คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University | |
สถาปนา | 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2508[1] |
---|---|
สังกัดการศึกษา | มหาวิทยาลัยมหิดล |
คณบดี | ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อาทิตย์ อังกานนท์ |
ที่อยู่ | 270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 |
สี | สีเขียวรามา[2] |
เว็บไซต์ | www |
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2508 โดยได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ทั้งในด้านทุนทรัพย์และบุคลากร และยังมีผู้เชี่ยวชาญไทยที่ผ่านการฝึกอบรมจากประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรอีกจำนวนหนึ่งด้วย[3]
ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รับนักศึกษาเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี (เป็นนักศึกษาแพทย์ประมาณ 180 คน นักศึกษาพยาบาลอีก 150 คน นักศึกษาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย 30 คน และนักศึกษาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ 30 คนต่อปี) ระดับหลังปริญญาในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาขาที่เกี่ยวข้องมีโครงการปริญญาเอก โครงการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ และสาขาย่อยเฉพาะทาง รวมทั้งการวิจัยด้วย
เป้าหมายของคณะฯ คือการผลิตบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่าง ๆ พยาบาล และบุคลากรอื่นทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้การดูแลรักษาแบบองค์รวม การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและสามารถทำงานในชุมชนได้
ประวัติ
[แก้]- พ.ศ. 2507 รัฐบาลได้วางนโยบายหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติระยะที่ 2 ให้ผลิตแพทย์และพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะปรับอัตราส่วน ระหว่างแพทย์ กับจำนวนประชากร ให้อยู่ในระดับใกล้เคียง กับอัตราส่วน ของประเทศอื่น จึงได้อนุมัติให้จัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) โดยใช้ที่ดินราชพัสดุทุ่งพญาไท บริเวณหน้ากรมทางหลวงแผ่นดิน และได้อนุมัติให้จัดตั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี ขึ้นพร้อมกัน
- พ.ศ. 2508 มีพระราชกฤษฎีกา ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี" และรับนศพ. รุ่นแรกที่คณะวิทยาศาสตร์ ในเดือนมิถุนายน
- พ.ศ. 2512 วันที่ 3 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลรามาธิบดี และเปิดรับผู้ป่วยอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 พฤษภาคม
- พ.ศ. 2552 ครบรอบ 40 ปี รามาธิบดี โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้จัดงาน "การประชุมวิชาการ 4 ทศวรรษ รามาธิบดี : จากนวัตกรรมสู่เวชปฏิบัติ" ที่ อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงเปิดงาน
- พ.ศ. 2552 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์หลอดเลือดหัวใจและ เมตบอลิซึม ณ อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ และทรงเปิดอาคารศูนย์อุบัติเหตุและเวชศาสตร์ฉุกเฉินสมบูรณ์แบบ
- พ.ศ. 2553 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ซอยสุขาภิบาล 119 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 291-1-63 ไร่ ซึ่งคณะรัฐบาลได้อนุมัติดำเนินการโครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553 วงเงินรวมกว่า 6,000 ล้านบาท
ทำเนียบคณบดี
[แก้]ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล | ||
---|---|---|
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อารี วัลยะเสวี | พ.ศ. 2512 - พ.ศ. 2521 | |
2. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ รจิต บุรี | พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2525 | |
3. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ทวี บุญโชติ | พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2529 | |
4. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์ อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ | พ.ศ. 2529 - พ.ศ. 2538 | |
5. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ | พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2541 | |
6. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประกิต วาทีสาธกกิจ | พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2548 | |
7. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน | พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2554 | |
8. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ วินิต พัวประดิษฐ์ | พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2558 | |
9. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา | พ.ศ. 2558 - 2566 | |
9. ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อาทิตย์ อังกานนท์ | พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน |
ภาควิชาและหน่วยงาน
[แก้]ภาควิชา
[แก้]- ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
- ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
- ภาควิชาอายุรศาสตร์
- ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
- ภาควิชาจักษุวิทยา
- ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
- ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
- ภาควิชาพยาธิวิทยา
- ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
- ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
- ภาควิชาระบาดวิทยา
- ภาควิชารังสีวิทยา
- ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
- ภาควิชาศัลยศาสตร์
- ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
- ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์การสื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย
- โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี
หน่วยงานและศูนย์ต่างๆ
[แก้]- งานบริการวิชาการ
- สำนักงานศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน
- หน่วยงานแพทยศาสตรศึกษา
- ศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม หรือ Cardiovascular and Metabolism center ( CVMC )
- ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการจัดนิทรรศการทางการแพทย์ ( MCPC )
- ศูนย์รังสีศัลยกรรม ( Radiosurgery Center )
- ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค AIMC)
- ศูนย์พิษวิทยา
- คลินิกวัยรุ่นรามาธิบดี
- พรีเมี่ยมคลินิก ( Premium clinic )
- ศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง ( Ramathibodi Laser Center)
- ศูนย์วินิจฉัยเต้านม
- ศูนย์สลายนิ่ว
การศึกษา
[แก้]คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2508 เป็นคณะแพทยศาสตร์ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย มี ศาสตราจารย์นายแพทย์ อารี วัลยะเสวี เป็นคณบดีท่านแรก โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างรากฐานความรู้ทางการแพทย์และการพยาบาล (Knowledge - based medicine and care) เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและวิจัย ลักษณะพิเศษของรามาธิบดี คือมีการผลิตบัณฑิตทั้งสาขาแพทยศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ในคณะเดียวกัน ทำให้สามารถประสานการเรียนการสอน การบริการควบคู่กัน ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม อันยังประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนและการบริการให้เป็นไปอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ
รามาธิบดี เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย ที่นักศึกษาแพทย์ต้องเรียนวิชาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (ปรีคลินิก) ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลทำให้นักศึกษามีแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและการวิจัย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นนักวิจัย และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อได้มีการสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จึงจัดตั้งโรงเรียนแพทย์รามาธิบดีขึ้น และได้ทำการย้ายการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตระดับปรีคลินิก มาอยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี ตั้งแต่พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ปัจจุบัน รามาธิบดีผลิตนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต พยาบาลศาสตรบัณฑิต วิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย วิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ บัณฑิตศึกษาสาขาวิชาต่าง ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางและแพทย์เฉพาะอนุสาขาต่างๆ รวมหลักสูตรระดับปริญญาตรี บัณฑิตศึกษา ที่มีหน่วยกิตจำนวน 16 หลักสูตร หลักสูตรอื่นๆ อีก 92 หลักสูตร
โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้นได้รับการยอมรับจากนานาชาติในเรื่องเทคโนโลยีและวิชาการในสาขากุมารเวชศาสตร์,จักษุวิทยา,ระบบต่อมไร้ท่อ และออร์โธปิดิคส์เป็นพิเศษ นอกจากนี้โรงพยาบาลรามาธิบดียังมีเครื่องมือที่ทันสมัยระดับโลกแห่งเดียวในประเทศไทยเช่น มีดไซเบอร์ (Cyberknife) และ เครื่องสแกน 320 สไลซ์
หลักสูตร
[แก้]ภารกิจหลักที่สำคัญประการหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คือ การผลิตบัณฑิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีหลักสูตรในระดับปริญญาตรี โท และเอก ดังนี้
ระดับปริญญาตรี[4] | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
---|---|---|
|
|
|
หมายเหตุ
- นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรระดับอนุปริญญา ประกาศนียบัตร ประกาศนียบัตรชั้นสูงหลังปริญญาเอก การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง และการอบรมระยะสั้นสาขาต่างๆ อีกด้วย
- หลักสูตรปรัญชาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาล (หลักสูตรนานาชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ) เป็นโครงการร่วมระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในอเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย โดยนักศึกษาต้องไปทำวิจัยมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่เลือกเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและแพทยศาสตรบัณฑิต (โครงการทุนมหิดลวิทยาจารย์) เป็นโครงการผลิตอาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และ สัตวแพทย์นักวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อพัฒนาการแพทย์ของประเทศไทย โดยมีการคัดเลือกนักศึกษาผู้จบการศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่มีผลการเรียนดีและมีศักยภาพ แยกไปศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาเอก แล้วจึงกลับมาเรียนต่อชั้นคลินิกที่คณะต้นสังกัดจนสำเร็จการศึกษา
โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์
[แก้]โครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชียคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
[แก้]รายละเอียดของโครงการ
[แก้]1. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระราม 6 รองรับการให้บริการทางการแพทย์ การศึกษาและการวิจัย มาเป็นเวลากว่า 40 ปี โดยที่คณะแพทยศาสตร์ฯ มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาตามพันธกิจต่าง ๆ แต่มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น มีจำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นมากแต่สถานที่คับแคบ ทรัพยากรการเรียนรู้ในด้านสถานที่เรียน สถานที่ปฏิบัติการทางคลินิก หอพักนักศึกษา และพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เพียงพอ รวมทั้งจำเป็นต้องพิจารณาหาโรงพยาบาลฝึกอบรมที่มีลักษณะผู้ป่วยในระดับปฐม ภูมิและทุติยภูมิสำหรับการเรียนการสอน
2. จากการที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีโอกาสจัดหน่วยแพทย์เคลื่อน ที่ในโครงการพระดาบสสัญจรของมูลนิธิพระดาบส และโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรของสำนักราชเลขาธิการ ที่จังหวัดสมุทรปราการ พบว่าจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นเขตชุมชน อุตสาหกรรมและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ทำให้มีประชาชนหนาแน่น มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย ระบบบริการสาธารณสุขมีแต่โรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่มีศูนย์บริการทางการแพทย์ระดับ Excellence Center หรือระดับคณะแพทยศาสตร์ที่จะช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ในด้านการศึกษา วิจัยและบริการทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ฯ จึงได้เสนอโครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย เพื่อพัฒนาวงการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย อันจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและเขตรอบนอก ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร รวมถึงประชาชนใน 7 จังหวัดภาคตะวันออก โดยโครงการนี้เชื่อมโยงกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระราม 6 ซึ่งเน้นในด้านการศึกษาของแพทย์และบุคลากรในระดับหลังปริญญา และการบริการผู้ป่วยซับซ้อนให้มีการพัฒนาอย่างบูรณาการ
3. โครงการฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ซอยสุขาภิบาล 119 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 291-1-63 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
3.1 เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ฯ มีสถานที่เพียงพอในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย และนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถเพิ่มผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ
3.2 เพื่อดำเนินการสร้างโรงพยาบาล ขนาด 400 เตียง สำหรับให้บริการสุขภาพและสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน เพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิอย่างบูรณาการ ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูและป้องกันโรค โดยเน้นการศึกษาและวิจัยด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ฟื้นฟู อาชีวอนามัย ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย
3.3 เพื่อเป็นต้นแบบการรักษาที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมุ่งการตั้งเครือข่าย การเรียนรู้และบริการวิชาการให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลอำเภอของภาครัฐ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน และขยายการจัดการความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคตะวันออก ของประเทศเพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนไทย
3.4 เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และศูนย์บริการวิชาการ สำหรับประชาชนทั่วไป โดยแบ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษา/วิจัย ศูนย์การแพทย์และเครือข่ายบริการทางการแพทย์ และอุทยานการเรียนรู้และความเป็นอยู่ชุมชนต้นแบบ
4. ระยะเวลาดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 5 ปี (พ.ศ. 2554 — 2558)
นามพระราชทาน
[แก้]คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ดำเนินโครงการ พัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย หรือโครงการรามาธิบดี-บางพลี เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ ปี และได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์สถาบันการแพทย์แห่งใหม่ โดยทางคณะฯได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ ในวันพุธ ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. และในวันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อสถาบันการแพทย์แห่งใหม่นี้ว่า “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” (เป็นพระนามที่ต่อจากรามาธิบดี โดยมีพระนามเต็มดังนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร) และชื่อภาษาอังกฤษว่า “CHAKRI NARUEBODINDRA MEDICAL INSTITUTE” อีกทั้งทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎภายในมีอุณาโลม ประดิษฐานที่อาคารสถาบันการแพทย์แห่งใหม่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งต่อคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
[แก้]โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย | จังหวัด | สังกัด |
---|---|---|
โรงพยาบาลรามาธิบดี | กรุงเทพมหานคร | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล |
โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ | สมุทรปราการ | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล |
สถาบันร่วมผลิตแพทย์ | จังหวัด | สังกัด |
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา | จังหวัดนครราชสีมา | กระทรวงสาธารณสุข |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. 2508" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 3 สิงหาคม 2508.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "ตราสัญลักษณ์ (Logo) | มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี". www.rama.mahidol.ac.th. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2567.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "แนะนำคณะฯ | มหาวิทยาลัยมหิดล". www.rama.mahidol.ac.th.
- ↑ "การศึกษาระดับปริญญาตรี | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลการศึกษา". www.rama.mahidol.ac.th.