ข้ามไปเนื้อหา

เภสัชวิทยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพแสดงความหลากหลายของศาสตร์ต่างๆที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเภสัชวิทยา ได้แก่ เภสัชวิทยาของระบบประสาท, เภสัชวิทยาของไต, การเมแทบอลิซึมของมนุษย์, การเมแทบอลิซึมภายในเซลล์ และระบบการควบคุมภายในเซลล์

เภสัชวิทยา (อังกฤษ: Pharmacology) เป็นศาสตร์สาขาของชีววิทยา ซึ่งมุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ของยา,[1] การได้มาของยา ทั้งจากที่เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์โดยมนุษย์ ธรรมชาติ หรือแม้แต่โมเลกุลภายในร่างกายมนุษย์เอง ซึ่งส่งผลชีวเคมีหรือสรีรวิทยาต่อเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ หรือจุลชีพ (ในบางครั้ง คำว่า ฟาร์มาคอน ก็ถูกนำมาใช้แทนที่เพื่อให้มีนิยามครอบคลุมสารภายในและภายนอกร่างกายที่ทำให้ผลทางชีวภาพเหมือนกับยา) แต่ถ้ากล่าวให้จำเพาะมากขึ้นแล้ว เภสัชวิทยานั้นเป็นศาสตร์ที่ศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างสิ่งมีชีวิตและสารเคมีที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติและปรับสมดุลการทำงานทางชีวเคมีของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ซึ่งหากสารเคมีใดที่มีคุณสมบัติในการบำบัดรักษาโรค อาจถือได้ว่าสารเคมีนั้นจัดเป็นยา[2][3][4]

การศึกษาด้านเภสัชวิทยานั้นครอบคลุมองค์ประกอบและคุณสมบัติต่างๆของยา การสังเคราะห์และการออกแบบยา กลไกการออกฤทธิ์ของยาทั้งในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ ผลของยาต่ออวัยวะและระบบต่างๆของร่างกาย ระบบการรับส่งสัญญาณการสื่อสารระดับเซลล์ การวินิจฉัยระดับโมเลกุล อันตรกิริยา พิษวิทยา ชีววิทยาของเซลล์ การบำบัดรักษา การประยุกต์ใช้ยาทางการแพทย์ และความสามารถในการต้านทานการเกิดโรคของยา ทั้งนี้ การศึกษาด้านเภสัชวิทยามุ่งเน้นไปที่ 2 ประเด็นหลัก คือ เภสัชพลศาสตร์ และเภสัชจลนศาสตร์ โดยเภสัชพลศาสตร์จะเป็นการศึกษาถึงผลของยาต่อระบบชีวภาพต่างๆของสิ่งมีชีวิต ส่วนเภสัชจลนศาสตร์ จะศึกษากระบวนการการตอบสนองหรือการจัดการของระบบภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตต่อยา หากกล่าวสรุปแล้ว เภสัชพลศาสตร์จะอภิปรายได้ถึงผลของยาต่อร่างกาย และเภสัชจลนศาสตร์จะกล่าวถึงการดูดซึมยา การกระจาย การเปลี่ยนแปลงยา และการกำจัดยาของร่างกาย (ADME) ทั้งนี้ บ่อยครั้งที่เกิดความสับสนและเข้าใจผิดว่า เภสัชวิทยา และเภสัชศาสตร์ เป็นคำพ้องซึ่งกันและกัน แต่โดยรายละเอียดของศาสตร์ทั้งสองแล้ว มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบแล้ว เภสัชวิทยานั้นจัดเป็นชีวเวชศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการวิจัย การค้นคว้า และการจำแนกสารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ การศึกษาการทำงานของเซลล์และจุลชีพที่เกี่ยวเนื่องกับสารเคมีเหล่านั้น ในทางตรงกันข้าม เภสัชศาสตร์ เป็นการศึกษาทางวิชาชีพบริการทางสุขภาพที่มุ่งเน้นการปรับประยุกต์ใช้หลักการและองค์ความรู้ต่างๆที่ได้จากการศึกษาทางเภสัชวิทยามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรค ดังนั้น ความแตกต่างหลักระหว่างทั้งสองศาสตร์ คือ ความแตกต่างระหว่างการดูแลผู้ป่วยโดยตรงโดยการปฏิบัติด้านเภสัชกรรม และสาขาการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่ขับเคลื่อนโดยเภสัชวิทยา

ต้นกำเนิดของการศึกษาทางเภสัชวิทยาคลินิกเกิดขึ้นในยุคกลาง ตามที่มีการบันทึกไว้ในตำราการแพทย์ The Canon of Medicine ของอิบน์ ซีนา, Commentary on Isaac ของปีเตอร์ ออฟ สเปน, และ Commentary on the Antedotary of Nicholas ของจอห์น ออฟ เซนต์ แอมานด์[5] โดยเป็นศาสตร์ที่มีฐานรากมาจากการศึกษาค้นคว้าทางการแพทย์ของวิลเลียม วิเธอริง[6] แต่เภสัชวิทยาในฐานะศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นเท่าใดนักจนกระทั่งในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคที่มีการฟื้นตัวของศาสตร์ชีวการแพทย์แขนงต่างๆ เป็นอย่างมาก[7] โดยในช่วงต้นคริสต์สตวรรษที่ 19 นั้น ความเข้าใจในกลไกการออกฤทธิ์ที่จำเพาะและความแรงของยาต่างๆ เช่น มอร์ฟีน, ควินีน และดิจิทาลลิส นั้นยังมีความคลุมเครือเป็นอย่างมาก รวมไปถึงมีการกล่าวอ้างถึงคุณสมบัติและสัมพรรคภาพของสารเคมีบางชนิดต่อร่างกายและเนื้อเยื่อที่ผิดแผกไปจากความเป็นจริงในปัจจุบัน[8] ความเจริญก้าวหน้าทางเภสัชวิทยาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี่ทำให้มีการจัดตั้งแผนกเภสัชวิทยาขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1847 โดยรูดอล์ฟ บูคไคม์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจถึงผลของยาที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรคและการเกิดพิษจากยาเหล่านั้น[7]

ในช่วงแรกของการศึกษาด้านเภสัชวิทยานั้นจะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาสารที่ได้จากธรรมชาติเป็นหลัก โดยส่วนคือสารสกัดที่ได้จากพืช แต่หลังจากการพัฒนาทางด้านชีวการแพทย์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการปรับประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาทางเภสัชวิทยาในห้องปฏิบัติการไปในการบำบัดรักษาโรคเพิ่มมากขึ้น[9] ในปัจจุบัน เภสัชกรในฐานะผู้ศึกษาหลักด้านเภสัชวิทยาใช้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาพันธุศาสตร์ อณูชีววิทยา เคมีและเครื่องมือขั้นสูงอื่น ๆ เพื่อแปลงข้อมูลระดับโมเลกุลหรือกำหนดเป้าหมายการออกฤทธิ์ของยาระดับโมเลกุลเพื่อการบำบัดรักษาและควบคุมโรค ข้อบกพร่องของร่างกายหรือเชื้อก่อโรคที่จำเพาะ รวมไปถึงการสร้างวิธีการในการดูแลป้องกัน การวินิจฉัย และการพัฒนายาเพื่อการรักษาในระดับบุคคล (personalized medicine)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Vallance P, Smart TG (January 2006). "The future of pharmacology". British Journal of Pharmacology. 147 Suppl 1 (S1): S304–7. doi:10.1038/sj.bjp.0706454. PMC 1760753. PMID 16402118.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  2. Definition and classification of Drug or Pharmaceutical Regulatory aspects of drug approval เก็บถาวร 2017-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Accessed 30 December 2013.
  3. US Federal Food, Drug, and Cosmetic Act, SEC. 210., (g)(1)(B). เก็บถาวร 2009-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Accessed 17 August 2008.
  4. Directive 2004/27/EC of the European Parliament and of the Council of 31 March 2004 amending Directive 2001/83/EC on the Community code relating to medicinal products for human use. Article 1. Published 31 March 2004. Accessed 17 August 2008.
  5. Brater DC, Daly WJ (May 2000). "Clinical pharmacology in the Middle Ages: principles that presage the 21st century". Clin. Pharmacol. Ther. 67 (5): 447–50. doi:10.1067/mcp.2000.106465. PMID 10824622.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  6. Mannfred A. Hollinger (2003)."Introduction to pharmacology". CRC Press. p.4. ISBN 0-415-28033-8
  7. 7.0 7.1 Rang HP (January 2006). "The receptor concept: pharmacology's big idea". Br. J. Pharmacol. 147 Suppl 1 (S1): S9–16. doi:10.1038/sj.bjp.0706457. PMC 1760743. PMID 16402126.
  8. Maehle AH, Prüll CR, Halliwell RF (August 2002). "The emergence of the drug receptor theory". Nat Rev Drug Discov. 1 (8): 637–41. doi:10.1038/nrd875. PMID 12402503.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  9. Rang, H.P.; M.M. Dale; J.M. Ritter; R.J. Flower (2007). Pharmacology. China: Elsevier. ISBN 0-443-06911-5.