ข้ามไปเนื้อหา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

พิกัด: 6°27′16.8″N 101°47′20.7″E / 6.454667°N 101.789083°E / 6.454667; 101.789083
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
Faculty of Medicine,
Princess of Naradhiwas University
คติพจน์For A Better Future
and A Better Community
เพื่อบุตรหลานและบ้านเมืองของเรา
สถาปนา22 กรกฎาคม พ.ศ. 2548; 19 ปีก่อน (2548-07-22)
คณบดีผศ.ดร.สุพัฒน์ ศรีสวัสดิ์
ที่อยู่
99 หมู่ 8 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส 96000
สี  สีเขียวน้ำทะเล
สถานปฏิบัติโรงพยาบาลสงขลา
โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
เว็บไซต์MED PNU

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2548 ตามมติว่าด้วยหลักการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเป็นคณะแพทยศาสตร์ลำดับที่ 18 ในจำนวนโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศ 20 สถาบัน และเป็นลำดับที่ 2 ในภาคใต้และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์จึงริเริ่มจัดตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นโรงพยาบาลหลักในการทำการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

เป้าหมายของคณะแพทยศาสตร์ คือการผลิตบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่าง ๆ เป็นสถาบันผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มุ่งมั่นจะอุทิศตนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยปฏิบัติงานดูแลสุขภาพของชุมชนได้อย่างมีความสุข เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม สามารถประยุกต์ความรู้ทางการแพทย์สากลให้ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมอิสลามท้องถิ่น (Islamic Oriental Medical School) ได้เป็นอย่างดี[1]

ประวัติและความเป็นมา

[แก้]

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพและสังคมศาสตร์ที่ได้มาตรฐานสากล

อาคารคณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยน ราธิวาสราชนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ก็เป็นคณะหนึ่งที่จัดตั้งตามความปรัชญาของมหาวิทยาลัยคือ การผลิตบัณฑิตด้านสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพจากแนวทางดังกล่าว มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนที่สำคัญคือ การขาดแคลนแพทย์ ทั้งจำนวนและการกระจาย โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค สิ้นปีพุทธศักราช 2545 ประเทศไทยมีจำนวนประชากร 62,779,872 คน แต่มีแพทย์ที่ทำงานจริงจำนวน 22,879 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1:2,745 คน และแพทย์ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ดังนั้นพื้นที่ที่มีแพทย์ต่อประชากรน้อยคือส่วนภูมิภาคและพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรน้อยที่สุด[2]

ดังนั้นเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งได้มีมติให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้น โดยมี อาจารย์ นพ.สมัย ขาววิจิตร เป็นรักษาการคณบดีคนแรก โดยมีเป้าหมายในการรับนักศึกษาโดยตรงจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี เพื่อการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์อย่างรุนแรงในพื้นที่ และยังเป็นวัตกรรมทางการศึกษาที่กระจายโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมให้นักเรียนที่มีการเรียนสะสมดี มีโอกาสเข้าศึกษาและระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาที่ดี และเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้านความมั่นคง โดยการใช้การศึกษาเป็นกลยุทธ์หลักการแก้วิกฤติการณ์ปัญหาความรุนแรงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนำมาซึ่งความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้ง รุนแรง และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้ความหลากหลายทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม[2]

ในช่วงแรกในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นนั้น มีปัญหาอุปสรรคมาก เพราะการสร้างคณะแพทยศาสตร์ต้องใช้ทุนจำนวนมหาศาล และต้องใช้เวลาเป็นนานในการสร้างคณาจารย์แพทย์ มิใช่ว่านึกอยากจะสร้างคณะแพทยศาสตร์ก็จะสร้างได้ง่ายๆ ซึ่งในขณะขนาดนั้นเองก็ดูเหมือนว่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จะเป็นได้แค่ความฝันตอนกลางวัน เพราะหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ฉบับแรกที่เสนอขึ้นไปไม่ผ่านแพทยสภา มีการออกข่าวเตือนสังคมว่า หลักสูตรสถาบันแห่งนี้ไม่ได้มาตรฐาน ข่าวคราวที่สะพัดในอินเทอร์เน็ตทุกวี่ทุกวันว่า "จบแล้วทำงานเป็นหมอไม่ได้" คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ จึงถูกสาปแช่งให้ "ตายคลอด หรือ STILLBORN" คือเกิดปุ๊บตายปั๊บ

การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จึงต้องตั้งต้นใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้ไม่ใช่เริ่มต้นจาก "ศูนย์" แต่กลับต้องตั้งต้นจาก "ติดลบ" ลำพังการตั้งท่ามกลางความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ก็สุดแสนจะลำบากสาหัสอยู่แล้ว มิหนำซ้ำ ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือยังไม่มีเหลืออีกเลย แต่ทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ก็ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อจะให้สามารถเปิดคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ให้จงได้

กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 อาจารย์ นพ.สมัย ขาววิจิตร รักษาการคณบดีล้มป่วยกะทันหัน ไม่สามารถปฏิบัติพันธะหน้าที่คณบดีได้เต็มความสามารถ ท่านอธิการบดี ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย จึงได้ทาบทามให้ พลอากาศเอก นพ.อวยชัย เปลื้องประสิทธิ ให้มาช่วยทำหน้าที่รองคณบดีปฏิบัติหน้าที่แทนคณบดี จนกว่า อาจารย์ นพ.สมัย ขาววิจิตร จะหายป่วยและกลับคืนมาเป็นคณบดีได้อย่างเต็มที่

ต่อมาภายหลัง พลอากาศเอก นพ.อวยชัย เปลื้องประสิทธิ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดี ด้วยความแน่วแน่ในอุดมการณ์ของท่าน และกัลยาณมิตรมากมาย จึงสามารถปรับปรุง แก้ไข และผลักดัน จนหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้รับความเห็นชอบจากแพทยสภา โดยผ่านการอนุมัติจากแพทยสภา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ทำให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้เปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยมีการเริ่มรับนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2550 จำนวน 16 คนเข้าศึกษาในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2550 และในรุ่นต่อไป รุ่นละ 24 คน[3] [4]

โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์ 7 แห่งที่อยู่ภายใต้ "โครงการผลิตแพทย์เพิ่มสู่ภูมิภาค" อันเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข

เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ประสบปัญหาทั้งด้านอาคาร สถานที่ครุภัณฑ์การศึกษา และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ คณะผู้บริหารจึงมีมติว่าในช่วง 3 ปีแรก (ปีการศึกษา 2550 ถึง 2552) ของการเปิดดำเนินการสอน ให้ส่งนักศึกษาแพทย์เข้ารับการศึกษาในช่วงชั้นเตรียมแพทย์และชั้นปรีคลินิก ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ต่อมาในปีการศึกษา 2553 นักศึกษาแพทย์ รุ่นที่ 4 เป็นนักศึกษาแพทย์รุ่นแรก ที่ได้รับการศึกษาในชั้นเตรียมแพทย์ โดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้นไป สำหรับชั้นปรีคลินิกยังคงให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สอนต่อไปอีกระยะหนึ่ง

เมื่อปี พ.ศ. 2552 มีการจัดตั้งและเริ่มการก่อสร้าง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ และนักศึกษากลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์คือเป็นสถาบันในการจัดการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์และคณะอื่นๆ ในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังจะมีการจัดตั้งขึ้นต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งรองรับหน่วยงานที่จะขึ้นต่อไป และที่สำคัญคือเป็นสถานที่บริการวิชาการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยทั่วไป[5]

ต่อมาในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553 ได้มาการจดทะเบียนจัดตั้ง มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาการศึกษา การวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์, การบริหารจัดการที่เกี่ยวกับคณะแพทยศาสตร์, การจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์และพัฒนาคุณภาพสถานบริการสาธารณสุขของคณะแพทยศาสตร์, ให้นักศึกษาแพทย์กู้ยืมโดยไม่คิดดอกผล ซึ่งเป็นทุนในระหว่างที่กำลังเป็นนักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, กิจการอื่นๆ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เห็นควรหรือตามที่ผู้บริจาคหรือผู้มอบให้แจ้งวัตถุประสงค์ไว้, ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์[6]

ทำเนียบคณบดี

[แก้]

รายนามคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. นายแพทย์ สมัย ขาววิจิตร 18 มีนาคม 2548 - กุมภาพันธ์ 2550 (รักษาราชการแทน)
2. พลอากาศเอก นายแพทย์ อวยชัย เปลื้องประสิทธิ์ กุมภาพันธ์ 2550 - 30 เมษายน พ.ศ. 2560
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพัฒน์ ศรีสวัสดิ์ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
4. รองศาสตราจารย์ พลเอก นายแพทย์ ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2561[7] - 2565
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุพัฒน์ ศรีสวัสดิ์ 2565 - ปัจจุบัน (รักษาราชการแทน)

หลักสูตรการศึกษา

[แก้]

หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต

  • ชื่อหลักสูตร

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแพทยศาสตร์ (Doctor of Medicine Program)[1][8]

  • ชื่อปริญญา

ภาษาไทย

แพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

ภาษาอังกฤษ

Doctor of Medicine (M.D.) Princess of Naradhiwas University
  • ระยะเวลาศึกษา

ระยะเวลาศึกษาตลอดหลักสูตร 6 ปี

  • โครงสร้างหลักสูตร (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2555)[9]

จำนวนหน่วยกิต รวม 257 หน่วยกิต

- หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 35 หน่วยกิต

- หมวดวิชาเฉพาะ 207 หน่วยกิต

- หมวดวิชาเลือกเสรี 15 หน่วยกิต

  • โครงสร้างหลักสูตร (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562)[10]

จำนวนหน่วยกิต รวม 252 หน่วยกิต

- หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต

- หมวดวิชาเฉพาะ 204 หน่วยกิต

- หมวดวิชาเลือกและเลือกเสรี 18 หน่วยกิต

การจัดการเรียนการสอน

[แก้]

ในการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ เป็นหลักสูตร 6 ปี แบ่งออกเป็น 2 ช่วง[11] คือ

ตึกคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
  • 1. ช่วงปรีคลินิก (สามปีแรก ชั้นปีที่ 1-3) จัดการศึกษาเป็นระบบทวิภาค (Dimester) โดย นักศึกษาแพทย์ศึกษาวิชาทั่วไปในคณะศิลปศาสตร์ และ วิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานกับวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและในศูนย์แพทยศาสตรศึกษา
ตึกฟักทอง คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • 2. ช่วงคลินิก (สามปีหลัง ชั้นปีที่ 4-6) จัดแข่งนักศึกษาแพทย์ออกเป็นกลุ่ม และหมุนเวียนกลุ่มนักศึกษาแพทย์เรียนรายวิชาเป็นรายสัปดาห์จนครบทุกวิชาและหน่วยกิจที่กำนดตลอดปีการศึกษา โดยนักศึกษาแพทย์ศึกษาที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษา
โรงพยาบาลสงขลา


สถานที่จัดการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์

[แก้]
  • นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 1
- ศึกษาที่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เขตโคกเขือ

โดยคณาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ คณะศิลปศาสตร์

รายวิชาที่ศึกษา : หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ดังนี้

:# กลุ่มวิชาภาษา เช่น การฟังและพูดภาษาอังกฤษพื้นฐาน และ การอ่านและเขียนภาษาอังกฤษพื้นฐาน
:# กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เช่น มนุษย์กับสังคม มนุษย์กับอารยธรรม พฤติกรรมศาสตร์ และ ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น
:# กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น คอมพิวเตอร์และการประยุกต์ คณิตศาสตร์สาหรับแพทย์และทันตแพทย์ ชีวสถิติเบื้องต้น ฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ปฏิบัติการฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ชีวภาพ เคมีทั่วไป เคมีอินทรีย์ และ ชีววิทยา


  • นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2-3
- ศีกษาที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

โดยคณาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ และอาจารย์รับเชิญพิเศษจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ในรายวิชาปรีคลินิก เช่น ชีวเคมีการแพทย์พื้นฐาน มหกายวิภาคศาสตร์ จุลกายวิภาคศาสตร์ คัพภวิทยา ประสาทกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยาทางการแพทย์ จุลชีววิทยาทางการแพทย์และวิทยาอิมมูน ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ เภสัชวิทยาการแพทย์ พยาธิวิทยากายวิภาค พยาธิวิทยาคลินิก และ เวชพันธุศาสตร์


- ศึกษาที่ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสงขลา

โดยคณาจารย์แพทย์ และอาจารย์รับเชิญผู้มีประสบการณ์จากหน่วยงานต่างๆ ในรายวิชาปรีคลินิก เช่น เวชศาสตร์ชุมชน พื้นฐานทักษะทางคลินิกและเวชจริยศาสตร์ บูรณาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ บทนำเวชศาสตร์คลินิก ประวัติศาสตร์การแพทย์ และ จิตเวชศาสตร์

  • นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4-5-6
- ศึกษาที่ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสงขลา และ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562)

โดยคณาจารย์แพทย์ และอาจารย์แพทย์รับเชิญพิเศษจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ในรายวิชาคลินิก

การลงนามความร่วมมือ (MOU)

[แก้]
MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชิคาโก
MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยอเล็กซานเดรีย

19 มีนาคม 2549

หน่วยงาน : โรงพยาบาลสงขลา[12]
เรื่อง : ด้านการร่วมผลิตแพทย์ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มสู่ภูมิภาค กระทรวงสาธารณสุข

6 กรกฎาคม 2549

หน่วยงาน : คณะแพทยศาสตร์ และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์[12][13]
เรื่อง : ความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตหลักสูตรแพทยศาสตร์ และการพัฒนาหลักสูตรการสอนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

20 กุมภาพันธ์ 2551

หน่วยงาน : วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา[12]
เรื่อง : ความร่วมมือทางวิชาการ ด้านแพทยศาสตรศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักศึกษา การวิจัยร่วมกัน การมีส่วนร่วมในการสัมมนาหรือประชุมวิชาการ การแลกเปลี่ยนสื่อการศึกษา โปรแกรมพิเศษทางวิชาการระยะสั้น และโปรแกรมการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ

2 กันยายน 2552

หน่วยงาน : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์[12][14]
เรื่อง : ความร่วมมือทางวิชาการ ด้านแพทยศาสตรศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านการจัดการเรียนรู้ การวิจัย และการพัฒนาอาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งถือเป็นสถาบันศึกษาท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ผลิตแพทย์ที่สามารถประยุกต์ความรู้ทางการแพทย์ให้ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นและศาสนาอิสลาม (Islamic Oriented Medical School) เกิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่สอดคล้องและเหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์และนักศึกษาแพทย์ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านต่างๆ งานวิจัย และทุนการศึกษา พร้อมทั้งมีการพัฒนาทางวิชาการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไปในอนาคต


การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต

[แก้]

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือผลิตแพทย์ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มสู่ภูมิภาค โดยเปิดรับนักศึกษาแพทย์ ปีการศึกษาหนึ่ง จำนวน 24 คน ซึ่งรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่บิดาหรือมารดามีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา[15]

รับนักศึกษาผ่านวิธีรับตรงของมหาวิทยาลัย โดยการสอบข้อเขียน ประกอบด้วยวิชาดังนี้ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์(เคมี-ชีววิทยา-ฟิสิกส์) ภาษาไทย-สังคม ภาษาอังกฤษ และ วิชาความถนัดทั่วไป[15]

  • จำนวนที่รับและโควตาแต่ละจังหวัด

รับนักศึกษาทั้งสิ้น 24 คน แบ่งตามโควตาจังหวัด ดังนี้[15]

1. จังหวัดนราธิวาส จำนวน 12 คน

2. จังหวัดปัตตานี จำนวน 6 คน

3. จังหวัดยะลา จำนวน 6 คน

กิจกรรมของนักศึกษาแพทย์

[แก้]
Freshy Night @ PNU
Our Blood for New Life @ รพ.สงขลา
วันมหิดล
รับเสื้อกาวน์ นักศึกษาแพทย์ รุ่นที่ 1
  • รับน้องใหม่ "ค่ายพิกุลแรกแย้ม"

กิจกรรมนี้ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมแรกสุด เมื่อนักศึกษาแพทย์ ชั้นปี1 ได้ย่างเท้าก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์(มนร.) โดยมีพี่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่2 เป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อเป็นการต้อนร้บน้องอย่างอบอุ่น โดยในกิจกรรมมีการผูกสัมพันธ์กันระหว่างนักศึกษาแพทย์ด้วยกัน การเปิดตัวสายรหัสและสายโค(รหัสร่วม) การแนะนำการเรียนในชั้นปรีคลินิก(preclinic) Freshy Night และอื่นๆ


  • แด่ครูผู้ไร้ลม

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีการแนะนำการเรียนให้นักศึกษาแพทย์ ชั้นปี1 ที่กำลังจะขึ้นมาเรียนในชั้นปีที่2 และจะมีการพบปะกันของอาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เพื่อเตรียมความให้กับนักศึกษาแพทย์ทางด้านกายและใจ ในการศึกษาวิชามหกายวิภาคศาสตร์(Gross Anatomy) ที่ต้องศึกษากับร่างของอาจารย์ใหญ่


  • บริจาคโลหิต "Our Blood for New Life"

นอกจากจะมีกิจกรรมบริจาคโลหิตแล้ว ยังมีการเยี่ยมเยือนผู้ป่วย พูดคุยและให้กำลังใจ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ รู้จักการเป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างรู้สึกและเจตคติที่ดีระหว่างผู้ป่วยกับนักศึกษาแพทย์


  • ค่ายมหิดล

กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ที่จัดขึ้นโดยคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะการแพทย์แผนไทย โครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพที่กำลังศึกษาชั้นปรีคลินิกในรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายในกิจกรรมมีการให้ความรู้กับประชาชนในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันสุขภาพ และทางด้านสุขอนามัยที่ดี ซึ่งนักศึกษาจะได้สัมผัสกับชุมชน วิถีชาวบ้าน สังคมภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย


"วันมหิดล" เป็นวันคล้ายวันเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ โดยจะจัดให้มีกิจกรรมวางพวงมาลา หน้าพระบรมรูป ฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์


  • กีฬาเข็มสัมพันธ์ "Syringe Games"

งานมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของเหล่าบรรดานักศึกษาแพทย์ เพราะเป็นการรวมนักศึกษาแพทย์จากทุกสถาบันทั่วฟ้าเมืองไทย ซึ่งมีทั้งหมด 19 สถาบัน มาแข่งกีฬา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ นอกจากการแข่งขันกีฬาแล้วยังมีงาน ไนท์ ปาร์ตี้ โดยภายในจะมีการแสดงต่างๆ ของนักศึกษาแพทย์ และการประกวดขวัญใจเข็มสัมพันธ์อีกด้วย


  • รับเสื้อกาวน์

งานรับเสื้อกาวน์จะจัดขึ้น เมื่อนักศึกษาแพทย์ ชั้นปี3 ที่กำลังจะขึ้นชั้นคลินิค(clinic) จะได้เข้าร่วมพิธีรับมอบเสื้อกาวน์จากอาจารย์แพทย์ จากนั้นก็จะมีการถ่ายถ่ายรูปเก็บความทรงจำ โดยจะมีสายรหัสของตนเองมาร่วมถ่ายรูป แสดงความยินดี รวมทั้งเพื่อนๆคณะอื่นได้มาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคับคั่ง หลังจากงานรับเสื้อกาวน์ สายรหัสส่วนใหญ่จะไปเลี้ยงสายกัน


  • ไนท์ ปาร์ตี้ "Medicine-PNU Night Party"

กิจกรรมนี้เป็นงานพรอมเมื่อนักศึกษาแพทย์ ชั้นปี3 ขึ้นไปเรียนในชั้นคลินิก(clinic) ในชั้นปี4 เพื่อมีการเลี้ยงสังสรรค์ อำลาจากมหาวิทยาลัยข้ามฝากไปเรียนที่ศูนย์แพทยศาสตรชั้นคลินิก รพ.สงขลา โดยในงานก็มีผู้ใหญ่มาร่วมงานด้วยเช่น อธิการบดี คณบดี อาจารย์ชั้นปรีคลินิก อาจารย์แพทย์ บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ และนักศึกษาแพทย์ทุกชั้นปี พร้อมหน้าพร้อมกัน


โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและสถาบันร่วมผลิตแพทย์

[แก้]
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ จังหวัดนราธิวาส คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
สถาบันร่วมผลิตแพทย์ จังหวัด สังกัด
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสงขลา จังหวัดสงขลา กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส กระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 คู่มือนักศึกษา หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแพทยศาสตร์. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
  2. 2.0 2.1 "ประวัติคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-07. สืบค้นเมื่อ 2011-03-20.
  3. ความเป็นมาของวันนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดย "นรา วงใน" 13 ตุลาคม 2551
  4. หนังสือรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จากแพทยสภา[ลิงก์เสีย]
  5. โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มนร.[ลิงก์เสีย]
  6. ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนราธิวาส เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์"
  7. "แต่งตั้งคณบดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-22. สืบค้นเมื่อ 2019-01-04.
  8. หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์[ลิงก์เสีย]
  9. "คู่มือนิสิต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-12. สืบค้นเมื่อ 2019-01-04.
  10. หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562)
  11. ระเบียบ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชครินทร์ ว่าด้วย การศึกษาเพื่อปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ. 2550
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 "การลงนามความร่วมมือ (MOU) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-15. สืบค้นเมื่อ 2010-11-12.
  13. "ความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-03-14. สืบค้นเมื่อ 2010-11-12.
  14. ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมมือกับ ม.อเล็กซานเดรีย อียิปต์ สร้างโอกาสให้กับนักศึกษาแพทย์ในพื้นที่[ลิงก์เสีย]
  15. 15.0 15.1 15.2 รับสมัครนักเรียนเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสต์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครนทร์ ปีการศึกษา 2554[ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

6°27′16.8″N 101°47′20.7″E / 6.454667°N 101.789083°E / 6.454667; 101.789083