สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร
สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร | |
---|---|
เจ้าหน่อกษัตริย์ | |
กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ | |
ครองราชย์ | พ.ศ. ๒๒๕๖-๘๐ |
ราชาภิเษก | พ.ศ. ๒๒๕๖ นครจำปาศักดิ์ |
ก่อนหน้า | พระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก |
ถัดไป | สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร |
ประสูติ | พ.ศ. ๒๒๓๖ ภูซ่อง้อห่อคำ เมืองบริคัณฑนิคม |
สวรรคต | พ.ศ. ๒๒๘๐ นครจำปาศักดิ์ |
คู่อภิเษก | พระมเหสีฝ่ายขวา พระมเหสีฝ่ายซ้าย และพระธิดากษัตริย์เขมร |
พระราชบุตร |
|
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ล้านช้างจำปาศักดิ์ |
พระราชมารดา | พระมเหสีของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช หรือพระนางสุมังคลา |
สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร[1] (พ.ศ. ๒๒๓๖-๘๐)[2] หรือเจ้านครจำปาศักดิ์สร้อยศรีสมุทรหรือเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธกุล[3] บ้างว่าเจ้าสร้อยสมุทรหรือเจ้าสร้อยสีสมุทฯ หรือเจ้าส้อยสีสมุด พระนามเดิมว่าเจ้าหน่อกษัตริย์เป็นปฐมราชวงศ์จำปาสักและพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์องค์ที่ ๑ ของลาว[4] (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๕๖ (๒๒๕๗)-๘๐)[5] รวม ๒๔ หรือ ๒๕ ปี ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มพระครูวัดโพนเสม็ด[6] เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชมหาราชแห่งเวียงจันทน์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๘๑-๒๒๓๘) กับพระมเหสี[7] บ้างว่าเป็นพระราชโอรสของเจ้านางสุมังคลา (นางสุมังคะลา[8], นางสุมังคละ[9], นางสุมัง[10], นางซะมัง) พระราชธิดาในพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชและเป็นพระราชนัดดาหรือหลานตาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช[11] การแยกตัวของจำปาศักดิ์ออกจากกรุงเวียงจันทน์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความเปราะบางในโครงสร้างทางการเมืองอาณาจักรล้านช้างที่เกิดจากความวุ่นวายและความขัดแย้งหลังรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ในวงกว้าง[12] นับเป็นการเริ่มต้นแห่งสมัยล้านช้าง ๓ นครรัฐ[13] หรือสมัยแห่งความแตกแยก[14] และเป็นยุคแห่งการขยายตัวของชุมชนลาวภาคอีสานอย่างต่อเนื่องนับแต่ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เรื่อยมาจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔[15]
สถานภาพเดิมในราชวงศ์
[แก้]ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีชี้ว่า[16] พ.ศ. ๒๒๓๑ (จ.ศ. ๑๐๕๐) ปีมะโรง สัมฤทธิศก พระเจ้าเวียงจันทน์ซึ่งหมายถึงพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชถึงแก่พิราลัย[17] พระยาเมืองแสนซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีกำกับดูแลฝ่ายทหารคนสำคัญของล้านช้างได้ชิงราชสมบัติแล้วขึ้นครองราชย์เวียงจันทน์แทน โดยพยายามสร้างความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ด้วยการสร้างสัมพันธภาพทางเครือญาติกับราชวงศ์จากการรับพระมเหสีหม้ายของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชมาตั้งขึ้นเป็นภรรยาในตำแหน่งใดไม่ปรากฏแต่สันนิษฐานว่าอาจเป็นตำแหน่งพระมเหสี ทว่าพระนางไม่ยอมร่วมสังวาสด้วยจึงเข้าไปพึ่งพาอาศัยอยู่กับพระครูโพนเสม็ด[18] ด้วยเกรงจะถูกครหาติเตียนพระครูจึงให้พระนางลงไปอาศัยอยู่ที่ภูสะง้อหอคำ (ภูซ่อง่อห่อคำ) บริเวณเมืองบริคัณฑนิคม (เมืองบอลิคัน) แขวงเวียงจันทน์[19] ซึ่งเป็นเขตแดนติดต่อระหว่างเวียงจันทน์กับเมืองละคร[20] ฝ่ายพรรคพวกเจ้าองค์หล่อซึ่งเป็นบุตรอีกองค์ของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชได้นำพระองค์ไปลี้ภัยที่เมืองญวนหรือเวียดนามฝ่ายญวณรับไว้แล้วให้ชื่อว่าเจ้าองค์เวียด[21] ต่อมาพระมเหสีของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชทรงพระครรภ์ถ้วนทศมาสคือ ๑๐ เดือนเต็มจึงคลอดพระราชกุมาร ฝ่ายพระครูโพนเสม็ดให้พระนามว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร สันนิษฐานว่าที่ได้พระนามว่าหน่อกษัตริย์คงเนื่องจากราชกุมารเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชโดยตรง นานมาพระยาเมืองแสนผู้ครองเวียงจันทน์เห็นว่าท้าวพระยาไพร่บ้านพลเมืองพากันนิยมนับถือพระครูโพนเสม็ดอย่างมากเกรงว่าภายหน้าพระครูจะชิงราชสมบัติจึงคิดแผนลับกับพรรคพวกคนสนิทเพื่อประทุษร้าย ครั้นพระครูล่วงรู้ความคิดนั้นจึงให้คนไปรับเจ้าหน่อกษัตริย์และพระราชมารดาจากภูสะง้อหอคำพร้อมกันแล้วปรึกษาญาติโยมสานุศิษย์ผู้อุปัฏฐากรวมชายหญิงใหญ่น้อยได้ถึง ๓,๓๓๓ คน ยกออกจากเวียงจันทน์ไปถึงบ้านงิ้วพันลำโสมสนุกโดยให้เจ้าหน่อกษัตริย์และพระราชมารดาพร้อมพรรคพวกตั้งอยู่ที่บ้านนั้น[22] จากเอกสารนี้ชี้ว่าเจ้าสร้อยศรีสมุทร พระราชมารดา และพระราชเชษฐาคือเจ้าองค์หล่ออยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ส่วนสาเหตุที่ถูกแยกสถานที่ลี้ภัยอาจเนื่องจากความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าองค์หล่อและกลุ่มผู้สนับสนุนพระมเหสีที่กำลังทรงพระครรภ์ เนื่องจากกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าองค์หล่ออาจเห็นว่าพระองค์มีความชอบธรรมในการสืบราชสมบัติมากกว่าโอรสในพระครรภ์เพราะเป็นพระราชโอรสองค์โต และการพึ่งญวณซึ่งเป็นมหาอำนาจใกล้ชิดในขณะนั้นสามารถสร้างกองกำลังที่เข้มแข็งให้เจ้าองค์หล่อกลับมาแย่งชิงราชสมบัติคืนได้ ฝ่ายพระมเหสีของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชจึงหันไปหาที่พึ่งโดยอาศัยบวรพุทธศาสนาคือการพึ่งบารมีของพระครูโพนเสม็ดแทน และหวังว่าในอนาคตจะสามารถพึ่งพากำลังของกัมพูชาซึ่งเป็นมหาอำนาจใกล้ชิดทางตอนใต้ได้เช่นกัน
ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุศักราชของเหตุการณ์คลาดเคลื่อนกัน ๑ ปีคือ พ.ศ. ๒๒๓๐ (จ.ศ. ๑๐๕๑) ระหว่างรัชกาลสมเด็จพระมหาบุรุษพระเพทราชานั้นผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตซึ่งหมายถึงพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชพิราลัย พระองค์มีบุตรชายคือเจ้าองค์หล่ออายุ ๓ ปีและพระราชมารดาหรือมเหสีของพระองค์ที่ยังทรงพระครรภ์อยู่ พระยาเมืองแสนได้ชิงราชสมบัติและปรารถนาได้พระราชมารดาของเจ้าองค์หล่อมาเป็นภรรยาแต่นางไม่ยินดีจึงพาบุตรหนีไปอยู่กับพระครูโพนเสม็ด พระครูออกอุบายให้ไปอยู่ที่ตำบลภูซ่อง้อห่อคำซึ่งภายหลังเรียกว่าบ้านสะง้อหอคำดังนั้นการอพยพลงใต้ของพระราชมารดาเจ้าหน่อกษัตริย์จึงไม่ได้เกิดจากการกลัวข้อครหาแต่เป็นอุบายเพื่อลี้ภัย ต่อมานางคลอดบุตรเป็นชายคนทั้งหลายจึงเรียกว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งพระนามนี้ไม่ได้เกิดจากการตั้งขึ้นโดยพระครูโพนเสม็ดเป็นการเฉพาะ ฝ่ายเจ้าองค์หล่อพระเชษฐาครั้นเจริญวัยได้คิดโกรธแค้นพระยาเมืองแสนจึงพาบ่าวไพร่หนีไปตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนอยู่เมืองญวน[23] ดังนั้นเอกสารจึงชี้ว่าเจ้าองค์หล่อได้อาศัยอยู่เวียงจันทน์มานานพอที่จะมีฐานอำนาจกอบกู้ราชสมบัติได้แล้วระดับหนึ่งจึงเข้าไปพึ่งอำนาจของญวณเพื่อเสริมกำลังให้เข้มแข็ง ส่วนพระยาเมืองแสนคิดกำจัดพระครูโพนเสม็ดด้วยเห็นว่าเป็นผู้มีกำลังมากเกรงจะเป็นศัตรูต่อบ้านเมือง ครั้นพระครูรู้ตัวจึงนำเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระราชมารดาและญาติโยมพรรคพวกราว ๓,๐๐๐ เศษอพยพออกจากเมืองศรีสัตนาคนหุตไปถึงตำบลงิ้วพันลำน้ำโสมสนุก แล้วให้เจ้าหน่อกษัตริย์กับพระราชมารดาสานุศิษย์บางส่วนตั้งเคหสถานอยู่ในที่นั้น[24] จะสังเกตว่าการอพยพลงไปจนถึงแดนเขมรของพระครูโพนเสม็ดและไพร่พลอาจเป็นอุบายเพื่อให้พระยาเมืองแสนเข้าใจว่าเจ้าหน่อกษัตริย์และพระราชมารดาอพยพลงไปด้วย พระยาเมืองแสนจะได้ไม่ติดตามลงมาประทุษร้ายราชวงศ์ แต่แท้ที่จริงเจ้าหน่อกษัตริย์และพระราชมารดากลับหลบซ่อนอยู่ไม่ไกลจากนครเวียงจันทน์ลงมา เมื่อตรวจสอบเอกสารที่เรียบเรียงโดยบุคคลเดียวกันในอีกชื่อหนึ่งคือพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) พบว่ามีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เอกสารได้ระบุศักราชก่อนเหตุการณ์นาน ๔๕ ปีว่า พ.ศ. ๒๑๘๖ (จ.ศ. ๑๐๐๕) ปีมะแม เบญจศก มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระครูเจ้าวัดโพนเสม็ดแขวงกรุงศรีสัตนาคนหุตประชาชนเรียกว่าพระครูโพนเสม็ด ดังนั้นนามนี้จึงไม่ใช่นามจริงแต่เป็นสมัญญานามหรือฉายานามที่มาจากชื่อวัดเดิมซึ่งพระครูอาศัยอยู่ พระครูมีสานุศิษย์ญาติโยมและประชาชนจำนวนมากในแว่นแคว้นนับถือรักใคร่เข้ามาเป็นพรรคพวก พ.ศ. ๒๒๓๑ (จ.ศ. ๑๐๕๐) ซึ่งศักราชตรงกับตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตพิราลัยพระยาเมืองแสนจึงชิงราชสมบัติขึ้นครองกรุง พระเจ้ากรุงองค์เดิมหมายถึงพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชมีโอรสองค์หนึ่งชื่อเจ้าองค์หล่ออายุ ๓ ปีและมารดาของพระองค์ผู้เป็นชายาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยังทรงพระครรภ์ค้างอยู่ พระยาเมืองแสนผู้ครองกรุงจะรับมารดาเจ้าองค์หล่อไปเป็นภรรยาแต่นางไม่ยินดีด้วยจึงพาเจ้าองค์หล่อหนีมาอยู่กับพระครูโพนเสม็ด พระครูให้นางชายากับโอรสไปอยู่ตำบลภูฉะง้อหอคำ (เอกสารเขียนและออกเสียงอย่างไทย) ครั้นถึงกำหนดจึงคลอดบุตรเป็นชายคนทั้งหลายเรียกว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ (เจ้าหน่อกระษัตริย์) เจ้าองค์หล่อผู้เป็นพระเชษฐาโกรธคิดแค้นพระยาเมืองแสนจึงนำบ่าวไพร่ไปอยู่เมืองญวนแล้วตั้งเกลี้ยกล่อมมั่วสุมกำลังผู้คนคอยหาโอกาสแก้แค้น โดยเอกสารไม่ชี้สาเหตุที่แน่นอนว่าเหตุใดพระองค์จึงต้องการแยกออกจากกลุ่มพระราชมารดาแลพระครูโพนเสม็ดหรือไม่นำพากลุ่มพระราชมารดากับพระครูโพนเสม็ดออกไปเมืองญวนด้วย สันนิษฐานว่ากลุ่มของเจ้าองค์หล่อคงมีจำนวนไพร่พลไม่น้อยไปกว่ากลุ่มพระราชมารดาและพระครูโพนเสม็ดจึงสามารถคิดการณ์ใหญ่ได้ พระยาเมืองแสนเห็นว่าพระครูมีผู้คนรักใคร่กลัวเกรงนับถือมากถ้าละไว้เกรงจะแย่งชิงเอาบ้านเมืองจึงคิดเป็นความลับว่าจะกำจัดพระครู เมื่อรู้ระแคะระคายว่าถูกคิดทำร้ายแล้วเห็นว่าอยู่ต่อไปคงไม่มีความสุขพระครูจึงปรึกษาญาติโยมสานุศิษย์และดำริว่าควรไปตั้งอาศัยอยู่ให้พ้นเขตแขวงกรุงศรีสัตนาคนหุต จากนั้นได้รวบรวมพวกพ้องราว ๓,๐๐๐ เศษไปเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระราชมารดามาพร้อมกันแล้วพาอพยพออกจากแขวงกรุงศรีสัตนาคนหุตไปถึงตำบลงิ้วพันลำโสมสนุก พระครูให้เจ้าหน่อกษัตริย์กับพระราชมารดาสานุศิษย์บางส่วนตั้งเคหสถานอยู่ในตำบลนั้น[25]
ส่วนพงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) ระบุต่างออกไปบ้างโดยเริ่มเหตุการณ์เกี่ยวกับพระครูโพนเสม็ดว่าครั้นพระเจ้าเวียงจันทน์ซึ่งหมายถึงพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชพร้อมด้วยพระครูทั้งหลายประกอบพิธีฮด (เถราภิเษก) ภิกษุบวชใหม่ชื่อพระครูสีดาแล้วจึงให้นามว่าพระครูโพนเสม็ดบ้างแต่บางคนยังคงเรียกว่าพระครูสีดาตามนามเดิม พระครูโพนเสม็ดได้รักษาศีลบริสุทธิ์ไม่นานจึงสำเร็จฌานได้อภิญญา ๕ อัฏฐสมาบัติ ๘ ประการและ "...จะว่าสิ่งใดก็แม่นยำโดยบารมีธรรมโปรดสำเร็จดังมโนนึกความปรารถนาน้ำมูตรและอาจมก็หอม..." คุณลักษณะพิเศษนี้ต่อมาทำให้พระครูได้ฉายานามว่ายาครูขี้หอมหรือพระครูขี้หอมและอาจเป็นสาเหตุให้ผู้คนทุกยุคสมัยนิยมเคารพนับถือมากโดยเฉพาะมิติด้านอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่เกิดจากฌานสมาบัติของพระครู เนื้อหาระบุต่อไปว่าพระเจ้าเวียงจันทน์ได้จัดให้มีโยมอุปฐากรักษาท่านแล้วพระครูได้เอานายแก้วกับนายหวดมาเลี้ยงไว้โดยให้เรียนศิลปวิชชาความรู้จำนวนมากจนฉลาดเฉลียว เมื่ออายุครบ ๒๑ ปีจึงบวชเป็นภิกษุให้ทั้ง ๒ คนซึ่งต่อมาวงศ์ตระกูลของทั้ง ๒ จะกลายเป็นกลุ่มเจ้าเมืองสำคัญที่มีบทบาทและอิทธิพลสูงในพื้นที่ลาวตอนใต้และภาคอีสาน อย่างไรก็ตามเอกสารไม่ได้ระบุที่มาของทั้ง ๒ ว่าเป็นเชื้อสายเจ้านายองค์ใดมาก่อนหรือมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชวงศ์ล้านช้างอย่างไรบ้าง[26] ต่อมาพระเจ้าเวียงจันทน์มีโอรสองค์หนึ่งเรียกว่าเจ้าองค์หล่ออายุได้ ๓ ปีส่วนพระมเหสีมีครรภ์ได้ ๖ เดือน พ.ศ. ๒๒๓๒ (จ.ศ. ๑๐๕๑) พระเจ้าเวียงจันทน์ถึงแก่พิราลัยซึ่งศักราชนี้ตรงกันกับพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ต่อมาพระยาเมืองแสนชิงราชสมบัติได้แล้วฝ่ายเจ้าองค์หล่อกับบ่าวไพร่ที่สนิทจึงหนีเข้าไปพึ่งญวนและได้เป็นใหญ่อยู่ที่เมืองญวน ส่วนมเหสีของพระเจ้าเวียงจันทน์นั้นพระยาเมืองแสนจะรับไปอยู่ด้วยแต่นางไม่ยอมจึงหนีเข้าไปพึ่งอยู่กับพระครูโพนเสม็ด พระครูกลัวถูกนินทาจึงส่งนางไปไว้ที่บ้านซ่อง่อหอคำเมื่อครบ ๑๐ เดือนจึงประสูติพระโอรสเป็นชาย ฝ่ายมารดาและญาติพี่น้องถวายนามว่าเจ้าหน่อกษัตริย์และนามนี้ไม่ได้เกิดจากการตั้งขึ้นโดยพระครูโพนเสม็ดเป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับเนื้อหาของพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ต่อมาพระยาเมืองแสนดำริว่าพระครูมีบุญมากและผู้คนนิยมนับถือกลัวจะชิงเอาราชสมบัติจึงคิดเป็นความลับว่าจะทำอันตรายแก่พระครู ครั้นล่วงรู้ความคิดของพระยาเมืองแสนพระครูจึงว่ามีมารมาประจญแล้วจะอยู่ไม่ได้ต้องหลีกหนีให้พ้นมารจึงใช้คนไปรับมารดากับเจ้าหน่อกษัตริย์มาแต่ซ่อง่อหอคำ แล้วปรึกษาญาติโยมคนอุปฐากพร้อมกันรวมได้ชายหญิงใหญ่น้อย ๓,๓๓๓ คนพร้อมกับภิกษุแก้วและภิกษุหวดพากันอพยพ (อุปยก) จากเวียงจันทน์มาจนถึงงิ้วพลานลำสมสนุก โดยให้มารดาและเจ้าหน่อกษัตริย์พักอาศัยอยู่ในที่นั้นฝ่ายพระครูกับคนอื่นได้เดินทางต่อไป[27] ซึ่งไพร่พลจำนวนนี้ตรงกับตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี จะเห็นว่าเนื้อความในพงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) คงเกิดจากการรวบรวม ตัดทอด และเพิ่มเติมเนื้อหาจากเอกสาร ๒ ฉบับเป็นหลักคือพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) และตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีประกอบกับตำนานเรื่องเล่าพื้นเมืองในกลุ่มจังหวัดร้อยเอ็ด เนื่องจากเนื้อหาบางส่วนสอดคล้องกันกับเอกสารทั้ง ๒ ฉบับและเอกสารนี้รวบรวมขึ้นจากตระกูลผู้ปกครองเมืองร้อยเอ็ดซึ่งเป็นเชื้อสายของจารย์แก้วที่สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรส่งไปรักษาบ้านเมืองท่งและต่อมาได้แยกออกมาเป็นเมืองร้อยเอ็ด ดังนั้นผู้เขียนจึงให้ความสำคัญกับจารย์แก้วและจารย์หวดในฐานะบรรพบุรุษผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องสนิทสนมกับพระครูโพนเสม็ดและเจ้าหน่อกษัตริย์มาตั้งแต่ก่อนการประสูติของเจ้าหน่อกษัตริย์ให้แทรกในเนื้อหาของพงศาวดารอยู่ตลอด
นอกจากนี้ยังพบปัญหาเกี่ยวกับเชื้อสายของเจ้าหน่อกษัตริย์เนื่องจากความไม่ลงรอยกันของเอกสารชั้นต้นอยู่ด้วย แม้ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) และพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) จะระบุตรงกันว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชกับพระมเหสี แต่พงศาวดารล้านช้างกลับระบุต่างออกไปว่าพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชหรือพระยาสุริยวงษาธรรมิกบรมบพิตรพระมหาราชเจ้ามีพระราชโอรสพระราชธิดา ๓ องค์ องค์โตชื่อเจ้าราชบุตร องค์กลางชื่อกุมารีลงท่า (กุมารีโรงธรรม)[28] ผู้น้องชื่อนางสุมัง[29] เมื่อพระองค์สวรรคตใน พ.ศ. ๒๒๕๙ (จ.ศ. ๑๐๗๘) ปีกาไก๊ (ก่าไค้) มหาเสนาใหญ่ชื่อพระยาจันได้ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเวียงจันทน์แล้วเอานางสุมังมาเป็นเทวี พระยาจันอาจเป็นอัครมหาเสนาบดีกำกับดูแลฝ่ายพลเรือนคนสำคัญของล้านช้างหรืออาจเป็นตำแหน่งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ล้านช้างที่เวียงจันทน์ ต่อมาพระยานครนัยว่าเป็นเจ้าเมืองนครพนมพระนามว่านันทราช (น่าน) จึงยกทัพมากำจัดพระยาจันชิงราชสมบัติแล้วขึ้นนั่งเวียงจันทน์แทนส่วนพระยาจันได้กินง้วนตาย (เสวยยาพิษ) รายละเอียดถัดจากนี้ไม่ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับนางสุมังและราชโอรสคือเจ้าองค์หล่อกับเจ้าหน่อกษัตริย์รวมถึงพระครูโพนเสม็ด[30] จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่านางสุมังเป็นพระราชมารดาของเจ้าหน่อกษัตริย์จริงหรือไม่ สถานะของพระนางในขณะนั้นอาจกลายเป็นเทวีของพระยาจันไปแล้วหรือไม่ และนางอาจเป็นคนละองค์กันกับมเหสีหรือนางชายาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชและพระราชมารดาของเจ้าหน่อกษัตริย์ ขณะเดียวกันความสับสนเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเจ้าหน่อกษัตริย์และพระราชมารดาที่เกิดจากความไม่ลงรอยกันของเอกสารทั้ง ๓ ฝ่ายทำให้มติเกี่ยวกับราชสันตติวงศ์และความชอบธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์ของพระองค์แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มที่ล้วนไม่สามารถรับรองการขึ้นครองราชย์กรุงเวียงจันทน์ของพระองค์ได้ทั้งสิ้นเนื่องจากไม่ใช่พระราชโอรสองค์โตที่ประสูติจากพระมเหสีดังนี้
๑. ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) และพงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) เสนอว่าเจ้าหน่อกษัตริย์เป็นพระราชโอรสองค์รองของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชที่เกิดจากพระมเหสีไม่ปรากฏพระนาม
๒. พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เสนอว่าเจ้าหน่อกษัตริย์เป็นพระราชโอรสองค์รองของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชที่เกิดจากชายา (นางชายา) ไม่ปรากฏพระนามซึ่งมีอิสริยยศต่ำว่าพระมเหสี
๓. พงศาวดารล้านช้างมีนัยเสนอว่าเจ้าหน่อกษัตริย์เป็นพระราชนัดดาหรือหลานตาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเนื่องจากพระราชมารดาคือนางสุมังเป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๓ ส่วนพระนามของพระราชบิดานั้นไม่ปรากฏ แม้พงศาวดารล้านช้างไม่ได้ระบุว่านางเป็นพระราชมารดาจริงหรือไม่แต่เค้าโครงเหตุการณ์ที่นางได้เป็นเทวีของพระยาจันซึ่งคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่พระยาเมืองแสนต้องการมเหสีหรือชายาของพระเจ้าสุริยวงศาไปเป็นเทวีหรือภรรยาทำให้เข้าใจว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสของนางสุมัง
สภาพเหตุการณ์บ้านเมืองก่อนครองราชย์
[แก้]เมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งเวียงจันทน์เสด็จสวรรคตในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๒๓๘ บรรดาเจ้านายบุตรหลานจึงวิวาทรบพุ่งกันเป็นเวลานานจนไพร่บ้านพลเมืองได้รับความเดือดร้อน สาเหตุเนื่องจากถูกเจ้านายเหล่านั้นแย่งชิงจับกุมไปเป็นพรรคพวกแล้วเกณฑ์ไปรบพุ่งฆ่าฟันกันจนไม่เป็นอันทำมาหากินอยู่นานหลายปี ต่อมาไพร่ลาวบางกลุ่มซึ่งมีหลายครอบครัวได้ชักชวนกันอพยพหลบหนีความขัดแย้งลงไปทางใต้[31] โดยตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์อธิบายว่ามีสาเหตุจาก
๑. เห็นว่าหากอยู่ในเขตแคว้นล้านช้างและแขวงใกล้เคียงจะหาความสุขไม่ได้
๒. เห็นว่าหากหลบหนีเข้าป่าดงพงไพรไปกับครอบครัวบุตรภรรยาจะยากลำบากไม่มีไร่นาทำมาหากินและต้องซุกซ่อนหลบหนีเจ้านายเหล่านั้น
๓. เห็นว่าหากพากันลงเรือแพพายทวนน้ำขึ้นไปอาศัยอยู่เขตแขวงเมืองเซ่าหลวงพระบาง เชียงแสน และเชียงรุ้งก็จะได้รับความลำบากและยากจะหนีพ้นเจ้านายเหล่านั้นได้เช่นกัน[32]
ดังนั้นบรรดาครัวลาวจึงพากันผูกแพลงเรือรวบรวมสะเบียงอาหารบรรทุกครอบครัวล่องแม่น้ำโขง (แม่น้ำของ) ลงไปจำนวนมากโดยพระครูวัดโพนเสม็ด (พระครูโพนเสม็ด) อาจารย์บอกพระกรรมฐานซึ่งเป็นที่นับถือของประชาชนได้ล่องลงไปด้วย เมื่อขุ่นข้องหมองหมางไม่สมัครสโมสรกันพระครูก็ช่วยว่ากล่าวไกล่เกลี่ยให้สามัคคีพร้อมเพรียง ครั้นล่องไปถึงเขาลี่ผี (หลี่ผี) เกรงว่าจะหนีเจ้านายเวียงจันทน์ไม่พ้นอีกจึงผูกพ่วงแพล่วงหนีไปอาศัยอยู่เมืองพนมเพ็ญ (พนมเป็ญ) ในเขตแดนเมืองเขมรอยู่ช้านาน[33] ชั้นแรกผู้ครองเมืองฝ่ายเขมรได้อนุเคราะห์ให้อยู่เย็นเป็นสุขต่อมาเห็นว่าคนผิดเพศภาษามาอาศัยอยู่ใต้อำนาจของตนจึงลดความกรุณาลง โดยกะเกณฑ์ให้ใช้งานหนักและเรียกส่วยไร่เกินพิกัดทำให้ไพร่ลาวได้รับความยากจน ครั้นทนไม่ได้จึงพร้อมกันกับพระครูโพนเสม็ดอพยพหลบหนีขึ้นมาจนข้ามพ้นเขาลี่ผีและแดนเขมร ครั้นจะกลับคืนไปยังภูมิลำเนาเดิมก็เกรงกลัวผู้ครองเมืองฝ่ายเวียงจันทน์จึงพากันตั้งบ้านเรือนอยู่ตามตำบลต่าง ๆ ซึ่งบางตำบลเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อน เช่น เชียงแตง โขง อัตปือ คำทองน้อย คำทองใหญ่ เป็นต้น ขณะพำนักอยู่เมืองเชียงแตงพระครูโพนสะเม็ดได้เรี่ยไรทองแดงและทองเหลืองจำนวนมากจากครัวลาวรวมหนัก ๑๖๐ ชั่งเศษแล้วหล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งมีพุทธลักษณะงามเนื้อหนาดีขัดสีเกลี้ยงเกลา เนื่องจากองค์พระมีน้ำหนักกว่าแสนเฟื้องจึงถวายนามว่าพระแสนตั้งไว้ในวัดเมืองเชียงแตงซึ่งพระครูโพนเสม็ดอาศัยอยู่[34] ฝ่ายพระครูเมื่ออาศัยอยู่เชียงแตงนั้นเกิดความไม่สบายจึงยกครอบครัวมาตั้งอยู่ที่เมืองโขงซึ่งเป็นเกาะกลางน้ำโขงแล้วย้ายไปอยู่ตำบลอัตปือ คำทองน้อย คำทองใหญ่ ตำบลมั่น ตำบลเจียม ภายหลังจึงตั้งอยู่ที่ตำบลจำปะ (จำปา) เพราะเป็นภูมิสถานอันดีและอยู่สุขสบาย เมื่อพระครูอพยพไปในที่ต่าง ๆ ครอบครัวญาติโยมได้ย้ายบ้านเรือนตามไปบ้างและบางส่วนคงตั้งอยู่ที่เดิม นายครัวผู้ใหญ่ที่ตั้งอยู่ในตำบลต่าง ๆ ได้เกลี้ยกล่อมผู้คนที่เป็นชาวป่าชาวดอนมาอยู่ด้วยจนหนาแน่น เพราะเป็นศิษย์ของพระครูครั้นเกิดเหตุการณ์วิวาทบาดหมางก็พากันตามไปฟ้องร้องให้ช่วยว่ากล่าวไกล่เกลี่ยระงับความจนสงบเรียบร้อย ตั้งแต่เขตแดนเชียงแตงจนถึงจำปะจึงอยู่ในอำนาจของพระครูโพนเสม็ดอยู่นานหลายปี[35]
อย่างไรก็ตามฝ่ายตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีได้ให้รายละเอียดการอพยพของพระครูโพนเสม็ดต่างออกไปว่า หลังเจ้าหน่อกษัตริย์และพระราชมารดาพร้อมพรรคพวกตั้งอยู่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุกแล้ว กลุ่มของพระครูและไพร่พลได้เที่ยวไปตามลำชีครั้นหยุดพักในสถานที่ใดตำบลใดผู้คนก็ปีติยินดีอย่างมากจึงยกติดตามไปตำบลละ ๒-๓ ครัวจนถึงกรุงอินทปัทมหานคร ครอบครัวที่เดินทางล่าช้าไม่สามารถติดตามไปได้ก็ให้ตั้งบ้านเรือนเรียงรายลงไปเรียกว่าลาวเดิมบานบารายมาจนทุกวันนี้ ส่วนพระครูและครอบครัวญาติโยมสานุศิษย์อพยพลงไปจนสุดแดนหางตุยจังวะซึ่งปัจจุบันเรียกว่าจะโรยจังวาจึงเห็นว่าข้ามตำบลนี้ไปเป็นชัยภูมิกว้างขวางมีภูเขาใหญ่น้อยจึงพักไพร่พลอยู่ที่นั้นต่อมาได้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งไว้บนเขาคือเจดีย์พนมเป็น[36] ครั้นสร้างเจดีย์เสร็จแล้วจึงหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์หนึ่งตั้งแต่พระเศียรถึงพระกรเบื้องขวายังไม่ทันเสร็จดี เจ้ากรุงกำพุชาธิบดีแจ้งว่าพระครูพาครอบครัวญาติโยมลาวเข้ามาอยู่ในเขตแดนจึงแต่งให้พระยาพระเขมรไปตรวจบัญชีครอบครัวโดยจะเรียกเก็บเงินครัวละ ๘ บาท พระครูเห็นว่าญาติโยมจะได้รับความยากแค้นจึงอพยพหนีขึ้นไปตามลำน้ำโขงจนถึงบ้านแห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเมืองสมบูรณ์แล้วชักชวนกันสร้างพระวิหารหลังหนึ่งในตำบลนั้น ต่อมาเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีแจ้งว่าพระครูยกไปยังไม่พ้นเขตแดนจึงแต่งให้พระยาพระเขมรยกทัพมาขับไล่ พระครูเกรงไพร่พลจะเป็นอันตรายจึงอธิษฐานว่าเดชบารมีธรรมที่บำเพ็ญมาแต่หนหลังจงช่วยสร้างสรรพสัตว์ให้พ้นอันตรายและขอเทพยเจ้าจงช่วยอภิบาล ด้วยอำนาจแห่งกุศลนั้นทำให้พระยาพระเขมรไม่คิดทำอันตรายและเลิกทัพกลับไปกรุงกำพุชาธิบดีฝ่ายพระครูจึงพาไพร่พลเดินทางขึ้นไปได้อย่างสะดวก[37] ครั้นอพยพขึ้นไปแล้วไม่มีที่พักอาศัยพระครูจึงอธิษฐานถึงเดชกุศลธรรมอีกครั้งปรากฏว่าดินได้ผุดขึ้นเป็นเกาะหาดทรายในสถานที่นั้นราษฎรจึงเรียกว่าหาดท่านพระครูสืบมา ระหว่างหยุดพักไพร่พลบนเกาะได้พร้อมกันหล่อพระพุทธปฏิมากรขึ้นองค์หนึ่งคือพระแสนโดยหล่อตั้งแต่บ่าพาดพระกรเบื้องซ้ายถึงหน้าตักหัตถบาสตลอดจนพระแท่น สำเร็จแล้วจึงให้ศิษย์ไปอัญเชิญพระปฏิมากรที่หล่อไว้ไม่เสร็จ ณ เจดีย์พนมเป็นมาสวมต่อเข้าเกาะนั้นจึงเรียกว่าเกาะพาดเกาะทรายสืบมา แล้วแห่องค์พระขึ้นมาถึงหางโคปากน้ำเซกองฝั่งตะวันออกจึงเห็นเป็นภูมิสถานอันสมควรนานไปภายหน้าคงจะได้เป็นเมือง พระครูและญาติโยมจึงพร้อมกันสร้างพระวิหารในที่นั้นแล้วอัญเชิญองค์พระมาประดิษฐานในพระวิหารก่อพระเจดีย์ไว้ที่บาจงองค์หนึ่ง ให้ศิษย์คนหนึ่งพร้อมครอบครัวเป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธปฏิมากรพระแสนนานมาศิษย์ผู้นั้นมีบุตรชายชื่อเชียงแปงเมื่อบิดาถึงแก่กรรมจึงได้รักษาครอบครัวอยู่ที่ตำบลนั้นสืบมา
ต่อมาฝ่ายพระครูและสมัครพรรคพวกได้ล่องขึ้นไปตามลำน้ำโขงจนถึงดอนลี่ผีจึงสร้างพระเจดีย์ศิลาองค์หนึ่งสูง ๔ ศอก สร้างพระวิหารหลังหนึ่งแล้วขึ้นไปตามลำน้ำโขงจนถึงเกาะใหญ่แห่งหนึ่งจึงพักอยู่ในที่นั้น พระครูนั่งบริกรรมแล้วเห็นว่านานไปภายหน้าเกาะนี้จะกลายเป็นเมืองจึงสร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งบนยอดนพสูร (นภศูลย์) จารึกอักษรขอมว่าศักราชได้ ๑๐๗๐ ปี ณ วัน ๑ (อาทิตย์) ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๒ พระครูโพนเสม็ดมีศรัทธาสร้างพระเจดีย์ไว้นครโขงให้เป็นที่ไหว้ที่บูชาแก่เทพยดาและคนทั้งหลาย จากนั้นหล่อระฆังใหญ่ไว้ลูกหนึ่งวัดโดยกว้าง ๒ ศอกแล้วประชุมบุตรหลานลาวเดิมให้เป็นข้าพระมหาธาตุเจดีย์ดอนโขงตราบเท่า ๕,๐๐๐ พรรษา ให้จารย์หวด (จารียฮวด) อยู่รักษาอาณาเขตอำเภอโขงแล้วพระครูจึงขึ้นมาที่หัวเกาะไชย (ศีร์ษะเกาะไชย) เห็นว่าถ้าตั้งอยู่คงมีไชยแต่เกาะนี้มีพื้นที่น้อยไม่พอจะเป็นเมืองได้จึงให้เรียกว่าเกาะไชย (เกาะไซ) สืบมา จากนั้นขึ้นมาหยุดพักถึงเกาะแดงให้ศิษย์ ๑๖ คนนุ่งขาวห่มขาวรับศีลแล้วเที่ยวนอนเอานิมิตหรือความฝันที่กลางเกาะและหัวเกาะ ผ้าขาวทั้ง ๑๖ คนมาถึงตำบลกลางเกาะจึงหยุดนอนแล้วพร้อมกันอธิษฐานเทวดาก็ลงมานิมิตว่าตำบลนี้จะเป็นศรีนครแต่จะมีปรปักษ์มาเบียดเบียนศาสนา ครั้นเห็นนิมิตแล้วพากันขึ้นไปนอนที่หัวเกาะพร้อมกันตั้งสัตยาธิษฐานเทวดาจึงลงมาให้นิมิตว่าเห็นปุถุชนทั้งปวงมีใจกล้าหาญหยาบช้าก่อการวิวาทเป็นปรปักษ์แก่กัน ครั้นผ้าขาวทั้ง ๑๖ ได้นิมิตทั้ง ๒ ตำบลจึงเข้าไปแจ้งแก่พระครูโพนเสม็ดพระครูเห็นว่าตำบลนี้ถ้ากษัตริย์องค์ใดมาครอบครองราชสมบัติในนครแล้ว สองพี่น้องก็จะไม่ถูกต้องปรองดองกันและประชาราษฎรจะเป็นปรปักษ์ฉกลักเบียดเบียนซึ่งกันและกัน[38] โดยสภาพเหตุการณ์เหล่านี้ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีอธิบายว่าเกิดขึ้นในขณะที่เจ้าหน่อกษัตริย์และพระราชมารดายังคงประทับที่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุก ทั้งชี้ว่าสถานที่แต่ละแห่งล้วนขยับขยายและกลายเป็นชุมชนลาวมาก่อนการอพยพลงมาเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ของเจ้าหน่อกษัตริย์ในเวลาไม่นาน ดังนั้นการเสด็จลงมาเป็นกษัตริย์ของพระองค์จึงมีอุปสรรคค่อนข้างน้อยเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ที่เคยเป็นไพร่บ้านพลเมืองของพระยาสุริยวงศาธรรมิกราชพระราชบิดาของพระองค์อยู่ก่อนแล้ว และหากได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนพื้นเมืองเดิมในพื้นที่ทางใต้ด้วยยิ่งเพิ่มความชอบธรรมต่อการขึ้นเป็นกษัตริย์ของพระองค์อย่างยิ่ง
ส่วนสภาพเหตุการณ์บ้านเมืองก่อนครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรในพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) นั้นระบุสอดคล้องกับตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีว่าครั้นพระครูโพนเสม็ด (พระครูเสม็ด) ให้เจ้าหน่อกษัตริย์กับพระราชมารดาญาติโยมพรรคพวกราว ๓,๐๐๐ เศษอพยพออกจากเมืองศรีสัตนาคนหุตไปถึงตำบลงิ้วพันลำน้ำโสมสนุกแล้ว จึงให้เจ้าหน่อกษัตริย์กับพระราชมารดาสานุศิษย์ตั้งเคหสถานอยู่ที่นั้นเพียงบางส่วนเหลือจากนั้นพระครูจึงพาอพยพต่อไป ครั้นเดินทางถึงตำบลใดผู้คนก็นิยมยินดีนับถือและติดตามไปด้วยจำนวนมากจนไปถึงเขตแขวงเมืองบันทายเพ็ชรแล้วคิดตั้งพักอยู่ที่นั้น เมืองบันทายเพ็ชรได้ตรวจสำมะโนครัวและจะเก็บเงินครัวละ ๘ บาทพระครูเห็นว่ายังไม่มีผลประโยชน์และจะเกิดความเดือดร้อนแก่ญาติโยมจึงพากันย้อนกลับมาทางลำแม่น้ำโขงจนถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรีแล้วหยุดพักอาศัยอยู่ที่นั้น[39] สอดคล้องกับพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ซึ่งระบุตรงกันว่าครั้นพากันอพยพออกจากแขวงกรุงศรีสัตนาคนหุตไปถึงตำบลงิ้วพันลำโสมสนุก พระครูให้เจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดาสานุศิษย์ตั้งเคหสถานอยู่ในตำบลนั้นเพียงบางส่วนเหลือจากนั้นก็พากันเดินทางต่อไป เมื่อถึงตำบลใดก็มีผู้คนจำนวนมากให้การนับถือรับรองยินดีเข้าเป็นพวกพ้องติดตามพระครูไปด้วย ครั้นพาครอบครัวไปถึงแดนเขมรแขวงเมืองบรรทายเพ็ชร์คิดจะตั้งที่พักอาศัยอยู่ในแขวงกรุงกัมพูชาฝ่ายเจ้ากรุงกัมพูชาจึงให้พระยาพเขมร (พระยาพระเขมร) มาตรวจสำมะโนครัวพรรคพวกพระครูโพนเสม็ด พระยาพเขมรจะเรียกเอาเงินครัวละ ๘ บาทพระครูเห็นว่าจะเป็นความเดือดร้อนแก่พวกพ้องญาติโยมจึงอพยพกันเดินกลับขึ้นมาทางลำแม่น้ำโขงจนถึงนครกาละจำบากนาคบุรีศรีแล้วหยุดตั้งพักอาศัยอยู่ในเมืองนั้น พวกศิษย์ญาติโยมของพระครูที่เป็นไทยฝ่ายเหนือ (หมายถึงลาว) และเขมรต่างแยกย้ายไปตั้งนิวาสสถานในตำบลต่าง ๆ ปะปนอยู่กับพวกข่ากวยตามภูมิลำเนาอันสมควร[40] จะสังเกตว่าตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ทั้ง ๓ ฉบับและพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณระบุชื่อประเทศกัมพูชาต่างกันออกไปทั้งเมืองเขมร กรุงอินทปัทมหานคร กรุงกำพุชาธิบดี (กรุงกำพูชาธิบดี) และแขวงเมืองบันทายเพ็ชร (แขวงเมืองบรรทายเพ็ชร์) ซึ่งทั้งหมดล้วนหมายถึงประเทศกัมพูชาดินแดนที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจำปาศักดิ์หรือทางตอนใต้ลี่ผีลงไป
เช่นเดียวกับพงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) ที่ระบุเป็นเหตุการณ์สั้น ๆ และไม่แตกต่างกันกับกลุ่มเอกสารข้างต้นว่าเมื่อกลุ่มพระครูโพนเสม็ดและภิกษุแก้วภิกษุหวดให้มารดาและเจ้าหน่อกษัตริย์ไปพักอาศัยอยู่งิ้วพลานลำสมสนุกแล้วก็อพยพต่อไป ครั้นถึงบ้านใดตำบลใดก็มีคนนิยมนับถือติดตามไปด้วยบ้านละ ๒ ครัว ๓ ครัวจนมาถึงเขตกรุงอินทปัตถานคร พระครูพาญาติโยมพักอยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่งแล้วสร้างเจดีย์ไว้องค์หนึ่ง เมื่อถึงวันแรมมีหญิงเขมรชื่อยายเป็นลงไปอาบน้ำชำระเนื้อกายบังเอิญเห็นพระชินธาตุไหลเลื่อนลอยมาตามสายน้ำมีรัศมีงามยิ่งนัก ครั้นเห็นประหลาดนางจึงเอาขันเข้ารองรับพระชินธาตุได้แล้วนำไปถวายแก่พระครู เมื่อเห็นว่าเป็นพระชินธาตุแน่แล้วพระครูจึงขอบิณฑบาตกับยายเป็น นางมีความเลื่อมใสจึงถวายพระชินธาตุแก่พระครูแล้วนำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ขนานนามว่าเจดีย์พนมเป็นมาเท่าบัดนี้ ต่อมาพระครูได้หล่อพระปฏิมากรทองเหลืองไว้องค์หนึ่งแต่ยังไม่แล้วเสร็จเจ้ากรุงพระทายเพ็ชร์ให้ขุนนางมาทำบัญชีสำมโนครัวและจะเก็บเอาเงินญาติโยมของพระครูครัวละ ๘ บาท ด้วยกลัวญาติโยมจะได้ความเดือดร้อนพระครูจึงพาครอบครัวเหล่านั้นหนีขึ้นมาตามลำแม่น้ำโขงแล้วเดินเลยต่อมาจนถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรี[41] จะเห็นว่าจำนวนเงิน ๘ บาทนี้ระบุสอดคล้องกันกับตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) และพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เฉพาะตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์นั้นไม่ได้ระบุจำนวนไว้ ส่วนวัสดุทองเหลืองที่ใช้สร้างพระองค์แสนในพงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) ระบุผิดกันกับตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งระบุว่าสร้างจากทองแดงและทองเหลืองผสมกัน
อย่างไรก็ตามในพื้นธาตุพนมฉบับวัดใหม่สุวัณณภูมารามได้ให้ภาพเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองโดยสังเขปนับแต่ก่อน พ.ศ. ๒๒๓๐-๓๑ (จ.ศ. ๑๐๔๙-๕๐) หลังการสวรรคตของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแตกต่างไปจากเอกสารทั้ง ๔-๕ ฉบับแรก โดยมุ่งประเด็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ธาตุพนมและเหตุการณ์หัวเมืองสำคัญรายรอบซึ่งมีเวียงจันทน์เป็นศูนย์กลางมากกว่ามุ่งประเด็นการอพยพเคลื่อนย้ายไพร่พลเวียงจันทน์ลงไปทางใต้ เริ่มจากการระบุถึงลำดับเจ้ากษัตริย์เวียงจันทน์ว่านับแต่ก่อนรัชกาลพระหน่อเมือง (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๓๔-๓๙) พระอุปปโญหรือพระอุปยุวราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๖๕-๖๖) พระยาสีโคดตะบองซึ่งสันนิษฐานว่าคือพระวรปิตา (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๓๙-๔๐) หรืออาจหมายถึงพระบัณฑิตโพธิศาละราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๖๖-๗๐) เนื่องจากทั้ง ๒ เคยครองเมืองนครพนมมาก่อนลำดับมาจนถึงเจ้าองค์หล่อ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๓๙-๔๒) ผู้เป็นพระราชเชษฐาของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ในรัชกาลเหล่านี้ข้าโอกาสพระธาตุพนมทั้งหลายยังตั้งมั่นคงอยู่โดยไม่แตกฉานซ่านเซ็นเหมือนรัชกาลก่อน ต่อมา พ.ศ. ๒๒๓๕ (จ.ศ. ๑๐๕๔) ตรงกับรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชก่อนสวรรคต ๓ ปี (พ.ศ. ๒๒๓๘) เจ้าราชครูหลวงโพนซะเม็กลงมาสร้างยอดพระธาตุพนมตั้งแต่ภูมิถ้วนหรือฐานพระธาตุขึ้นไปเสตสัตร (เศวตฉัตร) จนถึงยอดสุดใช้เวลา ๓ ปีจึงสำเร็จใน พ.ศ. ๒๒๓๘ (จ.ศ. ๑๐๕๗) ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตทว่าเอกสารกลับระบุว่าเจ้าองค์หล่อพระราชโอรสได้นิพพานหรือสวรรคตในปีเดียวกันกับพระราชบิดา อย่างไรก็ตามหากถือตามตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีและพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ที่ระบุว่าพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ และพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ที่ระบุว่าสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ (จ.ศ. ๑๐๕๑) ย่อมชี้ว่าเจ้าราชครูหลวงโพนซะเม็กได้มาบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมหลังพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชสวรรคต ๔-๕ ปีโดยสำเร็จก่อนการขึ้นเสวยราชย์และการสวรรคตของเจ้าองค์หล่อ ใน พ.ศ. ๒๒๓๘ (จ.ศ. ๑๐๕๗) นี้เอกสารยังระบุด้วยว่าจันทสีสมุดซึ่งสันนิษฐานว่าคือพระยาจันหรือพระยาเมืองจันได้ขึ้นแทนเมืองนาน ๓ ปีต่อมาเมืองนันซึ่งหมายถึงเจ้านันทราช (น่าน) ได้ "...เมือเลวเจ้าส้อยสีสมุดคดมาเป็นเมืองนนสีได้นั่งแทนปี ๑..." ซึ่งหมายถึงเจ้านันทราชได้ไปรบกับสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจนได้นั่งเวียงจันทน์แทนและขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรยังไม่ได้เสวยราชย์และสถาปนาราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ โดยตำนานพระธาตุพนมฉบับราชบัณฑิตยสภาระบุศักราชเหตุการณ์ตรงกันว่า "...ศักราชได้ ๕๗ ปีเจ้าองค์หล่อนฤพานจันทศรีสมุดขึ้นแทนได้ ๓ ปี เมืองนั้นเมื่อเร็วเอาเจ้าช่วยศรีสมุดครั้นมาเป็นเมืองนั้น ๆ ได้นั่งแทน ๑ ปี..." ต่อมา พ.ศ. ๒๒๔๑ (จ.ศ. ๑๐๖๐) ปีเปิกสีพระไซซึ่งหมายถึงพระไชยองค์เว้ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๔๑-๕๑) ได้เข้าเมืองซึ่งหมายถึงได้เสวยราชย์เวียงจันทน์สืบต่อ ๘ ปีต่อมา พ.ศ. ๒๒๕๑ (จ.ศ. ๑๐๗๐) สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้ยกพลขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองคุกซายฟองหมายถึงทั้ง ๒ ฟากแม่น้ำโขงในปัจจุบันคือตำบลเวียงคุก อำเภอเมืองหนองคาย และเมืองหาดซายฟอง กำแพงนครเวียงจันทน์ โดยเอกสารระบุว่า "...สังกาสได้ ๗๐ ทัศส้อยสีสมุดทั่ง (ท่าน) มาเมืองขุกซายฝอง..." ซึ่งระบุตรงกับตำนานพระธาตุพนมฉบับราชบัณฑิตยสภาว่า "...ศักราชได้ ๗๐ ปีช่วยสมุดทั้ง ๒ มาเมืองคุกชายฟอง..." แสดงว่านับตั้งแต่หลังการสวรรคตของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชและในระหว่างที่พระครูโพนเสม็ดอพยพไพร่พลลงใต้นั้นเจ้าหน่อกษัตริย์ไม่ได้ตั้งหลบซ่อนลี้ภัยอยู่ที่ภูสะง้อหอคำและงิ้วพันลำน้ำโสมสนุกเพียงอย่างเดียว แต่พระองค์ยังตั้งซ่องสุมรวบรวมไพร่พลเพื่อพยายามขึ้นมาแย่งชิงเวียงจันทน์เช่นเดียวกับเจ้าองค์หล่อพระราชเชษฐา เจ้านันทราช และพระไชยองค์เว้ผู้เป็นญาติอย่างน้อย ๒ ครั้งใน พ.ศ. ๒๒๓๘ และ พ.ศ. ๒๒๕๑ โดยไม่พบหลักฐานว่าทรงขัดแย้งกับเจ้าองค์หล่ออย่างไรบ้างคงเนื่องจากทั้ง ๒ เป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตกัน แต่พบหลักฐานว่าทรงขัดแย้งเฉพาะกับเจ้านันทราชและพระไชยองค์เว้เท่านั้น นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๕๕-๘๐ (จ.ศ. ๑๐๗๔-๙๙) หรือสังกาสได้ ๗๔-๙๙ ตัว ซึ่ง พ.ศ. ๒๒๘๐ ปีมะเส็งนพศกเป็นปีสวรรคตของพระองค์จะพบว่าเอกสารพื้นธาตุพนมฉบับวัดใหม่สุวัณณภูมารามและตำนานพระธาตุพนมฉบับราชบัณฑิตยสภาล้วนไม่ปรากฏเรื่องราวของพระองค์รวมถึงเหตุการณ์การสถาปนาราชอาณาจักรจำปาศักดิ์อีกเลยมาจน พ.ศ. ๒๓๒๑ (จ.ศ. ๑๑๔๐) หรือสังกาสได้ ๑๔๐ ตัวในเอกสารทั้ง ๒ ก็ไม่ปรากฏ[42]
เมื่อตรวจสอบหลักฐานในบั้งจุ้มหรือตำนานเมืองฉบับวัดโพนกอกพบว่าศักราชการสวรรคตของเจ้าองค์หล่อและการขึ้นครองราชย์เวียงจันทน์ของพระยาจัน (เพี้ยจัน) และพระไชยองค์เว้นั้นตรงกับศักราชในพื้นธาตุพนมฉบับวัดใหม่สุวัณณภูมารามและตำนานพระธาตุพนมฉบับราชบัณฑิตยสภาคือ "...สังกราส ๑๐๕๗ ปีฮับไค้เจ้าองค์หล่อนิพพานเพี้ยจันนั่งเมือง สังกราส ๑๐๖๐ ปีเปิกยี่พระไซนั่งเมือง..." แต่ศักราชการเสวยราชย์เวียงจันทน์ของเจ้านันทราชนั้นเอกสารระบุว่าเกิดขึ้นหลังการเสวยราชย์ของพระยาจันและพระไชยองค์เว้ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๒๕๒ (จ.ศ. ๑๐๖๑) ปีกัดเหม้า โดยระบุพระนามว่าพระยานง (พระยานนหรือพระยานัน) ๖ ปีถัดมาพบว่าเมืองจันซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระยาเมืองจันเสนาบดีผู้ใหญ่ของเวียงจันทน์คนถัดมาและเป็นคนละคนกับที่แย่งชิงราชสมบัติเวียงจันทน์ได้ลงไปเมืองโขงด้วยเหตุใดไม่ปรากฏใน พ.ศ. ๒๒๔๘ (จ.ศ. ๑๐๖๗) ปีฮับเฮ้า ๓ ปีต่อมาใน พ.ศ. ๒๒๕๑ (จ.ศ. ๑๐๗๐) ปีเปิกไจ้ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรยกพลขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองคุกซายฟองนั้นเอกสารได้ระบุว่า "...เศิกโขงขึ้นมาตั้งเวียงคุก..." และในศักราชติดต่อกันนั้นคือ พ.ศ. ๒๒๕๒ (จ.ศ. ๑๐๗๑) ปีกัดเป้าเอกสารระบุต่อไปว่า "...เจ้าใต้มาตั้งซายฟอง..." ดังนั้นแม้บั้งจุ้มหรือตำนานเมืองฉบับวัดโพนกอกจะไม่ระบุนามว่าเจ้านายพระองค์ใดเป็นผู้ยกไพร่พลเมืองโขงขึ้นมาตั้งทำศึกที่เวียงคุกและซายฟองแต่จากหลักฐานพื้นธาตุพนมฉบับวัดใหม่สุวัณณภูมารามและตำนานพระธาตุพนมฉบับราชบัณฑิตยสภาผนวกกันทำให้สันนิษฐานได้ว่าสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรนั้นเองที่เป็นผู้ยกไพร่พลเมืองโขงและหัวเมืองทางตอนใต้ขึ้นมาเพื่อเตรียมทำศึกกับเวียงจันทน์ในรัชกาลพระไชยองค์เว้ พระนามว่าเจ้าใต้คงเป็นสมัญญานามหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรเนื่องจากพระองค์ได้อพยพลงไปตั้งมั่นอยู่ทางตอนใต้ของล้านช้างและมีกำลังไพร่พลอยู่ในบริเวณแขวงต่าง ๆ ทางภาคใต้ของลาว และสันนิษฐานว่าเมืองจันที่ปรากฏนามใน พ.ศ. ๒๒๔๘ (จ.ศ. ๑๐๖๗) อาจเป็นเจ้านายหรือขุนนางเวียงจันทน์อีกกลุ่มหนึ่งที่นำไพร่พลตามลงไปสมทบกองกำลังของพระองค์ที่เมืองโขงจนพระองค์สามารถนำไพร่พลเหล่านั้นขึ้นมาตั้งทำศึกที่เวียงคุกตรงข้ามกับเวียงจันทน์ได้ ๒ ปีถัดมาใน พ.ศ. ๒๒๕๔ (จ.ศ. ๑๐๗๓) ปีฮวงเหม้ายังพบหลักฐานอีกว่าสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรคงไม่สามารถทำศึกชนะเวียงจันทน์ได้แล้วดังนั้นในเดือนเจียงไพร่พลของพระองค์ที่เมืองซายฟองจึงแตกลงไปตั้งอยู่ในสถานที่ที่เคยประทับตั้งซ่องสุมผู้คนและลี้ภัยอยู่ครั้งแรกซึ่งเอกสารระบุว่า"...เดือนเจียงซายพองแตกไปตั้งซะง้อ..." จากนั้นมานับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๕๖ (จ.ศ. ๑๐๗๕) ปีก่าไส้ตรงกับปีมะเส็งเบญจศกอันเป็นปีเสด็จเสวยราชย์นครจำปาศักดิ์ไปถึง พ.ศ. ๒๒๗๙ (จ.ศ. ๑๐๙๘) ปีฮวยสีนั้นเอกสารบั้งจุ้มหรือตำนานเมืองฉบับวัดโพนกอกก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของพระองค์อีกเช่นกัน[43]
สถาปนาราชอาณาจักรจำปาศักดิ์
[แก้]ราชาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจำปาศักดิ์
[แก้]เดิมเมืองนครจำปาศักดิ์นั้นสันนิษฐานว่าเป็นอาณาจักรหรือนครรัฐของกลุ่มชนชาติข่าหรือจามโบราณเรียกว่าเมืองจำปานครต่อมาพระเจ้ากำมะทาได้สร้างเมืองขึ้นใหม่แล้วเรียกชื่อว่านครกาลจำปากนาคบุรีศรีซึ่งเป็นทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงกำพุชาธิบดี[44] ตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์เรียกชื่อในสมัยหลังรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชใน พ.ศ. ๒๒๓๘ ถึงสมัยก่อนรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรใน พ.ศ. ๒๒๕๖ ว่าตำบลจำปะ[45] หรือบ้านจำปะ ความเป็นนครรัฐชนพื้นเมืองของจำปาศักดิ์สืบเนื่องลงมาจนมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้านายพื้นเมืองลาวตั้งแต่ก่อนสมัยพระครูโพนเสม็ดจะอพยพครัวลาวลงมาตั้งอยู่ที่ตำบลนี้ เอกสารระบุว่าเจ้าฝ่ายลาวเวียงจันทน์พระนามว่าเจ้าสร้อยศรีสมุทร (เจ้าสร้อยศรีสมุทฯ) ซึ่งหมายถึงเจ้าหน่อกษัตริย์เกิดวิวาทบาดหมางกับญาติพี่น้องซึ่งเป็นเจ้านายผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ จึงอพยพครอบครัวบุตรภรรยาบ่าวไพร่จำนวนมากลงเรือล่องน้ำโขงหนีมาจนถึงตำบลจำปะ ครั้นพบกับพระครูโพนเสม็ดและพวกครอบครัวซึ่งตั้งอยู่ก่อนแล้ว พระองค์สมัครสโมสรกลมเกลียวเป็นอันเดียวกันกับครัวเหล่านี้ตำบลจำปะจึงกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ พระครูโพนเสม็ดเห็นว่าตำบลนี้ควรเป็นบ้านเมืองได้จึงปรึกษาบรรดานายครัวและญาติโยมสานุศิษย์ทั้งปวงว่าเจ้าสร้อยศรีสมุทรเป็นเชื้อสายเจ้านายเมืองเวียงจันทน์มาแต่เดิม ขอให้ชาวบ้านยอมยกให้เป็นเจ้าแผ่นดินว่าราชการเมืองแล้วให้ตั้งบ้านจำปะเป็นเมืองหลวงเรียกว่าเมืองนครจำปาศักดิ์ บรรดานายครัวเห็นชอบและยอมทำตามทุกประการแต่นั้นมาเจ้าสร้อยสมุทรจึงได้เป็น ปฐมเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ (เจ้านครจำปาศักดิ์)[46] มีอำนาจว่ากล่าวชาวลาวตำบลต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยตำบลเหล่านั้นถูกตั้งขึ้นเป็นเมืองภายใต้อำนาจของราชอาณาจักรจำปาศักดิ์เรียกว่าเมืองเจ็ดหัวเมือง[47] เมืองนครจำปาศักดิ์ได้ตั้งเป็นใหญ่ไม่ขึ้นอยู่ในอำนาจแผ่นดินไทย เขมร ญวน และลาวเวียงจันทน์ซึ่งมีฐานะเป็นมหาอำนาจรอบด้านเนื่องจากเมืองเหล่านี้มีการรบทัพจับศึกวุ่นวายด้วยหลายสาเหตุ เจ้านครจำปาศักดิ์สร้อยศรีสมุทรมีบุตรชายใหญ่ ๔ องค์คือเจ้าไชยกุมาร เจ้าธรรมเทโว เจ้าสุริโย และเจ้าโพธิสาร ส่วนบุตรองค์อื่น ๆ ไม่ปรากฏพระนาม[48] ซึ่งตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีระบุว่าเจ้าไชยกุมารเป็นราชบุตรจากนางมเหสีขวา ส่วนราชบุตร ๒ องค์คือเจ้าธรรมเทโวและเจ้าสุริโยนั้นเกิดจากมเหสีซ้าย ครั้นพระครูโพนเสม็ดมรณภาพแล้วเจ้านครจำปาศักดิ์สร้อยศรีสมุทรก็ถึงแก่พิราลัยไปตามลำดับบรรดาท้าวเพี้ยผู้ใหญ่ในเมืองจึงพร้อมกันแต่งตั้งเจ้าไชยกุมารบุตรผู้ใหญ่ของพระองค์ขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์สืบมา แล้วตั้งเจ้าธรรมเทโวเป็นเจ้าอุปราช เจ้าสุริโยเป็นเจ้าราชวงศ์ให้รักษาเมือง[49] โดยไม่ปรากฏว่าตั้งผู้ใดเป็นตำแหน่งเจ้าราชบุตร ส่วนตำแหน่งเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ และเจ้าราชบุตรในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดดำรงตำแหน่งเหล่านี้[50]
ส่วนตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีให้รายละเอียดเกี่ยวกับการสถาปนาเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ว่า พื้นที่เดิมของจำปาศักดิ์คือเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรีนั้นปกครองโดยวงศ์ตระกูลของนางเภา (นางเพา) มาก่อน ต่อมาพระนางขึ้นเป็นกษัตรีย์ของเมืองนี้แล้วเจ้าปางคำบ้านหนองบัวลำภู[51] มาลอบสังวาสด้วยเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๑ (จ.ศ. ๑๐๐๓) ปีมะเส็ง ตรีศก จนเกิดบุตรีด้วยกันชื่อนางแพง เมื่อนางเภาชราภาพและถึงแก่กรรมนางแพงพร้อมด้วยท้าวพระยาก็ฌาปนกิจส่วนนางแพงได้ร่วมกับพระยาคำยาตรและพระยาสองฮาดว่าราชการบ้านเมืองสืบต่อ[52] นางแพงจึงเป็นผู้ปกครองคนแรกของจำปาศักดิ์ที่มีเชื้อสายของชนเผ่าพื้นเมืองกับเจ้านายลาวเวียงจันทน์ ครั้นได้ยินกิติศัพท์ว่าพระครูโพนเสม็ดมาพำนักที่เกาะแดงและมีผู้คนนับถือมากนางแพงจึงมีจิตเลื่อมใสได้ปรึกษาท้าวพระยาใหญ่น้อยว่าควรอาราธนาพระครูมาสู่บ้านเมือง จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบไปซึ่งแสดงว่าชนพื้นเมืองในขณะนั้นรู้จักและยอมรับนับถือพระพุทธศาสนามาก่อนแล้ว เมื่อท้าวพระยาทั้งปวงเห็นชอบนางจึงให้พระยาคำยาตรและพระยาสองฮาดไปอาราธนาพระครูพร้อมสานุศิษย์ให้ข้ามแม่น้ำโขงมาทางฝั่งตะวันตกของเมืองแล้วตั้งพักอยู่ที่ห้วยสระหัว นางแพงโปรดให้ปลูกกุฎีเสนาสนะถวายเพื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดห้วยสระหัวคนทั้งหลายจึงเรียกว่าวัดหลวง นางและท้าวพระยาทั้งปวงมอบพุทธจักรและอาณาจักรให้พระครูทำนุบำรุงสมณพราหมณาจารย์ท้าวพระยาอาณาประชาราษฎรในเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรีสืบมาจน พ.ศ. ๒๒๕๒ (จ.ศ. ๑๐๗๑) ปีฉลู เอกศก พระครูจึงชักชวนชาวเมืองหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์หนึ่งหน้าตัก ๑๙ นิ้วสำเร็จแล้วอัญเชิญมาประดิษฐานที่พระวิหารวัดบางซ้ายสืบมาจนทุกวันนี้ ครั้นนานมาประชาชนเกิดเป็นโจรผู้ร้ายฉกลักเครื่องอัญมณีของสมณะและทรัพย์สิ่งของอาณาประชาราษฎรแล้วฆ่าฟันกันขึ้นหลายแห่งหลายตำบล พระครูจะชำระว่ากล่าวตามอาญาบ้านเมืองก็เกรงผิดวินัยสิกขาบทครั้นจะนิ่งเสียไม่ปราบปรามให้ราบคาบฝ่ายสมณพราหมณาจารย์ราษฎรก็จะเดือดร้อนยิ่งขึ้น จึงดำริว่าเจ้าหน่อกษัตริย์พระราชโอรสของพระเจ้าเวียงจันทน์คงหมายถึงพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชควรจะปกครองประชาราษฎรต่อไปได้ จึงให้จารย์แก้ว (จารียแก้ว) จารย์เซียงซ้าง (จารียเสียงช้าง) ซึ่ง ๒ คนนี้จะกลายเป็นผู้ปกครองเมืองท้องถิ่นในเวลาต่อมา กับท้าวเพี้ยไพร่พลไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ลงมาแต่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุกซึ่งพระราชมารดาของพระองค์ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วเมื่อ พ.ศ. ใดไม่ปรากฏ เสด็จถึงเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรีใน พ.ศ. ๒๒๕๖ (จ.ศ. ๑๐๗๕) ปีมะเส็ง เบ็ญจศก พระครูโพนเสม็ดจึงให้ตั้งโรงราชพิธีราชาภิเษกเสร็จแล้วเมื่อได้วันมหาพิชัยฤกษ์จึงอัญเชิญพระองค์เข้าสรงมุรธาสนานราชาภิเษก สมณพราหมณาจารย์ท้าวพระยาทั้งปวงพร้อมกันถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรเป็นเจ้าเอกราชครองราชสมบัติตามโบราณราชประเพณีกษัตริย์ในมลาวประเทศ พระองค์โปรดให้สร้างระเนียดเสาไม้แก่นเพื่อสร้างเมืองขึ้นที่ตำบลริมฝั่งศรีสุมังแล้วเปลี่ยนนามเมืองใหม่เป็น นครจำปาบาศักดิ์นาคบุรีศรี (เมืองนครกาลจำปาศักดิ์)[53] จะสังเกตว่าในสร้อยนามของเมืองนั้นไม่ปรากฏคำว่าศรีสัตนาคอยู่ด้วยเหมือนนครเวียงจันทน์และนครหลวงพระบาง ส่วนนางแพงบุตรีของนางเภากษัตรีย์องค์ก่อนซึ่งต่างวงศ์ตระกูลกันนั้นทรงรับเข้าไปประทับในพระราชวังเพื่อทำนุบำรุงเลี้ยงดูให้ความเคารพเป็นอย่างดี[54] แสดงให้เห็นว่าชนพื้นเมืองเดิมก่อนที่ชาวลาวจะอพยพลงมาทางตอนใต้นั้นได้ให้ความสำคัญกับคตินับถือบูชาและยกย่องสตรีหรือการสืบตระกูลทางฝ่ายมารดามากกว่าฝ่ายบุรุษด้วย ทั้งชี้ว่าพระองค์อาจทราบถึงประวัติความเป็นมาของวงศ์ตระกูลข้างพระราชบิดาของนางแพงคือเจ้าปางคำซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชวงศ์ล้านช้างอยู่ก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตามพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุว่านครจำปาศักดิ์นี้พระครูโพนเสม็ดได้ตั้งขึ้นก่อนแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๑ (จ.ศ. ๑๐๗๕) ปีมะเส็ง เบ็ญจศก ก่อนสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจะราชาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ราว ๕-๖ ปีซึ่งอ้างในพงศาวดารมณฑลอีสาน[55] โดยก่อน พ.ศ. ๒๑๘๑ (จ.ศ. ๑๐๐๐) นั้นยังเป็นป่าดงที่อาศัยของชาวข่า ส่วย และกวย (ไม่ปรากฏชื่อชาวจาม)[56] ภายหลังลาวชาวเมืองเหนือมีเมืองศรีสัตนาคนหุตเป็นต้นได้พากันมาตั้งนิวาสสถานอยู่มากขึ้นจึงพร้อมกันยกหัวหน้าปกครองสืบตระกูลต่อมา จนถึงผู้ครองเมืององค์หนึ่งไม่ปรากฏพระนามได้สร้างเมืองขึ้นที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตกคือตำบลบ้านกระตึบเมืองกลาง[57] (บ้านกระติ๊บเมืองกลาง)[58] เรียกว่าพระนครกาลจำบากนาคบุรี เมื่อพระครูโพนเสม็ดและไพร่พลมาตั้งอยู่บรรดาศิษย์ที่เป็นลาวและเขมรต่างพากันแยกไปตั้งนิวาสสถานตามที่ต่าง ๆ โดยอาศัยปนกันอยู่กับพวกข่าและกวยตามภูมิลำเนาที่สมควร ฝ่ายนางแพงนางเภาผู้ปกครองเดิมนิยมนับถือพระครูจึงพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาลาวอาราธนาให้บัญชาการบ้านเมืองและสั่งสอนพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๒๕๒ (จ.ศ. ๑๐๗๑) ระหว่างรัชกาลสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๙ หรือขุนหลวงท้ายสระ ชาวนครกาลจำบากนาคบุรีศรีเกิดวิวาทบาดหมางคบพากันตั้งชุมนุมประพฤติเป็นโจรผู้ร้ายกำเริบเสิบสานจนราษฎรที่อยู่ในความสุจริตพากันเดือดร้อน พระครูได้ว่ากล่าวห้ามปรามโดยทางธรรมก็ไม่สงบเรียบร้อยสมประสงค์ครั้นจะใช้อำนาจปราบปรามตามอาญาจารีตก็เกรงผิดวินัยสมณเพศ จึงดำริว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ที่ให้ตั้งอยู่ตำบลงิ้วพันลำน้ำโสมสนุกทรงเจริญวัยประกอบด้วยเกียรติยศเกียรติคุณพอจะระงับปราบปรามปกครองบ้านเมืองได้ จึงให้แสนท้าวพระยาลาวไปอัญเชิญพระองค์กับพระราชมารดามายังนครกาลจำบากนาคบุรีศรี ๔ ปีต่อมาใน พ.ศ. ๒๒๕๖ (จ.ศ. ๑๐๗๕) พระครูพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาลาวจึงจัดตั้งพิธียกเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นเป็น เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรครองนครกาลจำบากนาคบุรีศรี แล้วเปลี่ยนนามเมืองว่านครจำปาศักดิ์นาคบุรีศรี (นครจำปาศักดิ์นคบุรีศรี)[59] จากนั้นพระองค์ได้จัดแจงแต่งราชการเจ้านายแสนท้าวพระยาลาวเต็มตามตำแหน่งอย่างกรุงศรีสัตนาคตหุต (เวียงจันทน์)[60] มีข้อสังเกตว่าพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ชี้ว่าพระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรและนางเภาพระราชมารดาของนางแพงนั้นต่างมีชีวิตอยู่ในขณะราชาภิเษกต่างจากตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีที่ชี้ว่าทั้ง ๒ ล้วนถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วทั้งสิ้น
ส่วนพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) นั้นระบุว่าเมื่อเกิดปัญหากับชนชั้นปกครองของบ้านเมืองฝ่ายเขมรพระครูโพนเสม็ดเห็นว่าจะเป็นความเดือดร้อนแก่พวกพ้องญาติโยมจึงอพยพโดยการเดินกลับขึ้นมาทางลำแม่น้ำโขงจนถึงนครกาละจำบากนาคบุรีศรีซึ่งขณะนั้นนางแพงนางเภาผู้บัญชาการเมืองกำลังแก่ชราลง ครั้นหยุดตั้งพักอาศัยในเมืองนั้นพวกศิษย์ญาติโยมของพระครูซึ่งเป็นไทยฝ่ายเหนือ (หมายถึงลาว) และเขมรต่างแยกย้ายไปตั้งนิวาสสถานอยู่ที่ตำบลต่าง ๆ ปะปนอยู่กับพวกข่ากวย นับแต่พระครูอาศัยอยู่ในบ้านเมืองนางแพงนางเภามีความนิยมนับถืออย่างมากต่อมาจึงพร้อมกับแสนท้าวพระยาเสนามาตย์อาราธนาให้พระครูช่วยบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองถาวร ส่วนการบ้านเมืองที่เป็นฝ่ายอาณาจักรก็มอบให้พระครูเป็นผู้อำนวยการสิทธิขาดโดยนัยนี้พระครูจึงมีสถานะและบทบาทหน้าที่คล้ายเจ้าเมืองกลาย ๆ แต่นั้นมาพระครูจึงมีอิสรภาพได้เป็นใหญ่ขึ้นในเขตแขวงนครกาละจำบากนาคบุรีศรีตลอดมา จน พ.ศ. ๒๒๕๒ (จ.ศ. ๑๐๗๑) ปีฉลู เอกศก ประชาชนเกิดการวิวาทวาทาพากันมีน้ำใจกำเริบคบกันตั้งชุมนุมประพฤติเป็นโจรผู้ร้ายราษฎรทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในความสุจริตต่างเดือดร้อนยิ่งขึ้นจนเกือบเกิดเหตุจลาจลใหญ่โต ฝ่ายพระครูได้ว่ากล่าวห้ามปรามโดยทางธรรมก็ไม่สงบเรียบร้อยสมความประสงค์ครั้นจะปราบปรามตามอาญาจักรก็เกรงจะผิดทางวินัย (วิไนย) เป็นที่หม่นหมองแก่สมณะเพศ จึงดำริว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ที่ให้ตั้งอยู่ตำบลงิ้วพันลำน้ำโสมสนุกทรงเจริญวัยประกอบด้วยเกียรติยศเกียรติคุณพอจะเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองได้จึงแต่งแสนท้าวพระยาคุมกำลังไปอัญเชิญและรับพระองค์กับพระราชมารดาลงมานครกาละจำบากนาคบุรีศรี ครั้น พ.ศ. ๒๒๕๖ (จ.ศ. ๑๐๗๕) ปีมะเส็ง เบญจศก พระครูพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาจึงตั้งพิธี ยกเจ้าหน่อกระษัตริย์ขึ้นเป็นกระษัตริย์ถวายพระนามว่าเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรครองสมบัติเปนเอกราชตามประเพณีกระษัตริย์แล้วผลัดเปลี่ยนนามนครกาละจำบากนาคบุรีศรีเปนนามใหม่เรียกว่านครจำปาศักดินัคบุรีศรี[61] พระองค์ได้แต่งตั้งเจ้านายเสนากรมการครบทุกตำแหน่งแล้วตั้งอัตราเก็บส่วยจากนั้นโปรดให้สร้างอารามขึ้นใหม่ชื่อว่าวัดหลวงใหม่ ทรงมีโอรส ๓ องค์คือเจ้าไชยกุมาร เจ้าธรรมเทโว และเจ้าสุริโย ต่อมาทรงมีราชสาส์นแต่งให้แสนท้าวพระยานำเครื่องบรรณาการไปขอธิดาเจ้าเขมรที่เมืองบรรทายเพ็ชร์มาเป็นบาทบริจาจึงมีโอรสด้วยกันอีกองค์หนึ่งพระนามว่าเจ้าโพธิสาร[62]
นอกจากกลุ่มเอกสารเกี่ยวกับตำนานหรือพงศาวดารเมืองจำปาศักดิ์โดยเฉพาะแล้วยังพบหลักฐานการราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ในเอกสารท้องถิ่นอื่น ๆ อีกหลายฉบับด้วย อาทิ พงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) ระบุว่าเมื่อพระครูโพนเสม็ดมาถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรีขณะนั้นนางเพาผู้เป็นแม่ นางแพงผู้เป็นบุตร พระยาคำยาด และพระยาสองฮาดรวม ๔ คนได้ไปนิมนต์พระครูมาอยู่รักษาพระศาสนาให้รุ่งเรืองถาวร ต่างจากตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีที่ระบุว่าเฉพาะนางแพงเท่านั้นที่โปรดให้พระยาทั้ง ๒ ไปนิมนต์ส่วนมารดาคือนางเพาได้ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว พงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) ยังระบุต่อไปว่าเมื่อนิมนต์พระครูมาแล้วได้อนุญาตให้พระครูปกครองรักษาพุทธจักรและอาณาจักร ต่อมาประชาชนพลเมืองมีน้ำใจวิหิงสาบังเบียดลักทรัพย์สิ่งของช้างม้าโคกระบืออยู่เนือง ๆ จนราษฎรเดือดร้อน ครั้นพระครูจะจับตัวมาลงโทษจำขังเฆี่ยนตีก็จะผิดบาลีสิกขาบทและมีความมัวหมองแก่ตนพระครูจึงพร้อมกันปรึกษาเสนากรมการโดยเห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์สมควรจะครอบครองบ้านเมืองได้ จึงแต่งให้จารแก้ว (จารย์แก้ว) และท้าวเพี้ยไพร่พลขึ้นไปอัญเชิญรับเอาเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระมารดาลงมาถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรีใน พ.ศ. ๒๒๕๖ (จ.ศ. ๑๐๗๕) ปีมะเส็ง เบ็ญจศก อัญเชิญขึ้นครองเมืองถวายพระนามว่าเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธกุลเป็นเจ้าเอกราชครองราชสมบัติ ณ กรุงกาลจำบากนาคบุรีศรีตามราชประเพณีกษัตริย์มาลาประเทศแต่กาลปางก่อน จึงผลัดนามเมืองใหม่ว่านครจำปาศักดิ์นาคบุรีศรี[63] จะเห็นว่าศักราชการขึ้นครองราชย์นั้นระบุตรงกันทั้งหมดมีเฉพาะตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์เท่านั้นที่ไม่ปรากฏศักราช ส่วนพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และเมืองกมลาสัยฉบับพระราษฎรบริหาร (ทอง) ของนางรำไพ อัมมะพะ (สกุลเดิมบริหาร) ระบุว่าพระราษฎรบริหารเจ้าเมืองกมลาสัยได้ลำดับพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาสัย และเมืองขึ้นไว้สำหรับบ้านเมืองว่า เดิมปู่ย่าตายายเจ้านายที่สืบตระกูลกันมานั้นตั้งบ้านเรือนอยู่หนองหานพระเจดีย์เชียงชุมซึ่งเป็นเมืองเก่าต่อมาปีใดไม่ปรากฏพระครูโพนเสม็ดเจ้าอธิการวัดที่เรียกว่าพระอรหันตาพายสร้อยได้ต่อยอดพระธาตุพนม เมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ ขึ้นจึงพาครอบครัวพวกเจ้านายท้าวเพี้ยราษฎรยกไปตั้งทำนุบำรุงอยู่เมืองจำปามหานคร (จามประมหาณคร) ที่เป็นเมืองเก่าร้างซึ่งโปรดตั้งเป็นเมืองนครจำปาศักดิ์เดี๋ยวนี้แล้ว ตั้งเจ้าสร้อยศรีสมุท (เจ้าสรอยสีสมูด) ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์พระเจ้าเมืองเวียงจันทน์นั้นขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ (ณครจำปาสักดิ์ย) ต่อมาช้านานหลายชั่วคนก็เกิดเหตุวุ่นวายต่าง ๆ ขึ้นพวกเจ้านายท้าวเพี้ยจึงพร้อมกันพาครัวบุตรภรรยาบ่าวไพร่กลับคืนหนีมาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินที่หนองหานพระเจดีย์เชียงชุมตำบลบ้านผ้าขาวพรรณาตามเดิม แต่ครอบครัวผู้คนยังตกค้างอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์อีกมาก[64]
การจัดระเบียบการปกครอง
[แก้]พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ระบุว่าหลังราชาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจำปาศักดิ์แล้ว "...เจ้าสร้อยศรีสมุทจึงได้จัดการบ้านเมืองตั้งตำแหน่งเจ้านายแสนท้าวพระยาเสนาขวา พระยาเสนาซ้าย ฝ่ายน่า ฝ่ายใน แลตำแหน่งจัตุสดมภ์ กรมอาสาหกเหล่า สี่เท้าช้าง ตำรวจ มหาดเล็ก ชาวที่ กรมแสง ตามจารีตแบบอย่างกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันท์) แต่นั้นมาครบทุกตำแหน่ง..."[65] เนื้อความปรากฏเพียงเท่านี้แต่ทว่าตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีกลับให้รายละเอียดได้มากกว่า เอกสารระบุว่าพระองค์ได้จัดแจงราชการบ้านเมืองโดยตั้งเจ้านายแสนท้าวพระยาไว้ครบทุกตำแหน่งและจัดการทำเนียบเมืองตามอย่างโบราณราชประเพณีที่สืบมาแต่เวียงจันทน์รวม ๒๓ กรม ๑๓๓ ตำแหน่งดังนี้
๑) กรมเสนาบดีฝ่ายขวามี ๗ ตำแหน่งคือ พระยาเมืองแสนเป็นเสนาบดีฝ่ายขวา พระยาเมืองขวาปลัด พระยาเชียงเหนือ พระยาเมืองฮาม นามฮุงศรี สองเมืองสมุหบัญชี และสุวอ ๒) กรมเสนาบดีฝ่ายซ้ายมี ๗ ตำแหน่งคือ พระยาเมืองจันเป็นเสนาบดีฝ่ายซ้าย พระยาเมืองซ้ายปลัด พระยาเชียงใต้ ศักขา เมืองปาก หมื่นวิสัยสมุหบัญชี และพันหนอง ๓) กรมนครบาลมี ๑๐ ตำแหน่งคือ พระยาเสระโยธากรมนครบาล พระยาคำมูลปลัด พระยาเวียงคำ เมืองคุก กรมเมืองสมุหบัญชี พระโยหะ อินทกุมพัน ขันธฤาไชย หารเพ็ชรลัก และไชยบาล ๔) กรมวังมี ๗ ตำแหน่งคือ พระยาวิไชยมนเทียรกรมวัง พระยาพะชุมปลัด พุทธวงษ์ พลลักขวา อัคชา มหาวงษ์ และหมื่นวงษ์ไชย ๕) กรมพระคลังมี ๕ ตำแหน่งคือ พระยารามโฆษาพระคลัง ราชโกฏิ สิหาคลัง แสนยศ ศรีสุทธสมุหบัญชี ๖) กรมนามี ๕ ตำแหน่งคือ พระยาจิตตะเสนา พระยาหมื่นเยียปลัด พันนา พระทิพสาลี และทิพมุนตรี ๗) กรมสัสดีมี ๘ ตำแหน่งคือ พระยาเมืองกลาง พระยาโยธา ราชานน พัฒมาน ศรีสุนนท สุขนันทา แสนจัน และศรีสมุด ๘) นายเวรสาลามี ๔ ตำแหน่งคือ พันโนฤทธิ พันโนลาษ ศรีสุธรรม และชาบูฮม ๙) พนักงานรับแขกมี ๒ ตำแหน่งคือ แขกขวา และแขกซ้าย ๑๐) กรมไพร่หลวงมี ๗ ตำแหน่งคือ พระละคร มหาโฆษ พลลักซ้าย นามราชา หมื่นเสมอใจ กางสงคราม และศรีทิพเนตร ๑๑) ผู้จำหน่ายของหลวงมี ๕ ตำแหน่งคือ ศรีสมบัติ หอมสมบัติ เพี้ยจ่าย จันทพานิช และยศสมบัติ ๑๒) กรมช่างทองมี ๔ ตำแหน่งคือ สุวรรณจักคำ สุวรรณวิจิตร สุวรรณปัญญา และหลวงสุวรรณ ๑๓) หกเหล่ามี ๖ ตำแหน่งคือ พระยาสุโพ พระยาพลเชียงสา เวียงแก อุปราชา เมืองซอง และมหาสงคราม ๑๔) สี่ท้าวช้างมี ๔ ตำแหน่งคือ นาใต้ นาเหนือ หมื่นนา และเมืองแพน ๑๕) กรมแสงมี ๓ ตำแหน่งคือ สินระแสง พรมเทพ และพันลูกท้าว ๑๖) ช่างเหล็กมี ๔ ตำแหน่งคือ แสนนามเกียน แสนแก้ว หมื่นอาวุธ และพนทะนี ๑๗) นายมหาดเล็กมี ๔ ตำแหน่งคือ นักภูมินทร คำชุมภู ขันขวา และขันซ้าย ๑๘) นายเวรมหาดเล็กมี ๑๒ ตำแหน่งคือ คำพีทูล แก้วพิทูล แก้วมาลา แก้วกินนรี ลาดปาอิน อินทสริยา กวอินตา อินทวีไชย แก้วดวงดี นามลคร พทักภูบาล และสีหาจักร ๑๙) ตำรวจมี ๔ ตำแหน่งคือ พลเดช ซาภักดี ซาหลาบคำ และวงษภูธร ๒๐) นายประตูมี ๕ ตำแหน่งคือ แสนแกว่ง แสนวัง แสนคุ้ม เพี้ยสูน และมหาวัง ๒๑) พ่อมโรงมี ๑๐ ตำแหน่งคือ มหาโนชิต มหามุนตรี ซาโนชิต ซามาต ซาเนตร ซากำนัน ซาทิพฮต ซามุนตรี อุทธามุนตรี และแสนไชย ๒๒) เถ้าแก่มี ๔ ตำแหน่งคือ ซาบรรทม ซามะรัต คำเพียงตา และราชอาส ๒๓) กรมโหรมี ๖ ตำแหน่งคือ สีมังคละ สิทธิมงคล สีกาชะโยก โสระบัณฑิต โลกวิวร และไลยณุโยก[66]
กรณียกิจด้านการพระศาสนา ประเพณี และเศรษฐกิจ
[แก้]๑. สร้างวัดแห่งแรกของรัชกาล เมื่อสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจัดแจงแต่งราชการบ้านเมืองเสร็จแล้วทรงสร้างอารามแห่งหนึ่งขึ้นใหม่ ครั้นเสร็จบริบูรณ์จึงอาราธนาพระครูโพนเสม็ดกับพระสงฆ์อันดับมาประจำอยู่เรียกว่าวัดหลวงใหม่ส่วนวัดที่พระครูเคยอยู่แต่เดิมนั้นเรียกว่าวัดหลวงเก่าสืบมา[67] โดยพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ระบุว่า "...จากนั้นโปรดให้สร้างอารามขึ้นใหม่ในเมืองวัดหนึ่งเรียกว่าวัดหลวงใหม่ซึ่งปรากฎสืบมาแล้วอาราธนาพระครูโพนเสม็ดกับอันดับสงฆ์มาอยู่ที่วัดนี้..."[68]
๒. การบุญการกุศลประจำเดือน ครั้นเดือน ๑๑ ทรงประกอบพระราชพิธีตามธรรมเนียมกษัตริย์คือแรมค่ำ ๑ เป็นวันปวารณาทำบุญให้ทาน แรม ๒ ค่ำทรงแต่งเครื่องกระยาบูชาเทพยดา[69]
๓. โปรดให้จำลองพระไตรปิฎกจากกัมพูชา หลังจากราชาภิเษกและส่งเจ้านายไปปกครองหัวเมืองต่าง ๆ แล้วทรงมีพระราชสาส์นให้ท้าวพระยาถือไปกรุงกำพุชาธิบดีเพื่อขอยืมพระไตรปิฎก พระเจ้ากำพุชาธิบดีโปรดให้พระราชาคณะสงฆ์ผู้ใหญ่จัดพระไตรปิฎกแก่ท้าวพระยาคุมขึ้นไปเมืองนครกาลจำปาศักดิ์แล้วพระองค์จึงโปรดให้จำลองหรือคัดลอกออกไว้แก่บ้านเมือง[70] แสดงว่าพระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ได้รับอิทธิพลหลายระลอกจากกัมพูชาเช่นเดียวกับรัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๙๖-๑๙๑๕)
๔. การศึกษาสงฆ์ ๒ ฝ่าย หลังโปรดให้จำลองพระไตรปิฎกจากกรุงกำพุชาธิบดีออกแล้วพระองค์โปรดให้พระเถรานุเถระผู้รู้อรรถธรรมบอกแก่พระสงฆ์สามเณรให้เล่าเรียนศึกษาในคันถธุระและวิปัสสนาธุระแต่นั้นมาเจ้านายท้าวพระยาสมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรจึงอยู่เย็นเป็นสุข[71]
๕. การศพพระครูโพนเสม็ด หลังสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรสถาปนาราชอาณาจักรจำปาศักดิ์แล้วเข้าใจว่าพระครูโพนเสม็ดได้รับการสถาปนาเป็นพระสังฆราชและเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดิน[72] ต่อมา พ.ศ. ๒๒๖๓ (จ.ศ. ๑๐๘๒) ปีชวด โทศก พระครูโพนเสม็ดอาพาธหนักครั้นเห็นว่าจะไม่รอดจึงสั่งว่าถ้าตนมรณภาพแล้วให้นำอัฐิไปบรรจุไว้ที่ธาตุพนม วันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ จึงมรณภาพรวมอายุ ๙๐ ปี สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรสั่งให้พระยาลาวท้าวแสนสร้างเมรุเสร็จแล้วชักศพเข้าสู่เมรุแต่งการบุญให้ทานและการละเล่นต่าง ๆ รวม ๑ เดือน จากนั้นพระองค์พร้อมแสนท้าวพระยาจึงจุดเพลิงเผาศพโปรดให้สร้างพระอารามแห่งหนึ่งในตำบลเผาศพพระครูและก่อพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งพระเจดีย์เล็ก ๓ องค์รวมพระเจดีย์ ๔ องค์เพื่อบรรจุอังคารไว้ในพระอารามนั้นเรียกว่าวัดธาตุสืบมา[73] เฉพาะอัฐินั้นพระองค์โปรดให้ท้าวพระยาคุมขึ้นไปบรรจุที่ธาตุพนมตามคำสั่งของพระครู[74] ในชั้นต้นจึงรวมเจดีย์บรรจุอังคารและอัฐิทั้งหมด ๕ หลังในสถานที่ ๒ แห่งของจำปาศักดิ์และธาตุพนม ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุศักราชตรงกันว่า จ.ศ. ๑๐๘๒ พระครูโพนเสม็ดอาพาธด้วยโรคชราถึงมรณภาพเมื่ออายุ ๙๐ ปี เมื่อพระองค์จัดการฌาปนกิจเสร็จแล้วจึงสร้างพระเจดีย์ไว้ตรงหอไว้ศพของพระครูรวม ๓ องค์และสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ไว้ในที่ปลงศพของพระครูอีก ๑ องค์ซึ่งลาวเรียกว่าธาตุฝุ่น ภายหลังได้สร้างวิหารขึ้นในที่นั้นจึงปรากฏชื่อว่าวัดธาตุฝุ่นสืบมาจนปัจจุบัน[75] โดยไม่ปรากฏเนื้อความที่ระบุถึงการนำอัฐิไปประดิษฐานที่ธาตุพนม อย่างไรก็ตามหลักฐานในพื้นธาตุพนมฉบับวัดใหม่สุวัณณภูมารามกลับระบุศักราชมรณภาพของพระครูโพนเสม็ดถัดจากศักราชในพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีและพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) นานห่างกันถึง ๒๕ ปี โดยตรงกับ พ.ศ. ๒๒๘๘ (จ.ศ. ๑๑๐๗) ดังความว่า "...สังกาสฮ้อย ๗ ตัวปีเป้าเจ้าคูหลวงโพนซะเม็กนิพพานกุลบุตรเจ้าฝูงฮู้การจิงจำนำสืบไว้..."[76] และระบุตรงกับตำนานพระธาตุพนมฉบับราชบัณฑิตยสภาด้วยว่า "...ศักราชได้ ๑๐๗ ปีเป้าเจ้าครูหลวงโพนชะเม็กนฤพานกุลบุตรเจ้าฝูงรู้กาลจึงจำนำสืบไว้..."[77] ซึ่งตรงกับรัชกาลถัดมาคือสมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๘๐-๒๓๓๔) พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร
๖. พบพระพุทธปฏิมาแก้วผลึก[78] พ.ศ. ๒๒๗๙ (จ.ศ. ๑๐๙๘) ปีมะโรง อัฏฐศก หลังเสวยราชย์ ๒๓ ปีนายพรานนำข่าวสารมาแจ้งท้าวพระยาเสนาบดีว่า พรานทึงพรานเทืองข่าบ้านส้มป่อยนายอนได้พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกมาองค์หนึ่งโดยไม่ทราบว่าเป็นพระแต่คิดว่าเป็นรูปเจว็ดจึงทำการเซ่นบวงสรวง เมื่อไปเที่ยวยิงสัตว์ก็เซ่นบอกครั้นได้สัตว์มาก็นำเลือดสัตว์มาทาที่พระโอษฐ์ขององค์พระ ถ้าจะตากข้าวและสิ่งของต่าง ๆ ก็นำองค์พระมาตั้งไว้เฝ้าข้าวของที่ตากเนื่องจากไก่กาไม่ทำอันตราย แต่พระกรรณของพระพุทธรูปบิ่นไป ๑ ข้างเนื่องจากแรกพบนั้นข่าได้ใช้หน้าไม้คอนมา ท้าวพระยาเสนาบดีได้นำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรครั้นทราบแล้วทรงปีติโสมนัสโปรดแต่งท้าวพระยาผู้ใหญ่คุมไพร่พลขึ้นไปอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรลงมา ณ เมืองนครจำปาบาศักดิ์ เมื่อท้าวพระยาคุมไพร่พลขึ้นไปถึงบ้านส้มป่อยนายอนจึงแห่อัญเชิญลงมาส่วนพวกข่าบ้านนั้นพากันตามลงมาส่งจนถึงปากคลองบางเลียง ท้าวพระยาผู้ไปอัญเชิญองค์พระให้พวกข่ากลับคืนภูมิลำเนาเดิมแล้วอัญเชิญลงเรือ ครั้นจะออกเรือลงมานครจำปาบาศักดิ์ก็เกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้นคือเรือที่ประดิษฐานองค์พระได้เอียงลงทั้งที่ไม่ปรากฏคลื่นลมพายุเป็นเหตุให้พระพุทธปฏิมากรจมน้ำหายไป ฝ่ายท้าวพระยาได้ให้ไพร่พลลงดำน้ำค้นหา ๒-๓ วันก็ไม่พบจึงนำความขึ้นกราบทูล ครั้นทรงทราบจึงเสียดายและเสียพระทัยอย่างมากได้โปรดให้ตั้งพิธีบวงสรวงเทพารักษ์เสร็จแล้วทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่าหากพระองค์มีบุญญาภิสมภารก็ขอให้ได้พบพระองค์นี้ เวลาค่ำวันนั้นทรงเสด็จเข้าที่บรรทมจึงบังเกิดสุบินนิมิตเป็นเทพสังหรณ์ว่าให้นำพวกข่าบ้านส้มป่อยนายอนที่ตามมาส่งองค์พระดำน้ำค้นหาจึงจะพบ พระพุทธปฏิมากรองค์นี้ประดิษฐานอยู่บ้านใดเมืองใดจะบริบูรณ์หาอันตรายไม่ได้ เมื่อตื่นบรรทมแล้วทรงปิติโสมนัสจึงสั่งให้แสนท้าวพระยาขึ้นไปหาตัวพวกข่าชายหญิงที่ตามมาส่งพระพุทธปฏิมากรแต่ก่อนให้ดำน้ำค้นหา พรานทึงนายข่าดำขึ้นมาได้พระองค์โปรดให้ช่างสร้างฐานและเครื่องทรงเสร็จแล้วแห่เข้าสู่โรงสมโภชมีการละเล่น ๗ วัน ๗ คืน จากนั้นอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ หอพระในวังซึ่งเป็นที่สักการบูชาทั่วไป พวกข่าที่ตามลงมาส่งองค์พระนั้นโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านขามเนิ่งจึงเรียกว่าข่าข้าพระแก้วสืบมา ส่วนพรานทึงนั้นตั้งให้เป็นนายกองพิทักษ์รักษาข่าบ้านส้มป่อยนายอนที่เหลือค้างอยู่โดยให้เป็นส่วยขี้ผึ้งผ้าขาวถวายพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก นับแต่ได้พระองค์นี้มาไว้ในบ้านเมืองสมณพราหมณาจารย์เจ้านายพระยาท้าวแสนก็อยู่เย็นเป็นสุข[79] ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุเพียงสั้น ๆ โดยศักราชการพบพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกนั้นห่างกันถึง ๒๒ ปีคือ พ.ศ. ๒๒๖๗ (จ.ศ. ๑๐๘๖) หลังเสวยราชย์ ๑๑ ปีพรานทึงพรานเทืองข่าบ้านส้มป่อยนายอนซึ่งเป็นเมืองสะพาดเดี๋ยวนี้ได้พระแก้วผลึกมา แต่เข้าใจว่าเป็นรูปมนุษย์จึงนำไปให้บุตรเล่นเป็นเหตุให้พระกรรณลิไปข้างหนึ่งดังนั้นสาเหตุที่พระกรรณลิไปจึงถูกอธิบายต่างกันกับพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี ครั้นความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรพระองค์จัดให้แสนท้าวพระยาลาวไปเชิญแห่มาประดิษฐานไว้ในเมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งเนื้อความปรากฏเพียงเท่านี้[80] ส่วนพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ระบุตรงกันว่า พ.ศ. ๒๒๖๗ (จ.ศ. ๑๐๘๖) ปีมะโรง ฉศก พรานป่าคนหนึ่งนำความมาแจ้งต่อแสนท้าวพระยาว่าเห็นพรานทึง พรานเทืองข่าบ้านส้มป่อยนายอนคือเมืองสพาดเดี๋ยวนี้ได้พระแก้วผลึกมาไว้แต่เข้าใจว่าเป็นรูปมนุษย์น้อย นายพรานเอาเชือกผูกพระศอ (พระสอ) ให้บุตรลากเล่นจนพระกรรณบิ่นไปข้างหนึ่ง เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจึงโปรดให้แสนท้าวพระยาไปเชิญรับพระแก้วผลึกแห่มาประดิษฐานไว้ที่เมืองปาศักดิ สมโภช ๓ วันแล้วให้พวกข่าที่มาส่งพระแก้วตั้งอยู่บ้านขามเนิงเรียกว่าข่าข้าพระแก้วสืบมาและตั้งพรานทึงพรานเทืองทั้ง ๒ ให้เป็นนายบ้านควบคุมพวกข่าบ้านส้มป่อยนายอนโดยให้เป็นส่วยส่งขี้ผึ้งผ้าขาวถวายพระแก้วต่อมาจนส่งพระแก้วลงมากรุงเทพฯ[81]
๗. ราชประเพณีแข่งเรือ ด้านราชประเพณีนั้นตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีให้ความสำคัญต่อบทบาทพระองค์ในประเพณีแข่งเรือเป็นพิเศษโดยอธิบายว่า ถึงเดือน ๑๑ ทรงประกอบพระราชพิธีตามธรรมเนียมกษัตริย์โดยเฉพาะแรม ๔ ค่ำทรงแต่งการบวงสรวงแข่งเรือโดยให้พวกข่าสูลงเรือลำหนึ่งเรียกว่าเรือมเหศักดิ์แล้วตีฆ้องใหญ่น้อย ๓ ฆ้อง สวมเสื้อแดงหมวกแดงแต่งเป็นคนรำ ๔ คนพายเรือขึ้นล่องเพื่อกำกับเรือทั้งปวง ทรงเสด็จออกหอไชยเพื่อชมการแข่งเรือทุกวันจนครบ ๓ วัน รุ่งขึ้นเมื่อเวลาตี ๑๑ จึงยิงปืนใหญ่ ๓ นัดพวกคนทรงทอดทุ่นเหนือน้ำใต้น้ำแล้วนำเนื้อควายมาประชุมที่ท่าหอ แต่งพล่ายำทำเครื่องบวงสรวงเสื้อเมืองทรงเมืองเสร็จแล้วจึงแจกจ่ายแก่เจ้านายแสนท้าวพระยาข้าราชการใหญ่น้อย จากนั้นแข่งเรือไปจนเวลาบ่าย ๔ โมงเศษเจ้านายท้าวพระยาที่รับเลี้ยงสีพายเรือลำใดก็จัดเทียนใส่ขันเงินมีผ้าแดงปกปากขันนุ่งขาวห่มขาวนั่งมาบนหัวเรือ แล้วพายลงมาถึงหน้าหอไชยเพื่อจอดเรือขึ้นถวายเทียนแด่พระองค์ทุกลำ จากนั้นจึงแจกหมายคาดคู่เรือแต่ละบ้านลำดับไปตามเรือมากน้อยเป็นคู่ ๆ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษเรือมเหศักดิ์ของพวกข่าลงมาก่อนส่วนเรือแข่งคู่ ๑ คู่ ๒ คู่ ๓ ก็แข่งเป็นคู่ ๆ กันลงมา เมื่อเรือทอดทุ่นแล้วเวลาย่ำค่ำจึงยิงปืนใหญ่ ๑ นัดโดยพวกสีพายเรือตั้งโห่ร้องแข่งเรือเสมอหน้ากันลงมา เรือมเหศักดิ์ของพวกข่านั้นจุดเทียนที่หัวเรือพายตามหลังเรือทั้งปวงลงมาเทียบท่าหอไชย ยิงปืนใหญ่อีก ๑ นัดแล้วจุดดอกไม้ไฟพะเนียงบูชาเทพารักษ์ ครั้นเรือไปถึงทุ่นใต้น้ำก็ยิงปืนใหญ่อีก ๑ นัดจนครบ ๓ วันจึงเลิกการพิธีแข่งเรือซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมมาจนปัจจุบัน[82] จะสังเกตว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับประเพณีแข่งเรือเป็นพิเศษคงเนื่องจากไม่เพียงเป็นประเพณีของกษัตริย์ลาวในสมัยโบราณเท่านั้นแต่ยังเป็นประเพณีที่สนุกสนานและช่วงชีวิตหรือเหตุการณ์สำคัญในพระชนม์ชีพของพระองค์ล้วนผูกพันอยู่กับการคมนาคมทางชลมารคมาโดยตลอด
๘. พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์ พระราชพิธีนี้จัดขึ้น ๒ วันซึ่งวันแรกเป็นของฝ่ายชายวันต่อมาเป็นของฝ่ายหญิงโดยจัดขึ้นในวันสงกรานต์วันเถลิงศก วันแรกนั้นเจ้านายแสนท้าวพระยาข้าราชการใหญ่น้อยทุกตำแหน่งรวมถึงเจ้าเมืองกรรมการเมืองขึ้นและท้าวฝ่ายใน ให้จัดบายศรี ๒ สำรับซ้ายขวาพร้อมข้าวตอกดอกไม้เทียนใหญ่ ๑ คู่มาพร้อมกัน ณ หอราชสิงห์หารเพื่อกราบถวายบังคมแล้วฝ่ายพราหมณ์จึงถวายพระพร ครั้นบ่าย ๑ โมงจึงพร้อมกันเข้าสู่พระอุโบสถให้พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำพระราชพิธี เจ้าท้าวพระยาทั้งปวงจึงกระทำสัตยานุสัตย์รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์ รุ่งขึ้นนางเภาเถ้าแก่ (คงหมายถึงนางแพง) หม่อมนางข้างในและภรรยาเจ้านายพระยาแสนท้าวทุกตำแหน่งพร้อมกัน ณ หอราชสิงห์หารเพื่อรับน้ำพระราชพิธีเช่นกัน[83] ดังนั้นจะเห็นว่าพระราชพิธีเหล่านี้เป็นธรรมเนียมของเมืองเอกราชที่มีพระมหากษัตริย์ปกครอง
๙. สร้างเงินลาดเพื่อแลกเปลี่ยนค้าขาย นอกจากนี้ยังโปรดให้ทำเงินน้ำหนัก ๔ หุนตอกตรารูปหงส์เรียกว่าเงินสิงห์ แล้วหล่อทองเหลืองเหมือนรูปกระสวยยาวประมาณ ๕ นิ้วเศษถึง ๖ นิ้ว ด้านหลังกลมด้านท้องเป็นร่องเหมือนตัวชันลุกะเรียกว่าลาด (เงินลาด) ให้ใช้แทนเบี้ยและใช้ต่อมาจนเท่าทุกวันนี้[84] พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) อธิบายว่าเงินลาดทำด้วยทองแดงบ้างทองเหลืองบ้างทองขาวบ้าง มีรูปร่างคล้ายเรือชะล่าแต่หัวแหลมท้ายแหลมขนาดยาว ๓ นิ้ว ๔ นิ้ว และ ๕ นิ้ว ใช้เป็นอัตรา ๑๖ อันต่อบาทของเงินพดด้วงลาวที่เรียกว่าเงินเป้งแปดน้ำหนัก ๓ สลึงเฟื้อง[85] ตรงกับเนื้อความในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ว่าลาดนั้นใช้ในอัตรา ๑๖ อันต่อบาทเงินพดด้วงพื้นเมืองที่เรียกว่าเงินเป้งแปด (น้ำหนัก ๓ สลึง ๑ เฟื้อง) ส่วนเงินพดด้วงไทยเรียกว่าเงินเป้งเก้าเพราะหนักเต็มบาท[86]
๑๐. ตั้งอัตราเก็บเงินส่วย พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุว่าหลังเสวยราชย์พระองค์ตั้งอัตราเก็บเงินส่วยแก่ชายที่มีบุตรเขย ๑๐ เก็บเแต่พ่อตา ๑ บุตรเขย ๑ ถ้ามี ๕ เก็บเฉพาะพ่อตา ๑ กำหนดคนละ ๑ ลาดและข้าวเปลือกหนักคนละร้อยชั่งซึ่งข้าวขณะนั้นหนักร้อยชั่งต่อบาท[87]
เจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงกัมพูชา
[แก้]ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีระบุว่าครั้นนางแพงชราภาพลงจนถึงแก่กรรมแล้วสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรกับพระยาลาวท้าวแสนได้ฌาปณกิจตามสมควร ต่อมาพระองค์ปรึกษาเจ้านายแสนท้าวพระยาเสนาพฤฒามาตย์ข้าราชการว่าครั้งพระครูโพนเสม็ดลงไปกรุงกำพุชาธิบดีเจ้ากรุงคิดก่อการวิวาทกับฝ่ายลาวและพระยาพระเขมรยกทัพมาขับไล่พระครูกับญาติโยมจนพากันหนีมานานแล้ว ภายหน้าเกรงพระเจ้ากำพูชาธิบดีจะยกมาทำสงครามอีกจึงเห็นควรแต่งเครื่องมงคลราชบรรณาการไปอ่อนน้อมขอเป็นทางสัมพันธมิตรสืบโบราณราชประเพณี เมื่อแสนท้าวพระยาข้าราชการใหญ่น้อยพร้อมกันเห็นชอบจึงแต่งราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการให้ทูตานุทูตจำทูลไปขอพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงกำพูชาธิบดี ทราบแล้วพระเจ้ากรุงกำพูชาจึงแต่งพระยาพระเขมรและบ่าวไพร่ให้ท้าวพระยานำราชธิดาและเครื่องมงคลราชบรรณาการมาตอบแทนตามราชประเพณีและยกบ่าวไพร่ชายหญิงมาอยู่กับพระราชธิดาจำนวนมาก ครั้นอยู่ได้ ๓ เดือนก็ทรงครรภ์แต่พระองค์ไม่ทราบต่อมานางขอลาลงไปเยี่ยมเยือนพระราชบิดา ณ กรุงกำพุชาธิบดีพระองค์จึงแต่งท้าวพระยาเพื่อพานางลงไปด้วย ครั้นพระครรภ์แก่พระเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีก็ส่งนางคืนมาแต่พระองค์เกิดความสงสัยจึงเสี่ยงสัตย์อธิษฐานว่าหากครรภ์นั้นเป็นบุตรของพระองค์ขอให้คลอดออกมาเสียอวัยวะแห่งหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ขอให้กุมารนั้นบริสุทธิ์ประกอบด้วยอวัยวะ ๓๒ ประการเมื่อคลอดกุมารออกมาจึงเสียพระเนตรข้าง ๑ เป็นสำคัญครั้นพระราชกุมารเจริญวัยจึงให้พระนามว่าเจ้าโพธิสาร[88] ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุเพียงสั้น ๆ ว่าพระองค์มีศุภอักษรแต่งให้แสนท้าวพระยาลาวคุมบรรณาการไปขอธิดาเจ้าเขมรเมืองบันทายเพ็ชรมาเป็นชายาและมีบุตรอีกคนหนึ่งชื่อเจ้าโพธิสาร[89]
การขยายพระราชอาณาเขตและหัวเมืองขึ้น
[แก้]ตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ระบุว่านับแต่สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้สถาปนาเป็นปฐมเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์แล้วทรงมีอำนาจว่ากล่าวชาวลาวตำบลต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยตำบลที่อยู่ภายใต้อำนาจของราชอาณาจักรถูกเรียกว่าเมืองเจ็ดหัวเมือง ได้แก่ ๑) เมืองโขง ๒) เมืองเชียงแตง ๓) เมืองอัตปือ ๔) เมืองคำทองน้อย ๕) เมืองทองคำใหญ่ ๖) เมืองมั่น ๗) เมืองเจียม[90] ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีระบุจำนวนบ้านเมืองตรงกันแต่ต่างชื่อกันบ้างว่าครั้นพระราชกุมารเจ้าโพธิสารที่ประสูติแต่พระราชธิดาพระเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีเจริญวัยแล้ว สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงโปรดให้บรรดาเจ้านายนายครัวที่อพยพลงมาจากนครเวียงจันทน์ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นกลุ่มผู้ใกล้ชิด[91] บรรดาศิษย์เอกหรือศิษย์คนสำคัญของพระครูโพนเสม็ดพร้อมพระราชโอรสให้ออกไปปกครองบ้านเมือง ๗ แห่งคือ ๑) เมืองโขง ๒) เมืองศรีคอรเตา ๓) เมืองท่ง ๔) เมืองมั่น ๕) เมืองคำทองหลวง ๖) บ้านอิดกระบือ (เมืองอัดตะปือ) ๗) เมืองศรีจำบัง[92] ทว่าพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) และพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ระบุต่างไปออกว่ามีมากถึง ๑๒ เมืองภายใต้ผู้ปกครอง ๙ คนต่างจากเอกสาร ๒ ฉบับแรกถึง ๔ เมืองกับ ๑ หมู่บ้านใหญ่ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นเมืองเช่นกัน ได้แก่ ๑) เมืองโขง ๒) เมืองทง ๓) เมืองมั่น ๔) เมืองคำทองหลวง ๕) เมืองอัตปือ ๖) เมืองศรีจำบัง ๗) เมืองเชียงแตง ๘) บ้านโพนสิม (เมืองหลวงโพนสิม) ๙) เมืองตะโปน ๑๐) เมืองพิน ๑๑) เมืองนอง ๑๒) เมืองเชียงเจียง[93] ทั้งชี้ว่า พ.ศ. ๒๒๕๖ (จ.ศ. ๑๐๗๕) ในปีเสวยราชย์นั้นพระองค์เร่งขยายอำนาจจำปาศักดิ์ในขณะเกิดภาวะล่อแหลมทางการเมือง[94] โดยการแต่งตั้งเจ้านายหรือนายครัวคนสำคัญที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองและทางส่วนตัวกับพระองค์และพระครูโพนเสม็ดให้ไปปกครองบ้านเมืองเหล่านี้จนเขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้นขยายตัวอย่างกว้างขวาง[95] จนครอบคลุมพื้นที่ถึง ๓ ประเทศ คือบางส่วนของลาวตอนกลาง ทั้งหมดของลาวตอนใต้ บางส่วนของภาคอีสานตอนกลางและตอนใต้ ตลอดจนบางส่วนของกัมพูชาตอนเหนือ โดยทิศเหนือตั้งแต่ยางสามต้นอ้นสามขวายหลักทอดยอดยาง ทิศตะวันออกถึงแนวภูเขาบรรทัดต่อแดนญวน ทิศใต้เวลานั้นยังไม่ปรากฏ ทิศตะวันตกต่อเขตแขวงเมืองพิมายฟากลำน้ำกระยุง[96] จากหลักฐานทั้ง ๓ ฉบับพอประมวลหัวเมืองต่าง ๆ ที่ถูกสถาปนาขึ้นให้อยู่ภายใต้อำนาจของราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ในเขตแคว้นทุกทิศทางตั้งแต่บริเวณเหนือสุดที่แขวงสะหวันนะเขตจนถึงตอนเหนือแดนเขมรได้ดังนี้[97]
๑. เมืองโขง (นครโขง) พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีระบุว่าทรงจัดตั้งบ้านอำเภอโขงขึ้นเป็นเมืองโขงให้จารียฮวด (จารย์ฮวด) เป็นเจ้าเมืองรักษาอาณาเขตที่ตำบลนั้นทั้งชี้ว่าเดิมเมืองโขงภายใต้อิทธิพลของชนชาติลาวเริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ครั้งพระครูโพนเสม็ดเดินทางมาถึง คือก่อนการราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรนั้นพระครูได้ตั้งบุตรหลานลาวเดิมให้เป็นข้าพระมหาธาตุเจดีย์ดอนโขงจากนั้นให้จารียฮวดอยู่รักษาอาณาเขตอำเภอโขงก่อนแล้ว ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุตรงกันว่าให้จารหวดเป็นนายอำเภอรักษาบ้านดอนโขงซึ่งเป็นเกาะอยู่ในลำแม่น้ำโขงต่อมาเรียกว่าเมืองศรีทันดร (สีทันดอน) ปัจจุบันคือเมืองโขง แขวงจำปาสัก ทั้งเมืองนี้ยังปรากฏชื่อในตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ด้วย ส่วนพงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) นั้นระบุว่า "...ท่านพระครูและเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ จัดแจงตั้งแต่งบ้านเมืองคือให้ตั้งบ้านโขงเป็นเมืองโขงจารหวดเป็นเจ้าเมือง..."[98] ในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ระบุที่มาของชื่อเมืองนี้อย่างละเอียดโดยผูกเรื่องอยู่กับตำนานปรัมปราของพระยาศรีโคตรบองซึ่งเป็นตำนานที่นิยมและรับรู้ทั่วไปในสองฝั่งโขงดังนี้ "...แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งให้จารหวดเปนอำเภอรักษาบ้านดอนโขงในลำน้ำโขง (ฤๅของ) คำที่เรียกว่าดอนโขงฤๅน้ำโขงนี้มีตำนานมาแต่บุราณว่าครั้งเมื่อช้างเที่ยวทำร้ายคนอยู่ในเขตรแขวงเมืองศรีสัตนาคนหุตพระยาโคตระบองได้ไปปราบช้างฆ่าช้างตายเสียตั้งล้านเมืองศรีสัตนาคนหุตจึ่งได้เรียกว่าเมืองล้านช้างมาก่อน ส่วนช้างที่ตายนั้นก็ลอยไปตามลำแม่น้ำติดอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่งมีกลิ่นเหม็นโขลงตลบไปทั่วตลอดไปตามลำน้ำ อาการกลิ่นที่เหม็นอย่างนี้ภาษาทางนั้นเรียกว่าเหม็นโขงเพราะฉนั้นจึ่งได้เรียกลำน้ำนี้ว่าลำน้ำโขง ส่วนดอนที่ช้างตายลอยไปติดอยู่นั้นจึ่งเรียกว่าดอนโขงกับได้พบอิกตำราหนึ่งว่าดอนโขลงไม่ใช่โขงคือแต่ก่อนเปนที่ไว้โขลงช้าง ดอนนี้ต่อมาเรียกว่าสี่พันดอนคือมีดอนเกาะในที่เหล่านี้มากมายตั้งสี่พันซึ่งต่อมาในปัจจุบันนี้เรียกว่าสีทันดร..."[99] พงศาวดารเมืองโขงระบุว่าเดิมจารย์หวดเป็นคนเวียงจันทน์และเป็นลูกศิษย์ของพระครูโพนเสม็ด (อาชญาครูโพนสะเม็ด) ที่ติดตามลงมาจากเวียงจันทน์ ครั้นถูกพระครูตั้งไว้ให้ปกครองดอนโขงขณะอายุได้ ๕๐ ปีจึงเอาสาวเปะและสาวหว้า (นางเปะและนางหว้า) สองพี่น้องเป็นภริยา ต่อมาสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (เจ้าส้อยสีสมุด) จึงตั้งให้เป็นกวานเท้าเจ้าเมืองโขงเมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๖ (จ.ศ. ๑๐๗๕) ปีมะเส็ง เบญจศก มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อท้าวสีทาตถ์ (สีทาดหรือศรีธาตุ) ได้ขึ้นครองเมืองโขงต่อมา จารย์หวดถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๑ (จ.ศ. ๑๑๐๐) รวมอายุ ๗๖ ปี[100] คือหลังการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ๑ ปีใน พ.ศ. ๒๒๘๐ (จ.ศ. ๑๐๙๙) ๕๓ ปีต่อมา พ.ศ. ๒๓๓๔ (จ.ศ. ๑๑๕๓) ปีกุญ ตรีศก อ้ายเชียงแก้วซึ่งตั้งอยู่ตำบลเขาโองฝั่งโขงตะวันออกแขวงเมืองโขงแสดงตนเป็นผู้วิเศษคิดการกบฏยกกำลังมาล้อมตีนครจำปาศักดิ์ เจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมารตกพระทัยอาการพระโรคกำเริบจนถึงพิราลัยสยามจึงสลับขั้วอำนาจโดยโปรดให้ท้าวฝ่ายน่าบุตรพระตาผู้มีความชอบขึ้นเป็นเจ้าพระวิไชยราชขัติยวงษาครองเมืองจำปาศักดิ์แทนแล้วย้ายเมืองมาตั้งอยู่ทางเหนือคือเมืองเก่าคันเกิงในปัจจุบัน เจ้าพระวิไชยราชขัติยวงษาได้ตั้งท้าวสิงผู้หลานที่อยู่บ้านสิงทา (สิงห์ท่า) ขึ้นเป็นราชวงษ์เมืองโขง (สีทันดร)[101] เป็นอันว่าเชื้อสายพระวอพระตาที่เคยกบฏต่อเวียงจันทน์แล้วแปรภักดิ์มาเข้ากับสยามในรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๓ หรือพระเจ้าสิริบุญสาร (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๙๔-๒๓๒๒) จึงเข้ามามีอิทธิพลครอบงำในเมืองโขงนับแต่นั้นมา
๒. เมืองศรีคอรเตา (เมืองศรีคอนเตา) พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีระบุว่าโปรดให้จารียเสียงช้าง (จารย์เซียงซ้าง) ขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองศรีคอรเตา เช่นเดียวกับพงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) ซึ่งระบุว่า "...แล้วจัดให้จารเสียงสางไปเป็นเจ้าเมืองศรีคอนเตาเรียกว่าเจ้าเมืองรัตนบุรี..."[102] ปัจจุบันคือบ้านเมืองเตา อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จารียเสียงช้างหรือจารเสียงสางนับเป็นบุคคลสำคัญที่ร่วมกับจารียแก้วเมืองท่งซึ่งมีบทบาทในการเดินทางขึ้นไปรับและอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ลงมาเสวยราชย์ที่นครจำปาศักดิ์ อย่างไรก็ตามเมืองนี้ไม่ปรากฏชื่อในตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) และพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร)
๓. เมืองท่ง พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีระบุว่าโปรดให้จารียแก้ว (จารย์แก้ว)[103] เป็นเจ้าเมืองท่งรักษาเขตแดนฝ่ายเหนือตั้งแต่ยางสามต้นอ้นสามข้อยหลักทอดยอดยาง (อ้นสามขวยหลักทอดยอดยัง) ตะวันออกเขาประทัดต่อแดนกับญวณ ตะวันตกลำน้ำกระยุงเป็นแดน จารย์แก้วมีอีกนามหนึ่งว่าเจ้าแก้วมงคลได้อพยพไพร่พลจำนวน ๓,๐๐๐ คนออกไปตั้งเมืองท่งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๖[104] ในบริเวณอีสานตอนกลาง[105] ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุตรงกันว่าให้จารแก้วเป็นนายอำเภอรักษาบ้านทงต่อมาเรียกว่าบ้านเมืองทงคือเมืองสุวรรณภูมิเดี๋ยวนี้ เช่นเดียวกันกับพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ว่า "...ให้จารแก้วเปนอำเภอรักษาบ้านทงภายหลังเรียกบ้านเมืองทง (คือเมืองสุวรรณภูมิ์เดี๋ยวนี้)..."[106] ปัจจุบันคือตำบลเมืองทุ่ง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อย่างไรก็ตามเมืองนี้ไม่ปรากฏชื่อในตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ นอกจากนี้พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ยังระบุเหตุการณ์หลังปกครองเมืองท่งของจารย์แก้วต่อไปว่า พ.ศ. ๒๒๖๘ "...จุลศักราช ๑๐๘๗ ปีมเสงสัปตศกจารแก้วอำเภอบ้านเมืองทงป่วยถึงแก่กรรมอายุได้ ๘๔ ปีมีบุตรชาย ๒ คนชื่อท้าวมืด ๑ (คลอดเมื่อวันสุริยอุปราคา) ชื่อท้าวทนหนึ่ง เจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งตั้งให้ท้าวมืดบุตรเปนตำแหน่งเจ้าเมืองให้ท้าวทนเปนอุปฮาดปกครองรักษาบ้านเมืองทงต่อไปท้าวมืดได้ตั้งแต่งตำแหน่งเมืองแสนเมืองจันแลกรมการขึ้นณครั้งนั้น ฝ่ายข้างเมืองปาศักดิเจ้าสร้อยศรีสมุทป่วยลงจึ่งให้เจ้าไชยกุมารว่าราชการเมืองแทนแล้วก็ออกจำศีลอยู่..."[107] ซึ่งท้าวมืดและท้าวทนทั้ง ๒ คนนี้จะกลายเป็นต้นตระกูลวงศ์ของเจ้านายลาวในภาคอีสานอีกหลายหัวเมืองในสมัยต่อมาจนตกเป็นส่วนหนึ่งของสยาม[108] ส่วนพงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) ซึ่งเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นมาเพื่ออธิบายประวัติความเป็นมาของจารย์แก้วและทายาทซึ่งปกครองบ้านเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสานโดยเฉพาะนั้นระบุรายละเอียดว่า "...ให้จารแก้วเป็นเจ้าเมืองทุ่งเรียกว่าเมืองสุวรรณภูมิบัดนี้ ปันอาณาเขตต์ให้ปกครองรักษาฝ่ายเหนือ ตั้งแต่ยางสามต้นอ้นสามขวยหลักทอดยอดยัง ข้างตะวันออกถึงเขาประทัดต่อแดนกับอ้ายญวน ข้างตะวันตกถึงลำน้ำพังชู ทิศใต้ถึงห้วยลำคันยุงเป็นแดน จารแก้วออกจากนครจำปาศักดิ์มาตั้งเมืองในระหว่างจุลศักราช ๑๐๘๐ ปีมีไพร่พลชายหญิงใหญ่น้อยประมาณ ๓๐๐๐ คนเศษ จารแก้วเจ้าเมืองทุ่งมีบุตรชาย ๓ คน คนที่ ๑ ชื่อท้าวมืด คนที่ ๒ ชื่อท้าวทน คนที่ ๓ ชื่อท้าวเพ จารแก้วครองเมืองทุ่งได้ ๑๖ ปีระหว่างจุลศักราช ๑๐๙๖ ปีจารแก้วถึงแก่กรรมท้าวมืดผู้พี่ได้ครองเมืองแทนบิดาท้าวทนเป็นอุปฮาด ตั้งแข็งเมืองเป็นเอกราชไม่ได้ขึ้นแก่นครจำปาศักดิ์เพราะเหตุว่านครจำปาศักดิ์พี่กับน้องเกิดวิวาทยาดชิงสมบัติแก่กันจึงหาได้ติดตามมาว่ากล่าวเอาส่วยสาอากรไม่..."[109] จะเห็นว่าศักราชถึงแก่กรรมของจารย์แก้วในพงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) นั้นห่างกับพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ถึง ๙ ปีทั้งจำนวนบุตรของจารย์แก้วที่ปรากฏนั้นก็ไม่ตรงกัน
๔. เมืองมั่น พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีระบุว่ายกให้นายมั่นข้าหลวงเดิมที่เป็นคนใช้สอยสนิทไปเป็นหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพนเรียกว่าเมืองมั่น ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุต่างกันเล็กน้อยว่าให้นายมั่นบ่าวเดิมของนางแพงเป็นหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพนภายหลังเรียกว่าเมืองมั่นคือเมืองศาลวันเดี๋ยวนี้ สอดคล้องกับพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ว่า "...ให้นายมั่นข้าหลวงเดิมของนางแพงเปนหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพนภายหลังเรียกว่าเมืองมั่นตามชื่อนายมั่น (คือเมืองสาลวันเดี๋ยวนี้)..."[110] ปัจจุบันคือเมืองสาละวัน แขวงสาละวัน ทั้งชื่อเมืองนี้ยังปรากฏในตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ด้วยแต่ไม่ได้ระบุสถานะของนายมั่น (ท้าวมั่น) ว่ามีความสัมพันธ์กับเจ้าหน่อกษัตริย์หรือนางแพงอย่างไรบ้าง จะสังเกตว่าข้อมูลของนายมั่นในเอกสารทั้ง ๓ ฉบับแรกทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับสถานะเดิมของนายมั่นว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ปกครองจำปาศักดิ์องค์ใดระหว่างเจ้าหน่อกษัตริย์และนางแพง อย่างไรก็ตามสถานะของนายมั่นในเอกสารทั้ง ๓ ฉบับแรกแม้ระบุไม่ตรงกัน แต่เนื้อความล้วนแสดงว่าคงเป็นบุคคลใกล้ชิดของกษัตริย์จำปาศักดิ์หรือชนชั้นปกครองเดิมที่มีบทบาทสำคัญต่อราชสำนักไม่น้อยมาตั้งแต่ก่อนการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรแล้ว
๕. เมืองคำทองหลวง พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีระบุว่าให้นายพรมไปเป็นซาบุตตโคตรักษาอำเภอบ้านแก้งอาเฮิมซึ่งมีพระเจดีย์อยู่ในตำบลนั้นองค์หนึ่งเรียกว่าธาตุกระเดาทึกจึงให้เป็นเมืองคำทองหลวง ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุตรงกันว่าให้นายพรหมเป็นซาบุตตโคตรักษาอำเภอบ้านแก้วอาเฮิมซึ่งมีเจดีย์อยู่ที่นั้นลาวเรียกว่าธาตุกำเดาทึกภายหลังเรียกว่าเมืองคำทองหลวงคือเมืองคำทองใหญ่เดี๋ยวนี้ เช่นเดียวกับพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ซึ่งระบุสอดคล้องกันว่า "...ให้นายพรหมเปนซาบุตรโคตรรักษาอำเภอบ้านแก้วอาเฮิมซึ่งมีเจดีย์อยู่ที่นั้นเรียกกันว่าธาตุกำเดาทึกภายหลังเรียกว่าเมืองคำทองหลวง (คือเมืองคำทองใหญ่บัดนี้)..."[111] ทั้งชื่อเมืองนี้ยังปรากฏในตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ด้วยโดยเรียกว่าเมืองทองคำใหญ่ ปัจจุบันธาตุกระเดาทึก (ธาตุกะเดาทึก) ตั้งอยู่ที่บ้านนาโคก เมืองคงเซโดน แขวงสาละวัน เดิมอยู่ในแขวงวาปีคำทองซึ่งชื่อนี้มาจากการรวมชื่อเมือง ๒ เมืองเข้าไว้ด้วยกันคือเมืองวาปีไพบูลย์และเมืองคำทองหลวง
๖. เมืองคำทองน้อย เมืองแฝดของเมืองคำทองหลวงปรากฏในตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์โดยไม่พบว่าโปรดให้ผู้ใดไปปกครองและยกขึ้นจากบ้านหรือตำบลใด สันนิษฐานว่าอาจปกครองโดยนายพรมหรือซาบุตตโคตผู้รักษาอำเภอบ้านแก้งอาเฮิม (แก้วอาเฮิม) เมืองคำทองหลวง ปัจจุบันอยู่ในแขวงสาละวัน เดิมอยู่ในแขวงวาปีคำทองเช่นเดียวกับเมืองคำทองหลวง ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) และพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) นั้นไม่ปรากฏ
๗. เมืองอัดตะปือ (เมืองอัตปือ) พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีระบุว่าให้จารียโสม (จารย์โสม) ไปเป็นใหญ่รักษาอำเภอบ้านอิดกระบือ[112] แต่ไม่ระบุชื่อเมือง ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่าให้จารโสมรักษาบ้านทุ่งอิดกระบือ (อิ้ดกระบือ)[113] คือเมืองอัตปือเดี๋ยวนี้ เมืองนี้เป็นทำเลเมืองร้างมาก่อนเรียกว่าเมืองโศรกเมืองซุง (เมืองโสกเมืองซุง) เดิมเป็นซองและเพนียดแซกคล้องช้างและฝึกช้างเถื่อนของพวกเวียงจันทน์แต่ก่อน สอดคล้องกับพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ว่า "...ให้จารโสมรักษาอำเภอบ้านทุ่งอิ๊ดกระบือเปนทำเลเมืองร้างมาก่อนเรียกว่าเมืองโสกเมืองซุง คือซองแลพะเนียดเพราะแต่ก่อนพวกเวียงจันท์แทรกคล้องแลฝึกหัดช้างเถื่อนที่นี้คือเมืองอัตปือบัดนี้..."[114] ปัจจุบันคือเมืองไซเซดถา แขวงอัดตะปือ ทั้งชื่อเมืองนี้ยังปรากฏในตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ด้วย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๒๑ (จ.ศ. ๑๑๔๐) ปีจอ สัมฤทธิศก เมื่อจำปาศักดิ์ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้ากรุงธนบุรีในฐานะประเทศราชจึงโปรดให้ยกบ้านอิ้ดกระบือเป็นเมืองอิ้ดกระบือ (คือเมืองอัตปือซึ่งตั้งอยู่ฝั่งโขงตะวันออกเดี๋ยวนี้) อีกครั้ง แล้วให้เจ้าโอบุตรเจ้าอุปราชธรรมเทโวเป็นเจ้าเมืองส่วนเจ้าอินผู้น้องให้เป็นเจ้าอุปฮาดครอบครองเมือง ทั้ง ๒ องค์เป็นพระราชนัดดาหรือหลานปู่ของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ๒ ปีต่อมา พ.ศ. ๒๓๒๓ (จ.ศ. ๑๑๔๒) ปีชวด โทศก เจ้าโอและเจ้าอิน ๒ พี่น้องกระทำการกดขี่ข่มเหงราษฎรให้รับความเดือดร้อนจนความทราบถึงเจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมาร พระองค์โปรดให้เจ้าเชษฐและเจ้านูผู้หลานคุมกำลังไปจับฝ่ายเจ้าอินรู้ตัวจึงหลบหนีไปก่อนส่วนเจ้าโอรู้ว่าหนีไม่รอดและอันตรายจะมาถึงตัวจึงหนีเข้าไปกอดพระศอพระปฏิมากร เมื่อเจ้าเชษฐเจ้านูพบเข้าจึงให้จับตัวออกมาจากพระปฏิมากรฝ่ายเจ้าโอขอผัดว่าหากโทษของตนถึงต้องประหารชีวิตขอให้รอไว้ก่อนเพื่อบังสุกุลตัวเอง พระองค์จึงนำผลสะบ้า (สบ้า) มาประมาณ ๑๐๐ เศษควักไส้ในออกแล้วนำทองคำทรายกรอกเข้าไป จากนั้นนิมนต์พระมาบังสุกุลแล้วถวายผลสะบ้าทองคำทรายทุกองค์โดยกล่าววาจาอธิษฐานว่าหากเจ้าเชษฐเจ้านูมาจับตนไปฆ่าโดยไม่มีความผิดแล้วขอให้บาปนี้จงเป็นผลสนองอย่าให้ทั้ง ๒ ได้เป็นเจ้าเมืองสืบวงศ์ตระกูลต่อไป ทันใดนั้นทั้ง ๒ ก็สั่งไพร่ให้เข้าจับตัวเจ้าโอมามัดแล้วใช้เชือกหนังรัดพระศอจนถึงแก่กรรม เจ้าโอมีบุตร ๒ องค์ชื่อเจ้านาคและเจ้าฮุยส่วนตำบลที่เจ้าโอถึงแก่กรรมนั้นภายหลังบุตรทั้ง ๒ ได้ก่อเจดีย์ขึ้นไว้ซึ่งคำในพื้นเมืองเรียกว่าธาตุเจ้าโอปรากฏอยู่ที่เมืองอัตปีอสืบมาจนทุกวันนี้[115] อย่างไรก็ตามยังไม่พบหลักฐานว่าเชื้อสายของจารย์โสมได้ปกครองเมืองนี้สืบมาอย่างไรหรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองทางเครือญาติกับกลุ่มพระราชนัดดาของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรที่เข้ามาปกครองเมืองอัตปือในภายหลังอย่างไรบ้าง
๘. เมืองศรีจำบัง หลังจัดการศพพระครูโพนเสม็ดสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้ปรึกษาเจ้านายพระยาลาวท้าวแสนว่าต้องการให้เจ้าโพธิสารราชบุตรที่พระราชมารดามาแต่ฝ่ายเขมรออกไปตั้งรักษาประชาราษฎรฝ่ายเขมร จึงมีพระราชสาส์นไปถึงเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีผู้เป็นตาของเจ้าโพธิสาร ครั้นทรงทราบพระราชสาส์นจึงให้พระยาพระเขมรผู้ใหญ่ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นคนเดียวกันกับที่ยกขึ้นมาขับไล่กลุ่มพระครูโพนเสม็ดหรือไม่ ครั้นมาพร้อมกันแล้วจึงจัดการแต่งตั้งเจ้าโพธิสารเป็นเจ้าเมืองศรีจำบังอยู่ลำน้ำเซลำเภา พระยาพระเขมรได้ปักปันเขตแดนฝ่ายใต้ให้เป็นของเมืองนครจำปาศักดิ์ ส่วนน้ำโขงฝั่งตะวันตกตั้งแต่ปากคลองน้ำจะหลีกไปตามปลายคลองถึงลำน้ำเสนฟากฝั่งเสนนั้นเป็นเขตแดนเมืองสะโทงกำปงสวาย ฝั่งน้ำโขงตะวันออกนั้นตั้งแต่บุงขาถึงลำน้ำปากคลองสบา[116] ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุว่า พ.ศ. ๒๒๖๓ (จ.ศ. ๑๐๘๒) หลังเสวยราชย์ ๘ ปีตรงกับราวรัชกาลพระแก้วฟ้าที่ ๓ หรือนักองค์อิม (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๕๘-๖๕) แห่งอาณาจักรเขมรอุดงซึ่งมีอุดงมีชัยเป็นเมืองหลวง เมื่อพระครูโพนเสม็ดมรณภาพครั้นจัดการฌาปนกิจเสร็จแล้วพระองค์โปรดให้เจ้าโพธิสารบุตรไปเป็นเจ้าเมืองควบคุมคนเขมรอยู่บ้านทุ่งบัวศรี ยกบ้านทุ่งบัวศรีเป็นเมืองศรีจำบังคือตำบลที่ตั้งอยู่ฝั่งลำน้ำใต้เมืองเซลำเภาในปัจจุบัน แล้วตกลงกับเมืองเขมรเพื่อปันเขตแดนให้เป็นเขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ โดยทิศใต้ตั้งแต่ริมลำน้ำโขงฝั่งตะวันตกปากคลองน้ำจะหลีกไปตามปลายคลองถึงลำน้ำเสนต่อแดนเมืองสะทมกำพงสวาย ฝั่งน้ำโขงตะวันออกนั้นตั้งแต่บุ่งขลาไปถึงลำน้ำปากคลองสบา[117] สอดคล้องกับพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ว่า "...ลุจุลศักราช ๑๐๘๒ ปีชวดโทศก วันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ พระครูโพนเสม็ดอาพาธเปนโรคชราถึงแก่มรณภาพที่วัดหลวงใหม่อายุ ๙๐ ปี เจ้าสร้อยศรีสมุทพร้อมด้วยแสนท้าวพระยากระทำการปลงศพพระครูโพนเสม็ดเสร็จแล้วจึ่งสร้างพระเจดีย์ที่ตรงหอไว้ศพสามองค์กับสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ที่ปลงศพพระครูโพนเสม็ด ๑ องค์พระเจดีย์องค์นี้เรียกว่าธาตุฝุ่น ภายหลังได้สร้างวิหารขึ้นในที่นี้จึ่งได้ปรากฎนามว่าวัดธาตุฝุ่นมาจนบัดนี้ ในปีนี้เจ้าสร้อยศรีสมุทได้ให้เจ้าโพธิสารราชบุตรซึ่งมารดามาแต่ฝ่ายเขมรนั้นไปเปนเจ้าเมืองควบคุมคนเขมรอยู่ณบ้านทุ่งบัวศรี ยกบ้านทุ่งบัวศรีเปนเมืองขนานนามว่าเมืองศรีจำปัง[118] (คือตำบลที่ตั้งอยู่ฝั่งลำน้ำใต้เมืองเซลำเภาในปัตยุบันนี้) เมืองเขมรจึ่งได้ปันแดนให้เปนเขตรแขวงเมืองนครจำปาศักดิในทิศใต้ตั้งแต่ริมน้ำโขงฝั่งตวันตกปากคลองน้ำจะหลีกไปตามปลายคลองถึงลำน้ำเสนต่อแดนเมืองสทงกำพงสวาย ฝั่งน้ำโขงตะวันออกแต่บุ่งขลาไปถึงลำน้ำปากคลองสะบา..."[119] เรื่องการปักปันเขตแดนนี้ระบุตรงกันกับพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี ส่วนการให้พระราชโอรสที่มีเชื้อสายเขมรผสมลาวออกไปปกครองเมืองที่มีคนเขมรซึ่งเข้าใจว่าเป็นเขมรป่าดงเป็นส่วนมากนั้น[120] นอกจากจะทำให้เกิดความนิยมนับถือในตัวผู้ปกครองและทำให้ปกครองพลเมืองได้ง่ายแล้วยังเป็นวิธีเจริญสัมพันธไมตรีของกลุ่มชนชั้นปกครองต่างชาติต่างภาษาผ่านการเดี่ยวดองทางเครือญาติที่นิยมทั่วไปในอดีตด้วย
๙. เมืองเชียงแตง พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีชี้ว่าพัฒนาการของเมืองนี้ภายใต้อำนาจของชนชาติลาวเริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ครั้งพระครูโพนเสม็ดเดินทางมาถึงเช่นเดียวกับเมืองโขง คือก่อนการราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรนั้นพระครูได้แห่พระแสนขึ้นมาถึงหางโคปากน้ำเซกองฝั่งตะวันออกแล้วให้ศิษย์คนหนึ่งพร้อมครอบครัวเป็นผู้อุปัฏฐากพระแสน ครั้นศิษย์ผู้นั้นถึงแก่กรรมบุตรชายชื่อเชียงแปง (คงหมายถึงเชียงแตง) จึงได้รักษาครอบครัวที่ตำบลนั้นสืบมาซึ่งนามของเชียงแปงได้กลายเป็นนามเมืองเชียงแตงในเวลาต่อมา จะสังเกตว่าพัฒนาการการขยายชุมชนเมืองโขงและเชียงแตงเริ่มเกิดขึ้นจากชุมชนกัลปนาข้าพระเจดีย์และข้าพระพุทธรูปมาก่อนที่จะถูกสถาปนาขึ้นเป็นเมืองใหญ่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุนามผู้ถูกส่งไปปกครองเมืองนี้ว่าชื่อท้าวสุดโดยให้เป็นพระไชยเชษฐ์รักษาอำเภอบ้านหางโคปากน้ำเซกองซึ่งอยู่ฝั่งโขงตะวันออกคือเมืองเชียงแตงเดี๋ยวนี้ สอดคล้องกับพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ว่า "...ให้ท้าวสุดเปนพระไชยเชฐรักษาอำเภอบ้านหางโคปากน้ำเซกองฝั่งโขงตวันออก (คือเมืองเชียงแตงเดี๋ยวนี้)..."[121] ส่วนพงศาวดารภาคอีสานฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) ระบุว่า "...ยกบ้านหางโขงขึ้นเป็นเมืองเชียงแตงให้พ่อเชียงแปลงเป็นเจ้าเมือง..."[122] ปัจจุบันคือจังหวัดสตึงแตรง (ซตึงแตรง, สตึงเตรง, สะตึงแตรง) ประเทศกัมพูชา ทั้งชื่อเมืองนี้ยังปรากฏในตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ด้วย ต่อมา พ.ศ. ๒๓๒๗ (จ.ศ. ๑๑๔๖) ปีมะโรง ฉศก สยามตั้งให้นายเชียงแตงบ้านหางโคปากน้ำเซกองฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงขึ้นเป็นที่พระอุดมเดชเจ้าเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้นำพาญาติพี่น้องพรรคพวกเฃ้าสวามิภักดิ์รับอาสานำร่องเรือกระบวนทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทแต่ครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์แม่ทัพยกไปตีนครเวียงจันทน์ ยกบ้านหางโคเป็นเมืองเชียงแตงมีกำหนดเขตแขวงบริเวณเชียงแตงคือทิศตะวันออกถึงตำบลแสพวก ทิศใต้ถึงเขาเชิงโดย ทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงห้วยม่วง ทิศเหนือถึงดอนตะแบง[123]
๑๐. เมืองโพนสิม (บ้านโพนสิมหรือเมืองหลวงโพนสิม) ปรากฏเฉพาะพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) และพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) โดยระบุว่าให้จันสุริยวงศ์ (จันทสุริยวงษ์[124], จันทรสุริยวงศ์) เป็นอำเภอรักษาบ้านโพนสิม เมืองตะโปน เมืองพิน และเมืองนอง ปัจจุบันคือบ้านโพนสิม นครไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขด ส่วนตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์และพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีนั้นไม่ปรากฏ
๑๑. เมืองตะโปน ปรากฏเฉพาะพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) โดยให้จันสุริยวงศ์เป็นอำเภอรักษาไปพร้อมกันกับบ้านโพนสิม เมืองพิน และเมืองนอง ปัจจุบันคือเมืองพิน แขวงสะหวันนะเขด ส่วนตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์และพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีนั้นไม่ปรากฏ
๑๒. เมืองพิน ปรากฏเฉพาะพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) โดยให้จันสุริยวงศ์เป็นอำเภอรักษาไปพร้อมกันกับบ้านโพนสิม เมืองตะโปน และเมืองนอง ปัจจุบันคือเมืองพิน แขวงสะหวันนะเขด ส่วนตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์และพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีนั้นไม่ปรากฏ
๑๓. เมืองนอง ปรากฏเฉพาะพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) โดยให้จันสุริยวงศ์เป็นอำเภอรักษาไปพร้อมกันกับบ้านโพนสิม เมืองตะโปน และเมืองพิน ปัจจุบันคือเมืองนอง แขวงสะหวันนะเขด ส่วนตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์และพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีนั้นไม่ปรากฏ
๑๔. เมืองเจียม พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุว่าให้ท้าวหลวงบุตรพระละงุม (พระสะงุม)[125] เป็นขุนนักเฒ่ารักษาอำเภอโขงเจียม สอดคล้องกับพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ว่า "...ให้ท้าวหลวงบุตรพระละงุมเปนขุนนักเฒ่ารักษาอำเภอตำบลโขงเจียง..."[126] ซึ่งตำนานเมืองจำปาศักดิ์ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์เรียกว่าเมืองเจียม ปัจจุบันคือตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีนั้นไม่ปรากฏ ครั้น พ.ศ. ๒๒๖๓ (จ.ศ. ๑๐๘๒) ปีชวด โทศก ขุนนักเฒ่าอำเภอตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรมสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจึงตั้งให้ท้าวสักโพผู้บุตรเป็นขุนนักสักโพรักษาตำบลนั้นแทนบิดา ต่อมา พ.ศ. ๒๒๘๐ (จ.ศ. ๑๐๙๙) ปีมะเส็ง นพศก พระนักสักโพผู้รักษาอำเภอโขงเจียงถึงแก่กรรมเมืองปาศักดิจึงตั้งท้าวโกษาผู้บุตรเป็นพระนักโกษาให้ครอบครองอำเภอนั้นต่อไป[127] ที่ตั้งเมืองเจียมนี้บ้างเรียกว่าบ้านโขลงเจียงต่อมาเรียกว่าบ้านเจียมใต้มีผู้รักษาต่อมาคือหลวงเจ้าก่ำ พระคง และอุปฮาดจันทา[128]
พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานะของหัวเมืองเหล่านี้โดยละเอียด นัยว่าแม้เมืองเหล่านี้จะตั้งขึ้นใหม่ในสมัยสถาปนาราชอาณาจักรหรือบางเมืองเคยเป็นชุมชนหมู่บ้านขนาดเล็กหรือขนาดย่อมมาก่อน ทว่าการส่งเจ้านายขุนนางจากนครจำปาศักดิ์ออกไปปกครองแล้วยกสถานะให้ขึ้นเป็นเมืองโดยเฉพาะก็เพื่อประสงค์จะให้เป็นหัวเมืองขึ้นรักษาเขตแดนของจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นกรุงเอกราชดังนี้ "...ในอำเภอซึ่งเจ้าสร้อยศรีสมุทได้ตั้งแต่งให้มีผู้ไปรักษาปกครองอยู่ดังกล่าวมาแล้วนี้นั้นดูเหมือนจะให้เปนอย่างเมืองออกกลาย ๆ ถ้าผู้ใหญ่ซึ่งรักษาในตำบลเหล่านั้นล่วงลับไปแล้วทางเมืองปาศักดิก็มักจะตั้งแต่งให้บุตรหลานของผู้ล่วงลับไปนั้นปกครองเปนใหญ่ในตำบลนั้น ๆ สืบเชื้อวงษ์เนื่องกันต่อ ๆ มา แลตำบลเหล่านั้นก็มักจะปรากฎนามโดยประชุมชนสมมตเรียกกันว่าเมืองนั้นเมืองนี้ดังเมืองมั่น (สาลวัน) เปนต้นมาแต่เดิม เพราะฉนั้นจะถือว่าตำบลเหล่านั้นได้สมญาตั้งขึ้นเปนเมืองมาแต่เวลานั้นก็จะได้เพราะเมืองกาละจำบากนาคบุรีศรีในสมัยนั้นก็เปนเอกราชโดยความอิศรภาพอยู่ส่วนหนึ่งสมควรที่จะมีเมืองขึ้นเมืองออกได้อยู่แล้ว แต่หากยังมิได้ตั้งแต่งตำแหน่งกรมการรอง ๆ ขึ้นให้เปนระเบียบดังเมืองเดี๋ยวนี้เท่านั้นแลทั้งอาไศรยความที่มิได้มีปรากฎว่าในตำบลเหล่านั้นได้เปนอิศรภาพแห่งตน ฤๅตกอยู่ในอำนาจความปกครองของประเทศใดนอกจากอยู่ในอำนาจของเมืองนครจำบากด้วย แลกำหนดเขตรแขวงเมืองนครจำปาศักดิในเวลานั้นมีว่าทิศเหนือตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวาย หลักทอดยอดยาง ทิศตวันออกถึงแนวภูเขาบันทัดต่อแดนญวน ทิศใต้เวลานั้นยังไม่ปรากฎ ทิศตวันตกต่อเขตรแขวงเมืองพิมายฟากลำน้ำกยุง บ้านเมืองก็อยู่เย็นเปนศุขเรียบร้อยมา..."[129] สุรศักดิ์ ศรีสำอาง ให้ความเห็นว่าเมืองเหล่านี้สามารถบ่งบอกอาณาเขตแต่ละด้านของราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ได้ ๕ ทิศทางคือ พ.ศ. ๒๒๕๖ หลังสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรเสวยราชย์แล้วพระองค์ส่งขุนนางไปปกครองบ้านเมืองในแต่ละเขตนครรัฐ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับเขตเมืองนครหรือเมืองละคอนภายใต้การปกครองของนครเวียงจันทน์มี ๖ เมือง ๑ หมู่บ้านคือ พระจันทรสุริยวงศ์รักษาบ้านโพนสิม เมืองตะโปนหรือเซโปน เมืองพิณ และเมืองนอง หลวงเอกรักษา (นายมั่น) ข้าหลวงเดิมของนางแพงรักษาบ้านโพนภายหลังเป็นเมืองมั่นหรือเมืองสาละวัน ซาบุตรโคตร (นายพรหม) รักษาบ้านแก้วอาเฮิมภายหลังเรียกเมืองคำทองหลวงปัจจุบันอยู่ในเขตแขวงสาละวัน ด้านทิศใต้ติดต่อเขตกรุงกัมพูชามี ๓ เมืองคือ จารหวดรักษาบ้านดอนโขงภายหลังเรียกเมืองโขงหรือสีทันดรหรือสี่พันดอน พระไชเชษฐ (ท้าวสุด) รักษาบ้านหางโคปากน้ำเซกองภายหลังเรียกเมืองเชียงแตงหรือสตึงแตรง พ.ศ. ๒๒๖๓ จึงให้เจ้าโพธิสารพระราชโอรสไปเป็นเจ้าเมืองศรีจำบังใต้ฝั่งลำน้ำเซลำเภา ด้านทิศตะวันออกติดต่อเขตแดนเวียดนาม (กวางนำ-ดานัง) มี ๑ เมืองคือ จารโสมรักษาบ้านทุ่งอิ๊ดกระบือบริเวณเมืองโสกเมืองซุงร้างภายหลังเป็นเมืองอัดตะปือ ด้านทิศตะวันตกติดต่อเขตแดนกรุงศรีอยุธยา (เมืองนคราชสีมา) มี ๒ เมืองคือ จารแก้วไปรักษาบ้านท่งภายหลังยกเป็นเมืองสุวรรณภูมิ และนักขุนเฒ่า (ท้าวหลวง) รักษาเมืองโขงเจียงหรือโขงเจียม[130]
สาเหตุของการขึ้นเป็นกษัตริย์และสถาปนาราชวงศ์ใหม่
[แก้]สาเหตุที่เจ้าหน่อกษัตริย์หรือเจ้าสร้อยศรีสมุทรเลือกละทิ้งนครเวียงจันทน์ของพระราชบิดาและพระราชเชษฐามาสถาปนาตนเป็นสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรปฐมกษัตริย์แห่งจำปาศักดิ์ พร้อมกับสถาปนาราชวงศ์ใหม่แยกออกต่างหากจากเวียงจันทน์แล้วประกาศเอกราชต่อเวียงจันทน์และมหาอำนาจที่ตั้งอยู่รายรอบนั้นมีข้อสันนิษฐานดังต่อไปนี้
๑. สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรไม่ใช่พระราชโอรสองค์โตของกษัตริย์เวียงจันทน์และมีโอกาสที่จะไม่ใช่พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสีจึงมีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์รองลงไปจากพระราชเชษฐา แม้พระองค์จะพยายามอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ภายหลังการสวรรคตของเจ้าองค์หล่อแต่เนื่องจากราชบัลลังก์ได้ถูกแย่งชิงไปทั้งจากพระยาจันหรือพระยาเมืองแสนในสมัยก่อนหน้า จากพระยานครหรือเจ้านันทราช (น่าน) และจากพระไชยองค์เว้ภายหลังการสวรรคตของเจ้าองค์หล่อ ทำให้อุปสรรคในการครองราชสมบัติเวียงจันทน์ของพระองค์เพิ่มความยุ่งยากมากขึ้นเนื่องจากมีศัตรูอย่างน้อย ๓ กลุ่มอำนาจคอยขัดขวางอยู่
๒. แม้พระองค์จะทำศึกกับเวียงจันทน์ในรัชกาลเจ้านันทราชและพยายามยกกำลังจากหัวเมืองทางตอนใต้ เช่น เมืองโขง เป็นต้น ขึ้นมาประชิดเวียงจันทน์โดยตั้งขัดแข็งอยู่ที่เวียงคุกและซายฟองในรัชกาลพระไชยองค์เว้เป็นเวลา ๔ ปีติดต่อกัน รวมจำนวนรบอย่างน้อย ๒-๓ ระลอกเพื่อแย่งชิงราชสมบัติเวียงจันทน์แต่ก็ไม่สามารถชนะศึกได้จนกระทั่งถูกตีแตกลงไปตั้งอยู่ที่ภูสะง้อหอคำในปีที่ ๔ นับแต่นำกำลังขึ้นมาจากเมืองโขง ความไม่ประสบผลสำเร็จทางการสงครามและการทหารอยู่บ่อยครั้งอาจเป็นสาเหตุให้พระองค์ละความพยายามในการขึ้นครองราชย์เวียงจันทน์ลงได้
๓. กษัตริย์เวียงจันทน์ในลำดับถัดมาจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชพระราชบิดาหรือพระราชอัยกา (ตา) ของพระองค์ซึ่งนอกจากเจ้าองค์หล่อแล้วล้วนเป็นพระญาติที่ไม่มีความใกล้ชิดทางสายพระโลหิตและต่างมีฐานอำนาจหรือกำลังไพร่พลมาจากสถานที่ต่าง ๆ เช่น เจ้านันทราชมีฐานอำนาจมาจากเมืองนคร (นครพนม) หัวเมืองสำคัญของลาวตอนกลาง พระไชยองค์เว้มีฐานอำนาจมาจากเวียดนามรัฐชายทะเลที่สำคัญทางด้านตะวันออกของลาว เป็นต้น อาจเป็นสาเหตุให้พระองค์ไม่ต้องการร่วมสังฆกรรมแล้วแยกตัวออกไปสถาปนาราชวงศ์ขึ้นใหม่เพื่อรักษาเกียรติและไม่ให้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำเหล่านั้น
๔. ศัตรูสำคัญของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรคือพระไชยองค์เว้มีฐานอำนาจอยู่ที่เวียดนาม เนื่องจากทรงประทับลี้ภัยอยู่ตั้งแต่ทรงพระเยาว์พระองค์จึงมีสถานะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือญาติสนิทของกษัตริย์เว้ ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรอาจเล็งเห็นว่าเวียดนามคงไม่สนับสนุนฐานอำนาจของตนจึงแสวงหาฐานอำนาจใหม่ไปที่กัมพูชาซึ่งตั้งประชิดกับกลุ่มสมัครพรรคพวกของพระครูโพนเสม็ดที่พร้อมให้การสนับสนุนพระองค์อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเลือกสถาปนาจำปาศักดิ์เป็นราชธานีที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับกัมพูชาทางตอนเหนือ การถวายเครื่องมงคลราชบรรณาการ การอภิเษกกับพระราชธิดาเขมรและส่งพระราชโอรสไปปกครองเขตแดนบางส่วนของกัมพูชาทางตอนเหนือในภายหลังการครองราชย์ อาจมีนัยว่าพระองค์คงเตรียมแผนการสร้างฐานอำนาจในบริเวณนี้ไว้ก่อนแล้ว
๕. ฐานอำนาจสำคัญของพระองค์ถูกสถาปนาขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มพระครูโพนเสม็ดซึ่งตั้งกระจายอยู่ในหัวเมืองทางตอนใต้และมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้ปกครองเดิมของจำปาศักดิ์ หัวเมืองเหล่านี้เป็นนครรัฐอิสระที่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ จึงมีความอ่อนแอด้านกำลังทหาร ทั้งยังตั้งอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจที่เวียงจันทน์พอสมควร เมื่อพระองค์ไม่สามารถแย่งชิงราชสมบัติเวียงจันทน์ได้จึงคิดรวบรวมหัวเมืองทางตอนใต้ให้เป็นปึกแผ่นแล้วประกาศเอกราชจากเวียงจันทน์แทนการทำศึกเพื่อแย่งชิงราชสมบัติของพระราชบิดาและพระราชเชษฐาคืนมา
๖. นับตั้งแต่พระองค์เริ่มการสงครามกับเวียงจันทน์และสถาปนาจำปาศักดิ์มาจนสวรรคต ตลอดรัชกาลนั้นนอกจากกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นเผ่าต่าง ๆ ในกลุ่มตระกูลภาษามอญ-ขแมร์และชาวลาวบางส่วนแล้วพระองค์ไม่เคยมีพันธมิตรที่เป็นมหาอำนาจอื่นเลยนอกจากกัมพูชา ดังนั้นการไม่มีพันธมิตรที่เป็นมหาอำนาจอย่างเวียดนามและอยุธยาจึงไม่เอื้อต่อกองกำลังของพระองค์ในการแย่งชิงราชสมบัติเวียงจันทน์กลับคืนได้
๗. การเดินทางลงไปบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญในลำดับแรกของอาณาจักรล้านช้างจากกลุ่มพระครูโพนเสม็ดอาจมีเบื้องหลังทางการเมืองแอบแฝงอยู่ โดยเป็นการเรียกศรัทธาหรือความนิยมชมชอบต่อตัวสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจากบรรดาประชาชนเผ่าต่าง ๆ ทางตอนใต้ตั้งแต่ตอนใต้เมืองนครพนมลงไปจนถึงพนมเป็ญเพื่อปูทางอำนาจให้แก่พระองค์ ดังนั้นจะเห็นว่าหลังสถาปนาราชอาณาจักรจำปาศักดิ์แล้วเขตแดนของจำปาศักดิ์ทางทิศเหนือจึงถูกแบ่งกับเวียงจันทน์ที่บริเวณตอนใต้ของธาตุพนม ทั้งยังไม่พบว่าประชาชนเผ่าต่าง ๆ ในพื้นที่ได้เกิดการต่อต้านหรือสร้างอุปสรรคทางการปกครองต่อกลุ่มจันทสุริยวงศ์ที่พระองค์ส่งขึ้นมารักษาบ้านเมืองแถบนี้ด้วย
๘. บทบาทของพระครูโพนเสม็ดอาจไม่เพียงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการเกลี้ยกล่อมสมัครพรรคพวกไพร่พลทางตอนใต้เพื่อเข้าร่วมสนับสนุนกองกำลังของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรในการแย่งชิงราชสมบัติเวียงจันทน์ แต่ในทางตรงกันข้ามนั้นพระครูมีสถานะเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่มีหลักคำสอนเรื่องห้ามการเบียดเบียนชีวิตและอภัยทานชีวิต วิธีคิดในโลกทัศน์แบบชาวพุทธและการดำรงตนในรูปแบบสมณะของพระครูโพนเสม็ดอาจมีอิทธิพลต่อแนวทางการทำศึกของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร โดยพระครูอาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการระงับความขัดแย้งและการเสียเลือดเนื้อของบรรดาราชวงศ์ด้วยการเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรยุติสงครามกับเวียงจันทน์แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์อีกแคว้นหนึ่งขึ้นโดยเฉพาะ ดังนั้นหลังจากสถาปนาราชอาณาจักรจำปาศักดิ์จึงไม่ปรากฏว่าพระองค์ได้เสด็จขึ้นไปก่อกวนเวียงจันทน์อีกเลยตราบจนสวรรคต
๙. พื้นที่ตามลำแม่น้ำโขงตั้งแต่ล้านช้างตอนกลางลงไปถึงตอนใต้เป็นเส้นทางบรรจบและติดต่อการค้าที่สำคัญระหว่างตอนใต้ของเวียดนาม ตอนเหนือของกัมพูชา และด้านตะวันออกของอยุธยา ทั้งเป็นพื้นที่ที่ชาวยุโรปต้องเดินทางผ่านเข้ามาถึงก่อนและติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าก่อนเวียงจันทน์ พื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น ทองคำและแร่ธาตุในกลุ่มเมืองอัตปือและสาละวัน เกลือและข้าวในกลุ่มเมืองท่ง ช้างและสัตว์ป่าในกลุ่มเมืองสีคอรเตาและเมืองเจียม ทรัพยากรสัตว์น้ำจากลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาในจำปาศักดิ์และเมืองโขง เป็นต้น อาจทำให้พระองค์หันเหความสนใจด้านการเป็นมหาอำนาจทางการทหารเพื่อครอบครองเวียงจันทน์ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจทางตอนกลางของล้านช้าง ไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโดยการครอบครองพื้นที่ทางตอนใต้แทนเพราะเอื้อต่อผลประโยชน์ด้านการเก็บส่วยและการค้าที่จะได้รับไม่แพ้กัน
นามเมืองนครจำปาศักดิ์ก่อนและหลังการสถาปนาเป็นราชธานี
[แก้]ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีระบุนามเมืองก่อนรัชกาลท้าวคัชนามถึงหลังรัชกาลพระยากำมะทาเรียกว่าเมืองจำปานคร รัชกาลพระเจ้านครกาลจำปากนาคบุรีศรีถึงรัชกาลนางแพงเรียกว่านครกาลจำปากนาคบุรีศรี หลังสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรสถาปนาเป็นราชธานีแล้วเปลี่ยนเป็นนครจำปาบาศักดิ์นาคบุรีศรี[131]
พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ระบุนามเมืองหลังรัชกาลผู้ครองเมืองที่เป็นหัวหน้าลาวชาวเมืองเหนือไม่ปรากฏพระนามถึงรัชกาลนางแพงว่าพระนครกาลจำบากนาคบุรี, นครกาลจำบากนาคบุรีศรี หลังสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรสถาปนาเป็นราชธานีแล้วเปลี่ยนเป็นนครจำปาศักดิ์นาคบุรีศรี[132]
เสด็จสวรรคต
[แก้]สวรรคตและการพระศพ
[แก้]พ.ศ. ๒๒๘๐ (จ.ศ. ๑๐๙๙) ปีมะเส็ง นพศก สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรประชวรด้วยโรคชราจึงให้หาตัวเจ้านายท้าวพระยามาพร้อมกันแล้วมอบราชสมบัติบ้านเมืองแก่เจ้าไชยกุมารผู้บุตร พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุเท่าใดไม่ปรากฎรวมครองราชสมบัตินาน ๒๕ ปี เสนาบดีทั้งปวงจึงอัญเชิญเจ้าไชยกุมารขึ้นครองราชสมบัติเมืองนครจำปาบาศักดิ์และถวายพระนามว่าพระเจ้าองค์หลวง (สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมมาร, ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๘๐-๒๓๓๔) พระเจ้าองค์หลวงทรงแต่งตั้งเจ้าธรรมเทโวอนุชาเป็นมหาอุปราช ตั้งเจ้าสุริโยเป็นราชวงศ์ แล้วสั่งให้ท้าวพระยาเกณฑ์ไพร่มาสร้างเมรุเพื่อปลงพระศพสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรขึ้นที่ข้างวังชักศพเข้าสู่เมรุพร้อมทำบุญให้ทาน[133] ครั้นพระเจ้าองค์หลวงและเจ้านายท้าวพระยาเผาศพเสร็จแล้วจึงเกณฑ์ไพร่พลก่อพระเจดีย์ขึ้นที่ตำบลสร้างเมรุบรรจุอัฐิของพระองค์ไว้ในพระเจดีย์ปรากฏมาจนทุกวันนี้[134] ส่วนพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุต่างไปเล็กน้อยว่าเมื่อพระองค์ทรงประชวรใน พ.ศ. ๒๒๖๘ (จ.ศ. ๑๐๘๗) จึงโปรดให้เจ้าไชยกุมารผู้บุตรว่าราชการบ้านเมืองแทน ส่วนพระองค์ได้ออกไปจำศีลอยู่ ณ สถานที่ใดไม่ปรากฏ ครั้น ๗ ปีต่อมา พ.ศ. ๒๒๗๕ (จ.ศ. ๑๐๙๔) เจ้าองค์หล่อพระราชเชษฐาซึ่งหนีไปตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนที่เมืองญวนมีกำลังมากขึ้น จึงยกมาจับพระยาเมืองแสนฆ่าแล้วขึ้นเสวยราชย์เมืองศรีสัตนาคนหุตโดยยังไม่พบหลักฐานว่าสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรสนับสนุนกองกำลังของพระเชษฐาเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์เวียงจันทน์คืนอย่างไรบ้าง จะสังเกตว่าเจ้าองค์หล่อเสวยราชย์หลังพระอนุชานานถึง ๑๙ ปีและสาเหตุที่เวียงจันทน์ในรัชกาลเจ้าองค์หล่อไม่ยกลงมารบกวนจำปาศักดิ์คงเนื่องจากกษัตริย์ทั้ง ๒ เมืองมาจากราชวงศ์เดียวกันและเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ๕ ปีต่อมาใน พ.ศ. ๒๒๘๐ (จ.ศ. ๑๐๙๙) ระหว่างรัชกาลสมเด็จพระบรมราชธิราชที่ ๓ (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจึงพิราลัยรวมพระชนม์ได้ ๕๐ พรรษา ประชวรยาวนานถึง ๑๒ พรรษาตั้งแต่พระชนม์ได้ ๓๘ พรรษา ฝ่ายเจ้าไชยกุมารผู้บุตรได้ครองเมืองสืบต่อโดยตั้งให้เจ้าธรรมเทโวผู้น้องเป็นเจ้าอุปราช แล้วเปลี่ยนธรรมเนียมเก็บส่วยชายฉกรรจ์ที่มีภรรยาแล้วเป็นไหมหนักคนละ ๑ บาท[135] เช่นเดียวกับพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ซึ่งระบุต่างไปเพียงเล็กน้อยว่า พ.ศ. ๒๒๖๘ (จ.ศ. ๑๐๘๗) ปีมะเส็ง สัปตศก ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรป่วยลงนั้นจารแก้วเจ้าเมืองทงถึงแก่กรรมท้าวมืดผู้บุตรจึงได้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อ พระองค์โปรดให้เจ้าไชยกุมารว่าราชการเมืองแทนแล้วออกจำศีลอยู่ พ.ศ. ๒๒๗๕ (จ.ศ. ๑๐๙๔) ปีชวด จัตวาศก เจ้าองค์หล่อโอรสของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตผู้เป็นเชษฐาซึ่งหนีไปอยู่เมืองญวนตั้งแต่ครั้งพระยาเมืองแสนชิงราชสมบัติกรุงศรีสัตนาคนหุตได้ไปตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนมาเป็นกำลังมากขึ้น แล้วยกมากรุงศรีสัตนาคนหุตจับพระยาเมืองแสนฆ่าเสียจากนั้นขึ้นครองเมืองศรีสัตนาคนหุต พ.ศ. ๒๒๘๐ (จ.ศ. ๑๐๙๙) ปีมะเส็ง นพศก สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรถึงแก่พิราลัยเมื่ออายุได้ ๕๐ ปี ครองเมืองได้ ๒๕ ปี เสนาแสนท้าวพระยาจึงอภิเษกเจ้าไชยกุมารโอรสขึ้นครองราชสมบัตินครจำปาศักดินัคบุรีศรีมีนามปรากฎโดยสามัญชนเรียกว่าพระพุทธเจ้าองค์หลวง แล้วโปรดให้เจ้าธรรมเทโวผู้น้องเป็นเจ้าอุปราช พระองค์ได้เปลี่ยนธรรมเนียมเก็บส่วยเป็นไหมหนักคนละ ๑ บาทแก่ชายฉกรรจ์ที่มีภรรยาแล้วทุกคนส่วนข้าวเปลือกนั้นคงเก็บตามเดิม[136]
มเหสักข์แห่งเมืองอุบลราชธานี
[แก้]ภายหลังพระปทุมวรราชสุริยวงศ์หรือท้าวคำผง (ครองเมือง พ.ศ. ๒๓๓๕-๓๘) แบ่งพื้นที่บางส่วนของราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ในอดีตออกมาสถาปนาเมืองอุบลราชธานีขึ้น ได้อัญเชิญดวงวิญญาณของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรมาเป็นมเหสักข์ (เมฆเมือง) รักษาเมืองโดยเรียกพระนามว่าเจ้าสร้อยสินสมุทรพุทธางกูรหรือเจ้าหอคำหรือเสด็จเจ้าหอคำ พระองค์มีสถานะเป็นเครือญาติของเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานีเนื่องจากเป็นพระอัยกา (ปู่) ของจ้านางตุ่ยภริยาของพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) สถานที่ประทับดวงวิญญาณนั้นตั้งอยู่บริเวณต้นมะขามทางทิศตะวันออกวัดกลางเมืองอุบลราชธานีซึ่งเรียกว่าหอคำ เป็นหอกว้างราว ๒ เมตร ยาว ๕ เมตร มุงกระเบื้องไม้คาดผ้าแดงมีนางเทียมประทับทรงสืบทอดกันมาไม่ขาดสายถึงปัจจุบันอย่างน้อย ๖ คน ได้แก่ นางสังกา (บุตรีของพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง)) นางปุย (หลาน) นางคำ (เหลน) นางอบ (เหลน) นายบำเพ็ญ ณ อุบล (อดีตอัยการขั้นฎีกาเขต ๔ ขอนแก่น ปัจจุบันถึงแก่กรรม) เป็นต้น ชาวเมืองจะประกอบพิธีกรรมเลี้ยงหอหรือไหว้ผีมเหสักข์ปีละ ๑ ครั้งในระหว่างวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ จนสิ้นเดือน ๗ ซึ่งตรงกับฮีตเดือน ๗ หรือบุญซำฮะไหว้ผีบรรพบุรุษของลาว โดยจัดพาขวัญสูง ๙ ชั้นประกอบเครื่องสังเวยหัวหมู ๑ หัวพร้อมเท้าและหาง ไก่ต้ม ๑ ตัว มะพร้าวอ่อน ๑ ลูก กล้วยสุก ๑ หวี อาหารคาวหวาน ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ ดอกไม้ธูปเทียน ตอนเช้าราว ๘.๐๐ น. จะอัญเชิญมเหสักข์มาเสวยอาหารบรรเลงดนตรีขับกล่อมลำทำนองสีทันดรเลียบโขง จากนั้นนางเทียมอัญเชิญมเหสักข์เข้าเทียมโดยสังเกตได้จากอาการตัวสั่นเสร็จแล้วทำพิธีขอขมามเหสักข์ทุกองค์เมื่อเริ่มบรรเลงดนตรีจะมีการฟ้อนรำรับขวัญหรือบายศรีสู่ขวัญเสร็จแล้วผูกผ้าที่ข้อมือ ตอนบ่ายราว ๑๔.๐๐ น. ทำพิธีอัญเชิญมเหสักข์ฟ้อนเบิกดาบถ้าดาบหันออกนอกบ้านถือว่าเบิกออกต้องนำกระทงบัดพลีไปลอยน้ำหากดาบเบิกไม่ออกต้องฟ้อนไปจนกว่าจะออกเสร็จแล้วทุกคนลุกขึ้นฟ้อนรำด้วยความครึกครื้น ราว ๑๖.๐๐ น. มเหสักข์จะเสด็จขึ้นฝ่ายนางเทียมทุกคนจะหยุดฟ้อนเป็นอันเสร็จพิธี
เอกสารอ้างอิง
[แก้]- ↑ เป็นพระนามเต็มที่ระบุในหมู่ราชวงศ์จำปาศักดิ์, ดูรายละเอียดใน ศิริกาญจน์ ดุจจานุทัศน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และนนทลี พรธาดาวิทย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร., ราชวงศ์จำปาศักดิ์ ประวัติศาสตร์ในราชสำนัก, (กรุงเทพฯ : โครงการสนันสนุนการผลิตและเผยแพร่หนังสือตำราเรียนโดยศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีบริษัท, ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น จำกัด, ๒๕๕๓), หน้า คำนำ.
- ↑ พระนามในภาษาอังกฤษคือ H.M. Somdetch Brhat Chao Jaya Sri Samudra Buddhangkura (Soi Si Samout Phouthong Koun), King of Champa Nagapurisiri (Nakhon Champa Nakhaburisi) (สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (ส้อยสีสมุดพุทธางกูน) กษัตริย์แห่งจัมปานาคบุรีศรี (นครจำปานาคบุรีสี)), ครองราชย์ ค.ศ. ๑๗๑๓-๓๘, Buyers, Christopher, (๒๐๐๐ (๒๕๔๓)). "CHAMPASAKTI, The Khun Lo Dynasty, Genealogy", The Royal Ark : Royal and Ruling Houses of Africa, Asia, Oceania and the Americas (Laos brief history) [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.royalark.net/Laos/champasa.htm [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ ขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ), พระยา, พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) : พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒, จัดพิมพ์โดยพระจรูญชวนะพัฒน์, (ม.ป.ท. : โรงพิมพ์ศรีหงส์, ๒๔๗๒), หน้า ๖-๗.
- ↑ อาณาจักรจำปาศักดิ์หรือแคว้นจำปาศักดิ์นี้ต่อมาเรียกว่าลาวใต้, กรมยุทธศึกษาทหารบก (เรียบเรียง), การปกครองแคว้นลาวและแคว้นเขมรของฝรั่งเศส, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (พระนคร : โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก, ๒๔๘๔), หน้า ๑๑.
- ↑ ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ และคณะ, โครงการสารคดี ลาวตอนล่าง "สะหวันนะเขต สาละวัน เซกอง จำปาสัก และอัตตะปือ : ห้าแขวงลาวตอนล่าง" : เอกสารวิชาการชุด "โครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค" ลำดับที่ ๙, (กรุงเทพฯ : โครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค (อบศ ๕), ๒๕๔๕), หน้า ๑๓๖.
- ↑ เข้าใจว่าเจ้าหน่อกษัตริย์หรือสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรทรงเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระครูวัดโพนเสม็ด, ธรรมราชานุวัตร (แก้ว อุทุมมาลา), พระ (รวบรวมและเรียบเรียง), อุรังคนิทาน : ตำนานพระธาตุพนม (พิศดาร), บันทึกท้ายเล่มต่อโดยธรรมชีวะ (สม สุมโน, ดร.พระมหา), พิมพ์ครั้งที่ ๑๐, (กรุงเทพฯ : นีลนาราการพิมพ์, ๒๕๓๗), หน้า ๑๓๕.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ ดูรายละเอียดใน Padijon, A., Diplome'de Sorbonne-Nouvelle, (Paris : Chronologies de l'Histoire du peuple lao, ๒๐๐๑), ๓๐๐ p..
- ↑ พ.ศ. ๒๒๓๗ พระนางได้อพยพลงไปทางใต้สันนิษฐานว่าชั้นต้นอยู่ในเขตเมืองเซโปนเนื่องจากเจ้าเทียนธาราราชบุตรเขยของพระเจ้าสุริยวงศาได้ขึ้นครองราชย์แทน, หน่วยผสม ๓๓๓, ๗๐๐ ปีแห่งมรสุมในพระราชอาณาจักรลาว, (ม.ป.ท. : คณะกรรมการป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์, ม.ป.ป.), หน้า ๒๓, ๓๖.
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา, พงศาวดารล้านช้าง : คณะข้าราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ ร่วมฉันทกัน พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ ปริก วิเศษภักดี มารดาหลวงรัตนสมบัติ วันที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๓, (พระนคร : โรงพิมพ์ธรรมพิทยาคาร, ๒๔๗๓), หน้า ๓๖-๓๗.
- ↑ คำเพา พอนแก้ว, พระราชครูโพนสะเม็ก (ยาคูขี้หอม) อัสริยบุคคลสองฝั่งของ จัดพิมพ์โดยสมาคมส่งเสริมการศึกษา-วัฒนธรรม เมืองโขง, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (เวียงจันทน์ : สีสะหวาด, ๒๐๑๕ (๒๕๕๘)), หน้า ๑๒.
- ↑ ประวิทย์ สายสงวนวงศ์, "การขยายอิทธิพลและการสนับสนุนตั้งเมืองของสยามใน "พื้นที่อีสาน" ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ (Siam’s expansion of influence and policy on city establishment in "Isanarea" at the beginning of the 24th Buddhist century)", วารสารประวัติศาสตร์ ๒๕๖๓ (Journal of History 2020). ไม่ปรากฏปี ไม่ปรากฏฉบับที่ (พฤษภาคม ๒๕๖๓) : ๕. (ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์เรื่องพัฒนาการของการตื่นตัวทางการเมืองของชาวอีสาน พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๔๘๙ หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
- ↑ ประภัสสร์ ชูวิเชียร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร., ศิลปะลาว : ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๗), หน้า ๒๙.
- ↑ คำเพา พอนแก้ว, ประวัติศาสตร์ลาวโดยย่อ : A Lao History in Brief ค้นคว้าและเรียบเรียงโดยคำเพา พอนแก้ว เนื่องในโอกาสงานเฉลิมฉลองวันสร้างตั้งเมืองเวียงจันทน์เป็นนครหลวงของอาณาจักรลาวล้านช้างครบรอบ ๔๕๐ ปี (๑๕๖๐-๒๐๑๐) บทสอนปี ๑๙๙๗ ที่สถาบันการเมืองและการปกครอง, ปรับปรุงใหม่ครั้งที่ ๓, (เวียงจันทน์ : สีสะหวาด, ๒๐๑๔ (๒๕๕๗)), หน้า ๑๐๔.
- ↑ ฟุ้งเกียรติ มหิพันธุ์, ประวัติศาสตร์การตั้งเมืองกาฬสินธุ์ (ประวัติสร้างเมืองกาฬสินธุ์ : Kalasin History), (กาฬสินธุ์ : สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, ๒๕๖๓), หน้า ๑. อ้างใน คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุวัฒนธรรม, พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดกาฬสินธุ์, (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๔๒), หน้า ๕๕.
- ↑ ประวัติศาสตร์เมืองนครจำปาศักดิ์ยุคโบราณเริ่มถูกรับรู้เป็นสาธารณะโดยเอกสารชั้นรองเรื่องประวัติศาสตร์อีสานของเติม วิภาคย์พจนกิจ โดยได้เค้าเรื่องมาจากบันทึกรับสั่งของเจ้ายุติธรรมธรหรือเจ้าราชดนัย (หยุย ณ จำปาศักดิ์) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ จากสำเนาประวัติเมืองนครจำปาศักดิ์ที่แต่งโดยพญาเมืองขวา (สมบูรณ์) จากพงศาวดารภาคภาษาไทยทั่วไปที่กล่าวถึงเมืองนี้ และจากบันทึกของอำมาตย์ตรี พระวิภาคย์พจนกิจ (หนูเล็ก สิงหัษฐิต) ผู้เป็นบิดา เฉพาะเค้าเรื่องที่มาจากบันทึกรับสั่งของเจ้ายุติธรรมธร (เรียกตามพื้นเมืองนิยมว่าเจ้ายั่งขหม่อมเจ้าองค์ครองเมืองฯ) นั้นเกิดจากการทูลถามเมื่อครั้งเติมมีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระองค์ในตอนเย็นของทุก ๆ วันพร้อมกับพระญาติที่หอโฮงการ พระองค์เล่าเรื่องเกี่ยวกับเมืองนครจำปาศักดิ์และหัวเมืองใกล้เคียงในอดีตและปัจจุบันให้ฟังเสมอด้วยความรอบรู้และรับสั่งว่า "...พงศาวดารเมืองนครจำปาศักดิ์นั้นได้สูญหายแต่ครั้งบ้านเมืองเป็นจลาจลมาหลายครั้ง ที่มีอยู่บ้างเวลานี้ก็เป็นจดหมายเหตุได้มาจากวัดเก่า ๆ บ้าง เป็นตัวอักษรไทยน้อย (คือหนังสือลาวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) เป็นเนื้อความโบราณเล่าต่อ ๆ กันมา..." พ.ศ. ๒๕๐๓ ทางการสั่งให้เติมร่วมเป็นอนุกรรมการค้นหลักฐานเกี่ยวกับเขาพระวิหารที่จังหวัดศรีสระเกษ อุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงบังเอิญพบสำเนาประวัติศาสตร์เมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งเจ้ายุติธรรมธรสมัยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครจำปาศักดิ์ของสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ รับสั่งให้พญาเมืองขวา (สมบูรณ์) ค้นหนังสือหลักฐานเก่าเกี่ยวกับเมืองนครจำปาศักดิ์เท่าที่ได้มาแต่งถวาย, เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๖), หน้า ๓๑-๓๒.
- ↑ หลังรัชกาลของพระองค์เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในราชสำนักเวียงจันทน์ทำให้ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ภายในราชอาณาจักรล้านช้างแบ่งแยกการปกครองเป็น ๓ ราชสำนักตามหัวเมืองใหญ่คือ เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ ผู้ปกครองทั้ง ๓ มีสถานะเป็นพระมหากษัตริย์ตามรูปแบบการปกครองรัฐจารีต แม้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นราชวงศ์เดียวกันแต่มีอิสระทางการเมืองการปกครองต่อกัน, ธีระวัฒน์ แสนคำ, "ปากเหือง : การแบ่งเขตแดนปกครองในแผ่นดินล้านช้างกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เมืองปากเหือง-เชียงคาน", มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ปริทัศน์. ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๙) : ๒๐-๒๑.
- ↑ คนเก่าแก่ทางอำเภอผือและอำเภอท่าบ่อเรียกว่าท่านพระครูโพนเสมิตร์ซึ่งไม่ทราบความหมาย เดิมเป็นคนบ้านกลึมเมืองพานอาจหมายถึงบ้านกะลึมและบ้านเมืองพาน อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี, เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, หน้า ๓๔.
- ↑ ภูสะง้อหอคำ (ภูซ่อง่อห่อคำ, ภูซ่อง้อห่อคำ, ซะง้อหอคำ) ตั้งอยู่ฟากเวียงจันทน์ฝั่งขวาลงไปทางใต้ เรียกชื่อตามสถานที่ที่เจ้านางสุมังคลาสร้างหอคำหรือหอโฮงที่ประทับสำหรับพระองค์จนประสูติกาลเจ้าหน่อกษัตริย์ต่อมาเรียกว่าภูหอภูโฮง ปัจจุบันเรียกว่าบ้านหอคำเดิมเรียกว่าบ้านสะง้อหอคำและบ้านหอคำนครซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นวัดและหอโฮงได้ถูกทำลายไปเมื่อสร้างโรงเรียนอดุลย์เทพประชาปัจจุบันคือโรงเรียนหอคำพิทยาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ ม.๑๓ บ.หอคำเหนือ ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ, Sanya Thongsai, ลำล่องประวัติลาวเวียงจันทน์บ้านหอคำ (ประวัติลาวเวียงจันทน์ บ้านหอคำ ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ), [วีดีโอคลิป], วัดป่าเทพวิมุต บ้านหอคำ ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ, ๒๐๒๒ (๒๕๖๕).
- ↑ บุนมี เทบสีเมือง, มหา, ประวัติความเป็นมาของชนชาติลาว เล่ม ๒ : อาณาจักรลาวล้านช้างตอนต้น, แปลโดยไผท ภูธา, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด, ๒๕๕๖), หน้า ๓๕๒.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖]., ในพงศาวดารเมืองล้านช้างของพระยาประมวญวิชาพูลระบุว่าหลังการสวรรคตของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช พ.ศ. ๒๒๕๔ ปีเถาะ ตรีศก พระยาเมืองจันทร์หรือพระยาเมืองแสนเสนาบดีผู้ใหญ่เห็นเจ้ากิงกิศราชและเจ้าอินทโสมยังเยาว์จึงชิงราชสมบัติเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทน์แล้วยกเจ้านางสุมังเป็นมเหสี เอกสารยังเห็นว่าเจ้าองค์หล่อหรือพระชัยองค์เวียดเป็นโอรสเจ้าชมพูไม่ใช่โอรสพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช พระองค์ขอกองทัพญวนจากพระเจ้าเวียดนามยกลงมาตีเวียงจันทน์แล้วจับเจ้านันทราชสำเร็จโทษขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าล้านช้างร่มขาวพระนามว่าพระเจ้าชัยเชษฐาธิราชที่ ๒ ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจลำดับสับสนกันกับพระราชประวัติของพระไชยองค์เว้ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๕๐-๗๓) พระราชบิดาของพระเจ้าสิริบุญสาน (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๙๔-๒๓๒๒), ประมวญวิชาพูล, พระยา, พงศาวดารเมืองล้านช้าง และลำดับสกุลสิทธิสาริบุตร ราชตระกูลล้านช้าง เวียงจันทน์ : นางนนทปัญญา (สงวน มกรานนท์) พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพคุณหญิงชลปทานธนารักษ์ (พอน โหตรภวานนท์) ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ณเมรุวัดไตรมิตต์วิทยาราม, (พระนคร : ม.ป.พ., ๒๔๘๔), หน้า ๓๒-๓๓.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ มหาบุนมี เทบสีเมือง นักค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ สปป.ลาว เห็นว่าคือเมืองพานภูชน (พานภูซน) ตั้งอยู่ตีนภูพานทางทิศเหนือบริเวณเขตต่อแดนอุดรธานี สกลนคร และกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน, บุนมี เทบสีเมือง, มหา, ประวัติความเป็นมาของชนชาติลาว เล่ม ๒ : อาณาจักรลาวล้านช้างตอนต้น, หน้า ๓๕๐, ๓๕๒.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ บางข้อมูลในหลักฐานชั้นรองระบุว่าจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วมงคลมีพี่ชายชื่อเจ้าไชยมงคล ทั้ง ๒ เป็นโอรสเจ้าศรีวรวิชัยเป็นราชนัดดาเจ้าศรีวรมงคล (เจ้าวรวังโส) กษัตริย์เวียงจันทน์ใน พ.ศ. ๒๑๑๗ หมายถึงพระเจ้าศรีวรวงษาธิราชหรือพระมหาอุปราชศรีวรวงษา (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๑๘-๒๓) พระราชอนุชาในสมเด็จพระเจ้าไชยเสฏฐามหาราชหรือสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๔), สุวรรณบุรีศรีคณาจารย์ (ฝั้น ติสฺสวํโส), พระหลักคำ และคณะ, ประวัติศาสตร์พระเจ้าไชยเสฏฐามหาราช เจ้ามหาชีวิตอาณาจักรล้านนา-ล้านช้าง : คณะศิษยานุศิษย์อดีตสมเด็จพระสังฆราชลาว (บุญทัน ธมฺมยานะมหาเถระ) พิมพ์ช่วยเป็นธรรมทานในพิธีพระราชทานเพลิงศพพระเทพวรสิทธาจารย์ (ธมฺมทินฺนมหาเถระ ดวงคำ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ณ เมรุชั่วคราววัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๓, (กรุงเทพฯ : หจก. จงเจริญการพิมพ์, ๒๕๓๓), หน้า ๖๘-๖๙.
- ↑ ขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ), พระยา, พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) : พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๓-๕.
- ↑ เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์ลาว เอกสารทางวิชาการหมายเลข ๑/๒๕๓๐ (สิงหาคม ๒๕๓๐), (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ๒๕๐๙, ๒๕๓๐), หน้า ๓๘.
- ↑ คุรุสภา, "พงศาวดารล้านช้าง", ใน ประชุมพงศาวดารเล่ม ๒ (ประชุมพงศาวดารภาค ๑ ตอนปลาย และภาค ๒), (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, ๒๕๐๖), หน้า ๑๗๓.
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา, พงศาวดารล้านช้าง : คณะข้าราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ ร่วมฉันทกัน พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ ปริก วิเศษภักดี มารดาหลวงรัตนสมบัติ วันที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๓, หน้า ๓๖-๓๗.
- ↑ การอพยพผู้คนหนีจากศูนย์อำนาจเดิมเพื่อหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ต้องพยายามให้ไกลและไม่เกี่ยวข้องกับศูนย์อำนาจเดิมเนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้, ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ, การสัมมนาวิชาการประจำปี ๒๕๔๘ เรื่องสู่สังคมสมานฉันท์ กลุ่มที่ ๑ ความสมานฉันท์บนความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ "ลาว" ในทัศนะของไทย "Lao from the Thai Point of View", (ชลบุรี : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมจัดโดยมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ๒๕๔๘), หน้า ๑๑.
- ↑ ศรีสุนทรโวหาร, พระ, พรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (หน่อคำ), เจ้า และราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์, เจ้า, (๑๘๖๑ (๒๔๐๔)). "ตำนานเมืองจำปาศักดิ์ ฉะบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%95%E0% [๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ พระแสนนี้มีรูปพรรณเป็นฝีมือช่างลาวโบราณประหลาด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัววังหน้าในรัชกาลที่ ๔ สืบทราบพระราชประสงค์ จึงเสด็จลงมากราบทูลขอให้มีท้องตราให้ข้าหลวงขึ้นไปอาราธนาลงมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครเมื่อปีมะแมนักษัตร เอกศก พ.ศ. ๒๔๐๒ (จ.ศ. ๑๒๒๑, ค.ศ. ๑๘๕๙) แล้วพระราชทานไปให้พระบวรราชวังตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้สร้างแท่นประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดหงส์รัตนารามคลองบางกอกใหญ่จนทุกวันนี้, เรื่องเดียวกัน.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ ครั้นสร้างพระเจดีย์ใกล้สำเร็จได้มีหญิงชราชาวเขมรคนหนึ่งชื่อเป็นลงไปอาบน้ำในลำน้ำใหญ่ แล้วเห็นพระบรมธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุไหลมาบนหลังน้ำมีรัศมีงามโอภาสน่าประหลาดจึงนำขันน้ำมารองรับไปถวายพระครูโพนเสม็ด พระครูเห็นว่าเป็นพระบรมธาตุจริงจึงขอบิณฑบาตแล้วอัญเชิญไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์โดยเห็นว่าภาษาเขมรเรียกภูเขานั้นว่าพนมจึงนำชื่อยายเป็นมาประกอบกันเข้าแล้วให้ชื่อว่าพระเจดีย์พนมเป็น ภายหลังเจ้ากรุงกำพุชาธิบดียกจากเมืองประทายเพ็ชรลงไปสร้างเมืองขึ้นที่ตำบลนั้นให้เป็นเมืองหลวงจึงเรียกนามเมืองว่าพนมเป็นสืบมา, มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ ขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ), พระยา, พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) : พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๕-๖.
- ↑ คัมภีร์ใบลานเรื่อง พื้นธาตุพนม (ธาตุพนม (พื้น)). วัดใหม่สุวัณณภูมาราม บ.ป่าขาม นครหลวงพระบาง (ม.หลวงพระบาง) ข.หลวงพระบาง. หนังสือใบลาน ๑ ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๓ (คัดลอก). โครงการปกปักรักษาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) PLMP ๐๖๐๑๑๔๑๓๐๒๒_๐๗. ๔๐ ใบ ๓๖ หน้า. หมวดตำนานพุทธศาสนา. ผูก ๑ ใบ ๑๗ หน้า ๓๓-๓๔, ใบ ๔ หน้า ๑๗ (เอกสารสลับหน้า). และราชบัณฑิตยสภา, ตำนานพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม : พระพนมนครานุรักษ์มีความเลื่อมใสพิมพ์ไว้เพื่ออุททิศส่วนประโยชน์ที่ควรจะได้จากหนังสือนี้ สำหรับบำรุงการพระศาสนาในจังหวัดนครพนม จำนวน ๓๐๐๐ เล่ม พ.ศ. ๒๔๗๔, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์, ๒๔๗๔), หน้า ๑๙-๒๑.
- ↑ คัมภีร์ใบลานเรื่อง บั้งจุ้ม (ตำนานเมือง, ตำนานเมืองเก่า). วัดโพนกอก บ.ปากกะยุง ม.ทุละคม ข.เวียงจันทน์. หนังสือใบลาน ๑ ผูก. อักษรธรรมลาว (เฉพาะหน้า ๓๕ อักษรธรรมลาว-ลาวเดิม). ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีวอก จ.ศ. ๑๒๘๒. โครงการปกปักรักษาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) PLMP ๑๐๐๒๐๑๑๔๐๐๔_๐๒. ๒๑ ใบ ๔๒ หน้า. หมวดตำนานเมือง. ผูก ๑ ใบ ๑ หน้า ๑-๒, ใบ ๒ หน้า ๓-๔.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ โชติกุล สิงห์ทา และคณะ, ประวัติศาสตร์ศิลปะที่ต้องจารึก : รวมบทความวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการรองศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์, วารุณี โอสถารมย์ และคณะ (บรรณาธิการ), (กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐), หน้า ๖๖.
- ↑ เอกสารชั้นรองบางแห่งระบุชื่อเมืองเป็นนครจามปาศักดิ์ก็มี, ธิดา สาระยา, เมืองอุบล : ธานีแห่งราชะ ศรีสง่าแห่งไพรพฤกษ์, (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๓๖), หน้า ๑๓๒.
- ↑ ศรีสุนทรโวหาร, พระ, พรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (หน่อคำ), เจ้า และราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์, เจ้า, (๑๘๖๑ (๒๔๐๔)). "ตำนานเมืองจำปาศักดิ์ ฉะบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%95%E0% [๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) ระบุว่าเจ้าสร้อยศรีสมุทรมีบุตรชาย ๓ คนชื่อเจ้าไชยกุมาร ๑ เจ้าธรรมเทโว ๑ เจ้าสุริโย ๑, อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ ศรีสุนทรโวหาร, พระ, พรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (หน่อคำ), เจ้า และราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์, เจ้า, (๑๘๖๑ (๒๔๐๔)). "ตำนานเมืองจำปาศักดิ์ ฉะบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%95%E0% [๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ หลังปฏิรูปการปกครองสยาม พ.ศ. ๒๔๔๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตำแหน่งเจ้านายฝ่ายปกครองของนครจำปาศักดิ์นอกเหนือจากเจ้าองค์ครองนครที่เคยดำรงตำแหน่งเจ้าราชดนัยหรือเจ้ายุติธรรมธรนครจัมปาศักดิ์รักษาประชาธิบดีเจ้านครจัมปาศักดิ์แล้ว พบว่ามีอย่างน้อยอีก ๗ ตำแหน่งคือเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ เจ้าราชบุตร เจ้าศรีสุราช เจ้าราชสัมพันธวงษ์ เจ้าประชากรเกษม พระอุไทยวงษา เป็นต้น, ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยา, "ทำเนียบหัวเมือง ตอนที่ ๒ ลำดับตำแหน่ง : มณฑลลาวกาว", ใน ทำเนียบหัวเมือง ป. ๗๓๙ เอกสารรายชื่อเมืองในพระราชอาณาจักรสยาม พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, คัดลอกสำเนาโดย สมชาย เดือนเพ็ญ และพิมพ์สำเนาโดย นิพัทธพงศ์ พุมมา, (ม.ป.ท. : ห้องสมุดดำรงราชานุภาพ วังวรดิศ, ๒๕๖๑), หน้า ๗๖.
- ↑ บางตำนานว่าเจ้าคำปางเมืองหนองบัวลุ่มภู, เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, หน้า ๓๒.
- ↑ บ้างว่าพญาคำหยาดและพญาสองฮาชเสนาบดี, เรื่องเดียวกัน, หน้า เดียวกัน.
- ↑ เติม วิภาคย์พจนกิจ ระบุว่า "...เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรเมื่อได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์แล้วก็ระลึกถึงอุปการะคุณของท่านพระครูโพนสะเม็กที่มีแก่ชาติศาสนาบ้านเมืองและพระองค์เอง เปรียบเสมือนพ่อเลี้ยงผู้มีบุญคุณสูงและเป็นผู้ทรงคุณธรรมภูมิธรรมสูงเป็นที่เคารพของมหาชนอย่างยิ่งสมควรที่พระองค์จะยกย่องให้เป็นมหาพฤฒาจารย์ให้ปรากฎแก่แผ่นดินสิ้นกาลนาน จึงได้ทรงทำพิธีเถราภิเษกถวายนามยกขึ้นเป็นพระมหาราชครูว่าท่านเจ้าราชครูหลวงดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะอันสูงสุดทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตแห่งแคว้นนครจำปาศักดิ์...", เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์ลาว เอกสารทางวิชาการหมายเลข ๑/๒๕๓๐ (สิงหาคม ๒๕๓๐), หน้า ๕๒.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ระบุว่านครจำปาศักดิ์อยู่ในมณฑลลาวกาว ก่อน พ.ศ. ๒๑๘๑ (จ.ศ. ๑๐๐๐) พื้นที่นี้เป็นทำเลป่าดงที่อยู่อาศัยของคนป่าซึ่งสืบเชื้อสายจากขอมต่อมาเรียกว่าพวกข่า ส่วย และกวย ปัจจุบันนี้ยังมีอยู่ในฝั่งโขงตะวันออก เมื่อชนชาติไทย (หมายถึงลาว) ซึ่งอยู่ประเทศข้างเหนือมีเมืองศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันท์) เป็นต้นได้แตกฉานซ่านเซ็นลงมาตั้งเคหสถานด้วยอิสรภาพของตนเป็นหมวดหมู่แน่นหนามั่นคงขึ้น ประชุมชนจึงสมมติยกย่องผู้เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าของตนขึ้นเป็นกษัตริย์เอกเทศสืบมาจนถึงกษัตริย์องค์หนึ่งทรงสร้างเมืองขึ้นที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตกตรงกับเมืองที่พระเจ้ากรรมทา (พระยากำมะทา) สร้างไว้ที่เชิงเขาคือตำบลบ้านกระตึบเมืองกลางเดี๋ยวนี้ แล้วขนานนามเมืองว่าพระนครกาละจำบากนาคบุรีศรีเป็นทางพระราชไมตรีกับเจ้าเขมรกรุงกัมพูชา พระองค์มีพระราชโอรสองค์หนึ่งครั้นเจริญวัยพระราชบิดาก็ถึงแก่พิราลัย ฝ่ายท้าวพระยาเสนาพฤฒามาตย์ได้อัญเชิญราชกุมารขึ้นครองเมืองแทนพระราชบิดาแล้วถวายพระนามว่าเจ้าสุทัศนราชา พระองค์ปกครองเมืองด้วยความสุขสงบเรียบร้อยจน พ.ศ. ๒๑๘๑ (จ.ศ. ๑๐๐๐) ปีขาล สัมฤทธิศก จึงพิราลัยโดยไม่มีเชื้อวงศ์สืบราชตระกูลครองเมือง ประชุมชนจึงยกชายผู้มีตระกูลคนหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าบัญชาการเด็ดขาดในอาณาเขตนครกาละจำบากนาคบุรีศรีโดยเรียบร้อยตลอดมา ๖ ปีก็ถึงแก่กรรม นางแพงผู้บุตรและนางเภาผู้หลานจึงเป็นผู้อำนวยการบ้านเมืองสืบต่อ, อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาในลาวใต้ประกอบด้วยชาติพันธุ์ลาวหรือลาวลุ่ม (Lao Lao or Lum) ส่วย (Xuay) ตำปวนหรือดำปวน (Tom Puan or Dombuan) ซุก (Sruk) กะแวต (Khvet) บราว (Brao) ระแด (Rade) โบโลเวน (Boloven) สกหรือโสก (Sok) ยะเหิน (Nhaheun) แงะ (Gnac) ตะโอ้ย (Ta-Oy) จะราย (Charai) เวียดนาม (Vietnamese ) จีน (Chinese ) ไทย (Thai) เป็นต้น, พิมพ์ปฏิมา นเรศศิริกุลม ดร., "ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสังคมลาวตอนใต้ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘-๑๙", The 7 th National Conference Nakhonratchasima College : NMCCON 2020. ไม่ปรากฏปี ไม่ปรากฏฉบับ (พฤษภาคม ๒๕๖๓) : ๑๒, ๑๖-๑๘.
- ↑ บ้างว่าบ้านกระตึ๊บเมืองกลางหรือบ้านส่างโอคือน้ำบ่อขันพระนอนทุกวันนี้, เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, หน้า ๓๒.
- ↑ เจริญ ไวรวัจนกุล, วัฒนธรรมอินโดจีน, (สุรินทร์ : อาศรมภูมิปัญญา สถาบันราชภัฏสุรินทร์, รุ่งธนเกียรติออฟเซ็ท, ๒๕๔๔) หน้า ๒๘.
- ↑ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายวิจิตร สาระโสภณ ณ เมรุวัดแจ้ง จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๗, (อุบลราชธานี : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๒๗), หน้า ๓.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เอกสารชั้นรองบางแห่งเขียนว่าเมืองจัมปาศักดิ์นครบุรีศรี, สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร (รวบรวมและเรียบเรียง), ห้องสมุด (ชุด ๒), (กรุงเทพฯ : ผ่านฟ้าพิทยา, ๒๕๓๗), หน้า ๗๒๘.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ ขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ), พระยา, พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) : พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๖-๗.
- ↑ ธวัช ปุณโณทก (เรียบเรียง), "พงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์", ใน มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม ๘ : ประจันตประเทศธานี, พระยา - พงศาวดารเมืองสกลนคร, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒), หน้า ๒๘๕๑.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน. และอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖]. และกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี, ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่มที่ ๙ : คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙, (กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒), หน้า ๒๒๙.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ ดาวสยาม วชิรปัญโญ, พระมหา, พระพุทธศาสนาในลาว, (เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, ๒๕๔๕), หน้า ๕๑.
- ↑ บ้างว่าวัดธาตุเจ้าหัวคูขี้หอม, วัดบวรนิเวศวิหาร, "ธรรมเนียบสมณศักดิ์ของชาวเมืองเวียงจันทน์โบราณ", ภาษิตอีสาน ธรรมเนียบสมณศักดิ์ของชาวเมืองเวียงจันทน์โบราณ : วัดบวรนิเวศวิหารพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูวิสุทธิธรรมภาณ (เปลี่ยน ฐิติงฺกโร) ณ เมรุวัดสุวรรณาวาส จังหวัดมหาสารคาม ๒๐ เมษายน ๒๕๑๘, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร, ๒๔๘๔), หน้า ๔๐.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ คัมภีร์ใบลานเรื่อง พื้นธาตุพนม (ธาตุพนม (พื้น)). วัดใหม่สุวัณณภูมาราม บ.ป่าขาม นครหลวงพระบาง (ม.หลวงพระบาง) ข.หลวงพระบาง. ผูก ๑ ใบ ๑๗ หน้า ๓๓-๓๔, ใบ ๔ หน้า ๑๗ (เอกสารสลับหน้า).
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา, ตำนานพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม : พระพนมนครานุรักษ์มีความเลื่อมใสพิมพ์ไว้เพื่ออุททิศส่วนประโยชน์ที่ควรจะได้จากหนังสือนี้ สำหรับบำรุงการพระศาสนาในจังหวัดนครพนม จำนวน ๓๐๐๐ เล่ม พ.ศ. ๒๔๗๔, หน้า ๑๙-๒๑.
- ↑ ลาวเรียกว่าพระแก้วน้ำหยาดดังปรากฏในคำขวัญเมืองวาปีว่า "...เมืองวาปีดินแดนอู่เข้าอู่ปลา หอยหอมรสซาติลือซา ถิ่นบูซาพระแก้วน้ำหยาด เที่ยวซมตาดแก้งกุปากเส็ด...", vapi talk (นามแฝง), ประวัติศาสตร์เมืองวาปี, กำเนิดเมืองวาปี สปป.ลาว : ประวัติศาสตร์เมืองวาปี ภาคที่ ๑ เมืองวาปีสมัยบูฮาณ, [วีดีโอคลิป], เมืองวาปี แขวงสาละวัน, ๒๐๒๑ (๒๕๖๔).
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ ศรีสุนทรโวหาร, พระ, พรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (หน่อคำ), เจ้า และราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์, เจ้า, (๑๘๖๑ (๒๔๐๔)). "ตำนานเมืองจำปาศักดิ์ ฉะบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%95%E0% [๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ ยุพิน เข็มมุกด์, เอกสารรวมบทความประกอบรายวิชาไทยศึกษา, (เชียงใหม่ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏเชียงใหม, ๒๕๓๗), หน้า ๑๙๔.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เจริญ ไวรวัจนกุล, ตำนานคชศาสตร์ฉบับหมู่บ้านช้าง, (สุรินทร์ : รุ่งธนเกียรติออฟเซ็ท, ๒๕๓๙), หน้า ๓๙.
- ↑ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, เมืองร้อยเอ็ด, ณัฏฐภัทร จันทวิช และสุรศักดิ์ ศรีสำอาง (บรรณาธิการ), (ขอนแก่น : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ๒๕๔๘), หน้า ๕๕.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ, "พลังลาว" ชาวอีสานมาจากไหน ?, (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๙), หน้า ๔๐๕.
- ↑ ขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ), พระยา, พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) : พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๗.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ กิแก้ว อุดม, มหา, พงศาวดารเมืองโขง, (เวียงจันทน์ : โรงพิมพ์รัฐบาลที่เวียงจันทน์, ๑๙๓๘ (๒๔๘๑)), หน้า ๓-๔. (อัดสำเนา) (พิมพ์เนื่องในโอกาสปลงศพนางพวงแก้ว อะรุโนไท ภริยาของท่านคำแสน อะไพ เจ้าเมืองโขงคนที่ ๑๐ ในการปกครองของฝรั่งเศส)
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ ขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ), พระยา, พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) : พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๗.
- ↑ จารย์แก้วหรือพระเจ้าแก้วมงคลมีชายาชื่อพระนางวิมาลา มีโอรส ๓ องค์ องค์หนึ่งชื่อเจ้าหน่อคำได้เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน จารย์แก้วเป็นโอรสของพระเจ้าศรีวิชัย เป็นนัดดาของพระเจ้าศรีวรมงคล และเป็นปนัดดาของพระเจ้าศรีวรวงษาธิราชพระราชโอรสของพระเจ้าโพธิศาลราชกษัตริย์ล้านช้างหลวงพระบางองค์ที่ ๑๗ รวมปกครองเมืองท่งนาน ๑๒ ปี, พันคำทอง สุวรรณธาดา (เรียบเรียง), สุวรรณภูมิราชบุรินทร์ : ที่ระลึกการจัดงาน ๑๒๔ ปี เมืองพยัคฆภูมิพิสัย ๘-๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐, (ม.ป.ท. : ม.ป.พ., ๒๕๖๐), หน้า ๓๙-๔๐. (อัดสำเนา)
- ↑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด, เจ้าเมืองร้อยเอ็ด "ได้เป็นนายแล้วให้หลิงดูพวกไพร่แน่เดอ ไพร่บ่ย่องสีหน้าบ่เฮืองได้แล้ว" : เอกสารประกอบนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทยประจำปี ๒๕๕๕ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด, (ร้อยเอ็ด : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด, ๒๕๕๕), หน้า ๑.
- ↑ คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอํานวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดร้อยเอ็ด, (กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๒), หน้า ๔๗.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ หลักฐานจากโตเกียวและตะวันตกระบุนามท้าวมืดว่าท้าวบุตรหรือท้าวมุด, ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ วิทยาลัยครูสุรินทร์, วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล : กรณี เขมร ลาว ส่วย สุรินทร์, (กรุงเทพฯ : สารมวลชน, ๒๕๓๓), หน้า ๖๐.
- ↑ ขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ), พระยา, พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) : พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๗-๘.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายวิจิตร สาระโสภณ ณ เมรุวัดแจ้ง จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๗, หน้า ๔.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ บริหารเทพธานี (เฉลิม), พระ, ประวัติชาติไทย : ความเป็นมาของชาติไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เล่ม ๑, (พระนคร : ประจักษ์วิทยา, ๒๕๑๑ (๒๔๓๑-๒๕๑๓), หน้า ๒๐๒.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ สิลา วีระวงส์, มหา (เรียบเรียง), ประวัติศาสตร์ลาว, แปลโดยสมหมาย เปรมจิตต์, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๐), หน้า ๑๖๔.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ ขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ), พระยา, พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) : พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๗.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายวิจิตร สาระโสภณ ณ เมรุวัดแจ้ง จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๗, หน้า ๔.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ สุนทร สืบแก้ว และคณะ, ที่ระลึก ๕๐ ปี อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี, (ม.ป.ท. : คณะกรรมการจัดงานฉลองครบรอบ ๕๐ ปี อำเภอศรีเมืองใหม่, คณะทำงาน (คณะจัดทำหนังสือที่ระลึก), ๒๕๕๐), หน้า ๒.
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, ลำดับกษัตริย์ลาว : เอกสารทางวิชาการ สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๕), หน้า ๓๓๓-๓๓๔.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ โกวิท โพธิสาร, "ชนชั้นสูง ความตาย และการถวายอาลัยในแผ่นดินอุษาคเนย์", Way Magazine : สนับสนุนโดยสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.-SHI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). ไม่ปรากฏปี ไม่ปรากฏฉบับที่ (๑๐ ตุลาคม ๒๐๑๘ (๒๕๖๑)) : ๑. อ้างใน สุจิตต์ วงษ์เทศ และคณะ, เสด็จสู่แดนสรวง : ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ, (กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมิวเซียมสยาม, ๒๕๖๐), หน้า ๓๐๕.
- ↑ มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา, (ม.ป.ป.). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%8 [๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐)). "พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) (ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง)", ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%8%A3) [๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖].
- ↑ อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (๒๔๕๘). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง : ภาคที่ ๑", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) : คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9 [๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖].
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก | เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ (พ.ศ. 2256 - พ.ศ. 2280) |
สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร |