ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
เจ้าฟ้าชั้นตรี
ประสูติพ.ศ. 2302
สิ้นพระชนม์3 มีนาคม พ.ศ. 2348
ราชสกุลเทพหัสดิน
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาเงิน แซ่ตัน
พระมารดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์[1] (พ.ศ. 2302 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2348) เป็นพระภาคิไนยในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีบทบาทในฐานะแม่ทัพในการสงครามครั้งสำคัญต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง และทรงเป็นต้นราชสกุล เทพหัสดิน

พระประวัติ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีพระนามเดิมว่า ตัน เอกสารเวียดนามออกพระนามของพระองค์ไว้ว่า "เจียวตัง" (เวียดนาม: Chiêu Tăng, จีน: 昭曾) เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ กับเงิน แซ่ตัน[2] ประสูติในสมัยอาณาจักรอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2302 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีเมื่อ พ.ศ. 2325

พระองค์ประชวรสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันจันทร์ เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีฉลูสัปตศก จุลศักราช 1167[3] ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2348 สิริพระชันษา 47 ปี

พระองค์ทรงเป็นต้น ราชสกุลเทพหัสดิน มีพระโอรสและพระธิดาดังนี้

  1. หม่อมเจ้าฉิม เทพหัสดิน (ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2318)
  2. หม่อมเจ้ามาก เทพหัสดิน (ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2319)
  3. หม่อมเจ้านิ่ม เทพหัสดิน (ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2320)
  4. หม่อมเจ้าหนู เทพหัสดิน
  5. หม่อมเจ้าน้อย เทพหัสดิน
  6. หม่อมเจ้าพิมเสน เทพหัสดิน (พระราชทานเพลิง ณ วัดสระเกศ เมื่อ พ.ศ. 2407)
  7. หม่อมเจ้าหญิงหนู เทพหัสดิน (ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2329 สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2408)

การไปราชการสงคราม

[แก้]
แม่น้ำหวั่มนาว (Vàm Nao) หรือคลองวามะนาว สมรภูมิสำคัญในการรบที่สักเกิ่มซว่ายมุต

ในปี พ.ศ. 2326 เหงียน ฟุก อั๊ญ หรือองเชียงสือ เชื้อสายของขุนศึกสกุลเหงียนซึ่งมีอำนาจปกครองภาคใต้ของเวียดนาม (ภายหลังได้ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิซา ล็อง สถาปนาราชวงศ์เหงียนปกครองเวียดนาม) ได้เดินทางมายังประเทศสยามเพื่อขอความช่วยเหลือในการกอบกู้เมืองไซ่ง่อนจากกองทัพฝ่ายกบฏเต็ยเซิน ถึงเดือน 5 ปีมะโรง ฉศก จุลศักราช 1146 ตรงกับ พ.ศ. 2327 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงเทพหริรักษ์นำกองทัพจำนวน 50,000 คน เคลื่อนพลเข้าโจมตีเมืองไซ่ง่อนทางเรือร่วมกับองเชียงสือ และให้พระยาวิชิตณรงค์นำกองทัพเคลื่อนพลมาทางบกตามหัวเมืองเขมรต่าง ๆ เพื่อเกณฑ์ไพร่พลชาวเขมรมาร่วมรบ โดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน)[4] เจ้าเมืองพระตะบอง ได้เกณฑ์ไพร่พลจำนวน 5,000 คน เข้าร่วมสมทบด้วย ทว่า กองทัพของสยามและองเชียงสือกลับปราชัยต่อกองทัพไตเซินภายใต้การนำของเหงียน เหวะ ในการรบที่สักเกิ่มซว่ายมุต ซึ่งพงศาวดารฝ่ายไทยบันทึกไว้ว่ารบกันที่ปากคลองวามะนาว (ภาษาเวียดนามเรียกชื่อคลองนี้ว่า หวั่มนาว Vàm Nao) และต้องเลิกทัพกลับไปทางกัมพูชา เมื่อข่าวการพ่ายศึกเข้าไปถึงที่กรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงพระพิโรธ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราเรียกกองทัพกลับเข้ามายังพระนคร แล้วลงพระราชอาญาจำกรมหลวงเทพหริรักษ์และข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งเสียทัพแก่ข้าศึกนั้น ภายหลังสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี​และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์​ ได้กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้กรมหลวงเทพหริรักษ์กับข้าราชการซึ่งรับพระราชอาชญาอยู่ในเวรจำนั้น พ้นโทษด้วยกันทั้งสิ้น[5][6]

นอกจากนั้น ในปีชวด ฉศก จุลศักราช 1166 ตรงกับ พ.ศ. 2347 กรมหลวงเทพหริรักษ์พร้อมด้วยพระยายมราช นายทัพนายกองไทยและลาว (ทั้งฝ่ายล้านนาและล้านช้าง) ได้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน สามารถขับไล่กองทัพพม่าที่ยึดครองเมืองเชียงแสนไปได้ กองทัพไทยและลาวสามารถกวาดต้อนครอบครัวได้ 23,000 คนเศษ แล้วรื้อกำแพงเผาบ้านเมืองเสีย จากนั้นจึงได้แบ่งปันครอบครัวที่กวาดต้อนได้เป็น 5 ส่วน แบ่งให้เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองน่าน เมืองเวียงจันทน์ เมืองละ 1 ส่วน (รวม 4 ส่วน) อีก 1 ส่วนถวายลงมา ณ กรุงเทพฯ โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีบ้าง แบ่งไปอยู่เมืองราชบุรีบ้าง แต่ทัพของกรุงเทพฯ นั้นกลับลงมาเปล่าไม่ได้ราชการสิ่งใด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงขัดเคืองเป็นอันมาก ดำรัสว่าไม่รู้เท่าลาว และโปรดเกล้าฯ ให้ลงพระราชอาชญาจำกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ไว้ที่ทิมดาบชั้นนอกตรงหลังศาลาลูกขุนฝ่ายซ้ายไว้ 4 วัน 5 วันก็โปรดให้พ้นโทษ[7][8]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ได้แก่

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ราชสกุลวงศ์" (PDF). กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. George William Skinner (1957). Chinese Society in Thailand: An Analytical History. Cornell University Press. p. 26.
  3. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง; สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย ตอนที่ 115. กรมหลวงเทพหริรักษ์สิ้นพระชนม์
  4. ในเอกสารเวียดนามเรียกว่า เจียวถุ่ยเบียง (เวียดนาม: Chiêu Thùy Biện, จีน: 昭錘卞)
  5. "King Rama The First’s letter to Queen Maria I of Portugal, 1786". huso.tsu.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-20. สืบค้นเมื่อ 2018-07-20.
  6. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง; สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย ตอนที่ 19. ทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ไปตีเมืองไซ่ง่อน.
  7. "ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย : Thai Museums Database". sac.or.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-20. สืบค้นเมื่อ 2018-07-20.
  8. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง; สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย ตอนที่ 109. กองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์กลับจากเมืองเชียงแสน.