ข้ามไปเนื้อหา

โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แคว้นโยนก)
โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น

สถานะข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์
การปกครองราชาธิปไตย
ถัดไป
เวียงปรึกษา

โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น (อักษรธรรมล้านนา: ᩰᨿᨶᩫ᩠ᨠᨶᨣᩬᩁᨩᩱ᩠ᨿᨷᩩᩁᩦᩁᩣ᩠ᨩᨵᩣᨶᩦᩆᩕᩦ ᨩ᩶ᩣ᩠ᨦᩯᩈ᩠᩵ᨶ) หรือ แคว้นโยนก (อักษรธรรมล้านนา: ᨣᩯ᩠ᩅ᩶ᨶᨿᩰᨶᩫ᩠ᨠ)[1] (พ.ศ. 1200–1650) เป็นรัฐของชาวไทยวน ที่ตั้งอยู่แถบลุ่มน้ำโขงตอนกลาง อันเป็นที่ราบลุ่มของน้ำแม่กก เป็นที่ตั้งแหล่งชุมชนที่มีมาอย่างช้านานซึ่งเป็นอาณาจักรแรกของชนชาติไทย ตั้งแต่ประมาณปี 1200-1650 อาณาจักรโยนก ก็ล่มสลายลงเมื่อเกิดการแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จึงอพยพย้ายเมืองหลวงมาเป็นเวียงปรึกษาแทน ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในตำนานสิงหนติกุมาร (มีหลายชื่อเรียก เช่น ตำนานโยนกนครเชียงแสน ตำนานโยนกนคร ตำนานโยนกไชยบุรีศรีช้างแส่น แล้วแต่ผู้จารจะเขียนกำกับ แต่เนื้อหาคล้ายกันหมด) และตำนานพระธาตุดอยตุง ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา ถ้ำเปลวปล่องฟ้า แต่ยังไม่มีการค้นพบหลักฐานที่เก่าถึงยุคสมัยจริง

ตำนานสิงหนติกุมาร

[แก้]

ตามตำนานสิงหนติกุมาร (ไม่ใช่สิงหนวัติ หรือ สิงหนวติ เพราะไม่ปรากฏในเอกสารใบลานชั้นต้น ซึ่งปรากฏเพียง สิงหนติ) กล่าวว่า เจ้าสิงหนติราชกุมาร โอรสของพระเจ้าเทวกาลแห่งนครไทยเทศ หรือ เมืองราชคฤห์​ ในอินเดีย ได้ทำการอพยพผู้คนออกจากนครไทยเทศ เดินทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จนมาถึงชัยภูมิที่เคยเป็นแคว้นสุวรรณโคมคำในอดีต ไม่ไกลแม่น้ำโขงมากนัก ซึ่งตอนนั้นมีชาวลัวะอาศัยอยู่ตามป่าเขาในบริเวณดอยดินแดน (ดอยตุง) มีหัวหน้าชื่อ ปู่เจ้าลาวกุย เจ้าสิงหนติได้พบกับพญานาคชื่อพันธุนาคราช ซึ่งจำแลงกายเป็นพราหมณ์มาพูดคุย และแนะนำให้สร้างเมืองในที่บริเวณนั้น แล้วกลับเป็นพญานาคช่วยขุดคูเมืองให้ เจ้าสิงหนติจึงตั้งเมืองบริเวณนั้น และนำชื่อตนประสมกับชื่อพญานาคเป็นชื่อเมืองว่า เมืองนาคพันธุสิงหนตินคร จากนั้นพระเจ้าสิงหนวัติได้แผ่อำนาจปราบปรามเมืองอุโมงคเสลานคร ซึ่งเป็นเมืองของพวกขอม และมีอำนาจเหนือกลุ่มชนพื้นถิ่นดั้งเดิมในแถบนั้นทั้งหมด ในสมัยพญาพันธนติ กษัตริย์องค์ที่ 2 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองมาเป็น เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น โดยเอาเหตุนิมิตเมื่อช้างมงคลของพระเจ้าสิงหนวัติเห็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ก็เกิดการตกใจร้องเสียงดัง "แส่นสะเคียร" (ช้างแส่น คือ ช้างสั่น ส่วน แส่นสะเคียร แปลว่า สั่นสะเทือน เป็นอากัปกิริยาของช้างคำรามเสียงดังสนั่นหวั่นไหว)

ในสมัยพญาอชุตราช กษัตริย์องค์ที่3 ได้มีการสร้างพระธาตุดอยตุง พระธาตุดอยกู่แก้ว พระธาตุในถ้ำปุ่ม ถ้ำเปลวปล่องฟ้า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเริ่มมีพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว (ซึ่งเป็นเพียงตำนานเท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่ค้นพบหลักฐานที่เก่าถึงยุคสมัยโยนกนคร) สมัยพญามังรายนราช กษัตริย์องค์ที่ 4 พระองค์ไชยนารายณ์ โอรสองค์สุดท้องของพระองค์ได้ไปตั้งเมืองใหม่ คือ เวียงไชยนารายณ์เมืองมูล (สันนิษฐานว่าควรอยู่บริเวณ ปงเวียงไชย บ้านปง ตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย)

เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นมีกษัตริย์ปกครองต่อ ๆ กันมา จนสมัย พระองค์พังคราช กษัตริย์องค์ที่ 42 เสียเมืองให้กับพระยาขอม เมืองอุโมงคเสลานคร และถูกเนรเทศไปเป็นแก่บ้าน เวียงสี่ทวง ส่งส่วยให้พระยาขอมเป็นทองคำปีละ 4 ทวงหมากพินน้อย (คือมะตูมลูกเล็กนำมาผ่าซีก 4 ส่วน นำทองคำหลอมลงไปเพียง 1 ซีก) ที่เวียงสี่ทวง พระองค์พังคราชมีลูกชาย 2 คน คนโตชื่อ ทุกขิตะกุมาร คนที่ 2 ชื่อ พรหมกุมาร เมื่อพรหมกุมารอายุได้ 13 ปี จึงมีความคิดที่จะสู้กับพระยาขอม ได้ไปจับช้างที่แม่น้ำโขงและตีพานคำ (พาน อ่านว่าปาน คือเครื่องดนตรีล้านนาชนิดหนึ่ง คล้ายฆ้องแต่ไม่มีโหม่ง ใช้ตี) แห่เข้าเวียงสี่ทวง และทำการขุดคูเมือง ปรับปรุงกำแพงและประตูเมือง แล้วเปลี่ยนชื่อ เวียงสี่ทวง เป็น เวียงพานคำ (สันนิฐานว่าเวียงสี่ทวงและเวียงพานคำควรอยู่บริเวณเมืองโบราณที่เรียกว่าเวียงแก้ว บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน และเวียงสี่ทวงกับเวียงพานคำไม่ควรอยู่บริเวณเมืองโบราณที่ อำเภอแม่สาย เพราะตำนานหลายฉบับกล่าวว่าบริเวณนั้นเป็นเมืองหิรัญนครเงินยาง) และทำการซ่องสุมผู้คน สู้รบกับพระยาขอมจนได้รับชัยชนะ ขับไล่พวกขอมและสามารถชิงเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นกลับคืนมาได้ ถวายเมืองคืนพระองค์พังคราช ส่วนพระองค์พรหมราช (พรหมกุมาร) ได้กลัวว่าจะมีข้าศึกมาอีก จึงไปสร้างเมืองใหม่ คือ เวียงไชยปราการ (สันนิษฐานว่าควรอยู่บริเวณ บ้านร่องห้า (ร่องห้าทุ่งยั้ง) ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย) เมื่อสิ้นพระองค์พรหมราชแล้ว พระองค์ไชยสิริ พระโอรสได้ครองเวียงไชยปราการต่อมา แต่ถูกเมืองสุธรรมวดีเข้ามาคุกคามอีก พระองค์ไชยสิริจึงพาชาวเมืองอพยพลงไปทางใต้ และตั้งเมืองที่เมืองกำแพงเพชร

ส่วนเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นนั้น มีกษัตริย์ครองเมืองต่อมา จนถึงสมัยพระองค์มหาไชยชนะ ชาวเมืองจับได้ปลาไหลเผือกยักษ์จากแม่น้ำกก แล้วนำมาแบ่งกันกินทั้งเมืองยกเว้นแม่หม้ายเฒ่าหนึ่งคน และในคืนนั้นเมืองโยนกก็ล่มสลายลงกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ ยกเว้นแม่หม้ายเฒ่าเพียงคนเดียวที่รอดตาย (สันนิฐานว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวจนเมืองถล่มลง จึงมาผูกเรื่องในตำนาน ปัจจุบันสันนิฐานว่าเวียงโยนกฯ อยู่บริเวณ เวียงหนองหล่ม ตั้งอยู่ระหว่าง ต.โยนก อ.เชียงแสน กับ ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย) ขุนพันนาและนายบ้านกับประชาชนที่รอดตายจึงรับเลี้ยงดูแม่หม้ายเฒ่า และประชุมปรึกษาเลือกนายบ้านผู้หนึ่ง ชื่อขุนลัง ให้เป็นผู้นำ และช่วยกันสร้างเมืองใหม่ริมฝั่งแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก และอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองโยนกนครฯ เรียกว่า เวียงเปิกสา (เวียงปรึกษา) ผู้ที่ครองเวียงเปิกสานั้นจะต้องได้รับการปรึกษาคัดเลือกจากประชาชนในเมืองทั้งหมด คล้ายกับแนวทางของระบอบประชาธิปไตย เรียกว่า ไพร่แต่งเมือง รวมเป็นขุนผู้ครองเวียงเปิกสา 16 คน เป็นอันจบตำนานสิงหนติกุมาร[2][3][4]

สิงหนติ หรือ สิงหนวัติ

[แก้]

ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 ตำนานสิงหนวติกุมาร เรียกชื่อเจ้าสิงหนติราชกุมารว่า สิงหนวติกุมาร และมีการเผยแพร่และเพี้ยนไปเป็น สิงหนวัติกุมาร และเป็นชื่อที่แพร่หลายใช้ในปัจจุบัน แต่จากการสำรวจและปริวรรตเอกสารใบลานต้นฉบับภาษาล้านนาของตำนานโยนกแล้ว กลับพบว่าเขียนว่า สิงหนติ ไม่พบว่ามีการเขียนชื่อ สิงหนวติ หรือ สิงหนวัติ ในตำนานทุกฉบับ จึงสรุปว่าควรใช้ สิงหนติ ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกต้อง[5]

รายพระนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น

[แก้]
  1. พระเจ้าสิงหนวัติ(เจ้าสิงหนติราชกุมาร) เริ่มราชวงศ์เมืองนาคพันธุสิงหนตินคร
  2. พญาพันธติ สถาปนาเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น
  3. พญาอชุตราช
  4. พญามังรายนราช (พระองค์มังรายนราช)
  5. พระองค์เชือง
  6. พระองค์ชืน
  7. พระองค์คำ
  8. พระองค์เพิง
  9. พระองค์ชาต
  10. พระองค์เวา
  11. พระองค์แวน
  12. พระองค์แก้ว
  13. พระองค์เงิน
  14. พระองค์แวนที่ 2 (คนละองค์กับพระองค์แวนในลำดับที่ 11)
  15. พระองค์งาม
  16. พระองค์ลือ
  17. พระองค์รอย
  18. พระองค์เชิง
  19. พระองค์พัน
  20. พระองค์เพา
  21. พระองค์พิง
  22. พระองค์สี
  23. พระองค์สม
  24. พระองค์สวน
  25. พระองค์แพง
  26. พระองค์พวน
  27. พระองค์จัน
  28. พระองค์ฟู
  29. พระองค์ฝัน
  30. พระองค์วัน
  31. พระองค์มังสิง
  32. พระองค์มังแสน
  33. พระองค์มังสม
  34. พระองค์ทิพ
  35. พระองค์กอง
  36. พระองค์กม
  37. พระองค์ชาย
  38. พระองค์ชื่น
  39. พระองค์ชม
  40. พระองค์พัง
  41. พระองค์พิงที่ 2 (คนละองค์กับพระองค์พิงในลำดับที่ 21)
  42. พระองค์เพียง
  43. พระเจ้าพังคราช
  44. พระเจ้าทุกขิตะ (เจ้าทุกขิตะกุมาร)
  45. พระเจ้าพรหมมหาราช
  46. พระเจ้าชัยศิริ สิ้นสุดราชวงศ์สิงหนติ เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นล่มสลาย

(หมายเหตุ รายชื่อกษัตริย์ราชวงศ์สิงหนติ อ้างอิงจากตำนานสิงหนติโยนก ฉบับวัดลำเปิง จังหวัดเชียงราย เป็นหลัก)

อ้างอิง

[แก้]
  1. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 42
  2. ใบลานตำนานโยนกนครเชียงแสน ฉบับวัดเชียงมั่น เชียงใหม่.
  3. ใบลานตำนานสิงหนติโยนก ฉบับวัดลำเปิง เชียงราย.
  4. อภิชิต ศิริชัย. วิเคราะห์ตำนานจากเอกสารพื้นถิ่น ว่าด้วย โยนกนคร เวียงสี่ตวง เวียงพานคำ เมืองเงินยาง และ ประวัติวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย:ล้อล้านนา, 2560.
  5. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 ธันวาคม 2559,วันพฤหัสที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559,เพ็ญสุภา สุขคตะ. "ปริศนาโบราณคดี : ส่งท้าย “777 ปีชาตกาลพระญามังราย” ภารกิจสะสางประวัติศาสตร์ยังไม่จบสิ้น (1)" .[1]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]