ข้ามไปเนื้อหา

ฐานบินเชียงราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฐานบินเชียงราย
ส่วนหนึ่งของกองทัพอากาศไทย
เชียงราย
ลานบินและอดีตอาคารที่ทำการของสนามบิน
แผนที่
พิกัด19°53′07″N 99°49′37″E / 19.88528°N 99.82694°E / 19.88528; 99.82694 (ฐานบินเชียงราย)
ประเภทฐานทัพอากาศ
ข้อมูล
ผู้ดำเนินการFlag of the กองทัพอากาศไทย กองทัพอากาศไทย
ควบคุมโดยฝูงบิน 416 กองบิน 41
สภาพเหลือเพียงลานบินและอาคารหอควบคุมการบิน
ประวัติศาสตร์
สร้างพ.ศ. 2469; 98 ปีที่แล้ว (2469)
ข้อมูลสถานี
กองทหารรักษาการณ์ฝูงบิน 416 กองบิน 41
ข้อมูลลานบิน
ข้อมูลระบุICAO: VTCR[1]
ความสูง1,312 ฟุต (400 เมตร) เหนือระดับ
น้ำทะเล
ทางวิ่ง
ทิศทาง ความยาวและพื้นผิว
18/36 1,690 เมตร (5,545 ฟุต) แอสฟอลต์คอนกรีต

ฐานบินเชียงราย[2] (อังกฤษ: Chiang Rai Air Force Base) หรือ สนามบินเชียงราย[3] (IATA: -, ICAO: VTCR) เป็นฐานบินปฏิบัติการหน้าที่ประจำการของฝูงบิน 416 เชียงราย กองทัพอากาศไทย ในตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นศูนย์กลางภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน[4]

ประวัติ

[แก้]

ฐานบินเชียงราย เป็นอดีตสนามบินที่สร้างโดยชาวเชียงรายภายใต้การริเริ่มของพระยาราชเดชดำรง (ผล ศรุตานนท์) เมื่อปี พ.ศ. 2469 ถือเป็นสนามบินแห่งแรกของส่วนภูมิภาค เป็นสนามบินแห่งที่ 2 ของประเทศไทย โดยการเกณฑ์ชาวเชียงรายมาสร้าง ส่วนใหญ่ใช้แรงงานแทนค่ารัฐชูปการ ต่อมาช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาจึงเป็นสถานที่ใช้ลำเลียงยุทโธปกรณ์ของทหาร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของฝูงบิน 416 กองทัพอากาศไทย เมื่อก่อนใช้เป็นสนามบินของชาวเชียงราย แต่เนื่องจากสนามบินนานาชาติจังหวัดเชียงราย ได้ย้ายไปตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน (ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย) ดังนั้นสนามบินเก่าแห่งนี้จึงเหลือแต่รันเวย์ ประชาชนจึงใช้เป็นที่พักผ่อน ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ใช้เป็นสนามเล่นฟุตบอล สนามแบทมินตัน สนามตะกร้อ สถานที่เต้นแอโรบิค จ๊อกกิ้ง ขี่จักรยาน มีสนามเด็กเล่นอยู่อีกจุดหนึ่งถัดไปด้านซ้ายของสนามบิน มีรถเข็นบริการอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมาก และเนื่องจากบริเวณสนามบินเก่าแห่งนี้มีพื้นที่กว้างขวาง ดังนั้นเทศบาลนครเชียงรายและหน่วยงานต่างๆ จึงได้จัดเทศกาลหรืองานต่างๆ ขึ้นที่นี่เป็นประจำทุกปี บริเวณสนามบินเก่านี้มีโรงแรมและสถานบันเทิงจำนวนมากคอยบริการนักท่องเที่ยว

ปัจจุบันทางกองทัพอากาศไทยได้ขอพื้นที่สนามบินคืนเพื่อยกระดับสนามบินเชียงราย ฝูงบิน 416 กองทัพอากาศพัฒนาสนามบินเก่าเพื่อรองรับเครื่องบิน BT-67 ทำภารกิจดับไฟป่า แก้ปัญหาหมอกควันฝุ่นละออง มีโดรนไร้นักบิน และ ฮ.กู้ภัย EC-725 ค้นหาช่วยชีวิต และรับ-ส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้เป็นศูนย์กลางภารกิจการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และพัฒนาสนามบินให้มีขีดความสามารถในการรองรับอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และเฮลิคอปเตอร์ ให้สามารถวางกำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนทางอากาศเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภารกิจช่วยเหลือประชาชน ได้แก่ การบินค้นหาและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย การใช้เฮลิคอปเตอร์ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินจากพื้นที่ห่างไกลเพื่อเข้ารับการรักษาต่อ ณ โรงพยาบาลที่มีความพร้อม ซึ่งกองทัพอากาศมีความร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยใช้สนามบินเชียงรายเป็นฐานบิน การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน ในการช่วยเหลือประชาชน

นอกจากนี้ยังมี การสนับสนุนพื้นที่รวบรวมและกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนกรณีการเกิดภัยพิบัติโดยมีแผนงานการพัฒนาระหว่างปี 2566-2568 อย่างไรก็ตามเมื่อมีการพัฒนาสนามบินแล้ว ประชาชนยังสามารถเข้ามาใช้บริการพื้นที่สนามบินเพื่อออกกำลังกายได้ โดยกองทัพอากาศมีแผนการปรับปรุงถนนรองรับการเดิน/วิ่ง และการออกกำลังกายสำหรับประชาชน อีกทั้งยังอนุญาตให้รถยนต์ทั่วไปสามารถผ่านเข้า-ออกพื้นที่ได้ แต่ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของสนามบินอย่างเคร่งครัด[5]

บทบาทและปฏิบัติการ

[แก้]

กองทัพอากาศไทย

[แก้]

ฐานบินนครพนม เป็นที่ตั้งหลักของฝูงบิน 416 ในฐานะฝูงบินอิสระปฏิบัติราชการสนามจากกองบิน 41 เชียงใหม่ กองทัพอากาศไทย ทำหน้าที่เป็นกองรักษาการณ์ประจำฐานบินเชียงราย[5]

หน่วยในฐานบิน

[แก้]

กองทัพอากาศไทย

[แก้]

ฝูงบิน 416 กองบิน 41

[แก้]
  • ฝูงบิน 416 – ปัจจุบันไม่มีอากาศยานประจำการถาวร เป็นฝูงบินอิสระปฏิบัติราชการสนาม

สิ่งอำนวยความสะดวก

[แก้]

ฐานบินเชียงรายเคยใช้งานในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาก่อนจะปรับมาใช้เป็นสนามบินพาณิชย์และได้ย้ายการบินพาณิชย์ไปยังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ทำให้ปัจจุบันคงเหลือแต่ลานบินที่ใช้งานเพื่อกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจของชาวเชียงราย แต่ยังคงสงวนบางช่วงเวลาสำหรับการปฏิบัติการในภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ[4][5]

ลานบิน

[แก้]

ฐานบินเชียงรายประกอบไปด้วยทางวิ่งความยาว 1,690 เมตร (5,545 ฟุต) ความกว้าง 31 เมตร (102 ฟุต) อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล 1,312 ฟุต (400 เมตร) ทิศทางรันเวย์คือ 18/36 หรือ 181° และ 001° พื้นผิวแอสฟอลต์คอนกรีต[6]

สายการบินที่ให้บริการในอดีต

[แก้]
สายการบิน จุดหมายปลายทาง
เดินอากาศไทย เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ดอนเมือง
การบินไทย เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ดอนเมือง

อ้างอิง

[แก้]
  1. รายชื่อสนามบินในประเทศไทย (โค้ด)
  2. ประวัติหน่วยทหาร (ส่วนราชการในกองทัพอากาศ) (PDF). กองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กองบัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-03-08. สืบค้นเมื่อ 2024-06-15.
  3. ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดเขตบริเวณใกล้เคียงสนามบินเชียงราย ในท้องที่อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเวียงชัย และอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ พ.ศ. ๒๕๓๕
  4. 4.0 4.1 "กองทัพอากาศเตรียมความพร้อมสำหรับปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติ (HADR)". welcome-page.rtaf.mi.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 5.2 "ทอ.ยกระดับสนามบินเชียงราย เป็นศูนย์กลางภารกิจช่วยเหลือประชาชนภาคเหนือตอนบน". www.thairath.co.th. 2023-06-14.
  6. "VTCR : Chiang Rai Rob Wiang". airportnavfinder.com.