ข้ามไปเนื้อหา

ฐานทัพเรือพังงา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฐานทัพเรือพังงา
ส่วนหนึ่งของกองทัพเรือไทย
ท้ายเหมือง พังงา
ทางเข้าฐานทัพเรือพังงา
แผนที่
พิกัด8°34′27″N 98°13′54″E / 8.574118°N 98.231588°E / 8.574118; 98.231588
ประเภทฐานทัพเรือ
ข้อมูล
ผู้ดำเนินการNaval flag of ไทย กองทัพเรือไทย
ควบคุมโดยทัพเรือภาคที่ 3
เว็บไซต์www.pnbase.navy.mi.th
ประวัติศาสตร์
สร้าง8 เมษายน พ.ศ. 2525; 42 ปีก่อน (2525-04-08)
ข้อมูลสถานี
ผู้บัญชาการ
ปัจจุบัน
พลเรือตรี กนกพล พิมพ์ทอง[1]
กองทหารรักษาการณ์กองรักษาความปลอดภัย ฐานทัพเรือพังงา

ฐานทัพเรือพังงา (อังกฤษ: Phang-nga Naval Base ย่อว่า: ฐท.พง.) หรือ ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 (ย่อว่า: ฐท.พง.ทรภ.3) เป็นฐานทัพเรือของกองทัพเรือไทยในพื้นที่ทะเลอันดามัน ขึ้นตรงต่อทัพเรือภาคที่ 3 ตั้งอยู่ในตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

ประวัติ

[แก้]

ก่อนหน้านี้ กองทัพเรือยังไม่มีฐานสำหรับส่งกำลังบำรุงให้กับเรือรบในฝั่งทะเลอันดามันที่ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ จึงได้มีการเริ่มสำรวจหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเมื่อปี พ.ศ. 2511 และจัดหาพื้นที่ในบริเวณแหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต กระทั่งในปี พ.ศ. 2517 ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น คือ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณแหลมพันวาพบว่ายังไม่มีความพร้อมและไม่เหมาะสมในการตั้งฐาน เนื่องจากมีพื้นที่คับแคบ รวมถึงจะเกิดอุปสรรคในการจอดเรือเพื่อส่งกำลังบำรุงในช่วงฤดูมรสุม จึงได้สั่งการให้พิจารณาหาพื้นที่แห่งใหม่ จนพบว่าพื้นที่ในบ้านทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีความเหมาะสมในการตั้งฐานส่งกำลังบำรุง และอนุมัติให้จัดตั้งสถานีทหารเรือพังงาในปี พ.ศ. 2519 โดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรักษาการผู้บัญชาการทหารเรือนั่นเอง[2]

สถานีทหารเรือพังงาก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มปฏิบัติการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2525 มีสถานะเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพเรือ มีผู้บังคับการยศนาวาเอกพิเศษ และได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายน เป็นวันคล้ายวันสถาปนาฐานทัพเรือพังงา[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 กองทัพเรือได้จัดทำแผนและมีการปรับการกำหนดอัตรากำลังรบใหม่ โดยขยายอัตราและกำลังรบเพิ่มเติม กระทั่งในปี พ.ศ. 2538 กองทัพเรือได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมให้จัดตั้งกองเรือภาคขึ้นมา ทำให้สถานีเรือพังงาสังกัดอยู่ในพื้นที่ของกองเรือภาคที่ 3 ทำให้สถานีเรือพังงามีภารกิจที่มากยิ่งขึ้น ทั้งส่วนของกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ทำให้กองทัพเรือเสนอไปยังกระทรวงกลาโหมเพื่อขอปรับอัตรของสถานีเรือพังงาขึ้นเป็น ฐานทัพเรือพังงาเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2539 มีผู้บัญชาการฐานทัพเรือในชั้นยศพลตรี และยังคงขึ้นตรงต่อกองทัพเรืออยู่เช่นเดิม[2]

ในปี พ.ศ. 2548 กองทัพเรือปรับรูปแบบการจัดกำลังใหม่โดยปรับการควบคุมลงไปยังพื้นที่ ทำให้กองเรือภาคถูกปรับเป็นทัพเรือภาค และหน่วยงานในกองเรือภาคขึ้นตรงต่อทัพเรือภาค ฐานทัพเรือพังงาจึงขึ้นตรงต่อทัพเรือภาคที่ 3 เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2552[2]

โครงสร้าง

[แก้]

ฐานทัพเรือพังงา ประกอบด้วยหน่วยงานภายใน[3] ดังนี้

  • กองบัญชาการ
  • กองพลาธิการ
  • กองขนส่ง
  • กองโรงงาน
  • โรงพยาบาล
  • กองกิจการพิเศษ
  • สถานีสื่อสาร
  • เรือนจำ
  • สถานีการบิน
  • แผนกสรรพาวุธ
  • สถานีเรือละงู
  • สถานีเรือระนอง (ศูนย์ประสานงานประมงชายแดนทางทะเล ไทย–เมียนมา)

สายการขึ้นสมทบ

[แก้]

ฐานทัพเรือพังงา มีสายการขึ้นสมทบ ดังนี้

หน่วยประจำการ

[แก้]
พื้นที่ภายในฐานทัพเรือพังงา

ฐานทัพเรือพังงา ประกอบด้วยหน่วยปฏิบัติการประจำการ ดังนี้

ทัพเรือภาคที่ 3

[แก้]
  • กองเรือปฏิบัติการ
    • หมวดเรือเฉพาะกิจ – จะมีการจัดกำลังจากกองเรือยุทธการ หมุนเวียนกันเข้ามาประจำการยังฐานทัพเรือพังงาตามช่วงเวลาและภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
    • หมวดบินเฉพาะกิจ – จะมีการจัดกำลังจากกองการบินทหารเรือเข้ามาประจำการที่สนามบินสงขลาตามช่วงเวลาและภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
    • ชุดปฏิบัติการพิเศษ
    • ชุดถอดทำลายอมภัณฑ์

ภารกิจ

[แก้]

ฐานทัพเรือพังงา มีภารกิจในการดำเนินงานเกี่ยวกับการฐานทัพ การป้องกันพื้นที่ การรักษาความสงบเรียบร้อยรวมไปถึงระเบียบวินัยของทหารและสารวัตรทหาร นอกจากนี้ยังรักษาความปลอดภัยของฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพเรือต่าง ๆ และพื้นที่ที่ได้รับการมอบหมายให้ป้องกัน ภารกิจในด้านการกิจการพลเรือน การควบคุมดูแลเรือพาณิชย์ การเรือนจำไปจนถึงการฝึกต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

นอกจากนี้ยังปฏิบัติงานตามการสั่งการของทัพเรือภาคที่ 3 ในการเป็นฐานทัพเรือหลักในการส่งกำลังบำรุงให้กับกองเรือที่ปฏิบัติการรักษาอธิปไตย รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย การคุ้มครองเรือประมง ป้องกันการลักลอบเข้าเมือง และให้ความช่วยเหลือประชาชนในฝั่งทะเลอันดามัน[5]

สิ่งอำนวยความสะดวก

[แก้]

ฐานทัพเรือพังงา ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ดังนี้

ท่าเทียบเรือฐานทัพเรือพังงา

[แก้]

ท่าเทียบเรือฐานทัพเรือพังงา มีลักษณะยื่นออกมาจากฝั่งเป็นรูปตัวแอล ด้านที่ยาวขนานไปกับชายฝั่งมีความยาวประมาณ 200 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร ด้านที่ยื่นออกจากชายฝั่งความยาวประมาณ 100 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร[a]

โรงพยาบาลฐานทัพเรือพังงา

[แก้]

โรงพยาบาลฐานทัพเรือพังงา เป็นโรงพยาบาลในสังกัดของฐานทัพเรือพังงา ขึ้นตรงต่อกรมแพทย์ทหารเรือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 ในรูปแบบของหน่วยเฉพาะกิจ นปอ. ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ได้ยกระดับขึ้นเป็นโรงพยาบาลชั่วคราวสถานีเรือพังงา และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2530 และยึดถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาโรงพยาบาลฐานทัพเรือพังงา[6] มีขนาดเตียงจำนวน 10 เตียง ให้บริการ ดังนี้

  • แผนกทันตกรรม
  • แผนกเวชศาสตร์ใต้น้ำ
  • หมวดเวชกรรมป้องกัน
  • แผนกตรวจผู้ป่วยนอก
  • แผนกผู้ป่วยใน

สถานที่สำคัญ

[แก้]

อนุสรณ์สถานรำลึกสึนามิ

[แก้]

อนุสรณ์สถานรำลึกสึนามิ ฐานทัพเรือพังงา เป็นอุสรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย โดยกองทัพเรือได้สูญเสียเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 215 (เรือ ต.215) ในเหตุการณ์นี้ขณะปฏิบัติหน้าที่ถวายอารักขาคุณพุ่ม เจนเซ่น โอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกาญญา สิริวัฒนาพรรณวดีระหว่างการเล่นน้ำบริเวณชายหาดในตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ควบคุมเรือโดย เรือเอก สมชาย โนนน้อย และลูกเรืออีก 8 นาย ซึ่งหลังจากประสบเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 นาย คือ จ่าเอก เผด็จชัย พูนสุภาพ เจ้าหน้าที่ควบคุมเรดาร์และเครื่องมือสื่อสาร[7]

หลังจากเหตุการณ์ เรือถูกพบว่าจมอยู่ที่ความลึก 7 เมตร ห่างจากพื้นที่เดิมของเรือก่อนเกิดเหตุการณ์ 800 เมตร และห่างจากชายฝั่งประมาณ 2,500 เมตร โดยมี พลเรือโท ปิติ อุตตะโมต รองเสนาธิการ กองเรือยุทธการผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะกู้เรื่อง ต.215 โดยหลังจากการเก็บกู้ ตัวเรือไม่สามารถนำกลับมาใช้การได้แล้ว[7] จึงได้นำตัวเรือไปจัดแสดงในอนุสรณ์สถานรำลึกสึนามิ ฐานทัพเรือพังงา[8]

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

[แก้]
โรงเรือนสำหรับอนุบาลเต่าทะเลในศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล
บ่อเลี้ยงเต่าภายใน

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา ก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2538 เพื่ออนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในฝั่งทะเลอันดามัน เป็นแหล่งอนุบาลเต่าทะเลของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นพันธุ์เต่าท้องถิ่นของไทยที่มีหลากหลายสายพันธุ์ มีพื้นที่ 2 ส่วนคือ [9]

  • ส่วนที่ 1 ตั้งอยู่ที่เกาะ 1 หรือเกาะหูยง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
  • ส่วนที่ 2 คือพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในบริเวณศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ตั้งอยู่ในฐานทัพเรือพังงา

ภายในศูนย์ประกอบไปด้วยโรงเรือนริมฝั่งทะเล มีบ่ออนุบาลขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ประมาณ 20 บ่อ สำหรับเลี้ยงเต่าตนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า ซึ่งมีแหล่งกำเนิดทั้งจากอ่าวไทยจากสัตหีบและในทะเลอันดามันเอง ซึ่งนอกจากการเพาะเลี้ยงแล้วยังมีการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์เพื่อให้เต่าทะเลสามารถขึ้นมาวางไข่ และมีอัตราการรอดชีวิตลงสู่ทะเลที่สูงขึ้น[9]

หากนักท่องเที่ยวต้องการชมการปล่อยลูกเต่าลงสู่ทะเล สามารถเข้าชมได้ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม และหากต้องการร่วมปล่อยลูกเต่าสามารถติดต่อล่วงหน้ามายังศูนย์ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม[9]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. จากการวัดความยาวบนภาพถ่ายดาวเทียมของกูเกิล แผนที่

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Royal Thai Navy - Leadership
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "Royal Thai Navy - Detail History". www.pnbase.navy.mi.th.
  3. "Royal Thai Navy - Detail Today". www.pnbase.navy.mi.th.
  4. "รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดพังงา นำกำลังพลกองพันสารวัตรทหารเรือที่ ๔ ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ ๓ ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักร". www.navy.mi.th (ภาษาอังกฤษ).
  5. "ผบ.ทร. ตรวจเยี่ยมฐานทัพเรือพังงา ย้ำภารกิจ เสียสละ ปกป้องอธิปไตย". www.thairath.co.th. 2021-11-27.
  6. "เกี่ยวกับโรงพยาบาล – โรงพยาบาลฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3". phanghosp.nmd.go.th. สืบค้นเมื่อ 2024-08-07.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. 7.0 7.1 "ปฏิบัติการกู้ซาก'ต.215' เรือถวายอารักขา'คุณพุ่ม'". mgronline.com. 2005-01-28.
  8. "ฐานทัพเรือพังงาทัพเรือภาคที่ 3 จัดโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลฝั่งอันดามัน". สยามรัฐ. 2019-01-07.
  9. 9.0 9.1 9.2 "ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา แหล่งเรียนรู้คุณค่าของ "เต่าทะเลไทย"". mgronline.com. 2024-06-16.