ค่ายกรมหลวงชุมพร
ค่ายกรมหลวงชุมพร | |
---|---|
บ้านทหารนาวิกโยธิน | |
ส่วนหนึ่งของกองทัพเรือไทย | |
สัตหีบ ชลบุรี | |
อาคารที่ทำการกองบัญชาการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน | |
พิกัด | 12°40′30″N 100°52′51″E / 12.674900°N 100.880712°E |
ประเภท | ค่ายทหาร |
ข้อมูล | |
ผู้ดำเนินการ | กองทัพเรือไทย |
ควบคุมโดย | หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน |
ประวัติศาสตร์ | |
สร้าง | พ.ศ. 2479–2481 |
การใช้งาน | 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 |
ค่ายกรมหลวงชุมพร (อังกฤษ: HRH Prince Chumphon Camp) เป็นค่ายทหารที่ตั้งหลักของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยในสังกัดอื่น ๆ ของกองพลนาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย ตั้งอยู่ในตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ค่ายกรมหลวงชุมพรได้รับฉายาว่าเป็น บ้านทหารนาวิกโยธิน เนื่องจากเป็นที่ตั้งหลักของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน[1]
ประวัติ
[แก้]ค่ายกรมหลวงชุมพร เป็นที่ตั้งหลักของหน่วยนาวิกโยธินของกองทัพเรือไทยมาตั้งแต่ในอดีต มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดหลังปี พ.ศ. 2478 ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม รัฐสภาได้เห็นชอบงบประมาณพิเศษให้กองทัพเรือสำหรับขยายกำลังทางเรือแนะนาวิกโยธินตามแนวคิดของหลวงสินธุสงครามชัย (พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน) โดยส่วนของนาวิกโยธินเป็นการจัดกำลังในแบบของกรมผสม ประกอบด้วยทหารราบ ทหารปืนใหญ่ ทหารสื่อสาร และทหารช่าง มอบหมายให้ นาวาตรี ทหาร ขำหิรัญ (ยศเวลานั้น) เป็นผู้รับดำเนินการ ทำให้ใน พ.ศ. 2479 จึงได้ส่งทหารพรรคนาวิกโยธินไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกเป็นรุ่นแรก และส่งกำลังพลที่เกี่ยวข้องไปศึกษาในโรงเรียนเหล่าต่าง ๆ ของกองทัพบก เช่น เหล่าทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารสื่อสาร รวมไปถึงนักเรียนจ่าและจ่าสำรองในพรรคนาวิกโยธินไปศึกษาที่โรงเรียนนายสิบทหารบก ประกอบกับการจัดหายุทโธปกรณ์ในการรบทางบกเพิ่มเติม ซึ่งจากรูปแบบการจัดกำลังของนาวิกโยธินในรูปแบบกรมผสม ทำให้ในช่วงปี พ.ศ. 2479 - 2481 กองทัพเรือได้จัดเตรียมพื้นที่ในบริเวณที่เรียกว่าทุ่งไก่เตี้ย ตั้งอยู่ในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้งฐาวรสำหรับหน่วย ประกอบกับเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 กรมนาวิกโยธินได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยขึ้นตรงต่อสถานีทหารเรือสัตหีบ หน่วยภายในประกอบด้วย กองบังคับการกรม, 2 กองพันทหารราบ, กองร้อยปืนใหญ่, กองร้อยลาดตระเวน (ใช้ม้า) และกองร้อยทหารช่าง มีนาวาโท ทหาร ขำหิรัญ (ยศเวลานั้น) เป็นผู้บังคับกรมนาวิกโยธิน และต่อมาในปี พ.ศ. 2485 - 2492 พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินเป็นคนแรก[1]
พลเรือตรี สนอง นิสาลักษณ์ ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินได้ทำหนังสือเพื่อกราบบังคมทูลขอใช้ชื่อค่ายว่า "ค่ายกรมหลวงชุมพร" ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2507 เพื่อเทิดพระเกียรติแด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่เป็นผู้ก่อตั้งสถานีทหารเรือสัตหีบและได้กลายเป็นที่ตั้งของกรมนาวิกโยธินในเวลาต่อมา จากนั้นในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเห็นชอบและพระราชทานชื่อในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 และทำพิธีเปิดค่ายในวันเดียวกันเวลา 09.00 น. โดยมี จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในฐานะของผู้บัญชาการสูงสุดเป็นประธาน[2]
หน่วยภายใน
[แก้]ค่ายกรมหลวงชุมพร ประกอบด้วยที่ตั้งทางทหารของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินต่าง ๆ ดังนี้
- หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
- ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
- กรมรักษาความปลอดภัย หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
- กองพันทหารปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้งที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ กองพลนาวิกโยธิน
- กรมสนับสนุน กองพลนาวิกโยธิน
- กองพันทหารขนส่ง กรมสนับสนุน กองพลนาวิกโยธิน
- กองพันซ่อมบำรุง กรมสนับสนุน กองพลนาวิกโยธิน
- กองพันพยาบาล กรมสนับสนุน กองพลนาวิกโยธิน
- กองร้อยส่งกำลังและบริการ กรมสนับสนุน กองพลนาวิกโยธิน
- กองพันทหารช่าง กองพลนาวิกโยธิน
- กองพันทหารสื่อสาร กองพลนาวิกโยธิน
สถานที่สำคัญ
[แก้]อนุสรณ์สถานราชนาวิกโยธิน
[แก้]พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเรือใบประเภทโอเค ความยาว 13 ฟุต ชื่อว่า เวคา (Vega) มาด้วยพระองค์เองจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้ามพื้นที่ของทะเลอ่าวไทยมายังหาดเตยงาม อ่าวนาวิกโยธินเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 เป็นระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล (110 กิโลเมตร) ใช้ระยะเวลาประมาณ 17 ชั่วโมง ซึ่งพระองค์ได้นำธงราชนาวิกโยธินข้ามอ่าวไทยมาด้วย และปักลงเหนือก้อนหินก้อนใหญ่ริมหาด และลงพระปรมาภิไธยบนศิลาจารึกบริเวณหินก้อนนั้น หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินจึงได้สงวนพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นอนุสรณ์ของพระปรีชาสามารถ และความเป็นแบบอย่างด้านความวิริยะ อุตสาหะ รวมถึงเป็นมงคลต่อกำลังพลของนาวิกโยธินสืบไป[1]
อนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน
[แก้]อนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับวีรบุรุษทหารนาวิกโยธินที่สละชีวิตเพื่อชาติในการป้องกันและรักษาอธิปไตยของประเทศไทยในสมรภูมิต่าง ๆ รวมไปถึงภารกิจในการรักษาความสงบภายในประเทศ ก่อสร้างขึ้นในสมัยของ พลเรือโท ประเสริฐ น้อยคำศิริ ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน คนที่ 9 ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ก่อสร้างโดยกำลังของทหารนาวิกโยธินทั้งหมด โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2528[1]
ตัวอนุสาวรีย์แบ่งออกเป็นรูปหกเหลี่ยม สื่อความหมายแทนเหล่าของนาวิกโยธิน คือ ทหารราบ ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารสื่อสาร ทหารขนส่ง และทหารลาดตระเวน ส่วนยอดของอนุสาวรีย์คือธงราชนาวิกโยธินถูกปักอยู่บนยุทโธปกรณ์ประจำกายของทหารนาวิกโยธินสำหรับการยกพลขึ้นบกและการรบทางบก ส่วนของฐานถูกปูด้วยหินอ่อนและหินแกรนิต ประดับจารึกประวัติศาสตร์การรบของนาวิกโยธินที่โดดเด่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับโลหะสีเงินที่สลักรายชื่อกำลังพลที่สละชีพในการรบต่าง ๆ รวมไปถึงรายชื่ออดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินที่ล่วงลับ มีประตูสำหรับเข้าไปภายใน 2 ด้าน บานของประตูสลักลวดลายสวยงาม ด้านในบรรจุอัฐิของวีรบุรุษนาวิกโยธินเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สละชีวิตและเป็นเกียรติต่อวงตระกูลของทหารนายนั้น ๆ[1]
ผาวชิราลงกรณ์
[แก้]พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาธิ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของทหารนาวิกโยธิน ซึ่งได้ทรงรถสะเทินน้ำสะเทินบก ณ หน้าหาดกองบัญชาการ กรมนาวิกโยธิน เพื่อทอดพระเนตรการสาธิตการไต่หน้าผาจากทะเลบริเวณของผาแดงภายในค่ายกรมหลวงชุมพร ซึ่งในเวลาต่อมา พระองค์ได้พระราชทานชื่อผาดังกล่าวว่า "ผาวชิราลงกรณ์" ตามที่ พลเรือตรี โสภณ สุญาณเศรษฐกร ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินในเวลานั้นได้กราบบังคมทูลขอพระราชทหาร[1]
ปัจจุบันผาวชิราลงกรณ์เป็นสถานที่สำหรับฝึกการไต่ผาของกำลังพลนาวิกโยธิน รวมถึงยังเปิดเป็นจุดชมวิวสำหรับหาดเตยงามและอ่าวนาวิกโยธิน[1]
ประตูแสนพลพ่าย
[แก้]ประตูแสนพลพ่าย คือชื่อของซุ้มประตูค่ายกรมหลวงชุมพล ก่อสร้างขึ้นมาเนื่องจากซุ้มประตูเดิมถูกรื้อถอนอันเนื่องมาจากการขยายถนนสุขุมวิทตามโครงการอีอีซี พลโท รณรงค์ สิทธินันทน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินจึงมีแนวคิดที่จะสร้างซุ้มประตูทางเข้าออกค่ายกรมหลวงชุมพรแห่งใหม่ และได้รับความกรุณาจาก พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือร่วมลงพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 และมอบนโยบายในการก่อสร้างให้มีลักษณะเหมือนป้อมค่ายในสมัยโบราณ จึงได้ประสานงานให้กรมช่างทหารเรือช่วยออกแบบ[1]
ลักษณะของซุ้มประตู มีความกว้าง 33 เมตร ความหนา 6 เมตร ความสูง 18.6 เมตร ประดับเครื่องหมายความสามารถพิเศษหลักสูตรการลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบกและจู่โจม หรือรีคอน ประดับนามค่าย และคำขวัญหลักทั้ง 3 คำขวัญของนาวิกโยธิน คือ "กาย ใจ ชีวิต มอบเป็นราชพลี", "เมื่อรบ ต้องชนะ" และ "นำดี ตามดี" บริเวณด้านบนของตัวซุ้มประตู นอกจากนี้ยังมีกลอง 3 ใบซึ่งจำลองมาจากซุ้มประตูของทหารโบราณ คือ กลองย่ำพระสุริย์ศรี สำหรับตีบอกเวลา กลองอัคคีพินาศ สำหรับแจ้งเหตุไฟไหม้ และกลองพิฆาตไพรี สำหรับตียามสงคราม ซึ่งกลองทั้ง 3 ใบสื่อความหมายถึงการปกป้องไม่ให้ภัยต่าง ๆ เข้ามาภายในผู้ที่อยู่อาศัยภายในค่ายกรมหลวงชุมพร[1]
การก่อสร้างประกอบด้วยการรื้อถอนซุ้มประตูเดิมที่ถูกใช้งานมากว่า 30 ปีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ในช่วงเวลา 22.00 - 05.00 น. ของวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562 จากนั้นประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 โดย พลเรือโท พงศ์ศักดิ์ ภูรีโรจน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน โดยประตูก่อสร้างแล้วเสร็จและประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563 โดย พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมกับ นาวาเอกหญิง อุบลวรรณ รุดดิษฐ์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ และได้ตั้งชื่อซุ้มประตูว่า ประตูแสนพลพ่าย[1]
ระเบียงภาพ
[แก้]-
กำลังพลนาวิกโยธินกำลังฝึกภายในค่ายกรมหลวงชุมพร
-
ห้องรับรองภายในกองบัญชาการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
-
กองทหารเกียรติยศ บริเวณสนามหน้าหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
-
การประกอบพิธีย่ำพระสุริย์ศรีภายในค่ายกรมหลวงชุมพร บริเวนสนามหน้าหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
-
ป้ายชื่อกรมสนับสนุน กองพลนาวิกโยธินที่มีที่ตั้งอยู่ภายในค่ายฯ
-
อาคารกองบังคับการกรมสนับสนุน กองพลนาวิกโยธิน
-
อาคารกองบังคับการกรมสนับสนุน กองพลนาวิกโยธิน
-
อาคารกองบังคับการกองพันพยาบาล กรมสนับสนุน กองพลนาวิกโยธิน
-
การจุดพลุเฉลิมพระเกียรติ หน้าผาวชิราลงกรณ์