ข้ามไปเนื้อหา

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
มหาวิทยาลัยมหิดล
College of Sports Science and Technology,
Mahidol University
สถาปนาพ.ศ. 2532 (ก่อตั้ง)
6 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 (สถาปนา)
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล
คณบดียุทธนา อุดมพร
ที่อยู่
999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 7317
สี   สีเขียว-ม่วง
เว็บไซต์ss.mahidol.ac.th

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และเวชศาสตร์การกีฬา แห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา และยังเป็นศูนย์บริการกีฬาเพื่อสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป

ประวัติ

[แก้]
อาคารสิริมงคล นอกจากจะเป็นอาคารหลักของวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของสระว่ายน้ำประจำมหาวิทยาลัยด้วย

มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีพื้นฐานมาจากวิชาการแพทย์และสาธารณสุข ได้ตระหนักถึงภาระความรับผิดชอบในการเสริมสร้างสุขภาพของปวงชน โดยเน้นการป้องกันเป็นหลักสำคัญ การเยียวยารักษาเป็นรอง การออกกำลังกายและการกีฬาเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งถูกนำมาใช้ในการป้องกันมิให้ประชาชนมีพยาธิสภาพ และช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายมนุษย์

ในปี พ.ศ. 2530 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสมรรถภาพทางกายขึ้น เป็นหน่วยงานในสังกัด บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเป้าหมายให้เป็น วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ในอนาคต

จากนั้นจึงได้ริเริ่มที่จะสร้างอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและสระว่าน้ำขึ้นภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ผลิตผู้นำทางด้านการศึกษาวิจัยและบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสนองตอบนโยบายของชาติ และตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการสนับสนุนกีฬาของชาติในทุกๆ ด้าน และในปีพุทธศักราช 2530 เช่นเตียวกัน ได้เสนอขออนุมัติจัดตั้ง โรงเรียนกีฬาเวชศาสตร์ ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในสังกัด ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อจัดการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) จนบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ ในปีพุทธศักราช 2537

พ.ศ. 2538 โครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาได้รับอนุมัติผ่านสภามหาวิทยาลัยให้เป็นวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา

และปี พ.ศ. 2539 โครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็น " วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา" มีฐานะเทียบเท่าคณะในมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 [1] ได้รับโอนโรงเรียนกีฬาเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เข้ามาไว้ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต ยกร่างหลักสูตรระดับปริญญาโท และขยายต่อไปยังระดับปริญญาเอก เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการจัดการเรียนการสอน และการวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา

อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและสระว่ายน้ำแห่งนี้ ได้รับพระบรมราชานุญาติให้เข้าเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ และ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าพระราชทานชื่ออาคารนี้ว่า "สิริมงคล" เมื่อปีพุทธศักราช 2539

พ.ศ. 2541 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 25 และได้ใช้อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและสระว่ายน้ำ "สิริมงคล" เป็นสถานที่จัดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา

พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เลือกอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและสระว่ายน้ำ "สิริมงคล" เป็นศูนยอำนวยการศูนย์สื่อมวลชน และเป็นสถานที่จัดประชุมวิชาการแข่งขัน กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 33 เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ในการนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้กราบทูลเชิญ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทรงเปิดการประชุมวิชาการการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 33 ในวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2548 เวลา 09.00 น. ณ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา [2]

ทำเนียบคณบดี

[แก้]
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย นพ.วิชัย วนดุรงค์วรรณ 16 มกราคม พ.ศ. 2540 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2542
2. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2542 - 30 กันยายน พ.ศ. 2543
3. รองศาสตราจารย์ นพ.ปัญญา ไข่มุก 1 ตุลาคม พ.ศ. 2543 - 30 กันยายน พ.ศ. 2547
4. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ (รักษาการ) 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550
5. ศาสตราจารย์ นพ.อรรถ นานา 22 ธันวาคม พ.ศ. 2550 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
6. นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559 - 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 [3]
7. รองศาสตราจารย์ นพ.บวรฤทธิ์ จักไพวงศ์ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 - 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ยุทธนา อุดมพร 1 มีนาคม พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน

หลักสูตร

[แก้]

ระดับปริญญาตรี

[แก้]
  • หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
    • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา
  • หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
    • วิชาเอกการออกกำลังกายและการกีฬา
    • วิชาเอกกีฬาฟุตบอล

ระดับปริญญาโท

[แก้]
  • หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
    • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ประกอบด้วย 4 แขนงวิชา คือ
      • แขนงวิชาชีวกลศาสตร์การกีฬา
      • แขนงวิชาสรีรวิทยาการกีฬา
      • แขนงวิชาโภชนศาสตร์การกีฬา
      • แขนงวิชาจิตวิทยาการกีฬา

ระดับปริญญาเอก

[แก้]
  • หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
    • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา (หลักสูตรนานาชาติ)

สนามกีฬามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

[แก้]
สนาม ม.มหิดล ศาลายา
ที่ตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย
เจ้าของมหาวิทยาลัยมหิดล
ความจุ2,000 คน
พื้นผิวหญ้า
การใช้งาน
สโมสรฟุตบอลกรุงธนบุรี (ในอดีต)
สโมสรฟุตบอลราชวิถี (ในอดีต)

สนาม ม.มหิดล ศาลายา เป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ในมหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดนครปฐม ส่วนมากใช้แข่งขันฟุตบอลนัดต่าง ๆ รวมถึงกรีฑา และเคยเป็นสนามกีฬาเหย้าของสโมสรฟุตบอลกรุงธนบุรี สนามกีฬานี้สามารถบรรจุคนได้ถึง 2,000 คน

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2539 (จัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา), 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2539
  2. "ประวัติวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-07. สืบค้นเมื่อ 2016-12-03.
  3. คำสั่งสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 6/2559,แต่งตั้งคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา[ลิงก์เสีย], 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559


แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]