเสลา ห้วยทับเสลาเป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำสะแกกรัง ห้วยทับเสลา มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านอำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง มาบรรจบแม่น้ำสะแกกรังที่ตำบลน้ำซึม อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวจากท้ายเขื่อนทับเสลาถึงจุดที่บรรจบกับแม่น้ำสะแกกรังประมาณ 90 กิโลเมตร
- ลำห้วยกระเสียว เป็นลำห้วยสาขาใหญ่ของแม่น้ำท่าจีน ต้นน้ำอยู่ระหว่างเขาแหละกับเขาใหญ่ในเขตอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านท้องที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอด่านช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มาบรรจบแม่น้ำท่าจีนที่บ้านทึง อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี รวมความยาวประมาณ 140 กิโลเมตร
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
[แก้]- คำขวัญประจำจังหวัด : อุทัยธานี เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ
- ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นสะเดา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Azadirachta indica var. siamensis)
- ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกสุพรรณิการ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cochlospermum regium)
- สัตว์น้ำประจำจังหวัด : ปลาแรด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Osphronemus goramy)
การเมืองการปกครอง
[แก้]หน่วยการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]จังหวัดอุทัยธานีแบ่งเขตการปกครองเป็น 8 อำเภอ 70 ตำบล 632 หมู่บ้าน
แผนที่ | หมาย เลข |
ชื่ออำเภอ | ชั้น | ประชากร (พ.ศ. 2561) |
พื้นที่ (ตร.กม.) |
ความหนาแน่น (คน/ตร.กม.) |
รหัสไปรษณีย์ | ระยะทางจาก อำเภอเมืองอุทัยธานี (กม.) |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1 | อำเภอเมืองอุทัยธานี | 1 | 50,290 | 250.1 | 201.07 | 61000 | - | |
2 | อำเภอทัพทัน | 3 | 38,622 | 323.633 | 119.33 | 61120 | 20 | |
3 | อำเภอสว่างอารมณ์ | 3 | 31,852 | 341.4 | 93.29 | 61150 | 34 | |
4 | อำเภอหนองฉาง | 2 | 43,813 | 341.2 | 128.40 | 61110, 61170 | 22 | |
5 | อำเภอหนองขาหย่าง | 4 | 16,094 | 347.776 | 46.27 | 61130 | 12 | |
6 | อำเภอบ้านไร่ | 2 | 69,186 | 3,621.5 | 19.10 | 61140, 61180 | 79 | |
7 | อำเภอลานสัก | 3 | 59,218 | 1,080.4 | 54.81 | 61160 | 54 | |
8 | อำเภอห้วยคต | 4 | 20,358 | 424.17 | 47.99 | 61170 | 50 | |
รวม | 329,433 | 6,730.246 | 48.94 |
จังหวัดอุทัยธานีมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 64 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง, เทศบาลเมือง 1 แห่ง คือ เทศบาลเมืองอุทัยธานี, เทศบาลตำบล 13 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 49 แห่ง[4]
รายชื่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
[แก้]ลำดับ | รายชื่อ[5] | เริ่มดำรงตำแหน่ง | สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
1 | นายรังสรรค์ ตันตระกูล | 17 ธันวาคม พ.ศ. 2540 | 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 | ลาออกก่อนครบวาระ |
2 | นายวิชัย วิสิทธิ์ | 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 | 23 ธันวาคม พ.ศ. 2542 | ลาออกก่อนครบวาระ |
3 | นายธีรชัย บัวประทุม | 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 | 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 | |
4 | นายเผด็จ นุ้ยปรี | 8 สิงหาคม พ.ศ. 2547 | 29 พฤสจิกายน พ.ศ. 2550 | นายก อบจ. จากการเลือกตั้งครั้งแรก ลาออกก่อนครบวาระ |
27 มกราคม พ.ศ. 2551 | 26 มกราคม พ.ศ. 2555 | |||
4 มีนาคม พ.ศ. 2555 | 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563 | |||
20 ธันวาคม พ.ศ. 2563 | 22 สิงหาคม พ.ศ. 2567 | ลาออกก่อนครบวาระ |
การศึกษา
[แก้]เทศกาลประเพณี
[แก้]- งานตักบาตรเทโว วัดสังกัสรัตนคีรี ถือเป็นประเพณีสำคัญในวันออกพรรษาของจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (ตุลาคม) ของทุกปี พระสงฆ์ทุกรูปที่จำพรรษาในเขตอำเภอเมืองอุทัยธานีประมาณ 200-300 รูป จะออกรับบิณฑบาตโดยเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรังนำด้วยพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ลงมารับบิณฑบาตข้าวสารจากพุทธศาสนิกชนที่ลานวัด โดยสมมติมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังเป็น "สิริมหามายากูฎคาร" ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรดมารดา แล้วเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ลงบันได 339 ขั้น ซึ่งถือเป็นบันไดแก้วสู่กัสนคร คือ บริเวณวัดสังกัสรัตนคีรี ในวันนั้นประชาชนจะแต่งกายสวยงามและมาร่วมทำบุญกันอย่างพร้อมเพรียง นับเป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทุกปี
- งานไหว้พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ วัดสังกัสรัตนคีรี เป็นงานท้องถิ่น จัดขึ้นในวันขึ้น 3-8 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี เป็นงานประเพณีไหว้พระคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี ซึ่งเดิมนั้นเป็นงานนมัสการปิดทองพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขาสะแกกรัง ในระยะหลังจึงจัดงานในคราวเดียวกันที่วัดนี้ในวันขึ้น 5 ค่ำ เนื่องจากเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่มาไหว้พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์และขึ้นยอดเขาเพื่อปิดทองพระพุทธบาทจำลองมากที่สุด และได้จัดให้มีการละเล่นสนุกสนานควบคู่กันไปทุกปี
- งานประจำปีวัดหนองขุนชาติ อำเภอหนองฉาง โดยจัดให้มีงานในวันขึ้น 12 ค่ำ-วันแรม 5 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เดิมเป็นงานนมัสการพระพุทธบาทจำลอง ต่อมาการจัดงานได้รับความนิยมมาก จึงได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี
- การละเล่นพื้นเมืองที่บ้านท่าโพ อำเภอหนองขาหย่าง จัดขึ้นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ คือระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน โดยชาวบ้านในหมู่บ้านท่าโพและหมู่บ้านพันสี จะมาร่วมกันจัดการละเล่นพื้นเมืองขึ้นที่วัดท่าโพ โดยจะเก็บดอกไม้แห่เข้าโบสถ์แล้วร้องเพลงพิษ ฐานในโบสถ์ เสร็จแล้วจะออกมาเล่นเพลงชักกะเย่อ เพลงโลม เพลงรำวงโบราณอย่างสนุกสนานแต่ละเพลงมีท่ารำประกอบเฉพาะ ผลัดกันเล่นมอญซ่อนผ้า เจี๊ยบๆ จ้อย ช่วงชัย เสือกินวัว และแม่ศรี ตามแต่จะแข่งขันกัน ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยที่รักษาไว้และปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน การละเล่นต่างๆ ในหมู่บ้านแห่งนี้ส่วนใหญ่ยังคงเนื้อเพลงที่ร้องแบบของเดิมไว้
- การละเล่นของชาวกะเหรี่ยง อำเภอบ้านไร่ ยังคงรักษาประเพณีเดิมไว้ มีเต้นรำเชอโฮเตตามจังหวะ การร้องเพลงกล่อมลูก เป็นต้น ประเพณีการแต่งงานและการหย่าร้าง การนับถือผี งานบุญเจ้าวัด และการทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น ปัจจุบันยังสามารถศึกษาได้จากหมู่บ้านกะเหรี่ยง ตำบลคอกควาย และตำบลแก่นมะกรูด
- งานแห่เจ้าของชาวจีนในอุทัยธานี เป็นประเพณีของชาวจีนในอุทัยธานีที่จะจัดพิธีแห่เจ้าพ่อและเจ้าแม่ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามศาลต่างๆ โดยกำหนดมีงานตามการครบปีของเจ้าแต่ละองค์ การแห่เจ้าพ่อปุงเถ่ากง เจ้าพ่อหลักเมืองอุทัยธานี จะมีขบวนสาวงามถือธงร่วมขบวนเป็นแถวยาวผ่านตลอดไปตามถนนรอบเมือง และจะมีสิงโตคณะต่างๆ ของชาวจีนในอุทัยธานีร่วมให้พรตามร้านค้าคนจีนในตลาด ซึ่งทุกร้านจะตั้งโต๊ะบูชาประดับด้วยงาช้างขนาดใหญ่สวยงาม พร้อมด้วยกระจกเงาเพื่อให้เทพเจ้าสถิตทั่วหล้า ถ้าเป็นงานของเจ้าแม่ทับทิม "จุ้ยบ้วยเนี้ยว" จะมีพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงเจ้าแม่เมื่อครบ 12 ปี และเข้าทรงทำการลุยไฟด้วย โดยที่ศาลเจ้า 4 ศาล คือศาลเจ้าพ่อกวนอู(關羽) ศาลเจ้าแม่ทับทิม 水尾聖娘-天后聖母 ) ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง(本頭公) ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี(本頭馬)
เหตุการณ์สำคัญ
[แก้]ธงไตรรงค์ ปี พ.ศ.2459
[แก้]ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2459 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัย และทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎรซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จไว้ถูกติดกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า "ธงแดงขาว 5 ริ้ว" (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย)ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่ใช้รูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2453
ปัญหาอุทกภัย ปี พ.ศ. 2554
[แก้]น้ำท่วมจังหวัดอุทัยธานี โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนเข้าแม่น้ำสะแกกรัง ทำน้ำทะลักเข้าท่วมชุมชนริมแม่น้ำ-โบราณสถานสำคัญของจังหวัดอุทัยธานีแล้ว
สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุทัยธานี ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลเกาะเทโพ ตำบลท่าซุง ได้ขยายวงกว้างท่วมบ้านเรือนชาวบ้านไปแล้วนับพันหลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายไปนับหมื่นไร่ จนทำให้ทางจังหวัด ต้องประกาศให้เป็นพื้นประสบภัยพิบัติฉุกเฉินไปแล้ว
ล่าสุดปริมาณในแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณเกาะคุ้งสำเภา ตำบลท่าซุง อำเภอเมืองอุทัยธานี ได้หนุนย้อนเข้าไปในแม่น้ำสะแกรัง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรังมีระดับสูงขึ้นวันละ 10-15 ซม. บางจุดน้ำได้เอ่อล้นตลิ่งโดยเฉพาะชุมชนหน้าวัดพิชัยฯ น้ำได้ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังไปกว่า 20 หลังเรือน โดมีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านต้องขึ้นไปอาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน หลายบ้านต้องอพยพไปอยู่บนพื้นที่สูงด้านหน้าวัดพิชัยฯ ซึ่งทางเทศบาลเมืองจัดเต็นท์ไว้ให้ ส่วนชาวแพทั้ง 2 ฝั่ง ที่อาศัยอยู่ก็ต้องเร่งชักแพเข้าฝั่งป้องกันแพหลุดตามไปกลับกระแสน้ำ และปัจจุบันพบว่าในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี บริเวณถนนศรีอุทัยฯ บางระดับน้ำยังท่วมสูงกว่า 1 เมตร ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน
สำหรับน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง ยังได้เอ่อล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมโบราณสถานสำคัญ คือ มณฑปแปดแหลี่ยม ติดกับพระอุโบสถวัดโบสถ์ หรือวัดอุโปสถาราม ที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น สูงประมาณ 50 ซม.
สถานที่สำคัญ
[แก้]- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
- พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ
บุคคลที่มีชื่อเสียง
[แก้]- เชื้อพระวงศ์
- สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เป็นพระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมชื่อ "ทองดี" เป็นบุตรชายของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ประสูติที่บ้านสะแกกรัง ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) ได้รับราชการเป็นพระพินิจอักษร และต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระอักษรสุนทรสาสน์ มีหน้าที่แต่งราชสาสน์และท้องตราที่ไปมากับหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทั้งเป็นผู้เก็บรักษาตราพระราชลัญจกรอันเป็นตราของแผ่นดิน พระอักษรสุนทรสาสน์ได้แต่งงานกับสตรีงามชื่อ "หยก" (บางแห่งเรียกดาวเรือง) มีบุตร-ธิดา 5 คนคือ
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี
- สมเด็จพระเจ้าขุนรามณรงค์
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สถาปนา "พระบรมราชวงศ์จักรี" ได้สถาปนาพระราชบิดาเป็น "สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก" เมื่อ พ.ศ. 2338
- พระเถระชั้นผู้ใหญ่
- สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) สมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนใต้ อดีตแม่กองบาลีสนามหลวง อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
- พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) เป็นพระภิกษุนิกายเถรวาทฝ่ายมหานิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี มีชื่อเสียงในด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจนได้วิชามโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ) หลังการมรณภาพ สังขารร่างกายของท่านมิได้เน่าเปื่อยอย่างศพของคนทั่วไป และได้มีการเก็บรักษาไว้ที่วัดท่าซุง
บุคคลทั่วไป
- พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญของไทย เดิมชื่อ กิมเหลียง วัฒนปฤดา บิดามารดามีอาชีพค้าขาย อายุ 8 ขวบเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดขวิด ตำบลสะแกกรัง เมื่อจบประถมศึกษา บิดาได้นำไปฝากให้บวชสามเณรอยู่กับพระมหาชุ้ย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เมื่อท่านอายุ 13 ปีในปี พ.ศ. 2453 ท่านได้ศึกษานักธรรมและบาลีจนจบนักธรรมเอกและเปรียญ 5 ประโยค โดยสอบได้เปรียญ 5 ประโยคเมื่ออายุ 19 ปีใน พ.ศ. 2459 สอบได้เป็นที่ 1 ในประเทศ ได้รับประกาศนียบัตรหมายเลข 1 จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และได้รับความไว้วางใจจากพระศรีวิสุทธิวงศ์ (เฮง เขมจารี) ให้เป็นครูสอนภาษาบาลีอีกด้วย
- ประพจน์ อัศววิรุฬหการ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เคยดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นักการเมือง
- นักแสดง / นักร้อง
- ธนิดา ธรรมวิมล นักร้องหญิงชาวไทย
- ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ นักแสดงชายชาวไทย
- อิงฟ้า วราหะ นักร้องหญิงชาวไทย
- อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ นักร้องชายชาวไทย
- เอกพงศ์ จงเกษกรณ์ นักแสดงชายชาวไทย
ดูเพิ่ม
[แก้]- รายชื่อวัดในจังหวัดอุทัยธานี
- รายชื่อโรงเรียนในจังหวัดอุทัยธานี
- รายชื่อห้างสรรพสินค้าในจังหวัดอุทัยธานี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2565.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ. เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34 ตอนที่ ๐ก วันที่ 29 เมษายน 2460
- ↑ ข้อมูลจำนวน อปท. แยกรายจังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
- ↑ "กางแผนเลือกตั้งใหม่นายก อบจ.อุทัยธานี คาด "มนัญญา-น้องชาดา" ลงสนามด้วย". mgronline.com. 28 สิงหาคม 2024.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด เก็บถาวร 16 เมษายน 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์ท่องเที่ยวอุทัยธานีอย่างเป็นทางการ ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เก็บถาวร 17 พฤษภาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
15°23′N 100°02′E / 15.38°N 100.03°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดอุทัยธานี
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย