ข้ามไปเนื้อหา

วัดหน้าพระเมรุ

พิกัด: 14°21′45″N 100°33′32″E / 14.3625°N 100.558889°E / 14.3625; 100.558889
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหาร
พระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดหน้าพระเมรุ
ที่ตั้ง76 หมู่ 4 ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ
พระพุทธรูปสำคัญพระคันธารราฐ
เจ้าอาวาสพระพิศาลวิหารกิจ (สมศักดิ์ ฉนฺทกโร)
ความพิเศษโบราณสถาน
เวลาทำการทุกวัน 08.30-16.30 น.
จุดสนใจพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ พระคันธารราฐ
หมายเหตุเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดหน้าพระเมรุ หรือ วัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง มีชื่อเดิมว่า "วัดพระเมรุราชการาม" แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด พิจารณาได้ว่า น่าจะเป็นวัดสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งต้นสมัยอยุธยา[1] มีแต่เพียงตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2046 แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน[2] วัดหน้าพระเมรุเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก บ้างสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้กับวัดหัสดาวาส (ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างและยังเหลือสิ่งก่อสร้างที่ไม่ถูกทำลายอยู่บ้าง) พระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุเป็นแบบอยุธยาซึ่งมีเสาอยู่ภายใน แต่น่าจะมาเพิ่มเสารับชายคาที่หลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[3] พระประธานในอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา หรือได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงนั้น เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ ด้านหลังพระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่งแต่เล็กกว่า คือ พระศรีอริยเมตไตรย์

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ

[แก้]

สิ่งสำคัญที่ปรากฏภายในวัดนี้ คือ พระอุโบสถและพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องใหญ่ ซึ่งอาจจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หน้าบันของพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักปิดทองที่แสดงรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคประทับราหูแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา (ด้านหน้าพระอุโบสถมีเทวดาแวดล้อม 26 องค์ ด้านหลังพระอุโบสถมีเทวดาแวดล้อม 22 องค์ รวมเทวดา 48 องค์) คติดังกล่าวเป็นที่นิยมในสมัยโบราณที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ คือเป็นพระนารายณ์อวตาร ดังนั้น หน้าบันของโบสถ์ วิหาร หรือปราสาทราชวังที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือทรงบูรณะก็มักจะทำรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นสำคัญ อันมีความหมายว่าวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง[4] ตัวพระอุโบสถไม่มีหน้าต่าง แต่ทำเป็นช่องลูกกรงให้แสงแดดและลมผ่านเข้าไปภายใน ลูกกรงดังกล่าวยังทำเป็นดอกเหลี่ยมหรือที่เรียกว่าผนังลูกกรงมะหวดเหลี่ยม (แบบเดียวกับผนังวิหารหลวง วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น)[5]

สำหรับพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถซึ่งทรงเครื่องใหญ่ก็สร้างในคติของพระพุทธเจ้าปางโปรดพญามหาชมพู ตามความในมหาชมพูบดีสูตร ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปที่นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนกลางต่อลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปองค์นี้อาจเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่องภายในเมรุทิศเมรุรายของวัดไชยวัฒนาราม ที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ จึงอนุมานได้ว่าพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุก็คงจะสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน หรือไม่ก็คงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในคราวนั้น ภายหลังรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระราชทานนามว่า พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ (นิยมเรียกย่อว่า พระพุทธนิมิต)[6]

ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถมีวิหารน้อยที่สร้างขึ้นโดยพระยาชัยวิชิต (เผือก) ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีรูปแบบลอกเลียนมาจากพระอุโบสถ แต่ลดขนาดให้เล็กลงกับทั้งเปลี่ยนหน้าบันให้เป็นลายพรรณษาตามความนิยมของศิลปะในช่วงนั้น ด้านในวิหารน้อยยังมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องการค้าสำเภาและพุทธชาดกต่าง ๆ และภายในประดิษฐาน พระคันธารราฐ พระพุทธรูปสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ อยุธยา เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมคงประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดนครปฐมมาก่อน และได้ย้ายมายังวัดมหาธาตุ อยุธยา ราวรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เป็นได้ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียวประทับนั่งห้อยพระบาทที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน[7] ซึ่งมีอยู่ไม่กี่องค์ในเมืองไทยเวลานี้ ความเก่าแก่นั้นกล่าวได้ว่าเก่าแก่ก่อนสมัยสุโขทัย ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของโบโรบูดูร์ หรือบรมพุทโธ บนเกาะชวาในอินโดนีเซียเมื่อกว่า 1,000 ปีมาแล้ว นับเป็น 1 ใน 6 พระพุทธรูปที่สร้างจากศิลาที่มีอยู่ในโลก เป็น 1 ใน 5 องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงนับเป็นสิ่งที่มีค่ามาก[8]

เจดีย์ราย 3 องค์ ที่มีรากไทรแผ่เข้าครอบคลุม ที่อยู่ด้านหลังพระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุ ได้ปรากฏในภาพวาดกรุงศรีอยุธยาในหนังสือของ อ็องรี มูโอ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5

ประวัติ

[แก้]

วัดหน้าพระเมรุนี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารเป็นครั้งแรกว่า ราวปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนอง (ภายหลังนับเป็นมหาราชองค์ที่ 2 ของพม่า) และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทำสัญญาสงบศึก โดยได้ตั้งพลับพลาสำหรับเป็นที่เสด็จมาทรงทำสัญญาในระหว่างวัดหน้าพระเมรุแห่งนี้กับวัดหัสดาวาส ซึ่งก็ได้เจรจาสงบศึกกันได้สำเร็จในที่สุด โดยกรุงศรีอยุธยายอมมอบช้างเผือก 4 ช้างให้แก่หงสาวดี มอบบุคคลที่เคยทัดทานมิให้มอบช้างเผือกแก่หงสาวดีไปเป็นตัวประกัน ยอมส่งช้างปีละ 30 เชือก และเงินอีกปีละ 300 ช่าง และยอมให้หงสาวดีมีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองมะริด ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาก็ทรงต่อรองขอดินแดนที่ฝ่ายหงสาวดียึดไว้คืนทั้งหมด ฝ่ายหงสาวดีก็ยอมคืนแต่โดยดี และถอยกลับสู่หงสาวดี ทำให้ครั้งนั้นพระเจ้าบุเรงนองยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราช เหตุการณ์เจรจาสงบศึกได้นี้เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาฯ เสียเอกราชครั้งที่ 1 ที่เกิดขึ้นในภายหลัง (ในปี พ.ศ. 2112)[9]

อีกครั้งหนึ่งคือ ราวปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญา (ภายหลังนับเป็นมหาราชองค์ที่ 3 ของพม่า) ได้ยกทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา และตั้งทัพหลวงไว้ตรงทุ่งพระเมรุ พระเจ้าอลองพญาได้ทรงบัญชาการศึกและทรงสั่งการให้นำปืนใหญ่เข้ามาตั้งในเขตวัดหน้าพระเมรุ และให้จุดไฟยิงปืนใหญ่ข้ามไปยังพระราชวังหลวงฝั่งตรงข้าม ปรากฏว่าเกิดเหตุลูกปืนอุดทำให้ปืนใหญ่ระเบิดแตกออก ต้องพระวรกายของพระเจ้าอลองพญาจนสาหัส จนต้องถอยทัพและสิ้นพระชนม์เมื่อถอยยังไม่พ้นเมืองตาก เป็นอันยุติการรุกรานกรุงศรีอยุธยาไปอีกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์พระเจ้าอลองพญาบาดเจ็บจนต้องถอยทัพและสิ้นพระชนม์นี้เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาฯ เสียเอกราชครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในภายหลัง (ในปี พ.ศ. 2310)[10]

ในงานวรรณกรรม สุนทรภู่ ได้กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (หลังสิ้นรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นสมัยที่สุนทรภู่ได้รับราชการอยู่) ว่า

...มาจดหน้าท่าวัดพระเมรุข้าม
ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน
บ้างขึ้นล่องร้องรำเล่นสำราญ
ทั้งเพลงการเกี้ยวแก้กันแซ่เซ็ง
...บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ
ระนาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง
มีโคมรายแลอร่ามเหมือนสามเพ็ง (สำเพ็ง)
เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู
...อ้ายลำหนึ่งครึ่งท่อนกลอนมันมาก
ช่างยาวลากเลื้อยเจื้อยจนเหนื่อยหู
ไม่จบบทลดเลี้ยวเหมือนเงี้ยวงู
จนลูกคู่ขอทุเลาว่าหาวนอน
...ได้ฟังเล่นต่างต่างที่ข้างวัด
ดึกสงัดเงียบหลับลงกับหมอน
ประมาณสามยามคล้ำในอัมพร
อ้ายโจรจรจู่จ้วงเข้าล้วงเรือ
...นาวาเอียงเสียงกุกลุกขึ้นร้อง
มันดำล่องน้ำไปช่างไวเหลือ
ไม่เห็นหน้าสานุศิษย์ที่ชิดเชื้อ
เหมือนเนื้อเบื้อบ้าเลอะดูเซอะซะ
...แต่หนูพัดจัดแจงจุดเทียนส่อง
ไม่เสียของขาวเหลืองเครื่องอัฏฐะ
ด้วยเดชะตบะบุญกับคุณพระ
ชัยชนะมารได้ดังใจปอง ฯ [11]

ในกลอน 6 บทของนิราศภูเขาทองนี้ สุนทรภู่เล่าว่ามาจอดเรือพักที่ท่าน้ำข้างวัดหน้าพระเมรุ เพื่อจะพักผ่อนนอนหลับ รอไปสักการะเจดีย์ภูเขาทองในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่คืนนั้นมีงานวัด พอพักหลับไปได้ กลางดึกมีเสียงกุกกักในเรือแสดงว่ามีคนเข้ามาค้นในเรือแล้วกระโดดน้ำหนีไป สุนทรภู่ที่ตกใจตื่นกับผู้ติดตามก็จุดเทียนขึ้นส่องและตรวจดูข้าวของ ก็พบว่าเครื่องอัฐบริขารที่ตั้งใจนำมานั้นยังอยู่ครบ ก็นึกถึงคุณงามความดีที่เคยบำเพ็ญมา ซึ่งก็คงหมายถึงที่ได้บวชเรียน และขอบคุณในพุทธคุณของพระพุทธรูปที่ช่วยให้ชนะผู้ร้ายได้ ดังที่กล่าวว่า '...ด้วยเดชะตบะบุญกับคุณพระ ชัยชนะมารได้ดังใจปอง...' คาดว่าคงพูดถึงพระพุทธนิมิต เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่แสดงถึงการเอาชนะมารขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คลังภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มนู พูลสวัสดิ์ (2556) ประวัติวัดพระเมรุราชิการาม (วัดหน้าพระเมรุ) ที่ระลึกในพิธีถวายพระกฐินพระราชทานของกองทัพภาคที่ 1 ประจำปี 2556. เจริญวิทย์การพิมพ์.
  2. ปิยะภรณ์ ไพทยาภรณ์ (2559) ไทยศึกษาเพื่อการท่องเที่ยว[ลิงก์เสีย] คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี
  3. งานช่างหลวงแห่งแผ่นดินศิลปะอยุธยา พิมพ์ครั้งที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2560หน้า 122
  4. วัดพระเมรุราชิการาม จัดพิมพ์เนื่องในงานสมโภช 513 ปี วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559
  5. ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2560). ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน พิมพ์ครั้งที่ 4. สำนักพิมพ์เมืองโบราณ หน้า 118-119, 123.
  6. ๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน กรมการศาสนา
  7. ๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน กรมการศาสนา
  8. วัดพระเมรุราชิการาม จัดพิมพ์เนื่องในงานสมโภช 513 ปี วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559
  9. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและบางสาระที่น่ารู้ในวังหลัง-วังหน้ากรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์ครั้งที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559 หน้า 128 ถึง 129
  10. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและบางสาระที่น่ารู้ในวังหลัง-วังหน้ากรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์ครั้งที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559 หน้า 346 ถึง 347
  11. ชีวิตและงานของสุนทรภู่ กรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ (ประวัติ พร้อมนิราศและสุภาษิต) พิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2518

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

14°21′45″N 100°33′32″E / 14.3625°N 100.558889°E / 14.3625; 100.558889